fbpx

พ้นจากการบีบเค้นคำรับสารภาพ สู่การค้นหาความจริงด้วย Investigative Interview

ภาพผู้ต้องสงสัยตกอยู่ในวงล้อมการจับกุมและถูกบีบเค้นเพื่อให้ได้คำสารภาพตกอยู่ในหน้าสื่ออยู่เป็นระยะ หลายครั้งที่การได้มาซึ่งข้อมูลจากผู้ต้องสงสัยกลับเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของคนคนนั้น บางเหตุการณ์มีการใช้ความรุนแรงทางด้านร่างกายและจิตใจจนนำไปสู่การสูญเสียถึงชีวิต จึงเป็นคำถามที่น่าสนใจว่าจะมีเครื่องมือใดที่จะช่วยให้การสอบปากคำมีประสิทธิภาพ ประหยัดทรัพยากร ปราศจากการซ้อมทรมาน และอยู่ภายใต้หลักสิทธิมนุษยชนได้บ้าง

ในเวทีเสวนา TIJ Forum หัวข้อ ‘Way Out หนทางใหม่สู่การค้นหาความจริง’ เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2564 ซึ่งจัดขึ้นโดย สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ร่วมกับเครือข่ายด้านหลักนิติธรรมและการพัฒนา (RoLD) และศูนย์ส่งเสริมสิทธิมนุษยชนนอร์เวย์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยออสโล จึงได้มีการแบ่งปันและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางใหม่อย่าง ‘การสัมภาษณ์เพื่อหาความจริง (Investigative Interview)’ ซึ่งเป็นการสอบสวนที่ทำให้ได้ความจริงบนฐานของการเคารพสิทธิมนุษยชน โดยไม่ใช้อำนาจข่มขู่หรือความรุนแรงกับผู้ต้องสงสัย ผ่านมุมมองของวิทยากรจากศูนย์ส่งเสริมสิทธิมนุษยชนนอร์เวย์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยออสโล และผู้เชี่ยวชาญด้านการสืบสวนสอบสวนจากทุกภาคส่วนในกระบวนการยุติธรรมไทย


การสัมภาษณ์เพื่อหาความจริง แนวทางที่ต่างออกไปจากการเค้นสารภาพ


Dr. Asbjørn Rachlew ผู้เชี่ยวชาญศูนย์ส่งเสริมสิทธิมนุษยชนนอร์เวย์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยออสโล


Dr. Asbjørn Rachlew ผู้เชี่ยวชาญศูนย์ส่งเสริมสิทธิมนุษยชนนอร์เวย์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยออสโลได้พาไปเข้าใจว่าก่อนหน้านี้เจ้าหน้าที่มักใช้วิธีการสอบปากคำแบบเดิมที่มุ่งเน้นให้ได้มาซึ่งคำรับสารภาพจากผู้ต้องสงสัย แต่เมื่อระยะเวลาผ่านไป งานวิจัยหลายชิ้นทำให้เห็นว่ามีวิธีที่ดีกว่าในการได้มาซึ่งข้อมูลที่ถูกต้อง แม่นยำ และกระตุ้นให้เกิดการตั้งสมมติฐานทางเลือกอื่นๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น โดยไม่ต้องไล่ตามหาคำยืนยันจากปากผู้ต้องสงสัยในสมมติฐานเดิมเพียงสมมติฐานเดียว

