fbpx

“ความยุติธรรมก็เป็นอีกชีวิตหนึ่งในสังคม” ความยุติธรรมในสายธารประวัติศาสตร์แห่งบาดแผล: ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ

ไม่เกินเลยนักหากเราจะกล่าวว่า ในรอบ 2-3 ปีที่ผ่านมา หลายประเทศทั่วโลกเป็นประจักษ์พยานของปรากฏการณ์ ‘ทวงคืน’ ความยุติธรรม นับตั้งแต่การชุมนุมใหญ่ในประเทศไทยปี 2563 ซึ่งดันเพดานการพูดถึงอำนาจและความเป็นธรรมของประชาชนกับสถาบันทางการเมือง ไปจนถึงสหรัฐอเมริกาและอังกฤษที่คนพากันโค่นล้มรูปปั้นนายทาสที่เป็นอดีตนายทุนใหญ่การค้าระหว่างประเทศยุคอาณานิคม เป็นนัยของการปฏิเสธที่จะเชิดชูหรือสร้างความชอบธรรมให้แก่พฤติกรรมอันไม่ชอบธรรมในอดีต

ในประวัติศาสตร์อันยาวไกลของมนุษยชาติ ความยุติธรรมคือหนึ่งในตัวละครที่เดินคู่ขนานกับเรามาจนถึงปัจจุบัน ในนามของกติกาการอยู่ร่วมกันในสังคม ในนามของการกระจายทรัพยากร ในนามของการกระจายอำนาจ ฯลฯ แน่นอนว่าใบหน้าของความยุติธรรมนั้นแปรเปลี่ยนไปตามเงื่อนไขและรูปแบบของสังคม มันมีใบหน้าแบบหนึ่งเมื่อมนุษย์อยู่เป็นชนเผ่า มีใบหน้าอีกแบบหนึ่งเมื่อเราเข้าสู่ระบบทุนนิยม หรือเปลี่ยนใบหน้าอีกครั้งเมื่อเรากอปรสร้างระบอบประชาธิปไตย 

กลับกัน โครงสร้างสังคมบิดเบี้ยวย่อมส่งผลต่อใบหน้าและนิยามของความยุติธรรม หลายครั้งการชำระประวัติศาสตร์บาดแผลคือคำตอบ -และก็หลายครั้งอีกเช่นกัน ที่บางสังคมไม่อนุญาตให้การสบตาข้อเท็จจริงในประวัติศาสตร์นั้นเกิดขึ้นได้ คำถามคือ แล้วเราจะอยู่กับความเจ็บปวดที่ไม่ถูกบันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์อย่างไร ความยุติธรรมยังมีใบหน้าแบบไหนในสังคมเช่นนี้

101 สนทนากับ ศ.ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ ศาสตราจารย์แห่งภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชวนสำรวจเรือนร่างของความยุติธรรม ในสายธารประวัติศาสตร์และการเปลี่ยนแปลงอันเชี่ยวกรากซึ่งเกิดขึ้นในเวลานี้

เวลาพูดเรื่องความยุติธรรมเรามักนึกถึงกฎหมายเป็นหลัก แต่มันมีมิติอื่นมากกว่านั้นไหม ถ้ามองมันในบทบาทเชิงประวัติศาสตร์ ความยุติธรรมมีบทบาทอย่างไร

ความยุติธรรมในสังคมเกือบจะเป็นจุดหมายอันแรกๆ ของการเกิดชุมชนมนุษย์ขึ้นมาตั้งแต่ยุคโบราณ เพียงแต่ยุคโบราณนั้นอาจจะเรียกความยุติธรรมต่างออกไป เช่น การจะเรียกด้วยความเชื่อแบบโบราณอีกแบบหนึ่ง แต่จุดหมายนั้นตรงกันคือ ทำอย่างไรให้สมาชิกทุกคนในชุมชนนั้น ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ ต้องอยู่ด้วยความสงบ และความสงบนั้นต้องไม่ได้มาด้วยการถูกบังคับ แต่ต้องมาด้วยความสมัครใจ เพราะเชื่อว่า ที่ชุมชนและคนที่มีอำนาจบังคับใช้นั้น เป็นสิ่งที่พวกเขายอมรับได้และพวกเขาต้องการ 

พูดได้ว่า ความยุติธรรมคือการแบ่งสรรผลประโยชน์ที่ได้จากการปฏิบัติ ผ่านการผลิต การแลกเปลี่ยนต่างๆ อย่างเที่ยงธรรม เกี่ยวกับผลประโยชน์ของคนที่จะได้ ไม่ใช่เรื่องนามธรรมอย่างเรื่องความดีหรือเรื่องภายนอก แต่เป็นเรื่องรูปธรรมอย่างเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน และโยงใยกันเป็นสังคม ถ้าไม่มีสังคม ไม่มีชุมชนทางการเมืองหนึ่งเกิดขึ้นมา ก็จะไม่มีการยกปัญหาเรื่องความยุติธรรมขึ้นมาเป็นประเด็น และไม่มีการหาทางทำให้เกิดความยุติธรรมที่คนทั้งหมดยอมรับได้

อย่างนั้นแล้ว ความไม่ยุติธรรมมีหน้าตาอย่างไร

ความไม่เป็นธรรมอาจไม่ได้มาจากผู้มีอำนาจคนเดียว เมื่อก่อนอาจจะต้องผ่านคนเพียงคนเดียว ใช้อำนาจโดยไม่ยุติธรรมเหมือนในหนัง แต่ตอนนี้มันผ่านระบบ ผ่านสิ่งที่มองไม่เห็น นี่แหละที่ยากที่จะอธิบายว่าตกลงแล้วใครจะต้องรับผิดชอบต่อความอยุติธรรม ต่อความไม่เป็นธรรม ต่อความไม่เที่ยงธรรมที่เกิดขึ้น

ในฐานะนักประวัติศาสตร์ คิดว่าการที่เราเข้าใจมิติทางประวัติศาสตร์ จะช่วยให้เราเข้าใจความยุติธรรมได้มากน้อยแค่ไหน

อันนี้จะโยงไปถึงเรื่องวิวัฒนาการด้วย มีการเริ่มมองความเปลี่ยนแปลงของสังคมอย่างมีนัย ฉะนั้น นี่จึงโยงไปถึงเรื่องปรัชญาประวัติศาสตร์ 

