fbpx

จับชีพจรกระบวนการยุติธรรมท่ามกลางการใช้อำนาจเกินขอบเขต: กรณีศึกษาอดีตผกก.โจ้

ภาพคลิปวิดีโอการสอบสวนผู้ต้องหาคดียาเสพติดจนถึงแก่ชีวิตในคดี พ.ต.อ.ธิติสรรค์ อุทธนผล หรืออดีตผกก.โจ้ สั่นสะเทือนความเชื่อมั่นของประชาชนต่อการทำหน้าที่ของพนักงานตำรวจ และการทำงานในกระบวนการยุติธรรมอย่างปฏิเสธไม่ได้

เสียงสะท้อนของสังคมที่ตั้งคำถามถึงการใช้อำนาจในการปฏิบัติหน้าที่อันเกินขอบเขตของเจ้าหน้าที่เป็นโจทย์สำคัญที่หลายภาคส่วนในสังคมต้องช่วยกันหาทางออก ภายใต้โจทย์ดังกล่าว สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ในฐานะหน่วยงานที่ทำงานด้านวิชาการเพื่อการปฏิรูปและปรับปรุงกระบวนการยุติธรรมทางอาญาจึงจัดทำแบบสอบถามออนไลน์เพื่อสำรวจความคิดเห็นและความเชื่อมั่นของประชาชนทั่วไปต่อกระบวนการยุติธรรมทางอาญา: การใช้อำนาจของตำรวจเพื่อค้นหาความจริงคดีอดีตผู้กำกับโจ้  และจัดงานเสวนาออนไลน์ TIJ Forum “ZOOM OUT อำนาจตำรวจ ส่องวิธีการ “เค้น” หาความจริง” เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2564 โดยมีผู้เข้าร่วมเสวนา ได้แก่ ผศ.ดร.ปารีณา ศรีวนิชย์ คณบดี คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันชัย รุจนวงศ์ กรรมการในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม และฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล ประธานกรรมการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เพื่อร่วมกันสำรวจปัญหาและหาทางออกและปรับปรุงระบบกระบวนการยุติธรรมไทย


เมื่อประชาชนไม่เชื่อมั่นกระบวนการยุติธรรม


ดร.พิเศษ สอาดเย็น ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย เริ่มต้นงานเสวนาด้วยการเปิดผลสำรวจออนไลน์เกี่ยวกับความคิดเห็นและความเชื่อมั่นของประชาชนต่อกระบวนการยุติธรรมทางอาญา: การใช้อำนาจของตำรวจเพื่อค้นหาความจริงคดีอดีตผู้กำกับโจ้ ซึ่งสำรวจในช่วงวันที่  2-5 กันยายนที่ผ่านมา

จากผลการสำรวจพบว่า ในจำนวนผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด 5,291 คน กว่าร้อยละ 86 ไม่เห็นด้วยกับการที่เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้ความรุนแรงเพื่อรีดความจริง นอกจากนี้ผลสำรวจยังสะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมลดลงจากเดิม กล่าวคือจากค่าคะแนนเต็ม 5 ได้ลดลงจากความเชื่อมั่น 2.01 คะแนนเหลือเพียง 1.29 คะแนนเมื่อทราบรายละเอียดคดี และลดลงเหลือเพียง 1.20 เมื่ออดีต ผกก.โจ้เข้ามอบตัว พร้อมแถลงรายละเอียดของเหตุการณ์ 

เสียงสะท้อนของผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 94 ยังให้ความเห็นว่าปัญหาการใช้ความรุนแรงดังกล่าวต้องได้รับการแก้ไขอย่างรวดเร็ว โดยต้องเร่งปรับปรุงกระบวนการสอบสวนคดีอาญาให้ดีขึ้นในทุกมิติ เรียงลำดับความสำคัญ 3 เรื่องแรก ได้แก่ 1. ควรปรับปรุงกลไกการตรวจสอบการปฏิบัติงานของตำรวจด้านการค้นหาความจริงในชั้นสอบสวน 2. ควรส่งเสริมให้บทบาทของพนักงานสอบสวนเป็นวิชาชีพเฉพาะและเป็นอิสระจากสายบังคับบัญชาปกติ 3. ควรสร้างกระบวนการที่ให้ภาคส่วนต่างๆ มีส่วนร่วมในการกำกับดูแลงานตำรวจ