นอกจากนี้ Dr. Asbjørn ยังสะท้อนถึงปัญหาว่า แต่เดิมทัศนคติและแนวทางที่เกี่ยวข้องกับการสอบปากคำของตำรวจนอร์เวย์ไม่มีการฝึกอบรม หรือระเบียบวิธีสำหรับการซักถามปากคำอย่างเป็นทางการ ในฐานะที่เขาทำงานด้านนี้ เขาได้รับเพียงเอกสารอย่างไม่เป็นทางการของเพื่อนร่วมงานระดับอาวุโสจึงส่งผลให้เจ้าหน้าที่ตำรวจนอร์เวย์ไม่ได้ทำงานในมาตรฐานเดียวกันทั้งหมด ภายในคู่มือเหล่านั้นยังแนะนำให้ผู้สืบสวนรุ่นใหม่ใช้การครอบงำทางจิตวิทยาเพื่อให้ได้คำรับสารภาพ แต่นั่นไม่ใช่ความเห็นอกเห็นใจหรือการเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และสิทธิมนุษยชนอย่างจริงใจ ทั้งยังอันตรายที่คู่มือภายในถูกจัดเป็นเอกสารลับเฉพาะสำหรับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเท่านั้น ทำให้ปราศจากการตรวจสอบเทคนิคการสอบปากคำที่อาจจะล้าสมัยไปแล้ว

“อาชีพตำรวจต้องการได้รับความไว้วางใจจากสาธารณชนและถูกมองว่าเป็นมืออาชีพและยุติธรรม ตำรวจในสังคมประชาธิปไตยที่มุ่งทำงานเพื่อหลักนิติธรรมไม่สามารถมีเทคนิคการสอบสวนแบบลับๆ ได้ ดังนั้นเราจึงจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง” Dr. Asbjørn กล่าวและมองว่าการสัมภาษณ์เพื่อหาความจริงเป็นแนวทางตั้งอยู่บนพื้นฐานของการเคารพสิทธิมนุษยชน ไม่ถูกวิธีการครอบงำทางจิตวิทยา และการทรมานทางร่างกาย ทั้งยังค้ำยันแนวคิดข้อสันนิษฐานว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์ได้จริงด้วยวิธีที่ยั่งยืนและมีประสิทธิภาพ

Dr. Asbjørn ได้ริเริ่มโครงการฝึกอบรม ‘การสัมภาษณ์เพื่อหาความจริง’ อย่างเป็นทางการขึ้นครั้งแรกที่นอร์เวย์ โดยได้รับแรงบันดาลใจจากการทำงานของตำรวจในสหราชอาณาจักร ซึ่งนับเป็นประเทศแรกในโลกที่เปลี่ยนแปลงการสอบสวน หลักสูตรอบรมนี้ชื่อว่า CREATIV ซึ่งสื่อถึงตัวย่อของหลักการสำคัญของหลักสูตร อันได้แก่ การให้ความสำคัญกับการสื่อสาร (Communication) การยึดหลักนิติธรรม (Rule of law) จริยธรรมและความเห็นอกเห็นใจ (Ethics and Empathy) การฟังอย่างตั้งใจ (Active Consciousness) การสร้างความเชื่อใจ (Trust) การให้ความสำคัญกับการเปิดรับข้อมูล (Information) และการตรวจสอบความถูกต้อง (Verification) เนื้อหาส่วนหนึ่งยังกล่าวถึงหลักการสำคัญ คือมาตรฐานการซักถามผู้ต้องสงสัยของสภายุโรปในปี 2002 ซึ่งคณะกรรมาธิการต่อต้านการทรมาณของสภายุโรประบุว่าการซักถามผู้ต้องสงสัยในคดีอาญาถือเป็นงานของผู้ชำนาญการเฉพาะทาง ผู้ปฏิบัติงานต้องผ่านการฝึกอบรมมาโดยเฉพาะและมีจุดยืนชัดเจนในการออกห่างจากเทคนิคการสอบสวนที่เน้นการรับสารภาพ

