fbpx

Hollywood writers strike ความเป็นธรรมในอุตสาหกรรมไร้หัวใจ

“จ่ายค่าแรงมา ไม่งั้นได้เจอสปอยล์ตอนจบซีรีส์เรื่องโปรดแน่”
“ฉันเป็นแค่ผู้หญิงคนหนึ่ง ที่ยืนอยู่หน้าสตูดิโอ ร้องขอให้พวกนั้นจ่ายค่าแรงให้ที”
“ไอ้ประโยค ‘กูโกรธจัดเลยและจะไม่ยอมทนอีกต่อไปแล้ว’ นี่ไม่ได้เขียนโดยโปรดิวเซอร์นะ”
“มึงคิดว่า Chat GPT จะเขียนประโยคตบมุกคมๆ ได้เหรอ”

คุณจะหาป้ายประท้วงที่สร้างสรรค์ แหลมคมและเปี่ยมอารมณ์ขันแบบนี้ได้ที่ไหนอีกนอกเสียจากป้ายจากการประท้วงหยุดงานของกลุ่มคนเขียนบทในฮอลลีวูด ที่ในเวลาต่อมากลายเป็นประเด็นใหญ่โตเมื่อเหล่าคนทำงานในภาคส่วนอื่นๆ ของอุตสาหกรรมก็เข้าร่วมการหยุดงานครั้งนี้ด้วย ดังที่จะเห็นจากการที่ทีมนักแสดงจาก Oppenheimer (2023) -ภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ลำดับล่าสุดของ คริสโตเฟอร์ โนแลน- พากันเดินออกจากงานฉายหนังรอบปฐมทัศน์ที่สหราชอาณาจักร เพื่อเป็นสัญลักษณ์ในการยืนเคียงข้างกับเพื่อนร่วมงานในฮอลลีวูด

ป้ายประท้วงข้างต้นที่อ้างอิงถึงประโยคจากหนังดังทั้งหลายอย่าง Network (1976) และ Notting Hill (1999) เหล่านี้ก็มีที่มาชวนขมขื่น เมื่อต้นธารของการรวมตัวกันนัดหยุดงานนั้นมาจากการที่เหล่าคนเขียนบทในอุตสาหกรรมฮอลลีวูด -ที่ทำรายได้ในปี 2022 ไปทั้งสิ้น 95.45 พันล้านเหรียญฯ- ไม่ได้รับค่าแรงตามสมควร ในเดือนเมษายน 2023 สำนักงานสถิติแรงงาน (Bureau of Labor Statistics-BLS) ประเมินว่ารายได้โดยเฉลี่ยของนักเขียนบทในฮอลลีวูดอยู่ที่ 69,510 เหรียญฯ ต่อปี ซึ่งรายได้นั้นแปรผกผันตามปัจจัยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเขียนบทให้ภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ขนาดยาว, ซีรีส์ความยาว 60 นาทีที่ออกฉายทางโทรทัศน์ หรือรายการโชว์ชื่อดังตามช่องต่างๆ อย่างไรก็ตาม โดยทั่วไปแล้ว รายได้ของคนเขียนบทนั้นขึ้นอยู่กับสัญญาระหว่างเจ้าตัวกับนายจ้างเป็นหลักตามแต่ที่จะตกลงกัน

