fbpx

ไต้หวันกับการขยายแนวป้องกันตนเองของญี่ปุ่น

ท่ามกลางสถานการณ์โลกอันน่าวิตกจากสงครามระลอกใหม่ในหลายพื้นที่ที่ดูจะส่อแววยืดเยื้อบานปลายและดึงหลายฝ่ายเข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่ว่ากรณีรัสเซียกับยูเครน หรืออิสราเอลกับกลุ่มฮามาส ยังมีอีกจุดยุทธศาสตร์ที่นานาชาติจับจ้องด้วยความระมัดระวังมาพักใหญ่ โดยมองเป็นชนวนสงครามที่อาจปะทุขึ้นได้ในไม่ช้า และจะสั่นคลอนเสถียรภาพของโลกขนานใหญ่ นั่นก็คือ ‘ช่องแคบไต้หวัน’

เหตุที่ความสนใจพุ่งเป้ามายังน่านน้ำที่แยกเกาะไต้หวันออกจากจีนแผ่นดินใหญ่นี้ เป็นเพราะการแสดงปณิธานที่แรงกล้ามากยิ่งขึ้นของจีนในยุคผู้นำ สี จิ้นผิง ที่จะ “ผนวกกลับ (reunify) มณฑลที่ต้องการตั้งตนเป็นรัฐเอกราช” อย่างไต้หวัน โดยถือเป็นส่วนสำคัญของการฟื้นฟูความยิ่งใหญ่ให้แก่ชนชาติจีน อีกทั้งยังเน้นย้ำเสมอว่าจะไม่ละเว้น ‘การใช้กำลัง’ หากสถานการณ์บังคับ

เมื่อพิจารณาร่วมกับการที่จีนได้กลายเป็นมหาอำนาจทางทะเล ซึ่งแม้จะยังห่างชั้นกับสหรัฐฯ อยู่มากในทางเทคโนโลยี แต่ในแง่จำนวนเรือรบ จีนได้สั่งสมจนมีขนาดใหญ่แซงหน้าสหรัฐฯ ไปแล้ว จึงไม่น่าแปลกที่ท่าทีของจีนจะถูกจับตา อีกทั้งจีนยังแสดงให้เห็นชัดว่าตนจะใช้แสนยานุภาพสอดส่องและปกป้อง ‘เขตอิทธิพล’ อันได้แก่ผืนน้ำที่แผ่จากชายฝั่งไปคลุมทะเลจีนใต้ ทะเลจีนตะวันออก จนถึงช่องแคบไต้หวัน ด้วยการใช้กำลังรังควาน (gray-zone tactics) ชาติบริเวณนี้อย่างไม่หยุดหย่อน

ในยามที่โลกระส่ำระสายด้วยความรุนแรงในที่ต่างๆ ทำให้อดตั้งคำถามไม่ได้ว่าเหตุการณ์เหล่านี้มีความเกี่ยวพันแบบปฏิกริยาลูกโซ่ (chain reaction) กันหรือไม่ ส่งผลเชื่อมโยงกันอย่างไร และกระทบมายังสถานการณ์ช่องแคบไต้หวันมากน้อยเพียงใด

แม้ชนวนเหตุขัดแย้งในแต่ละที่จะแตกต่างกันคนละเรื่อง แต่ความเกี่ยวเนื่องถึงกันอาจมาจากการปลุกปั่นให้เกิด ‘บรรยากาศ’ ที่ชี้ชวนให้ผู้นำในที่ต่างๆ เชื่อไปว่าการรบพุ่งเป็นหนทางตัดสินปัญหาและรักษาผลประโยชน์ที่ชาติไหนๆ ก็กระทำกัน เป็น ‘บรรทัดฐาน’ ที่กำลังก่อตัว หรือเป็น ‘ปกติวิสัยใหม่’ ที่สามารถเอาเป็นเยี่ยงอย่างหรือเป็นตัวเลือกในทางนโยบายได้

ความเชื่อมโยงยังอาจมาจากการเห็น ‘โอกาส’ เมื่อความวุ่นวายในพื้นที่อื่นเบนความสนใจ และดึงเอาพละกำลัง รวมถึงทรัพยากรของฝ่ายที่เกี่ยวข้องออกไป เปิดช่องเชื้อเชิญให้จีนเผด็จศึกโดยใช้กำลังเพื่อบรรลุเป้าหมายที่ตั้งใจไว้กับไต้หวัน หรือในอีกแง่ที่เราเห็นความเกี่ยวโยงกันชัดเจนที่สุดก็คือการมีตัวละครทับซ้อนกันอยู่ในความขัดแย้งเหล่านี้ ซึ่งได้แก่รัฐอำนาจที่นำโดยสหรัฐฯ ท่าทีและปฏิกริยาในแต่ละวิกฤตได้ ‘ส่งสัญญาณ’ ให้จีนเกิดความลังเลใจหรือไม่ก็เหิมเกริมต่อประเด็นไต้หวัน

