fbpx
สนทนาข้ามศาสตร์ เมื่อ IR ปะทะ IL : ฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล + จิตติภัทร พูนขํา (1)

สนทนาข้ามศาสตร์ เมื่อ IR ปะทะ IL : ฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล + จิตติภัทร พูนขํา (1)

กองบรรณาธิการ The101.world  เรียบเรียง

สำนักพิมพ์ bookscape ภาพ

‘กฎหมายระหว่างประเทศ’ ไม่เพียงถูกพูดถึงบนหน้าข่าวผ่านปรากฏการณ์สำคัญของโลกอย่างสงครามความขัดแย้ง ปัญหาอาวุธนิวเคลียร์ หรือการอพยพลี้ภัย แต่มันยังมีบทบาทเชื่อมโยงกับชีวิตประจำวันของเรามากขึ้นในยุคโลกาภิวัตน์ ตั้งแต่เรื่องมาตรฐานสินค้าอุปโภคบริโภค อันตรายจากกลุ่มก่อการร้าย การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไปจนถึงสิทธิเสรีภาพในฐานะพลเมือง คำถามสำคัญคือ กฎหมายระหว่างประเทศเป็นกลไกสำคัญที่ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงของโลกให้ดียิ่งขึ้น หรือเป็นเพียงหลักการสวยหรูที่ไร้สภาพบังคับ

ข้อความข้างต้นคือบางส่วนของคำโปรยปกหลังของหนังสือ กฎหมายระหว่างประเทศ: ความรู้ฉบับพกพา (International Law : A Very Short Introduction) ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของกฎหมายระหว่างประเทศ ทั้งในระดับชีวิตประจำวันของผู้คน และสังคมการเมืองโลกที่รัฐแต่ละรัฐต้องปฏิสัมพันธ์กันได้เป็นอย่างดี

คิดกันแบบง่ายๆ หากชุมชนโลกมีกฎหมายระหว่างประเทศที่ดีและมีการบังคับใช้อย่างถูกต้องและเป็นธรรม โลกคงมีเสถียรภาพและสันติสุข แต่ประวัติศาสตร์และความเป็นจริงที่เรากำลังเผชิญ ก็บอกเราอยู่เสมอว่า อะไรๆ อาจไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด

คำถามสุดท้ายที่คำโปรยปกทิ้งไว้ ที่ว่า “กฎหมายระหว่างประเทศเป็นกลไกสำคัญที่ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงของโลกให้ดียิ่งขึ้น หรือเป็นเพียงหลักการสวยหรูที่ไร้สภาพบังคับ” จึงเป็นคำถามที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวด โดยเฉพาะในบริบทที่ระเบียบโลกกำลังเปลี่ยนแปลง และความท้าทายต่อชุมชนโลกกำลังปรากฏออกมาในรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้น

งานเสวนา ‘กฎหมายระหว่างประเทศบนทางแพร่ง: ความท้าทายใต้สถานการณ์โลกใหม่’ พยายามตอบคำถามข้างต้นนี้ ผ่านการสนทนาข้ามศาสตร์ระหว่าง ฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้แปลหนังสือ กฎหมายระหว่างประเทศ: ความรู้ฉบับพกพา และ ผศ.ดร.จิตติภัทร พูนขำ สาขาวิชาการระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยมี กรรณิการ์ กิจติเวชกุล นักจัดรายการเช้าทันโลก FM 96.5 เป็นผู้ชวนคุยให้การสนทนาออกรสยิ่งขึ้น

จากนี้ไปคือบางส่วนของบทสนทนาที่เต็มไปด้วยประเด็นแหลมคมในวันนั้น ตั้งแต่คำถามที่ว่า ทำไมรัฐจึงไม่ยอมปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศ ความท้าทายของกฎหมายระหว่างประเทศในระเบียบโลก (อันวุ่นวาย) ในปัจจุบันอยู่ตรงไหน และกฎหมายระหว่างประเทศพยายามที่จะตอบโจทย์เหล่านี้อย่างไร

โลกของกฎหมายระหว่างประเทศ

กรรณิการ์ : ทำไมอาจารย์ถึงเลือกทำการขยายความรู้ด้วยการแปลหนังสือ ‘กฎหมายระหว่างประเทศ: ความรู้ฉบับพกพา’ 

ฐิติรัตน์ : จริงๆ แล้วโดยส่วนตัวเองค่อนข้างมีความผูกพันกับหนังสือแปล ส่วนตัวมองว่าการที่องค์ความรู้ในโลกตะวันตก หรือแม้กระทั่งความรู้จากภาษาหนึ่งในที่หนึ่ง ได้ข้ามไปสู่อีกที่หนึ่ง มันเป็นเรื่องสำคัญ และเรามองว่าการแปลมันเป็นงานที่เชื่อมสะพานความรู้ ซึ่งแน่นอนว่ามันมีงานรูปแบบอื่นๆ เช่นเรื่องของการเขียน

แต่งานแปลมันคือการคงไว้ซึ่งความคิดต้นทาง ในสภาพที่ถ่ายทอดมาแบบที่สมบูรณ์มากที่สุด เราจึงมองว่าหนึ่งในภารกิจของตนเองคือการขยายพรมแดนความรู้ในรูปแบบของตัวหนังสือที่เป็นภาษาไทย ซึ่งรวมถึงการแปลความคิดความรู้จากต่างประเทศ

และในซีรี่ส์ ‘ความรู้ฉบับพกพา’ หรือ VSI (Very Short Introduction) ของสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด โดยส่วนตัวเราก็มีความสนใจอยู่แล้ว ทั้งในภาษาอังกฤษและภาษาไทย ตั้งแต่ที่มีการแปลโดยสำนักพิมพ์ openworlds จนมาเป็นสำนักพิมพ์ bookscape และก็ดีใจที่จะได้มีการแปลหัวข้อของ International Law เสียที หลังจากมีการแปลในหัวข้ออย่างเช่น ปรัชญากฎหมาย หรือสาขาวิชาอื่นไปแล้ว

ปกติคนจะรู้สึกว่ากฎหมายระหว่างประเทศเป็นสิ่งที่ยากหรือไกลตัว เวลาที่เราสอนหนังสือหรือพูดคุยกับคน จะค่อนข้างมีปัญหาในการแนะนำหนังสือให้คนทั่วไปได้เข้าใจกฎหมายระหว่างประเทศในแบบที่มันย่อยง่าย หรือในแบบที่มันเชื่อมโยงกับชีวิตของเรา แต่ในขณะเดียวกันก็ยังมีเนื้อหาครบถ้วนในส่วนที่เป็นหลักการสำคัญ

ตอนนั้นก็ดีใจมากที่มีโครงการนี้เกิดขึ้น แล้วเราก็คุยกับทางสำนักพิมพ์ไว้ก่อนเลยว่าเราสนใจที่จะแปล โดยส่วนตัวเล่มนี้ค่อนข้างมีอิทธิพลในการจัดรูปความคิดของเรา ในการที่เราจะสื่อสารกับนักศึกษาในประเทศไทยว่า เราจะเล่าเรื่องของกฎหมายระหว่างประเทศอย่างไรให้มันเชื่อมโยงกับชีวิตของพวกเขา หรือเชื่อมโยงกับกฎหมายภายในที่นักศึกษาได้เรียนมา

ถ้าจะเล่าถึงลักษณะเด่นของหนังสือเล่มนี้ มันจะมีความเด่นและแตกต่างจากตำราเล่มอื่นในแง่ที่ว่า อาจารย์ Vaughan Lowe ท่านได้เน้นถึงประเด็นของกฎหมายระหว่างประเทศในเรื่องของบทบาทของมันในโครงสร้างสังคมระหว่างประเทศ โดยโครงสร้างของหนังสือเล่มนี้ไม่ต่างจากตำราวิชาการเล่มอื่นมากนัก เพราะจะมีการพูดถึงลักษณะของกฎหมายระหว่างประเทศโดยทั่วไปในบทแรก หลังจากนั้นก็จะมีการพูดถึงบ่อเกิดของกฎหมาย เรื่องของจารีตประเพณี และสนธิสัญญา จากนั้นก็จะพูดถึงตัวแสดงในกฎหมายระหว่างประเทศ ได้แก่ รัฐหรือองค์กรระหว่างประเทศ แล้วจึงไปพูดถึงข้อพิพาท รวมถึงกระบวนการทางการศาลที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหาระหว่างรัฐ

แต่สิ่งหนึ่งที่โดดเด่นและแตกต่างจากตำราเล่มอื่นๆ ก็คือในช่วงท้าย ที่อาจารย์พูดถึงสิ่งที่กฎหมายระหว่างประเทศทำได้ดี และสิ่งที่กฎหมายระหว่างประเทศทำไม่ได้ หรือถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่ได้ตอบโจทย์ของสถานการณ์โลก สองเรื่องนี้เป็นสิ่งที่เราไม่ค่อยได้เห็นในตำรากฎหมายระหว่างประเทศโดยทั่วไป แต่มักจะเห็นในบทความวิชาการ ซึ่งเป็นสิ่งที่นักวิชาการคุยกันเอง ไม่ค่อยลงมาถึงเนื้อหาวิชาบังคับหรือวิชาเบื้องต้น ซึ่งบรรดานักศึกษานิติศาสตร์หรือรัฐศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศน่าจะได้อ่าน

อย่างโควตในบทแรก ที่พูดถึงบทบาทของกฎหมายระหว่างประเทศไว้ว่า

บทบาทระดับพื้นฐานที่สุดของกฎหมายระหว่างประเทศ คือการทำให้รัฐอธิปไตยสามารถดำรงอยู่ร่วมกันได้ โดยสร้างระเบียบสังคมและระเบียบความสัมพันธ์ที่สังคมปรารถนาจะมีต่อกัน นั่นก็คือกฎเกณฑ์ต่างๆ ความย้อนแย้งของมนุษย์ใต้พันธนาการที่จะพยายามแข็งขืนกับเสรีภาพของตน ปรากฏขึ้นในระดับระหว่างประเทศผ่านระเบียบเช่นนี้”  

ประเด็นที่ว่า กฎหมายระหว่างประเทศเป็นเครื่องมือที่ทำให้รัฐต่างๆ อยู่ร่วมกันได้ภายใต้ระบบระเบียบ จะถูกเน้นย้ำอีกครั้งหนึ่งในบทที่สี่ ซึ่งพูดถึงสิ่งที่ผู้คนคาดหวังจากกฎหมายว่ามีอยู่สองประการ ประการแรก คือการไม่ให้ผู้อื่นเข้ามาแทรกแซง แล้วปล่อยให้ตนมีอิสระในการใช้ชีวิตตามที่ตนเลือก และประการที่สอง คือกฎหมายจะบังคับให้เราทำตามบางอย่างเพื่อผลประโยชน์ส่วนรวม

