fbpx

Joan Robinson ศาสตราจารย์เศรษฐศาสตร์หญิงคนแรกของเคมบริดจ์ ผู้ไม่ประนีประนอมกับ Nobel Prize

ในโอกาสที่คลอเดีย โกลดิน (Claudia Goldin) ได้รับรางวัลโนเบลเศรษฐศาสตร์ โดยเป็นนักเศรษฐศาสตร์หญิงคนที่ 3 จาก 93 คนที่ได้รับรางวัลนี้ และยังทำงานวิจัยว่าด้วยผู้หญิงในตลาดแรงงาน ส่งผลให้แวดวงวิชาการเศรษฐศาสตร์และศาสตร์อื่นๆ กลับมาทบทวนบทบาทและคุณูปการของผู้หญิงในศาสตร์ของตนกันอย่างเข้มข้นคึกคักอีกครั้ง  

บทความนี้จึงอยากเขียนสรรเสริญ ‘โจน โรบินสัน’ (Joan Robinson) นักเศรษฐศาสตร์หญิงอีกท่านที่ควรจะเป็นผู้หญิงคนแรกที่ได้รางวัลโนเบลตั้งแต่ปี 1970s แต่กลับคลาดไป เพราะแวดวงวิชาการเศรษฐศาสตร์และสังคมในภาพรวมไม่ยอมรับ ทั้งๆ ที่โจนเป็นผู้คิดค้นทฤษฎีที่นักเศรษฐศาสตร์ทุกคนต้องสอบให้ผ่านในแบบเรียน อย่างเช่น ทฤษฏีการแข่งขันไม่สมบูรณ์และทฤษฎีการสะสมทุน กล่าวได้ว่า คุณูปการที่โจนมีต่อวิชาวิชาเศรษฐศาสตร์ไม่ได้ด้อยไปกว่าเจ้าของรางวัลโนเบลคนอื่นๆ เลย

Joan Robinson
ภาพจาก W. Punt for Anefo /  Nationaal Archief

โจนเป็นศาสตราจารย์เศรษฐศาสตร์หญิงคนแรกของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ (Cambridge University) และได้ชื่อว่าเป็นคนที่นักเศรษฐศาสตร์ชายทั้งสองฝั่งแอตแลนติกต่างขยาด เธอทั้งดุดัน ปากร้าย ไฝว้ และไม่ยอมใคร ตามแบบเฟมินิสต์ยุคบุกเบิก แต่ที่มากกว่านั้นคือความเข้มแข็งของตรรกะและเหตุผลที่ทำให้นักเศรษฐศาสตร์ชายทั้งหลายไม่อาจต่อกรทางวิชาการกับเธอได้ นักวิชาการเศรษฐศาสตร์หลายคนมองว่า โจนมีดีมากพอที่จะรับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ แต่ที่เธอไม่ได้รับรางวัลนี้เป็นเพราะเธอไม่เห็นความสำคัญที่จะประนีประนอมในความคิดทางการเมืองและวิชาการกับสถาบันโนเบล

แม้จะมาจากครอบครัวชนชั้นสูง ซึ่งทำให้มีโอกาสได้เรียนหนังสือและใช้ชีวิตต่างจากผู้หญิงส่วนใหญ่ในยุคสมัยเดียวกัน แต่ชีวิตของโจอันก็ผ่านการดิ้นรนจากสังคมชายเป็นใหญ่ เธอต้องต่อสู้สร้างผลงานวิชาการจนได้รับการยอมรับเป็นอาจารย์ที่เคมบริดจ์ที่มีแต่ผู้ชาย อีกทั้งชีวิตส่วนตัวและครอบครัวถูกควบคุมอยู่ในกรอบคุณค่าและต้องพึ่งพิงโครงสร้างนั้น ระบบทำร้ายครอบงำเธอ จนทำให้ซึมเศร้าสุขภาพจิตทรุด มีปัญหาเหมือนทุกๆ คนที่โดนค่านิยมทางสังคมและเพศกดทับ  