ความเชื่อมโยงที่เป็นไปได้หลายรูปแบบนี้ ทำให้ตัวแสดงในเอเชียอย่างญี่ปุ่นนั่งไม่ติดเมื่อเห็นว่าวิกฤตที่ปะทุขึ้นแต่ละแห่งในโลกได้สูบเอากำลังคน กำลังทรัพย์ ความสนใจ และขวัญกำลังใจของมหาอำนาจหลักอย่างสหรัฐฯ ออกไปจากแนวหน้าไต้หวัน ซึ่งตั้งอยู่ไม่ไกลจากสุดปลายเขตแดนญี่ปุ่นทางตะวันตกเฉียงใต้ ความตระหนักว่าไต้หวันสุ่มเสี่ยงต่อสงครามและญี่ปุ่นก็เสี่ยงจะติดร่างแหอย่างไม่ต้องสงสัย ทำให้ญี่ปุ่นไม่อาจอยู่นิ่งเฉยได้

เหตุผลเหล่านี้ทำให้ญี่ปุ่นขยับเข้าใกล้ไต้หวัน อย่างที่เห็นในรูปวาทะที่เปร่งจากฝั่งรัฐบาลและนักการเมือง ซึ่งแสดงความแนบแน่นและแน่วแน่ต่อการผูกสัมพันธ์กับรัฐบาลไต้หวัน ทั้งยังเห็นการยกระดับการไปมาหาสู่ ซึ่งล้วนดูจะตอกหน้าจีนให้ขุ่นหมองข้องใจ ข้อเขียนนี้จึงอยากสำรวจและวิเคราะห์ท่าทีของญี่ปุ่นล่าสุดในเรื่องนี้ โดยมองโยงกับยุทธศาสตร์ใหญ่คือ ‘การป้องปราม’ ภัยคุกคามจีน ตลอดจนแนวคิด ‘การป้องกันตนเองร่วม’ ที่ทำให้ญี่ปุ่นขยายแนวตั้งรับไปคลุมเกาะไต้หวันได้ชัดเจนขึ้น

เพราะต้องการสันติจึงต้องเตรียมสู้ศึก

ช่วงทศวรรษที่ผ่านมา แนวทางที่ญี่ปุ่นรับมือกับบริบทความมั่นคงที่มีอำนาจของจีนเป็นปมปัญหาใหญ่ ค่อยๆ เห็นเด่นชัดขึ้นในรูป ‘นโยบายป้องปราม’ ซึ่งหมายถึงการพยายามระงับยับยั้งศัตรูไม่ให้กระทำหรือเคลื่อนไหวในทางที่ไม่พึงประสงค์ หรือสั่นคลอนสภาพที่เป็นอยู่ (status quo) เพื่อวัตถุประสงค์นี้ รัฐบาลญี่ปุ่นได้อาศัยวิธีการที่ยืดหยุ่นแบบเผื่อทางหนีทีไล่ไว้ (hedge) โดยอาศัยมาตรการหลายรูปแบบ (multi-pronged) ซึ่งล้วนมุ่งหวังที่จะป้องปรามพฤติกรรมของจีน

เราจึงเห็นว่านอกจากการกระชับพันธมิตรแบบทวิภาคีกับสหรัฐฯ อันเป็นเสาหลักความมั่นคงมาแต่เดิมให้เข้มแข็งแล้ว ญี่ปุ่นยังกระตือรือร้นเข้าร่วมกรอบพหุภาคีอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น พันธมิตรไตรภาคีกับเกาหลีใต้และสหรัฐฯ จตุพันธมิตรกับอินเดีย ออสเตรเลีย และสหรัฐฯ หรือการเข้าเป็นหุ้นส่วนกับองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) อาจมองว่ากรอบความมั่นคงเหล่านี้ก็มีสหรัฐฯ เป็นแกนหลักทั้งสิ้น แต่เราก็เห็นว่าญี่ปุ่นริเริ่มความร่วมมือทางยุทธศาสตร์ทั้งแบบ ‘ทวิ’ และ ‘มินิ’ ภาคี (mini-lateral) ใหม่ๆ นอกการอ้อมโอบของสหรัฐฯ ในหลายทางด้วย

ข้อตกลงแลกเปลี่ยนการใช้สถานที่ทางทหาร (Reciprocal Access Agreement: RAA) ระหว่างญี่ปุ่นกับออสเตรเลีย และอีกฉบับกับอังกฤษ ถือเป็นตัวอย่างข้อริเริ่มแบบ ‘ทวิภาคี’ ดังกล่าว ญี่ปุ่นยังจับมือแบบ ‘สามฝ่าย’ กับอังกฤษและอิตาลี เพื่อพัฒนาเครื่องบินรบรุ่นใหม่ในโครงการ Global Combat Air Programme (GCAP) ซึ่งถือเป็นพัฒนาการใหม่ในยุคที่ญี่ปุ่นหันมาสนใจยุทธศาสตร์การทหาร และการปรับเปลี่ยนหลักการ ‘สันตินิยมต่อต้านสงคราม’ ให้ยืดหยุ่นกว่าเดิม