อาจารย์ Vaughan Lowe ได้พูดถึงบทบาทของกฎหมายโดยทั่วไปและระบบระเบียบระหว่างประเทศ ซึ่งสะท้อนว่ารัฐอธิปไตยเป็นตัวแสดงหลักที่มีเสรีภาพ และกฎหมายระหว่างประเทศก็ตั้งอยู่บนหลักการที่ว่ารัฐอธิปไตยมีเสรีภาพสมบูรณ์ในตนเอง แต่ขณะเดียวกัน กฎหมายระหว่างประเทศก็พยายามเข้ามาจำกัดการใช้เสรีภาพของรัฐตรงนี้ เพื่อให้เกิดความร่วมมือหรือการสร้างประโยชน์ส่วนรวม

จุดหนึ่งที่คิดว่าเป็นความเฉพาะตัวของหนังสือเล่มนี้ หากเทียบกับตำราอื่นๆ คือการที่อาจารย์ Vaughan Lowe เน้นย้ำหลายครั้งว่า ความร่วมมือในทางระหว่างประเทศ เป็นความร่วมมือที่เกิดจากการคิดคำนวณอย่างดีของรัฐว่า ทำไมรัฐถึงต้องยึดถือกฎเกณฑ์เหล่านั้น หรือทำให้เกิดกฎเกณฑ์ใดๆ ขึ้น อย่างเช่นโควตจากบทที่หก ที่เขียนว่า

ความร่วมมือในทางระหว่างประเทศ ไม่ได้เป็นผลมาจากการเสียสละและเห็นแก่ผู้อื่น แต่เป็นการกระทำที่สุดท้ายตัวเองก็ได้ประโยชน์ด้วย

มันคือการเปรียบเทียบระหว่างประโยชน์และค่าใช้จ่ายที่รัฐต้องเสียไปในการทำให้เกิดกฎเกณฑ์ใดๆ ขึ้นมา ในภาษาอังกฤษเรียกว่า Enlightened self-interest  นี่เป็นสิ่งที่เราไม่ค่อยเห็นเท่าไหร่ แต่มักจะไปปรากฏอยู่ในตำราเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมากกว่า

โดยส่วนตัว จึงคิดว่าหนังสือเล่มนี้มีจุดเด่นที่ทำให้คนมองกฎหมายระหว่างประเทศในลักษณะที่ยึดโยงกับชีวิตของเรามากขึ้น ซึ่งสุดท้ายแล้วกฎหมายระหว่างประเทศมีผลกระทบกับชีวิตเราในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นยารักษาโรคที่เราเข้าถึง เสื้อผ้าที่เราใช้ ราคาสินค้า เหล่านี้ล้วนถูกกำหนดโดยกฎเกณฑ์ระหว่างประเทศเหมือนกัน

กรรณิการ์ : เมื่อเราพูดถึงกฎหมายระหว่างประเทศ ก็จะต้องมีมุมมองในเรื่องของทางรัฐศาสตร์เข้ามาเกี่ยวข้อง อยากให้อาจารย์จิตติภัทร เล่าว่าเมื่ออ่านหนังสือเล่มนี้จบแล้วคิดอย่างไร หรือมีความเห็นอย่างไรกับเรื่องของกฎหมายระหว่างประเทศ

จิตติภัทร : ในสามข้อเสนอของหนังสือเล่มนี้ ผมว่าน่าสนใจ โดยเฉพาะในสองบทสุดท้าย ผมคิดว่าเป็นส่วนที่น่าสนใจ โดยพูดถึงสิ่งที่กฎหมายระหว่างประเทศทำได้ดีและทำได้ไม่ดี ไปจนถึงว่า สิ่งที่สุดท้ายแล้วกฎหมายระหว่างประเทศไม่ได้ทำเลยก็มี

หนังสือเล่มนี้อ่านแล้วติดตามได้ง่าย เข้าใจง่าย ด้วยความที่มีโครงสร้างที่ชัดเจนของผู้เขียน และผู้เขียนเองก็เป็นเจ้าสำนักในทางวิชาการด้านนี้อยู่แล้ว จึงเขียนและจัดวางงานได้อย่างมีข้อเสนอแนะที่น่าสนใจในตัวมันเอง ซึ่งผมเชื่อว่าน่าสนใจกว่าตำรากฎหมายระหว่างประเทศอื่นๆ ในแง่ที่มีความเป็นตัวของตัวเองและมีอัตลักษณ์ของผู้เขียน โดยเฉพาะในสองบทสุดท้ายที่นำพาฝ่ายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมาเจอกับฝ่ายกฎหมายระหว่างประเทศ

ต้องออกตัวก่อนว่าผมไม่ได้มีความรู้เรื่องกฎหมายระหว่างประเทศในระดับสูง ผมมีความรู้ในระดับเพียงพอที่จะสอนเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้เท่านั้น ข้อชวนคิดผ่านมุมความคิดในทฤษฎีระหว่างประเทศคือ ผมสนใจเรื่องการเกิดขึ้นและการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และพัฒนาการของระเบียบโลก ซึ่งมันเกิดขึ้นมาพร้อมกับพัฒนาการของกฎหมายระหว่างประเทศ มีความซับซ้อนเชื่อมโยงกัน ผมคิดว่าหนังสือเล่มนี้ชวนให้เราคิดต่อได้หลายทาง

เรื่องหนึ่งคือ ผมลองเอางานชิ้นนี้ไปวางในงานของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยเฉพาะในสายของสำนักอังกฤษ (English School) ซึ่งมีรากมาจากมหาวิทยาลัยเดียวกันกับที่ผู้เขียนได้ทำขึ้น

ขอแทรกประเด็นสั้นๆ ว่า สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับกฎหมายระหว่างประเทศ มันมีความเชื่อมโยงกันอย่างแยกไม่ขาด อย่างแรกคืออาจารย์ Vaughan Lowe เป็น Chichele Professor of Public International Law หรือสาขากฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีเมือง ที่มหาวิทยาลัย Oxford ซึ่งเดิมเคยเรียกตำแหน่งว่า Public International Law and Diplomacy หรือการทูต จนกระทั่งปี 1930 เมื่อมีการตั้งตำแหน่งใหม่คือ Montague Burton Professorship of International Relations จึงเอาคำนี้ออก เพราะฉะนั้นมันจึงมีความเชื่อมโยงกันอยู่

ความเชื่อมโยงอย่างที่สอง โดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม ในหนังสือเล่มนี้ อาจารย์ Vaughan Lowe ใช้คำเดียวกับงานทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในสำนักอังกฤษ เช่น สังคมระหว่างประเทศ (international society) การพูดถึงกฎหมายระหว่างประเทศในฐานะกฎหรือกติกาทางกฎหมาย (legal rules) การพูดถึงคุณค่า (value) และเป้าหมายในการที่จะบังคับรักษาระเบียบระหว่างประเทศ เป็นคำที่ใช้ใกล้ๆ กันเลย

เมื่ออ่านหนังสือเล่มนี้จบแล้ว ผมเห็นคำถามหนึ่งซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่ของทั้งสาขากฎหมายระหว่างประเทศและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คือเรื่องของการปฏิบัติตาม หรือ compliance ว่ามันมีประสิทธิภาพหรือไม่ มีการปฏิบัติตาม หรือมีอำนาจผูกพัน (binding force) ของกฎหมายระหว่างประเทศ หรือที่คนในสาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเรียกว่าปทัสถานหรือไม่ ซึ่งคำว่าปทัสถานจะกว้างขวางกว่า ไม่ใช่เฉพาะกฎเกณฑ์ทางกฎหมาย (legal norm) แต่ครอบคลุมถึงกฎเกณฑ์ทางการเมือง (political norm) ด้วย เช่น ข้อห้ามไม่ให้ใช้อาวุธนิวเคลียร์หรืออาวุธเคมี

ปัจจุบันต้องยอมรับว่า ระเบียบหรือประเพณีระหว่างประเทศก็ถูกท้าทายมาก ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมอาวุธที่ล้มเหลวในซีเรีย การที่ประเทศจำนวนหนึ่งรวมทั้ง African Union ปฏิเสธอำนาจของศาลอาญาระหว่างประเทศที่จะให้มีการลงโทษผู้นำของรัฐ (ซึ่งมีสถานะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ) ในฐานะอาชญากรระหว่างประเทศ เช่น ในกรณีของซูดานกับเคนยาที่เขาไม่ยอมให้ผู้นำถูกดำเนินคดี กรณีที่จีนไม่ยอมรับคำตัดสินของอนุญาโตตุลาการในคดีทะเลจีนใต้ หรือในกรณีที่สหรัฐอเมริกาภายใต้การนำของโดนัลด์ ทรัมป์ ไม่เอากับ Paris Agreement

แล้วเราจะอธิบายสิ่งเหล่านี้อย่างไร โดยทั่วไปในสาขาระหว่างประเทศ เรามักอธิบายว่าสังคมระหว่างประเทศมีลักษณะเป็นอนาธิปไตย ซึ่งไม่มีอำนาจกลางหรือรัฐบาลโลกที่กำกับหรือกำหนดการใช้กำลังความรุนแรงอย่างชอบธรรม ซึ่งต่างไปจากการเมืองภายในที่มีอำนาจอธิปไตยชัดเจน ดังนั้นสังคมระหว่างประเทศจึงมีลักษณะแบบ self-help system ที่แต่ละรัฐจะต้องแสวงหาความอยู่รอดความมั่นคงของตัวเอง ด้วยตัวเอง และเพื่อตัวเอง ซึ่งการมองแบบนี้ กฎหมายระหว่างประเทศเป็นเพียงเครื่องมือของรัฐมหาอำนาจที่จะใช้ในการกำกับพฤติกรรมระหว่างประเทศ

แต่ถ้าเรามองจากฝั่งสำนักอังกฤษ เขาจะเสนอไปไกลกว่านั้นนิดนึง สังคมระหว่างประเทศแม้จะเป็นอนาธิปไตย แต่มันยังมีความเป็นสังคมชุมชน มันจึงสร้างกฎกติกาเพื่อจะให้รัฐหรือตัวแสดงระหว่างประเทศอยู่ร่วมกันอย่างสันติได้ภายใต้นิติรัฐ ซึ่งเป็นคำหนึ่งที่หนังสือเล่มนี้พูดถึงอยู่มาก ดังนั้นกิจการระหว่างประเทศในมุมนี้จึงเป็นกิจการที่เกี่ยวข้องกับการสร้างกฎกติกา และรัฐสมาชิกก็ยอมรับคุณค่าเพื่อจะอยู่ร่วมกันให้ได้

กระนั้นก็ตาม แม้กติกาที่รัฐไม่ทำตาม สิ่งที่เราเห็นในวันนี้ที่น่าสนใจมากก็คือว่า รัฐที่ไม่ปฏิบัติตามก็พยายามแสวงหาคำอธิบายที่จะบอกว่าทำไมพฤติกรรมที่ฉันทำถึงชอบธรรม เช่น กรณีของสหรัฐอเมริกาในการบุกอิรักในปี 2003 หรือประเทศซีเรีย ซึ่งตัวเองไม่อยู่ในภาคีรัฐสมาชิกของข้อตกลงห้ามใช้อาวุธเคมี และถูกกล่าวหาว่าใช้อาวุธเคมีกับคนในประเทศ ก็ยังอาศัยข้อตกลงนี้กล่าวหากลุ่มต่อต้านรัฐบาลว่าเป็นผู้ใช้อาวุธเคมี ดังนั้นมันจึงมีความลักลั่นอยู่พอสมควร

