fbpx

ลบแผลอาณานิคมด้วยชาตินิยม: อินเดียและภารัตในทัศนะของ สุรัตน์ โหราชัยกุล

ช่วงปีสองปีที่ผ่านมานี้ ประเทศอินเดียเป็นที่พูดถึงในสากลโลกอย่างน่าจับตา

นับตั้งแต่งานประกาศรางวัลออสการ์ปีก่อนที่ทั่วโลกได้ชมการแสดงทั้งร้องทั้งเต้นเพลง Naatu Naatu อันน่าตื่นตะลึงจากภาพยนตร์ RRR (2022) ทั้งยังคว้ารางวัลบทเพลงยอดเยี่ยม, คนเชื้อสายอินเดียที่ก้าวขึ้นเป็นนายกฯ สหราชอาณาจักรคนแรกอย่าง ฤษิ สุนัก (Rishi Sunak), การสร้างประวัติศาสตร์ด้วยการนำยานอวกาศลงจอดบนขั้วโลกใต้ของดวงจันทร์ ยังไม่ต้องพูดถึงว่า จากการวิเคราะห์ของธนาคารโลก ไม่ใช่เรื่องเกินความจริงที่อินเดียจะกลายมาเป็นมหาอำนาจด้านเศรษฐกิจโลกในอีกไม่กี่ปีต่อจากนี้

ขณะเดียวกันก็มีกระแสที่รัฐบาลอินเดียออกบัตรเชิญผู้นำกลุ่ม G20 ร่วมรับประทานอาหารค่ำกับประธานาธิบดีอินเดีย โดยระบุคำว่า ‘ภารัต’ แทนคำว่า อินเดีย แม้จนถึงนาทีนี้จะยังไม่มีประกาศเปลี่ยนชื่อเรียกอย่างเป็นทางการ กระนั้น ท่าทีครั้งนี้ของรัฐบาลอินเดียที่นำโดย นเรนทรา โมดี (Narendra Modi) ก็น่าจับตา หลายคนพินิจพิเคราะห์การเคลื่อนไหวครั้งนี้ว่าเป็นการปลดแอกตัวเองจากชื่อที่โลกตะวันตกใช้เรียก รวมทั้งนัยของการสร้างชาตินิยมจากโมดี ผู้ได้ชื่อว่าเป็นนายกรัฐมนตรีที่อนุรักษนิยมมากที่สุดคนหนึ่ง

ที่ผ่านมา อินเดียถูกมองว่าเป็นสังคมที่โอบล้อมด้วยพหุวัฒนธรรมมาโดยตลอด อย่างนั้นแล้วการสร้างชาตินิยมจะเคลื่อนตัวไปทางไหน หรือพ้นไปจากนั้น ชาตินิยมในศตวรรษที่ 21 ของอินเดียจะมีใบหน้าแบบใด โดยเฉพาะหากพิจารณาเรื่องประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อเอกราชอันยาวนานของอินเดีย

101 สนทนากับ ผศ.สุรัตน์ โหราชัยกุล อาจารย์ประจำภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ และผู้อำนวยการศูนย์อินเดียศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่าด้วยประเด็นชาตินิยม, อาณานิคม และก้าวใหญ่ยักษ์ลำดับถัดไปของอินเดียในเวทีโลก

อาจารย์มองว่ามีโอกาสแค่ไหนที่อินเดียจะเปลี่ยนชื่อเป็นภารัต

ถามว่าโอกาสมากน้อยแค่ไหน มีความเป็นไปได้ เพราะนายกฯ โมดีก็ทำให้คำว่าเป็นไปไม่ได้หายไปแล้วหลายครั้ง ฉะนั้น โอกาสเป็นไปได้ก็มีอยู่ เพียงแต่ตอนนี้อาจยังอยู่ในช่วงโยนหินถามทางหรือเปล่า เพราะถ้าจะเปลี่ยนจริงๆ ก็จำเป็นต้องเปลี่ยนผ่านรัฐสภา ถ้ารัฐบาลเลือกตีความว่าชื่อ ภารัต เป็นชื่อหนึ่งอยู่แล้ว อยากจะใช้สลับสับเปลี่ยนกัน ก็อาจจะไม่จำเป็นต้องเปลี่ยน

คนส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าอินเดียมีสองชื่อมาโดยตลอด เวลาผมแปลรัฐธรรมนูญอินเดียจากภาษาอังกฤษมาเป็นภาษาไทยว่า “India, that is, Bharat” และหลังจากนั้นก็เป็นคำว่าอินเดียหมด แต่ถ้าเป็นฉบับเทวนาครีหรือฉบับฮินดีก็เป็น “Bharat, that is, India” คือใช้คำว่าอินเดียครั้งเดียว หลังจากนั้นก็ใช้คำว่าภารัตมาตลอด ดังนั้น เวลาอยู่ที่อินเดีย คำว่าภารัตก็เขียนเป็นเทวนาครี สองชื่อนี้จึงอยู่ควบคู่กันมาตลอด ถ้าใช้ภาษาอังกฤษก็ใช้คำว่าอินเดีย ถ้าใช้ภาษาฮินดีก็ให้ใช้คำว่าภารัต

การที่โมดีใช้คำว่าภารัต ก็ทำให้คนบางกลุ่มเริ่มคิดว่าคำนี้มาจากไหน เป็นไปได้ไหมว่า การรวมตัวของฝ่ายค้านเป็นพันธมิตรในนาม ‘INDIA’ หรือ ‘Indian National Developmental Inclusive Alliance’ ที่เลือกใช้คำว่า ‘INDIA’ ทำให้โมดีเลือกใช้ชื่อภารัตในบัตรเชิญอาหารค่ำดังกล่าว อันนี้ก็ต้องรัฐบาลอินเดียเท่านั้นที่ตอบได้ ทั้งนี้ต้องอย่าลืมว่า กระแสเรียกร้องให้เปลี่ยนชื่อภาษาอังกฤษของประเทศอินเดียเป็นชื่อฮินดีภารัตนั้นมีมาพักใหญ่แล้ว ซึ่งเป็นการเรียกร้องของกลุ่มที่สังกัดองค์กรชาตินิยมฮินดู และเป็นกลุ่มที่มีอิทธิพลต่อพรรคภารตียชนตา (Bharatiya Janata Party -BJP) ซึ่งเป็นพรรคที่นำรัฐบาลอยู่ ณ ขณะนี้