โดยในบริบทความมั่นคงเวลานี้ แนวทางต่อต้านสงครามและธำรงสันติภาพดูจะเริ่มกอดรัดแน่นกับตรรกะ ‘การถ่วงดุลอำนาจ’ และคำขวัญที่ว่า “หากใฝ่หาสันติ จงเตรียมทำสงคราม” (if you want peace; prepare for war / Si vis pacem, para bellum) ซึ่งก็เป็นหลักพื้นฐานของการป้องปราม นั่นคือการตระเตรียมการให้อีกฝ่ายเห็นว่าตนหาใช่เหยื่อที่ไร้เขี้ยวเล็บ แต่พร้อมจะต่อสู้เพื่อป้องกันตนเองและเอาชนะข้าศึกได้ นี่อาจหยุดยั้งความตั้งใจของอีกฝ่ายไม่ให้คิดลงมือตั้งแต่ต้น

ด้วยตรรกะเช่นนี้ที่เข้ามาแทนที่แนวทางสันตินิยมแบบดั้งเดิมซึ่งเคยเอนเอียงไปทาง ‘การลด-ละ-เลิก’ หรือยึดข้อห้ามด้านการทหารอย่างเคร่งครัด ญี่ปุ่นจึงสามารถเดินหน้าเสริมสร้างพละกำลังเพื่อการป้องปรามด้วยวิธีการต่างๆ ข้างต้นได้ แนวโน้มใหม่นี้ยังผลักดันพัฒนาการล่าสุดในนโยบายป้องปราม นั่นคือการเพิ่มพูนแสนยานุภาพของญี่ปุ่นเอง อันเป็นอีกยุทธวิธีนอกเหนือจากการพึ่งพิงศักยภาพผู้อื่น โดยรูปธรรมของยุทธศาสตร์นี้เผยให้เห็นในหลายมาตรการที่เกิดขึ้นช่วงปีนี้

ญี่ปุ่นที่ไม่ใช่ชาติไร้เขี้ยวเล็บ

เมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว ญี่ปุ่นได้เผยแพร่ ‘ยุทธศาสตร์ความมั่นคง’ (National Security Strategy: NSS) ฉบับใหม่ พร้อมกับเอกสารเกี่ยวเนื่องอีก 2 ฉบับ โดยเผยแผนการเพิ่มค่าใช้จ่ายด้านกลาโหมเป็น 2% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ในระยะ 5 ปี จากเดิมที่งบฯ ด้านนี้คงที่อยู่ราว 1% GDP มาเนิ่นนาน อีกทั้งยังมุ่งเสริมโครงสร้างพื้นฐานสำหรับป้องกันประเทศ ระบบป้องกันขีปนาวุธ และศักยภาพโจมตีโต้กลับ (counterstrike capability) ซึ่งทำให้ยิงใส่ฐานทัพในดินแดนของข้าศึกได้

ณ เวลานี้แผนดังกล่าวสะท้อนออกมาในการของบฯ กลาโหมที่สูงเป็นประวัติกาล (7.7 ล้านล้านเยน ซึ่งเดิมมักอยู่ที่ระดับ 5-6 ล้านล้านเยน) โดยวางแผนที่จะใช้สำหรับตั้ง ‘กองบัญชาการร่วม’ (joint command) เพื่อบูรณาการการทำงานและ ‘ปฏิบัติการแบบข้ามมิติ’ (cross-domain) งบฯ นี้ยังใช้จัดหาเรือพิฆาตติดตั้งระบบอีจีส (Aegis system) เพิ่มเติมอีก 2 ลำเป็น 10 ลำเพื่อเสริมสร้างระบบสกัดขีปนาวุธ

นอกจากนั้นยังมุ่งขยายพิสัยของขีปนาวุธยิงจากเรือรบจาก 200 กิโลเมตร เป็น 1,000-1,500 กิโลเมตร สอดรับกับสมรรถนะที่เพิ่มขึ้นของจีน และจัดหาขีปนาวุธร่อนนำวิถี (cruise missile) ซึ่งเป็นหนึ่งในศักยภาพโจมตีโต้กลับ และระบบป้องกันอาวุธเหนือเสียง (hypersonic weapon) ตลอดจนเพิ่มพูนยุทธภัณฑ์เครื่องกระสุนในคลังแสงเพื่อเตรียมพร้อมรับสงครามที่อาจยืดเยื้อยาวนาน ความสนใจยังมุ่งไปที่การพัฒนายุทโธปกรณ์แบบไร้คนขับ (unmanned vehicle) ตามแนวโน้มของโลกอีกด้วย

