fbpx
สนทนาข้ามศาสตร์ เมื่อ IR ปะทะ IL : ฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล + จิตติภัทร พูนขํา (1)

สนทนาข้ามศาสตร์ เมื่อ IR ปะทะ IL : ฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล + จิตติภัทร พูนขํา (3)

กองบรรณาธิการ The101.world  เรียบเรียง

สำนักพิมพ์ bookscape ภาพ

ในงานเสวนา ‘กฎหมายระหว่างประเทศบนทางแพร่ง: ความท้าทายใต้สถานการณ์โลกใหม่’  ฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้แปลหนังสือ กฎหมายระหว่างประเทศ: ความรู้ฉบับพกพา และ ผศ.ดร.จิตติภัทร พูนขำ สาขาวิชาการระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้สนทนาข้ามศาสตร์ในประเด็นว่าด้วยกฎหมายระหว่างประเทศในหลายประเด็น อาทิ กฎหมายระหว่างประเทศในระเบียบโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลง และ บทบาทของกฎหมายระหว่างประเทศที่มีต่อความสัมพันธ์ระหว่างรัฐและเอกชน 

กระนั้น ในช่วงท้ายของงานเสวนา คำถามจากใหญ่จากห้องเสวนายังเหลืออีก 2 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ ประเทศไทยอยู่ตรงไหนในโลกของกฎหมายระหว่างประเทศ และแนวโน้มขององค์ความรู้ว่าด้วยกฎหมายระหว่างประเทศในโลกใหม่เป็นอย่างไร

ปิดท้ายซีรีส์ ‘สนทนาข้ามศาสตร์ เมื่อ IR ปะทะ IL’ ด้วยการตอบคำถามข้างต้นนี้ ผ่านบทอภิปรายของฐิติรัตน์ จิตติภัทร และความเห็นบางส่วนจากผู้ที่อยู่ในห้องสนทนา ในวันนั้น

ฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล

กรรณิการ์ : อยากทราบมุมมองเรื่องประเทศไทยกับกฎหมายระหว่างประเทศ

ฐิติรัตน์ : จริงๆ ก็ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์การต่างประเทศของประเทศไทย แต่จากเหตุการณ์หลายอย่างที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายระหว่างประเทศในอดีตที่ผ่านมา เราเห็นได้ว่าไทยมีความพยายามที่จะแสดงตัวว่าเป็นรัฐที่มีความสามารถในการปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศ หรือกระทั่งในคดีปราสาทพระวิหาร แน่นอนว่าเป็นผลที่ไม่น่าพอใจสำหรับคนไทยหลายกลุ่ม หรือแม้แต่รัฐบาลในตอนนั้นก็ตาม

รัฐไทยไม่เคยพูดว่าตัวเองไม่สนใจกฎหมายระหว่างประเทศ เราพูดว่าเราเคารพการตัดสินเพราะว่าเราเป็นสมาชิกของประชาคมระหว่างประเทศ แน่นอนมันไม่ใช่การเคารพในเชิงของศีลธรรมอย่างเดียว แต่สิ่งที่เราเห็นจากท่าทีของรัฐไทยมาตลอดคือ เรามีความสามารถในการปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศ และเราพยายามที่จะปฏิบัติตามมัน หรือตัวอย่างการเจรจาของอาเซียน ก็จะพบว่ารัฐไทยมีความพยายามที่จะเจรจาตลอดเวลา

แต่มันก็มีกรณีที่เราไปให้ความยินยอมหรือคำมั่นสัญญาในทางระหว่างประเทศว่าเราจะปฏิบัติตามสิ่งนั้นสิ่งนี้ หลายเรื่องจะเกิดขึ้นและเป็นไปได้จริง ก็ต่อเมื่อมันถูกนำมาปรับใช้ในประเทศโดยการแก้ไขกฎหมายภายใน หรือดำเนินนโยบายเพิ่มเติม สร้างระบบโครงสร้างให้เจ้าหน้าที่รัฐสามารถปฏิบัติตนได้อย่างสอดคล้องกับกฎเกณฑ์กฎหมายระหว่างประเทศ