ชื่อเดิมของโจน โรบินสัน คือ โจน มอลริสซ์ (Joan Maurice) เธอเริ่มเรียนที่เคมบริดจ์หลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่งช่วงปี 1920 ซึ่งเป็นยุคที่แม้ผู้หญิงจะมีสิทธิเรียน แต่ก็ไม่มีสิทธิได้ปริญญา และในสังคมที่มีแนวคิดไม่ส่งเสริมให้ผู้หญิงเป็นอิสระสามารถทำงานหาเลี้ยงตัวเอง นอกจากจะเป็นแค่ผู้ช่วยสอน เธอจึงไม่มีทางเลือกในการใช้ชีวิตมากนัก นอกจากแต่งงานตั้งแต่อายุยังน้อยกับอาจารย์ในคณะเดียวกันคือ ออสติน โรบินสัน (Austin Robinson) และเปลี่ยนนามสกุลตาม และใช่ว่าการมีสามีเป็นอาจารย์ในคณะเดียวกันจะเป็นเส้นสายในการเข้าสู่งานวิชาการ กลับกันก็อาจเป็นอุปสรรคทั้งทางจิตใจและตำแหน่งหน้าที่  

หลังกลับมาจากฮันนีมูนและย้ายไปทำงานที่อินเดียอยู่นานตามแบบผู้มีการศึกษาอังกฤษสมัยก่อน ครอบครัวโรบินสันก็กลับมาตั้งหลักที่เคมบริดจ์ในปี 1930 ตอนนั้นเธออายุ 20 ปลายๆ โรบินสันเริ่มหางานเพราะต้องการความเป็นอิสระและเข้าไปฟังเลกเชอร์เพิ่มเติมจากอาจารย์ใหม่ชาวอิตาเลียนที่ชื่อ ปิเอโร สราฟา (Piero Sraffa) โรบินสันและสามีของเธอตื่นเต้นมากจากสิ่งที่สราฟาสอน เพราะไม่เคยได้ยินมาก่อนและขัดแย้งกับทฤษฎีมูลค่าอุปสงค์อุปทานที่เคยเรียนมา สราฟาสอนพวกเขาเรื่องอัตราส่วนขยาย (returns to production) ในแนวคิดคลาสสิกของอดัม สมิธ (Adam Smith), เดวิด ริคาร์โด (David Ricardo) และคาร์ล มาร์กซ (Karl Marx) ทำให้ต่อมาโรบินสันกับเพื่อนสนิท ริชาร์ด คาห์น (Richard Kahn) รวมหัวกันถกเถียงถึงความเป็นไปได้ที่จะสร้างทฤษฎีใหม่

โจอันรับเอาแนวทางนี้ไปต่อยอดและเขียน Economics of Imperfect Competition ออกมาในปี 1933 ซึ่งนับเป็นการบุกเบิกทฤษฎีที่ก้าวหน้า เพราะก่อนหน้านี้ การวิเคราะห์กลไกอุปสงค์และอุปทานยึดอยู่กับตลาดที่สมบูรณ์เท่านั้น แต่ละบริษัทมีการผลิตที่ต้นทุนคงที่ (constant returns) ทำให้มีการแข่งขันที่ไม่มีใครได้เปรียบใคร โจอันแหกกฎอนุรักษนิยมของเคมบริดจ์นี้ตามที่สราฟาแนะนำว่าตลาดนั้นไม่สมบูรณ์ แต่ละบริษัทไม่ได้มีฟังก์ชันการผลิตที่คงที่ ตลาดในโลกแห่งความเป็นจริงมีการผูกขาดและมีผู้เล่นที่แข่งกันทำกำไร โจอันจึงหาแนวทางใหม่ในการวิเคราะห์นี้โดยไปดูที่รายได้ส่วนเพิ่ม (Marginal Revenue: MR) และต้นทุนส่วนเพิ่ม (Marginal Cost: MC) บริษัทแต่ละแห่งจะทำการแสวงหากำไรที่มากที่สุด เมื่อ MC = MR พฤติกรรมการแสวงหากำไรสูงสุดจะอยู่ที่จุดรายได้ส่วนเพิ่มเท่ากับต้นทุนส่วนเพิ่ม สี่เหลี่ยมระหว่างราคาตลาด (Pm) และต้นทุน (Unit Cost) เมื่อคูณกับจำนวนสินค้าที่ขาย จะทำให้บริษัทที่เป็นเจ้าตลาดนั้นสร้างกำไรส่วนเกินเหนือตลาดได้มากที่สุด ท่านผู้อ่านสามารถเปรียบเทียบภาพสมัยใหม่ที่ใช้เรียนทั่วไปด้านล่างซ้ายเปรียบกับภาพด้านขวาของจริงที่เธอเขียนไว้ในหนังสือ (1933, p.55)

โจอันเป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่วิเคราะห์อธิบายตลาดไม่สมบูรณ์นี้อย่างเป็นระบบ[1] ทำให้กราฟนี้อยู่ยงคงกระพัน นักเรียนเศรษฐศาสตร์ทุกคนต้องได้เรียนในวิชาจุลภาคเพื่ออธิบายพฤติกรรมการหากำไรของบริษัท