ประเด็นของผมคือว่า เมื่อรัฐไม่ปฏิบัติตามกติกาเหล่านี้ในระยะยาว พฤติกรรมเหล่านี้ก็มีแนวโน้มจะถูกทำให้เป็นสถาบัน มีแนวโน้มที่จะเข้มแข็งมากขึ้นในเวทีระหว่างประเทศ

ฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล

การไม่ปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศ : ความลักลั่นของ IL ในโลกของ IR

จิตติภัทร : ผมคิดว่ามีประเด็นสามประเด็นใหญ่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสภาวะการไม่ปฏิบัติตาม (compliance) กฎหมายระหว่างประเทศ กล่าวคือมันมีพื้นที่สีเทาที่ทำให้ตัดสินใจไม่ได้ (undeciability) ของกฎหมายระหว่างประเทศอย่างน้อยในสามมิติ

ประเด็นแรก  อย่างน้อยที่สุดมันคือกฎหมายระหว่างประเทศบนทางแพร่งของระเบียบโลกอย่างน้อยสองระเบียบด้วยกัน คือ liberal กับ Westphalian

ประเด็นที่สอง  เวลาคนเล่าเรื่องเกี่ยวกับกฎหมายระหว่างประเทศ มันมีเรื่องเล่าสองชุด ชุดแรกคือการพยายามขยายกฎหมายระหว่างประเทศ จากบริเวณที่อยู่ในโซนยุโรปเข้าไปสู่ภูมิภาคอื่นที่ไม่ใช่ยุโรป (periphery) นี่เป็นเรื่องเล่าแบบเส้นตรง กับอีกเรื่องเล่าที่ไม่ใช่เส้นตรง ในเรื่องเล่านี้ก็จะมีที่มาของกฎหมายที่มาจากบรรดาจักรวรรดิ กล่าวคือเป็นปฏิสัมพันธ์ระหว่างรัฐยุโรปกับรัฐที่ไม่ใช่ยุโรป อันนี้จะเป็นที่มาของกฎหมายรูปแบบหนึ่ง

ประเด็นที่สาม คือเรื่องของความสัมพันธ์อันเป็นความย้อนแย้งระหว่างกฎหมายกับการเมืองระหว่างประเทศ

ทั้งสามประเด็นนี้ผมคิดว่าจะใช้เวลาสักนิดหนึ่งในการพูดคุย

ประเด็นแรก : Liberal v Westphalian

สำหรับประเด็นที่ว่า กฎหมายระหว่างประเทศอยู่บนทางแพร่งของระเบียบโลกสองชุด ทำให้ชุดกฎหมายที่เรามีอยู่มันลักลั่น เพราะรัฐหรือตัวแสดงระหว่างประเทศไม่รู้ว่าจะเลือกชุดกฎหมายใด และจะอยู่ในระเบียบใด

ปัจจุบันแนวคิดเรื่องอำนาจอธิปไตยถูกท้าทายอย่างมาก ซึ่งแนวคิดเรื่องอำนาจอธิปไตยนี้มันเป็นระเบียบโลกแบบ Westphalian เป็นจุดเริ่มต้นของสังคมระหว่างประเทศสมัยใหม่ อีกด้านหนึ่งคือระเบียบโลกแบบเสรีนิยม กล่าวคือเป็น Cosmopolitan Global Law เป็นระเบียบของสังคมพลเมืองโลก ที่เน้นเรื่องของสิทธิมนุษยชน การแทรกแซงเพื่อมนุษยธรรม เรื่องของความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งสองอย่างนี้มันปะทะกันอยู่

ผมคิดว่าในด้านหนึ่ง ระบบสังคมระหว่างประเทศสองระบบนี้ มันวางอยู่บนคุณค่าและเป้าหมายที่แตกต่างกัน และต่างก็เข้าไปกำหนดกำกับกฎหมายระหว่างประเทศอย่างน้อยสองชุดใหญ่ๆ กล่าวคือ ด้านหนึ่งสังคมระหว่างประเทศแบบ Westphalian วางอยู่บนพื้นฐานของการเคารพความหลากหลายของรัฐที่มีรูปแบบที่แตกต่างกันได้ ไม่ว่าจะเป็นประชาธิปไตยหรือเผด็จการ มีความเป็นพหุนิยมและมุ่งรักษาระเบียบระหว่างประเทศ (international order) คือเน้นสถานภาพเดิม (status quo) ไว้ไม่เปลี่ยนแปลง หลักการพื้นฐานของระเบียบโลกชุดนี้คือการเน้นไปที่อำนาจอธิปไตย การไม่เข้าไปแทรกแซงกิจการภายในของรัฐ ซึ่งหากมองในลักษณะของวิถี ASEAN นี่คือ ASEAN Way คือเราไม่ไปพัวพันกับประเทศอื่น

แต่อีกด้านหนึ่ง เรากำลังเห็นระเบียบโลกแบบสังคมโลก หรือสังคมพลเมืองโลก ซึ่งวางอยู่บนชุดความคิดอีกแบบหนึ่ง มองอยู่บนชุดความคิดแบบความยุติธรรมของโลกและความเท่าเทียมกัน และเน้นไปที่ปัจเจกบุคคล วางอยู่บนพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ร่วมโลก อาจเรียกว่าเป็น liberal world order และหลักนิติรัฐ

ด้วยระเบียบโลกสองชุดนี้ มันทำให้การปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศต่างกันอย่างถึงที่สุด ปัญหาของกฎหมายระหว่างประเทศวางอยู่บนจุดที่ระเบียบโลกสองชุดนี้มันปะทะกัน เราอยู่ในช่วงที่ระเบียบโลกดั้งเดิมกำลังเปลี่ยนผ่าน กับระเบียบโลกใหม่ที่เพิ่งก่อตัวขึ้นมา และยังไม่มีอำนาจมากพอที่จะไปบังคับพฤติกรรมของตัวแสดงระหว่างประเทศ

ยกตัวอย่างเช่น ทำไมสังคมระหว่างประเทศถึงเข้าไปแทรกแซงกรณีของลิเบียในปี 2011 แต่ไม่เข้าไปแทรกแซงในประเทศซีเรียในเวลาต่อมา อย่างที่สองคือผู้นำของรัฐควรจะได้รับความคุ้มกันใช่หรือไม่ในทางระหว่างประเทศ แต่เรากำลังพูดถึงการที่คนเหล่านี้ต้องรับผิดชอบต่อการก่ออาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ นี่คือระเบียบที่ต่างกัน อีกกรณีคือเรื่องของผู้อพยพ ด้านหนึ่งต้องจำกัดพรมแดนไม่ให้เปิดรับ ในขณะเดียวกันก็จำเป็นต้องเปิดรับ เพราะว่าเราจำเป็นต้องรับเพื่อนร่วมโลกหรือคนที่ได้รับความลำบากจากสงคราม สองอย่างนี้มันวางอยู่บนระเบียบโลกที่ปะทะกัน และทำให้กฎหมายระหว่างประเทศในวันนี้มีความลักลั่น

ประเด็นที่สอง : การปะทะกันของเรื่องเล่า

สำหรับการปะทะกันของเรื่องเล่าสองชุด ว่าด้วยการขยายตัวของสังคมระหว่างประเทศจากยุโรปไปยังพื้นที่อื่นๆ มันมีแนวคิดแบบเส้นตรงคือ สังคมระหว่างประเทศเกิดจากการขยายตัวจากยุโรปไปยังพื้นที่อื่นของโลกเป็นเส้นตรง และประเทศต่างๆ ก็รับเอากฎหมายนี้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายภายในของตนเอง

ดังนั้น รัฐอื่นที่ไม่ใช่ตะวันตก จะไม่ค่อยมีความรู้เรื่องกฎหมายระหว่างประเทศมากเท่าไหร่ กล่าวคือไม่มีอารยะเท่าที่ควร แนวคิดนี้สะท้อนอยู่ในเรื่องของมาตรฐานทางด้านอารยธรรม (civilization) ที่มาจากตะวันตกไปยังโลกตะวันออก แต่ปัญหาคือ การกำหนดว่าอะไรคือสิ่งดีงามและเป็นอารยะ

ปัญหาคือว่ามันมีสองชุดความคิดในศตวรรษที่ 19 เกี่ยวกับการเรียกร้องให้รัฐต่างๆ เป็นรัฐอธิปไตย มีขอบเขตพื้นที่ที่ชัดเจน ความคิดชุดนี้เกิดในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 คือการเกิดขึ้นของรัฐอธิปไตย แต่เมื่อถึงช่วงยุคปลายสงครามเย็น สิ่งที่เราเห็นมันไม่ใช่ชุดความคิดนี้เสียทีเดียว แต่มันคือเรื่องของการเคารพสิทธิมนุษยชนและยอมรับการแทรกแซงเพื่อมนุษยธรรม เรามีมาตรฐานทางอารยธรรมสองชุดต่อรัฐให้เลือก ถ้ารัฐเลือกที่จะรับแนวคิดแบบอำนาจอธิปไตยที่แข็งกระด้าง ก็จะมองไม่เห็นในอีกประเด็นหนึ่งหรือเปล่า นี่คือโจทย์ใหญ่

ด้วยแนวคิดที่เป็นเส้นตรงนี้ ทำให้เรามองเห็นกฎหมายระหว่างประเทศในมุมที่ว่า บ่อเกิดของกฎหมายมาจากจารีตประเพณีระหว่างประเทศและสนธิสัญญา แต่ถ้าหากเราไปดูคำอธิบายเพิ่มเติม ก็จะมีคนวิจารณ์ว่าแนวคิดเช่นนี้มีความ euro-centric คือเน้นยุโรปเป็นหลัก แล้วก็จะกลายเป็นว่ารัฐไม่มีบทบาทเท่าเทียมกันในทางระหว่างประเทศ นอกจากนี้ มันยังสร้างความชอบธรรมให้กับโลกที่หนึ่งในการเข้าไปแทรกแซงการเมืองการเงินการลงทุนด้วย

ประเด็นก็คือว่า ความลักลั่นมันทำให้โลกที่ไม่ใช่ตะวันตก เลือกรับแนวคิดที่มาจากหลายช่วงเวลาได้ยากลำบากหรือเปล่า คือรัฐต่างไม่รู้ว่าจะรับแนวคิดเรื่องของอำนาจอธิปไตย หรือเรื่องของการเคารพสิทธิมนุษยชน