บทบาทของเจ้าหน้าที่รัฐในกระบวนการยุติธรรม


“ในช่วงต้นเราอาจจะขยับมามองออกจากกรณีที่เกิดขึ้นเพื่อสะท้อนว่ามันมีปัญหาอะไรบ้างในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งพบว่าประเด็นความท้าทายในกระบวนการยุติธรรมเกิดจากปัญหาทั้งในเชิงโครงสร้าง ในเชิงระบบกฎหมาย วัฒนธรรม รวมทั้งทัศนคติของบุคคล” ปารีณา ศรีวนิชย์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เกริ่นในช่วงต้นของการเสวนาพร้อมปูพื้นฐานต่อยอดจากผลสำรวจความคิดเห็นของ TIJ ว่า แม้จะมีการกล่าวรวมถึงการสืบสวนสอบสวนในภาพรวม แต่บทบาทของตำรวจในกฎหมายไทยมีการแบ่งแยกระหว่างการ ‘สืบสวน’ และ ‘สอบสวน’ ออกจากกัน ในขณะเดียวกันก็มีความเกี่ยวข้องกัน

กล่าวคือเจ้าหน้าที่ตำรวจมีหน้าที่แสวงหาพยานหลักฐาน ขณะที่พนักงานสอบสวนมีหน้าที่รวบรวม ประมวลผลค้นหาความจริงจากพยานหลักฐาน ซึ่งพนักงานสอบสวนอาจจะแสวงหาพยานหลักฐานด้วยตัวเอง หรืออาจได้มาจากตำรวจที่ไปดำเนินการแสวงหาหลักฐานเข้ามา ก่อนที่จะทำสำนวนคดีและส่งต่อไปยังพนักงานอัยการ สำหรับกรณีคดีผกก.โจ้ที่เกิดขึ้น เป็นการคาบเกี่ยวระหว่างชั้นของการสอบสวน สะท้อนให้เห็นทัศนคติของเจ้าหน้าที่ในการแสวงหาพยานหลักฐานที่ยังให้ความสำคัญกับการเค้นหาความจริงจากพยานบุคคล เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถใช้ความรุนแรงเพื่อให้ได้หลักฐานมาดำเนินคดี โดยมองว่าเป็นการปกป้องเยาวชนและปราบปรามยาเสพติด

ปารีณาให้ความเห็นว่าประเทศไทยมีแนวความคิดที่มุ่งป้องกันปราบปรามรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคม (crime control) ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ในการควบคุม ป้องกัน รักษาความสงบบนพื้นฐานว่าประชาชนเชื่อใจในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ เชื่อว่าเจ้าหน้าที่จะทำงานโดยปราศจากแรงจูงใจที่จะทำร้ายประชาชน และเมื่อมีข้อผิดพลาดก็ถือว่าเป็นความผิดส่วนบุคคล (human error) ดำเนินการจัดการแยกเป็นกรณีไป แต่ในขณะเดียวกันก็มีอีกแนวความคิดที่เห็นว่าเจ้าหน้าที่รัฐเป็นมนุษย์ อาจเกิดข้อผิดพลาดจากอคติ ความประมาทได้ จึงต้องมีกระบวนการชอบด้วยกฎหมาย (due process) เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ โดยเพิ่มสิทธิของตัวผู้ต้องหาและประชาชนผ่านการบัญญัติกฎหมาย เช่น สิทธิในการมีทนาย สิทธิในการที่จะไม่ให้การอันเป็นปฏิปักษ์ต่อตัวเอง สิทธิในการได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าจะเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาของศาล เป็นต้น เพื่อยกระดับอำนาจต่อรองของผู้ต้องหาและจำกัดอำนาจหน้าที่ของรัฐบางส่วน