ด้วยเหตุนี้จึงไม่ผิดนักถ้าจะกล่าวว่าญี่ปุ่นกำลังปรับสู่โหมด ‘ติดอาวุธ’ (remilitarize) และเตรียมการ ‘พร้อมรบ’ อย่างเต็มตัว แต่เมื่อมองยุทธศาสตร์ใหญ่ก็จะเข้าใจว่าความเคลื่อนไหวนี้เป็นแนวทางหนึ่งเพื่อวัตถุประสงค์เดียวกับการกระชับพันธมิตรความมั่นคงหลายรูปแบบข้างต้น นั่นคือเพื่อส่งสัญญาณให้จีนเห็นว่าญี่ปุ่นเอาจริงเอาจังและมีพลังเพียงพอที่จะต้านทานการใช้กำลังใดๆ โดยหวังที่จะยับยั้งการกระทำบุ่มบ่าม และ ‘ป้องปราม’ มิให้สงครามบังเกิด

ยุทศาสตร์ป้องปราม – กันไว้ดีกว่าแก้

ทุกวันนี้ใช่ว่าญี่ปุ่นสนใจเพียงการปกป้องอธิปไตยและเขตแดนของตนเพียงเท่านั้น แต่ยังวิตกว่าเสถียรภาพและระเบียบของภูมิภาคที่เอื้อให้ญี่ปุ่นเข้าถึงทรัพยากรและวัตถุดิบสำหรับดำรงชีพและเศรษฐกิจได้อย่างราบรื่น กำลังสุ่มเสี่ยงจากอำนาจข่มขู่คุกคามของจีน ญี่ปุ่นยังหวั่นเกรงกรณีเลวร้ายที่สุด (worst-case scenario) อันเกิดจากการใช้ศึกสงครามเพื่อยึดครองอาณาเขตที่จีนอ้างกรรมสิทธิ์ซึ่งมีอยู่ทั่วแถบแปซิฟิกตะวันตก

ช่องแคบไต้หวันซึ่งขีดคั่นพื้นที่ผลประโยชน์ ‘หลักใหญ่’ (core interest) ของจีนจึงเป็นจุดที่ทั้งญี่ปุ่น สหรัฐฯ และชาติต่างๆ จับจ้องในฐานะชนวนสงคราม ความวิตกนี้มีมาก่อนวิกฤตสงครามยูเครนและไม่น่าจะเกินเลยไปถ้าจะพูดว่าเป็นปมที่ฝังอยู่ในการแสดงปฏิกริยาโต้ตอบวิกฤตต่างๆ ในโลกของชาติอำนาจ รวมไปถึงวิกฤตตะวันออกกลางรอบล่าสุดนี้ด้วย โดยมองเป็นการส่งสัญญาณบางอย่างไปยังจีน ในกรณีที่คิดจะเปิดศึกสงครามข้ามช่องแคบ

แนวเขตการป้องปรามจีนของญี่ปุ่นจึงขยายไปคลุมเกาะไต้หวัน โดยจะเห็นว่าในช่วงไม่กี่ปีมานี้ เรามักได้ยินการผูกโยงไต้หวันเข้ากับความมั่นคงของญี่ปุ่น หรือไม่ก็ระบบพันธมิตรญี่ปุ่น-สหรัฐฯ สิ่งนี้ปรากฏชัดในแถลงการณ์ร่วมของผู้นำทั้งสอง (ไบเดน-ซุงะ) ขณะพบกันครั้งแรกเมื่อปี 2021 และถือเป็นการเปิดศักราชการต่างประเทศของสหรัฐฯ ยุคหลังโดนัลด์ ทรัมป์ โดยระบุย้ำความสำคัญของ “สันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวัน”

นับจากนั้นเราพบว่าการสร้างตรรกะเชื่อมโยงญี่ปุ่น-ไต้หวันมีให้ได้ยินถี่ขึ้น เช่นจากอดีตผู้นำคนสำคัญอย่างชินโซ อาเบะ ผู้ที่มักร่วมงานเสวนาด้านความมั่นคงว่าด้วยประเด็นไต้หวัน ปลายปี 2021 เขาถึงกับแสดงความเห็นว่าหากจีนเปิดศึกย่อมกระตุ้นให้พันธมิตรญี่ปุ่น-สหรัฐฯ เคลื่อนไหวเพื่อปกป้องไต้หวัน และนั่นอาจหมายถึงการทำ ‘อัตวินิบาตกรรมทางเศรษฐกิจ’ (economic suicide) ของจีน เมื่อต้องเผชิญความไม่แน่นอนจากสงครามระดับใหญ่

รัฐมนตรีกลาโหมโนบุโอะ คิชิ และรองนายกฯ ทาโร อาโซ ก็ได้ประกาศชัดทำนองเดียวกันว่าสถานการณ์ของช่องแคบไต้หวันเกี่ยวพันโดยตรงกับความมั่นคงของญี่ปุ่น จึงทำให้ต้องร่วมป้องกันไต้หวันในภาวะฉุกเฉิน หลักเหตุผลนี้มีคำอธิบายหนุนหลังอย่างไร และเหตุใดบรรดาผู้นำและนักการเมืองญี่ปุ่นจึงออกมาเผยแพร่และเน้นย้ำตรรกะดังกล่าว ที่สำคัญคือท่าทีเหล่านี้เกี่ยวพันกับยุทธศาสตร์การป้องปรามอย่างไร