ถ้าเรากลับไปดูช่วงเวลาที่ผ่านมาของสังคมระหว่างประเทศ จะเห็นว่ากฎหมายระหว่างประเทศมีมิติที่ว่า การขยายตัวของกฎหมายมันไม่มีความเป็นเส้นตรง และไม่ได้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน แต่เป็นการเผชิญหน้าระหว่างโลกที่เป็นยุโรปกับโลกที่ไม่ใช่ยุโรป กล่าวคือมันเป็นการ encounter of law คือการปะทะกันระหว่างกฎหมายชุดต่างๆ ที่น่าสนใจ และการเผชิญหน้าเช่นนี้ก็ไม่ได้เป็นไปอย่างสันติ แต่มีความรุนแรงที่เข้าไปบังคับใช้กฎหมายในที่ต่างๆ มีการลุกฮือของผู้คนเพื่อบอกว่าเขาต้องการเขตแดนที่ชัดเจน ดังนั้นสังคมระหว่างประเทศมันเกิดขึ้นผ่านการเผชิญหน้ากัน

อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ บ่อเกิดที่สำคัญของกฎหมายระหว่างประเทศ ผมคิดว่ามันมาจากการก่อตัวของจักรวรรดิต่างๆ พูดง่ายๆ คือกฎหมายระหว่างประเทศไม่ได้เกิดในยุโรปอย่างเดียว แต่เกิดจากความสัมพันธ์ของรัฐในยุโรปกับจักรวรรดิของตนนอกพื้นที่ยุโรปด้วย ถ้าหากเรามองในมิตินี้ เราจะเห็นว่ามันคือเรื่องของการจัดความสัมพันธ์กับคนอื่น จัดการกับความแตกต่างทางวัฒนธรรม ซึ่งคำถามชุดนี้มันมาก่อนการก่อตัวของกฎหมายระหว่างประเทศด้วยหรือเปล่า

ยุโรปจะถือกติกาอย่างไรในการเข้าไปยึดครองดินแดนต่างๆ นอกยุโรป Hugo Grotius กล่าวว่าดินแดนที่ไม่มีผู้คนถือครอง ถือว่าเป็นดินแดนที่ไม่มีการครอบครอง ดังนั้นยุโรปย่อมเข้าไปใช้ได้ นี่คือจุดเริ่มต้นของ private right ในตะวันตก นอกจากนี้ยังไปไกลถึงว่า ในดินแดนอันห่างไกล ปัจเจกสามารถทำสงครามเอกชนกันได้เป็น private war

ข้อสังเกตของผมคือ จักรวรรดิเป็นบ่อเกิดของกฎหมายระหว่างประเทศด้วยหรือไม่ หลักการเรื่องอำนาจอธิปไตยนั้นเป็นสิ่งที่ใหม่มากในสังคมระหว่างประเทศ ตั้งแต่ในช่วงศตวรรษที่ 19 และ 20 เป็นต้นมา เราเห็นว่าหลักการที่วางคู่กันอยู่คือหลักการเรื่องความเท่าเทียมกันของรัฐอธิปไตย ขณะเดียวกันก็ยังมีเรื่องของความไม่เท่าเทียมกันภายใต้การปกครองของจักรวรรดิ ซึ่งในปัจจุบันหลายประเทศก็ยังเผชิญกับสิ่งตกทอดของหลักการเหล่านี้อยู่

ประเด็นสุดท้าย ผมมองว่ากฎหมายระหว่างประเทศและสังคมระหว่างประเทศต้องการความเป็นอื่น เพื่อการสถาปนากฎระหว่างประเทศขึ้นมาเอง คือถ้ามันไม่มีรัฐที่ทำผิดกฎหมาย ไม่มีรัฐที่ทำตัวเป็นอันธพาล ล้มเหลว หรือมีปัญหาเรื่องของอาชญากรสงคราม กลุ่มกบฏ ผู้อพยพ เมื่อนั้นกฎหมายระหว่างประเทศก็จะไม่ดำรงอยู่

ดังนั้นการแทรกแซงในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการแทรกแซงในเรื่องของกฎหมาย การเมือง การเงิน ไปจนถึงการทหารและวัฒนธรรม มันจะมีกติกาหลัก แทนที่จะเป็นเรื่องของข้อยกเว้นในสังคมระหว่างประเทศ การแทรกแซงเหล่านี้ต้องเป็นสิ่งปกติที่ดำรงอยู่ในกฎหมายระหว่างประเทศ และไม่ใช่แค่เครื่องมือหรือกลไกของกฎหมายระหว่างประเทศเท่านั้น แต่เป็นหัวใจในการสร้างสังคมระหว่างประเทศ

กล่าวโดยสรุป ผมคิดว่าหากเรามองกฎหมายระหว่างประเทศอย่างไม่เป็นเส้นตรง เราจะเห็นกฎหมายระหว่างประเทศในฐานะกฎหมายของจักรวรรดิในยุคก่อน ที่สร้างความลักลั่นให้กับสภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกกับกฎหมายระหว่างประเทศในปัจจุบัน

ประเด็นที่สาม : ความสัมพันธ์ระหว่างกฎหมายกับความเป็นการเมือง

ผมคิดว่านี่เป็นปัจจัยในเชิงโครงสร้างที่ทำให้กฎหมายระหว่างประเทศมีสถานะที่ลักลั่นพอสมควร ในบทสุดท้ายของหนังสือ ผู้เขียนบอกว่าการเมืองเป็นตัวกำหนด กำกับ และเปลี่ยนแปลงกฎหมายระหว่างประเทศอย่างมีนัยยะสำคัญ

ยกตัวอย่างเช่น เรื่องการปฏิบัติในทางการเมือง อย่างพวกวิถีปฏิบัติที่แสดงให้เห็นถึงจิตวิญญาณของกฎหมายระหว่างประเทศ โดยกฎหมายระหว่างประเทศแค่ทำมาเพื่อจัดระบบให้มันเท่านั้น หรือเรื่องของการแก้ไขปัญหาระหว่างประเทศในกรณีที่ผลประโยชน์ของรัฐต่างๆ แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ผู้เขียนบอกว่านี่ไม่ใช่หน้าที่ของกฎหมายระหว่างประเทศ แต่นี่คือทางเลือกทางการเมืองที่ต้องการและอาศัยการเจรจาต่อรอง

อีกตัวอย่างคือเรื่องของการปฏิบัติการทางการทหาร ซึ่งนักกฎหมายสามารถที่จะตอบได้ว่ามันถูกต้องในทางกฎหมายหรือไม่ แต่นักกฎหมายไม่สามารถตอบได้ว่าปฏิบัติการนั้นชอบธรรมต่อศีลธรรมหรือไม่ ยังไม่ต้องพูดถึงเรื่องผลประโยชน์ทางการเมืองที่เกี่ยวข้อง

หรือในเรื่องของนโยบายทางการเมือง ซึ่งสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงของระเบียบระหว่างประเทศและกฎหมายระหว่างประเทศ อย่างเช่นเรื่องของการเปลี่ยนนโยบายยุทธศาสตร์ชาติของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งเปลี่ยนจากการต่อต้านการก่อการร้ายมาสู่การแข่งขันกับรัฐการค้า โดยเฉพาะกับจีน ผมคิดว่าประเด็นนี้อาจส่งผลกระทบกับกฎหมายระหว่างประเทศในการเปลี่ยนแปลงต่างๆ

ประเด็นสุดท้ายคือเรื่องของภาษา ซึ่งอาจารย์ Vaughan Lowe ก็พูดถึงเรื่องนี้ไว้ โดยบอกว่ากฎหมายระหว่างประเทศมีภาษาในมิติที่ว่า ใช้ในการสื่อสารบันทึกความตกลงระหว่างหลักการและเป้าหมาย ดังนั้นสำหรับแกแล้ว ภาษาของกฎหมายระหว่างประเทศเป็นเครื่องมือในการสื่อสารเท่านั้น

ผมอยากจะตั้งข้อเสนอแนะไปไกลอีกนิดนึงว่า ภาษาในกฎหมายระหว่างประเทศไม่ได้เป็นเพียงเครื่องมือที่สะท้อนการตกลงกัน แต่เป็นภาษาทางอำนาจที่ผลิตหรือสถาปนาความเป็นไปได้ทางการเมืองอย่างใดอย่างหนึ่ง และความเป็นไปไม่ได้ทางการเมืองอื่น

กล่าวคือ ในด้านหนึ่งเราก็เห็นกฎหมายระหว่างประเทศอยู่ในลักษณะของภาษาเสรีนิยม หรือว่าสังคมพลเมืองโลกที่ส่งเสริมนิติรัฐ และสิทธิมนุษยชน ดังนั้นจึงเป็นภาษาทางการเมืองที่เปิดทางให้กับผู้คนตัวเล็กตัวน้อยบนเวทีระหว่างประเทศ แต่ต้องไม่ลืมว่า ภาษาทางอำนาจของกฎหมายระหว่างประเทศนั้นเป็นภาษาแบบอำนาจอธิปไตย ซึ่งประกอบไปด้วยความเท่าเทียมกันของรัฐและความเป็นอิสระของรัฐจากการแทรกแซงทางการทหาร

ภาษาแบบนี้มันจำกัดทางเลือกความเป็นไปได้แบบอื่นในทางการเมืองโลก เช่น รัฐที่จะแสวงหาความเป็นรัฐชาติสมัยใหม่ เช่น โคโซโว เคิร์ด แคชเมียร์ ในประวัติศาสตร์โลกเราเห็นการได้มาซึ่งอำนาจอธิปไตยนั้นเป็นไปด้วยความรุนแรงของสงคราม ความรุนแรงของการก่อตัวของรัฐชาติถือเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างอำนาจอธิปไตยในช่วงที่ผ่านมา

นอกจากนี้ ภาษาในกฎหมายระหว่างประเทศนั้นยังเน้นสิทธิของอำนาจอธิปไตย สิทธิของพลเมืองและคนชายขอบต่างๆ เช่น เวลาประธานาธิปดีของรัสเซียกล่าวถึงรัฐตัวเอง จะบอกว่าตนเป็น Sovereign Democracy หรือเป็นประชาธิปไตยที่เน้นองค์อธิปัตย์ คือเขากำลังบอกว่าเขาเป็นประชาธิปไตย แต่อำนาจอธิปไตยของรัฐต้องมาก่อนสิทธิเสรีภาพของประชาชน นี่เป็นคำที่มีความย้อนแย้งกันเอง แต่ก็ชัดเจนในตนเองว่าให้ความสำคัญกับอะไร

เมื่อมองในแง่นี้ เราจะเห็นว่ากฎหมายระหว่างประเทศเป็นภาษาทางอำนาจ ไม่ใช่แค่เครื่องมือ มันเป็นมากกว่าภาษาที่ใช้สื่อสาร

จิตติภัทร พูนขำ

กรรณิการ์ : ประเด็นที่ว่ากฎหมายระหว่างประเทศจะสามารถทำงานได้ ต่อเมื่อมันอยู่ในมือของคนที่มีสติพอสมควร กล่าวคือต้องเป็นคนที่มองเห็นประโยชน์ของผู้อื่นแม้ว่าคุณจะยังสนใจประโยชน์ของตนเองอยู่และไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่มันมีผู้นำโลกที่เห็นแต่ประโยชน์ของตนเองมากกว่า เมื่อนั้นกฎหมายระหว่างประเทศจะสามารถทำอะไรได้ หรือทำอะไรไม่ได้บ้าง ?

