fbpx
เปิดตำนานธนบัตรไทย : เรื่องที่คุณไม่เคยรู้

เปิดตำนานธนบัตรไทย : เรื่องที่คุณไม่เคยรู้

พงศ์ศักดิ์ เหลืองอร่าม เรื่อง

 

เคยสงสัยกันไหมครับว่าธนบัตรที่เราใช้กันจนคุ้นเคยอยู่ทุกวันนี้มีที่มาอย่างไร ใครคือผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของการนำธนบัตรมาใช้ และมีวิธีการอย่างไรที่ทำให้คนไทยยอมรับเงินที่ทำจากกระดาษ

หากสืบค้นไปในประวัติศาสตร์เงินตราของประเทศไทย จะพบว่าการที่จะทำให้ประชาชนหันมาใช้เงินกระดาษเป็นสื่อกลางสำหรับการแลกเปลี่ยนซื้อขายต้องประสบปัญหาและอุปสรรคอยู่มากมาย

ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ปัญหาทางการเงินของประเทศที่สำคัญคือความต้องการใช้เงินตราได้เติบโตอย่างรวดเร็วจนไม่สามารถผลิตได้ทันต่อความรุ่งเรืองทางการค้าระหว่างประเทศ  เงินตราหลักที่ใช้คือเงินพดด้วง ซึ่งต้องทำด้วยมือ ไม่สามารถผลิตได้อย่างรวดเร็วตามความต้องการ  แม้ว่าทางการจะแก้ปัญหาด้วยการสั่งเครื่องจักรจากต่างประเทศเพื่อทำเหรียญชนิดแบนมาใช้ แต่ก็ยังต้องประสบปัญหาการจัดหาเงินตราให้พอเพียงแก่ความเจริญทางเศรษฐกิจ

บุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จในแก้ปัญหาดังกล่าวคือ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ (26 สิงหาคม พ.ศ. 2439 – 1 มิถุนายน พ.ศ. 2449) ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ช่วงเวลานี้เองได้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเงินและการธนาคารที่สำคัญอย่างยิ่ง นั่นคือ กำเนิดธนาคารพาณิชย์ไทยแห่งแรก และกำเนิดธนบัตรไทย

สำหรับผู้ที่อยู่ในแวดวงการธนาคาร คงจะพอทราบกันดีว่า พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย คือพระบิดาแห่งการธนาคารไทย เนื่องจากมีพระดำริให้จัดตั้งธนาคารพาณิชย์ขึ้นเป็นครั้งแรก แต่อาจจะยังมีคนจำนวนไม่มากนักที่พอทราบว่าเรื่องการธนาคารและเงินตรามีความเป็นมาและเกี่ยวข้องกันอย่างไร

ในการเสด็จประพาสยุโรปของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อปี พ.ศ. 2440 พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย เสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ได้ตามเสด็จด้วยพระองค์หนึ่ง ท่านทรงเห็นแบบอย่างการจัดตั้งธนาคารชาติในประเทศตะวันตกที่เจริญแล้ว จึงมีดำริที่จะตั้งธนาคารชาติขึ้น โดยให้มีจุดมุ่งหมายหลักเพื่อการออกใช้ธนบัตร แต่ต่อมาเห็นว่าการทำสองเรื่องในเวลาเดียวกันเท่ากับเป็นการ ‘ขี่ช้างจับตั๊กแตน’ ท่านจึงทรงดำเนินการสองเรื่องนี้แยกออกจากกัน

 

กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย ที่มาภาพ : wikipedia

 

กำเนิดธนาคารพาณิชย์แห่งแรกของไทย

 

ในด้านการจัดตั้งธนาคารชาตินั้น ท่านเห็นว่าคนไทยยังไม่คุ้นเคยกับระบบธนาคารดีพอ กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัยจึงมีดำริให้มีการจัดตั้งธนาคารพาณิชย์ขึ้นมาก่อน แต่ไม่ต้องการให้ชาวต่างชาติได้ทราบ อีกทั้งยังทรงไม่แน่ใจนักว่าจะทำการได้สำเร็จ ซึ่งอาจทำให้เสียโอกาสที่จะตั้งธนาคารชาติต่อไปในอนาคต จึงทรงให้ชื่อว่า บุคคลัภย์ (Book Club) และทรงกล่าวไว้ว่า

