fbpx

เปลี่ยนความคิด-ปรับอำนาจ ร่วมสร้างกระบวนการยุติธรรมไทยให้ดีกว่าเดิม

นับตั้งแต่คดีของทายาทบริษัทหรูมาจนถึงภาพคลิปวิดีโอการสืบสวนผู้ต้องหาจนถึงแก่ความตายของอดีตผู้กำกับคนหนึ่ง ปฏิเสธไม่ได้ว่ากระบวนการที่ควรจะทำหน้าที่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพ เป็นตาข่ายรองรับและสร้างหลักประกันให้ความปลอดภัยให้ประชาชนกลับมีปัญหาเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง นำไปสู่การตั้งคำถามจากสังคมและเสียงเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงหรือปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมไทย

แต่อย่างที่เรารู้กันดี ปัญหาในกระบวนการยุติธรรมไทยไม่ใช่ปัญหาที่จะแก้ได้ภายในวันหรือสองวัน และไม่มียาวิเศษใดที่จะแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ทันตาเห็น อีกทั้งเมื่อพูดถึงกระบวนการยุติธรรม เราไม่ได้พูดถึงแค่ตัวระบบหรือขั้นตอนต่างๆ แต่เรากำลังพูดรวมถึงคนจำนวนมากในนั้น ทั้งเจ้าหน้าที่ในกระบวนการและผู้ที่ได้รับผลกระทบจากกระบวนการ รวมไปถึงประชาชนธรรมดาที่ต้องพึ่งพากระบวนการยุติธรรมเช่นกัน ปัญหานี้จึงมีความซับซ้อนมากกว่าที่คิด ทำให้หลายครั้ง การแก้ปัญหาก็อาจจะเริ่มต้นจากการถอยออกมา พินิจพิจารณาให้ถี่ถ้วนและรอบคอบ ก่อนที่จะเริ่มต้นแก้ปัญหาอะไรสักอย่างหนึ่ง

ในห้วงยามที่กระบวนการยุติธรรมสั่นคลอนและมีเสียงเรียกร้องให้ปฏิรูปหรือปรับระบบ 101 ชวนอ่านทัศนะจากผู้มีประสบการณ์ในกระบวนการยุติธรรม – ขั้นตอนการทำงานในกระบวนการยุติธรรมเป็นอย่างไร เราจะพากระบวนการยุติธรรมออกจากหล่มที่ติดมานานได้อย่างไร และไม่ใช่แค่การแก้ปัญหา แต่อาจมองไปไกลถึงการสร้างกระบวนการยุติธรรมใหม่ที่ดีขึ้นกว่าเดิม และเป็นที่ยึดมั่นถือมั่นของประชาชนได้อย่างแท้จริง


เปิดภาพกว้างกระบวนการยุติธรรมไทย – ดร.พิเศษ สอาดเย็น

ดร.พิเศษ สอาดเย็น ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ)


“การใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐหรือตำรวจในการค้นหาความจริงต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไข ข้อจำกัด และมีความท้าทายต่างๆ แต่ที่ปฏิเสธไม่ได้คือ หลายครั้งก็มีการใช้อำนาจเกินขอบเขตที่กฎหมายให้ไว้”

ดร.พิเศษ สอาดเย็น ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) เกริ่นนำ พร้อมเน้นย้ำถึงความสำคัญของกลไกเพื่อแสวงหาความจริงมาให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะนี่เป็นต้นทางของกระบวนการยุติธรรมหลัก

