เห็นชื่อข้อเขียนแล้ว โปรดอย่าเพิ่งตกอกตกใจหรือเบือนหน้าไม่ปรารถนาจับสายตาเพ่งอ่าน เชื่อเถอะครับว่าทุกๆ ท่านจะพบกับอะไรน่าติดตามเกินคาด
เหตุที่ผมผุดพรายความอยากจะสาธยายเรื่องราวต่อไปนี้ขึ้นมาครามครัน ก็เพราะน้องนักศึกษาปริญญาตรีรุ่นหลานยายโดม (เป็นรุ่นถัดมาจากลูกแม่โดม) คนหนึ่งซึ่งเคยเจอตัวกันเมื่อปี 2565 ระหว่างเราสองคนพูดคุยสนทนาเนืองๆ เขามักย้อนรำลึกความทรงจำที่ว่า ขณะยังเป็นนักเรียนชั้นมัธยมปลาย เขาเคยมาร่วมฟังศิลป์เสวนาเรื่อง ประวัติศาสตร์ 18+ เด็ก สตรี และหนังโป๊ ช่วงเย็นย่ำจวบค่ำคล้อยของวันพฤหัสบดีที่ 11 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2559 ณ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ผู้ร่วมเสวนาได้แก่ อาจารย์ปรีดี หงษ์สต้น, ภาคิน นิมมานนรวงศ์, วรธิภา สัตยานุศักดิ์กุล และตัวผมเอง อาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ
แน่นอนละ ผมได้รับมอบหมายให้นำเสนอเนื้อหาว่าด้วย ‘หนังโป๊’ แบบมิพักต้องสงสัย
งานเสวนาครั้งนั้นเรียกว่าเป็นปรากฏการณ์สำคัญเลยทีเดียว มีผู้สนใจเข้าร่วมรับฟังจำนวนล้นหลามจนห้องเรียนขนาดใหญ่ยังมิพอรองรับ หลายคนถึงกับอดปากกล่าวขานมิได้ ทำนองว่าน่าทึ่งระคนตื่นเต้นเหลือเกินที่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์สามารถจัดเสวนาวิชาการเพื่อเผยแพร่ความรู้อย่างสนุกสนานเพลิดเพลินในประเด็นเรื่อง ‘หนังโป๊’
น้ำเสียงเริงโลดของน้องนักศึกษาปริญญาตรีทำให้ผมไม่อาจนิ่งเฉย ราวดมดอมกลิ่นดอกปาริชาติแล้วหวนระลึกครั้งยังดื่มด่ำบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เฮ้ย! ไม่ใช่ครับ จริงๆ คือพลันฉุกนึกถึงข้อมูลการจัดฉายหนังโป๊ในมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองช่วงต้นทศวรรษ 2490 ที่ผมเคยอ่านเจอเมื่อราวๆ 7 ปีก่อนต่างหาก
เท้าความสักหน่อย ภายหลังเกิดเหตุการณ์รัฐประหารขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2490 ประกอบกับนายปรีดี พนมยงค์ ผู้ประศาสน์การต้องระหกระเหินลี้ภัยทางการเมืองไปต่างประเทศ มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองตกอยู่ภายใต้การคุกคามสารพัดรูปแบบ ยิ่งพอนายปรีดีประสบความพ่ายแพ้คราวที่พยายามยึดอำนาจกลับคืนมาจากรัฐบาลทหารเมื่อคืนวันเสาร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ 2492 ดูเหมือนสถานศึกษาแห่งนี้จะถูกควบคุมเข้มงวดหนักหน่วง รัฐบาลเข้ามาแทรกแซงและครอบครองพื้นที่บางส่วนของมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะอาคาร 4 ของปีกตึกโดมด้านถนนพระอาทิตย์ก็ถูกยึดเอาเป็นที่ตั้งกรมการรักษาดินแดน สังกัดกระทรวงกลาโหม ฝ่ายนักศึกษามิวายหมั่นต่อสู้กับอำนาจเผด็จการเสมอๆ กระทั่งทางรัฐบาลส่งกำลังทหารบกเข้ายึดทั้งมหาวิทยาลัยช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2494 โดยให้เหตุผลว่า “ขอยืมใช้เป็นสถานที่ชั่วคราวและเพื่อความสงบเรียบร้อย”