“…สำหรับไทยฟังก็ให้คิดแปลเล่นขันๆ ไม่รู้ว่าอะไร ถ้าฝรั่งฟังก็เข้าใจว่าปับบลิกไลเบรรี่ แลทำอะไรต่ออะไรให้เคลือบคลุมเพื่อไม่ให้ทราบว่าจัดการแบงก์กิงแต่ต้น เพราะถ้าไม่สำเร็จก็ย่อมเป็นที่อัปยศ หรือจะเป็นการตัดความคิดเสียที่จะทำต่อไปไม่ได้…”

นอกจากนั้น พระองค์ทรงกราบบังคมทูลต่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ไว้ว่า

“ถ้าความสามารถแห่งชีวิตจะยืนยาวอยู่จนถึงอายุ 50 ก็คิดด้วยเกล้าฯว่า จะใกล้ต่อความสำเร็จมากทีเดียว… การที่กำหนดช้าชืดถึงเพียงนี้ก็เพราะการจัดการแบงก์นี้ต้องอาไศรยดำเนินไปตามเวลาความรู้ของประชาชนจะมีขึ้น ไม่เป็นอันสามารถจะให้สำเร็จไปได้ด้วยความเร่งร้อนยิ่งกว่าจะค่อยก่อค่อยสานตามๆกันไปเท่านั้น…”

ปรากฏว่า เมื่อข่าวการจัดตั้งธนาคารใหม่ของไทยแพร่ออกไปสู่ชาวต่างชาติ ความเกรงกลัวว่าผลประโยชน์ที่เคยได้จะลดลงจึงเกิดปฏิกิริยาจากนายธนาคารชาวต่างชาติ ในเรื่องนี้กรมหมื่นมหิศรฯได้ทรงเปรียบไว้ว่า

“…ถ้าไทยมีอำนาจในการนี้ขึ้นได้เพียงใด ก็เท่ากับเป็นไทยแก่ตัวขึ้นเพียงนั้น ฟิแนนซ์เป็นเครื่องป้องกันผลประโยชน์ของบ้านเมืองฝ่ายการพลเรือน ทหารเป็นเครื่องรักษาผลประโยชน์ในการอุกฉกรรจ์ กำลังทั้งสองฝ่ายนี้เมื่อพร้อมจึงนับว่าเป็นกำลัง ถ้าขาดฝ่ายหนึ่งก็ไม่เป็นองค์ การฟิแนนซ์เมืองเราเหมือนกับน้ำขังอยู่ในสระ มีคลองไหลเข้าออกแต่สองทาง คือ คลองใหญ่ของอังกฤษและลำหลอดเลกของฝรั่งเศส ซึ่งทั้งสองอาจจะปิดเสียให้น้ำเน่าได้ง่าย…”

การมีธนาคารใหม่ที่เปรียบได้กับให้น้ำไหลออกได้สะดวกขึ้นนี้ ก่อให้เกิดการเคลื่อนไหวอย่างมากในด้านการเมืองระหว่างประเทศทั้งจากภายในและจากภายนอกประเทศ

ทางด้านภายในประเทศ ผู้จัดการธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้ทำหนังสือในเชิงกล่าวหาว่า กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย เสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ได้ใช้อำนาจหน้าที่ช่วยเหลือธนาคารใหม่เนื่องจากมีผลประโยชน์ส่วนตัวอยู่ด้วย

ทางด้านภายนอกประเทศ เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำอังกฤษได้หยิบยกเรื่องนี้มาพูดคุยกับเสนาบดีกระทรวงต่างประเทศของอังกฤษ และกล่าวว่า

“…ประเทศทั้งสองอาจจะร่วมกันเรียกร้องอะไรจากไทยก็ได้…”