ดร.พิเศษยังชี้ให้เห็นภาพกว้างในกระบวนการยุติธรรม โดยขั้นตอนในกระบวนการยุติธรรมจะเริ่มที่ตำรวจ ซึ่งเป็นบุคลากรที่ทำงานใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด มีอำนาจในการสืบสวน สอบสวน รวบรวมพยานหลักฐาน นำไปสู่ขั้นตอนการทำสำนวนหลักฐานว่าผู้ต้องสงสัยผิดหรือไม่ บุคลากรอีกกลุ่มหนึ่งคืออัยการที่ทำหน้าที่รวบรวมสำเนาของพนักงานสอบสวนและใช้ดุลยพินิจว่าจะสั่งฟ้องหรือไม่ และถ้าเกิดการสั่งฟ้องแล้ว เรื่องจึงจะเข้าสู่ชั้นศาลและเข้าสู่ขั้นตอนการบังคับโทษต่อไป


สองอำนาจเชิงโครงสร้างในกระบวนการยุติธรรม – ปกป้อง ศรีสนิท

รศ.ดร.ปกป้อง ศรีสนิท อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


เมื่อพูดถึงอำนาจเชิงโครงสร้างในกระบวนการยุติธรรม รศ.ดร.ปกป้อง ศรีสนิท อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ฉายภาพว่า เราต้องแยกออกเป็นสองส่วนใหญ่ๆ ส่วนแรกคือการใช้อำนาจในกระบวนการยุติธรรมที่เกี่ยวกับการดำเนินงานตามหน้าที่หรือคดีต่างๆ ซึ่งกระทบกับสิทธิเสรีภาพประชาชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และส่วนที่สองคือ อำนาจเชิงโครงสร้างในองค์กรกระบวนการยุติธรรมเอง เช่น การเข้าสู่ตำแหน่ง เลื่อนขั้น โยกย้าย รวมถึงในเชิงลบอย่างการพิจารณาลงโทษการกระทำที่มิชอบและการลงโทษทางวินัย เป็นต้น

“ผมคิดว่าทั้งสองส่วนนี้เกี่ยวข้องกัน เพราะถ้าเราสามารถทำให้สองส่วนนี้ดีไปพร้อมกันได้ ผมก็เชื่ออย่างยิ่งว่ากระบวนการยุติธรรมน่าจะสอดคล้องกับหลักสากลและบรรลุวัตถุประสงค์สูงสุดคือการรักษาความสงบเรียบร้อยในสังคมและคุ้มครองสิทธิประชาชนอย่างได้สัดส่วน”

เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น ปกป้องเริ่มจากการยกตัวอย่างการใช้อำนาจเชิงโครงสร้างของตำรวจ ทั้งฝ่ายปกครองที่ทำหน้าที่สืบสวนคดีอาญา และพนักงานสอบสวนที่มีอำนาจในการสอบสวน พร้อมทั้งชี้ให้เห็นว่า กรณีเหล่านี้เป็นกรณีที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ตำรวจต้องใช้อำนาจ เพราะการดำเนินการในกระบวนการยุติธรรมอยู่บนพื้นฐานการใช้อำนาจ คำถามสำคัญจึงอยู่ที่ว่า จะทำอย่างไรให้การใช้อำนาจสามารถรักษาสมดุลซึ่งเป็นพื้นฐานของกระบวนการยุติธรรมได้

“ผมว่า ‘พื้นฐาน’ ที่พูดถึงเป็นหลักสากลทั่วโลก คือการรักษาสมดุลระหว่างการคุ้มครองสังคมและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน พูดให้ชัดขึ้นคือ เวลาตำรวจใช้อำนาจหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมจับ ค้น ดำเนินคดี หรือสืบสวนสอบสวน ทั้งหมดต้องอยู่บนหลักพื้นฐานของกระบวนการยุติธรรม คือทั้งรักษาความสงบเรียบร้อยและหาผู้กระทำผิดมาดำเนินคดี อีกทั้งยังต้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพประชาชนในทุกขั้นตอน”

อย่างไรก็ดี ปกป้องชี้ให้เห็นว่าเรื่องดังกล่าวอาจจะฟังดูย้อนแย้งในตัวเองเช่นกัน นี่จึงเป็นความท้าทายสำคัญที่ทั้งตัวกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายต้องรักษาสมดุลไว้ และยังมีการคุ้มครองทางสังคมที่องค์กรในกระบวนการยุติธรรมควรยึดถือ ไม่ว่าจะเป็นการค้นหาความจริงในคดีอาญา เพื่อให้ผู้กระทำผิดได้รับการลงโทษอย่างได้สัดส่วน และการดำเนินคดีที่รวดเร็ว