และต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา สมาคมนักเขียนบทแห่งอเมริกา (Writers Guild of America-WGA) รวมตัวกันหยุดงานประท้วงสมาพันธ์ผู้ผลิตภาพยนตร์และโทรทัศน์ (Alliance of Motion Picture and Television Producers-AMPTP) ซึ่งเป็นเสมือนตัวแทนของสตูดิโอทำหนังและสตรีมมิงยักษ์ใหญ่หลายแห่ง เมื่ออุตสาหกรรมสตรีมมิงเติบโตรุดหน้าก้าวกระโดด ในปี 2021 อุตสาหกรรมสตรีมมิงภาพยนตร์ในอเมริกาเหนือทำรายได้ไปทั้งสิ้น 162 พันล้านเหรียญฯ และมีแนวโน้มจะขยายตลาดไปได้อีกราว 18.45 เปอร์เซ็นต์ในปี 2030 -กระนั้น คุณภาพชีวิตของคนเขียนบทก็สวนทางกับการเติบโตที่ว่า เพราะแม้พวกเขาจะพยายามรีดเลือดเขียนบทกันมากแค่ไหน แต่ค่าแรงก็ยังไม่ขยับขึ้นจากเดิม มิหนำซ้ำ ยังมีแนวโน้มว่าสตูดิโอจะหันไปใช้บริการผู้เขียนหน้าใหม่ที่มาในนามของปัญญาประดิษฐ์หรือ AI เพื่อลดต้นทุนการใช้แรงมนุษย์ในการทำงานอีกต่างหาก

เควิน เบคอน นักแสดงจาก Footloose (1984), Tremors (1990) เข้าร่วมการประท้วงนัดหยุดงาน (ภาพจาก AFP)

นอกจากนี้ ความซับซ้อนอีกประการของอาชีพคนเขียนบทคือ นอกเหนือจากจะเกี่ยวพันกับการเขียนบทให้ภาพยนตร์และซีรีส์ทั้งที่ออกฉายทางโทรทัศน์และสตรีมมิงต่างๆ แล้วนั้น มันยังผูกโยงกับรายการทอล์กโชว์ที่ออกฉายทางโทรทัศน์อย่างแยกจากกันไม่ขาด ในแง่โทรทัศน์ ข้อตกลงพื้นฐานที่ร่างขึ้นโดยสมาคมฯ นั้นครอบคลุมแค่คนเขียนบทที่ทำงานให้รายการที่ออกฉายทางโทรทัศน์เท่านั้น ไม่นับรวมที่ออกฉายทางสตรีมมิง -ซึ่งโตเอาๆ อย่างที่กล่าวไปแล้ว และมีแนวโน้มจะเรียกร้องแรงงานอีกมหาศาลเพื่อตอบรับกระแสการเติบโตในภายหน้า- ข้อตกลงเช่นนี้ทำให้รายการที่ออกฉายทางสตรีมมิง เช่น The Problem with Jon Stewart รายการทอล์กโชว์ที่ออกฉายทาง Apple TV+ จ่ายค่าแรงให้คนเขียนบทในรายการ น้อยกว่าคนเขียนบทจาก The Late Show with Stephen Colbert รายการทอล์กโชว์ทางช่อง CBS แม้จะทำงานในปริมาณเท่าๆ กันก็ตาม

อย่างไรก็ดี ในการประท้วงเมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมานั้น สมาคมฯ เสนอข้อเรียกร้องต่อสมาพันธ์ฯ ดังนี้

• จ่ายค่าแรงเพิ่มขึ้น ด้วยเหตุผลทางด้านการเติบโตของสตรีมมิง ทำให้ความต้องการตัวนักเขียนบทสูงลิ่วสวนทางกับรายได้ที่ต่ำลง ซึ่งด้านหนึ่งเป็นผลกระทบจากสภาพเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในรอบหลายปีที่ผ่านมาด้วย เมื่อเงินเฟ้อทำพิษจนทำให้ในรอบห้าปีที่ผ่านมา รายได้ของนักเขียนบทหดลงไปจากแต่ก่อน 14 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่รายได้ของคนเขียนบท (ที่โดยมากแล้วก็ควบตำแนห่งโปรดิวเซอร์ไปด้วย) รายการโทรทัศน์ออกฉายรายสัปดาห์ ลดลงกว่า 23 เปอร์เซ็นต์ในรอบทศวรรษ -โดยเป็นผลมาจากเงินเฟ้อเป็นสำคัญ- ยังไม่นับคนเขียนบทตัวเล็กตัวน้อยอีกจำนวนมากที่ไม่ได้ทำงานให้รายการโทรทัศน์ขนาดใหญ่หรือไม่ได้รับงานประจำ ผู้คนเหล่านี้แทบหารายได้ขั้นต่ำให้พ้นแต่ละเดือนไม่ได้ นำมาซึ่งการรวมตัวเรียกร้องในครั้งนี้

