fbpx
ทำไมเราถึง ‘หว่อง’ กันนักนะ (1) : ทำความเข้าใจกับความโดดเดี่ยวในโลกสมัยใหม่

ทำไมเราถึง ‘หว่อง’ กันนักนะ (2) : ทำความเข้าใจกับความโดดเดี่ยวในโลกสมัยใหม่

Diego Zavaleta, Kim Samuel, และ  China Mills นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด (University of Oxford) ได้ให้ความหมายของ ‘สภาวะโดดเดี่ยวทางสังคม’ (Social Isolation) ใน Social Isolation: A conceptual and Measurement Proposal (2014) ไว้ว่าคือ

“การที่บุคคลหนึ่งๆ มีความสัมพันธ์ทางสังคมกับบุคคลอื่นๆ ไม่ว่าในระดับใดก็ตาม (เพื่อน, กลุ่ม, ชุมชน, หรือสังคม) ทั้งในเชิงปริมาณและ/หรือเชิงคุณภาพที่ไม่เพียงพอ”

พูดในแบบภาษาง่ายๆ สภาวะโดดเดี่ยวทางสังคมก็คือ การที่มนุษย์คนหนึ่งรู้สึกว่าตัวเองสูญเสียการติดต่อสื่อสาร การพบปะพูดคุยกับผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นเพื่อน ครอบครัว คนรัก หรือสังคมที่เราสังกัดอยู่ เป็นเวลานานๆ โดยบุคคลนั้นอาจเลือกที่จะโดดเดี่ยวตัวเองหรือไม่ก็ได้ ในทางการแพทย์ มีนักวิชาการหลายคนบอกว่า หากพวกเราตกอยู่ในสภาวะโดดเดี่ยวเป็นเวลานานๆ อาจสร้างผลเสียต่อการทำงานของสมอง และร่างกายของเราในระยะยาว ดังนั้น สภาวะโดดเดี่ยวจึงกลายเป็นสภาวะที่ไม่พึงประสงค์เท่าไหร่ และจำเป็นต้องได้รับการดูแลโดยด่วน

งานวิจัยหลายชิ้นค้นพบว่า บุคคลที่ตกอยู่ในสภาวะโดดเดี่ยวทางสังคม ส่วนมากมักเป็นผู้สูงอายุหรือผู้พิการ (แต่คนทุกวัยก็มีสิทธิเป็นกันได้ทั้งนั้น โดยเฉพาะในยุคนี้) โดยคนเหล่านี้จะมีความเสี่ยงด้านปัญหาสุขภาพและจิตใจอย่างมาก คนที่อยู่ในสภาวะโดดเดี่ยวทางสังคมมีแนวโน้มที่จะนอนหลับยาก มีปัญหาทางอารมณ์ สมาธิสั้น เครียดง่าย สมองเสื่อม บางรายก็ถึงขั้นเป็นโรคเกี่ยวกับหัวใจหรือโรคซึมเศร้า พูดง่ายๆ หากใครตกอยู่สภาวะโดดเดี่ยวทางสังคม จนปล่อยให้กลายเป็นปัญหาในระยะยาว สามารถนำมาซึ่งปัญหาทางสุขภาพและจิตใจได้หนักทีเดียว มีงานวิจัยบอกว่า คนที่ตกอยู่ในสภาวะโดดเดี่ยวทางสังคม มีโอกาสที่จะตายก่อนวัยอันควรมากถึง 14 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว – แอบน่ากลัวมากเลยนะเนี่ย

จะเห็นได้ว่า สภาวะโดดเดี่ยวทางสังคมนั้นเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดโรคซึมเศร้าแก่บุคคลได้ แต่พูดอย่างนี้ก็ไม่ได้แปลว่าทุกคนที่ตกอยู่ในสภาวะโดดเดี่ยวทางสังคม จะต้องเป็นโรคซึมเศร้ากันหมดนะครับ ทั้งนี้เราต้องไปดูกันอีกว่า สภาวะโดดเดี่ยวทางสังคมที่ทุกคนเผชิญนั้นเป็นอย่างไร และมีความรุนแรงมากน้อยแค่ไหนด้วย