“การทำหน้าที่ของคนในกระบวนการยุติธรรมต้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพประชาชนในทุกขั้นตอนด้วย” ปกป้องเน้นย้ำ พร้อมทั้งยกตัวอย่างหลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์เสมอ (presumption of innocence) ซึ่งเป็นหลักสากล ตำรวจก็ต้องยึดหลักนี้ ทำให้เราเห็นว่าในหลายประเทศ ตำรวจจะยังไม่รีบแจ้งข้อกล่าวหาและดำเนินคดีจนกว่าจะมีหลักฐานชัดเจนมากจริงๆ

นอกจากนี้ อีกหนึ่งหลักสำคัญคือการให้สิทธิต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ เช่น สิทธิที่จะมีทนาย สิทธิที่จะได้รับการแจ้งข้อกล่าวหา ซึ่งมีอยู่แล้วในประมวลวิธีพิจารณาความอาญาของไทย ดังนั้น ถ้าตำรวจยึดมั่นตามหลักประมวลวิธีพิจารณาความอาญาก็เท่ากับเป็นการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพประชาชนตามมาตรฐานแล้ว

เมื่อมีสิทธิที่ต้องทำแล้วก็ย่อมต้องมีสิทธิที่ห้ามทำเด็ดขาด โดยปกป้องยกตัวอย่างสิทธิเด็ดขาดที่ตำรวจห้ามทำไม่ว่าด้วยสาเหตุใด คือห้ามทรมาน ห้ามบังคับคนให้สูญหาย และห้ามฆ่านอกกฎหมาย

นอกจากตำรวจ อัยการเป็นอีกหนึ่งเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมที่ทำงานเกี่ยวข้องกับตำรวจ โดยปกป้องยกตัวอย่างระบบตรวจสอบในกรณีที่อัยการซึ่งเป็นตัวแทนรัฐสั่งไม่ฟ้อง มีกรณีที่น่าสนใจคือกรณีศึกษาในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีคณะกรรมการประชาชนคอยตรวจสอบคดีที่อัยการสั่งไม่ฟ้อง และหากคณะกรรมการฯ เห็นว่าคดีนี้ควรสั่งฟ้องก็สามารถแย้งอัยการกลับไปได้

“ตัวอย่างนี้น่าสนใจมาก เพราะเป็นเรื่องการเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบการใช้อำนาจของอัยการ” ปกป้องกล่าว พร้อมทั้งชี้ให้เห็นว่า แม้ในบางประเทศจะมีกฎหมายให้ผู้เสียหายฟ้องเองอยู่แล้ว แต่อย่าลืมว่ามีคดีอาญาหลายคดีที่ไม่มีผู้เสียหาย เป็นคดีต่อรัฐ ทำให้เรื่องจบได้ทันทีเพราะไม่มีคนคอยตรวจสอบ

สุดท้ายคือเรื่องของศาล ซึ่งใครหลายคนอาจจะมองว่าศาลไม่จำเป็นต้องได้รับการตรวจสอบโดยอ้างเรื่องความเป็นอิสระของตุลาการ ซึ่งปกป้องเห็นว่า จริงอยู่ที่คนในประเทศมีสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีอาญาโดยศาลที่มีอิสระ เที่ยงธรรม ปราศจากการถูกแทรกแซงใดๆ แต่ความอิสระไม่ใช่การตรวจสอบไม่ได้ และการทำหน้าที่โดยอิสระของศาลกับการมีส่วนร่วมของประชาชนในระบบศาลก็เป็นคนละเรื่อง ศาลจึงยังสามารถดำรงความเป็นอิสระและได้มาตรฐานสากลไว้ พร้อมกับเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมไปพร้อมๆ กัน