ประเด็นคือ เรื่องแบบนี้มันไม่ได้อาศัยแค่ความตั้งใจที่จะปฏิบัติตามเพียงอย่างเดียว แต่ต้องอาศัยโครงสร้างเดิมในประเทศ ซึ่งก็คือประสิทธิภาพของระบบราชการ หรือคุณค่าที่คนในประเทศยึดถือ

การที่เรามาแก้กฎหมายภายใน เราก็ต้องทำให้มั่นใจว่าคนในประเทศของเราเข้าถึงคุณค่าของกฎหมายระหว่างประเทศจริงๆ อย่างเช่นในเรื่องของการทรมาน เราก็ต้องทำความเข้าใจว่าทำไมคนที่ได้ชื่อว่าเลวร้ายที่สุด ก็ยังไม่สมควรที่จะถูกทรมาน ต้องพิจารณาว่าคุณค่าเหล่านี้อยู่ในสังคมเราจริงๆ หรือไม่

ส่วนเรื่องที่คิดว่าสังคมไทยเรียนรู้จักกฎหมายระหว่างประเทศได้ คือการมีความหวังกับระบบของกฎหมาย ถ้าเราดูสังคมระหว่างประเทศ มันเป็นสังคมที่มีความเป็นอนาธิปไตย เป็นสังคมที่ผู้มีอำนาจมีบทบาทในการกำหนดสิ่งต่างๆ แต่ก็มีความพยายามในการกำหนดกฎหมายให้ใช้งานได้จริงผ่านกลไกต่างๆ เช่น การตรวจสอบโดยองค์การระหว่างประเทศ การวิพากษ์วิจารณ์ มันมีความเชื่อว่ามนุษย์สามารถร่วมมือกันและพัฒนาชีวิตของคนเราให้มันดีขึ้นได้

อย่าง EU ก็เป็นตัวอย่างของความร่วมมือที่ไปไกลมาก แม้ EU จะมีปัญหาของตนเองก็ตาม ตัวอย่างแบบนี้มันให้ความหวังกับเราว่าระบบกฎหมายพัฒนาได้ แม้ในสภาวะที่คนมีอำนาจไม่ยอมฟังคนอื่น สังคมไทยน่าจะพอมีความหวังได้ หากเราเรียนรู้จากสิ่งนี้

จิตตภัทร : เรื่องเล่าหลักเกี่ยวกับการจัดการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของไทย มักจะอยู่กับเรื่องของความสามารถของชนชั้นนำไทยผ่านยุคอาณานิคม นี่เป็นเรื่องที่ต้องยอมรับ แต่ถ้าเรามองประวัติศาสตร์ช่วงยาว เราจะละเลยบริบทบางอย่างของกฎหมายระหว่างประเทศไม่ได้ ยกตัวอย่างเช่น กระแสในประชาคมระหว่างประเทศในปลายศตวรรษที่ 19 ไปจนถึงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง

การต่างประเทศของไทยมันวางอยู่บนการมีปฏิสัมพันธ์กับทั้งกฎหมายระหว่างประเทศ และตัวแสดงระหว่างประเทศมากมาย ถ้าเราจะเข้าใจเรื่องราวทั้งหมดได้ เราต้องก้าวข้ามเรื่องราวในกระแสหลัก

นอกจากนี้ บทบาทของไทยในเวทีระหว่างประเทศต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นในระดับทวิภาคีหรือพหุภาคี ต้องพิจารณาว่าเรามีท่าทีที่สอดคล้องกับผลประโยชน์ในแต่ละเวทีอย่างไร อย่างเช่นในอาเซียนเอง หากเราต้องรับรองกฎหมายบางฉบับ เราก็ต้องพิจารณาว่ามันสอดคล้องกับผลประโยชน์ของเรามากน้อยเท่าไหร่อยู่เหมือนกัน

ความพร้อมของเราต้องมาพร้อมกับท่าทีทางการเมืองที่ชัดเจน ต้องอาศัยบทบาทของผู้นำที่มีความชอบธรรมทางการเมืองด้วย

ประเด็นที่สามคือ เราปะทะกับแรงกดดันระหว่างประเทศพอสมควร มันมีแรงกดดันที่บีบให้เราต้องเปลี่ยนกฎหมายบางตัว เช่น เรื่องของโทษประหารชีวิตที่สหภาพยุโรปพยายามที่จะผลักดันให้ยกเลิกมาโดยตลอด

