fbpx

The Old Economies Strike Back: เมื่อ ‘เศรษฐกิจเก่า’ กระชากกลับ

ปี 2022 เป็นปีที่แปลก

ในขณะที่เรากำลังเตรียมพร้อมรับมือเทรนด์เศรษฐกิจแห่งอนาคตในโลกหลังโควิด เช่น การมาของเศรษฐกิจสีเขียว เศรษฐกิจดิจิทัล และการทำงานจากที่ไหนก็ได้ (work from anywhere) กลับเกิดปรากฏการณ์ที่นักวเคราะห์การเงินบางคนเรียกว่า ‘โลกเก่ากระชากกลับ’ หรือ The Old Economies Strike Back เมื่อ คลื่น ‘เศรษฐกิจเก่า’ กลับมาซัดรุนแรงจนคลื่นเศรษฐกิจใหม่ต้องถอย

ด้านสิ่งแวดล้อม สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ส่งราคาพลังงานพุ่งสูง ทำให้ความมั่นคงทางพลังงานและเงินเฟ้อกลายเป็นปัญหาเร่งด่วน ส่งผลให้การเตรียมเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสีเขียวอย่างการลดก๊าซคาร์บอนในหลายประเทศสะดุด

การประชุมผู้นำที่ดาวอสของ World Economic Forum ในปีนี้ชี้ให้เห็นว่า ราคาพลังงานที่พุ่งสูงขึ้นทำให้หลายประเทศหันกลับลงทุนผลิตพลังงานแบบดั้งเดิมอย่างถ่านหินและน้ำมันมากขึ้น โดยเฉพาะในประเทศผู้ส่งออกที่ฉกฉวยโอกาสสร้างรายได้ในยามพลังงานราคาดี ในขณะเดียวกัน ประเทศจีนเองก็ผ่อนคลายมาตรการคุมการผลิตถ่านหิน และเลื่อนเป้าหมายการลดถ่านหินไปเริ่มในปี 2026 เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤตขาดแคลนพลังงานในประเทศ 

ส่วนหนึ่งก็เพราะภาวะราคาพลังงานสูงเสี่ยงสร้างปัญหาสังคมและการเมือง ราคาพลังงานที่สูงขึ้นมักมีผลทางอ้อม ผลักให้ราคาปุ๋ย อาหาร ไปจนถึงต้นทุนการขนส่งสูงขึ้น เกิดภาวะเงินเฟ้อในยุคที่เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นดี ซึ่งจะกระทบกับกระเป๋าของคนรายได้น้อยรุนแรงที่สุด หลายประเทศจึงจำใจต้องหันมาชดเชยราคาพลังงานฟอสซิล แม้จะรู้ว่าอาจเป็นผลเสียต่อความยั่งยืนในระยะยาว

เทรนด์เศรษฐกิจดิจิทัลก็โดนกระชากกลับเช่นกัน 

ในขณะที่คนธุรกิจและประเทศต่างๆ เร่งเข้าสู่ดิจิทัลทรานสฟอร์เมชันเต็มสปีดในช่วงโควิด ปี 2022 กลับท้าทายแนวคิดที่ว่าการเปลี่ยนแปลงสู่โลกดิจิทัลคือถนนวันเวย์ทางตรงที่วิ่งไปข้างหน้าเรื่อยๆ 

เมื่อประเทศต่างๆ เริ่มเปิดให้การเดินทางเป็นไปได้สะดวกขึ้น เปลี่ยนแนวทางนโยบายให้ดำรงชีวิตอยู่กับโควิดได้มากขึ้น คนทั่วโลกกำลังกลับมาเดินทางท่องเที่ยว พบปะสังสรรค์ ประชุมแบบเจอหน้ากันอย่างเข้มข้นจนนักวิเคราะห์เรียกว่า เป็นการล้างแค้นจากความเก็บกดที่ไม่ได้ไปไหนมานาน (revenge traveling) 