เพื่อให้เห็นภาพการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนชัดเจนขึ้น ปกป้องฉายภาพ 2 ตัวอย่างที่น่าสนใจ ตัวอย่างแรกคือการใช้ระบบลูกขุน และตัวอย่างที่สองคือการจัดทำและเปิดเผยแนวทางการลงโทษของศาล เช่นในอังกฤษ มีการวางแนวโทษกว้างๆ ให้ศาลใช้ดุลยพินิจให้เข้ากับกรณี และยังมีการรับฟังความเห็นของประชาชนรวมถึงเปิดเผยให้ประชาชนทั่วไปรับรู้ด้วย

“กระบวนการยุติธรรมในต่างประเทศเปิดให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วม ทำให้บุคลากรในกระบวนการยุติธรรมกับประชาชนเป็นมิตรกันมากๆ ต่างจากบ้านเราที่เป็นการรวมศูนย์อำนาจจนขาดมิติการยึดโยงกับประชาชนไป” ปกป้องทิ้งท้าย


คนที่มีอำนาจต้องมีประชาชนอยู่ในใจ มองว่าประชาชนเป็นนายของเขา – วิพล กิติทัศนาสรชัย

วิพล กิติทัศนาสรชัย ผู้อำนวยการ สำนักงานวิจัยกฎหมายอาญาและพัฒนากระบวนการยุติธรรม สถาบันนิติวัชร์ สำนักงานอัยการสูงสุด


ในฐานะผู้ที่มีบทบาทและทำงานในกระบวนการยุติธรรมมายาวนาน วิพล กิติทัศนาสรชัย ผู้อำนวยการ สำนักงานวิจัยกฎหมายอาญาและพัฒนากระบวนการยุติธรรม สถาบันนิติวัชร์ สำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวต่อจากปกป้องว่า ตัวอย่างหลายข้อที่มีการพูดถึงได้ถูกนำมาปรับใช้ในประเทศไทยแล้ว แต่ก็ยังมีหลายส่วนที่ชวนให้ขบคิดต่อไปว่า ควรจะนำมาใช้เพิ่มเติมหรือไม่ อย่างไร

“ในประเทศพัฒนาแล้ว เวลาเกิดคดีอื้อฉาวอะไรจะมีการศึกษา วิเคราะห์ หาสาเหตุเชิงโครงสร้าง คือถอยออกมามองปัญหา เพราะบางทีการอยู่ใกล้เกินไปก็ไม่เห็นปัญหา ทำให้ใช้วิธีซ่อมเป็นจุดๆ แทนที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรที่มีนัยสำคัญ”

วิพลชี้ให้เห็นว่า ถ้ามองกันตามข้อเท็จจริง บุคลากรในกระบวนการยุติธรรมก็คือมนุษย์คนหนึ่งที่มาประกอบอาชีพเพื่อเลี้ยงตนเองและครอบครัว และเมื่อเป็นมนุษย์ ไม่ว่าเป็นใครก็ย่อมมีเรื่องประโยชน์ส่วนตนเข้ามาเกี่ยว แต่คำถามสำคัญคือ จะทำอย่างไรให้มนุษย์ที่มุ่งกระทำการเพื่อประโยชน์ส่วนตน แต่มีหน้าที่ทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ทำงานได้สอดคล้องและไปด้วยกัน ไม่คำนึงถึงประโยชน์ส่วนตนมากกว่าส่วนรวม

“เวลามีเรื่องอื้อฉาวในองค์กรหนึ่งๆ ก็ต้องยอมรับว่าอย่างหนึ่งว่าทุกองค์กรมีทั้งคนดีและคนไม่ดีปะปนกันไป แต่บางทีสิ่งที่ไม่ดีคือโครงสร้างองค์กร หรือบางทีก็เป็นอะไรที่ใหญ่กว่านั้นคือสภาพแวดล้อม สังคม เราจึงต้องมองไปถึงระบบการเมือง สังคม วัฒนธรรม ไปถึงคุณค่าและค่านิยมในสังคม”