เมื่อกรมหมื่นมหิศรราชหฤทัยได้ทรงทราบความว่ามีเรื่องการเมืองระหว่างประเทศเข้ามาเกี่ยวข้อง และแม้ว่ามิได้กระทำการใดๆ เป็นเรื่องเสื่อมเสียดังที่ถูกกล่าวหา แต่ทรงเกรงว่าเรื่องดังกล่าวอาจลุกลามเป็นภัยต่อประเทศชาติ ประกอบกำลังทรงประชวร จึงกราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ โดยกล่าวว่า

“…ไม่ได้ทำการเสียให้แก่บ้านเมือง ฤาราชการ นอกจากโปลิติกซึ่งพึ่งคิดทราบเกล้าภายหลังว่าจะมีมาได้… ส่วนตัวข้าพระพุทธเจ้าถึงจะต้องกราบถวายบังคมลาจากตำแหน่งเวลานี้ก็ไม่มีความเสียใจ… แลจำนวนการที่กำหนดไว้ตามโปรแกรมที่จะจัดฉลองพระเดชพระคุณนั้นก็สำเร็จบริบูรณ์ขาดแนชัลนัลแบงก์ซึ่งเป็นอันทำไม่ได้ จึงรับใส่เกล้าฯพุ่งไปไปรเวตแบงก์ การนั้นก็สำเรจเปนรากเหง้าลงแล้ว ข้าพระพุทธเจ้ามีความอิ่มใจว่าได้ทำการให้แก่ชาติอย่างสำคัญอย่างหนึ่ง…”

แล้วเรื่องก็เป็นอันยุติ  การจัดตั้งธนาคารก็ดำเนินการได้โดยเรียบร้อยและได้จดทะเบียนเป็น บริษัท แบงก์สยามกัมมาจลทุนจำกัด ในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2449

 

บุคคลัภย์ ที่มาภาพ : Twentieth Century Impressions of Siam (1908), หน้า 117

 

กำเนิดธนบัตรไทย

 

กล่าวสำหรับปัญหาที่ว่า จะทำอย่างไรให้คนไทยหันมายอมรับการใช้เงินตราในรูปแบบที่พิมพ์จากกระดาษ ซึ่งเป็นปัญหาต่อเนื่องที่มีมาตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีความพยายามหลายครั้งที่จะออกใช้เงินกระดาษ แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ เช่นการออกเป็นหมาย ใบพระราชทานเงินตรา อัฐกระดาษ เงินกระดาษหลวง เป็นต้น

ส่วนเงินตราในรูปเงินเหรียญซึ่งเป็นที่ยอมรับแล้วก็ยังเกิดปัญหาขาดแคลน จึงทำให้สาขาของธนาคารพาณิชย์ต่างชาติ ต่างทยอยขออนุญาตทางการไทยเพื่อพิมพ์ ‘บัตรธนาคาร’ หรือ Bank Note ของตนเองออกใช้

บัตรธนาคารนี้มีลักษณะเป็นตั๋วสัญญาใช้เงินชนิดหนึ่ง ซึ่งธนาคารผู้ออกบัตรยินยอมรับบัตรธนาคารของตนแลกกับการจ่ายเงินตราที่เป็นเหรียญโลหะตามราคาที่พิมพ์ไว้บนบัตรธนาคาร

ธนาคารแรกที่นำบัตรธนาคารออกใช้คือ ธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้ จำกัด ออกใช้ในปี พ.ศ. 2432 ต่อมา ธนาคารชาร์เตอร์แห่งอินเดีย ออสเตรเลียและจีน (Chartered Bank of India, Australia and China) นำออกใช้ในปี พ.ศ. 2441 และธนาคารแห่งอินโดจีน (Banque de L’Indo Chine) นำออกใช้ในปี พ.ศ. 2442

ในช่วงปี พ.ศ. 2441 พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย ได้ทรงดำเนินการมอบหมายให้นาย Alfred Mitchell-Innes ที่ปรึกษาชาวอังกฤษเป็นผู้ศึกษาการออกธนบัตรโดยรัฐบาลไทย