หลักสูตรนี้ประกอบด้วยการบรรยายทฤษฎีและวิดีโอแบบฝึกหัด 16 บท ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับทฤษฎีความจำของมนุษย์ จิตวิทยาเกี่ยวกับพยานผู้เห็นเหตุการณ์ ทฤษฎีการตัดสินใจ ทักษะการสื่อสาร ข้อมูลประเภทคำสารภาพที่เป็นเท็จและวิธีการป้องกัน รวมถึงตัวอย่างความผิดพลาดในอดีต โดยมีการอบรมที่สำคัญที่สุดคือการฝึกเทคนิคการสัมภาษณ์ ซึ่งมีฐานมาจากโมเดลที่เรียกว่า PEACE ของสหราชอาณาจักร โดยการแบ่งขั้นตอนการซักถามผู้ต้องสงสัยออกเป็นการวางแผนและการเตรียมการ (Planning and Preparation)  ทั้งการเตรียมร่างกาย เตรียมการเกี่ยวกับคดี และเตรียมการเรื่องสภาพทางจิตใจ การผูกไมตรีและการอธิบาย (Engage and Explain) เพื่อสร้างบทสนทนาที่ผู้พูดรู้สึกปลอดภัย การเปิดโอกาสให้ผู้ต้องสงสัยเล่าเหตุการณ์หรือตอบคำถาม (Account) ผ่านการฟังอย่างตั้งใจและการจัดเรียงคำถามตามลำดับ การจบการซักถาม (Closure) และการประเมินผล (Evaluation) เพื่อพัฒนาให้การสัมภาษณ์เป็นมืออาชีพมากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม มีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับการสัมภาษณ์เพื่อหาความจริงว่าเป็นเพียงการสัมภาษณ์ที่นุ่มนวล และอาจจะเหมาะสมกับประเทศที่มีอัตราการเกิดอาชญากรรมต่ำ แต่ Dr. Asbjørn ให้ความเห็นว่าไม่เป็นความจริง การสัมภาษณ์เพื่อหาความจริงมีกลยุทธ์ในการซักถาม และการรวบรวมพยานหลักฐาน เพื่อให้เจ้าหน้าที่สร้างสมมติฐานทางเลือก หรือคำอธิบายอื่นๆ ในทุกทางว่าผู้ต้องสงสัยอาจเป็นผู้บริสุทธิ์ และทำงานทดสอบสมมติฐานเหล่านั้นผ่านการสอบปากคำผู้ต้องสงสัย โดยมีเป้าหมายให้เจ้าหน้าที่สืบสวนสอบสวนค้นหาข้อมูลเพื่อยืนยันความบริสุทธิ์ หากผู้ต้องสงสัยไม่สามารถให้ข้อมูลมาสนับสนุนสมมติฐานว่าผู้ต้องสงสัยบริสุทธิ์ได้ ข้อกล่าวหาก็จะยิ่งมีน้ำหนักมากขึ้น ด้วยวิธีนี้จะทำให้เจ้าหน้าที่ทำงานภายใต้หลักการสันนิษฐานว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์ และสามารถเปิดใจกว้าง ไม่มีอคติในการทำงาน

นอกจากนี้ Dr. Asbjørn ยังยกตัวอย่างว่าในคดีที่มีความร้ายแรงอย่างการที่นอร์เวย์เผชิญการก่อการร้าย เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2011 มีการวางระเบิดในหลายอาคารของรัฐบาลและมีเหตุการณ์ร้ายแรงเกิดขึ้นในหลายพื้นที่รวมไปถึงเกาะอูเตอยา ซึ่งผู้ก่อการร้ายเข้าไปพยายามฆ่าเด็กและเยาวชนที่กำลังเข้าค่ายพลเมือง ก่อนที่เขาจะถูกจับกุม ณ วันนั้นรัฐบาลของนอร์เวย์ ได้ออกแถลงการณ์สำคัญให้ประชาชนรับทราบ เนื้อหาในแถลงการณ์ระบุว่า “ในวันพรุ่งนี้นอร์เวย์จะยังเป็นดินแดนในแบบเดิมที่ทุกคนรู้จัก จะไม่มีใครสามารถพรากเอาคุณค่าหรือประชาธิปไตยของเราไปได้”