ตรรกะที่ผูกพันความมั่นคงไต้หวันเข้ากับญี่ปุ่น

ความใกล้ชิดเชิงภูมิศาสตร์ดูจะเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้ไต้หวันกับความมั่นคงญี่ปุ่นกลายเป็นเรื่องเดียวกัน แม้ ‘การใช้กำลังเปลี่ยนสภาพแวดล้อม’ ไม่ว่าจะเกิด ณ จุดไหนในเอเชียก็ทำให้ญี่ปุ่นมองเป็นปัญหาต่อระเบียบภูมิภาคที่ตนต้องพึ่งพาได้ทั้งนั้น แต่ไต้หวันตั้งประชิดปลายสุดของจังหวัดโอกินาวา โดยมีเกาะโยนากุนิห่างมาเพียงร้อยกว่ากิโลเมตร ไม่ไกลจุดนั้นยังเป็นที่ตั้งหมู่เกาะเซงคะคุที่จีนก็อ้างอธิปไตย แต่อยู่ในสังกัดเมืองอิชิงาคิ จึงไม่แปลกที่ญี่ปุ่นจะมองพื้นที่ตอนใต้กับไต้หวันเป็นยุทธบริเวณเดียวกัน

ญี่ปุ่นเรียกจุดยุทธศาสตร์ดังกล่าวว่า ‘เกาะห่างไกล’ (ritou) ซึ่งไม่นานมานี้การปกป้องคุ้มกันเกาะเหล่านี้ โดยเฉพาะในภูมิภาค ‘นันเซ’ (nansei) หรือ ‘ตะวันตกเฉียงใต้’ กลายเป็นวาระเร่งด่วน สามเกาะแนวหน้าที่อยู่ใกล้ไต้หวัน โยนากุนิ อิชิงาคิ และมิยาโกะ เป็นจุดที่ญี่ปุ่นมีแผนและได้เริ่มการเสริมกองกำลัง สร้างฐานทัพใหม่ และติดตั้งระบบป้องกันขีปนาวุธและเครือข่ายขีปนาวุธ เพื่อรับมือกรณีฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้นกับไต้หวัน

จีนที่ใช้ยุทธวิธีส่งเรือในสังกัดรัฐบาลและเครื่องบินรบเข้ารังควานน่านน้ำและน่านฟ้าไต้หวันอย่างต่อเนื่อง ยิ่งหล่อเลี้ยงความตึงเครียดและตอกย้ำแนวโน้มการใช้กำลัง น่านน้ำใกล้เกาะเซงคะคุก็เผชิญการกระทำที่ไม่ต่างกันนัก ความเกี่ยวโยงในยามวิกฤตยิ่งถูกยืนยันอีกครั้งระหว่างที่จีนซ้อมรบขนานใหญ่เมื่อปีที่แล้วเพื่อตอบโต้ไต้หวันกรณี แนนซี่ เพโลซี่ ประธานสภาสหรัฐฯ เดินทางเยือน โดยขีปนาวุธ 5 จาก 11 ลูกที่จีนซ้อมยิงตกเข้าไปในเขตเศรษฐกิจจำเพาะ (EEZ) ของญี่ปุ่น

ตรรกะการมองภูมิศาสตร์เชื่อมกันนี้ถูกผลิตซ้ำบ่อยโดยรัฐบาลญี่ปุ่น การถือว่าการใช้กำลังต่อไต้หวัน “กระทบโดยตรงต่อความมั่นคงญี่ปุ่น” เป็นการตีความสถานการณ์ให้เข้าข่ายที่จะสามารถใช้กฎหมายว่าด้วย ‘การป้องกันตนเองร่วม’ (collective self-defense) ซึ่งญี่ปุ่นได้ปรับแก้โดยตีความบทบัญญัติละเลิกสงครามในรัฐธรรมนูญ (ม.9) ครั้งใหม่เมื่อปี 2014 จากเดิมที่ไม่ยอมรับ ‘สิทธิการป้องกันตนเองร่วม’ หันมายอมรับและใช้สิทธินี้ได้โดยมี ‘เงื่อนไขจำกัด’

มิติใหม่ว่าด้วยสิทธิการป้องกันตนเองร่วม

เดิมทีการตีความ ม.9 ให้ญี่ปุ่นจัดตั้ง ‘กองกำลังป้องกันตนเอง’ ขึ้นมาได้ในทศวรรษ 1950 นั้นมีการวางข้อจำกัดให้ ‘สิทธิการป้องกันตนเองร่วม’ เป็นสิ่ง ‘ต้องห้าม’ แม้ตระหนักดีว่าสิทธินี้ซึ่งหมายถึงการใช้กำลังช่วยป้องกันประเทศอื่นในยามที่ถูกโจมตี โดยเฉพาะชาติพันธมิตรนั้น เป็นสิทธิพื้นฐานที่ติดตัวมากับรัฐอธิปไตย (inherent right) ควบคู่กับ ‘สิทธิป้องกันตนเองตามลำพัง’ (individual self-defense) โดยมีข้อบัญญัติในกฎบัตรสหประชาชาติ (UN Charter) รับรอง