คงจำเป็นอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงที่ผมจะต้องย้อนไปเอื้อนเอ่ยถึงงานเขียนชิ้นเก่าของตนเอง และฮัมเพลงสุรพล สมบัติเจริญว่า “ลืม…ผมหรือยังครับแฟน” ผมเคยเขียนบทความ เกือบจะเป็นมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการโรงแรม เผยแพร่ใน The101.world เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2564 ในงานชิ้นนั้น เผยให้เห็นข่าวคราวครึกโครมบนหน้าหนังสือพิมพ์หลายฉบับช่วงปลายเดือนมกราคม 2493 เนื่องจากจะมีการจัดงานแสดงสินค้าศิลปหัตถกรรมนานาชาติแห่งภาคพื้นเอเชียขึ้น ณ สวนลุมพินี ในเดือนธันวาคม 2494 แล้วในการประชุมกันของคณะกรรมการจัดงาน ‘พระนรราชจำนง’ (สิงห์ ไรวา) ปลัดกระทรวงพาณิชย์เสนอให้ดัดแปลงมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองเป็นโรงแรมรับรองชาวต่างชาติที่จะเดินทางเข้ามาเที่ยวชมงาน กลายเป็นชนวนนำไปสู่การเคลื่อนไหวโต้แย้งและต่อต้านจากนักศึกษาอย่างแข็งขัน
ถัดมาแค่ไม่กี่สัปดาห์ เกิดข่าวฉาวขึ้นอีกว่าทหารกลุ่มหนึ่งได้จัดฉายภาพยนตร์ลามกหรือ ‘หนังโป๊’ ในมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ดังหนังสือพิมพ์ เจ้าพระยา รายสัปดาห์ ฉบับที่ 1 ประจำวันอาทิตย์ที่ 5 มีนาคม พุทธศักราช 2493 โปรยพาดหัว “เก็บเงินค่าผ่านประตูคนละ 10 บาท เปนชั้นนายสิบกรมรักษาดินแดน” และรายงานข่าวว่า
“หลังจากที่เกียรติและศักดิ์ของมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองได้ถูกลบหลู่ลง ด้วยการเสนอของพระนรราชจำนง ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ต่อที่ประชุมคณะกรรมการจัดงานแสดงระหว่างชาติแห่งภาคตะวันออกไกล ให้เอาเปนโรงแรมสำหรับชาวต่างประเทศจะเข้ามาอาศัยแล้ว สถานศึกษาชั้นสูงสุดของประเทศไทยแห่งนี้ ก็ได้ถูกเหยียบย่ำลงอีกครั้งหนึ่งด้วยน้ำมือของผู้ทรงอิทธิพลในเครื่องแบบด้วยการนำภาพยนตร์ลามกกรรมเข้ามาเผยแพร่อย่างเปิดเผย
“เมื่อวันเสาร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ เวลาประมาณ 14 น. นายทหารชั้นประทวนแห่งกรมการรักษาดินแดนกลุ่มหนึ่งได้นำภาพยนตร์ชนิดยั่วกามารมณ์ที่มีผู้แสดงทั้งหญิงชายเปนชาวต่างประเทศล้วนเข้ามาฉายในบริเวณสโมสรมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ฯ ซึ่งส่วนหนึ่งเปนที่ตั้งหน่วยฝึกอาวุธของกรมการรักษาดินแดน ปรากฏว่ามีทหาร นักศึกษา ตลอดจนพนักงานในมหาวิทยาลัยหลายสิบคน เสียค่าผ่านประตูคนละ 10 บาทเข้าชมอย่างคับคั่ง