เขาในฐานะผู้กำกับการสอบปากคำผู้ต้องสงสัยจึงเหมือนได้รับการย้ำเตือนว่าอะไรคือคุณค่าที่ต้องยึดมั่น “เรามีคำตัดสินของศาลฎีกา เรามีกฎหมายรัฐธรรมนูญ เรามีอนุสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนทั้งหลาย แต่กฎหมายและค่านิยมทั้งหมดเหล่านี้ล้วนฝังอยู่ในระเบียบวิธีการ สิ่งหนึ่งที่แน่นอนคือค่านิยมที่อยู่บนกระดาษ แต่อีกด้านคือการนำเอาค่านิยมนั้นไปสู่การปฏิบัติในสถานการณ์ที่มีความกดดันสูง” Dr. Asbjørn กล่าวพร้อมให้ข้อมูลว่าหนึ่งในเจ้าหน้าที่ในเหตุการณ์นั้นสะท้อนความรู้สึกว่าการสัมภาษณ์เพื่อหาความจริง ทำให้เขามั่นใจในการทำงานภายใต้สถานการณ์กดดันสูง โดยที่ยังมีประสิทธิภาพในการได้มาซึ่งข้อเท็จจริง ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน และไม่หันไปใช้วิธีการซ้อมทรมาน

ปัจจุบันหลักสูตรการอบรม ‘การสัมภาษณ์เพื่อหาความจริง’ ได้รับความสนใจจากหลายประเทศทั่วโลก มีการอบรมอย่างจริงจังในอินโดนีเซีย มีหลักสูตรที่ปรับเป็นภาษาเวียดนาม ภาษาจีน และกำลังได้รับความสนใจจากประเทศเลบานอน รวมทั้งประเทศไทย อย่างไรก็ตามเขาย้ำว่าการเปลี่ยนแปลงต้องมาจากภายในและใช้เวลาทำงานอย่างต่อเนื่อง ขณะนี้องค์การสหประชาชาติอยู่ในระหว่างการจัดทำแนวทางสากลสำหรับการสอบปากคำโดยเจ้าหน้าที่ และได้เชิญผู้เชี่ยวชาญจากทั่วทุกมุมโลกเข้ามาเพื่อรับฟังและตัดสินใจว่าจะเลือกทิศทางที่อยู่บนฐานของวิทยาศาสตร์ ตั้งมั่นในสิทธิมนุษยชน โดยวิธีการสัมภาษณ์เพื่อหาความจริงมีผลวิจัยยืนยันประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาอาชญากรรม ปัจจุบันมีการร่างแนวทางสากลเสร็จเรียบร้อยและหวังว่าจะได้รับการประกาศโดยองค์การสหประชาชาติภายในปีหน้า รวมไปถึงการแปลไปสู่ภาษาต่างๆ เพื่อใช้ในการอบรม เผยแพร่ความรู้ต่อไปในอนาคต


ถอดประสบการณ์การสัมภาษณ์เพื่อหาความจริง: มุมมองจากนอร์เวย์


Gisle Kvanvig จากศูนย์ส่งเสริมสิทธิมนุษยชนนอร์เวย์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยออสโล ในฐานะที่ทำงานเกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนมาอย่างยาวนานเผยว่า การทำงานเรื่องสิทธิมนุษยชนต้องทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งระดับนโยบายและระดับปฏิบัติเห็นภาพเดียวกันไม่ว่าจะเป็นเรื่องหลักทฤษฎี วิธีคิด รวมไปถึงวิธีการและเครื่องมือในการสัมภาษณ์เพื่อหาความจริง เขาพบว่าระหว่างการแบ่งปันประสบการณ์ในหลายประเทศนั้น หลายประเทศมีความท้าทายในกระบวนการสอบสวนสืบสวนและสอบปากคำที่ใกล้เคียงกัน แม้ว่าจะมีบริบท วัฒนธรรมแตกต่างกันในแต่ละชาติ เขามองเห็นว่าในช่วงที่ทำงานร่วมกันกับประเทศไทย องค์กรทั้งภาครัฐและประชาสังคมได้ให้ความสนใจในวิธีการสัมภาษณ์เพื่อหาความจริง และมีความก้าวหน้าเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ รวมทั้งจะมีการใช้เครื่องมือนี้มากขึ้นเพื่อนำไปสู่การปรับปรุงและพัฒนาต่อไป