ความท้าทายเหล่านี้ นอกจากการที่เราจะต้องคุยกันเรื่องข้อกฎหมาย เราอาจต้องเพิ่มการถกเถียงทางการเมืองให้มากขึ้นต่อประเด็นปัญหาเหล่านี้ ต้องไม่ทำให้เรื่องพวกนี้เป็นเรื่องทางเทคนิค แต่ต้องทำให้เป็นเรื่องทางการเมือง เป็นเรื่องของการถกเถียงโต้แย้งในพื้นที่สาธารณะอย่างกว้างขวาง ข้อกฎหมายภายในของเราต้องเปิดโอกาสให้การมีส่วนร่วมของประชาชนได้ถกเถียงเรื่องแบบนี้ในที่สาธารณะ

แล้วตอนนี้ประเทศไทยก็อยู่ในช่วงของการเปลี่ยนแปลง รัฐในสังคมระหว่างประเทศที่เคยเป็นเสรีนิยมก็หันขวามากขึ้น แล้วเราจะอยู่ตรงไหนในทางแพร่งของการเปลี่ยนแปลงโลก นี่คือท่าทีทางการเมืองที่เราต้องวางให้ชัดว่าจะอยู่ตรงไหน

คำถามจากผู้ฟัง : ฟังบทสนทนาวันนี้แล้ว รู้สึกว่าสิ่งที่กฎหมายระหว่างประเทศทำได้ไม่ดีนั้น กลับเป็นสิ่งที่คนทั่วไปต่างคาดหวังต่อกฎหมายระหว่างประเทศ โดยเฉพาะโจทย์ยากๆ ที่ไม่สามารถแก้ได้สำเร็จโดยรัฐใดรัฐหนึ่ง เลยอยากชวนคุยเรื่องกฎหมายระหว่างประเทศกับปัญหาความล้มเหลวในการร่วมมือกัน (coordination failure) ซึ่งเป็นกรณีที่สองประเทศอาจมีผลประโยชน์ระยะสั้นที่ขัดกัน (แต่ระยะยาวอาจได้ประโยชน์ร่วมกันได้) โดยประเทศหนึ่งอาจไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบจากการกระทำของตนต่อประเทศอื่นในการพิจารณาตัดสินใจลงมือทำ

สิ่งที่คนชอบยกตัวอย่างกัน เช่น เรื่องของปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) ทุกประเทศต่างอ้างสิทธิในการปล่อยมลพิษ แต่ไม่ได้คำนึงว่าจะกระทบต่อประเทศอื่นหรือโลกอย่างไร ผลลัพธ์ก็คือทุกฝ่ายต่างแข่งกันปล่อยมลพิษ จนกระทบต่อสภาพแวดล้อมของทั้งโลก การแก้ปัญหาลักษณะนี้เป็นไปไม่ได้ที่จะจัดการโดยประเทศใดประเทศหนึ่งเท่านั้น เราจำเป็นต้องมี governance ใหม่ๆ มาจัดการหรือไม่ อย่างไร

กรรณิการ์ : อีกคำถามที่ต่อกันคือ ท่ามกลางภาวะเช่นนี้ บทบาทของตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐ พอจะทำอะไรได้หรือไม่?

ฐิติรัตน์ : มีอีกโควตที่อยากเล่าให้ทุกท่านฟังเกี่ยวกับเรื่องนี้ ในบทที่ 7 ของหนังสือ เกี่ยวกับเรื่องสิ่งที่กฎหมายระหว่างประเทศทำได้ดีหรือไม่ได้ทำเลย อาจารย์ Vaughan Lowe บอกว่า

“กฎหมายมีหน้าที่บังคับให้คนทำตามสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย ส่วนการช่วยเหลือให้กับผู้ที่กำลังต้องการนั้นเป็นเรื่องของนโยบาย กฎหมายเข้าใจดีในเรื่องของสิทธิและหน้าที่ แต่ยากที่จะเข้าใจเรื่องความเห็นอกเห็นใจและการให้อภัย ในขณะที่กฎหมายเป็นเครื่องมือทรงคุณค่าในการดำเนินนโยบายที่มุ่งหวังจะสร้างโลกที่มีความยุติธรรมมากขึ้น แต่กฎหมายไม่สามารถสร้างความยุติธรรมได้อย่างปาฏิหารย์ด้วยพลังตนเอง”