ปรากฏว่านาย Mitchell-Innes แสดงความกังวลว่าการออกธนบัตรในไทยนั้นอาจประสบปัญหาดังเช่นในประเทศอื่นๆได้ ถ้ารัฐบาลมีทุนสำรองไม่เพียงพอ หากประชาชนเกิดความไม่เชื่อมั่นแล้วนำเงินกระดาษที่ออกใช้มาแลกกลับคืนที่พระคลังเพื่อแลกเงินเหรียญเป็นจำนวนมาก อาจทำให้รัฐบาลต้องประกาศหยุดการนำธนบัตรมาแลกคืน โดยยกตัวอย่างที่เกิดขึ้นในประเทศอียิปต์ ที่นำไปสู่การจลาจลและการล่มสลายของระบบเงินตรา และนำไปสู่ข้ออ้างที่ประเทศอังกฤษใช้ในการแทรกแซงทางการเมือง

นอกจากนี้ การออกธนบัตรของรัฐบาลไทย ยังต้องแข่งขันกันกับบัตรธนาคารของสาขาธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศ ซึ่งแม้ว่าจะออกมาเป็นเวลาหลายปี ก็ยังจำกัดการใช้อยู่แต่เพียงภายในกรุงเทพมหานครเท่านั้น

ส่วนข้อเสนอให้รัฐบาลจ่ายเงินเดือนเป็นธนบัตรให้กับข้าราชการ นาย Mitchell-Innes ก็เชื่อว่าจะไม่ประสบผลสำเร็จ ธนบัตรที่ได้รับก็จะถูกแลกคืนมาที่ทางการทันทีโดยนำมาแลกเป็นเงินเหรียญเพื่อจับจ่ายใช้สอย

บันทึกของนาย Mitchell-Innes นี้ กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัยได้นำความกราบบังคมทูลต่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและได้รับคำแนะนำให้ยืดเวลาออกไปก่อน

ในปี พ.ศ. 2443 กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัยได้ทรงยืนกรานที่จะออกใช้ธนบัตร โดยครั้งนี้ นาย Charles James Rivett-Carnac รับหน้าที่เป็นที่ปรึกษาคนใหม่ของกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ และได้แนะนำให้ขอยืมตัวนาย W.F.J Williamson ที่ปรึกษาชาวอังกฤษของรัฐบาลอินเดียเข้ามาช่วยงานราชการด้านการออกธนบัตร เนื่องจากมีประสบการณ์ในประเทศอินเดียมาก่อน โดยนาย Williamson เข้ามาทำหน้าที่ในการร่างกฎหมายและระเบียบต่างๆ โดยทันที และแนะนำให้รัฐบาลไทยติดต่อธนาคารแห่งประเทศอังกฤษ ซึ่งได้แนะนำไปที่บริษัท โทมัส เดอ ลา รู จำกัด (Thomas de la Rue) ประเทศอังกฤษ รัฐบาลพิจารณาและพอใจจึงได้ติดต่อให้จัดพิมพ์ธนบัตรไทย

เมื่อได้ตระเตรียมกฎระเบียบและแหล่งที่มาของการพิมพ์ธนบัตรเป็นที่เรียบร้อย กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัยจึงได้เสนอร่างพระราชบัญญัติสู่คณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา และหนึ่งวันหลังจากนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีพระบรมราชโองการให้ตรา พระราชบัญญัติธนบัตรสยาม รัตนโกสินทร ศก 121 ลงวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2445 โดยมีคำปรารภความว่า

“การค้าขายในพระราชอาณาจักร์ ณ บัดนี้ย่อมสมบูรณ์ขึ้นกว่าแต่ก่อนเปนอันมาก การรับส่งเงินทองซึ่งเปนของกลางสำหรับแลกเปลี่ยนในระหว่างสินค้าทั้งหลายย่อมมีจำนวนที่รับจ่ายมากขึ้น การที่นำเงินไปมาคราวละมากๆ เช่นนั้น ย่อมทำให้เปนเรื่องลำบากเสียเวลาของอาณาประชาราษฎร์ผู้ที่รับจ่ายมากๆเปนอเนกประการ โดยพระมหากรุณาธิคุณ เพื่อประโยชน์ต่อความสะดวกของประชาชน จึ่งพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เจ้าพนักงานกระทรวงพระคลังมหาสมบัติจัดทำตั๋วสัญญาที่ใช้แทนเงิน เรียกว่าธนบัตร์ขึ้น เพื่อรับแลกเงินของประชาชนเก็บรักษาไว้ แลจำหน่ายธนบัตร์ให้ออกใช้แทนเงินเพื่อสะดวกต่อการนับแลตรวจตราหรือจะพาไปมาก็ง่ายกว่าที่จะขนเงินอันมีจำนวนมากไปนั้น..”