เมื่อคนออกเดินทางมากขึ้น กิจกรรม-ธุรกรรรมออนไลน์หลายประเภทก็เริ่มชะลอตัวลง รายงานของ IMF ที่ศึกษาข้อมูลจาก Mastercard ใน 47 เศรษฐกิจพบว่า สัดส่วนการใช้จ่ายออนไลน์เทียบกับออฟไลน์พุ่งกระฉูดจริงในช่วงโควิด แต่ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2021 กลับเริ่มแผ่วลงและย้อนกลับมาสู่เทรนด์เดิมก่อนโควิดในบางประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา

แม้แต่เทรนด์การทำงานจากที่ไหนก็ได้ (work from anywhere) ที่เป็นประเด็นยอดนิยมในช่วงโควิดระดับมีคนตั้งคำถามว่า ออฟฟิศต่างๆ ยังจำเป็นอยู่ไหมก็เริ่มถูกตีกลับ การสำรวจของ Microsoft พบว่าประมาณ 50% ของบริษัททั่วโลกให้พนักงานกลับมาทำงานในออฟฟิศ และไม่นานมานี้ บริษัทยักษ์ใหญ่ เช่น Tesla หรือธนาคาร Goldman Sachs ก็ออกมาประกาศถึงความสำคัญในการกลับมาทำงานแบบเจอหน้ากันเช่นกัน 

สิ่งไหนชั่วคราว เทรนด์ใดยืนยาว?

การเปลี่ยนแปลงในปี 2022 ทำให้ทั้งคน ธุรกิจ องค์กร และผู้วางนโยบายต้องตั้งคำถามว่า การกระชากกลับของเศรษฐกิจเก่านั้นมาชั่วคราวหรือถาวร

ด้านหนึ่งอาจมองว่าเทรนด์เศรษฐกิจใหม่ที่ถูกเร่งขึ้นในช่วงโควิด เช่น เศรษฐกิจสีเขียวและเศรษฐกิจดิจิทัลเป็นเพียงกระแสที่มาชั่วคราวแล้วก็ผ่านไป สุดท้ายเราก็กลับไปสู่เทรนด์โลกก่อนโควิด 

ส่วนอีกด้านอาจคิดว่าเทรนด์เศรษฐกิจใหม่คือ ‘ของจริง’ และจะอยู่ยืนยาว การกระชากกลับของเศรษฐกิจเก่าที่เราเห็นในปีนี้เป็นเพียงพายุชั่วคราว แม้เกรี้ยวกราดในปี 2022 แต่แล้วก็จะพัดผ่านไป

วันนี้เรายังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนว่าฝั่งไหนถูก แต่โดยส่วนตัวคิดว่าความจริงน่าจะใกล้เคียงข้อหลังมากกว่าข้อแรก 

เศรษฐกิจสีเขียวยังมีลมส่งแรง

แม้ปัญหาความมั่นคงทางพลังงานและราคาน้ำมันที่สูงขึ้นจะทำให้เทรนด์การลดคาร์บอนสะดุดได้บ้าง แต่เทรนด์นี้ก็ยังมีปัจจัยสนับสนุนอยู่หลายข้อ 

หนึ่ง กองทุนใหญ่ต่างๆ ทั่วโลกยังให้ความสำคัญกับเทรนด์การลงทุนด้านความยั่งยืนอย่างเหนียวแน่น โดยเฉพาะเศรษฐกิจสีเขียว กองทุนเหล่านี้ใช้ความเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทต่างๆ โดยเฉพาะในภาคพลังงานผลักดันให้ธุรกิจต้องวัด carbon footprints ของตนเอง ทั้งยังต้องหามาตรการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนลงอย่างต่อเนื่อง 