“สิ่งสำคัญที่สุดคือ คนที่มีอำนาจต้องมีประชาชนอยู่ในใจ มองว่าประชาชนเป็นนายของเขา มิเช่นนั้นต่อให้จะเอาระบบที่ดีมาใช้แค่ไหนก็อาจจะไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงเหมือนที่เราหวัง”

เพื่อปรับเปลี่ยนระบบให้ดีขึ้น วิพลเสนออย่างหนึ่งว่าต้องปรับเปลี่ยนให้คนทำงานมีแรงจูงใจที่ถูกมาตรฐานและถูกทำนองคลองธรรม มีระบบการตรวจสอบที่ดี โปร่งใส และหากมีการตัดสินอะไรคนทำงานโดยคณะกรรมการภายใน ก็ควรจะเผยแพร่บันทึกและรายงานการประชุมให้คนนอกได้รับรู้ด้วย

ข้อเสนอที่น่าสนใจอย่างหนึ่งของวิพลคือ การนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้กระบวนการทำงาน โดยเป็นระบบที่จะสามารถบันทึกข้อมูลทุกอย่างแบบ real-time ในฐานข้อมูล หากตำรวจต้องการส่งข้อมูลให้อัยการก็สามารถส่งเป็นไฟล์จากฐานข้อมูลได้เพื่อให้เกิดความลื่นไหลและความโปร่งใสในการทำงาน

“เทคโนโลยีอาจจะเข้ามาช่วยเปลี่ยนพฤติกรรมในการทำงานให้อยู่ในกรอบมากขึ้นพอสมควร และถ้าเราลงทุนด้านเทคโนโลยี ประชาชนมองว่าจะได้ประโยชน์ สิ่งนี้อาจจะคุ้มค่าและทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ขึ้น” วิพลทิ้งท้าย


ประสบการณ์ (เลี่ยง) กฎหมาย: เมื่อประชาชนต้องตกอยู่ภายใต้อำนาจรัฐ – ศิริกาญจน์ เจริญศิริ

ศิริกาญจน์ เจริญศิริ ทนายความ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน


หนึ่งในผู้ร่วมเสวนาที่มีบทบาทใกล้ชิดประชาชนมากที่สุดคือ ศิริกาญจน์ เจริญศิริ ทนายความ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ซึ่งฉายภาพจากประสบการณ์การทำงานจริงให้เราเห็นว่า แม้เราจะคาดหวังให้ผู้บังคับใช้กฎหมายต้องแจ้งผู้ต้องหาหรือจำเลยเรื่องสิทธิตามกฎหมายของประชาชนอยู่แล้ว แต่ในทางปฏิบัติจริงยังพบว่ามีการเลี่ยงกฎหมายอยู่

“หลายครั้งที่เราพบการจับกุมตัว ฝากขัง หรือส่งเข้าเรือนจำ ก่อนการสั่งฟ้องด้วยซ้ำ หรืออย่างเรื่องสิทธิในการพบทนายความซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก การให้ผู้ต้องหาเข้าถึงทนายความจะเป็นการคุ้มครองสิทธิอย่างหนึ่งโดยไม่ขัดกับวัตถุประสงค์การรักษาความสงบเรียบร้อย แต่หลายครั้งที่ตำรวจไม่ให้ทนายเข้า และระหว่างนั้นก็มีการยึดมือถือหรือให้ข้อมูลผู้ต้องสงสัยโดยที่เขายังไม่ทราบผลทางกฎหมายจนนำมาสู่การดำเนินคดีในที่สุด”