“พฤติการณ์บัดสีที่เกิดขึ้นครั้งนี้ นักศึกษากลุ่มหนึ่งได้พร้อมใจกันยื่นหนังสือเสนอต่อเลขาธิการมหาวิทยาลัยให้ทำการสอบสวนโดยด่วน ซึ่งเลขาธิการมหาวิทยาลัยได้มีหนังสือไปยังเจ้ากรมรักษาดินแดนให้สืบสวนหาตัวผู้ที่นำภาพยนตร์กามารมณ์เข้ามาฉายในมหาวิทยาลัย เพื่อนำมาลงโทษต่อไปแล้ว”
นับตั้งแต่รัฐบาลใช้พื้นที่ส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัยเป็นกรมการรักษาดินแดน ภายหลังเหตุการณ์ที่นายปรีดีกับพลพรรค ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวธรรมศาสตร์ บุกเข้ายึดวังหลวงเมื่อ 26 กุมภาพันธ์ 2492 นักศึกษาต้องคลุกคลีอยู่ในอาณาบริเวณเดียวกันกับพวกทหาร ห้วงเวลานั้น ทางกรมกำลังเริ่มโครงการฝึกอาวุธให้แก่ราษฎร โดยส่งนายทหารทั้งชั้นสัญญาบัตรและชั้นประทวนออกไปฝึกฝนชาวบ้านในจังหวัดต่างๆ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคอีสาน พวกนายทหารยังไปฝึกการใช้อาวุธให้แก่นักเรียน นักศึกษาตามโรงเรียนและมหาวิทยาลัยต่างๆ ในแบบที่เรียกกันว่านักศึกษาวิชาทหาร
ความที่หน่วยฝึกอาวุธของกรมนี้ตั้งอยู่ในมหาวิทยาลัย จึงบ่อยครั้งที่นักศึกษากับนายทหารอาจเกิดการกระทบกระทั่งหรือมีความไม่สบายใจต่อกัน กรณีที่พวกนายทหารชั้นประทวนกลุ่มหนึ่งได้นำหนังโป๊มาจัดฉายในสโมสรมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์โดยเก็บเงินค่าเข้าไปรับชมคนละ 10 บาท แม้นักศึกษาและพนักงานมหาวิทยาลัยจำนวนไม่น้อยจะชื่นชอบรวมถึงมิได้รู้สึกว่าเป็นเรื่องผิดอะไร ถือเป็นความบันเทิงเริงรมย์ ทว่าสำหรับนักศึกษาอีกกลุ่มหนึ่งกลับมองการจัดฉายหนังโป๊ในฐานะ ‘สิ่งที่สร้างความเสื่อมเสียและทำลายเกียรติยศของมหาวิทยาลัยอย่างร้ายแรง’ พวกเขามิอาจทนเห็นการกระทำน่าบัดสีเช่นนี้ได้ลงคอ จึงพร้อมใจกันเคลื่อนไหวต่อต้าน เริ่มจากยื่นหนังสือเรียกร้องให้มีการหาตัวทหารผู้นำภาพยนตร์เข้าฉายมาลงโทษต่อเลขาธิการมหาวิทยาลัยขณะนั้นคือ ขุนประเสริฐศุภมาตรา (จรูญ จันทรสมบูรณ์) ซึ่งท่านขุนหาได้นิ่งดูดายเร่งส่งหนังสือไปยังเจ้ากรมรักษาดินแดนคือ พลตรีจำรัส จำรัสโรมรัน
ขุนประเสริฐศุภมาตราเพิ่งรับตำแหน่งเลขาธิการมหาวิทยาลัยต่อจากนายวิจิตร ลุลิตานนท์ ที่ลาออกไปในปี 2492 พลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ ยังส่งน้องชายคือนายฉัตร ศรียานนท์ มาเป็นรองเลขาธิการ เพื่อควบคุมดูแลอีกทาง ท่านขุนพยาพยามปรับปรุงสถานศึกษาหลากหลายด้าน แต่ดูเหมือนจะไม่เป็นที่พึงพอใจของนักศึกษาเท่าไหร่เลย เพราะนักศึกษามีอคติและหวาดระแวงว่าท่านขุนเป็นคนที่รัฐบาลทหารส่งมา มิหนำซ้ำยังไม่ให้ความยำเกรง คราวหนึ่งมีนักศึกษาใช้ก้านกล้วยบรรจุหมึกสีแดงลอบตีศีรษะท่านขุนที่สโมสรมหาวิทยาลัยริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาจนคนตกใจนึกว่าศีรษะแตกเลือดกระจายแดงฉานนั่นเป็นสถานการณ์ในสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามช่วงต้นทศวรรษ 2490