เมื่อครู่ อาจารย์บอกว่าโมดีทำให้คำว่าเป็นไปไม่ได้หายไปแล้วหลายครั้ง นอกจากเรื่องแนวโน้มการเปลี่ยนชื่อเป็นภารัตแล้ว คิดว่ายังมีวาระไหนอีกที่หลายคนคิดว่าเป็นไปไม่ได้ แต่โมดีพิสูจน์แล้วว่าเป็นไปได้

เช่น การยกเลิกมาตรา 370 ในปี 2019 นี่คือมาตราที่ให้รัฐชัมมูและแคชเมียร์มีความอิสระในการปกครองตนเอง ซึ่งสมัยหนึ่งก็มีคนพูดกันว่า ใครหน้าไหนคิดยกเลิกมาตรานี้ละก็ แผ่นดินอินเดียลุกเป็นไฟอย่างแน่นอน แต่เมื่อยกเลิกแล้ว รัฐบาลอินเดียก็ควบคุมได้ หลายคนต้องการแต่มองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องการกดขี่มุสลิม แต่ผมมองว่ามันมีมิติเรื่องการเมืองการปกครองอันจะนำมาซึ่งเอกภาพที่สัมพันธ์กับการต่างประเทศอย่างลึกซึ้ง สำหรับผม การยกเลิกมาตรานี้มีปัจจัยปากีสถานและปัจจัยจีนอย่างมีนัยสำคัญยิ่ง คือต้องมองเป็นเรื่องความมั่นคงอย่างครอบคลุม

มองเรื่องการสร้างชาตินิยมในประเทศที่มีความเป็นพหุวัฒนธรรมสูงอย่างอินเดียอย่างไร หลายคนมองว่านี่เป็นปัจจัยที่ทำให้สร้างชาตินิยมได้ยาก

ผมไม่อยากมองแบบนั้นหมด มันไม่ได้เป็นอะไรที่มีลักษณะขาวดำหมด ไม่ว่าจะยุคสมัยไหนก็ตาม ชาตินิยมปรากฏมาโดยตลอด ผมคิดว่าสื่อเสรีนิยมไม่อธิบายให้เราเห็นอย่างครอบคลุมมากกว่า ผมไม่เคยเชื่อและไม่มีวันจะเชื่อว่า เราจะมีรัฐชาติที่ปราศจากชาตินิยมได้ มันเป็นไปไม่ได้

ประเด็นน่าจะอยู่ตรงที่ ชาตินิยมระดับไหนที่เราจะรับได้ ประเด็นน่าจะอยู่ตรงที่ชาตินิยมแบบไหนที่สอดคล้องกับผลประโยชน์แห่งชาติ แน่นอนว่าตรงนี้ไม่ได้หมายความว่า ควรจะปล่อยอะไรให้ล้ำเส้น เช่น ไม่ให้พื้นที่หรืออัตลักษณ์ผู้อื่น เพราะผมเชื่อว่าสังคมที่ดีก็ต้องมีความหลากหลาย แต่จะบั่นทอนเอกภาพของประเทศเสียเลยก็คงไม่พึงประสงค์ นี่คือสิ่งหนึ่งที่ผมคิดว่าไม่อยากให้มองมันเป็นขาวดำเสียหมด จะมาบอกว่ามีรัฐชาติแล้วไม่มีชาตินิยมอันนี้น่าจะเพ้อเจ้อ เพราะรัฐชาติก็ต้องหมายถึงความรู้สึกร่วมกัน เพียงแต่ความรู้สึกที่ว่าก็ต้องพอดี ไม่มากเกินไปจนเราลืมว่าเราก็เป็นส่วนหนึ่งของโลก แบบนี้ก็ไม่น่ารัก แต่ถ้ามันสวนทางหรือบั่นทอนเอกภาพเพื่อการดำเนินการต่างประเทศเพื่อผลประโยชน์แห่งชาติ เราก็จะเห็นรัฐบาลหลายประเทศเข้ามาบริหารจัดการอะไรบางอย่าง

ถ้าอย่างนั้นแล้ว อาจารย์มองว่าชาตินิยมในอินเดียเวลานี้ล้ำเส้นไหม หรือมาก-น้อยไปอย่างไร

ผมคิดว่าเวลาเราคุยกัน ชาตินิยมในอินเดียตั้งอยู่กับการรุกรานอินเดียโดยต่างชาติ หลักๆ เลยคือการรุกรานโดยมุสลิมและการรุกรานโดยอังกฤษ

มุสลิมจำนวนมากยินดีจะร่วมชาตินิยมกับอินเดียถ้าหมายถึงชาตินิยมในการต่อต้านจักรวรรดิอังกฤษ ทั้งนี้ก็มีหลายคนมองว่า ชาตินิยมของอินเดียในการต่อต้านอังกฤษ ก็นำมาสู่ความพินาศ ทำให้อนุทวีปอินเดียแบ่งออกเป็นสองประเทศ คือ อินเดียและปากีสถาน ซึ่งวันนี้ปัจจัยปากีสถาน และความร่วมมือระหว่างจีนกับปากีสถานก็ส่งผลต่อชาตินิยมในอินเดีย ณ ขณะนี้ แต่ถ้าหากว่าอิงกับการรุกรานของมุสลิม นี่ก็ทำให้กลุ่มชาตินิยมฮินดูรู้สึกไม่ดีอย่างแน่นอน เพราะเขามองว่าเข้ามาทำลายวัฒนธรรมภารัต ดังนั้นสิ่งแรกที่คุณต้องพยายามแยกแยะก่อนก็คือ ชาตินิยมที่พูดถึงนี้มีองค์ประกอบอะไรบ้าง และสัมพันธ์กับการรุกรานของต่างชาติอันใด แม้ทั้งสองจะมีอะไรคละกันอยู่ก็ตาม ผมว่าเรื่องนี้เราต้องทำการบ้าน ทำความเข้าใจมากกว่านี้ เพราะเป็นประเด็นสำคัญมาก ไม่ใช่ไปอ่านสื่อตะวันตกมาแล้ว บอกว่ามีสองขั้วแบบหยาบๆ

อีกตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจคือ ก็โมดีแหละที่ยกเลิกการกล่าวคำว่า เฏาะลากสามครั้ง (triple talaq -หมายถึงการที่ผู้ชายมุสลิมสามารถหย่าภรรยาได้ด้วยการกล่าวคำว่าเฏาะลากสามครั้ง โดยจะเป็นการหย่าที่ชอบด้วยกฎหมายด้วย) หรือที่เป็นที่นิยมมากคือส่งคำว่าเฏาะลากครั้งเดียวสามคำ หรือทีละคำสามครั้งผ่านแอพลิเคชัน WhatsApp แล้วขอหย่าได้เลย แต่สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่โมดีบอกว่าไม่ได้แล้ว คุณทำแบบนั้นไม่ได้ ถ้าจะหย่าก็ต้องไปหย่าผ่านกระบวนการที่รองรับโดยรัฐธรรมนูญ นี่ก็เป็นการผนวกรวมผู้คนเข้ามาอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ

ผมกำลังจะบอกว่าชาตินิยมอินเดียนั้นสลับซับซ้อน ผู้หญิงและผู้ชายมุสลิมจำนวนไม่น้อยลงคะแนนเสียงเลือกโมดีด้วยนะ ไม่อย่างนั้นเขาจะชนะแบบถล่มทลายได้อย่างไร นี่คือสิ่งที่ผมกำลังจะบอกว่า ผมเบื่อสื่อหลายๆ แห่งมาก ทำไมต้องมองอะไรเป็นสองขั้วหมดเลย ผมว่าถ้ามองแบบนั้น มันก็ไม่ทำให้เราเข้าใจความเป็นจริง คำถามคือมันเป็นชาตินิยมในระดับไหนล่ะ ถ้าระดับที่บอกว่าทุกคนต้องมาอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญเดียวกัน ตัวผมในฐานะ สุรัตน์ โหราชัยกุล ไม่มีปัญหานะ เพราะในฐานะคนไทย ผมก็เชื่อว่า เราทุกคนก็ต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญเดียวกัน

แต่ถ้าไปไกลถึงขนาดว่า ชาตินิยมนั้นจะไปรังแกผู้อื่นโดยไม่คำนึงถึงความหลากหลายเลยก็ไม่ได้ ซึ่งชาตินิยมในอินเดียก็ไม่ได้มีแต่ภาพนั้นเสียหมดไง ผมขอยกอีกตัวอย่างหนึ่ง โรงแรมที่ผมชอบพักมากเป็นพิเศษอยู่ตรงถนนออรังเซบ (Aurangzeb Road) ตั้งชื่อตามจักรพรรดิพระองค์หนึ่งของจักรวรรดิโมกุล แต่ออรังเซบก็โหดร้ายมาก และแล้ว สส. คนหนึ่งที่สังกัดพรรคภารตียชนตาก็รณรงค์เปลี่ยนชื่อถนนจนสำเร็จ โดยเปลี่ยนเป็นถนน ดร.เอพีเจ อับดุลกะลาม (Dr APJ Abdul Kalam -อดีตนักวิทยาศาสตร์และประธานาธิบดีอินเดีย) ผู้คิดขีปนาวุธอินเดีย ที่เล่านี่คือจะบอกว่า ดร.กะลามก็มุสลิมไม่ใช่หรือ แปลว่ารัฐบาลก็ไม่ได้ต่อต้านมุสลิมเสียหมดหรือเปล่า มันมีอะไรมากกว่านั้นหรือเปล่า

แน่นอนด้วยว่ามีผู้คนสังกัดองค์กรอื่นๆ นอกรัฐบาลที่ประพฤติตนแบบสุดโต่ง ก่อความวุ่นวายระดับชุมชนบ้าง ทั้งนี้ต้องตระหนักด้วยว่า ความรุนแรงระหว่างชุมชนก็ไม่เคยเกิดขึ้นก่อนอังกฤษเข้ามา ถ้าจะขยายความก็คือ ก่อนอังกฤษเข้ามามันเป็นความขัดแย้งอีกแบบ มันไม่ได้ฝังลงลึกแบบการเกลียดชังแบบชุมชน ส่วนสำคัญส่วนหนึ่งก็มาจากการแบ่งแยกและปกครองที่ทำให้ผู้คนแสวงหาอัตลักษณ์ที่เปลี่ยนไป

อาจารย์กำลังหมายความว่า สื่อตะวันตกหรือสื่อเสรีนิยม ไม่เข้าใจวัฒนธรรมและบริบทของแต่ละประเทศ แล้ววิพากษ์วิจารณ์ผ่านเลนส์ตัวเองอย่างนั้นหรือเปล่า

ใช่ ทั้งหมดคืออคติที่มาจากการวางขั้ว วางเสรีนิยมให้อยู่ตรงกันข้ามกับชาตินิยม ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริง รัฐบาลของประเทศสื่อเสรีนิยม ไม่ว่าจะพรรคไหนก็มีองค์ประกอบชาตินิยมกันทั้งนั้น