สอง แม้บางประเทศจะมีการหันกลับไปหาพลังงานฟอสซิลบ้างในภาวะขาดแคลนพลังงาน แต่ก็มีกลุ่มประเทศที่หันกลับไปทุ่มกับการพัฒนาพลังงานทางเลือกและลดการพึ่งพาพลังงานฟอสซิลยิ่งกว่าเดิมในอนาคต ยุโรปคือทวีปที่ต้องการลดการพึ่งพานำเข้าพลังงานจากรัสเซียอย่างเห็นได้ชัด นอกจากนี้ ยุโรปที่เป็นตลาดส่งออกสำคัญของประเทศต่างๆ ยังอาจตั้งกำแพงภาษีต่อสินค้าที่ไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอีกด้วยในอนาคต

สาม ผู้บริโภครุ่นใหม่ให้ความสำคัญต่อประเด็นสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนสูงกว่ารุ่นก่อนๆ รายงานของ Bain & Company และเฟซบุ๊กพบว่า กว่า 80% ของผู้บริโภครุ่นใหม่ในประเทศไทยอาจยอมจ่ายแพงขึ้นกว่า 10% หากแบรนด์นั้นได้รับการยอมรับว่าให้ความสำคัญด้านความยั่งยืน โดยมีการค้นพบว่า คนรุ่นใหม่มีความกังวลและรู้สึกรับผิดชอบต่อต่อภาวะโลกร้อนและวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสูง (ทั้งที่อาจควรเป็นรุ่นก่อนที่ควรรู้สึกผิด) จนเกิดภาวะความเครียดที่เรียกว่า Eco Anxiety คล้ายกับที่สงครามเย็นเคยมีผลสร้างความเครียดให้กับวัยรุ่นยุคเบบี้บูมเมอร์

เศรษฐกิจดิจิทัลฝังรากลึก แต่อาจต่างกันในแต่ประเทศและอุตสาหกรรม 

ข้อมูลเบื้องต้นชี้ให้เห็นว่า ช่วงเวลา 2 ปีกว่าได้ทำให้เทรนด์ดิจิทัลฝังรากลงไปลึกเข้าไปในชีวิตคนและสังคมจนคงไม่ได้หายไปไหนง่ายๆ เพียงแต่ในแต่ละประเทศและแต่ละอุตสาหกรรมดิจิทัลอาจฝังรากลึกมากน้อยต่างกัน

หนึ่ง เศรษฐกิจพัฒนาแล้วและเศรษฐกิจกำลังพัฒนาอาจไม่เหมือนกัน ในรายงานของ IMF ที่กล่าวถึงข้างต้นชี้ให้เห็นว่า สัดส่วนการจับจ่ายออนไลน์ต่อออฟไลน์ในสหรัฐอเมริกาตกลงมาอยู่ที่ในระดับราวๆ เทรนด์เดิมก่อนโควิด แต่สถานการณ์ในประเทศบราซิลกลับต่างกันอย่างชัดเจน โดยแม้สัดส่วนของธุรกรรมออนไลน์ต่อออฟไลน์จะลดลงมาหลังจากสถานการณ์โควิดดีขึ้นก็จริง แต่ก็ยังสูงกว่าช่วงก่อนโควิดอย่างชัดเจน ช่วงโควิดจึงเสมือนการปรับฐานการใช้ดิจิทัลให้สูงขึ้น ซึ่งในเศรษฐกิจกำลังพัฒนาหลายแห่งก็มีเทรนด์คล้ายๆ กัน

เหตุผลหนึ่งอาจเป็นเพราะว่า ในเศรษฐกิจกำลังพัฒนามีระดับการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลไม่สูงนักก่อนโควิดระบาด โดยอุปสรรคสำคัญหนึ่งคือ การขาดทักษะทางดิจิทัล (digital literacy) ที่บ่อยครั้งก็ทำให้ไม่เห็นประโยชน์ของเทคโนโลยีไปด้วย 