ยังมีอีกเรื่องราวของหนังโป๊ที่ดูเหมือนจะเกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองเช่นกัน แต่เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผมได้เห็นหลักฐานที่แสดงข้อมูลนี้ก็ด้วยน้ำใจไมตรีของอิทธิเดช พระเพ็ชร เมื่อหลายปีก่อน เนื่องจากเขาไปค้นคว้าข้อมูลในหนังสือพิมพ์ สารเสรี และประสบเข้ากับคำว่า ‘ภาพยนตร์แนวศิลปโป๊’ เลยระลึกถึงผม
ช่วงต้นทศวรรษ 2500 ได้มีจดหมายฉบับหนึ่งของ ‘นายสังเกต ชอบกอด’ ส่งถึงคอลัมน์ ‘ข้องใจนัก’ ที่ควบคุมโดยนายเสรี ในหนังสือพิมพ์ สารเสรี เพื่อเรียนนายกรัฐมนตรีเรื่อง “ขอให้ปรับปรุงสิ่งบกพร่องใน มธก.” ดังเนื้อความว่า
เรียน ฯพณฯ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผ่านหนังสือพิมพ์สารเสรี
ผมอยากจะเสนอข้อคิดเห็นบางประการซึ่งคิดว่าคงจะเปนประโยชน์แก่ส่วนรวมหรือชาติบ้าง เปนความรู้สึกในใจของกระผมซึ่งได้อัดอั้นมานานแล้ว จึงใคร่จะระบายออกมาบ้าง หวังว่า ฯพณฯ คงจะรับฟังบ้าง มีเรื่องต่างๆ ดังนี้คือ
1. เรื่องการจะขึ้นค่าเรียนของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จาก 100 เปน 400 บาทนั้น กระผม ในฐานะเปนนักศึกษานิติศาสตร์คนหนึ่ง (ซึ่งได้เรียนแต่อย่างเดียว มิได้ทำงานไปด้วย) เห็นด้วยและเห็นว่าจำนวนเงิน 400 บาทต่อปีนี้พอสมควรแล้ว (ทั้งๆที่ผมมิได้มีฐานะร่ำรวยอะไร) จะเห็นได้ว่าพวกนักเรียนชั้น 7-8 ใน ร.ร.รัฐบาลก็เสียค่าบำรุงไม่ต่ำกว่า 200 บาท ยิ่งใน ร.ร. ราษฎรก็ต้องเสียเงินปีละ 500-600-750 บาท แต่ไม่เห็นใครบ่นว่าอะไร ดังนั้นการที่นักศึกษาของมหาวิทยาลัยเสียเงินเพียงปีละ 80-100 บาทนั้นมันก็น่าเห็นใจรัฐบาลอยู่ และปีนี้จะเห็นว่าทางมหาวิทยาลัยได้สร้างตึกเรียน 4 ชั้น 2 หลัง และหอประชุมใหญ่อีก เปนค่าก่อสร้างเปนสิบๆ ล้าน
กระผมเห็นว่าพวกที่คัดค้านส่วนมากคงเป็นพวกที่ทำงานไปด้วย ซึ่งบางคนก็เพียงแต่ซื้อหนังสือคำบรรยายไปอ่านๆ แล้วมาสอบเท่านั้น ส่วนพวกที่มุ่งเรียนอย่างเดียวคงจะไม่คัดค้าน (และคงจะเห็นใจรัฐบาลบ้างเมื่อเทียบกับชั้น 7-8) แต่กระผมมีข้อแม้ว่าขอให้ทางมหาวิทยาลัยปรับปรุง ดังนี้คือ
1. เรื่องการเรียน
ก. มีห้องเรียนให้นักเรียนพอ อย่าให้ล้นห้องเช่นปีที่แล้ว (จน ฯพณฯ ยังเคยว่านักศึกษาไปซื้อยาดองกินกัน ในขณะอาจารย์กำลังสอน) ผมขอบอกแถมอีกว่า บางคนก็เลยไปเที่ยวไปดูหนัง รวมทั้งกระผมเองด้วย ทั้งนี้เพราะพอโผล่ไปที่ห้องเห็นเต็มไปหมดแล้ว
ข. ห้องสุขาขอให้เรียบร้อย ให้น่าใช้หน่อย
ค. วิชาภาษาอังกฤษ เพิ่ม ช.ม. บ้าง เช่น Conversation ก็เอาชาวต่างประเทศมาสอนบ้าง