ปรัชญาประวัติศาสตร์ในพงศาวดารหรือในตำนาน ในศิลาจารึก ในเอกสารหรือหลักฐานแบบโบราณต่างๆ ทุกที่ ตั้งแต่อียิปต์ เปอร์เซีย ปรัสเซีย มาจนถึงเอเชีย อินเดีย สยามหรือดินแดนอุษาคเนย์ต่างๆ ก็มีหลักฐาน การเขียนประวัติศาสตร์แบบโบราณที่เดินแบบเป็นวัฏจักรหรือเป็นวงกลม คือมีจุดเริ่มต้น จุดรุ่งโรจน์ และจุดเสื่อมสลาย สูญหายไปแล้วก็เกิดใหม่ เป็นวัฏจักร สังคมที่มีปรัชญาประวัติศาสตร์แบบวัฎจักร ความคิดเรื่องประวัติศาสตร์และความยุติธรรมไม่ค่อยมีน้ำหนักเท่าไหร่ เพราะเขารู้ว่าเมื่อผ่านพ้นยุครุ่งเรืองไปแล้ว อีกเดี๋ยวกลียุคก็จะมา ความเสื่อมเริ่มจะมา ก็มาเริ่มกันใหม่ น้ำหนักจึงไปเน้นที่คุณลักษณะของผู้นำที่เป็นผู้ปกครองว่าต้องมีคุณธรรมหรือบารมี ไม่เน้นที่ระบบแต่ไปเน้นที่ตัวบุคคล

แต่ถ้าเป็นสังคมสมัยใหม่ขึ้นมาอย่างในยุโรปตะวันตกหลังเกิดการปฏิรูปศาสนาคริสเตียน ปฏิวัติภูมิปัญญาแล้วปฏิวัติวิทยาศาสตร์ เริ่มมองสังคมอย่างเป็นวิวัฒนาการอย่างต่อเนื่อง จากยุคที่ยังไม่มีความสามารถ มาถึงยุคที่มีประสิทธิภาพ มีวิชาการมากขึ้น อันนี้เขาก็เริ่มสร้างความหมายของความยุติธรรมในสังคมที่ช่วยทำให้การสร้างความเจริญ สร้างประสิทธิภาพ สร้างความมั่งคั่งร่ำรวย ความสุขให้แก่สมาชิกชุมชนนั้นๆ ได้ดียิ่งกว่ายุคก่อน ฉะนั้น ประวัติศาสตร์กับความยุติธรรมที่มันมาโยงกันโดยมีความหมายเช่นนี้ ผมว่าก็เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ตะวันตกก่อนเพื่อน ไม่ได้เกิดในประวัติศาสตร์เอเชียหรือประวัติศาสตร์ก่อนสมัยใหม่ทั้งหลายที่เชื่อว่าโองการสวรรค์เป็นคนกำหนด เมื่อจักรพรรดิเลวร้ายก็รอวันถูกโค่นล้ม เริ่มใหม่เป็นวัฏจักร ไม่ยากอะไร ไม่ต้องคิดให้มากด้วย จึงเกิดคติโองการสวรรค์และ ‘อัศวินม้าขาว’ มาช่วยกู้สถานการณ์

แต่ถ้าอย่างนั้น ตะวันตกก็มีระบบกษัตริย์เหมือนกัน ทำไมจึงมีระบบวิธีคิดเรื่องความยุติธรรมต่างจากเอเชีย

แนวคิดเรื่องสังคมของตะวันตกนั้น แท้จริงแล้ว แม้กระทั่งศาสนาคริสต์ เซนต์ออกัสติน (St. Augustine –หมายถึงนักบุญของศาสนาคริสต์ในยุคกลาง เป็นผู้มีบทบาทอย่างมากต่อแนวคิดของปรัชญาตะวันตกในเวลาต่อมา) เป็นนักคิดคนแรกๆ ที่เขียนปรัชญาประวัติศาสตร์จากการตีความทางเทววิทยาต่อชีวิตมนุษย์คือ The City of God (หรือในชื่อภาษาไทยว่า นครของพระเจ้า) เซนต์ออกัสตินเริ่มมองประวัติศาสตร์เป็นเส้นตรงและมีจุดหมายที่กำหนดแล้วจากพระเจ้า (predestined) ประวัติศาสตร์นี้เริ่มจากยุคสร้างโลก (creation) มาถึงยุคสุดท้ายในการเกิดใหม่ครั้งที่สองของพระเยซูเจ้า (Second Coming of Christ) จากกำเนิดที่พระเจ้าสร้างมนุษย์มาแล้ว มนุษย์ก็ต้องดำเนินต่อไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองต่างๆ และมียุคตกต่ำ ยุครุ่งเรือง สืบทอดกันไปเป็นเส้นตรง

เมื่อผ่านยุคคริสเตียน จากยุคกลางมาสู่ยุคแสงสว่างทางปัญญา (Age of Enlightenment) นักคิดยุโรปเริ่มมองเห็นเส้นทางของมนุษย์ที่ผ่านการสร้างชุมชน ผ่านการสร้างรัฐอย่างเป็นเส้นตรงแล้ว อนาคตเริ่มมีจุดหมาย ดังนั้น ความยุติธรรมจึงเป็นเครื่องมือสำคัญอย่างหนึ่งในการทำให้คนในสังคมนั้นและผู้ปกครองตระหนักว่า เขาต้องใช้หลักการที่เรียกว่าเป็น ‘หลักการของความยุติธรรม’ ในการปกครอง ซึ่งในนั้นก็มีความยุติธรรม ความถูกต้องชอบธรรมต่างๆ อย่างที่ผู้ปกครองทั่วไปมีเหมือนกัน เพียงแต่ว่าของตะวันตก เมื่อเขาเริ่มเอาปรัชญาประวัติศาสตร์แบบเป็นเส้นตรงที่เดินไปสู่ยุคที่ดีขึ้นอย่างที่กล่าวไป ความยุติธรรมซึ่งเป็นจุดหมายใหญ่และเรื่องอื่นๆ ก็มีน้ำหนักมาจากประชาชนมากขึ้น ทำให้ผู้ปกครองต้องยอมด้วยเหตุผลว่า ถ้าไม่ทำตามหลักยุติธรรมที่มาจากคนส่วนใหญ่ ก็จะปกครองคนไม่ได้ 