ทั้งนี้ แม้จะเข้าถึงทนายความได้แล้ว แต่ปัญหาอีกอย่างคือแม้การสื่อสารข้อมูลระหว่างทนายกับลูกความควรจะเป็นความลับ แต่ในความเป็นจริง หลายครั้งที่ผู้ต้องหาไม่สามารถปรึกษากับทนายได้เต็มที่

อีกปัญหาหนึ่งคือการควบคุมตัว ซึ่งศิริกาญจน์ชี้ว่ามีปัญหาที่เกิดจากการควบคุมโดยมิชอบหลายแบบ เช่น การอ้างกฎหมายพิเศษต่างๆ ทำให้เกิดคำถามถึงข้อคุ้มครองของผู้ต้องสงสัยที่เข้าถึงทนายหรือติดต่อโลกภายนอกไม่ได้

“เราเคยได้ยินประโยคหนึ่งจากประชาชนทั่วไปที่บอกว่า เขารู้สึกตัวเล็กและโดดเดี่ยวมากเมื่อต้องอยู่ภายใต้อำนาจรัฐ ไม่รู้จะพึ่งหรือถามใครได้ ก็ต้องยอมจำนนและทำตามสิ่งที่เจ้าหน้าที่บอกว่าจะเป็นผลดีต่อตนเอง”

“ดังนั้น เวลาเราพูดเรื่องอำนาจของบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม เราอยากให้มองในส่วนที่ว่า ใครจะเข้าไปเป็นผู้ปกป้องคุ้มครองคนที่ตกอยู่ใต้อำนาจรัฐอีกทีด้วย” ศิริกาญจน์ทิ้งท้าย


ปรับระบบ สร้าง mindset ใหม่ให้คนทำงาน – พีระพัฒน์ มังคละศิริ

ร.ต.อ.พีระพัฒน์ มังคละศิริ อาจารย์ประจำคณะตำรวจศาสตร์ โรงเรียนนายร้อยตำรวจ


สำหรับวิทยากรท่านสุดท้าย ร.ต.อ.พีระพัฒน์ มังคละศิริ อาจารย์ประจำคณะตำรวจศาสตร์ โรงเรียนนายร้อยตำรวจ ซึ่งมีโอกาสได้ทำงานร่วมกับบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมที่หลากหลาย มองว่า เราต้องแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างในระยะยาว และก้าวข้ามผ่านโครงสร้างนี้ออกไปให้ได้

“ประเทศไทยมีลักษณะรวมศูนย์อำนาจ ข้อดีคือรวดเร็ว ส่วนข้อเสียคือตรวจสอบยาก เช่น เวลามีคำสั่งแต่งตั้งโยกย้ายจากศูนย์กลาง เราอาจจะไม่รู้เลยว่าคนๆ นี้มีความเหมาะสมจะทำหน้าที่นี้หรือไม่”

พีระพัฒน์เล่าย้อนไปถึงช่วงปี 2557 ที่มีการทุบแท่งพนักงานสอบสวนเพื่อเอื้อให้แต่ละสายงานทำงานสลับไปมา เช่น รองสารวัตรสอบสวนอาจจะเติบโตที่สายอำนวยการแทนได้ ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ คนทำงานจะเกิดการขาดตอนความเชี่ยวชาญนั้นๆ ขณะที่ในต่างประเทศ เช่น อังกฤษ ตำรวจจะเติบโตในสายงานหนึ่งๆ และมีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ยิ่งไปกว่านั้น ถ้าบอกว่าเป็นสายงานสืบสวนก็จะแยกชัดลงไปว่าสืบสวนด้านไหน

“เราเลี่ยงไม่ได้ว่าตรงนี้เป็นปัญหาจริงๆ เพราะทุกคนย่อมอยากเติบโต มีเส้นทางอาชีพ แต่บางคนต้องไปโตที่อื่นและต้องเรียนรู้ใหม่หมด และแม้จะมีคนเชื่อมั่นว่าตำรวจทำงานที่ไหนหรือทำงานอะไรก็ได้ แต่ผมมักจะสอนนักเรียนอยู่เสมอว่า ความเชี่ยวชาญในเรื่องใดเรื่องหนึ่งสำคัญ เพราะในการอำนวยความยุติธรรมให้ประชาชน ความยึดโยงกับประชาชนเป็นเรื่องสำคัญ”