แต่การเว้นระยะห่างทางสังคมในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาได้ ‘บังคับ’ ให้ users เหล่านี้ได้เรียนรู้วิธีใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมากขึ้น รัฐบาลต่างๆ ก็ออกมาตราการสนับสนุนการเข้าถึงดิจิทัล ทำให้เกิดฐานผู้ใช้ใหม่ๆ ในอาเซียนเองก็มีผู้บริโภคออนไลน์หน้าใหม่เพิ่มขึ้นกว่า 70 ล้านคนใน 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งมากกว่าประชากรประเทศไทยทั้งประเทศเลยทีเดียว ผู้ใช้หน้าใหม่จำนวนไม่น้อยเป็นกลุ่มที่แต่เดิมไม่ได้ใช้เทคโนโลยีหรือแพลตฟอร์มดิจิทัลมากนักก่อนโควิด เช่น ในหมู่คนรุ่นเก๋าหรือกลุ่ม SME ซึ่งในแบบสำรวจของ Sea-WEF (2021) พบว่า ส่วนใหญ่เมื่อเริ่มใช้แอปดิจิทัลต่างๆ เป็นแล้ว ก็มักจะมีความต้องการใช้เทคโนโลยีเพิ่มขึ้นไปอีกในอนาคต

สอง ในรายงานของ IMF ยังพบว่า แต่ละภาคส่วนของอุตสาหกรรมดิจิทัลมีเทรนด์หลังโควิดที่แตกต่าง เช่น ฟู๊ดเดลิเวรี ค้าปลีกอีคอมเมิร์ซบางประเภทและสาธารณสุขดูจะมีสัดส่วนการใช้จ่ายออนไลน์สูงกว่าช่วงก่อนโควิด สะท้อนพฤติกรรมการใช้ดิจิทัลมากขึ้น ทั้งหมดนี้อาจสะท้อนว่ามี users ใหม่ๆ เข้ามาใช้เป็นครั้งแรกแล้วอยู่ยาว และอาจกลายเป็นเทรนด์ถาวร

ในทางกลับกัน ด้านอุตสาหกรรมบันเทิงดูเหมือนว่าสัดส่วนการใช้จ่ายออนไลน์จะย้อนกลับไปสู่เทรนด์เดิมที่มีก่อนไวรัสระบาด โดยเหตุผลอาจเป็นเพราะในเซ็กเตอร์มี users ออนไลน์จำนวนค่อนข้างสูงอยู่แล้วตั้งแต่ก่อนโควิด ดังนั้นธุรกรรมที่เพิ่มขึ้นช่วงโรคระบาด จึงมาจากการใช้เวลาดูสื่อบันเทิงออนไลน์นานขึ้น และเมื่อเมืองเปิด คนก็กลับไปเที่ยวข้างนอก ดูหนัง ฟังเพลงแทนการดู-เล่นผ่านออนไลน์ที่บ้านที่ต้องทำมาตลอดในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

ไม่ใช่เรื่องทำงานในออฟฟิศหรือเปล่า แต่เป็นเรื่องความยืดหยุ่น

สุดท้าย เทรนด์ Work from Anywhere มีความซับซ้อนมากที่สุด เพราะบริษัทต่างๆ เองก็ยังลองผิดลองถูก หาสูตรที่ใช่ที่สุดของแต่ละองค์กร และแต่ละทีม

อาจกล่าวเป็นภาษาอังกฤษได้ว่า “Future of work is still a work in progress”

ที่เราพอจะเริ่มรู้ก็คือ การทำงานทางไกล 100% ที่หลายคนเคยคิดว่าจะเป็นอนาคตไม่น่าจะใช่คำตอบ แม้กระทั่งสำหรับอาชีพที่เนื้องานที่ทำผ่านโลกออนไลน์ได้ไม่ยาก เพราะโลกออนไลน์ยังไม่สามารถสร้างความสัมพันธ์และความผูกพันกับคนและคอมมูนิตี้ได้ลึกซึ้งเท่าโลกออฟไลน์ แต่ในขณะเดียวกัน การบังคับให้ทุกคนมาทำงานที่ออฟฟิศ 100% ทั้งปีแบบก่อนโควิดก็อาจไปไม่ได้แล้วเช่นกัน โดยเฉพาะในยุคที่เทรนด์ Great resignation มาแรง คนเก่งขององค์กรอาจลาออกกันยกคณะ 