2. ขอให้ ฯพณฯ ปรับปรุงและวางกฎเกณฑ์เซ็นเซ่อร์ (รวมทั้ง “รูปหนังแผ่น” ที่หน้าโรงภาพยนตร์) กระผมรู้สึกว่าเดี๋ยวนี้ยังหละหลวมมาก หนังพวกโป๊ๆ (บางเรื่องไม่โป๊แต่เขาโฆษณาว่ามีทีเด็ด…) ภาพยนตร์เช่นเรื่องมีเปลือยๆ หนังบางเรื่องเช่นดาวร้ายโยโกฮาม่าฉายที่แค๊ปปิตอล รูปหน้าโรงนางเอกมีขนจั๊กกะแร้ด้วย
ดังนั้น ผมจึงขอเสนอให้เคร่งครัดและวางกฎเกณฑ์ใหม่ให้รัดกุมยิ่งขึ้น เพื่อที่บรรดาภาพยนตร์แนวศิลปโป๊จากต่างประเทศทั้งหลาย (เช่น ญี่ปุ่น, ฝรั่งเศส, เยอรมัน, อิตาลี, U.S.A.) จะได้ไม่มาขนเงินออกนอกประเทศ หนังแนวโป๊พวกนี้เราสร้างเองได้ จะให้โป๊มากกว่าหนังจากเมืองนอกสักกี่เท่าๆ ก็ได้ ขณะนี้ที่ควีนส์ก็ชอบฉายหนังพรรค์นี้ เช่น ยุโรปราตรี…
ควรมิควรแล้วแต่จะกรุณา
นายสังเกต ชอบกอด
พิจารณาจากจดหมายข้างต้นย่อมวิเคราะห์เชื่อมโยงได้ว่า การที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะขึ้นราคาค่าเล่าเรียนนั้นไม่เป็นปัญหาสำหรับนายสังเกต ชอบกอด เทียบเท่ากับการที่ห้องเรียนไม่เพียงพอจนส่งผลให้นักศึกษาที่ไปถึงห้องเรียนเห็นว่าที่นั่งเต็มแล้วตัดสินใจออกไปเที่ยว ไปดื่มยาดอง และไปชมภาพยนตร์แทน ตัวนายสังเกตเองก็กระทำเช่นนั้น นำไปสู่ข้อน่ากังวลอีกประการคือภาพยนตร์ต่างประเทศที่จัดฉายตามโรงภาพยนตร์ต่างๆ ที่นักศึกษาได้ไปรับชมเข้าข่ายลักษณะเป็น ‘หนังโป๊’ จึงปรารถนาให้ท่านนายกรัฐมนตรีช่วยควบคุมและเซ็นเซอร์อย่างเคร่งครัด ไม่ปล่อยให้มาตักตวงเอาเงินไปจากผู้ชมชาวไทย ทั้งเสนอว่าหนังโป๊เหล่านั้น ชาวไทยก็สร้างเองได้และอาจสร้างได้ดีกว่า
สารเสรี เป็นหนังสือพิมพ์รายวันที่ได้รับทุนสนับสนุนในการจัดทำจากจอมพลสฤษดิ์ หรือพูดง่ายๆ ก็คือจอมพลสฤษดิ์เป็นเจ้าของ ก่อตั้งขึ้นเมื่อเดือนกรกฎาคม 2497 วางเป้าหมายในการนำเสนอข่าววิพากษ์วิจารณ์โจมตีและเปิดโปงการบริหารที่ไม่ชอบมาพากลของรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม รวมถึงพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ สารเสรี จึงเป็นแหล่งชุมนุมของนักคิดนักเขียนและปัญญาชนหัวก้าวหน้า เฉกเช่น อุดม สีสุวรรณ ผู้เข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย และจิตร ภูมิศักดิ์ ก็เคยเขียนงานเผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ มิเว้น ทนง ศรัทธาทิพย์ บรรณาธิการก็มักถูกสายตามองว่าเป็นพวกฝ่ายซ้าย
ก่อนหน้าที่จอมพลสฤษดิ์จะทำรัฐประหารยึดอำนาจากจอมพลป. เมื่อวันจันทร์ที่ 16 กันยายน 2500 นักคิด นักเขียน นักหนังสือพิมพ์และปัญญาชนมองเห็นเขาอยู่ในฐานะนายทหารหัวก้าวหน้าและเป็นขวัญใจประชาชน กระทั่งพอทำรัฐประหารสำเร็จก็ยังมีฝ่ายหัวก้าวหน้าจำนวนไม่น้อยรายสนับสนุน เพราะเปี่ยมความคาดหวังกับจอมพลสฤษดิ์ว่าเขาจะเป็นผู้นำประชาธิปไตยมาสู่เมืองไทย ไม่มีใครคะเนเลยว่าวันหนึ่งข้างหน้านายทหารผู้นี้จะกลายเป็นผู้นำเผด็จการที่ใช้อำนาจกดขี่ประชาชนยิ่งกว่าจอมพล ป.