นี่คือส่วนของ apology มันคือข้ออ้างที่บอกว่ากฎหมายทำได้มากสุดแค่เท่านี้ ส่วนที่เหลือเป็นเรื่องของระบบโครงสร้างการเมืองระหว่างประเทศที่เป็นอยู่ รัฐอธิปไตยไม่สามารถยินยอมให้เกิดรัฐบาลโลกได้ในธรรมชาติสังคมแบบนี้ ซึ่งในฐานะนักกฎหมาย รู้สึกว่ามีปัญหาในการให้คำตอบนี้มากเหมือนกัน การร่วมมือระหว่างประเทศมันคือ ยูโทเปีย ของกฎหมายระหว่างประเทศ

เรามีกระบวนการระหว่างประเทศมากมายซึ่งมันควรจะชักจูงให้คนประเทศต่างๆ ให้มาเห็นพ้องต้องกัน แต่พอมันล้มเหลว นักกฎหมายก็จะวิ่งไปหาข้ออ้างจากโครงสร้างของตัวกฎหมายระหว่างประเทศนี้เอง ที่บอกว่ากฎหมายมันทำได้เท่านี้แหละ มันคือการประมาณตนของนักกฎหมาย บอกว่ากฎหมายไม่สามารถแก้ไขปัญหาทุกสิ่งอย่างได้ การทำความเข้าใจว่าทุกเรื่องสามารถแก้ไขได้โดยเทคนิคทางกฎหมายเป็นเรื่องที่ผิดด้วยซ้ำไป

เราเห็นบทบาทของตัวละครที่ไม่ใช่รัฐ ทุกวันนี้คนที่มีบทบาทไม่ได้มีแค่ชนชั้นนำในรัฐบาล แต่รัฐกลายเป็นองค์กรที่ประสานประโยชน์ของกลุ่มก้อนภายในประเทศมากขึ้น กลุ่มต่างๆ ก็พยายามกดดันให้รัฐใช้ช่องทางของกฎหมายระหว่างประเทศในการแสวงหาประโยชน์ให้แก่ตนภายในประเทศและในระหว่างประเทศได้ สิ่งนี้เกิดขึ้นได้เพราะมีเทคนิคทางกฎหมายเปิดช่องไว้

เช่นในมาตรา 190 เดิมในรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 เคยวางหลักว่า ในกรณีที่การตัดสินใจของฝ่ายบริหารในเวทีระหว่างประเทศมีผลกระทบกับอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ ให้นำการตัดสินใจนั้นมาให้รัฐสภาตรวจสอบว่าจะยินยอมหรือไม่ และให้ประชาชนได้มีโอกาสทำประชาพิจารณ์

นี่สะท้อนว่ามันมีความพยายามที่จะสร้างสมดุลระหว่างอำนาจนิติบัญญัติกับอำนาจบริหารในเวทีระหว่างประเทศ โดยกลไกทางกฎหมายที่เปิดโอกาสให้มีการตรวจสอบและเลือกกับคนหลายกลุ่มมากขึ้น ไม่ใช่คนเฉพาะกลุ่มที่ใกล้ชิดกับอำนาจรัฐ

ทีนี้ในระดับระหว่างประเทศ อาจยกตัวอย่างว่า การทำสนธิสัญญามันเป็นการเจรจาทางการทูต เป็นเรื่องของชนชั้นนำ ไม่ใช่เรื่องที่จะเปิดเผยกับสาธารณะ ทีนี้กฎหมายระหว่างประเทศหลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา ก็มีหลักว่าเวลารัฐไปทำสนธิสัญญา จะต้องนำมาเปิดเผยว่าตกลงอะไรกันไป เพื่อป้องกันการสนับสนุนกำลังทางทหารโดยลับแบบในอดีต