นี่ไม่ใช่เรื่องอำนาจ ไม่ใช่เรื่องกำลังอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องความเป็นเหตุเป็นผลของการปกครอง ฉะนั้น ถ้าจะมองอย่างเปรียบเทียบว่า ทำไมทฤษฎีการเมืองของตะวันตกจึงพัฒนาไปสู่รูปแบบที่หลากหลาย สามารถนำประชาชนซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ที่ไม่มีอำนาจ ไม่มีวาสนาได้ ผมคิดว่ามาจากตรรกะวิธีคิดแบบที่จะทำให้ชุมชนนั้นอยู่ได้ด้วยการทำให้คนส่วนใหญ่เกิดความพอใจ เกิดความสุข เกิดความเห็นชอบแล้วช่วยกันรักษา ผมพบว่านักปรัชญาตะวันตกสมัยใหม่นั้นให้ความสำคัญในการอภิปรายประเด็นความคิดต่างๆ บนการมองไปที่คนอื่น ไม่ใช่พูดจากตัวเองแต่ฝ่ายเดียว ต้องคิดถึงคนอื่นตลอดเวลา ตัวอย่างเช่นปรัชญาจริยศาสตร์ของ เอมมานูเอล คานต์ (Immanuel Kant – นักปรัชญาชาวเยอรมัน) ในหลักการเรียกว่า ‘Categorical Imperative’ ซึ่งเป็นกฎของการที่ทุกคนใช้ในการปฏิบัติ ไม่มีเงื่อนไข และต้องทำบนความเป็นเหตุผลไม่ใช่ความต้องการของแต่ละคนเอง กฎนี้จึงเป็นความจริงในทุกที่ทุกเวลา พูดง่ายๆ คือทำในสิ่งที่ทุกคนทำได้ ต้องคิดว่าอะไรที่ทำกับคนอื่นนั้น ถ้ามาทำกับเราแล้วเราจะรับได้ไหม แทนที่จะให้ผู้ปกครองซึ่งเป็นคนส่วนน้อยเป็นผู้รักษา แล้วก็ใช้แต่กำลัง ทุบตีคนอื่นเพื่อให้คนอื่นยอมรับตลอดเวลา ก็ต้องมาถามว่าคนทั่วไปเขายอมรับอย่างนั้นไหม โลกที่สามยังเป็นแบบนี้ เดี๋ยวนี้ก็ยังเป็น คือใช้แต่กำลังเพื่อจะทำลายฝ่ายตรงกันข้าม ขณะที่ตะวันตก เขาไปพูดหาเสียงเพื่อให้คนส่วนใหญ่สนับสนุนคนที่ขึ้นมาเป็นรัฐบาล แล้วคนส่วนใหญ่ก็จะมาปกป้องเขาเอง คุณไม่ได้ใช้กำลังไปทำร้ายคนอื่น แต่ประชาชนนั่นแหละจะมาปกป้องคุณ

ยุคอดีตที่ปกครองแบบชุมชน ความยุติธรรมอาจจะเป็นประเด็นว่าด้วยการกระจายทรัพยากรอย่างเท่าเทียม แต่เมื่อมีทุนนิยมมาครอบ ความยุติธรรมเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง

ยกตัวอย่างทฤษฎีของ จอห์น รอลส์ (John Rawls -นักปรัชญาชาวอเมริกัน) เขาเขียนหนังสือ A Theory of Justice (1971) น่าสนใจมาก เพราะรอลส์เริ่มต้นสมมติฐานของเขาด้วยการเอาทฤษฎีสัญญาประชาคม (social contract) ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ จอห์น ล็อค (John Locke -นักปรัชญาชาวอังกฤษ), ฌ็อง-ฌักส์ รุสโซ (Jean-Jacques Rousseau -นักปรัชญาชาวสวิตเซอร์แลนด์) หรือ โธมัส ฮ็อบบ์ส (Thomas Hobbes -นักปรัชญาชาวอังกฤษ) เป็นทฤษฎีที่ส่วนใหญ่เราเรียนกันมาว่าเป็นเรื่องของสังคมการเมือง ประชาสังคม (civil society) เกิดอย่างไร รัฐที่เป็นผู้ใช้อำนาจเผชิญหน้ากับสังคมซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจ จะทำอย่างไร ใครชอบธรรมหรือไม่ชอบธรรมอย่างไร 

ปรากฏว่า รอลส์เอาทฤษฎีนี้มาอธิบายความยุติธรรม ผมเองก็ว่าแปลกและน่าคิด เขาบอกว่าคนมาทำสัญญา สัญญาที่จะมาควบคุมกำกับการใช้ชีวิต การดำรงชีวิตของเรา สังคมทางการเมือง ทางเศรษฐกิจต่างๆ จนเป็นที่พอใจของทุกคนและทุกคนยอมรับหลักการนี้ ไม่มีการบังคับ การเข้ามาทำสัญญาตามทฤษฎีนี้คือทุกคนเห็นพ้องต้องกันว่าเป็นการเซ็นประโยชน์ร่วมกัน ฉะนั้น รอลส์เลยบอกว่า ทฤษฎียุติธรรมนั้นคือทฤษฎีว่าด้วยความเที่ยงตรงหรือเที่ยงธรรม ซึ่งเขาเรียกว่า justice as fairness คือเป็นเรื่องเที่ยงตรง ใครควรได้ ได้แค่ไหน และเขาก็ไม่ได้บอกว่าต้องได้เท่ากัน เพราะทุกคนเกิดมาไม่เหมือนกัน มันมีความเหลื่อมล้ำ ไม่เท่ากัน แต่บนความเหลื่อมล้ำ บนความไม่เท่ากันนั้น มันต้องมีความเที่ยงตรง คือคนที่ต่ำกว่าก็ต้องมีช่องทางได้บ้าง ไม่ใช่ว่าต่ำเตี้ยและเสียเปรียบตลอดเวลา จะจ่ายภาษีก็จ่ายมาก คนที่ได้อยู่แล้วก็เสียภาษีน้อย เขาต้องทำให้มันเกิดความ fair ซึ่งผมว่าเขาก็ไม่ได้คิดพิสดารอะไร

ความเที่ยงตรงนี้เป็นลักษณะเดียวกับ equality ไหม

ไม่ใช่เลย เพราะเขาบอกว่าความเสมอภาคมีอยู่ในเสรีภาพ ซึ่งเขาใช้คำว่า equal liberty เสรีภาพคือต้องเท่ากัน ในสหรัฐอเมริกาคือเอารัฐธรรมนูญเป็นหลักประกันของสิทธิเสรีภาพของทุกคน นี่คือใช้หลักเท่าเทียมกันได้ คือไม่ควรมีใครที่เกิดมาแล้วมีเสรีภาพมากกว่าคนอื่น เสรีภาพต้องได้เท่ากัน คนที่มีน้อยก็ต้องให้เขามากขึ้น คนที่มีมากก็ต้องหาทางทำให้น้อยลง 