อันว่าความโป๊กับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ใช่จะปรากฏอยู่แค่เพียงเรื่องหนังโป๊เท่านั้นหรอก แต่ในสิ่งพิมพ์ใต้ดินที่แพร่หลายอย่างยิ่งช่วงทศวรรษ 2490 ถึงทศวรรษ 2510 เยี่ยง ‘หนังสือปกขาว’ หรือ ‘หนังสือโป๊’ ที่นำเสนอภาพการร่วมเพศอย่างโจ่งแจ้งชัดเจน ใช้คำเรียกพฤติกรรมและอวัยวะในการเสพสมด้วยถ้อยคำตรงไปตรงมาโดยมุ่งเน้นปลุกเร้ากามารมณ์ของผู้อ่านก็มักจะพาดพิงถึงมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อยู่บ่อยๆ เท่าที่ผมเคยศึกษาจากหลักฐานสิ่งพิมพ์ประเภทนี้มาหลายปี น่าสังเกตว่าดูเหมือนจะเป็นมหาวิทยาลัยแห่งเดียวที่ผู้เขียนหนังสือปกขาวจงใจจะใส่ไว้ราวกับแสดงนัยสำคัญ
เฉกเช่นหนังสือปกขาวชื่อ พิษร้ายควายทุย ผลงานของหยาดพิรุณ ได้กล่าวถึงตัวละครหลักของเรื่องคือ ‘คุณพระวิเศษ’ ชายชราผู้ครอบครองภรรยาหญิงสาวรุ่นๆ และมีสมรรถภาพทางเพศที่แข็งแกร่ง โดยบรรยายตอนหนึ่งว่า “ท่านสำเร็จธรรมศาสตร์บัณฑิตย์ หนุ่มๆ เป็นนักกีฬาตัวยง เชี่ยวชาญทางหมัดมวย ฉะนั้นร่างกายจึงแข็งแรง วัยห้าสิบห้ายังเตะปี๊บเก่งคล้ายหนุ่ม กอร์ปทั้งมีสายเลือด ‘ฮิท’ ทางโลกีย์อยู่ด้วยจึงสู้ไม่ถอย…”
ตามถ้อยความแสดงว่าตัวละครน่าจะรับราชการจนได้รับบรรดาศักดิ์เป็นคุณพระมาตั้งแต่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ก่อนจะมาสมัครเข้าเรียนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ซึ่งก่อตั้งขึ้นภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน 2475 มาแล้วเป็นเวลา 2 ปี
หนังสือปกขาวชื่อ แมวขโมย ที่น่าจะพิมพ์เผยแพร่ช่วงทศวรรษ 2510 บนหน้าปกระบุว่าเป็นผลงานของชอพสนุก แต่พอพลิกดูภายในเล่มพบว่าเป็นผลงานเขียนของเพลย์บอย ถ่ายทอดเรื่องราวของเพชร พยัคฆราช ทนายความหนุ่มผู้มีเมียอยู่แล้ว แต่มักจะลอบเสพสมกับโนรี นรลักษณ์ เลขานุการสาวสวยในสำนักงาน เพชรยังได้ไปมีความสัมพันธ์ลึกซึ้งกับเศรษฐินีสาวนามพะเยีย อัครเดชธำรง เมียสาวของอัครเดชผู้เฒ่าชรา ซึ่งมาปรึกษาทนายหนุ่มเกี่ยวกับคดีความของเธอ หลังเจรจาธุระเสร็จสิ้น เพชรทำให้พะเยียอิ่มเอมรสสวาทเหลือล้นยิ่งกว่าเธอเคยได้รับจากสามีสูงวัย โดยมีแม่เลขาสาวโนรีแอบมองอยู่ จุดน่าสะดุดตาคือตอนพะเยียอยากให้ทนายหนุ่มพูดคุยกับอัครเดช พร้อมบอกว่าสามีของเธอเคยผ่านการศึกษาจากมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ เพชรจึงกล่าวว่า “ผมรู้สึกยินดีที่จะได้พบและคุ้นเคยกับอัครเดช ผมก็ผ่านการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” พะเยียผลิรอยยิ้มเก๋อย่างน่ารัก เธอเสริมต่อ “นอกจากนั้น ฉันยังรู้ด้วยว่าคุณเป็นนักกีฬาตัวยงของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สมัยเมื่อเป็นนักศึกษาและตอนนี้ก็เป็นดาราของทีมฟุตบอลสโมสรมหาวิทยาลัย…”