แต่ไม่มีกฎหมายระหว่างประเทศข้อไหนที่บอกว่า ในกระบวนการทำสนธิสัญญาจะต้องเปิดเผยให้เป็นสาธารณะ ตอ่มาเมื่อสนธิสัญญามีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับชีวิตคนมากขึ้นเรื่อยๆ จึงมีแนวคิดที่จะทำให้มันโปร่งใสมากขึ้น อย่างในยุโรปก็มีข้อเสนอว่า เปิดเผยเนื้อหาการเจรจาความตกลงการค้าเสรีระหว่างสหรัฐอเมริกากับสหภาพยุโรปให้กับสมาชิกสภายุโรปได้ ถึงแม้จะไม่สามารถเปิดเผยกับคนธรรมดาได้ก็ตาม สุดท้ายยุโรปก็ใช้วิธีดังกล่าวด้วยการเปิดเป็นพื้นที่ให้สมาชิกสภาสามารถเข้าถึงเอกสารเหล่านี้ได้

ฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล

นพดล เดชสมบูรณ์รัตน์ (คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมแสดงความคิดเห็น) : บางครั้งมันไม่ใช่เรื่องที่รัฐมีผลประโยชน์ขัดกัน แต่มันอาจเป็นเรื่องที่ประชาชนหรือคนในพื้นที่ต่างๆ ของโลกมีผลประโยชน์ไม่ตรงกัน ทำให้มีความขัดแย้งกันในรัฐด้วย โดยเฉพาะเรื่องสิ่งแวดล้อม มันไม่ใช่แค่เรื่องระหว่างรัฐที่พัฒนาแล้วกับรัฐที่กำลังพัฒนา แต่เป็นความขัดแย้งระหว่างคนในกลุ่มอุตสาหกรรมกับคนใน green movement ภายในรัฐด้วย เรื่องสิ่งแวดล้อมนี่น่าสนใจพอสมควรเพราะมีอุปกรณ์ใหม่ๆ ทางกฎหมายเกิดขึ้น

สภาพที่น่าสนใจของกฎหมายสิ่งแวดล้อมคือ ด้วยภัยของมันอาจทำให้โลกทั้งใบสูญสิ้นไปได้ แต่ภัยมันค่อยๆ มา ฉะนั้นคนปัจจุบันจึงอาจมองไม่เห็นมัน ดังนั้นหลักความเป็นธรรมในบริบทนี้จึงต้องคำนึงถึงคนรุ่นต่อไปด้วย

หลักหนึ่งที่น่าสนใจคือ common but differentiated principle หลักนี้บอกว่าการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่ทุกรัฐต้องร่วมมือกัน แต่ว่าแต่ละรัฐอาจมีหน้าที่แตกต่างกันตามระดับการพัฒนา เพราะประเทศกำลังพัฒนาเองก็อาจอ้างว่า ทำไมฉันถึงไม่มีสิทธิที่จะใช้ประโยชน์จากสิ่งแวดล้อมเพื่อพัฒนาแบบประเทศที่พัฒนาแล้วเคยทำในอดีตบ้าง

ประเทศที่พัฒนาแล้วมีหน้าที่สำคัญมากกว่าในการที่จะลดจำนวนก๊าซเรือนกระจก ส่วนประเทศที่กำลังพัฒนาอาจมีหน้าที่ตรงนี้ลดน้อยลง เป็นการเจรจาเพื่อประนีประนอมความแตกต่างบนฐานของระดับการพัฒนา

อีกประเด็นหนึ่งคือ soft law ซึ่งอาจแปลว่ากฎหมายนิ่มๆ อ่อนๆ ที่ไม่มีผลบังคับได้ เช่น สนธิสัญญาบางตัว เราจะเห็นว่ามันเขียนไว้ดูดี แต่บังคับไม่ได้ เช่นเขียนว่า “รัฐต้องพยายามอย่างเต็มที่ในการรักษาไว้ซึ่งทรัพยากรธรรมชาติ” ท้ายที่สุดแล้วถ้าไม่ทำ จะพิสูจน์อย่างไรว่ารัฐพยายามอย่างเต็มที่แล้วหรือไม่ แต่กฎเกณฑ์เช่นนี้อาจจะสร้างหลักเกณฑ์อ่อนๆ ซึ่งรัฐมีเจตจำนงร่วมกันได้