แต่เมื่อเข้าถึงเท่ากันแล้วผลที่ได้คืออะไร ตรงนี้มีทฤษฎี justice หรือความยุติธรรมเข้ามาช่วย ถ้ารัฐบอกว่ารัฐให้ทุกคนไปเรียนหนังสือแล้วก็ไปสิ ได้เท่าไหร่ก็ได้เท่านั้น แต่เมื่อคนจนไปเรียนกลับพบว่ามีโรงเรียนแค่สองแห่ง แถมไม่มีคุณภาพ ขณะที่คนรวยไปโรงเรียน มีอยู่สิบแห่ง และแต่ละแห่งก็ดีมาก เป็นโรงเรียนนานาชาติ เรียนอย่างยอดเยี่ยม มีเครื่องมือสื่อสาร อย่างนี้เมื่อเรียนจบมาอีกฝ่ายหนึ่งก็ได้ค่าตอบแทนน้อย ทำงานได้น้อยเพราะเขารู้แค่นี้ พูดภาษาอังกฤษไม่ได้ เป็นต้น ฉะนั้น รัฐต้องช่วยคนส่วนนี้

ทฤษฎีของ อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ก็พูดถึงประเด็นนี้ในหนังสือ ‘จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน’ อาจารย์พูดตั้งแต่อยู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แล้วเขียนเรื่องนี้ออกมา โดยบอกว่า เมื่อคนเกิดมา อย่างน้อยรัฐต้องทำให้เขาได้มากขึ้น นี่คือทฤษฎีตะวันตกที่เห็นมาเป็นร้อยกว่าปีแล้ว แต่ในไทยนั้น นักเศรษฐศาสตร์ นักกฎหมายหรืออะไรต่างๆ มองไม่เห็น เห็นแต่เพียงว่า มันเท่ากันแล้ว คุณก็ไปเรียนสิ มีโรงเรียนรัฐ โรงเรียนประชาราษฎร์ เข้าเรียนได้แล้ว จบ โดยไม่ได้บอกว่ามันจบเท่ากันไหม

วิธีคิดแบบนี้ของรัฐไทยเป็นผลสืบเนื่องมาจากวิธีคิดเรื่องความยุติธรรมของเราบิดเบี้ยวแต่แรก หรือเป็นเพราะมองความยุติธรรมด้วยวิธีคิดคนละแบบกับโลกตะวันตก

อันนี้ผมว่าต้องกลับไปดูนะ มีงานเขียนพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ 4 เขียนในหนังสือเรื่อง ‘นานาธรรมวิจารินี’ ซึ่งแปลว่า ถ้อยคำที่สรรหาเพื่อไปเรียนเลือกลัทธิธรรมเนียมต่างๆ เหมือน Wikipedia ของปัจจุบัน ในหนังสืออธิบายเรื่องกำเนิดความยุติธรรม ผมยังตื่นเต้นว่าทำไมท่านเลือกพูดเรื่องความยุติธรรม ซึ่งตอนนั้นเขาสะกดว่าเป็น ‘ยุตติธรรม’ เอาตำนาน เรื่องการเกิดชุมชน สังคมแต่โบราณมาเป็นจุดเริ่มต้นของการบรรยายเรื่องการปกครองและความยุติธรรม 

ผมเดาว่าท่านคงเอามาจากอัคคัญญสูตร (หมายถึงหนึ่งในพระสูตรของพุทธศาสนาว่าด้วยต้นกำเนิดโลกและมนุษย์) ซึ่งอยู่ในพระไตรปิฎก เล่าว่ามนุษย์เป็นเทพ ลงมากินดินต่างๆ ทำให้ความเป็นเทพหายไป กลายเป็นมนุษย์อยู่บนโลก ต้องเริ่มทำมาหากิน เริ่มปลูกข้าวสาลี แรกๆ เมื่อปลูกข้าวได้ทุกคนก็พอใจ แต่หลังๆ เมื่อคนมากขึ้น ผลผลิตที่ได้ก็เริ่มน้อยลง ฉะนั้น มีบางคนขี้เกียจ ไม่อยากทำ เห็นคนอื่นปลูกได้เยอะก็ไปแอบขโมยข้าวคนอื่น เกิดการทะเลาะ ถืออาวุธออกมาห้ำหั่นกัน เจ้าของที่ก็ต้องหากำลังมารักษาที่ดินของตัว คนที่จะโกงก็สร้างกองกำลังไปปล้นเขา จนในที่สุดต้องมาประชุมตกลงกันว่า ต้องหาคนมาเป็นหัวหน้า ใครที่มาเป็นหัวหน้าเราจะให้เขาเป็นเจ้าของที่ดิน คนนี้จะถูกยกให้เป็นกษัตริย์หรือสมัยก่อนเรียกว่าสมมติราช เป็นพระราชาที่สมมติขึ้นมา

รัชกาลที่ 4 เล่าตามนี้ แต่ท่านก็บอกด้วยว่า จากนั้นการแบ่งผลประโยชน์หรือรายได้นั้น ก็เริ่มเที่ยงธรรมขึ้น ใครทำมากก็ได้มาก ใครทำน้อยก็ได้น้อย ผมคิดว่ารัชกาลที่ 4 เข้าใจเรื่องความยุติธรรมโดยหลักแบบที่ตะวันตกเข้าใจตั้งแต่ยุคแรก เพราะมันคือการประกันผลประโยชน์ที่พึงได้ของสมาชิกในชุมชน ว่าเขาควรจะได้เท่าไหร่ ได้อย่างไร

แต่ข้อที่เราแตกต่างจากโลกตะวันตก อย่างที่คุณถามว่าทำไมเราจึงไม่พัฒนาไปสู่การที่รัฐช่วยคนข้างล่างให้มากขึ้น ผมคิดว่าอยู่ตรงที่ความเป็นรัฐแบบรัฐไทย ซึ่งผมว่ารัฐแบบเอเชียก็คงคิดคล้ายๆ กัน คือว่า การประกันความยุติธรรมนั้น เรามองที่อำนาจของผู้ปกครองเป็นสำคัญ อย่างอัคคัญญสูตรในพระไตรปิฎกบอกว่าต้องหาคนที่มีรูปร่างสง่างาม สวยงาม คือเป็นคนที่บุญญาบารมีและมีสติปัญญา มีความเพียรหรือความสามารถ รัชกาลที่ 4 ก็หยิบสิ่งนี้มาและเพิ่มว่ามีอำนาจด้วย เพราะต้องใช้กระบองในการควบคุมผู้คนให้อยู่ในอาณัติ แล้วจากนั้นจึงจะแบ่งปันกันได้ คือการบรรลุหลักยุติธรรมนั้น ผู้ปกครองต้องมีสติปัญญาและถืออำนาจในมือ 