ในบางแง่บางมุม อินเดียแลดูจะออกทางโลกมากกว่าอีก ผมถามคุณก่อนดีกว่าว่า ผู้ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ และผู้ได้รับเลือกให้เป็นผู้นำประเทศในประเทศตะวันตกหลายประเทศสาบานตนด้วยใช้มือวางบนหนังสืออะไร คำตอบคือพระคัมภีร์ไบเบิล

ที่อินเดีย ใครได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอินเดีย ต้องสาบานตนที่จะปกป้องรัฐธรรมนูญอินเดียและอื่นๆ ด้วยคำว่า “ข้าพเจ้า … ขอสาบานในนามของพระเจ้า ว่าข้าพเจ้าศรัทธาและจงรักภักดีต่อรัฐธรรมนูญอินเดีย” หรือ “ข้าพเจ้า … ขอยืนยันอย่างจริงจัง ว่าข้าพเจ้า…” แบบแรกกล่าวถึงพระเจ้าของตน ส่วนแบบที่สองไม่ต้องมีพระเจ้าก็ได้ ที่สำคัญคือ ทั้งสองแบบไม่ต้องจับพระคัมภีร์ไบเบิลแบบประเทศตะวันตกหลายประเทศ

เท่าที่ฟังมา อาจารย์กำลังชี้ว่า ปัญหาอย่างหนึ่งเกิดจากการที่โลกมีภาพจำต่ออินเดียในแง่ลบประมาณหนึ่ง อันเป็นผลมาจากสื่อตะวันตกใช่ไหม

ถูกต้อง นี่คือสิ่งที่ผมเห็นมาตลอด แล้วไทยมักบอกว่าตัวเองคิดเป็น แต่แท้จริงแล้ว เป็นทาสข้อมูลบางชนิดจนโงหัวไม่ขึ้น เราต้องคิดเองสิ อันไหนดีก็บอกว่าดี อันไหนไม่ดีก็บอกว่าไม่ดี ไม่จำเป็นต้องแบ่งเป็นขั้วนั้นขั้วนี้หมด

กลับมาที่เรื่องชื่อภารัต ถึงที่สุดแล้วอาจารย์มองแนวโน้มการเปลี่ยนชื่อครั้งนี้ว่ามันเป็นหมุดหมายอะไรไหม

ถามว่าการเปลี่ยนชื่อนั้นเป็นเรื่องใหญ่ไหม ผมว่ามันก็ไม่ได้เป็นเรื่องใหญ่อะไร มันก็เรื่องของเขา ประเทศเขา อย่างฮอลแลนด์ก็เปลี่ยนเป็นเนเธอร์แลนด์ ใครต่อใครก็เปลี่ยน มันก็เรื่องของเขา แต่สิ่งที่หลายคนกังวลและน่าสนใจ น่ามาคุยกันเพิ่มเติมคือ แล้วมันมีนัยอะไรต่อผู้อื่นมากกว่านี้ไหม

ปัญหาสำหรับผมคือ ถ้าคุณเปลี่ยนไปเป็นชื่อภารัตก็น่าถามว่าเปลี่ยนเพื่ออะไร เพราะมองในเชิงการตลาด ชื่ออินเดียก็กำลังงาม วันนี้ชื่ออินเดียก็สือถึงเรื่องราวที่ดี เช่น จันทรยาน-3 (ยานอวกาศจากโครงการสำรวจดวงจันทร์ของอินเดีย) มีนักวิทยาศาสตร์หญิงจำนวนหนึ่งอยู่เบื้องหลัง

ไม่มีผลอะไรกับเราหรอก เราไม่มีวัฒนธรรมเรียกชื่อประเทศอื่นตามชื่อภาษาอังกฤษครับ เวลาเชียร์ฟุตบอลโปรตุเกส เราก็ไม่พูดว่าโปรตุกัล เวลาไปญี่ปุ่น เราก็ใช้คำว่าญี่ปุ่น ไม่ใช่เจแปน สำหรับผมพม่าก็คือพม่าเหมือนเดิม แต่ถ้าจำเป็นต้องกล่าวถึงพม่าเป็นภาษาอังกฤษ ผมก็จะใช้คำว่าเมียนมาครับ ไม่มีใครมายุ่งกับวัฒนธรรมการเรียกชื่อประเทศของไทยเราหรอก บ่อยครั้งด้วยไม่ใช่หรือที่เราไม่เรียกว่า อนุทวีปอินเดีย เราเรียกว่าชมพูทวีป

ประเด็นเรื่องการใช้ชื่อภารัต หลายคนมองว่าเป็นการปลดแอกตัวเองออกจากเรื่องอาณานิคมอังกฤษด้วย อาจารย์มองประเด็นนี้อย่างไร

อาณานิคมคือสิ่งชั่วร้าย มหาตมาคานธี (Mahatma Gandhi) ที่ต่อสู้กับอาณานิคมก็ได้ทำให้คำว่าอาณานิคมกลายเป็นคำหยาบ วันนี้ลองไปบอกใครสิว่า ประเทศนั้นประเทศนี้จะไปล่าอาณานิคม คุณน่าจะเห็นปฏิกิริยาลบจากผู้คนทันที

แม้อินเดียได้ปลดแอกตนเองจากอาณานิคมอังกฤษอย่างเป็นทางการนับตั้งแต่ปี 1947 และอีกครั้งในปี 1950 เมื่อนำรัฐธรรมนูญฉบับของตนมาใช้ แต่แผลอาณานิคมมันยังฝังลึกอยู่ในใจชาวอินเดีย อีกอย่างระบบระหว่างประเทศในปัจจุบันมีความลำเอียงไม่น้อย เช่น สิ่งที่ญี่ปุ่นกระทำไว้ในสงครามโลกครั้งที่สองยังคงหลอกหลอนญี่ปุ่นถึงทุกวันนี้ กล่าวขอโทษก็แล้ว จ่ายเงินชดเชยก็แล้ว ก็ยังไม่จบสิ้น ครั้นลองดูที่อังกฤษทำในปี 1919 บ้าง คืออังกฤษสังหารผู้คนที่ประท้วงอังกฤษด้วยสันติวิธี ทุกวันนี้ ทางการอังกฤษก็ยังไม่เคยขอโทษ กล่าวแต่เพียงเสียใจเท่านั้น