ไม่แปลกเลยที่จะพบการเอ่ยถึงมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในสื่อบันเทิงต่างๆ มากมาย ทั้งในงานวรรณกรรม โดยเฉพาะแนวเพื่อชีวิต สื่อสิ่งพิมพ์อื่นๆ หรือในบทเพลง ทว่าการพบมหาวิทยาลัยแห่งนี้ในหนังสือปกขาว ช่างเป็นอะไรที่ชวนให้ครุ่นคิด ทำไมหนอมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จึงมาปรากฏในหนังสือโป๊ได้ อาจเป็นแฟนตาซีเย้ายวนอารมณ์ผู้อ่าน หรืออาจฝากแฝงบริบททางการเมือง แต่จะอย่างไรก็ตามที นี่ย่อมมิแคล้วการการสะท้อนภาพมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในอีกแง่มุมที่แปลกอรรถรสออกไป
ไตร่ตรองดู เห็นทีชีวิตผมแทบจะหลีกเร้นออกจากความสนใจศึกษาสื่อสิ่งพิมพ์ประเภท ‘โป๊’ มิพ้นเสียแล้วกระมัง ถ้ากุหลาบ สายประดิษฐ์ เจ้าของนามปากกาลือลั่น ‘ศรีบูรพา’ ได้เคย “ดูนักศึกษา ม.ธ.ก. ด้วยแว่นขาว” มาก่อน บางที ที่ผมทดลองเสนอผ่านข้อเขียนนี้ก็อาจเป็นการพยายาม “ดูนักศึกษาธรรมศาสตร์ด้วยหนังสือปกขาว”
ต้องขอบคุณน้องนักศึกษาปริญญาตรีรุ่นหลานยายโดม (เป็นรุ่นถัดมาจากลูกแม่โดม) คนนั้น ที่การย้อนรำลึกความทรงจำของเขาพุ่งเข้ามาสะกิดต่อมความคำนึงนึกของผม จึงบันดาลให้เรื่องราวมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และความโป๊ได้รับการปัดฝุ่นขึ้นมาทบทวนอีกหน จนระดมให้ผมพากเพียรนำข้อมูลแห่งวันวานมาขยับขยายร้อยเรียงเป็นข้อเขียนชิ้นนี้
เอกสารอ้างอิง
เจ้าพระยา. (5 มีนาคม 2493)
นามานุกรมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 77 ปี 77 คำ. กรุงเทพฯ : หอจดหมายเหตุธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2554
เพลย์บอย.(นามแฝง). แมวขโมย. ม.ป.ท.: ม.ป.พ., ม.ป.ป.
สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล. ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง. กรุงเทพฯ: 6 ตุลารำลึก, 2544
สัจจา. (15 มีนาคม 2493)
สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทย. กรุงเทพฯ : สมาพันธ์, 2534
หยาดพิรุณ. (นามแฝง). พิษร้ายควายทุย. ม.ป.ท.: ม.ป.พ., ม.ป.ป.
อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ ศาสตราจารย์ ขุนประเสริฐศุภมาตรา (จรูญ จันทรสมบูรณ์) ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยาราม กรุงเทพมหานคร วันจันทร์ที่ 6 กรกฎาคม 2530. กรุงเทพฯ:โรงพิมพ์มหามกุฎราชวิทยาลัย, 2530
๗๐ ปี ธรรมศาสตร์ประกาศนาม. พิมพ์ครั้งที่3. กรุงเทพฯ : มติชน, ๒๕๔๗