นอกจากนี้ ปัญหาของการแยกบทบาทของการสืบสวนสอบสวนพยานหลักฐานอันเป็นหน้าที่ตำรวจและพนักงานสอบสวน กับการพิจารณาสำนวนคดี ตรวจสอบและรวบรวมพยานหลักฐานของพนักงานอัยการอย่างเด็ดขาด ก็เป็นช่องโหว่สำคัญที่อาจกระทบต่อสิทธิของประชาชน กล่าวคือ บทบาทของอัยการส่วนใหญ่ได้รับพยานหลักฐานและสำนวนคดีจากตำรวจและพนักงานสอบสวน ดังนั้น กรอบดุลยพินิจของพนักงานอัยการก็จะถูกตีกรอบอยู่ในพยานหลักฐานที่ถูกรวบรวมไว้ในสำนวน ทำให้อาจเกิดกรณีที่พนักงานสอบสวนไม่ได้รวบรวมพยานหลักฐานมาเพียงพอ ทำให้พนักงานอัยการไม่สามารถสั่งฟ้องคดี แม้ในทางกฎหมายจะให้อำนาจอัยการในการสั่งสอบสวนเพิ่มเติมได้ แต่ในทางปฏิบัตินั้นอาจทำให้ระหว่างการดำเนินการพยานหลักฐานเสียหายก่อนนำมาพิจารณาคดี หรือเกิดกรณีการแสวงหาพยานหลักฐานด้วยวิธีการมิชอบในชั้นสืบสวนสอบสวน เป็นต้น


ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน


ปารีณาคิดเห็นเพิ่มเติมว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องปรับทั้งกระบวนการยุติธรรมเพื่อให้กฎหมายมีความเป็นธรรมและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้จริง โดยข้อเสนอแรก คือให้มีการปรับกระบวนการในการออกกฎหมายโดยใช้มุมมองใหม่ ซึ่งคำนึงถึงประชาชนเป็นศูนย์กลาง ไม่ใช่รัฐเป็นศูนย์กลาง คานอำนาจระหว่างการให้อำนาจรัฐในการคุ้มครองความปลอดภัยและการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของปัจเจกชน ออกแบบกระบวนการยุติธรรมให้กฎหมายเป็นเครื่องมือคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ไปพร้อมๆ กับการปกป้องสวัสดิภาพและความปลอดภัย

ข้อเสนอที่สอง คือการเพิ่มทางเลือกในการแสวงหาพยานหลักฐาน นอกเหนือจากการเค้นหาความจริงพยานบุคคล ไม่ว่าจะด้วยวิธีการทางนิติวิทยาศาสตร์ การใช้เทคโนโลยีต่างๆ มาช่วยในการเก็บหลักฐาน รวมไปถึงการใช้เทคนิคในการสอบสวนแบบที่เรียกว่าเป็นการค้นหาความจริง ซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐที่ทำงานในการแสวงหาพยานหลักฐานจะต้องได้รับการอบรมความรู้ใหม่ๆ พัฒนาทักษะที่จำเป็น ได้รับการสนับสนุนเครื่องมือในการแสวงหาพยานหลักฐาน รวมถึงปลูกฝังทัศนคติและวัฒนธรรมเกี่ยวกับการเคารพสิทธิมนุษยชน คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนให้กับเจ้าหน้าที่รัฐ

ข้อเสนอที่สาม ปรับระยะเวลาในการควบคุมตัวผู้ต้องหาเพื่อลดโอกาสการละเมิดสิทธิ เสนอให้มีการพิจารณาเรื่องระยะเวลาการควบคุมผู้ต้องหาบางกรณี เช่น กรณีผู้ต้องหายาเสพติดที่ให้อำนาจในการควบคุมตัว โดยยังไม่ต้องไปที่ทำการของพนักงานสอบสวน 3 วัน เสนอว่าอาจจะต้องมีการแยกประเภทคดียาเสพติดรายย่อย และยาเสพติดรายใหญ่ที่ต้องการขยายผลให้มีระยะเวลาควบคุมตัวต่างกัน เพื่อลดโอกาสที่จะเกิดการปฏิบัตินอกกรอบที่กฎหมายอนุญาต