สิ่งที่ผมจะสื่อคือ ระบบการเมืองโลกมีอคติ หล่อหลอมชาตินิยมรูปแบบต่างๆ ไม่มากก็น้อย แต่มีกี่คนที่จะสนใจเรื่องนี้ หลายคนสนใจเชียร์ฟุตบอลแมนยูหรือลิเวอร์พูลมากกว่า นี่คือจริตของระบบระหว่างประเทศ ซึ่งท้ายที่สุดอินเดียก็อ่านออก เขาไม่มานั่งเป็นทาสฟังใครแล้ว เขาจัดการสร้างเอกภาพ เดินหน้าเพื่อเพิ่มพูนผลประโยชน์แห่งชาติ ปกป้องประเทศจากภัยคุกคามต่อไป

ปรากฏการณ์ชาตินิยมในปัจจุบันน่าสนใจมาก อย่านึกถึงแต่อินเดียเลย ในทางปฏิบัติจีนก็นำชาตินิยมมาแทนลัทธิคอมมิวนิสต์ไม่ใช่หรือ ประเทศอย่างจีนกับอินเดียที่มั่นใจในอารยธรรมของตน มีประชากรมากมาย และบัดนี้พัฒนาตนขึ้นมาในระดับสำคัญแล้ว ทั้งสองคงนึกคิดด้วยว่า พวกเสรีนิยมที่มือถือสากปากถือศีลจะมานั่งชี้นิ้วสั่งฉันหรือ สำหรับอินเดีย ผู้คนจำนวนหนึ่งในอินเดียก็ต้องคำถามว่า ฉันมีประชากรมากถึง 1,400 ล้านคน เป็นอู่อารยธรรมด้านภาษา วัฒนธรรม และศาสนา ฉันยังต้องมานั่งฟังคุณเทศนาอีกหรือ แล้วตะวันตกที่มือถือสากปากถือศีลล่ะ หรือเรื่องอาวุธที่มีแสนยานุภาพทำลายล้างสูงของอิรักแล้วหรือ สิ่งที่น่าสนใจอีกคือ วันนี้ตะวันตกก็ยินดีที่ขยับเข้าใกล้อินเดียมากที่สุดเลยก็ว่าได้

วกกลับมาที่ประเด็นเดิม ผมว่าเราเลิกมองว่าชาตินิยมเป็นสิ่งแปลกปลอมก่อน ชาตินิยมไม่จำเป็นต้องเป็นความคลั่งเสมอไป ใจผมแม้จะเชียร์ประชาธิปไตย แต่ผมก็ต้องยอมรับความจริงว่า หลายประเทศที่ไม่มีประชาธิปไตยพัฒนาได้รวดเร็วกว่า ดูสิงคโปร์โดยเฉพาะในสมัย 30 ปีแรกของการสร้างชาติสิ ดูประเทศจีนสิ แต่อินเดียหันไปทางอื่นที่ไม่ใช่ประชาธิปไตยไม่ได้ อินเดียต้องเป็นประชาธิปไตย และต้องมีความเป็นสหพันธรัฐเพราะความหลายหลาก รัฐบาลอินเดียจะอยู่เหนือกว่ารัฐธรรมนูญของตนไม่ได้ ดังนั้น อินเดียก็ต้องสร้างเอกภาพแบบของตน คำถามที่ตามมา แล้วแบบสมัยที่พรรคคองเกรสปกครองอินเดียได้ไหม คำตอบคือ ได้แต่ช้าและไม่อาจตอบทุกเรื่องได้ โดยเฉพาะหากคุณพิจารณาด้วยว่าการต่างประเทศและการพัฒนาประเทศนั้นสัมพันธ์กับการสร้างเอกภาพภายในประเทศอย่างไร

ขณะเดียวกัน ผมก็จะไม่คลั่งประชาธิปไตยถึงขั้นที่ว่า เลือกใครมาก็ได้ เลือกมาแล้วจะตีหัวใครก็ได้ ไม่ได้นะเพราะมันก็ต้องมีกฎกติกาด้วย ผมคิดว่าสิ่งหนึ่งที่สำคัญมากคือ นอกจากจะมีชาตินิยมแล้ว อินเดียต้องส่งเสริมประชาธิปไตยเพราะจะทำให้ตนมีอัตลักษณ์ต่างจากจีนด้วย ผมไม่ได้บอกว่าใครผิดหรือใครถูก สิ่งที่ผมต้องการสื่อคือ อินเดียนำเสนอได้ว่าตนเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง และหากศตวรรษที่ 21 จะเป็นศตวรรษแห่งเอเชีย ก็มีอินเดียที่มีลักษณะเฉพาะตนเป็นส่วนหนึ่งของศตวรรษแห่งเอเชียที่คาดว่าจะเกิดขึ้น ที่ตะวันตกขยับเข้าใกล้อินเดีย ส่วนหนึ่งคือเรื่องภูมิรัฐศาสตร์แน่ แต่อีกส่วนหนึ่งคือปัจจัยอัตลักษณ์การเมืองการปกครองประชาธิปไตยอินเดียด้วย แต่ต้องยอมรับด้วยว่า ประชาธิปไตยอินเดียน่าจะแกร่งมากกว่านี้ หากฝ่ายค้านรัฐบาลอินเดียเป็นฝ่ายค้านที่สร้างสรรค์ คือไม่ใช่ว่าสักแต่จะค้านทุกเรื่อง

อย่างนั้นมองว่าชาตินิยมในอินเดียที่แข็งแรงขึ้นมากๆ ด้านหนึ่งเป็นเพราะความอัดอั้นจากการตกอยู่ภายใต้อาณานิคมอังกฤษหรือเปล่า