Gisle Kvanvig ศูนย์ส่งเสริมสิทธิมนุษยชนนอร์เวย์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยออสโล

Ivar Fahsing นักวิจัยศูนย์ส่งเสริมสิทธิมนุษยชนนอร์เวย์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยออสโล สะท้อนให้เห็นถึงความจำเป็นของการเปลี่ยนแปลงวิธีคิดของตำรวจเกี่ยวกับบทบาทของการสืบสวนโดยอ้างจากงานวิจัยหลายชิ้นพบว่า มีความเสี่ยงที่เจ้าหน้าที่จะมีอคติหรือความเชื่อที่อาจจะโน้มเอียงจนทำให้มองรูปคดีผิดพลาดจนส่งผลกระทบก่อให้เกิดโศกนาฏกรรมต่อผู้เสียหายและผู้ต้องสงสัย เขามองว่าการสัมภาษณ์เพื่อหาความจริงสามารถนำไปใช้ในการได้มาซึ่งข้อเท็จจริงทั้งหมด โดยไม่จำกัดแค่ผู้ต้องสงสัย นอกจากนี้ยังเสริมอีกว่าการอบรมเป็นการลงทุนทางทรัพยากรมนุษย์ มีผลดีที่เจ้าหน้าที่จะรู้สึกถึงการยอมรับ และเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่จะทำให้พวกเขาทำงานได้ดีขึ้นและพึงพอใจกับงานของตัวเองที่มีการรับรองทางวิทยาศาสตร์

Ivar Fahsing นักวิจัยศูนย์ส่งเสริมสิทธิมนุษยชนนอร์เวย์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยออสโล

Susanne Flølo ทีมวิทยากรที่ทำงานร่วมกับสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Office on Drugs and Crime: UNODC) ในการพัฒนาบทเรียนเบื้องต้นเกี่ยวกับการสัมภาษณ์เพื่อหาความจริงบนแพลตฟอร์ม E-learning ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ Susanne เล่าถึงความคืบหน้าของโครงการนี้ว่าพร้อมจะเปิดให้ใช้บริการเดือนธันวาคมนี้ นอกจากนั้นยังเน้นย้ำความเชื่อมั่นว่าการสัมภาษณ์เพื่อหาความจริงซึ่งปราศจากการทรมาน ทั้งยังอยู่บนพื้นฐานความเคารพในสิทธิมนุษย์ชนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และมีงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์รองรับ น่าจะสามารถแพร่ขยายไปยังการทำงานของเจ้าหน้าที่ทั่วโลกได้ เพียงแต่ต้องทำให้มั่นใจว่าตำรวจได้รับการอบรมเครื่องมือที่เพียงพอ และสร้างความร่วมมือกับตำรวจและโรงเรียนนายร้อยตำรวจ

Susanne Flølo ทีมวิทยากรที่ทำงานร่วมกับสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ


ความเป็นไปได้ของการสัมภาษณ์เพื่อหาความจริง ในกระบวนการยุติธรรมไทย


ฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล ประธานคณะกรรมการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ได้สนับสนุนแนวทางการสัมภาษณ์เพื่อหาความจริง โดยมองว่าเป็นการนำวิธีคิดเรื่องการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์เป็นตัวตั้งในกระบวนการสืบสวนสอบสวนได้อย่างเป็นรูปธรรม ช่วยเพิ่มประสิทธิผลในการทำงานของเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมให้ได้ข้อมูลที่ศาลสามารถรับฟังได้ และเปิดโอกาสให้ผู้ต้องสงสัยสามารถเข้าถึงสิทธิอื่นๆ ในกระบวนการยุติธรรรม เช่น สิทธิในการเข้าพบทนาย สิทธิที่จะได้รับการดูแลหรือปฏิบัติเยี่ยงมนุษย์ในระหว่างที่ถูกควบคุมตัว และลดความเสี่ยงที่เจ้าหน้าที่จะดำเนินไปในกระบวนการอื่นที่ไม่ถูกต้อง รวมถึงสามารถช่วยให้คนในสังคมเชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรม ไว้วางใจให้เจ้าหน้าที่รัฐสามารถใช้อำนาจรัฐในรูปแบบที่อาจจะแทรกแซงสิทธิของประชาชนได้โดยที่ไม่เกิดขอบเขต ฐิติรัตน์ยังเห็นด้วยว่าความเปลี่ยนแปลงจะต้องเกิดขึ้นจากภายใน ไม่ใช่เพียงกฎหมายระหว่างประเทศ หรือแนวทางในระดับสากล กฎหมายภายในและแนวทางปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐจะต้องพัฒนาให้สอดคล้อง ให้คุณค่าสิทธิมนุษยชนอย่างแท้จริงในกระบวนการทำงานเพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างสะดวก

สันทนี ดิษยบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานเลขาธิการสถาบันนิติวัชร์ สำนักอัยการสูงสุด ผู้เคยผ่านการอบรมการสัมภาษณ์เพื่อหาความจริงและผลักดันการใช้การสัมภาษณ์เพื่อหาความจริงในองค์กรอัยการ กล่าวว่ากระบวนการสอบปากคำมีความสำคัญมาก เนื่องจากส่งผลกระทบต่อกระบวนการยุติธรรมอื่นๆ ที่ตามมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทยที่การสืบสวน สอบสวนและการฟ้องร้องดำเนินการอย่างแยกส่วน เธอตั้งข้อสังเกตว่าการสอบปากคำที่เกิดจริงในปัจจุบันมุ่งไปที่การให้การสารภาพ ให้ความสำคัญกับคำให้การของพยานจนเหมือนผลักภาระให้พยานที่จะต้องให้ข้อเท็จจริง ทั้งที่ความจริงเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะพิสูจน์ให้เห็นความจริง และเธอย้ำว่ากระบวนการยุติธรรมทางอาญามาถึงจุดที่ต้องการสร้างความเชื่อมั่นให้ได้ว่าข้อเท็จจริงในสำนวนการสอบสวนที่ส่งต่อไปให้อัยการและที่ศาล เป็นข้อเท็จจริงที่น่าเชื่อถือและได้มาจากวิธีการที่ถูกต้อง โดยการสัมภาษณ์เพื่อหาความจริงน่าจะเป็นอีกวิธีการหนึ่งที่จะเรียกความเชื่อมันกลับมาได้

พ.ต.ท.หญิงเพรียบพร้อม เมฆิยานนท์ รองผู้กำกับการกลุ่มงานต่อต้านการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ต สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้กล่าวถึงข้อจำกัดว่าในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาของประเทศไทยยังมีการกล่าวถึงขั้นตอนการสืบสวนเพียงเล็กน้อย และอยู่ในมุมมืดที่กฎหมายไม่สามารถเข้าไปแตะได้ แต่เมื่อ พ.ต.ท.หญิงเพรียบพร้อม มาทำงานในตำแหน่งปัจจุบันก็พบว่ายังมีช่องทางที่น่าจะนำเอาการสัมภาษณ์เพื่อหาความจริงมาใช้ได้ รวมถึงตั้งข้อสังเกตว่าการให้คุณค่าเรื่องสิทธิมนุษยชนในหน่วยงานตำรวจยังไม่โดดเด่นนัก ในวงการมีการพูดถึงคดีผกก.โจ้ ค่อนข้างน้อย สะท้อนถึงความเบาบางของการให้คุณค่าสิทธิมนุษยชนในหมู่เจ้าหน้าที่เอง ถือเป็นความท้าทายที่องค์กรและสังคมจะต้องปลูกฝังและให้ความสำคัญในเรื่องสิทธิมนุษยชนมากขึ้น