พระราชบัญญัติธนบัตร ร.ศ. 121 กำหนดให้ผู้ถือธนบัตรมีสิทธินำธนบัตรมาแลกเปลี่ยนเป็นเหรียญกษาปณ์ได้ และกำหนดให้นำเงินตราที่ผู้นำธนบัตรมาแลกเก็บไว้เป็นเงินสำรอง เพื่อว่าเมื่อมีผู้นำเอาธนบัตรนั้นกลับมาแลกเป็นเหรียญกษาปณ์คืนในภายหลัง ก็จะมีเงินตราแลกเปลี่ยนกลับคืนไปได้ ธนบัตรที่จัดพิมพ์ขึ้นนี้จึงมีลักษณะเป็นตั๋วสัญญาใช้เงิน

 

ธนบัตรฉบับแรก ที่มาภาพ : เว็บไซต์ clipmass

 

อย่างไรก็ตาม  ปัญหาสำคัญที่รัฐบาลยังคงต้องเผชิญคือ

หนึ่ง จะทำอย่างไรกับบัตรธนาคารที่สาขาธนาคารพาณิชย์ต่างชาติที่ออกหมุนเวียนอยู่แล้ว ในช่วงแรกได้เกิดข้อกังวลว่าหากประกาศให้ธนาคารเหล่านี้หยุดการออกใช้โดยทันที จะทำให้เกิดปัญหาขึ้นมาได้ เพราะจะมีคนนำบัตรธนาคารเหล่านี้มาแลกคืนทั้งหมดและธนาคารไม่มีเงินสำรองไว้เพียงพอ

ในเรื่องนี้ รัฐบาลได้มีหนังสือแจ้งให้สาขาธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศทั้ง 3 แห่ง ทยอยถอนคืนบัตรธนาคารออกจากระบบเงินตราเพราะต้องการนำธนบัตรที่เป็นของรัฐบาลออกใช้เอง ปรากฏว่าสาขาธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศต่างยินยอมไถ่ถอนบัตรธนาคารของตน ทั้งนี้เนื่องจากธนาคารพาณิชย์เหล่านี้ไม่จำเป็นต้องเก็บรักษาเงินสำรองไว้เผื่อมีคนนำบัตรธนาคารมาแลกอีกต่อไป และหันมาใช้ธนบัตรที่ออกโดยรัฐบาลไทยแทน

สอง นับเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างยิ่งคือ จะทำอย่างไรให้ประชาชนทั่วไปเกิดความไว้วางใจกับเงินที่ผลิตจากกระดาษ

ในช่วงแรก กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัยได้มีดำริจะกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมาทรงกล่าวในพิธีเปิดเพื่อให้เป็นที่รับรู้และไว้วางใจของประชาชนทั้งประเทศ โดยมอบหมายให้นาย Rivett-Carnac เป็นผู้ร่างพระราชดำรัส

แต่ในร่างที่นาย Rivett-Carnac เขียนนั้น กลับกลายเป็นข้อความทั้งพระราชบัญญัติที่มีรายละเอียดข้อกฎระเบียบจำนวนมาก และที่สำคัญในร่างพระราชดำรัสนี้มีข้อความที่กรมหมื่นมหิศรฯ ทรงไม่เห็นด้วย นั่นคือ การประกาศว่าทุกหน่วยงานของทางราชการต้องใช้ธนบัตรที่รัฐบาลไทยเป็นผู้ออก เนื่องจากกรมหมื่นมหิศรฯ ทรงเห็นว่าธนบัตรที่จะออกใช้ใหม่นี้ไม่ควรทำให้ประชาชนรู้สึกว่าทางการบังคับให้ใช้ แต่ทรงต้องการให้ประชาชนรู้สึกมีอิสรภาพที่จะนำเงินเหรียญของตนมาแลกเป็นธนบัตรได้ตามความสมัครใจ