ฐิติรัตน์ : จริงๆ เราจะเห็นว่ามีปรากฏการณ์ด้านระหว่างประเทศที่หลากหลาย ทั้งที่กฎหมายถูกนำไปใช้เพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย แต่ในขณะเดียวกันกฎหมายก็ถูกนำไปใช้เพื่อเป็นข้ออ้างของอำนาจรัฐ ในการกีดกันการช่วยเหลือในเชิงมนุษยธรรม หรือเป็นข้ออ้างในการที่จะบอกว่าขอพัฒนาประเทศก่อน เสรีภาพของประชาชนเอาไว้ทีหลัง

ถามว่าทำไมถึงเป็นแบบนี้ ก็กลับมาที่ธรรมชาติของกฎหมายระหว่างประเทศ คือการที่ภาษาของกฎหมายระหว่างประเทศสามารถพูดได้ทั้งสองแบบ ในหนังสือ From Apology to Utopia ของ Martti Koskenniemi ซึ่งเป็นทั้งนักการทูตและเป็นอาจารย์กฎหมายระหว่างประเทศ เขาเสนอความคิดที่ว่า กฎหมายระหว่างประเทศมันพัฒนามาจากโลกที่มีข้อจำกัดมากจนต้องกล้าวอ้างเหตุผลต่างๆ เพื่อขอโทษ (apology) ไปสู่โลกอุดมคติ (Utopia) ในเรื่องของการขอโทษ มันเป็นข้ออ้างในเชิงที่ว่าเราไม่สามารถช่วยเหลือคนที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนจากทั่วโลกได้ เพราะเขาเป็นรัฐอธิปไตย กฎหมายระหว่างประเทศได้กลายเป็นข้ออ้างอยู่เสมอๆ ในการที่จะปฏิเสธการให้ความช่วยเหลือผู้คนในกรณีต่างๆ

อีกกรณีคือ การตัดสินในทางกฎหมายมันให้ผลในเชิงที่ไม่เป็นธรรมกับประเทศที่กำลังพัฒนา แต่สุดท้ายนักกฎหมายก็บอกได้แค่ว่ากฎหมายมันเขียนมาเท่านี้ มันไปไกลกว่านี้ไม่ได้ ถ้าหากจะไปไกลกว่านี้ต้องเอาหลักเรื่องความยุติธรรมหรือ equity ซึ่งเป็นสิ่งที่อยู่นอกเหนือจากกฎหมายไปแล้ว เช่น ในศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ศาลสามารถที่จะตัดสินข้อพิพาทได้บนพื้นฐานของกฎหมายเท่านั้น ถ้าหากคู่ความไม่ยินยอมให้ใช้หลักอื่น

ดังนั้นกฎหมายจึงเป็นข้ออ้างที่จะบอกว่ารัฐจะทำอะไรได้ หรือทำอะไรไม่ได้ แต่ขณะเดียวกัน กฎหมายระหว่างประเทศก็พยายามที่จะก้าวข้ามความแตกต่างไปสู่ยูโทเปีย ไปสู่โลกที่เป็นพลเมืองโลกมากขึ้น เป็นโลกที่คำนึงถึงสิทธิมนุษยชนมากขึ้น และพูดถึงการพัฒนาไปในเชิงเสรีประชาธิปไตยในพื้นที่ต่างๆ รวมถึงการปลดแอกอาณานิคม ซึ่งเป็นหนึ่งในภารกิจขององค์การระหว่างประเทศในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง นี่เป็นยูโทเปียที่กฎหมายระหว่างประเทศบอกว่าเราต้องคิดถึงผลประโยชน์ร่วมของชุมชนระหว่างประเทศ

สมัยก่อนเราอาจบอกว่า ในแต่ละรัฐสามารถใช้นโยบายเกี่ยวกับเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างไรก็ได้ จะให้โรงงานตั้งที่ไหนก็ได้ ถือเป็นสิทธิของรัฐอธิปไตยนั้น แต่ว่าในยุคปัจจุบัน เราบอกว่าการใช้เสรีภาพของรัฐในลักษณะนี้มันไม่สามารถทำได้ 100% แล้ว เพราะคุณจะไปชนเพดานของกฎเกณฑ์เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม กล่าวคือคุณจะตั้งโรงงานอย่างไรก็ได้ แต่โรงงานจะต้องไม่ปล่อยสารพิษมากกว่าเท่านั้นเท่านี้ หรือว่าโรงงานต้องไม่ทำให้เกิดสารเคมีที่ไปกระทบกับผู้อื่น

ในช่วงแรก การพัฒนาของกฎเกณฑ์เหล่านี้มันพูดในเชิงที่ว่า การกระทำของรัฐนั้นไปกระทบกับประเทศอื่นที่ใกล้เคียง เริ่มจากการที่มลภาวะมันไหลออกไปนอกพรมแดนสมมติที่มนุษย์กำหนดขึ้นมา ดังนั้นคุณไม่สามารถบอกว่าการที่คุณเป็นรัฐอธิปไตย จะทำให้คุณมีเสรีภาพ 100% ได้อีกต่อไป

กฎหมายระหว่างประเทศในปัจจุบัน มันไม่ได้หยุดอยู่แค่การบอกว่า คุณห้ามทำอะไรที่เป็นอันตรายกับคนอื่น แต่พยายามไปสู่เป้าหมายบางอย่างร่วมกัน เช่น เรื่องภาวะโลกร้อน ซึ่งมีผลประโยชน์ร่วมกันของชุมชนระหว่างประเทศมากขึ้น จึงมีกฎกติกาใหม่เพิ่มขึ้น รวมไปถึงชุดความคิดว่าการฟ้องร้องกันในเวทีระหว่างประเทศ อาจไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ที่เดือดร้อนโดยตรงจากการกระทำของรัฐใดรัฐหนึ่ง แต่เป็นการฟ้องกันเพราะเห็นว่าสิ่งที่รัฐหนึ่งกำลังกระทำนั้น กำลังละเมิดคุณค่าร่วมกันบางอย่างของสังคมระหว่างประเทศ

ยกตัวอย่างคดีล่าวาฬ ที่ออสเตรเลียฟ้องญี่ปุ่น ในข้อกล่าวหาว่าญี่ปุ่นละเมิดสนธิสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการล่าวาฬ สนธิสัญญานี้มีเนื้อหาว่าในบรรดารัฐภาคีจะหยุดการล่าวาฬเพื่อการพาณิชย์ แต่มีข้อยกเว้นว่าสามารถล่าวาฬเพื่อการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ได้ ญี่ปุ่นก็บอกว่าการกระทำของตนเองเป็นการล่าเพื่อทำวิจัยทางวิทยาศาสตร์ แต่ทางออสเตรเลียมองว่ามันไม่ใช่

ประเด็นในคดีนี้อยู่ที่ว่า ออสเตรเลียเองไม่ได้เดือดร้อนอะไรโดยตรงกับการที่ญี่ปุ่นไปล่าวาฬ คือปลาวาฬไม่ได้ไปว่ายในน่านน้ำของออสเตรเลียอย่างเดียว แต่มันไปทั่วโลก แต่ออสเตรเลียก็ฟ้องด้วยความคิดที่ว่า เขากำลังพูดแทนคนทั้งโลกว่าหากวาฬสูญพันธุ์ มันจะทำร้ายมาตรฐานของสิ่งแวดล้อมระดับโลก ดังนั้นเขามีสิทธิปกป้องผลประโยชน์ของรัฐทั้งโลก ซึ่งมันเป็นอะไรที่มีลักษณะของความเป็นยูโทเปียมากๆ เลย นี่น่าจะเป็นสิ่งที่นักกฎหมายระหว่างประเทศในศตวรรษที่ 17 ต้องตกใจ หากได้รู้ว่าปัจจุบันกฎหมายระหว่างประเทศพัฒนามาถึงระดับนี้

ส่วนตัวจึงมองว่ากฎหมายระหว่างประเทศก็มีกลไกของมัน ในการที่จะจำกัดการใช้อำนาจรัฐหรือจำกัดการใช้อำนาจของผู้นำที่ไม่ค่อยมีสติ หรืออาจเรียกว่าเป็นผู้นำที่มองเห็นผลประโยชน์ระยะสั้นและดึงมาตรฐานระหว่างประเทศให้ต่ำลง แล้วมันไม่ใช่เรื่องง่ายที่ผู้นำที่มองเห็นผลประโยชน์ระยะสั้น จะถอนตัวออกจากระบบระเบียบระหว่างประเทศอย่างง่ายๆ เช่นกรณี Brexit ทุกวันนี้ก็ยังเถียงกันในสภาไม่รู้จบ ทั้งที่เรื่องนี้ไม่ใช่กรณีที่ผู้นำตัดสินใจโดยทำตามอำเภอใจด้วยซ้ำ แต่เป็นผลการทำประชามติของประชาชน กระบวนการในทางระหว่างประเทศที่ตามมาก็ยังไม่ง่าย

เราจะเห็นว่า แม้คนอังกฤษอยากจะออกจากสหภาพยุโรป ก็ไม่ใช่ว่าจะออกได้โดยง่าย มันยังมีสนธิสัญญาที่วางกรอบไว้ และมีกระบวนการที่จะต้องปฏิบัติตาม เพื่อที่จะรักษาสิทธิคนที่เขาเคยได้ประโยชน์จากการอยู่ในสหภาพ จะเห็นว่ากระบวนการเหล่านี้มันเข้าไปลดทอนการเห็นผลประโยชน์ระยะสั้นมากกว่าผลประโยชน์ระยะยาวได้

ยังไม่นับกรณีของ UNESCO ที่หลายๆ ประเทศมีประเด็นว่า การบรรจุมรดกโลกที่ไม่ได้รับการดูแลให้ดีในประเทศนั้นๆ ให้ขึ้นอยู่ใน endangered list เพื่อประณามการไม่ดูแลมรดกโลกของรัฐ จะทำให้รัฐไม่ค่อยพอใจและอยากจะถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิก มันก็ไม่ใช่ว่ารัฐจะสามารถถอนตัวได้ทันที มันยังมีกระบวนการที่ชะลอแรงปฏิกิริยาเหล่านี้อยู่

ประเด็นคือ กระบวนการเหล่านี้ไม่ได้ทำหน้าที่เพียงแค่ให้รัฐอยู่ในระบบอย่างเดียว แต่ยังเป็นการทดสอบของประชาคมระหว่างประเทศว่ารัฐนั้นสามารถรักษาสัญญาที่ให้ไว้ได้มากน้อยขนาดไหน เรียกได้ว่าเป็นกลไกที่พยายามดึงสติไว้อยู่