ส่วนหนึ่ง แต่ชาตินิยมก็เกิดขึ้นมานานแล้ว และแรงกระเพื่อมมีมาอีกครั้งหนึ่งคือเมื่ออังกฤษเข้ามา เป็นกลุ่มที่อยู่เบื้องหลังการสังหารคานธีด้วย ในนี้ก็มีทั้ง นาถูราม โคฑเส (Nathuram Godse -นักชาตินิยมที่ต้องคดีสังหารคานธี) ตลอดจน สาวรการ์ (Vinayak Damodar Savarkar -นักชาตินิยมฮินดู) ที่ได้รับการยกย่องต่างๆ ซึ่งผมก็ไม่ได้เห็นด้วยนะ ทั้งนี้ นักวิชาการไม่เห็นด้วยก็เรื่องหนึ่ง แต่เวลาอธิบายปรากฏการณ์ชาตินิยมในอินเดียก็เป็นอีกเรื่องที่สลับซับซ้อนอยู่พอสมควร เวลาสอนหนังสือ ผมก็ต้องแฟร์กับความจริงด้วย

เอาล่ะ คนก็บอกว่าอังกฤษก็ออกจากอินเดียมาตั้งแต่ปี 1947 แล้วนี่ แต่ปัญหาคือ เขามองว่าวัฒนธรรมของเขาหลายต่อหลายอย่างหายไป ถูกรุกรานด้วยภาวะสมัยใหม่อื่นๆ มันจึงมีความสลับซับซ้อน ที่สำคัญคือ ผมก็ไม่ใช่เทวดาที่จะไปไขปริศนาได้หมด เพราะเวลาผมไปฟังคนเหล่านี้ ผมก็พยายามเข้าไปโดยไม่พูดอะไร ไม่มีอคติเพื่อพยายามทำความเข้าใจเขาว่าทำไมเขาจึงคิดแบบนั้นแบบนี้ และต้องยอมรับว่ามีปัจจัยจีนและปัจจัยปากีสถานด้วย ไหนจะอินเดียจะเป็นประชาธิปไตยอีก ก็ต้องมีเอกภาพในระดับหนึ่ง ถ้าเพื่อนบ้านไม่ได้เห็นดีด้วย ก็ต้องสร้างทุกสิ่งเพื่อรับมือ รวมถึงเอกภาพภายในประเทศด้วย

ประการต่อมา อินเดียเป็นสหพันธรัฐ แต่ละมลรัฐมีอำนาจต่างๆ นานา ซึ่งก็เป็นเรื่องดีในการรองรับความหลายหลาก แต่ระบบนี้ของอินเดียในบริบทอินเดียก็ทำให้อินเดียเสียเปรียบด้วย คุณจะทำอย่างไรให้นักลงทุนจากต่างประเทศทำกิจกรรมทางธุรกิจง่ายขึ้น ระบบภาษีของธุรกิจก็ได้รับการจัดการแล้ว เรื่องอสังหากับที่ดินก็แก้ปัญหาไปมากแล้ว เรื่องภาษีของการบริโภคก็ถูกจัดใหม่เป็น GST (Goods and Services Tax) ก่อนหน้าโมดี ก็ต้องยอมรับว่า หลายเรื่องวุ่นวายมาก ไม่ดีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจที่ต้องเอื้อต่อการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ ที่ไทยเราส่วนใหญ่เชียร์เรื่องการกระจายอำนาจ แต่ที่อินเดียเขาต้องคิดกันอย่างลึกซึ้งว่าอะไรสมเหตุสมผล สอดคล้องกับนโยบายเศรษฐกิจต่างประเทศของเขา

พูดถึงสาวรการ์ คนมองว่าเขาเป็นต้นธารของแนวคิดแบบฮินดูตวาซึ่งเป็นรากของชาตินิยม และเป็นแนวคิดที่ส่งอิทธิพลมากต่อพรรคภารตียชนตาด้วย

จริงๆ แล้ว ในแง่หนึ่ง ฮินดูตวาแทบจะไม่มีความหมายอะไรมากนัก ศัพท์คำนี้แปลอย่างเรียบง่ายคือ ความเป็นฮินดู ที่ถกเถียงกันมากในเวลานี้คือ ศัพท์คำนี้ก็ไม่ได้มาจากสาวรการ์ มีคนเคยใช้ก่อนหน้านี้ สำหรับสาวรการ์ โจทย์ของเขาคือ มหาตมาคานธีประนีประนอมมากไปแล้ว นำไปสู่การแบ่งแยกประเทศในปี 1947 เขาตั้งคำถามประมาณว่า ทำไมการต่อสู้กับอังกฤษใช้อหิงสา สำหรับเขา ใครรุกเข้ามาในบ้านฉัน ฉันก็ต้องใช้อาวุธต่อสู้สิ

ปัจจุบันนี้ ถามว่าความรักชาติในอินเดียสำคัญไหม ถ้าไม่สำคัญแคชเมียร์หลุดมือแน่ ในแง่นี้ชาตินิยมอาจจะถูกมองเป็นเครื่องมือหนึ่งในการสร้างเอกภาพของชาติก็ได้ เดินไปข้างหน้าได้ แต่จะใช้ชาตินิยมไม่สำเร็จถ้าทำให้คน ‘อื่นๆ’ ไม่มีพื้นที่

แต่จู่ๆ ก็มีคนมาบอกว่า รัฐชาติไม่สำคัญ มีความเป็นชาติมากเกินไป ผมจะบอกว่าความเป็นชาตินั้นต้องคงอยู่ แต่ถามว่าชาตินิยมระดับไหนล่ะ เอาไปใช้เพื่ออะไรล่ะ นั่นต่างหากคือสิ่งสำคัญ

อย่างไรก็ตาม มีคนมองว่าภารัตที่เป็นคำฮินดี อาจกีดกันคนที่ไม่ได้เป็นฮินดูออกไปด้วย เช่น คนมุสลิม