ข้อเสนอที่สี่ ปรับตัวชี้วัดประสิทธิภาพการทำงานและปรับรางวัลสินบนนำจับในคดีที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด ตัวชี้วัดประสิทธิภาพการทำงานของตำรวจที่เป็นจำนวนคดี คือดาบสองคม ด้านหนึ่งกระตุ้นให้ทำงาน แต่อีกด้านกลับสร้างแรงจูงใจให้สร้างคดีขึ้นมาเพื่อบรรลุเป้าที่ถูกตั้งไว้ นอกจากนี้ เรายังต้องทบทวนมาตรการสร้างแรงจูงใจเจ้าพนักงานผ่านรางวัลนำจับในคดียาเสพติด โดยสินบนนำจับมีการให้ตามมูลค่าของกลาง เพราะที่ผ่านมาเปิดโอกาสให้เกิดการยัดคดี เพื่อแสวงหาประโยชน์ตามกฎหมาย

ข้อเสนอที่ห้า สร้างสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมต่อคนทำงานโดยปราศจากวัฒนธรรมอุปถัมภ์ หาแนวทางขจัดการแทรกแซงจากภายนอกและการเลือกปฏิบัติในกระบวนการยุติธรรม เพื่อคงไว้ซึ่งความศรัทธา ขณะเดียวกัน ต้องสร้างระบบที่ปกป้องเจ้าหน้าที่รัฐระดับปฏิบัติการ ทั้งในด้านความปลอดภัยและความมั่นคงในหน้าที่การทำงาน

ข้อเสนอที่หก เพิ่มการตรวจสอบและสร้างความโปร่งใส กระบวนการยุติธรรมควรมีการตรวจสอบถ่วงดุลซึ่งกันและกัน โดยเสนอให้พนักงานอัยการเข้ามามีส่วนรับรู้ในเรื่องการทำสำนวนสืบสวนตั้งแต่ต้น สามารถเข้ามาพิจารณาองค์ประกอบของความผิดต่างๆ และตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของพยานหลักฐานก่อนการยื่นฟ้องคดีต่อศาล รวมถึงในคดีที่เจ้าหน้าที่รัฐผู้เกี่ยวข้องกับการกระบวนการยุติธรรมทำผิดกฎหมาย ก็จำเป็นต้องถูกดำเนินคดีได้อย่างตรงไปตรงมา ส่วนคดีอาญาที่ไม่ได้มีหน่วยงานรับผิดชอบมาตรวจสอบโดยเฉพาะอาจจะให้หน่วยงานอื่นเข้ามาดำเนินการตรวจสอบ

ยิ่งไปกว่านั้น ปารีณามองว่าการตรวจสอบโดยภาคประชาชนยังเป็นกระบวนการหนึ่งที่สำคัญ เป็นการเพิ่มความโปร่งใส โดยหยิบยกกรณีศึกษาในหลายประเทศที่บังคับว่าให้มีการบันทึกเทประหว่างการสอบสวน เพื่อสะท้อนความชอบด้วยกฎหมายในการดำเนินการ

“ดิฉันยึดถือเสมอว่ากฎหมายควรจะเป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาสังคม แต่ที่ผ่านมากฎหมายถูกใช้เป็นเครื่องมือของรัฐที่อยู่เหนือประชาชน กฎหมายจะเป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาสังคมได้ต้องทำให้กฎหมายเป็นเครื่องมือของรัฐในการแก้ไขปัญหาสังคมเพื่อประชาชน” ปารีณากล่าว