ในทางวิชาการ หนังสือของโจนเป็นการขบถต่อแนวคิดเดิมอย่างมาก เพราะถึงแม้การวิเคราะห์พฤติกรรมตลาดผูกขาดนี้จะสมเหตุสมผลอย่างยิ่ง แต่ก็ขัดกับการวิเคราะห์ตลาดสมบูรณ์ของปรมาจารย์เคมบริดจ์ที่ชื่อ อัลเฟรด มาแชล (Alfred Marshall) หนังสือเธอจึงเป็นที่กล่าวขวัญกันมากและทำให้อาจารย์ชายๆ ทั้งหลายในคณะประทับใจ หลังจากเล่นเกมการเมืองไฝว้กันมาระยะหนึ่ง โจนก็ได้รับตำแหน่งอาจารย์ในปี 1938 ด้วยการสนับสนุนจากเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ช่วยกันดันให้ผู้หญิงที่ไม่มีปริญญาอย่างเธอแต่มีมันสมองและปัญญาครบถ้วน ได้ตำแหน่งอาจารย์ โดยหนึ่งในผู้สนับสนุนนั้นคือคนที่ปฏิวัติความคิดเศรษฐศาสตร์มหภาค จอห์น เมนาร์ด เคนส์ (John Maynard Keynes)

การที่โจนจะทุบเพดานกระจกในการเป็นผู้หญิงในสังคมที่ห้อมล้อมด้วยผู้ชายนั้นไม่ง่ายเลย เพราะผู้หญิงในต้นศตวรรษที่ 20 นั้นไม่สามารถมีความเป็นอิสระจากทั้งด้านการใช้ชีวิต การเงินและค่านิยมทางสังคม แต่เธอก็มีเพื่อน พี่ ผู้ร่วมงาน ที่เป็นผู้ชายสนับสนุนอยู่ข้างๆ ออสติน โรบินสันสามีของเธอเป็นผู้ได้ชื่อว่าเป็นดาวรุ่งของคณะ ในขณะที่ริชาร์ด คาร์นก็เป็นเพื่อนคู่คิดข้างๆ เธอที่อยู่ด้วยกันตลอด โจนต้องอาศัยรายได้ของสามีในการอยู่อาศัย จ้างแม่บ้าน จ้างคนเลี้ยงลูกๆ สองคนของเธอกับออสติน ในขณะเดียวกันก็ทำงานวิชาการ สอนนักศึกษา เข้าสัมมนา เขียนเปเปอร์ เขียนหนังสือ เพื่อความก้าวหน้าในหน้าที่การงานกับริชาร์ด ผู้ที่ช่วยเธอทุกวิถีทางในการเขียนหนังสือและประชาสัมพันธ์ความคิดในวงวิชาการ ริชาร์ดช่วยผลักดันโจนอย่างมากจนใกล้ชิดมากกว่าเป็นเพื่อน กลายเป็นความสัมพันธ์รักที่กดทับไว้ แล้วไหนจะมีสงครามโลกครั้งที่สองและการเมืองอนุรักษนิยมที่สร้างความผิดหวังต่ออุดมการณ์ก้าวหน้าของเธออีก

โจนยังเป็นโรคซึมเศร้า ความกังวลต่อเรื่องส่วนตัว รักสามเส้า ความเป็นแม่ หน้าที่การงาน ความเป็นอิสระ ฯลฯ ส่งผลให้สุขภาพจิตของโจอันถึงจุดแตกหัก[2] มีความขัดแย้งกับค่านิยมและได้รับความกดดันทางสังคม เธอเข้าออกโรงพยาบาลอยู่เป็นเดือนๆ และมีอาการกำเริบเป็นๆ หายๆ อยู่หลายปี ยิ่งในสมัยนั้นที่โรคซึมเศร้าเป็นเรื่องที่พูดกันเบาๆ ไม่ได้รับการยอมรับ หนทางการแก้ปัญหาแบบคนโบราณก็คือการเก็บไว้เงียบๆ หาทางออกที่รับกันได้ต่อทุกฝ่าย สุดท้ายโจอันก็หาทางออกให้กับความสัมพันธ์สามเส้าได้ เธอไม่เคยหย่าขาดกับสามีออสติน แม้จะมีความต้องการใช้ชีวิตในแบบอื่นกับริชาร์ด ทั้งยังมีความรับผิดชอบกับลูกน้อยอีกสองชีวิต ในด้านนี้เราสามารถสัมผัสถึงความเป็นมนุษย์ของเธอและเข้าใจถึงเพดานที่ผู้หญิงถูกกดทับไว้ในสังคม