งานวิจัยด้านจิตวิทยาและสังคมวิทยาส่วนมากชี้ให้เห็นว่า ลักษณะใหญ่ๆ ของสภาวะโดดเดี่ยวเชิงสังคมนั้นสามารถแยกได้เป็น 2 ลักษณะ นั่นคือ สภาวะโดดเดี่ยวเชิงสังคมแบบอัตวิสัย (Subjective Social Isolation) และ สภาวะโดดเดี่ยวเชิงสังคมแบบภววิสัย (Objective Social Isolation)

สำหรับสภาวะโดดเดี่ยวเชิงสังคมลักษณะแรก หากพูดในภาษาง่ายๆ ก็คือ การรับรู้ของบุคคลหนึ่งๆ ว่าตัวเองกำลังสูญเสียการเชื่อมโยงกับคนอื่นๆ ในเครือข่ายความสัมพันธ์ทางสังคม เช่น นาย A เริ่มรู้สึกว่าเขากำลังห่างเหินกับเพื่อนคนอื่นๆ ในกลุ่ม หรือญาติคนอื่นๆ ในครอบครัว อย่างไรก็ดี การห่างเหินดังกล่าวเป็นเพียงความรู้สึกนึกคิดที่เกิดขึ้นในหัวของนาย A เท่านั้น โดยไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับปริมาณหรือคุณภาพของความสัมพันธ์ระหว่างนาย A กับสมาชิกคนอื่นๆ

ดังนั้น ถึงแม้ในความเป็นจริง คนอื่นๆ จะติดต่อพบปะพูดคุยกับนาย A เหมือนปกติ แต่ถ้านาย A คิดว่าทุกคนเริ่มห่างเหิน ก็เท่ากับว่านาย A ได้อยู่ในสภาวะโดดเดี่ยวเชิงสังคมแบบอัตวิสัยแล้ว นักวิจัยส่วนมากยอมรับร่วมกันแล้วว่า จริงๆ แล้ว สภาวะโดดเดี่ยวเชิงสังคมแบบอัตวิสัยที่พวกเราสัมผัสนี้ก็คือสิ่งที่เราเรียกกันอีกอย่างว่า ‘ความเหงา’ (loneliness) นั่นเอง

ส่วนการโดดเดี่ยวทางสังคมแบบภววิสัย หากพูดแบบรวบรัดก็คือ การที่บุคคลได้สูญเสียปริมาณและคุณภาพของความสัมพันธ์ทางสังคมของตน ทั้งนี้ บุคคลดังกล่าวอาจไม่จำเป็นต้องรับรู้การสูญเสียความสัมพันธ์ดังกล่าวก็ได้ เป็นต้นว่า ในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ชาวบ้านทั้งหมู่บ้านได้รวมหัวกันบอยคอตนาย A เพราะนาย A ได้ไปทำผิดประเพณีบางอย่าง แต่ด้วยนาย A เป็นคนที่ไม่ค่อยสังเกตอะไร จึงยังทำให้ไม่รับรู้ถึงการห่างเหินของชาวบ้านคนอื่นๆ สิ่งที่นาย A ประสบจึงเป็นสภาวะโดดเดี่ยวทางสังคมแบบภววิสัย จากงานวิจัยส่วนใหญ่พบว่า เมื่อบุคคลเข้าสู่สภาวะโดดเดี่ยวทางสังคมแบบภววิสัยแล้ว มักลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะเข้าสู่สภาวะโดดเดี่ยวทางสังคมเชิงอัตวิสัยตามมา ส่วนหนึ่งเพราะเวลาผ่านไปบุคคลจะค่อยๆ เรียนรู้ว่าตัวเอง ‘ถูกโดดเดี่ยว’

ส่วนมาก คนที่อยู่ในสภาวะโดดเดียวทางสังคม มักจะประสบทั้งความโดดเดี่ยวแบบอัตวิสัยและภาวะวิสัยปนๆ กันไป ขึ้นอยู่กับคนๆ นั้น มีการรับรู้ต่อสภาพแวดล้อมและสังคมรอบตัวอย่างไร

พูดแบบง่ายๆ ก็คือ หากบุคคลนั้นมีความอ่อนไหวในความรู้สึกรับรู้โลกรอบตัวอย่างมาก – เช่นเป็นพวกคิดเล็กคิดน้อยไปหมดทุกอย่าง กลุ่มคนเหล่านี้ก็สามารถรับรู้ถึงสภาวะโดดเดี่ยวทางสังคมเชิงอัตวิสัยได้ง่าย