ปรับทิศทางนโยบายและกฎหมายยาเสพติดให้ชัดเจนและตรงจุด


“ผมมองว่าคดีนี้เป็นส่วนหนึ่งเล็กๆ ในกระบวนการยุติธรรมระบบใหญ่ที่มันบิดเบี้ยว คดีนี้ไม่ใช่เรื่องแรก ไม่ใช่เรื่องเดียว แต่มีกระบวนการเช่นนี้เกิดขึ้นเป็นประจำและเป็นมานานแล้ว” วันชัย รุจนวงศ์ กรรมการในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม เอ่ยพร้อมพาลงลึกไปสำรวจในประเด็นยาเสพติด อันเป็นต้นตอสำคัญของคดีอดีตผกก. โจ้ โดยฉายภาพใหญ่ให้เห็นการดำเนินงานเชิงกฎหมายและนโยบายที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดในช่วงระยะเวลา 40 ปีที่ผ่านมาว่าประเทศไทยมีข้อผิดพลาดในการดำเนินนโยบายและส่งผลต่อการปราบปรามยาเสพติด

ที่ผ่านมาคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) เกิดขึ้นเพื่อทำหน้าที่สอบสวนและปราบปรามยาเสพติด โดยการผลักดันของสหรัฐอเมริกาและยุโรป เนื่องจากขณะนั้นประเทศไทยเป็นทางผ่านของเฮโรอีนก่อนเข้าสู่สหรัฐอเมริกาและยุโรป ขณะเดียวกันสำนักงานตำรวจก็มีการตั้งกองบัญชาการปราบปรามยาเสพติดขึ้นมาทำงานเพื่อป้องกันการผูกขาดเพียงองค์กรเดียว พร้อมๆ กับการรณรงค์ทางสังคมถึงโทษของการติดยาเสพติดที่ร้ายแรง ทำให้คนในสังคมถูกครอบงำด้วยทัศนคติว่าผู้ที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดเป็นผู้ร้ายร้ายแรง

วันชัยให้ความเห็นว่านโยบายและกฎหมายที่ผิดพลาดมีสองประการสำคัญ ประการที่หนึ่ง การไม่ได้แยกประเภทของยาเสพติด ซึ่งแต่ละประเภทมีระดับความอันตรายที่แตกต่างกัน และประการที่สอง การไม่ได้แยกผู้ค้ารายใหญ่และรายเล็ก กฎหมายในสมัยแรกเน้นการจับทั้งหมดทั้งผู้เสพและผู้ขายตามแบบสหรัฐอเมริกา โดยไม่ได้ดูข้อเท็จจริงว่าผู้เสพอาจจะติดยาเสพติดเนื่องจากปัญหาทางสังคม ข้อบกพร่องของกฎหมายยาเสพติดและนโยบายดังกล่าวทำให้มาตรการในการจับหรือปราบปรามยาเสพติดมีความรุนแรง พร้อมกับการให้อำนาจหน้าที่เจ้าหน้าที่ตำรวจมากมาย เช่น จับกุมได้โดยไม่ต้องมีหมายจับ ตรวจปัสสาวะโดยที่ไม่ต้องมีหมาย เข้าไปตรวจค้นโดยไม่ต้องมีหมาย สามารถควบคุมผู้ต้องสงสัยไว้ได้ 3 วันก่อนไปเริ่ม 48 ชั่วโมงเพื่อใช้อำนาจในการขยายผล อำนาจเหล่านี้มีเป้าหมายในการปราบปราบผู้ค้ารายใหญ่ แต่ในนโยบายและกฎหมายไม่ได้เขียนไว้ให้ชัดจึงกลายเป็นการเปิดโอกาสให้ใช้อำนาจเกินขอบเขต และหลายครั้งมีการใช้ประโยชน์จากการควบคุมตัวผู้ต้องสงสัย 3 วัน ต่อรองผลตอบแทน เพื่อจบคดีโดยที่ไม่มีการลงบันทึกประจำวัน