นอกจากนี้ ด้วยเงื่อนไขการออกฉายในระบบสตรีมมิง ทำให้รายได้อีกช่องทางสำคัญของเหล่านักเขียนบทเหล่านี้หดหายไปด้วย จากเมื่อก่อน หนัง ซีรีส์ หรือรายการที่พวกเขามีส่วนร่วมในการเขียนบท ออกฉายในแพลตฟอร์มอื่น -ไม่ว่าจะวิดีโอหรือซีดี ตลอดจนการนำกลับมาฉายใหม่ (rerun)- นำรายได้มาให้พวกเขาในฐานะหนึ่งในทีมสร้าง แต่การมาเยือนของสตรีมมิงที่ทำให้ผลงานต่างๆ เหล่านั้นอยู่ในแพลตฟอร์มตลอดไป ทำให้สตรีมมิงหลายแห่งตัดการจ่ายรายได้ส่วนนี้แก่นักเขียนบทออก

• เพิ่มจำนวนคนงาน สมาคมฯ ต้องการให้รายการโทรทัศน์ -ที่ออกฉายบ่อยและเรียกร้องการสร้างสรรค์บทใหม่ๆ รายเดือนหรือในหลายๆ กรณีก็นับเป็นรายสัปดาห์- เพิ่มจำนวนทีมเขียนบทให้มากกว่าเดิม จากเมื่อก่อนที่มีนักเขียนบทเพียงหยิบมือเดียวสาละวนกับการรับมืองานบทละเอียดยิบย่อยของรายการยักษ์ มากกว่านั้น งานเขียนบทเหล่านี้โดยมากแล้วยังเป็นงานที่อยู่ระหว่างการพัฒนาก่อนหน้าที่โปรเจกต์เหล่านั้นจะได้รับอนุมัติให้สร้างโดยสตูดิโอ เท่ากับว่าคนเขียนบทมีแนวโน้มจะทุ่มแรงไปกับงานที่มีโอกาสจะ ‘ไม่ผ่าน’ การพิจารณาจากสตูดิโอไม่ว่าจะเหนื่อยกับมันมานานเพียงใดก็ตาม และการมีทีมงานมาเพิ่มเพื่อรับมือกับความยุ่งขิงต่างๆ ของแต่ละโปรเจกต์ ก็อาจทำให้นักเขียนบทต่างขยับเนื้อตัวไปหายใจหายคอกับโปรเจกต์อื่น โดยไม่ต้องมาเสี่ยงอยู่กับโปรเจกต์เดียวที่ไม่มีใครตอบได้ว่าจะได้สร้างหรือไม่ด้วย

• ระยะเวลาในสัญญาจ้างมีขนาดสั้นลง เนื่องจากสัญญาจ้างของสตูดิโอหลายแห่งยังอิงแอบกฎเกณฑ์การฉายแบบเดิม กล่าวคือ สมัยก่อนนั้น รายการหรือซีรีส์ที่ออกฉายทางโทรทัศน์มักมีความยาวเฉลี่ยซีซันละ 22-25 ตอน ขณะที่เวลานี้ ซีรีส์ส่วนมากมีความยาวเพียงห้าหรือแปดตอนเท่านั้น การที่สัญญาจ้างระบุให้นักเขียนอยู่กับสตูดิโอเป็นเวลายาวเท่าเดิมทั้งที่ซีรีส์มีขนาดสั้นลง (และค่าจ้างที่น้อยลงตามจำนวนตอนด้วย) นับเป็นการปิดโอกาสไม่ให้พวกเขาได้ไปรับงานโปรเจกต์อื่นๆ ที่จะช่วยทำมาหาเลี้ยงชีพได้