งานวิจัยหลายๆ ชิ้น บอกว่า หากเปรียบผลกระทบของสภาวะโดดเดี่ยวทั้งสองลักษณะ สภาวะแบบอัตวิสัยจะสร้างผลกระทบเชิงอารมณ์ที่รุนแรงกว่าสภาวะโดดเดี่ยวแบบภววิสัย และหากปล่อยให้อยู่ในสภาวะนี้ไปในระยะยาวโดยที่ไม่ได้มีการแก้ไขแต่อย่างใด จะมีผลโดยตรงถึงขั้นเป็นโรคซึมเศร้า และอาจฆ่าตัวตายได้ในที่สุด

หากพูดในแง่ ‘ชั้น’ ของการเกิดสภาวะโดดเดี่ยวเชิงสังคม Diana Biordi และ Nicholas Nicholson นักวิจัยที่ศึกษาเรื่องสภาวะโดดเดี่ยวเชิงสังคม ได้พยายามจำแนกชั้นการเกิดสภาวะโดดเดี่ยวเชิงสังคมเอาไว้ และพบว่าสามารถจำแนกได้เป็น 4 ชั้น คือ

 

  • ชั้นชุมชน – บุคคลสามารถเกิดความรู้สึกโดดเดี่ยวและไม่เป็นส่วนหนึ่งกับชุมชนที่เขาสังกัด เช่น หมู่บ้าน หรือ ประเทศ เป็นต้น
  • ชั้นองค์กร – บุคคลเกิดความรู้สึกโดดเดี่ยวหรือไม่อยากเป็นส่วนหนึ่งกับองค์กรที่เขาสังกัด เช่น โรงเรียน หรือที่ทำงาน
  • ชั้นคนใกล้ตัว – บุคคลรู้สึกไม่เป็นส่วนหนึ่งกับบุคคลใกล้ชิด เช่น ครอบครัว หรือเพื่อนสนิท
  • และ ชั้นบุคคล – บุคคลรู้สึกว่าไม่เป็นส่วนหนึ่งหรือแปลกแยกกับความคิดภายในใจของตนเอง พูดง่ายๆ คือ เกิดความรู้สึกคับข้องภายในใจนั่นเอง

 

เห็นได้ชัดเจนเลยว่าสภาวะโดดเดี่ยวทางสังคมมีลักษณะที่ซับซ้อนและสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคนในทุกระดับชั้นของสังคม โดยที่ผลกระทบของมันส่งผลเสียอย่างมากแก่ผู้ที่ตกอยู่ในสภาวะนี้ โดยเฉพาะในประเด็นสุขภาพ

แต่หากดูให้ดี ผลกระทบที่ว่านี้ไม่ได้ตกอยู่แค่เจ้าตัวเท่านั้น แต่ยังขยายผลไปสู่คนรอบข้าง เช่น เพื่อน ครอบครัว รวมถึงชุมชนอีกด้วย

 

ในตอนหน้าซึ่งเป็นตอนสุดท้าย มาดูกันว่า แล้วเราจะมีวิธีรับมือกับสภาวะโดดเดี่ยวทางสังคมได้อย่างไรกัน

ไม่ควรพลาด!

 

ติดตามตอนแรกและตอนสุดท้ายได้ที่นี่

ทำไมเราถึง ‘หว่อง’ กันนักนะ (1) : ทำความเข้าใจกับความโดดเดี่ยวในโลกสมัยใหม่

ทำไมเราถึง ‘หว่อง’ กันนักนะ (3) : จะรับมือกับความโดดเดี่ยวในโลกสมัยใหม่อย่างไรดี

 

 

อ้างอิง

บทความวิจัยเรื่อง Social Isolation: A conceptual and Measurement Proposal ของ Diego Zavaleta, Kim Samuel, and China Mills จาก University of Oxford

รายงานวิจัยเรื่อง All the lonely people: social isolation and loneliness in County Durham ของ County Durham จาก County Durham Partnership

รายงานวิจัยเรื่อง Loneliness and Social Isolation Among Older People in North Yorkshire ของ Sylvia Bernard จาก University of York

บทหนังสือที่ 5 Social Isolation ของ Diana Biordi and Nicholas Nicholson ใน หนังสือ Chronic Illness: Impact and Intervention, Eighth Edition (2013) ของ Ilene Lubkin; Pamala Larsen จาก Jones and Bartlett Publishers

บทความเรื่อง The Impact Of Social Isolation จาก Social Wellness

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save