“กฎหมายอาญายาเสพติดเป็นกฎหมายที่ถูกละเมิด (abuse) มากที่สุด เพราะมันละเมิดได้ง่ายที่สุด ผู้ที่ถูกจับในคดียาเสพติดไปพูดอะไรก็ไม่มีคนเชื่อ มองว่าเป็นพวกขี้ยา ไม่น่าเชื่อถือ” วันชัยให้ความเห็น

สำหรับคดียาเสพติดเป็นปัญหาของกระบวนการยุติธรรมที่สำคัญ จากในสถิติของกรมราชทัณฑ์อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2564 รายงานว่ามีผู้ต้องขังอยู่ในเรือนจำ 240,807 คนในจำนวนนี้เป็นนักโทษยาเสพติด 199,257 คนหรือคิดเป็นร้อยละ 82.75%

วันชัยชี้ให้เห็นแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของผู้ต้องขังคดียาเสพติด และผู้ต้องขังส่วนใหญ่เป็นเพียงผู้ค้ารายย่อย ทั้งยังให้ความเห็นว่าการเน้นคุมขังผู้ต้องหาที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดทั้งหมดเป็นการดำเนินนโยบายที่ผิดพลาด ก่อให้เกิดการทำลายทรัพยากรมนุษย์ และสร้างอาชญากรเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

สำหรับข้อเสนอในการแก้ปัญหายาเสพติด วันชัยหยิบยกกรณีศึกษาจากในประเทศฝั่งยุโรปที่มีการแยกผู้ค้ารายย่อยและผู้ค้ารายใหญ่ เน้นใช้ทรัพยากรในการปราบปรามผู้ค้ารายใหญ่ และแก้ปัญหารายย่อยด้วยวิธีทางสังคม นอกจากนี้ยังเน้นย้ำถึงการปรับทัศนคติของประชาชนและผู้รักษากฎหมายที่จะต้องมองผู้ต้องคดียาเสพติดเป็นมนุษย์ผู้สมควรได้รับการคุ้มครองตามหลักสิทธิมนุษยชน 

“เราสูญเสียทรัพยากรมนุษย์ และทรัพยากรจำนวนมากในการปราบปรามและการดูแลผู้ต้องหาคดียาเสพติดที่อยู่ในคุก ปัญหาสำคัญคือทรัพยากรมนุษย์มีจำกัด ต่อไปประเทศไทยจะแข่งกับใครได้ ยาเสพติดเป็นเรื่องที่ทำให้กระบวนการยุติธรรมล้มเหลว ผู้ต้องขังล้นคุก ผมยืนยันว่าปัญหายาเสพติดที่ผ่านมาเป็นการแก้ไขปัญหาที่ผิดวิธี ผิดมาตลอด ถ้าแก้ไขปัญหาแบบเดิมๆ โดยหวังว่าผลมันจะไม่เหมือนเดิม ผมว่าโง่ครับ” วันชัยกล่าวทิ้งท้าย


อนุวัติการกฎหมาย – เพิ่มกลไกการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน


ฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล ประธานกรรมการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยและในฐานะนักวิชาการด้านกฎหมายสิทธิมนุษยชนให้ความเห็นว่า ภาพรวมปัญหาการซ้อมทรมานยังเป็นประเด็นปัญหาที่ไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเต็มที่นักในทั่วโลก จากข้อมูลสถิติพบว่ามีมากกว่า 140 ประเทศทั่วโลกที่ยังมีการซ้อมทรมาน รวมถึงประเทศไทย อย่างไรก็ดี ในระดับนานาชาติมีความพยายามหยุดยั้งการใช้ความรุนแรงที่ยอมรับไม่ได้ โดยมีอนุสัญญาสำคัญในการยุติการใช้กำลังความรุนแรงนอกกฎหมาย ได้แก่  อนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯ (Convention against Torture and Other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment : CAT) และ อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้หายสาบสูญ (International Convention for the Protection of all Persons from Enforced disappearance : CED)