แต่เพื่อให้สอดรับกับหลักการ ‘ละเลิกสงคราม’ ญี่ปุ่นได้วางข้อจำกัดให้คงไว้ได้เฉพาะศักยภาพ ‘ป้องกันโดยแท้จริง’ หรือสามารถตั้งรับในระดับ ‘ต่ำสุดเท่าที่จำเป็น’ (minimum necessary) เท่านั้น ซึ่งการใช้กำลังเพื่อร่วมป้องกันชาติอื่นหรือพันธมิตรถูกจัดว่า ‘เกินกว่ากรอบนี้’ และถือว่าขัดรัฐธรรมนูญ จึงเสมือนญี่ปุ่นปฏิเสธหรือสละสิทธินี้มาโดยตลอด แต่แล้วรัฐบาลได้ผ่อนปรนข้อห้ามนี้ด้วยการตีความ ม.9 รอบล่าสุด

โดยมองว่าจากสภาวการณ์ที่เปลี่ยนไป ในบางกรณีการที่พันธมิตรหรือชาติซึ่งมีสัมพันธ์ใกล้ชิดกับญี่ปุ่นถูกโจมตีก็อาจส่งผลต่อสวัสดิภาพและความอยู่รอดของญี่ปุ่นได้เช่นกัน จึงเห็นควรให้ยอมรับและใช้สิทธิป้องกันตนเองร่วมบนเงื่อนไข 3 ประการ คือ 1. เมื่อพิจารณาแล้วว่าสถานการณ์นั้นส่งผลโดยตรงกับความมั่นคงของญี่ปุ่น 2. ไม่มีหนทางอื่นใดแล้วนอกจากต้องใช้กำลัง และ 3. ใช้กำลังระดับต่ำสุดเท่าที่จำเป็น

การปรับแนวทางครั้งใหญ่นี้มีจุดประสงค์เริ่มแรกเพื่อเพิ่มพูนอำนาจ ‘ป้องปราม’ โดยมุ่งที่การกระชับพันธมิตรเก่าอย่างสหรัฐฯ การหันมาใช้สิทธิป้องกันตนเองร่วมทำให้บทบาทในฐานะพันธมิตรของญี่ปุ่นทัดเทียมกับสหรัฐฯ มากขึ้น นั่นคือญี่ปุ่นอาจใช้กำลังช่วยต่อสู้ศัตรูที่โจมตีสหรัฐฯ ได้ หากเข้าเงื่อนไขด้านบน ญี่ปุ่นหวังจะสื่อให้โลกรู้ว่าระบบพันธมิตรนี้ยังแข็งแกร่งและแนบแน่น ที่สำคัญคือญี่ปุ่นยังมีสหรัฐฯ คอยหนุนหลังและยืนเคียงบ่าเคียงไหล่ไม่เสื่อมคลาย

การป้องกันตนเองที่ขยายไปรวมไต้หวัน

ล่าสุดยุทธศาสตร์ป้องปรามนี้กำลังขยายไปคลุมช่องแคบไต้หวัน โดยญี่ปุ่นใช้ช่องที่เปิดไว้และข้อคลุมเครือในตอนพิจารณายอมรับสิทธิป้องกันตนเองร่วม ซึ่งไม่ได้กำหนดชี้ชัดว่าญี่ปุ่นจะใช้สิทธินี้กับชาติใดได้บ้าง หมายถึงต้องเป็นพันธมิตรแบบทางการอย่างกรณีสหรัฐฯ ที่มีสนธิสัญญากำกับหรือไม่ ความสัมพันธ์ไต้หวันกับญี่ปุ่นซึ่งอยู่ภายใต้เงา ‘หลักการจีนเดียว’ ดำรงสถานะที่ไม่เป็นทางการ โดยประสานงานผ่านสมาคมแลกเปลี่ยน (ชื่อปัจจุบัน Japan-Taiwan Exchange Association) แทนการมีสถานทูตทางการ

แต่เราเริ่มเห็นกระบวนการทำให้ไต้หวันกลายเป็น ‘ชาติที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิด’ (mitsetsuna kankei) อันเป็นถ้อยคำที่รัฐบาลใช้นิยามชาติซึ่งเข้าข่ายที่ญี่ปุ่นจะสามารถใช้สิทธิป้องกันตนเองร่วมเพื่อให้การปกป้องได้ อีกทั้งอย่างที่ได้ชี้ให้เห็น เหล่าผู้นำและนักการเมืองคนสำคัญก็ออกมาตอกย้ำว่าเสถียรภาพและความมั่นคงของไต้หวัน “เกี่ยวพันกับความมั่นคงของญี่ปุ่นโดยตรง” ซึ่งเป็นการทำให้เข้าเงื่อนไขที่รัฐบาลอาจพิจารณาใช้กองกำลังช่วยป้องกันไต้หวันเมื่อถูกจีนโจมตี