แม้ว่าร่างพระราชดำรัสจะถูกทำให้สั้นลง แต่ในวันพิธีเปิดดังที่รายงานการเปิดกรมธนบัตรลงวันที่ 19 กันยายน ร.ศ. 121 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่ได้เสด็จมาด้วยพระองค์เองเนื่องจากทรงไม่สบาย และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมพระภานุพันธ์วงษ์วรเดช เสด็จไปเปิดกรมธนบัตรแทน โดยภายหลังให้พระบรมวงษานุวงศ์ ข้าราชการและแขกชาวต่างประเทศ ได้นำเงินมาแลกเป็นปฐมฤกษ์ และเปิดให้ประชาชนทั่วไปมาแลกในวันที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2445

ภายหลังจากที่นำธนบัตรออกใช้แล้ว ผลปรากฏว่าการนำธนบัตรออกใช้ประสบผลสำเร็จอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ภายในเวลาไม่ถึงสี่เดือน ยอดการหมุนเวียนของธนบัตรรัฐบาลไทยเกินยอดหมุนเวียนของบัตรธนาคารของสาขาธนาคารพาณิชย์ต่างชาติสามแห่งรวมกัน และในปีแรกของการออกใช้ ยอดการหมุนเวียนสูงถึงกว่า 6 ล้านบาท โดยก่อนหน้านี้ นาย Mitchell-Innes ได้เคยคาดการณ์ไว้ว่าจะมีเพียง 2-3 ล้านบาทเท่านั้น

เป็นที่น่าเสียดายที่ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย ทรงสิ้นพระชนม์ ในปี พ.ศ. 2450 เมื่อพระชนมายุเพียง 42 ปี พระองค์ได้ประสบผลสำเร็จในการให้กำเนิดธนบัตรไทย รวมถึงการให้กำเนิดธนาคารพาณิชย์ไทยเพื่อกรุยทางสู่ธนาคารชาติ

แม้ไม่ได้ทรงเห็นธนาคารชาติอย่างที่ทรงตั้งพระทัยไว้ แต่อีก 35 ปีต่อมา หม่อมเจ้าวิวัฒนไชย ไชยันต์ พระโอรส ซึ่งภายหลังได้รับการสถาปนาเป็น พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิวัฒนไชย ได้ดำเนินการจัดตั้งธนาคารชาติขึ้นจนเป็นผลสำเร็จ และเป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยพระองค์แรก

 

แหล่งที่มา:

ธนาคารแห่งประเทศไทย. 72 ปี ธนาคารแห่งประเทศไทย. กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2557.

ธนาคารแห่งประเทศไทย. 100 ปี ธนบัตรไทย 2445-2545. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์กรุงเทพ (1984), 2545.

Brown, Ian G. (1972). “Paper Currency: The Government Note Issues in the Reign of King Chulalongkorn”, Journal of the Siam Society, Vol. 60.2.

MOST READ

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

Economy

23 Nov 2023

ไม่มี ‘วิกฤต’ ในคัมภีร์ธุรกิจของ ‘สิงห์’ : สันติ – ภูริต ภิรมย์ภักดี

หากไม่เข้าถ้ำสิงห์ ไหนเลยจะรู้จักสิงห์ 101 คุยกับ สันติ- ภูริต ภิรมย์ภักดี ถึงภูมิปัญญาการบริหารคน องค์กร และการตลาดเบื้องหลังความสำเร็จของกลุ่มธุรกิจสิงห์

กองบรรณาธิการ

23 Nov 2023

Economic Focus

19 Apr 2023

นโยบายแจกเงินดิจิทัล: ทำได้ หรือขายฝัน?

วิมุต วานิชเจริญธรรม ชวนมองวิวาทะสองฝั่งของนโยบายแจกเงินดิจิทัลในการหาเสียงของพรรคเพื่อไทย พร้อมให้ข้อเสนอถึงการปรับนโยบายให้ตรงจุดขึ้น

วิมุต วานิชเจริญธรรม

19 Apr 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save