นอกจากนี้ยังมีกระบวนการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนหรือที่เรียกว่า Universal Periodic Review (UPR) เป็นกลไกภายใต้คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Human Rights Council หรือ HRC) ให้ประเทศสมาชิกสหประชาชาติทั้ง 193 ประเทศ จัดทำรายงานทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศ

สำหรับประเทศไทยถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในการนำเสนอรอบที่สอง ปี พ.ศ. 2559 ถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชน และหลายประเทศได้เสนอแนวทางในการปรับปรุง โดยประเด็นสำคัญคือการอนุวัติการ (implementation) กฎหมายภายในตามอนุสัญญาระหว่างประเทศ แต่จนถึงวันนี้ประเทศไทยอาจถือว่าไม่ได้มีพัฒนาการที่ดีนัก เนื่องจากยังไม่มีกฎหมายต่อต้านการซ้อมทรมานและป้องกันการถูกบังคับสูญหายอย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงกฎหมายพิจารณาความอาญาที่เกี่ยวข้องก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข แต่มีพัฒนาการที่น่าสนใจคือเรื่องร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ซึ่งผ่านมติเห็นชอบวาระที่ 1 ไปเรียบร้อย ฐิติรัตน์ตั้งข้อสังเกตว่าร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้อาจจะเป็นแรงผลักดันจากผู้คนในสังคมที่ถูกกระตุ้นด้วยกรณีอดีตผกก. โจ้ และผลสำรวจของ TIJ ที่ทำให้เห็นว่าคนในสังคมรับไม่ได้กับการใช้ความรุนแรงที่กฎหมายไม่ได้รับรอง

ฐิติรัตน์คิดเห็นคล้ายคลึงกับปารีณา ในประเด็นที่ว่ากฎหมายไทยมักให้ความสำคัญกับการรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคม (crime control) จึงให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐในการแทรกแซงเสรีภาพของประชาชนบางประการเพื่อประโยชน์สาธารณะ เช่น การจับกุม คุมขัง หรือการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคล เป็นต้น แต่การใช้อำนาจดังกล่าวต้องมีความชอบด้วยกระบวนการทางกฎหมาย (due process) กล่าวคือ กฎหมายกำกับว่าการใช้ความรุนแรงนั้นเป็นเหตุจำเป็น และใช้ความรุนแรงให้น้อยที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ความรุนแรงจึงจะสิ้นสุดที่คำสั่งของศาล ในขณะที่ก่อนหน้านั้นเป็นการแทรกแซงสิทธิในระดับที่ต้องเป็นไปเท่าที่จำเป็นเพื่อแสวงหาข้อเท็จจริงเท่านั้น

ส่วนสาเหตุที่ประชาชนยอมให้เจ้าหน้าที่รัฐแทรกแซงสิทธิเสรีภาพ ก็เนื่องด้วยความไว้วางใจของคนในสังคม (trust) ว่าเจ้าหน้าที่รัฐสามารถใช้อำนาจเหล่านี้ในการแสวงหาความจริงที่นำมาซึ่งความสงบสุข และการป้องกันอาชญากรรมร้ายแรงในสังคม หลักการสำคัญจึงต้องพิจารณาว่าประชาชนให้เจ้าหน้าที่รัฐใช้อำนาจนี้ไปเพื่อปกป้องคนทั้งสังคม ไม่ใช่แค่เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ของการแสวงหาความจริงเพียงอย่างเดียว

อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่เกิดขึ้นคือหากไม่มีความชอบกระบวนการทางกฎหมาย (due process) ในการใช้ความรุนแรงทั้งในกระบวนการสืบสวนสอบสวน หรือกระบวนการยุติธรรมอื่นๆ จะส่งผลทำให้คนในสังคมเกิดความไม่เชื่อมั่นต่อการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐ เกิดความเหลื่อมล้ำในกระบวนการยุติธรรม เนื่องจากประชาชนเห็นว่าการใช้อำนาจเส้นสายจะทำให้เข้าถึงความยุติธรรม และประการสุดท้าย ทำให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนและสิทธิอื่นๆ ตามมา เช่น การละเมิดสิทธิในการต่อสู้คดี การละเมิดสิทธิในเนื้อตัวร่างกาย รวมไปถึงทำให้เกิดการคอร์รัปชันภายในกระบวนการยุติธรรม การใช้อำนาจเกินขอบเขต (Arbitrary) โดยขาดความคงเส้นคงวา และทำให้เกิดการพ้นผิดลอยนวลจากการใช้อำนาจเกินขอบเขต (Impunity) เนื่องจากขาดการตรวจสอบจากองค์กรอื่น และขาดความโปร่งใส สิ่งเหล่านี้ทำให้สังคมเกิดสภาวะปั่นป่วน เนื่องจากรัฐจะไม่มีความชอบธรรมอีกต่อไปในการผูกขาดความรุนแรงเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคม

ฐิติรัตน์เสนอว่าทางออกที่หลายประเทศเห็นชอบไปในทิศทางเดียวกัน หากกล่าวอย่างสรุปคือป้องกันไม่ให้เกิดการใช้ความรุนแรงโดยปราศจากความชอบด้วยกฎหมาย (due process) โดยต้องพูดให้ชัดว่า “ห้ามทรมาน ห้ามบังคับสูญหาย ห้ามรับฟังพยานหลักฐานที่ได้มาด้วยวิธีมิชอบ” และต้องมีอย่างน้อยสองกลไกในการแก้ปัญหา ประการแรก กลไกตรวจสอบ (oversight) ได้แก่ 1) การบันทึกกระบวนการทำงานเพื่อใช้ในการตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งระเบียบภายในของเจ้าหน้าที่ตำรวจมีการกล่าวถึงประเด็นนี้อยู่แล้ว แต่เสนอให้มีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยให้การบันทึกของเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นไปได้ง่าย มีทิศทางเดียวกัน และคงเส้นคงวามากขึ้น 2) การตรวจสอบโดยองค์กรอื่น อาจจะต้องเข้ามาตรวจสอบนอกกระบวนการหรือในกระบวนการที่มีความเกี่ยวข้องกันด้วยกันเอง เช่น อัยการต้องมาตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่สอบสวนว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และตรงกับบันทึกกระบวนการหรือไม่ เป็นต้น 3) การมีส่วนร่วมของประชาชนที่จะเข้ามาช่วยแรงกดดัน ทำให้หน่วยงานอื่นๆ เข้ามาตรวจสอบเพิ่มเติมได้

ประการที่สอง สร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการทำงาน (healthy ecosystem) มอบเครื่องมือในการทำงานสืบสวนสอบสวนอื่นๆ ที่เป็นทางเลือกใหม่ และเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจของเจ้าหน้าที่ เพิ่มผลตอบแทนตามภารกิจหลัก ไม่ใช่ตามรางวัลนำจับ เพื่อให้กลไกตลาดดึงคนเก่งเขามาทำงาน เกิดการพัฒนาศักยภาพให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

สำหรับระยะสั้น ฐิติรัตน์เสนอให้มีการติดอาวุธให้กับประชาชนเรื่องความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิทางกฎหมาย สนับสนุนให้คนเข้าใจเรื่องสิทธิเสรีภาพของตัวเองได้อย่างถูกต้อง เพื่อเพิ่มอำนาจในการตรวจสอบ โดยมีทนายและสภาทนายความให้ความช่วยเหลือเกี่ยวกับความรู้ทางกฎหมาย พร้อมกับย้ำว่า เมื่อมีการร้องเรียนว่ามีการซ้อมทรมาน หรือมีอะไรที่ขัดต่อกระบวนการเกิดขึ้น ภาระการพิสูจน์เป็นของภาครัฐที่ต้องอธิบายข้อกล่าวหานั้นให้ได้ เพื่อสะท้อนความโปร่งใส ตรวจสอบได้ในกระบวนการยุติธรรม


ผลงานชิ้นนี้เป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) (TIJ) และ The101.world

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save