ทางด้าน ผศ.ดร. ณัฐสุดา เต้พันธ์ คณบดีคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและหัวหน้าศูนย์สุขภาวะทางจิตเกริ่นว่า บุคคลที่เข้ามาสู่กระบวนการสืบสวนสอบสวนย่อมเป็นผู้ที่มีบาดแผลในจิตใจบางอย่าง การสัมภาษณ์เพื่อหาความจริงจึงเป็นแนวทางที่เหมาะสมต่อการสอบสวน เนื่องจากเป็นกระบวนการที่ทำความเข้าใจภาวะทางจิตใจ ตระหนักว่าคนอาจจะมีบาดแผล และเป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ปลอดภัย ไว้วางใจในฐานะมนุษย์ เพื่อให้ผู้ถูกสัมภาษณ์สบายใจมากขึ้นที่จะกลับไปทบทวน สำรวจบาดแผลหรือความทรงจำที่เกิดขึ้น และมีโอกาสร้อยเรียงความทรงจำที่ไม่ปะติดปะต่อให้เป็นระบบมากขึ้น แทนที่จะเค้นเพื่อให้ได้คำให้การและกดดันให้กลับไปดูบาดแผลโดยที่เขาไม่พร้อม จนอาจทำให้เกิดบาดแผลทางจิตใจซ้ำ (retraumatize) วิธีการสัมภาษณ์เพื่อหาความจริงมีประโยชน์ต่อทั้งผู้ที่ถูกสัมภาษณ์ และขณะเดียวกันก็เป็นประโยชน์ต่อเจ้าพนักงานที่จะได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อรูปคดี

พล.ต.ท. ธัชชัย ปิตะนีละบุตร ผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ซึ่งเป็นผู้ที่มีบทบาทต่อการพัฒนาตำรวจรุ่นใหม่ได้ให้ความเห็นว่า การเรียนการสอนของโรงเรียนนายร้อยตำรวจเป็นสถาบันอุดมศึกษาแห่งเดียวที่ผลิตนายตำรวจชั้นสัญญาบัตร บุคคลที่มียศตั้งแต่ร้อยตำรวจตรีขึ้นไปเข้าไปเป็นตำรวจ กลุ่มคนนี้ใช้เวลาสี่ปีที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจและหลังจากสำเร็จการศึกษาก็จะออกไปทำงานในโรงพักต่างๆ ทั่วประเทศ ปัจจุบันเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ความสนใจเรื่องสิทธิมนุษยชนมากขึ้น เน้นการรวบรวมข้อมูล โดยให้ผู้ต้องสงสัยได้ให้การมากที่สุด เพื่อนำมาหักล้างกับพยานหลักฐานอื่น ถึงแม้ผู้ต้องสงสัยไม่ได้รับสารภาพ แต่ตำรวจสามารถใช้ความขัดแย้งของคำให้การและพยานหลักฐานที่ค้นพบดำเนินคดีได้ รวมไปถึงในการเรียนการสอนยังเน้นให้ความสำคัญเรื่องนิติวิทยาศาสตร์ การใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น AI Blockchain เข้ามาในการทำงานของตำรวจ รวมไปถึงกำลังดำเนินการสร้าง Digital Forensic Lab ที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน เพื่อสร้างเครื่องมือต่างๆ ขึ้นมาให้ตำรวจสามารถใช้เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ได้มากขึ้น