• การทำงานกับ AI ฮอลลีวูดมีท่าทีสนใจให้ปัญญาประดิษฐ์ต่างๆ มาช่วยเขียนบทเป็นร่างแรก แล้วให้มนุษย์ในฐานะนักเขียนตบให้ ‘เข้ารูปเข้ารอย’ อีกที โดยเฉพาะบรรดาบทภาพยนตร์และซีรีส์ที่ยังเขียนไม่เสร็จซึ่งมีอยู่มหาศาล ซึ่งหากเกิดขึ้นจริงก็มีแนวโน้มจะส่งผลสะเทือนครั้งใหญ่ต่อชีวิตคนเขียนบทอย่างเลี่ยงไม่ได้

Quantum of Solace (2008)

ทั้งนี้ นี่ก็ไม่ใช่การนัดประท้วงหยุดงานครั้งแรกของสมาคมฯ เพราะหลังจากก่อตั้งมาเมื่อปี 1954 โดยกลุ่มสหภาพแรงงานนักเขียน สมาชิกในสมาคมฯ ก็รวมตัวเรียกร้องความเป็นธรรมมาโดยตลอด นับตั้งแต่การนัดหยุดงานประท้วงครั้งแรกเมื่อปี 1960 เรียกร้องยกระดับคุณภาพชีวิตให้แก่คนทำงานเขียนบท และครั้งล่าสุดซึ่งถือเป็นการประท้วงครั้งใหญ่ที่หลายคนน่าจะจำกันได้ในปี 2007 ที่คนเขียนบทรวมตัวกันเพื่อเรียกร้องให้เกิดการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงการมาถึงของแพลตฟอร์มใหม่ๆ (ในตอนนั้น) อย่าง DVD และนับเป็นการนัดหยุดงานที่ส่งผลกระทบมหาศาลต่ออุตสาหกรรมฮอลลีวูด รายการทอล์กโชว์ชื่อดังอย่าง Late Night with Conan O’Brien หรือ Late Show with David Letterman ต้องเลื่อนระยะเวลาการออกฉาย ซีรีส์หลายเรื่องถูกหั่นจำนวนตอนให้สั้นลง เช่น Breaking Bad ซีซันแรก และ Grey’s Anatomy ซีซันที่ 4 ขณะที่บางเรื่องอย่าง Hannah Montana, 24 ก็เลื่อนการถ่ายทำออกไปพ้นกำหนดแต่แรก ขณะที่ในแง่ภาพยนตร์ ที่อื้อฉาวที่สุดคือ Quantum of Solace (2008) ที่ทีมเขียนบทร่วมหยุดงานประท้วงจน แดเนียล เคร็ก นักแสดงนำของเรื่องต้องเขียนบทให้ตัวเองอย่างสุดแสนจะทุลักทุเล (และเอ่ยปากในภายหลังว่า จะไม่แสดงในหนังที่บทยังไม่ ‘เรียบร้อยดี’ อีกแล้วจ้า) หรือโปรเจกต์หนังซูเปอร์ฮีโรของ จอร์จ มิลเลอร์ คนทำหนังชาวออสเตรเลียเจ้าของแฟรนไชส์ Mad Max ที่หวังอยากปั้น Justice League: Mortal แต่สตูดิโออยากให้มีทีมนักเขียนเข้ามาช่วยตบตีเส้นเรื่อง ทว่า เมื่อเกิดการนัดหยุดงานขึ้น โปรเจกต์ดังกล่าวก็เป็นอันพับไปในที่สุดเมื่อไม่มีนักเขียนคนไหนมาร่วมงานด้วยได้