แต่ในขณะเดียวกัน ด้วยการที่กฎหมายระหว่างประเทศมันทำงานอยู่บนพื้นฐานของความเป็นอธิปไตย คือความเป็นอิสระต่อกันของรัฐต่างๆ กลไกเหล่านี้เลยไม่ได้ทำให้เกิดการบังคับกันอย่าง 100% เราจึงได้เห็นการถอนตัว เช่นกรณีที่ประเทศในลาตินอเมริกาหลายประเทศถูกคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ ตัดสินว่าได้ดำเนินนโยบายที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนในหลายกรณี จนทำให้เขามองว่ามันไม่สอดคล้องกับเจตจำนงของคนในประเทศเขา เขาก็ถอนตัวจากกระบวนการของสนธิสัญญาฉบับนั้น

ดังนั้นฝ่ายที่บอกว่าจะยื้อยุดให้เอาแนวปฏิบัติของสังคมระหว่างประเทศ ก็จำเป็นต้องระมัดระวังมากในการบังคับใช้กฎเกณฑ์เหล่านี้

จิตติภัทร : อยากจะต่อประเด็นในส่วนของการยื้อยุดกันระหว่างอะไรก็แล้วแต่ และการยื้อยุดนี้กำลังเข้าควบคุมการกระทำของผู้นำและช่วยดึงสติ เพราะมีการดำรงอยู่ในระหว่างประเทศในลักษณะที่เป็นปทัสถาน (Norm)

กฎหมายระหว่างประเทศก็เป็นปทัสถานรูปแบบหนึ่ง แต่มันยังมีแนวทางปฏิบัติอื่นๆ ที่รัฐเคยทำร่วมกันมาจนกลายเป็นแบบแผนในการปฏิบัติ หรือว่ารัฐมีความเชื่อร่วมกันว่านี่คือสิ่งดีงามที่จะควรทำ เช่นการมีข้อห้ามว่าไม่ควรใช้อาวุธนิวเคลียร์ การมีหลักการต่างตอบแทนต่อกัน (reciprocity) การยับยั้งชั่งใจ (restraint) นี่เป็นปทัสถานทางการเมืองที่เข้ามากำกับการตัดสินใจของรัฐ

กลไกกำกับพฤติกรรมของรัฐในสังคมระหว่างประเทศจึงไม่ได้มีเพียงแค่กฎหมายอย่างเดียว แต่ยังมีคุณค่าและแนวทางปฏิบัติในทางการเมือง รวมทั้งยังมีสังคมระหว่างประเทศที่เข้ามาทำให้กติกาต่างๆ เหล่านี้และกฎหมายระหว่างประเทศคงอยู่ได้

มีคนเคยให้คำนิยามว่า สังคมระหว่างประเทศเป็นระบบอนาธิปไตย (anarchy) วันนี้เราบอกว่ามีคนที่ต่อต้านและท้าทายกฎหมายระหว่างประเทศอยู่พอสมควร แต่ในงานวิจัยที่ผมได้แลกเปลี่ยนกับอาจารย์ฐิติรัตน์ เป็นงานวิจัยล่าสุดที่ศึกษาเรื่องปทัสถานระหว่างประเทศ โดยไปดูความสัมพันธ์ระหว่างการท้าทายปทัสถานระหว่างประเทศ กับความเข้มแข็งคงทนของปทัสถานเหล่านั้น ทั้งในเชิงทฤษฎีและในกรณีศึกษากว่าเจ็ดกรณี

ข้อเสนอของงานวิจัยนี้ ผมคิดว่าน่าจะทำให้พวกเราเบาใจได้ในระดับหนึ่ง เพราะเขาบอกว่าฝ่ายที่เข้ามายื้อยุดท้าทายปทัสถาน เช่น กรณีซีเรีย มันกลับทำให้ปทัสถานโดยรวมดีขึ้น คือการเข้ามายื้อยุดกลับทำให้แนวทางปฏิบัติโดยรวมมันดีขึ้น เขาบอกว่าการที่ปทัสถานจะมีแนวโน้มที่มั่นคงสขึ้นนั้น ขึ้นอยู่กับสามปัจจัย

ปัจจัยที่หนึ่งคือ ‘validity’ คือการที่ตัวแสดงระหว่างประเทศ ยังคงยอมรับโครงสร้างและสถาบันของกฎหมายระหว่างประเทศนั้นอย่างกว้างขวางอยู่

ปัจจัยที่สองคือ ‘application’ คือในเชิงปฏิบัติ แนวทางนั้นยังคงกำกับพฤติกรรมระหว่างประเทศอยู่ ความท้าทายต่างๆ ที่เกิดขึ้นอย่างกรณีของซีเรีย กรณีศาลอาญาระหว่างประเทศ กรณีการใช้กำลังความรุนแรง ความท้าทายส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นนั้นเป็นความท้าทายในเชิงปฏิบัติ แต่ไม่ใช่การท้าทายต่อสถาบันหรือโครงสร้างที่ดำรงอยู่ หมายความว่าโครงสร้างสถาบันนั้นยังแน่นอยู่ กรณีศึกษาส่วนใหญ่บ่งชี้่ว่าการท้าทายนั้นเป็นความผิดปกติมากกว่า ไม่ใช่แนวทางปฏิบัติทั่วไป ดังนั้นมันไม่ได้ทำลายสิ่งเหล่านี้

โครงสร้างและสถาบันของปทัสถานได้ลงหลักปักฐานและมีฐานะที่มั่นคงอย่างมีนัยยะสำคัญ ความท้าทายเหล่านี้กลับทำให้ความเป็นสถาบันของกฎหมายระหว่างประเทศมั่นคงมากขึ้น

นพดล เดชสมบูรณ์รัตน์ (คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมแสดงความคิดเห็น) : ขอพูดถึงประเด็นเรื่องกฎหมายระหว่างประเทศในระบบ Westphalian กับ cosmopolitanism ซึ่งปกติกฎหมายระหว่างประเทศจะเป็นกรอบของตัวการเมืองระหว่างประเทศ แต่ในขณะเดียวกันตัวการเมืองระหว่างประเทศก็มากำหนดโครงสร้างของกฎหมาย

สิ่งที่ชัดมากคือระบบ Westphalian จะเป็นหลักทั่วไปโดยอาศัยเรื่องหลักความยินยอมของรัฐ แต่ถามว่ามีข้อยกเว้นที่เป็น cosmopolitanism อยู่ในโครงสร้างไหม ก็มีอยู่บ้าง ก็จะเน้นไปเรื่องสิทธิมนุษยชน เช่นสิ่งหนึ่งที่เรียกว่า jus cogens คือกฎหมายบังคับเด็ดขาด ซึ่งจะมีอยู่สองเรื่องหลักนั่นก็คือความมั่นคงของรัฐ และการละเมิดสิทธิมนุษยชน ดังนั้นทั้งสองสิ่งนี้รัฐจะไม่สามารถตกลงแตกต่างออกไปได้

แต่ว่ามันมีคำถามในเชิงทฤษฎีใหม่ๆ เช่น ธรรมนูญนิยมในระหว่างประเทศ (international constitutionalism) คือว่า ในการเคารพอำนาจรัฐมันเท่ากับการรักษาอำนาจรัฐอย่างเดียวหรือไม่ ในมุมมอของนักคิดทฤษฎีนี้ มันมีปัญหาอยู่ที่ว่าในทางระหว่างประเทศเองมันไม่สามารถสร้างความชอบธรรมทางประชาธิปไตยได้ ประชาธิปไตยหรือความชอบธรรมมันจะสร้างได้ชัดเจนที่สุดจากตัวของรัฐภายใน เพราะเราไม่สามารถสร้างรัฐโลกได้ ดังนั้นการเคารพเรื่องหลักการความยินยอมของรัฐจะไม่ใช่เพียงเคารพเรื่องหลักการของอำนาจอธิปไตยแต่คือการเคารพ self-determination (กำหนดเจตจำนงตนเอง) ของประชาชนด้วย ฉะนั้นโครงสร้างของโลกทุกวันนี้มันยังเป็นการเคารพความหลากหลายอย่างที่อาจารย์จิตติภัทรบอก

แต่ในขณะเดียวกัน มันจะมีประโยชน์บางอย่างที่ชัดเจนมากขึ้นกว่าสมัยก่อน คือเน้นไปทางเสริมสร้างการเคารพสิทธิมนุษยชนและเรื่องของความมั่นคง

ส่วนกรณี fragmentation ก็อาจเป็นสิ่งที่น่าสนใจที่สุดของกฎหมายระหว่างประเทศ คือเรามีกฎหมายหลายตัว และมีการขัดกันจึงเกิดคำถามว่าจะทำอย่างไรให้เกิดการประสานผลประโยชน์มากที่สุด สิ่งนี้ก็คือปัญหาเดิมเหมือนกับการบังคับใช้กฎหมายของศาล ท้ายที่สุดศาลในฐานะคนที่ต้องดูแลระบบกฎหมาย แต่คำพิพากษาของศาลไม่สามารถถูกตรวจสอบได้ในระบบกฎหมายระหว่างประเทศ โดยหลักเราต้องหวังว่าตัวศาลเองจะเอาคุณค่าอื่นๆ เข้ามาประสานการตีความตัวบทกฎหมายที่ตนเองมีอำนาจ

ฐิติรัตน์

ข้อจำกัดของกฎหมายระหว่างประเทศ

คำถามจากผู้เข้าร่วมงาน : รู้สึกว่าปัจจุบันมหาอำนาจไม่ได้เกรงกลัวกฎหมายระหว่างประเทศเท่าไหร่ อย่างกรณี Spratly Island ในทะเลจีนใต้ ซึ่งอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศได้ตัดสินมาแล้วว่าจีนต้องปฏิบัติตาม แต่จีนก็ยังล่วงละเมิด นี่แสดงว่ามหาอำนาจสามารถกระทำอะไรก็ได้

ขณะเดียวกัน ในฐานะประชาคมตะวันออกเฉียงใต้ เราก็บอกว่าจะต้องทำการเจรจากันว่าควรจะมีกติกา แต่ถึงมีแล้วประเทศจีนก็ยังจะไม่ปฏิบัติตาม ถ้าเป็นเช่นนี้แล้วกฎหมายระหว่างประเทศจะว่าอย่างไร ในสถานการณ์ที่มหาอำนาจมีบทบาทมากและสามารถจะทำอะไรก็ได้เช่นนี้

ฐิติรัตน์ : ในการตอบคำถามนี้ อยากจะยกโควตนี้ต่อจากอาจารย์จิตติภัทร เรื่องพฤติกรรมของมหาอำนาจที่เหมือนว่าจะละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศเสียเอง

“ไม่สำคัญว่าจะมีการละเมิดกฎเกณฑ์นั้นบ่อยแค่ไหน จารีตประเพณีในทางระหว่างประเทศเป็นเหมือนศาสนา ถ้าเราจะถามว่าศาสนาหนึ่งๆ เรียกร้องให้เราทำอะไร คำตอบที่น่าเชื่อถือคงไม่ได้มาจากพฤติการณ์ที่เกิดขึ้นจริงของเหล่าผู้นับถือศาสนา แต่อยู่ในพระธรรมเทศนาดั้งเดิมที่ทำโดยนักบวชหรือนักเทววิทยาต่างหาก เราไม่ได้สนใจว่าเราสาวกทำอะไร แต่เราสนใจว่าเหล่าสาวกนั้นและชุมชนของพวกเขาถูกบอกว่าควรทำอะไร” 