การสร้างหลักเหตุผลให้สอดคล้องกับข้อกฎหมายนี้ช่วยย้ำถึงความพร้อมและแน่วแน่ของฝ่ายญี่ปุ่นที่จะร่วมป้องกันไต้หวัน ทั้งยังสามารถผสานกำลังเข้ากับสหรัฐฯ ที่มีกฎหมายกำหนดให้ต้องป้องกันไต้หวัน หรือ Taiwan Relations Act อยู่แล้วตั้งแต่ปี 1979 การส่งสัญญาณให้เห็นความมุ่งมั่นตั้งใจ (resolute) ในทางเดียวกันมีผลเสริมการป้องปราม อีกทั้งไต้หวันเองก็พยายามเพิ่มพูนศักยภาพไม่ให้ถูกมองเป็นเป้านิ่ง และเดินหน้ากระชับพันธมิตร (แม้จะไม่เป็นทางการ) กับหลายชาติที่หวาดระแวงจีนอย่างแข็งขันด้วย

ความเคลื่อนไหวในรูปการปรับกฎหมาย แสดงท่าทีแน่วแน่ และสร้างความเป็นเอกภาพในหมู่ชาติแนวร่วมช่วยส่งเสริมกลไกการป้องปรามที่ขยายจากสหรัฐฯ มาถึงญี่ปุ่น และขยายจากญี่ปุ่นสู่ใต้หวัน โดยเน้นว่าการป้องกันพันธมิตรมีความสำคัญเทียบเท่ากับการป้องกันตนเอง นั่นเพราะผลประโยชน์ที่เกี่ยวโยงกันและ ‘ความสัมพันธ์ใกล้ชิด’ เพื่อที่จะหล่อเลี้ยงแนวคิดนี้ เราเห็นว่าในช่วง 2-3 ปีระหว่างวิกฤตโควิด ญี่ปุ่นกับไต้หวันริเริ่มการแลกเปลี่ยนและไปมาหาสู่กันหลายด้านซึ่งสะท้อนการยกระดับความสัมพันธ์ขึ้นมาก

ญี่ปุ่น-ไต้หวันที่มีสัมพันธ์แนบชิด

การพบปะหารือระหว่างพรรครัฐบาล LDP ของญี่ปุ่นกับ DPP ของไต้หวันที่แต่ก่อนจำกัดเฉพาะ ‘ฝ่ายแลกเปลี่ยนเยาวชน’ ของ LDP แต่นับจากปี 2021 เป็นต้นมาการประชุมหารือแบบ ‘2+2’ ได้เริ่มขึ้นผ่านระบบออนไลน์ประกอบด้วย ‘ฝ่ายการต่างประเทศ’ และ ‘ฝ่ายป้องกันประเทศ’ ของ LDP ก่อนที่จะกลายเป็นการจัดประชุมที่ไต้หวันและโตเกียวแบบพบหน้าเมื่อโควิดซาลงในปีนี้ ถือเป็นมิติใหม่ที่เสริมความสัมพันธ์แบบไม่เป็นทางการที่ดำเนินมาอยู่แล้ว

การเยือนไต้หวันโดยบรรดา ‘สมาชิกรัฐสภา’ ของญี่ปุ่นมีขึ้นสม่ำเสมอ โดยเนื้อหาในการพบปะช่วงไม่กี่ปีมานี้มุ่งประเด็นยุทธศาสตร์และความมั่นคงอย่างโจ่งแจ้งมากขึ้น สส. กลุ่มที่ ‘โปรไต้หวัน’ มีทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน ตัวอย่างเช่นการเยือนเมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่แล้วหลังจากที่ ชินโซ อาเบะ ผู้สนับสนุนไต้หวันตัวยงถูกลอบสังหาร มี สส. ที่เจนจัดด้านความมั่นคงอย่าง ชิเงรุ อิชิบะ และ ยะสึคะสึ ฮามาดะ ร่วมการเยือนโดยแสดงจุดยืนจะยังคงสนับสนุนไต้หวันและร่วมมือด้านยุทธศาสตร์กันมากขึ้น

ในปีนี้ทีม สส. ญี่ปุ่นนำโดย Japan-ROC Diet Members’ Consultative Council ซึ่งตั้งมาเพื่อส่งเสริมปฏิสัมพันธ์ระหว่างสภาผู้แทนฯ ญี่ปุ่นกับรัฐบาลไต้หวันตั้งแต่ปี 1973 (หลังจากญี่ปุ่นหันเข้าหาจีนในปี 1972) เดินทางเยือนไต้หวันเดือนกรกฎาคม และวันที่ 10-11 ตุลาคม ช่วงวันชาติไต้หวันที่ผ่านมา โดยประธานาธิบดีไช่ อิงเหวิน ให้การต้อนรับ เคจิ ฟุรุยะ ประธานกลุ่มกล่าวเมื่อเดือนกรกฎาคมว่า “หากไต้หวันเจอปัญหา ญี่ปุ่นก็มีปัญหาไปด้วย” และครั้งล่าสุดเขาเน้นว่าทั้งสอง “ร่วมชะตากรรมเดียวกัน” (community of common destiny)