ภายหลัง สหภาพแรงงานในภาคส่วนอื่นๆ ก็เข้าร่วมกับสมาคมฯ ทั้งสมาคมผู้กำกับแห่งอเมริกา (Directors Guild of America-DGA), สมาคมแรงงานภาพยนตร์และละคนเวที (International Alliance of Theatrical and Stage Employees-IATSE), สมาคมนักแสดงและศิลปิน (The Screen Actors Guild – American Federation of Television and Radio Artists-SAG-AFTRA) ซึ่งกรณี SAG-AFTRA นั้นมีข้อพิพาทกับสตูดิโออยู่แล้วเป็นทุนเดิม เมื่อสตูดิโอหลายแห่งยังใช้สัญญาแบบเดิมที่ระบุให้ภาพยนตร์หรือผลงานของนักแสดงออกฉายในโรงภาพยนตร์ก่อนเท่านั้น (แล้วจึงมาฉายทางโทรทัศน์ผ่านรายการต่างๆ ทีหลังเมื่อหนังออกจากโรงแล้ว) แต่เมื่อระบบสตรีมมิงเข้ามา ทำให้สัญญานี้ไม่ครอบคลุมอีกต่อไป ภาพยนตร์หลายเรื่องถูกปล่อยฉายทั้งโรงและทางสตรีมมิงพร้อมกัน จนเกิดปัญหาในแง่การจ่ายรายได้ให้แก่นักแสดง กรณีโด่งดังครั้งล่าสุดคือเมื่อ สการ์เล็ตต์ โจฮันส์สัน ฟ้องสตูดิโอดิสนีย์ที่ฉายภาพยนตร์เรื่อง Black Widow (2021) พร้อมกันทั้งทางโรงภาพยนตร์และสตรีมมิ่ง Disney+ ซึ่งอยู่นอกเหนือจากสัญญาของเธอ

Black Widow (2021)

นักแสดงหลายคนให้การสนับสนุนการประท้วงหยุดงานของกลุ่มนักเขียนมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม เช่น พีต เดวิดสัน (พร้อมภาพเขาเอาพิซซ่าไปยืนแจกผู้ประท้วง), บ็อบ โอเดนเคิร์ค, ดรูว แบร์รีมอร์ ที่ระบุว่าเธอขอไม่เข้าร่วมการเป็นผู้ดำเนินรายการประกาศรางวัล MTV Movie & TV “ฉันได้ฟังพวกเขาแล้ว และเคารพพวกเขามากๆ ดังนั้นจึงขอระงับการเป็นผู้ดำเนินรายการประกาศรางวัล MTV Movie & TV เพื่อแสดงความเป็นหนึ่งเดียวในการนัดหยุดงานกับเหล่านักเขียน เนื่องจากทุกสิ่งเกี่ยวกับภาพยนตร์ที่เราชื่นชมและปลาบปลื้มนั้น ก็มาจากความคิดสร้างสรรค์ของพวกเขาทั้งสิ้น และตราบจนกว่าสถานการณ์จะมีทางออก ฉันขอหยุดเพื่อเฝ้ารอเช่นนี้ไปก่อนค่ะ” ไบรอัน ไทรี เฮนรี นักแสดงจาก Eternals (2021), Bullet Train (2022) ให้ความเห็นว่า “ผมว่าทุกคนควรได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกันนะ อยากให้เหล่านักเขียนได้รับในสิ่งที่พวกเขาสมควรได้รับ และหวังด้วยว่าผู้คนจะฟังเขา ก็คนเราน่ะจะนัดหยุดงานทั้งทีก็มีเหตุผลทั้งนั้นแหละ” ขณะที่ อะแมนดา ไซเฟร็ด นักแสดงจาก Les Misérables (2012), Mamma Mia! (2008) บอกว่า “ปัญหาคืออะไรวะ มันก็เห็นอยู่แล้วไหมว่าพอสตรีมมิงเข้ามา อะไรต่อมิอะไรก็เปลี่ยนไปหมด และคนทำงานก็สมควรได้รับการชดเชยค่าแรงของตัวเอง เรื่องมันง่ายจะตายห่ะ”