มุสลิมอ่านภาษาฮินดีหรือภาษาอุรดูที่เขียนว่าภารัต แปลว่าถูกกีดกันมาแต่ไหนแต่ไรงั้นเหรอ ไม่มีเหตุผลเลย สิ่งสำคัญไม่ได้อยู่ที่ชื่อ แต่อยู่ที่การกระทำต่างหาก

ถ้าว่ากันที่การกระทำ ตัวโมดีเองก็มีประเด็นเรื่องข้อพิพาทกับคนมุสลิมมาหลายปีแล้วเหมือนกัน

ผมคิดว่า ฐานชาตินิยมของพรรคนี้คงไม่มีใครเถียง เพราะพรรคเขาก็ชัดเจนและประกาศตัวอยู่แล้ว แต่ตัวโมดีเองสลับซับซ้อนมากกว่านั้น ถ้าคุณกลับไปดู ระหว่างที่โลกมีโควิด-19 ระบาดและยังไม่มีวัคซีน พรรคชาตินิยมฮินดูกลับแจกวัคซีนให้โลก เพิ่มทุนพันทุนให้อาเซียนไปเรียนสถาบันเทคโนโลยีบอมเบย์แห่งอินเดีย (IITB) ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาหวงแหนมาก และพรรคนี้แหละที่ช่วยเหลือประเทศอื่นๆ ด้วย

ขณะเดียวกัน ผมคิดว่ารัฐบาลที่ดีก็ต้องไม่ทำให้ประชาชนที่ไม่ได้นับถือศาสนาหลัก รู้สึกไม่สบายใจ ประวัติศาสตร์อินเดียไม่ได้เป็นประวัติศาสตร์ของใครกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง, สงครามโลกครั้งที่สอง, สงครามอินเดีย-ปากีสถานปี 1947, สงครามอินเดีย-ปากีสถานปี 1971, สงครามอินเดีย-ปากีสถานคาร์กิลปี 1999 มีมุสลิมรบเพื่ออินเดียด้วย นี่ก็ต้องยอมรับว่ามีคนยอมตายเพื่อประเทศอินเดียด้วย ฉะนั้น เราต้องไม่ทำให้ชนกลุ่มน้อยรู้สึกว่าตนไม่มีพื้นที่ ในประเทศไทยเองก็ด้วย เรามีทั้งชาวพุทธ ชาวมุสลิม ชาวฮินดู ชาวซิกข์ ชาวคริสต์ ทุกคนต้องรู้สึกปลอดภัย และทุกคนควรรู้สึกสำนึกคิดในความเป็นชาติไทยด้วย

แต่การที่โมดีขึ้นมาเป็นนายกฯ แล้วเกิดข้อพิพาทระหว่างมุสลิมมากมาย มองเรื่องเศรษฐกิจและความสัมพันธ์ของอินเดียกับประเทศมุสลิมอย่างไร เช่น กรณีอินเดียกับปากีสถาน

ตัวปากีสถานเองไม่น่าจะมีความชอบธรรมที่จะวิพากษ์วิจารณ์ใครในเรื่องชาตินิยม ไม่เชื่อผมก็ลองไปถามคนอื่นๆ เช่น ชาวคริสต์ในปากีสถานสิ กี่คนแล้วกี่คนเล่าที่ถูกกล่าวหาว่าดูถูกศาสนาอิสลาม ทั้งๆ ที่บ่อยครั้งเป็นเรื่องความขัดแย้งส่วนบุคคล หรือลองศึกษาสถานภาพผู้หญิงในปากีสถานสิ ณ ขณะนี้อยู่อันดับที่ 142 ของโลก มีอีกเยอะ รวมถึงเรื่องของ มาลาลา ยูซาฟไซ (Malala Yousafzai -เด็กหญิงที่ร่วมขบวนการเพื่อให้เด็กทุกเพศทุกวัยได้รับการศึกษา)

และใคร่แจ้งให้ทราบด้วยว่า อินเดียมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับประเทศมุสลิมหลายประเทศ โดยเฉพาะในบรรดาประเทศตะวันออกกลาง

แล้วในกรณีข้อพิพาทกับมุสลิม โมดีควรทำอย่างไรต่อสายตาและท่าทีของประเทศตะวันออกกลาง

ผมว่าโมดีตระหนักดีนะ เพราะที่ผ่านมาเวลามีนักการเมืองบางคนพูดถึงศาสนาอิสลามในทางที่ไม่ดี โมดีก็ไม่สนับสนุนนักการเมืองคนนั้น อย่างที่ผมบอก มันมีความซับซ้อนอยู่ ก่อนใครจะวิจารณ์ ก็ต้องแม่นยำ ไม่งั้นก็เป็นอะไรที่วิพากษ์แบบฉาบฉวย สำหรับการยกเลิกการกล่าวเฏาะลากสามครั้งเพื่อหย่าภรรยาของตน ผมก็ไม่เห็นทางการของต่างชาติวิจารณ์ ตรงนี้ก็เป็นประเด็นที่ต้องจำแนกระหว่างอิสลามกับมุสลิม และต้องมองว่าสัมพันธ์กับเอกภาพอย่างไรด้วย

อย่างนั้น ความท้าทายของอินเดียที่จะสร้างชาตินิยมท่ามกลางสังคมที่เต็มไปด้วยความหลากหลายนั้นจะเป็นอย่างไร

ตำราจำนวนมากบอกเราว่าทุกอย่างต้องวางกันคนละฝั่ง ผมว่าไม่จริง มันมาจากอคติ เวลามหาตมาคานธีใช้ชาตินิยมต่อสู้กับอาณานิคม แทบจะไม่เห็นนักวิชาการวิจารณ์ชาตินิยมของมหาตมาคานธีเลย แต่ชาตินิยมแบบคานธีก็ไม่ได้ปฏิเสธความหลากหลายนะ นี่ถือเป็นหลักฐานประจักษ์ว่าไม่จำเป็นต้องย้อนแย้งกันเสมอ ส่วนของโมดีผมก็พูดไปเยอะแล้ว แต่ผมก็ต้องสารภาพว่าเรายังต้องทำความเข้าใจมากกว่านี้ไหม