แต่การที่เราเน้นการใช้อำนาจ ทำให้ทฤษฎียุติธรรมของไทยตั้งแต่ยุครัชกาลที่ 4 เป็นต้นมา ไม่มีรากอยู่ที่การกระจายบทบาทหรือกระจายการสร้างผลประโยชน์ของคนข้างล่าง คนข้างบนไม่ได้เป็นคนตัดสิน แต่เป็นคนที่ต้องประกันว่าผลผลิตนั้นจะต้องกลับลงไปสู่คนข้างล่าง เช่น ถ้ามีการโกงด้วยตาชั่ง รัฐก็ต้องไปจัดการให้ตาชั่งเที่ยงตรง นั่นคือการใช้อำนาจ แต่ไม่ใช่อำนาจเพื่อไปบังคับว่า คนนี้ต้องได้ คนนั้นต้องไม่ได้ หรือให้คนนั้นทำแบบนั้นแบบนี้ ซึ่งตรงนี้จะไปลดทอนบทบาท ศัพท์สมัยใหม่คือการมีส่วนร่วมทางการเมืองและสังคมของพลเมือง 

อย่างนั้น ตอนที่ตะวันตกเข้าสยามมาในรัชสมัยรัชกาลที่ 5 และรัฐไทยรับเอาแนวคิดว่าด้วยความยุติธรรมเข้ามา มันเปลี่ยนวิธีคิดในสยามไปไหม

เมื่อเอาบริบทมาเทียบกัน สังคมยุโรปขยายความรับรู้ ยกระดับการปฏิบัติทั้งทางทฤษฎีและการปฏิบัติเรื่องความยุติธรรมไปจนถึงเรื่องเสรีภาพ จริงๆ การจะทำให้หลักการยุติธรรมบรรลุความสำเร็จได้นั้น แม้จะ 60-70 เปอร์เซ็นต์ก็ตาม ต้องอาศัยหลักการทางการเมือง ทางเศรษฐกิจ และทางอื่นๆ ประกอบด้วย รวมทั้งหลักกฎหมายเอง อย่างที่คุณถามนั่นแหละว่า เรามักจะคิดไปว่าความยุติธรรมเป็นเรื่องกฎหมายเท่านั้น เพราะกฎหมายเป็นมาตรการที่เห็นชัดที่สุดในการประกันหรือทำให้คนรู้ว่า นี่ยุติธรรม ถ้าคุณไปฆ่า ไปทำสิ่งผิด ก็จะถูกลงโทษ 

แต่การที่จะทำให้กฎหมายเป็นผู้ประกันความยุติธรรมหรือทำให้ความยุติธรรมเกิดขึ้นได้จริงนั้น หลักการเมืองก็ต้องดำรงอย่างเที่ยงธรรมด้วย ไม่อคติ ไม่เอาพรรคพวก แต่การจะทำให้อำนาจทางการเมืองและผู้ปกครองไม่อคติ เราก็พบว่ายากมากแล้ว นี่ไม่เฉพาะในไทยหรอก อำนาจทางการเมืองไม่ว่าที่ยุโรปตะวันตกหรือจีน ไม่ว่าระบอบไหน ทฤษฎีพรรคพวก ทฤษฎีอุปถัมป์ต่างๆ แล้วแต่ที่คุณจะเรียก อย่างไรเสียก็จะยังมีอยู่ทุกที่ อย่างไรเสียความเป็นมนุษย์ก็ไม่หายไปไหน สัญชาติญาณมนุษย์เหมือนกันทุกแห่ง เรื่องผลประโยชน์ส่วนตัวและผลประโยชน์เฉพาะกลุ่มมักจะมาตลอดเวลา หลักการเมืองจึงต้องสลายวิธีปฏิบัติแบบส่วนตัวเหล่านี้ ความเป็นสถาบัน (institutionalization) ในทางการเมืองและทางเศรษฐกิจของตะวันตกจึงค่อนข้างมีประสิทธิภาพ ด้วยการทำให้ปัญหาเรื่องความเป็นส่วนตัวเหล่านี้เกิดขึ้นไม่ได้หรือเกิดยาก ด้วยการทำให้มันอยู่ภายใต้ระบบ นี่คือสิ่งที่สังคมเราไม่ค่อยประสบความสำเร็จ

หลังจากตะวันตกเข้ามาในสยาม ระบบกฎหมายของตะวันตกมีส่วนช่วยสร้างรากฐานกระบวนการยุติธรรมในไทยไหม

ระดับหนึ่ง รวมทั้งปัญหาเรื่องการใช้อำนาจ การปกครอง เมื่อตะวันตกเข้ามา อำนาจแบบโบราณซึ่งโยงกับบุญญาบารมี โยงกับจารีต ศาสนา ไสยศาสตร์ต่างๆ ก็กลายเป็นเรื่องที่ยึดโยงกับกฎหมาย เพียงแต่เราไม่ได้ทำร้อยเปอร์เซ็นต์ 

จริงๆ คือหลักลัทธิธรรมนูญ constitutionalism (รัฐธรรมนูญนิยม) ให้อำนาจปกครองสูงสุดอยู่ที่รัฐธรรมนูญซึ่งตรงนี้ตะวันตกสร้างได้และประสบความสำเร็จ ทุกคนยอมรับ แต่ของเราเมื่อสร้างแล้ว รัฐธรรมนูญนั้นถูกโยก ถูกฉีกทึ้งมาตลอด จนกระทั่งหลักอำนาจสูงสุดของเขาอยู่เพียงแค่ในตัวเขียน แต่ไม่อยู่ในทางปฏิบัติเลย ทั้งที่ในทางปฏิบัตินั้น เรายังมีอำนาจอีกอย่างที่ศักดิ์สิทธิ์ อยู่คู่บ้านคู่เมือง มีความเป็นจารีตต่างๆ อำนาจนี้กลับมีผลในทางปฏิบัติมากกว่า 