ในทางวิชาการโจอันไม่หยุดอยู่แค่พฤติกรรมผูกขาดของบริษัท เธอเป็นมือซ้ายของเคนส์ในช่วงการปฏิวัติความคิดเศรษฐศาสตร์มหภาค โดยเธอพยายามนำความคิดเรื่องอุปสงค์และการปรับตัวในระยะสั้นไปสู่การสะสมทุนในระยะยาวแบบคลาสสิคที่เริ่มจากสมิธ ริคาโด และมาร์กซ โปรเจกต์วิจัยนี้ซับซ้อนยุ่งยากมาก โจอันเขียนหนังสือและเปเปอร์ออกมามหาศาล ซึ่งหลายๆ ครั้ง ความคิดเธอก็ขัดกัน เปเปอร์ที่ออกมาก่อนไปขัดกับเปเปอร์หลัง ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าระหว่างนี้โจอันเปลี่ยนความคิดหลายต่อหลายหน ที่สุดแล้ว เธอประกาศว่าหนังสือการแข่งขันไม่สมบูรณ์ที่ทำให้เธอได้ตำแหน่งอาจารย์นั้นเป็นความล้มเหลว และเธอถอนรากถอนโคนโยนวิธีการคิดแบบอุปสงค์อุปทานทิ้งทั้งหมด

ในช่วงทศวรรษ 1950-1970 ซึ่งเป็นยุคทองของทุนนิยม (Golden Age Capitalism) นักเศรษฐศาสตร์แคมบริดจ์อังกฤษกับนักเศรษฐศาสตร์แคมบริดจ์รัฐแมสซาซูเซต แข่งกันแก้ปัญหาทฤษฎีการเติบโตและเสถียรภาพทุนนิยมของแบบจำลองฮารอด-โดมาร์ (Harrod-Domar Model) ทั้งสองฝ่ายเห็นร่วมกันว่า การสะสมทุนในระบบทุนนิยมเป็นประโยชน์ต่อทั้งทุนและแรงงาน แต่กลับต้องมาเถียงกันว่าอะไรคือนิยามของ ‘ทุน’ (Capital Theory Controversy)

โจอันอยู่ในกลุ่มที่เชื่อว่า ทุนไม่ลื่นไหลและทดแทนไม่ได้ (substitution) โดยโต้แย้งเป็นสิบๆ ปี กับพอล ซามูเอลซัน (Paul Samuelson) และโรเบิร์ต โซโล (Robert Solo) สองนักเศรษฐศาสตร์อเมริกันผู้ยิ่งใหญ่ (และได้รับรางวัลโนเบลทั้งคู่) โจอันใช้โมเดลคณิตศาสตร์อันซับซ้อนในการถกเถียง จนในที่สุดซามูเอลซันออกมาเขียนสรุปข้อบกพร่องของฟังก์ชันการผลิต (production function) และยอมรับความพ่ายแพ้ไป [3] ในแวดวงเศรษฐศาสตร์ การถกเถียงครั้งนี้นับเป็นหมุดหมายสำคัญของการกลับมาให้ความสำคัญของการนิยามทุนนิยม ซึ่งเป็นข้อถกเถียงคลาสสิกของสมิธ, ริคาร์โด และมาร์กซ์  

ความไฝว้ไม่ยอมใครของโจอันเป็นที่เลื่องลือ เธอเป็นฮีโรของนักเศรษฐศาสตร์ที่มีแนวคิดถอนรากถอนโคน ทั้งทางมันสมองและการใช้ชีวิต อมาตยา เซน (Amartya Sen) นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลผู้โด่งดัง ลูกศิษย์ของโจอันยังต้องเอนตามใจเธอ เซนโดนบังคับให้ทำปริญญานิพนธ์เรื่องการเลือกเทคนิคการผลิต แล้วถึงจะได้มาทำเรื่องโอกาสและความยุติธรรมที่ทำให้เขาเป็นที่รู้จักในภายหลัง โดยเซนเคยให้สัมภาษณ์ว่าครูของเขานั้น “เยี่ยมยอดแต่ถือทิฐิไม่ยอมใคร”