พล.ต.ท. ธัชชัย กล่าวว่า ข้อจำกัดของตำรวจคือคนทั่วไปมีความเข้าใจในกระบวนการทำงานของตำรวจ ทำให้ผู้กระทำความผิดไม่รับสารภาพหรือไม่ได้ให้ข้อเท็จจริง และมาตรฐานการทำงานสืบสวนสอบสวนของตำรวจไม่ได้เป็นมาตรฐานเดียวกันในทั่วประเทศ เนื่องจากตำรวจมีโครงสร้าง และมีปัจจัยภายนอกอื่นๆ ทั้งเรื่องระยะเวลา สถานที่หรือเครื่องมือต่างๆ เป็นต้น นอกจากนี้ในประเด็นสิทธิมนุษยชน พล.ต.ท. ธัชชัย เห็นว่าควรจะผสมผสานในหลักการและเทคนิคของประเทศต่างๆ รวมทั้งประเทศไทย ดูข้อดี ข้อเสีย สร้างความร่วมมือซึ่งกันและกันเพื่อให้เกิดหลักการที่มีความสอดคล้องกับประเทศต่างๆ

อุกฤษฏ์ ศรพรหม ผู้จัดการโครงการการสนับสนุนงานด้านหลักนิติธรรม TIJ ให้ความเห็นว่าในการประยุกต์ใช้การสัมภาษณ์เพื่อหาความจริงในกระบวนการที่ไม่ได้เป็นทางการหรือจัดขึ้นโดยรัฐ อาจจะจัดขึ้นในระดับชุมชน หรือในระดับหมู่บ้าน เช่น กระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างผู้กระทำความผิดกับผู้เสียหายสามารถ แต่มีข้อคำนึงว่ากระบวนการที่ไม่เป็นทางการจำเป็นต้องได้รับการยินยอมจากผู้ที่เกี่ยวข้อง ผู้ไกล่เกลี่ย (mediator) หรือว่ากระบวนกร (facilitator) ซึ่งทำงานแตกต่างจากพนักงานสอบสวนทั่วไปจำเป็นต้องมีทักษะเชี่ยวชาญในการดำเนินกระบวนการ วางตัวเป็นกลาง ให้น้ำหนักของทั้งสองฝ่ายอย่างเท่าเทียม และมีกระบวนการประกันคุณภาพการสัมภาษณ์เพื่อรักษามาตรฐานในการทำงาน

ดร.พิเศษ สอาดเย็น ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ทิ้งท้ายว่าการเสวนาในครั้งนี้น่าจะเป็นแรงบันดาลใจที่ดีและเป็นทางเลือกในการแสวงหาวิธีการทางกระบวนการยุติธรรมที่ไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน ดร.พิเศษ มองว่าการจัดเสวนาต่อเนื่องจากเหตุการณ์อดีตผกก.โจ้ เป็นการเรียนรู้จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อมองไปไกลถึงการพัฒนาแก้ไขสิ่งที่เป็นความท้าทายในเชิงระบบ และพัฒนาเครื่องมือให้กับเจ้าหน้าที่เพื่อนำไปสู่กระบวนการยุติธรรมไทยที่มีประสิทธิภาพ ได้ข้อมูลที่เชื่อถือได้ และเป็นกระบวนการที่คนในสังคมเชื่อมั่น


อ่านเพิ่มเติมสรุปความจากงานเสวนา TIJ Forum ในซีรีส์ ‘Zoom out – Way out: การปรับปรุงกระบวนการยุติธรรมของไทย’ ได้ที่:

จับชีพจรกระบวนการยุติธรรมท่ามกลางการใช้อำนาจเกินขอบเขต: กรณีศึกษาอดีตผกก.โจ้

เปลี่ยนความคิด-ปรับอำนาจ ร่วมสร้างกระบวนการยุติธรรมไทยให้ดีกว่าเดิม

ผลงานชิ้นนี้เป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) (TIJ) และ The101.world

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save