หลักยุติธรรมของเราเจอปัญหาคล้ายๆ อำนาจทางการเมือง คือเมื่อถูกถ่ายเข้ามาในทางปฏิบัติเชิงสังคม เชิงกฎหมายต่างๆ ก็ไปอิงกับอำนาจอภิสิทธิ์ ความได้เปรียบทางสังคม ไม่ถูกทำให้เป็นสถาบันที่เป็นภววิสัยเหมือนทางตะวันตก หลักยุติธรรมจึงกลายเป็นหลักที่อยู่ในตัวบท ในกฎหมาย ในทางสังคม ในโรงเรียน แต่มันขึ้นอยู่กับว่าได้ผู้ปกครองดีไหม ได้คุณครูดีหรือเปล่า ถ้าได้ดี ความยุติธรรมก็มาก แต่ถ้าเจอผู้ปกครองที่อคติ เจอคุณครูที่อคติในโรงเรียน หลักยุติธรรมก็น้อยลงไป

มองเรื่องความยุติธรรมกับวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดบางอย่างในไทยอย่างไร เช่น การนิรโทษกรรม การอุ้มหาย เราจะทำความเข้าใจเรื่องพวกนี้ผ่านวิธีคิดแบบประวัติศาสตร์ได้ไหม

การอุ้มหาย การฆาตกรรมอำพรางไม่ว่าจะทำโดยโจ่งแจ้งหรือปิดลับนั้น ที่ทำได้อยู่ทุกวันนี้โดยภาครัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐ impunity รัฐพ้นผิดเกิดได้เพราะเขาคิดว่าคนในสังคมจำไม่ได้ จึงทำซ้ำแล้วซ้ำอีก ซึ่งการที่คนจะจำได้นั้นจะต้องมีการลงโทษคนทำผิดด้วย คือเอาเจ้าหน้าที่ หน่วยงานต่างๆ มาลงโทษตามกระบวนการ จะได้มากหรือน้อยก็ต้องทำ ต้องลงโทษให้ได้อย่างทันการณ์ ไม่ใช่ทำอย่างเชื่องช้าจนคนลืมไปหมดแล้ว

กรณีบาดแผลในประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ เขาจัดการอย่างไร

อันหนึ่งที่ผมคิดว่าประชาธิปไตยและการมีส่วนร่วมของประชาชนในสหรัฐอเมริกามีความหมายและมีพลังนั้นไม่ได้อยู่ที่ปริมาณคน แต่น้ำหนักที่สำคัญคือมันได้รับการตอกย้ำจากระบบกฎหมายและระบบยุติธรรมที่เอาผิดเจ้าหน้าที่ภาครัฐได้ ลงโทษให้เห็น อาจจะช้าหรือเร็วต่างกันไป แน่นอนว่ามีหลายคดีมาก เช่น กรณีเจ้าหน้าที่รัฐที่วางระเบิดในโบสถ์ (หมายถึงเหตุการณ์วางระเบิดโบสถ์แบปทิสต์บนถนนสาย 16 ที่รัฐแอละบามาในปี 1963) ฆ่าคนดำ รวมทั้งเด็กผู้หญิงด้วย ข้อมูลหลักฐานเกี่ยวกับผู้ทำความผิดนั้นครบถ้วน แต่เมื่อส่งฟ้องอัยการก็กลับทำให้หลุดไป ภาคใต้สหรัฐฯ คล้ายกับสังคมไทยที่ระบบพรรคพวกอุปถัมภ์ยังแรง เพราะเหตุการณ์เกิดขึ้นที่ทางภาคใต้ของสหรัฐฯ ซึ่งการเมืองระบบอุมถัมป์แรงมาก ฉะนั้น ก็ว่ากันมาตั้งแต่เจ้าหน้าที่ตั้งแต่ผู้ว่าการรัฐไปจนถึงอัยการชั้นสูงและลูกขุน สุดท้ายก็หลุดคดี จนเมื่อสิบปีที่แล้วถึงลงโทษได้ ถือว่าใช้เวลาหลายสิบปีในการจับตัวผู้ก่อการกลุ่มนี้มาลงโทษได้

หรือบางเรื่องก็ไม่เคยถูกพูดถึงเลยโดยเฉพาะความรุนแรงต่อคนผิวดำ คำถามคือมันหายไปได้อย่างไร หลายครั้งเมื่อมีการหาหลักฐานก็พบว่า นักข่าวในเมืองนั้นๆ พร้อมใจกันไม่รายงานข่าวที่เกิดขึ้นกับคนดำ ใครเขียนข่าวก็ถูกสั่งฆ่า สถานการณ์เหล่านี้ดุเดือดมาก ใครนึกบ้างว่า ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 คนผิวดำในภาคใต้ถูกแขวนคอถึงตาย เผาทั้งเป็น ซึ่งตัดสินโดยศาลเตี้ยของคนผิวขาว นับร้อยนับพันคน ข้อมูลนี้ไม่มีการเปิดเผยเลย ไม่มีในตำราประวัติศาสตร์อเมริกาแม้แต่เล่มเดียว

ที่ผมจะบอกคือ อย่างน้อยที่สุด คนอเมริกันก็รู้ว่า หากคุณต่อสู้ เรื่องจะไม่หายไปไหน ผู้คนเขาจึงต่อสู้กันมาตลอด คนดำเขาจึงเอาอดีตของเขามาเล่าทุกห้าปีหรือทุกสิบปี บางเรื่องนี่ ขนาดเราเรียนประวัติศาสตร์ เรายังแปลกใจเลยที่ประวัติศาสตร์ที่เราเรียนไม่เคยพูดถึงเรื่องนี้เลย

นึกถึงหนังเรื่อง Emancipation (2022) พูดเรื่องรูปภาพของ ปีเตอร์ ทาสคนดำที่ถูกเฆี่ยนจนหลังลาย เป็นภาพที่โด่งดังมากแต่เพิ่งถูกหยิบมาเล่าในวัฒนธรรมกระแสหลัก หลายคนเลยมองว่าอาจมีประวัติศาสตร์คนดำอีกหลายเรื่องที่ยังไม่ถูกค้นพบหรือชำระ

ความจริงผมเคยเห็นรูปนี้ตั้งแต่ตอนที่ไปเรียนประวัติศาสตร์อเมริกา สักปี 1980s ตอนไปค้นคว้าข้อมูลที่ห้องสมุดก็เห็นว่ามีภาพเก่าๆ เหล่านี้ แต่มันไม่ได้มีใครเอามาเผยแพร่ ผมไปเจอแล้วก็ทำอะไรไม่ได้ สมัยนั้นไม่มีอินเทอร์เน็ต จะเอาไปถ่ายเอกสารก็เห็นไม่ชัด แต่เห็นแล้วก็รู้สึกว่ามันน่ากลัวเหลือเกิน แต่หลังๆ เห็นอยู่ในอินเทอร์เน็ตเยอะมาก ผมรู้สึกว่ามันมาช้า แต่มันก็มาถึงน่ะ ดีกว่ามันไม่มา