นอกจากนี้ยังมี สส. และนักการเมืองญี่ปุ่นตบเท้าเยือนไต้หวันเพื่อประกาศการสนับสนุนด้านความมั่นคง อย่างเมื่อต้นเดือนสิงหาคม บาบะ โนบุยุคิ ผู้นำพรรคฝ่ายค้านฝั่งอนุรักษ์นิยม (Japan Innovation Party) ก็นำคณะเข้าพบไช่ อิงเหวิน ต่อมาผู้นำระดับสูงของ LDP ทาโร อาโซ ก็ไปเยือนไทเป เขาเน้นว่าญี่ปุ่นต้องแสดงความแน่วแน่ที่จะร่วมคุ้มกันไต้หวันในเวลานี้ที่สภาวการณ์ใกล้เข้าขั้นวิกฤต นอกจากการติดต่อระดับผู้นำแล้วพัฒนาการที่น่าสนใจยังเกิดขึ้นในเวทีแลกเปลี่ยนระดับเขตปกครองท้องถิ่นอีกด้วย

เมื่อปี 2021 ได้มีการออก ‘ปฏิญญาโกเบ’ (Kobe’s Declaration) ซึ่งสะท้อนจุดยืนต่อไต้หวัน ในงานประชุม Japan-Taiwan Exchange Summit ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 7 ที่เมืองโกเบ ของญี่ปุ่น ท่ามกลางวิกฤตโควิดและการข่มขู่ของจีน งานดังกล่าวดึงดูดผู้เข้าร่วมมากกว่า 500 คน โดยจำนวนมากมาจากสภาฯ ท้องถิ่นของญี่ปุ่น Summit นี้ที่เริ่มต้นจัดเมื่อปี 2015 ได้หมุนเวียนเจ้าภาพไปยังเมืองต่างๆ ทั้งญี่ปุ่นและไต้หวัน จุดเด่นของปี 2021 คือปฏิญญาที่เสนอให้รัฐบาลญี่ปุ่นออกกฎหมายคล้ายกับ Taiwan Relations Act ของสหรัฐฯ

‘Basic Law on Japan-Taiwan Relations’ เป็นชื่อที่ปฏิญญานี้เสนอเพื่อกระชับความสัมพันธ์ด้านการต่างประเทศและความมั่นคงให้แนบชิดระหว่างกัน ทั้งยังผลักดันให้รัฐบาลสนับสนุนไต้หวันเข้าเป็นสมาชิกองค์การระหว่างประเทศต่างๆ ซึ่งจีนมักจะคอยต่อต้านและกีดกัน อาทิ WHO รวมทั้งเข้าร่วมกรอบ CPTPP (หุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก) ที่ญี่ปุ่นเป็นแกนนำอยู่ด้วย

ทั้งหมดนี้ชี้ให้เห็นการแลกเปลี่ยนที่เข้มข้นขึ้นและทัศนคติที่ดีต่อกัน แม้ข้อเรียกร้องให้มี ‘กฎหมายคุ้มครองใต้หวัน’ แบบสหรัฐฯ จะดูสุดโต่งและยังไม่เห็นการขยับในทิศทางนั้น แต่พัฒนาการช่วง 2 ปีต่อมาอย่างการที่ญี่ปุ่นสื่อสารให้โลกรู้ถึงความมุ่งมั่นที่จะยืนหยัดเคียงข้างไต้หวัน การเยือนและเน้นย้ำวาทกรรมว่าไต้หวันมีสัมพันธ์แนบชิดกับญี่ปุ่น ก็ทำให้วิกฤตที่อาจปะทุในช่องแคบเข้าข่ายที่ญี่ปุ่นจะขยาย ‘การป้องกันตนเองร่วม’ ไปช่วยเหลือไต้หวันได้

ดูเหมือนญี่ปุ่นกำลังเตรียมพร้อมเข้าร่วมปกป้องไต้หวันและรับมือวิกฤตด้วยแสนยานุภาพและเครือข่ายพันธมิตรในระดับที่ไม่เคยมีมาก่อน ปฏิเสธไม่ได้ว่าท่าทีเหล่านี้สุ่มเสี่ยงทำให้จีนมองเป็นการยั่วยุ (provoke) และอาจดึงญี่ปุ่นให้ถลำ (entrap) เข้าไปในความขัดแย้งจีน-ไต้หวันมากขึ้นๆ แต่การย้ำถึงความพร้อมและแน่วแน่นี้ก็เป็นยุทธวิธีในการยับยั้งไม่ให้การใช้กำลังเกิดขึ้นแต่ต้น และนั่นคือหลักการ “ป้องปราม” ที่ญี่ปุ่นให้ความสำคัญมากในเวลานี้

แหล่งอ้างอิง

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save