เมื่อพูดถึงเรื่องความยึดโยงกับประชาชน พีระพัฒน์ยกตัวอย่างประเทศที่ยึดโยงกับประชาชนมากๆ อย่างเยอรมนี โดยถ้าย้อนกลับไปหลังช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เยอรมนีมีปัญหาเชิงโครงสร้างในกระบวนการยุติธรรมเช่นกัน และตำรวจก็กลายเป็นอาชีพหนึ่งที่คนเยอรมันเกลียดมากที่สุด แต่หลังจากนั้นมีการปรับโครงสร้างให้ยึดโยงกับประชาชนเป็นหลัก เวลามีการแต่งตั้งโยกย้ายจึงจะมีตัวแทนจากประชาชนหรือคนจากองค์กรอิสระ รวมถึงหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมอื่นๆ เข้าไปร่วมในการแต่งตั้งด้วย

“ถ้าจะแก้ปัญหาของไทยต้องมาดูเป็นเปลาะๆ ไป คนมักจะพูดถึงการเพิ่มประสิทธิภาพ ใส่นั่นนี่เข้ามา มองว่าตรงนั้นตรงนี้ไม่ชัดเจน แต่มีปัญหาที่เป็นปัญหาจริงๆ เป็นปัญหาที่มักถูกมองข้ามและคนไม่กล้าพูดถึงคือปัญหาเชิงโครงสร้าง”

เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น พีระพัฒน์ยกตัวอย่างคนทำงาน 3 ประเภท ประเภทแรกคือคนที่ตั้งใจทำงานและเจ้านายเห็น ประเภทที่สองคือคนที่ตั้งใจทำงานแต่เจ้านายไม่เห็น ทำให้อาจจะยากที่จะเจริญเติบโตในหน้าที่การงาน และประเภทสุดท้ายคือคนใกล้ชิดที่เจริญเติบโตในหน้าที่การงานแน่นอน ซึ่งเขามองว่า เราต้องนำปัญหาตรงนี้มาพูดเพื่อจะนำไปสู่การพัฒนาจริงๆ รวมถึงสร้าง mindset ว่าเรื่องเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้องแต่อย่างใด

“ผมเชื่อว่าเวลาอยู่ข้างเราเสมอ เวลาจะเวียนไปแน่นอน แต่ระหว่างทางเป็นสิ่งที่เราต้องสร้างมันขึ้นมาเอง”

ในตอนท้าย พีระพัฒน์กล่าวถึงการนำเทคโนโลยีมาใช้ โดยเขากล่าวว่าในการป้องกันอาชญากรรม กล้องวงจรปิดเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะกล้องจะทำให้เห็นภาพเดียว จึงควรออกเป็นนโยบายให้ในห้องสืบสวนต้องติดกล้องวงจรปิด และสามารถตรวจสอบโดยภาคประชาชนได้ด้วย

“อีกเรื่องที่น่าสนใจคือ blockchain เพราะถ้านำมาใช้จริงๆ เราจะสามารถระบุได้เลยว่าข้อมูลนี้ไปไหน ใครใช้ข้อมูลนี้ เป็นอะไรที่ทุกคนตรวจสอบได้ เป็นการสร้างกระบวนการยุติธรรมที่โปร่งใสอย่างแท้จริง” พีระพัฒน์ทิ้งท้าย

เก็บความบางส่วนจาก TIJ Forum EP2 หัวข้อ “Way Out อำนาจเชิงโครงสร้างในกระบวนการอำนวยความยุติธรรม” จัดขึ้นเมื่อวันพุธที่ 29 กันยายน 2564


ผลงานชิ้นนี้เป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) (TIJ) และ The101.world

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save