อีกด้านหนึ่งก็มีแนวคิดว่า ทำไมจึงไม่นำแนวคิดเรื่องกฎหมายปกครองหรือกฎหมายและรัฐธรรมนูญมาใช้ในทางระหว่างประเทศด้วย เช่น หลักความโปร่งใส การตรวจสอบ การเคารพสิทธิ ต้องนำมาใช้ได้ในฐานะกฎหมายทั่วไป

นอกจากนี้กฎหมายระหว่างประเทศยังมีหลักสำคัญ คือกฎหมายบังคับเด็ดขาด (jus cogens) ซึ่งหมายถึงกฎหมายที่ประชาคมระหว่างประเทศของรัฐเห็นว่าเป็นหลักการสำคัญ แต่มีแนวคิดว่าเราควรจะบอกว่ามันเป็นกฎหมายที่ประชาคมระหว่างประเทศของมนุษยชาติเห็นร่วมกันหรือไม่ นัยสำคัญคือ ศาลไม่จำเป็นต้องพิจารณาที่ความเห็นของรัฐเท่านั้น แต่สามารถพิจารณาความเห็นของตัวแสดงอื่นที่ไม่ใช่รัฐได้ และในทางสิ่งแวดล้อม เราเห็นตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐมีบทบาทในการเสนอร่างกฎหมายบางส่วนแล้ว

คำถามจากผู้ฟัง : อยากชวนนักวิชาการทางด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและกฎหมายระหว่างประเทศพูดคุยว่า ศาสตร์ทั้งสองในยุคสมัยใหม่ มีคำตอบใหม่ๆ หรือมีการศึกษาวิเคราะห์ต่อยอดจากแนวทางหลักในอดีตอย่างไรบ้าง

จิตติภัทร : มีแนวโน้มในการศึกษาวิจัยในสาขาการระหว่างประเทศจำนวนหนึ่ง ดังนี้

งานกลุ่มแรก เป็นงานกระแสหลักคือการทำความเข้าใจเรื่อง global governance มันอธิบายว่าโครงสร้างสถาบันในเวทีระหว่างประเทศ ถูกออกแบบมาอย่างไร เป็นทฤษฎีที่มุ่งมาสู่การออกแบบสถาบันเพื่อแก้ไขปัญหา โดยดึงเอามหาอำนาจเข้ามา วารสารที่พูดถึงงานกลุ่มนี้ก็เช่นพวก International Organization

งานกลุ่มที่สอง ซึ่งผมก็เรียกว่าเป็นงานกระแสหลักอยู่ เป็นสาย trans-nationalist ซึ่งศึกษาเรื่องราวที่เกิดขึ้นข้ามรัฐ อย่างเช่นพวกตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐ กองกำลังเอกชน เป็นต้น พูดถึงงานวิจัยที่เกี่ยวกับความมั่นคงของมนุษย์เพิ่มขึ้น

งานกลุ่มสาม ที่ผมสนใจมากกว่าคือ Norm-Decay ซึ่งเข้าไปดูปทัสถานที่ถูกท้าทายและเริ่มจะโรยรา

งานกลุ่มที่สี่ คืองานที่ศึกษาอารมณ์ในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ไปดูการตัดสินใจของคน โดยมองว่าคนไม่ใช่ตัวแสดงที่มีเหตุผลอย่างเดียว แต่คนยังใช้อารมณ์ด้วย รัฐเองก็ได้รับอิทธิพลจากสิ่งนี้มา เพราะรัฐแสดงผ่านอารมณ์ของคน แต่อารมณ์ของรัฐไม่มีใครมาวัด เช่น การที่ผู้นำประเทศไหนไปเคารพหรือแสดงความโศกเศร้าต่ออนุสรณ์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของนาซี ก็ถือเป็นการกระทำทางการทูตอย่างหนึ่ง หรือ เหตุการณ์ที่เด็กชายอายุสามขวบเสียชีวิตแล้วร่างซัดมาเกยหาดที่ยุโรป มันก็เปลี่ยนนโยบายทางการทูตช่วงนั้นอยู่เป็นเวลาสั้นๆ ปัญหาคือถ้าเราไม่เข้าใจอารมณ์คนเช่นนี้ เราอาจไม่เข้าใจการร่วมมือหรือการไม่ร่วมมือของรัฐ