ล่าสุดกับ ทอม ครูซ ผู้ติดต่อสมาพันธ์ผู้ผลิตภาพยนตร์และโทรทัศน์ผ่านทางโปรแกรม Zoom เพื่อยืนยันแสดงจุดยืนร่วมกันกับเหล่าคนทำงาน -ทั้งนักเขียน, นักแสดงและทีมงานภาคส่วนอื่นๆ- โดยเรียกร้องให้สมาพันธ์ฯ ทำตามที่ผู้ประท้วงเรียกร้อง รวมทั้งเขายังระบุว่าให้เพิ่มการครอบคลุมสวัสดิการต่างๆ ไปยังนักแสดงแทนหรือสตันต์แมนด้วย เนื่องจากมีสตันต์แมนที่เป็นสมาชิกใน SAG-AFTRA อยู่เป็นจำนวนมาก ท่ามกลางความหวาดหวั่นว่าในอนาคต สตูดิโอมีแนวโน้มจะใช้ AI เข้ามาเป็น ‘ตัวแสดงแทน’ สตันต์แมนอาชีพเหล่านี้ และจะยังผลให้พวกเขาไร้งานในที่สุด -ทั้งนี้ The Hollywood Reporter รายงานว่าการสนทนาของครูซและสตูดิโอนั้นยังไม่ลงตัวแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม AI ดูจะเป็นปัญหาใหญ่ที่ทั้งสมาคมนักเขียนบทแห่งอเมริกาและสมาคมนักแสดงและศิลปินต้องเผชิญร่วมกัน เพราะนอกเหนือจากเล็งจะเอา AI มาใช้เขียนโครงบทหรือต่อเติมสคริปต์หนังที่ยังไม่เสร็จสิ้นดีแล้วนั้น สตูดิโอหลายแห่งยังตั้งใจจะใช้เทคโนโลยีสแกนใบหน้านักแสดงและนำไปใช้งานได้ในระยะยาว โดยจะจ่ายค่าจ้างให้นักแสดงครึ่งหนึ่ง และนำภาพใบหน้าดังกล่าวนั้นไปสวมให้นักแสดงคนอื่นแสดงแทน นัยหนึ่งเพื่อลดค่าจ้างนักแสดงดังๆ ลง ซึ่งจะส่งผลต่อนักแสดงอาชีพในทุกระดับ โดยเฉพาะเหล่านักแสดงหน้าใหม่ที่ยังไม่ได้แจ้งเกิด ก็มีโอกาสจะถูก ‘ใบหน้า’ ของนักแสดงดังที่สร้างขึ้นโดย AI ช่วงชิงไปแทน อย่างไรก็ดี ตัวสมาพันธ์ฯ ออกมาโต้แย้งว่า ถึงอย่างไร หากเงื่อนไขดังกล่าวนี้เกิดขึ้นจริง ทุกสิ่งก็ต้องวางอยู่บนความยินยอมของนักแสดงอยู่แล้ว

การประท้วงหยุดงานในครั้งนี้ดูจะกินระยะเวลาไปอีกพักใหญ่ และเป็นเรื่องน่าเศร้าเหลือเกินที่อุตสาหกรรมที่ทำรายได้ดีเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ทั้งหลายครั้งยังผลิตงานที่ว่าด้วยความเป็นมนุษย์ซึ่งมีหัวจิตหัวใจอย่างอุตสาหกรรมภาพยนตร์ กลับละเลยจะเห็นผู้คนที่ดิ้นรนอยู่ในวงการ และยังผลให้พวกเขาออกมาเรียกร้องความเป็นธรรมซึ่งเขาควรจะได้รับหากว่าอุตสาหกรรมนี้มีหัวใจมากพอ

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save