“การเสแสร้งมักเป็นสิ่งที่ไม่ดีนักในทางทั่วไป แต่เป็นสิ่งที่รักษาไว้ซึ่งมาตรฐานทางจริยธรรมเช่นเดียวกับการนินทา การเสแสร้งและการนินทา อนุญาตให้เราสามารถอรรถาธิบายกฎเกณฑ์บริสุทธิ์ของการประพฤติตน โดยไม่ประนีประนอมกับความจำเป็นที่ต้องประพฤติตนตามขนบอันน่าเบื่อหน่าย”

นี่คือการเปรียบเทียบกฎเกณฑ์กฎหมายระหว่างประเทศกับศาสนา และสอดคล้องกับที่อาจารย์จิตติภัทรพูดเมื่อสักครู่ว่า เวลาที่มีรัฐๆ หนึ่งกระทำผิดกฎหมายระหว่างประเทศ เราจะดูที่การกระทำอย่างเดียวไม่ได้ แต่เราต้องไปดูที่คำอธิบายด้วยว่า เวลารัฐทำผิดกฎหมาย รัฐอธิบายตัวเองไว้ว่าอย่างไร เราจะไม่เห็นการกระทำของมหาอำนาจที่บอกว่า ฉันไม่สนใจหรอกกฎหมายระหว่างประเทศ ฉันไม่สนใจว่ากฎหมายระหว่างประเทศจะว่าไปว่าอย่างไร แต่เขาจะพูดว่ากฎหมายเปิดช่องให้เขาตีความได้อีกแบบหนึ่ง ก็คือกลับไปสู่ข้ออ้างในการที่จะบอกว่าโดยธรรมชาติของกฎหมายระหว่างประเทศ มันเปิดช่องให้สามารถตีความได้เช่นนี้

อย่างในกรณีของการบุกอิรักในปี 2003 ของสหรัฐอเมริกาและพันธมิตร ตอนนั้นนักกฎหมายทั่วโลกก็พูดกันชัดมากว่า มันไม่มีฐานทางกฎหมายใดๆ ที่จะทำให้สหรัฐอเมริกาบุกอิรักได้เลย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการอนุญาตโดยคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ เพราะในตอนนั้นยังไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าอิรักสะสมอาวุธ หรือมีแนวโน้มว่าจะใช้อาวุธเช่นนั้นต่อประเทศอื่น หรือจะอ้างเรื่องของการป้องกันตนเองล่วงหน้าก็เป็นการอ้างที่ฟังไม่ขึ้น และไปไกลเกินกว่าสิ่งที่กฎหมายระหว่างประเทศอนุญาตให้ทำ

แต่สิ่งที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกาพยามที่จะทำ อย่างน้อยคือสิ่งที่เขาบอกให้นักกฎหมายทำ ก็คือการอธิบายว่าจะเอาหลักการเหล่านี้มาตอบโจทย์ได้หรือไม่ อเมริกาพยายามที่จะขยายหลักการของกฎหมายที่มีอยู่เดิมให้มันกว้างขึ้น มันจึงเป็นการเข้าไปตอบโต้การบังคับใช้กฎหมายในส่วนของการบังคับใช้ (application) แต่มันไม่ได้ไปตอบโต้เรื่องการมีอยู่ (validity) ตัวหลักการพื้นฐานไม่ได้ถูกตอบโต้แต่อย่างใด เพียงแต่มันเป็นการตีความกฎหมายที่ไม่เหมือนคนอื่น ซึ่งผลคือการบุกอิรัก

สิ่งที่สำคัญและต้องพิจารณาคือ เขาอธิบายตัวเขาเองอย่างไร และตัวแสดงอื่นๆ ในเวทีระหว่างประเทศมีการวิพากษ์วิจารณ์คัดค้านการตีความกฎหมายเหล่านั้นหรือไม่ ดังนั้นในทุกครั้งที่มีการละเมิดกฎหมายอย่างร้ายแรง ก็จะนำไปสู่การถกเถียงว่าอะไรคือการตีความที่ถูกต้องกันแน่ นี่คือสิ่งที่เราเห็นบ่อยมากในกฎหมายระหว่างประเทศ

อีกประเด็นที่ทำให้เป็นแบบนี้ ก็เพราะว่ากฎหมายระหว่างประเทศถูกสร้างโดยรัฐ ซึ่งผู้บังคับใช้และตีความก็คือตัวรัฐเอง การสร้างกฎหมายมันไม่ได้สร้างขึ้นมาเพื่อผูกพันผู้อื่นอย่างเดียว แต่มันก็ผูกพันตัวเองด้วย ดังนั้นในวันที่รัฐพยายามจะบิดการตีความกฎหมายให้เป็นประโยชน์กับตัวเอง มันก็อาจมีวันใดวันหนึ่งที่การตีความแบบนี้จะกลับมาย้อนทำร้ายผลประโยชน์ของรัฐนั้นเองได้

อย่างกรณีของจีน ก็มีโอกาสที่การตีความของเขาจะเป็นเช่นนั้น ซึ่งผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ก็ได้กล่าวถึงในบทที่สองว่า

ในกฎหมายระหว่างประเทศ รัฐจะไม่ผลักดันข้อถกเถียงที่หนักแน่นหนึ่งๆ เพื่อแก้ต่างการกระทำของตน เพราะกลัวว่าข้อโต้แย้งแบบเดียวกันอาจถูกนำมาใช้เพื่อตอบโต้รัฐนั้นเองในวันข้างหน้าได้ แนวคิดแบบเรื่องศีลธรรมอันเด็ดขาดอาจจางหายไปพร้อมกับความตกต่ำของศาสนาและแนวคิดของกฎหมายธรรมชาติ แต่แนวคิดเรื่องความสอดคล้องของศีลธรรมจะไม่เสื่อมหายไปไหน กล่าวคือเมื่อรัฐตั้งมาตรฐานทางศีลธรรมใดกับรัฐอื่น มาตรฐานนั้นจะไม่เสื่อมหายไปไหน และอาจจะกลับมาโต้แย้งกับตัวเองเสมอในครั้งต่อๆ ไป

อย่างกรณีการบุกอิรักในปี 2003 ณ เวลานั้น ประเทศอังกฤษก็อยากเข้าไปร่วมกับสหรัฐอเมริกาในการบุกอิรัก โดยอังกฤษพยายามที่จะโต้แย้งว่า การที่คณะมนตรีความมั่นคงไม่สามารถผ่านมติให้ฝ่ายอเมริกาและพันธมิตรบุกอิรักได้นั้น เป็เพราะว่ารัสเซียใช้อำนาจวีโต้อย่างไม่เป็นธรรม ไม่มีเหตุมีผล จึงไม่ควรที่จะสนใจการใช้อำนาจแบบนั้น ดังนั้นจึงควรมองว่ามติที่ถูกตีตกไปเป็นมติที่ผ่านมาแล้ว นี่คือคำอธิบายของเจ้าหน้าที่รัฐของอังกฤษในช่วงนั้น

ผลคือคำอธิบายเหล่านี้ถูกโจมตีโดยนักกฎหมายระหว่างประเทศในอังกฤษเยอะมาก ถึงกับทำเป็นแถลงการณ์จั่วหัวว่า “We are teachers of international law” ขึ้นมาในฐานะนักกฎหมายระหว่างประเทศ ว่าจะไม่ยอมให้รัฐบาลอังกฤษใช้ข้อโต้แย้งนี้เพื่อที่จะบอกว่าการวีโต้ของรัสเซียเป็นการกระทำที่ไม่มีคุณภาพ จึงอย่าไปถือมาเป็นสาระสำคัญ การพูดแบบนี้มันเท่ากับการลดทอนอำนาจของอังกฤษเองที่จะใช้สิทธิวีโต้ เขาก็ไปดูว่าในอดีตเองประเทศอังกฤษเองก็เคยใช้สิทธิวีโต้มาแล้วทั้งหมด 36 ครั้ง ตั้งแต่ก่อตั้งสหประชาชาติมา ซึ่งถ้าใช้มาตรฐานเดียวกันที่ใช้กับรัสเซีย อาจทำให้การวีโต้ทั้งหมดของอังกฤษที่ผ่านมากลายเป็นการกระทำที่ไร้ความหมาย

หลักการต่างตอบแทน (reciprocity) ในเวทีระหว่างประเทศ — กล่าวคือคุณทำกับคนอื่นอย่างไร คนอื่นก็จะปฏิบัติกับคุณอย่างนั้น — เป็นหลักการพื้นฐานที่ช่วยกำกับให้การใช้อำนาจรัฐมันไม่ได้ไร้สติจนเกินไป

คำถามจากผู้เข้าร่วมงาน : อะไรที่กฎหมายระหว่างประเทศทำได้ดี และทำไม่ได้

ฐิติรัตน์ : ในหนังสือเล่มนี้ บทที่หก ผู้เขียนอธิบายไว้ว่าสิ่งที่กฎหมายระหว่างประเทศทำได้ดี ก็คือกรณีที่รัฐนั้นมีเป้าหมายร่วมกันอยู่แล้ว หรือเห็นตรงกันในเรื่องของเป้าหมาย แม้ว่าอาจจะแตกต่างกันในรายละเอียดบ้าง อย่างเช่นเรื่องของกฎหมายการค้า เศรษฐกิจ หรือกฎหมายมนุษยธรรม รวมไปถึงกฎหมายมนุษยชน และกฎหมายอาญาระหว่างประเทศ

ถ้าเราดูในรายละเอียดของเรื่องเหล่านี้ อย่างในเรื่องการค้าหรือเศรษฐกิจ เราจะพบว่ามหาอำนาจและประเทศต่างๆ ต่างเห็นตรงกันว่าต้องการมาตรการทางเศรษฐกิจ จึงมีระเบียบโลกตลาดเสรีขึ้นมาตอบโจทย์ และทำให้องค์การระหว่างประเทศอย่าง WTO สามารถมีบทบาทได้เต็มที่

หรืออย่างกรณีกฎหมายอาญาระหว่างประเทศ ที่เรามีศาลระหว่างประเทศในการลงโทษผู้นำของรัฐที่นำประเทศไปสู่สงคราม หรือทำให้เกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ หรือกระทำอย่างไร้มนุษยธรรมต่อคนในประเทศของตนเองอย่างร้ายแรง เรื่องนี้ก็ไม่น่าเชื่อเหมือนกันว่าจะกลายเป็นปทัสถานในทางระหว่างประเทศ แต่มันเป็นสิ่งที่เกิดจากประวัติศาสตร์ร่วมกันของสังคมมนุษย์เมื่อมีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นหลายครั้ง ตั้งแต่การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของนาซี ไปจนถึงการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา หรือเขมรแดง รวมถึงในอิสราเอล เมื่อเป็นเช่นนี้ รัฐเห็นตรงกันชัดเจนว่ามันเกิดจากการที่สังคมระหว่างประเทศปล่อยปะละเลย เกิดเป็นความคิดว่าสังคมโลกจะต้องทำอะไรสักอย่าง