งานกลุ่มที่ห้า คือไปดู public diplomacy หรือการสร้างภาพลักษณ์ของรัฐในเวทีระหว่างประเทศ ดูว่ารัฐพยายามสร้างภาพลักษณ์อย่างไรในเวทีโลก

งานกลุ่มที่หก คืองานศึกษาที่ใช้ทฤษฎีการเมืองระหว่างประเทศ เป็นงานที่ไปดูคำถามเชิงปทัสสถาน เป็นการถกเถียงกันระหว่างฝ่ายชุมชนนิยมกับฝ่ายพลเมืองโลก พิจารณาสังคมโลกที่ก้าวข้ามความเป็นรัฐชาติ

และงานกลุ่มสุดท้าย คือฝ่าย foreign policy analysis พวกนี้คือการวิเคราะห์วิธีคิดและการวางนโยบายของรัฐ

ผศ.ดร.จิตติภัทร พูนขำ

ฐิติรัตน์ : การเกิดขึ้นของ soft law และองค์การระหว่างประเทศมีบทบาทมากขึ้นในปัจจุบัน ในด้านกฎหมายมนุษยธรรมนั้นมีคณะกรรมการกาชาดสากล (ICRC) งานส่วนหนึ่งของเขาคือการทำงานด้านการให้คำแนะนำทางกฎหมายและทางปฏิบัติในทางระหว่างประเทศ ว่าการสู้รบทางสงครามที่เป็นไปตามแนวมนุษยธรรมและไม่โหดร้ายเกินไปนักนั้นเป็นอย่างไร

ถ้าเราไปดูประวัติการทำงานขององค์กรนี้ เราจะเห็นแสงแห่งความหวังมากเลยนะ เพราะก่อนสมัยที่องค์กรนี้จะมีบทบาทจริงๆ เราเรียกกฎหมายสงครามว่ากฎหมายสงคราม ปัจจุบันเราเรียกกฎหมายสงครามว่ากฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ

ICRC ทำงานอย่างหนักตลอดเพื่อบอกว่าแนวทางปฏิบัติในภาวะสงครามเป็นเรื่องจำเป็น ไม่ว่าในแง่ของศีลธรรมและอารมณ์มนุษย์ หรือผลประโยชน์ของรัฐเอง สิ่งที่องค์กรทำคือการรวบรวมคู่มือปฎิบัติทางการทหารของทุกประเทศเพื่อหา norm และส่งเสริมการเจรจาสนธิสัญญา ไปพูดคุยกับผู้เล่นที่ไม่ใช่รัฐ เพื่อชวนให้มายอมรับหลักการเหล่านี้

ส่วนเรื่องอารมณ์ที่อาจารย์จิตติภัทรพูดถึง มันคือการบอกว่ากฎหมายกับการเมืองมีความเป็นคู่ตรงข้าม ขณะเดียวกันมันก็มีความแยกกัน แต่แยกกันไม่ขาด เราเห็นว่าในอดีตนักกฎหมายระหว่างประเทศจะบอกว่างานตัวเองไม่ใช่สาขาการเมืองระหว่างประเทศ แยกกฎหมายออกจากความไม่แน่นอน ทำให้ภาษาของนักกฎหมายยึดโยงกับระบบระเบียบความเป็นโครงสร้าง แต่มันก็ทำให้กฎหมายละเลยหลายอย่างไปด้วย เช่นอารมณ์ความรู้สึก

ถ้ามาย้อนนึกดู เราจะเห็นว่ากฎหมายระหว่างประเทศที่ประสบความสำเร็จนั้น ยึดโยงกับอารมณ์มากเลย เช่นการห้ามการสะสมนิวเคลียร์ ถ้าหากมันไม่มีระเบิดที่ฮิโรชิมา ก็คงไม่สามารถที่จะมีการตกลงกันได้ระดับนั้น ถ้าไม่มีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ก็คงไม่มีการพูดคุยเรื่องกฎหมายสิทธิมนุษยชน

International Law a very short introduction

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save