กรณีที่หยิบประเด็นนี้มาเผยแพร่ในวัฒนธรรมกระแสหลัก นับเป็นการชำระประวัติศาสตร์ได้ไหม

ใช่เลย ตอนนี้คนผิวดำในสหรัฐอเมริกาชำระประวัติศาสตร์ของตัวเองทุกปี หากมีหลักฐานก็เอามาเปิดเผย ผมว่าตอนนี้เหตุการณ์ที่น่าตื่นเต้นมากๆ ในสหรัฐอเมริกาคือ ทุกเมืองนั้นมีคนดำอยู่ และจะต้องมีคดีต่างๆ ไม่ว่าจะฆาตกรรม หรือใช้วิธี lynching (การลงประชาทัณฑ์หรือใช้ศาลเตี้ย) ซึ่งไม่น่าเชื่อเลยว่าครั้งหนึ่งสหรัฐอเมริกาจะใช้ศาลเตี้ยตัดสินประหารชีวิตคนดำเป็นร้อยคน 

คำถามคือประเทศไทยมีแบบนี้บ้างไหม ตั้งแต่คดีกบฏผีบุญในอีสาน รัชกาลที่ 5 บอกว่าเป็นผีบุญ เป็นกบฏที่ใช้ไสยศาสตร์หลอกชาวบ้านให้ลุกฮือ ตอนนี้ก็มีคนที่ไปขุดหลักฐานมาได้ ที่ที่ชาวบ้านถูกสังหารโดยทหาร ถือเป็นทุ่งสังหารเลย เพียงแต่ก็ทำได้แค่นี้ ยังไม่มีมากไปกว่านี้ว่าใครเป็นคนสังหาร มีคำสั่งมาจากไหน ทำให้ลงโทษคนทำผิดไม่ได้ 

เราเรียนรู้อะไรจากการเคลื่อนไหว การเรียกร้องของคนดำเหล่านั้นได้บ้าง

อาจไม่ได้โดยตรงนะ เพราะเราไม่ถูกกระทำแบบ racism หรือการเหยียดผิว เหยียดเชื้อชาติมากขนาดนั้น แต่เราเหยียดด้วยวิธีอื่น เป็นการเหยียดทางวัฒนธรรมผสมกับเหยียดเชื้อชาติ แต่ในชีวิตประจำวัน ยุคหนึ่งคนดำในสหรัฐอเมริกาถูกสั่งห้ามไม่ให้เข้าบางร้าน ห้ามนั่งโต๊ะบางตัว รถไฟก็ต้องแบ่งว่าโบกี้นี้เป็นของคนดำ อันนี้ของคนขาว หรือโรงเรียนก็แยกสีผิว จนกระทั่ง อับราฮัม ลินคอล์น (อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ) มีคำสั่งเลิกทาส อย่างไรก็ดี หลังจากนั้นเขาถูกฆ่าตาย ประธานาธิบดีคนต่อมาคือ แอนดรูว์ จอห์นสัน ไม่เข้มแข็ง พรรครีพับลิกันก็อ่อนแรงลงไป กลายเป็นยอมให้อดีตนายทาสที่เป็นคนขาวกลับเข้ามาเล่นการเมืองได้ และเมื่ออดีตนายทาสพวกนี้กลับมา สิ่งแรกที่ทำคือเล่นงานคนผิวดำ พวกคนขาวในภาคใต้ออกกฎหมาย segregation กีดกันไม่ให้คนดำขึ้นมามีบทบาทในทางการเมือง ด้วยการทำให้การมีสิทธิเลือกตั้งยากขึ้น เช่น คุณสมบัติในการอ่านหนังสือก่อนเลือกตั้ง คุณต้องไปพิสูจน์กับคนอื่นก่อนว่าคุณอ่านหนังสือได้ และเมื่อคุณไปหาเจ้าหน้าที่ เจ้าหน้าที่ก็จะเอาหนังสือยากๆ มาให้คุณอ่าน คนที่อ่านก็เป็นชาวบ้าน เรียนไม่ได้สูงมาก สุดท้ายก็อ่านไม่ได้ และนี่คือที่มาของการปกครองแบบแบ่งแยก (separate but equal) 

กรณีประวัติศาสตร์อเมริกานั้นชัดเจนมาก ประการแรก ประวัติศาสตร์อเมริกามีฉบับเดียว เรียบง่าย ไม่ซับซ้อน คนไทยเวลาไปเรียนประวัติศาสตร์อเมริกาก็จะบอกว่า แหม มีแค่สองร้อยปีเท่านั้นเอง ประวัติศาสตร์ไทยยาวกว่ามาก หรือประวัติศาสตร์ยุโรปก็เป็นพันปี 

แต่ในแง่หนึ่ง ผมคิดว่าประวัติศาสตร์อเมริกาเริ่มต้นด้วยการบันทึกหลักฐานข้อมูล ไม่ต้องจินตนาการอะไรเลย มีหลักฐานหมด คำประกาศเอกราช คำประกาศเมย์ฟลาวเวอร์ (Mayflower Compact -หมายถึงสัญญาอย่างเป็นทางการครั้งแรกในอันจะให้คนในชุมชนปกครองตนเอง) ล้วนมีหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษรทั้งสิ้น ตอนนี้สภาในรัฐแคลิฟอร์เนียเริ่มพิจารณาคำร้องที่ว่า หากพิสูจน์ได้ว่าบรรพบุรุษของใครเคยตกเป็นทาสของการค้าทาสในอดีตจริงก็จะชดใช้ ถือเป็นรัฐแรกที่ชดใช้ค่าเสียหายประเด็นนี้ ซึ่งรัฐนี้ทำได้เพราะเป็นรัฐเกือบสุดท้ายเลยที่ยอมรับทาสเข้ามาทำงาน ขณะที่รัฐทางใต้รับทาสมาก่อนหน้าหลายปีมาก อย่างรัฐเวอร์จิเนียนี่นำทาสเข้ามาตั้งแต่ปี 1619 -ตอนผมไปเรียนสหรัฐอเมริกาต้องท่องเรื่องนี้เป็นเรื่องแรกเลย- ข้อมูลหลักฐานจึงหาไม่ยาก 