สิ่งที่ชัดเจนคือ เรากำลังเข้าสู่โลกการทำงานที่ต้องการความยืดหยุ่นมากขึ้น (flexible work arrangement) ส่วนใหญ่ยังอาจทำงานในออฟฟิศด้วยกัน แต่อาจมีบางทีม บางคนที่มีบางช่วงขอไปทำงานทางไกล อาจเพื่ออยู่ใกล้ครอบครัว หรือด้วยเหตุผลอื่น (เช่น ไปทำ workation) โดยแต่ละทีมก็สามารถหาสูตรที่เหมาะสมกับตัวเองที่สุด และปรับไปตามผลที่ได้ 

2022 เป็นปีที่แปลก 

เป็นปีเทรนด์เศรษฐกิจดั้งเดิมอย่างอุตสาหกรรมพลังงานฟอสซิล เศรษฐกิจออฟไลน์ การทำงานในออฟฟิศที่เราคิดว่ามันเก่าแล้ว หวนกลับมาเคาะประตูเวียง ดึงจนเราต้องกลับมานั่งคิดและมองให้ทะลุอีกครั้งว่า เทรนด์แห่งอนาคตจะมาแน่หรือไม่ อย่างไร 

การเปลี่ยนแปลงในปีนี้มาเตือนว่า การเดินหน้าเข้าสู่โลกใหม่จะไม่ใช่ถนนเส้นตรง แต่คดเคี้ยวกว่าที่คิดและไม่ใช่ถนนวันเวย์ที่เดินไปข้างหน้าอย่างเดียว

ความท้าทายของผู้นำของปีนี้คือ รักษาสมดุลระหว่างการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าในโลกที่ยังฝุ่นตลบจากการกระชากกลับของเศรษฐกิจเก่า ในขณะเดียวกันก็ไม่เสียวิสัยทัศน์ลงทุนทรัพยากรที่มีจำกัดกับเทรนด์ระยะยาวและขับเคลื่อนองค์กร-ประเทศให้ปรับเปลี่ยนตามทันเศรษฐกิจใหม่ที่กำลังมา


อ้างอิง

Pandemic’s E-commerce Surge Proves Less Persistent, More Varied

THAI DIGITAL GENERATION SURVEY รายงานผลสำรวจคนไทยยุคดิจิทัล: ฉายภาพอนาคตประเทศไทยหลังวิกฤตโควิด-19

SME Digital Literacy กับระดับการเปลี่ยนผ่านด้านดิจิทัลของผู้ประกอบธุรกิจรายย่อยและขนาดเล็กในประเทศไทย

A SYNC SOUTHEAST ASIA REPORT: Southeast Asia, the home for digital transformation

e-Conomy SEA 2021: Roaring 20s — The SEA Digital Decade

MOST READ

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

Economy

23 Nov 2023

ไม่มี ‘วิกฤต’ ในคัมภีร์ธุรกิจของ ‘สิงห์’ : สันติ – ภูริต ภิรมย์ภักดี

หากไม่เข้าถ้ำสิงห์ ไหนเลยจะรู้จักสิงห์ 101 คุยกับ สันติ- ภูริต ภิรมย์ภักดี ถึงภูมิปัญญาการบริหารคน องค์กร และการตลาดเบื้องหลังความสำเร็จของกลุ่มธุรกิจสิงห์

กองบรรณาธิการ

23 Nov 2023

Economic Focus

19 Apr 2023

นโยบายแจกเงินดิจิทัล: ทำได้ หรือขายฝัน?

วิมุต วานิชเจริญธรรม ชวนมองวิวาทะสองฝั่งของนโยบายแจกเงินดิจิทัลในการหาเสียงของพรรคเพื่อไทย พร้อมให้ข้อเสนอถึงการปรับนโยบายให้ตรงจุดขึ้น

วิมุต วานิชเจริญธรรม

19 Apr 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save