ส่วนในประเด็นที่กฎหมายระหว่างประเทศทำได้ไม่ดี คงเป็นภาพสะท้อนกลับในเรื่องที่ยังตกลงกันไม่ได้ว่า ตกลงแล้วเป้าหมายของสังคมระหว่างประเทศคืออะไรกันแน่

จิตติภัทร : ผมเห็นด้วยที่บอกว่ามหาอำนาจไม่ได้เกรงกลัวต่อกฎหมายระหว่างประเทศสักเท่าไหร่ แต่อย่างไรก็ตาม การดำรงอยู่ของกฎหมายระหว่างประเทศ มันก็ไปจำกัดท่าทีและภาษาที่มหาอำนาจนั้นใช้ เพื่อที่จะสร้างความชอบธรรมให้กับตัวเอง

อย่างที่อาจารย์ฐิติรัตน์บอก บางทีเราตีความเพื่อจะบอกว่ากฎหมายนั้นเข้าข้างตัวเองบ้าง หรือเราก็พยายามที่จะไปควานหาเอกสารบ้าง เพื่อที่จะบอกว่าแผนที่เส้นประเก้าเส้นในทะเลจีนใต้นั้นเข้าข้างตัวเอง สิ่งเหล่านี้สะท้อนว่ามันมีบทบาทของกฎหมายระหว่างประเทศอยู่ ซึ่งถ้าหากมันไม่มี เขาก็คงไม่จำเป็นต้องมาถกเถียงกันเรื่องแบบนี้

ในระยะกลางไปจนถึงระยะยาว กฎหมายระหว่างประเทศจะยังเป็นปทัสถานที่เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของรัฐ ไม่ว่ารัฐจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม ดังนั้น ถ้าเรามองกฎหมายระหว่างประเทศให้พ้นไปจากการที่มันเป็นภาษาทางการเมือง เราจะเห็นว่ามันเป็นกระบวนการระยะยาว ที่ค่อยๆ เปลี่ยนพฤติกรรมระหว่างประเทศที่มันกำกับอยู่

ยกตัวอย่างกรณีการใช้การทรมานของสหรัฐอเมริกาในช่วงสงครามก่อการร้ายในรัฐบาลบุช ผมคิดว่ากฎหมายระหว่างประเทศส่งผลกระทบต่อสหรัฐอเมริกา เพราะเห็นได้จากการที่เขาเปลี่ยนคำ เขาเลิกใช้คำว่า torture (การทรมาน) แต่เป็น enhanced interrogation technique (เทคนิคการสอบสวนระดับสูง) ซึ่งการเปลี่ยนคำ มันคือการเปลี่ยนความคิดของคน แม้จะทำเหมือนเดิมก็ตาม

ในแง่หนึ่งกฎหมายมันก็กระทบต่อการกระทำของรัฐ และสหรัฐอเมริกาเองก็บอกว่าตนไม่เคยกระทำการทรมานคนในพรมแดนตน แต่ไม่ได้บอกว่าตนไม่ได้กระทำในพรมแดนของรัฐอื่น ซึ่งมีบทความตีพิมพ์ว่า สหรัฐอเมริกามีฐานปฏิบัติการเช่นนี้อยู่กว่า 40 ประเทศที่อยู่ใต้โครงการนี้ของสหรัฐ

ในปัจจุบัน ผลก็คือสหรัฐไม่รับรองกฎหมายระหว่างประเทศเรื่องของการห้ามการทรมาน แล้วก็บอกว่าตนเองไม่ได้ทำการทรมานในพรมแดนของตน ซึ่งกรณีของ Guantanamo ก็น่าสนใจ เพราะว่าไม่อยู่ทั้งในพรมแดนสหรัฐอเมริกาหรือคิวบา ซึ่งปัจจุบันประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ก็บอกว่าจะเอากลับมาเป็นของสหรัฐ

ประเด็นต่อมา ผมคิดว่านอกจากเรื่องของสิ่งที่กฎหมายระหว่างประเทศและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทำได้ดีและไม่ดีแล้ว ยังมีสิ่งที่ทั้งกฎหมายและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไม่ได้ทำ เป็นเรื่องเกี่ยวกับประเด็นความท้าทายใหม่ๆ ในการเมืองโลก เป็นความท้าทายที่ยังไม่มีกติกา ยังไม่มีแนวทางหรือกฎหมายมากำกับกำหนดอย่างชัดเจน

ผมคิดว่ามีอยู่สองประเด็นด้วยกัน

ประเด็นแรก คือกฎหมายระหว่างประเทศกับการกำกับดูแลการทำสงครามรูปแบบใหม่ โดยเฉพาะสงครามที่มาจากปัญญาประดิษฐ์ ไปจนถึงเรื่องความเป็นอิสระของสมองกลเหล่านี้ ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่มากว่าสุดท้ายแล้วความเป็นอิสระของสมองกล จะเป็นโจทย์ใหญ่ที่สุดในอนาคต เพราะว่าตอนนี้ภาพยนตร์ไปไกลกว่ากฎหมาย ในวงการเทคโนโลยีเขาถกเถียงเรื่องความก้าวหน้าของหุ่นยนต์ไปพอสมควรแล้วว่าดีหรือไม่ดี และเราสามารถอนุญาตให้หุ่นยนต์ตัดสินใจได้อย่างอิสระในการทำสงครามได้หรือไม่ นี่เป็นปัญหาของโลกในแง่ที่ว่า หุ่นยนต์อาจมีความแม่นยำในการจัดการสงคราม แต่ไม่อาจวิเคราะห์ในเชิงศีลธรรมได้เหมือนมนุษย์

ประเด็นที่สอง ที่กฎหมายอาจจะยังไม่ได้ทำ คือเรื่องของโดรน อากาศยานไร้คนขับ ทั้งที่เป็นของภาคเอกชนเชิงพาณิชย์ หรือของภาครัฐในการทำสงคราม อย่างต้นปีที่ผ่านมามีโดรนเอกชนขึ้นไปรบกวนการบิน จนทำให้สนามบินในสหราชอาณาจักรแห่งหนึ่งต้องปิดไปกว่าสามวัน

ส่วนโดรนที่ใช้ในการสงคราม ทั้งในรูปแบบของการสอดแนมและการติดอาวุธโจมตีทางอากาศ ซึ่งทางจีน สหรัฐอเมริกา และรัสเซีย ต่างก็ได้ใช้วิธีการนี้แล้ว แต่อิสราเอลไปไกลกว่าเพื่อนตรงที่ใช้ระบบ autonomy แล้ว คือให้เครื่องจักรกลคิดแล้วตัดสินใจเอง การแพร่กระจายของโดรนก็ยังไม่มีกติกามากำกับ

ถ้ามองในเชิง norm cycle เราจะเห็นว่ามันเริ่มมีความท้าทาย ตรงที่มีคนออกมาคัดค้านปัญญาประดิษฐ์เยอะมากขึ้น เข้าใจว่าตอนนี้มีประมาณ 25 ประเทศที่ประกาศว่าไม่เอาระบบหุ่นยนต์ติดอาวุธอิสระ ดังนั้นแนวทางปฏิบัตินี้ยังอยู่ในกระบวนการเริ่มต้น นี่เป็นสิ่งที่กฎหมายระหว่างประเทศยังไม่ได้ทำและเป็นความท้าทายของมัน

ฐิติรัตน์ : อย่างกรณีของสหรัฐอเมริกา วิธีการที่เขาใช้ในการอธิบายก็มีอยู่หลายแบบ อย่างหนึ่งก็คือบอกว่า การทรมานไม่ผิด ซึ่งข้อโต้แย้งนี้คงสามารถใช้ได้ในบางสถานการณ์เท่านั้น แต่ตอนหลังเมื่อสถานการณ์เปลี่ยน สหรัฐอเมริกาก็ใช้ภาษาใหม่ เพราะเขาเห็นแล้วว่าไม่มีประเทศไหนบนโลกที่ยอมรับว่าการทรมานทำได้และไม่ผิดกฎหมาย เขาเลยบอกว่าสิ่งที่เขาทำมันยังไม่ถึงการทรมาน เป็นการย้ายไปถกเถียงที่ตัวคำนิยามแทน

และการที่สหรัฐอเมริกาเอาสถานกักกันเพื่อทรมานผู้ก่อการร้ายไว้นอกประเทศ ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะว่าสนธิสัญญาสิทธิมนุษยชนที่สหรัฐอเมริกาและประเทศต่างๆ ได้ให้ความยินยอมเอาไว้ มันมีมาตราแรกๆ ที่บอกถึงขอบเขตของสนธิสัญญา ว่าสนธิสัญญานั้นมีผลบังคับใช้ภายในดินแดนและภายใต้เขตอำนาจของรัฐ

สหรัฐจึงตีความว่าเมื่อการกระทำนั้นพ้นไปจากภายในดินแดนของตนเอง เมื่อนั้นก็ไม่ใช่หน้าที่ของตนแล้ว แต่เป็นหน้าที่ของรัฐเจ้าของดินแดนที่เขาจะต้องดูแล ซึ่งอิสราเอลก็ตีความไปในลักษณะนี้เช่นกัน แนวทางการตีความเช่นนี้ก็ไม่มีใครเห็นด้วยเลยทั้งโลก เรื่องนี้ขึ้นไปถึงศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ในคดี Wall case ที่อิสราเอลพยายามสร้างกำแพงแนวยาวเพื่อรักษาความปลอดภัย และถูกวิจารณ์ว่าเป็นการขยายพื้นที่ครอบครองออกไปในดินแดนปาเลสไตน์ สมัชชาใหญ่สหประชาชาติได้ยื่นคำถามต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศว่า การกระทำแบบนี้ขัดต่อสิทธิมนุษยชนหรือไม่ อิสราเอลก็ใช้วิธีการสู้เช่นเดียวกับสหรัฐอเมริกา คือบอกว่านี่ไม่ใช่ดินแดนของตน

ในคดีนั้น ศาลบอกชัดเลยว่าตีความกฎหมายเช่นนั้นไม่ได้ เพราะวัตถุประสงค์ของสนธิสัญญาสิทธิมนุษยชนนั้น ต้องการที่จะให้รัฐที่มีอำนาจอย่างแท้จริงเป็นผู้คุ้มครองสิทธิมนุษยชนในพื้นที่นั้น ในกรณีนี้อิสราเอลเป็นผู้ยึดครองพื้นที่นั้น จึงต้องให้ความคุ้มครองแม้ว่าจะอยู่นอกเหนือดินแดนของตนเอง

นี่ก็เป็นการตีความของกฎหมายโดยบทบาทขององค์การระหว่างประเทศ ที่ทำให้การตีความของกฎหมายถูกดึงมาให้สอดคล้องกับระเบียบโลกในทางที่เป็นประโยชน์ต่อคุณค่าแบบเสรีนิยมและสิทธิมนุษยชนมากขึ้น

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save