แม้จะมีผลงานระดับโลกเป็นที่เลื่องลือมีลูกศิษย์ลูกหามากมาย แต่โจอันไม่ได้รับเกียรติอย่างสมควรจากแวดวงวิชาการเศรษฐศาสตร์ในยุคของเธอ ที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ โจอันได้เป็นศาสตราจารย์ต่อเมื่อออสตินสามีของเธอลงจากตำแหน่งเท่านั้น ภรรยาได้รับตำแหน่งศาสตราจารย์ต่อจากสามีเมื่อตำแหน่งเดียวกันนั้นว่างลง โจอันเคยมีชื่อเป็นตัวเต็งรางวัลโนเบลในปี 1975 ซึ่งสหประชาชาติประกาศให้เป็นปีของผู้หญิง (women’s year) แต่ก็เป็นที่รู้กันว่าในช่วงนั้นเธอเป็นคนต่อต้านเศรษฐศาสตร์กระแสหลักและสนับสนุนความคิดแบบเหมาอิสต์นิยมชนชั้นกรรมมาชีพ หลายคนเชื่อว่า คงเป็นเรื่องการไม่ประนีประนอมนี้ที่ทำให้โรบินสันไม่ผ่านคณะกรรมการรางวัลโนเบล[4]  

สำหรับโจอันแล้ว รางวัลและการยอมรับคงไม่สำคัญสำหรับเธอมากกว่าจุดยืนในความเป็นผู้หญิงที่ทำลายเพดานอย่างแท้จริงและความเป็นนักทฤษฎีที่คิดแบบถอนรากถอนโคน[5]

รายชื่อวิชาที่ออสติน และโจน โรบินสัน ทำการสอน และค่าจ้างที่ได้รับ ระหว่างปี 1930-1939


[1] มีการถกเกียงกันว่าใครเป็นผู้คิดค้นคนแรก ดู Edward Chamberlain

[2] Aslanbeigui, N. (2009). The provocative Joan Robinson: the making of a Cambridge economist. Duke University Press ผู้เขียนนำหนังสือนี้มาสรุป อยากแนะนำให้อ่านมากๆครับ

[3] Samuelson, P. (1972). A Summing Up. The Collected Scientific Papers of Paul A. Samuelson, 3, 230.

ดูเพิ่มเติม Harcourt, G. C. (2001). Joan Robinson and her circle. History of Economic Ideas, 59-71.

Marcuzzo, M. C. (2003). Joan Robinson and the three Cambridge revolutions. Review of Political Economy, 15(4), 545-560.

[4] Geoff Harcourt บอกว่าจริงๆแล้วโรบินสันก็อยากได้โนเบลอยู่เหมือนกัน แต่เธอวางแผนจะเอาเงินรางวัลไปให้องค์กรการกุศลฝั่งซ้ายที่ขัดใจพวกคณะกรรมการเป็นการแก้เผ็ด

Harcourt, G., & King, J. (1995). Talking about Joan Robinson: Geoff Harcourt in conversation with John King. Review of Social Economy53(1), 31-64.

Turner, M. S. (2016). Joan Robinson: Why Not a Nobel Laureate?. In The Joan Robinson Legacy (pp. 242-249). Routledge.

Pasinetti, L. L. (2007). Keynes and the Cambridge Keynesians: A’revolution in Economics’ to be Accomplished. Cambridge University Press.

[5] อ่านเพิ่มเติมบทวิเคราะห์สตรีนิยมกับ Golding https://medium.com/@monetarypolicyinstitute/the-intellectual-traditions-of-nobel-laureate-claudia-goldin-46e6dc8c9dae

MOST READ

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

Economy

23 Nov 2023

ไม่มี ‘วิกฤต’ ในคัมภีร์ธุรกิจของ ‘สิงห์’ : สันติ – ภูริต ภิรมย์ภักดี

หากไม่เข้าถ้ำสิงห์ ไหนเลยจะรู้จักสิงห์ 101 คุยกับ สันติ- ภูริต ภิรมย์ภักดี ถึงภูมิปัญญาการบริหารคน องค์กร และการตลาดเบื้องหลังความสำเร็จของกลุ่มธุรกิจสิงห์

กองบรรณาธิการ

23 Nov 2023

Economy

19 Mar 2018

ทางออกอยู่ที่ทุนนิยม

ในยามหัวเลี้ยวหัวต่อของบ้านเมือง ผู้คนสิ้นหวังกับปัจจุบัน หวาดหวั่นต่ออนาคต และสั่นคลอนกับอดีตของตนเอง
วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร เสนอทุนนิยมให้เป็น ‘grand strategy’ ใหม่ของประเทศไทย

วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร

19 Mar 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save