คานธีบอกว่า เราจะใช้ชาตินิยมต่อสู้กับอังกฤษ เพื่อจะบอกว่า สิ่งเดียวที่เราไม่ยอมคือการที่อารยธรรมของตะวันตกจะอยู่เหนือกว่าอารยธรรมของผู้อื่น อันนี้ไม่ยอมเด็ดขาด และครั้นเมื่อไปถามคานธีว่า คุณเป็นใคร คานธีตอบว่า “I am a Muslim and a Hindu and a Christian and a Jew– and so are all of you.” คือเป็นทุกอย่าง ฉะนั้น ชาตินิยมกับสิ่งเหล่านี้จึงไปด้วยกันได้

ระยะหลัง อินเดียผงาดในเวทีโลกมาก ทั้งในแง่ยานอวกาศหรือแสดงจุดยืนในฮอลลีวูด มองเรื่องการเติบโตพรวดพราดในปีสองปีที่ผ่านมาอย่างไร

ไม่มีอะไรหยุดยั้งอินเดียได้แล้ว และเวลาผมชื่นชมอินเดียให้ทหาร ให้ข้าราชการฟัง บางคนแอบคิดว่าเพราะ อาจารย์สุรัตน์เป็นคนไทยเชื้อสายอินเดียหรือเปล่า บางคนอาจจะคิดว่าผมเพ้อฝันอยู่ ไม่ใช่ครับ ผมว่าเราต้องใช้ปัญญา (intelligence) มากกว่าข้อมูล (information) ปัญญาจะทำให้เราเห็นตัวชี้วัดว่าเขาจะเป็นหนึ่งในมหาอำนาจโลกอย่างแน่นอน จะดูที่รัฐธรรมนูญ การเมือง การเปลี่ยนถ่ายอำนาจ เศรษฐกิจ การศึกษา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การส่งเสริมสตรี หรือทรัพยากรมนุษย์ก็แล้วแต่ มันบอกอะไรเราอยู่ ผมจึงพูดมาโดยตลอดว่า อินเดียจะเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเราอย่างแน่นอน

ถ้ามองในแง่การสนับสนุนจากรัฐบาลโมดี มีปัจจัยอะไรจากรัฐบาลโมดีที่ทำให้อินเดียโตเร็วบ้าง

ผมไม่เคยเห็นถนนหนทางสร้างใหม่ในอินเดียเยอะแยะมากมายแบบนี้ สร้างไม่หยุดเลยด้วย โครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ของอินเดียเติบโตขึ้นพรวดพราดภายใต้รัฐบาลของโมดี การจัดการเรื่องกฎกติกา เพื่อให้ภาคเอกชนทั้งภายในและนอกประเทศ ทำธุรกิจ สร้างสรรค์ และจ้างงานคนได้ เรื่องการช่วยเหลือคนจนก็ไม่เบาเลย เรื่องส่งเสริมผู้หญิงก็เต็มที่ เรื่องวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีก็ไม่เป็นรองเรื่องอื่น

ที่สำคัญที่ผมว่าเป็นหมากแรงที่สุดคือ ผู้หญิง ผู้หญิง ผู้หญิง ล่าสุดโมดีไปแสดงความเคารพต่อนักวิทยาศาสตร์ที่อยู่เบื้องหลังยานจันทรยาน-3 บอกว่า “Nari Shakti” (นารีศักติ) หรือคือพลังของผู้หญิง ผมจะบอกว่าไม่มีนายกรัฐมนตรีคนไหนให้พื้นที่แก่ผู้หญิงโดยนโยบายและมาตรการเท่านายกฯ โมดี ให้ผู้หญิงเก็บเงิน ให้ลูกสาวเรียนหนังสือ ผมไม่เคยเห็นนายกฯ คนไหนทำได้ขนาดนี้ ผมว่าโมดีมองออกว่าถ้าคุณเอาประชากรเกือบครึ่งหนึ่งของประเทศไปนั่งอยู่บ้านเฉยๆ ประเทศจะพัฒนาช้า

สุดท้ายแล้ว ความท้าทายที่สุดของอินเดียนับจากนี้ไปคืออะไร

การสร้างเอกภาพในประเทศไม่ใช่เรื่องผิด แต่จะหาสมดุลให้มันอย่างไร ประเด็นจึงอยู่ที่การจัดการ

ในฐานะนักรัฐศาสตร์ การเมืองภายในประเทศเป็นสิ่งที่คุณต้องจัดการให้ดี นี่สำคัญมาก เพราะถ้าภายในประเทศไปด้วยกันได้ น่าเชื่อถือ มีความศรัทธา อย่างอื่นก็ไม่ยาก กระนั้น เมื่อเราพูดถึงการเมืองภายในประเทศ สิ่งที่ตามมาคือเวลาคุณกำลังทะยานขึ้นมา คุณก็มีสิ่งที่ต้องระมัดระวังหลายเรื่อง คุณต้องรับผิดชอบต่อโลก และไหนจะเรื่องเงินเฟ้อ เรื่องผลผลิตทางเกษตรกรรมที่แพง อะไรต่อมิอะไร ก็จะไปสัมพันธ์กับเรื่องที่ว่า แล้วคนที่เขายังมีรายได้น้อย เขาจะอยู่อย่างไร เขาจะยังชีพอย่างไร ผมมั่นใจว่า โมดีมองเห็นเรื่องเล่านี้ เพราะสารัตถะก็ปรากฏในสุนทรพจน์อยู่บ่อยครั้ง ทำมาแล้วก็มาก ก็ต้องทำต่อไป

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save