คนดำที่ในอดีตมีบรรพบุรุษเป็นทาส เขากำลังรวบรวมข้อมูลต่างๆ เพื่อจะฟ้องเรียกค่าเสียหายจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ซึ่งสิ่งนี้สู้กันมาหลายสิบปีมาก ตอนผมไปเรียนครั้งแรก ผมยังนึกอยู่เลยว่าเขาสู้กันขนาดนี้เชียวหรือ 

อย่างนั้นเราจะปรองดองกันอย่างไร คนที่เป็นเหยื่อจะอยู่กับประวัติศาสตร์ที่ยังไม่ได้รับการชำระอย่างไร

ก็นี่ไง อย่างคนดำในอเมริกา เขาต้องการให้รัฐบาลประกาศเรื่องนี้และทำให้มันแจ่มชัด ทำให้ความยุติธรรมมันเที่ยงตรง อะไรที่เขาสูญเสียไปก็คิดมาเป็นตัวเงิน หากว่าทำได้ จากนั้นรัฐบาลก็จ่าย หรืออาจชดเชยในระดับที่ยอมรับได้ เพราะประวัติศาสตร์ช่วยสร้างความยุติธรรมให้เกิดขึ้นกับคนที่ถูกกระทำอย่างไม่ยุติธรรม

กรณีการล้อมปราบเสื้อแดงปี 2553 ในไทยที่ถือเป็นประวัติศาสตร์ที่ยังไม่ได้รับการชำระเหมือนกัน เราจะอยู่กับบาดแผลนี้กันได้อย่างไร

อันนี้ก็ต้องเกิดความยุติธรรม หากจะทำให้หลักความยุติธรรมปรากฏเป็นจริงในสังคมไทย ผมว่าระบบการเมือง ระบบยุติธรรมต้องเข้ามาพิจารณารวมทั้งภาคประชาสังคม ว่าเราควรเดินหน้าจัดการปัญหาเหล่านี้อย่างไร เพื่อให้เกิดความเที่ยงธรรมกับทุกฝ่าย ไม่ให้มันหายไป ทำให้มันถูกต้อง ใครผิดก็ต้องว่าไปตามผิด ใครที่ชอบก็ต้องทำให้เขาได้รับในสิ่งที่เขาควรได้รับกลับคืนมา 

เราจะอยู่กับประวัติศาสตร์บาดแผลด้วยการให้อภัยแล้วเดินหน้าไปได้ไหม หรือต้องเกิดการลงโทษกันเสียก่อน แล้วค่อยเดินหน้าต่อได้

ผมว่ามันขึ้นอยู่กับบริบท ผมนึกถึงกรณี เนลสัน แมนเดลา (Nelson Mandela- อดีตประธานาธิบดีแอฟริกาใต้และนักเคลื่อนไหวต่อต้านการเลือกปฏิบัติโดยสีผิว) มีอยู่ช่วงหนึ่งที่รัฐบาลคนขาวเริ่มยอมให้เขา ยอมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ผมว่าแมนเดลาเห็นแล้วว่าความขัดแย้งหรือความไม่ยุติธรรมนั้นอาจไม่ต้องแก้ไขด้วยการใช้กำลัง เขาจึงเรียกร้องให้เกิดการให้อภัย มองข้ามความขัดแย้งต่างๆ ไป

แต่นี่ก็พูดเพียงแค่ฝั่งดี ประเด็นของผมคือ ตอนนี้ความรู้สึกของฝ่ายต่างๆ หรือคู่ขัดแย้งต่างๆ ทั้งทางตรงทางอ้อมในสังคมไทย ผ่านปมเงื่อนแรกหรือยัง ผมเข้าใจว่ายังไม่ผ่านเลย นับตั้งแต่ปี 2553 หรือถอยกลับไปถึงปี 2549 เองก็ตาม และอาจย้อนกลับไปถึง 6 ตุลาคม 2519

ผมคิดว่าเส้นหลักใหญ่ๆ ที่พูดถึงความยุติธรรมทางการเมืองของไทย ต้องเริ่มต้นที่เหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ต้องทำให้ความยุติธรรมเกิดขึ้นให้ได้ fairness ของระบบการเมืองการปกครองต้องเกิดขึ้น หากสร้างความยุติธรรมให้ 6 ตุลาฯ ได้ ผมว่าเรื่องอื่นๆ ก็ไม่ยาก

ทำไม 6 ตุลาฯ จึงเป็นหมุดหมายสำคัญ

อาจเพราะเป็นความขัดแย้งแรกที่พลังการเมืองและสถาบันทางการเมืองการปกครองไทย รวมพละกำลังกัน (consolidate) เป็นกำลังปฏิบัติในการเข่นฆ่า ทำลายกระบวนการนักศึกษาอย่างเป็นระบบและปกปิดหลักฐาน ทำให้ในการรับรู้ต่อมา narrative ทางประวัติศาสตร์หายไป ความทรงจำเกี่ยวกับเรื่องนี้ถูกปิดกั้น คนไม่กล้าจำ หากมีคนไปถามเหยื่อ เขาก็จะหนี ไม่มีใครอยากตอบทั้งที่ตัวเองเป็นฝ่ายถูกกระทำ เป็นฝ่ายที่มีความชอบธรรมในการรับรู้ เรียกร้อง แต่ก็ไม่มีใครกล้า เพราะสถาบันทางการเมืองไม่เป็นประชาธิปไตย ไม่มีความเป็นธรรม เมื่อการเมืองไม่ยุติธรรม ใครจะเอาหัวไปเสี่ยง ต้องใช้เวลาอีกหลายสิบปีที่ค่อยๆ ทำให้ภาคการเมืองเริ่มยอมรับความเป็นจริง

ผมว่ารัฐธรรมนูญ 2540 เป็นหมุดหมายครั้งแรกที่ภาคประชาสังคมเข้ามาสร้างรัฐธรรมนูญ สร้างหลักการของกฎหมายสูงสุดของประเทศขึ้นมา รวมถึงหลักการยุติธรรมที่ชอบธรรมไว้ด้วย แต่เก้าปีต่อมาก็ถูกทำลายลง ฉะนั้น นี่จึงกลับไปสู่จุดที่เราคุยกันไว้แต่แรกว่า ทำไมทฤษฎีว่าด้วยความยุติธรรมในไทยจึงยังไม่เกิดขึ้น ทั้งที่มีรากมายาวนานมาก เราไม่ใช่เป็นประเทศป่าเถื่อน ไม่ได้ไร้อารยธรรม รัชกาลที่ 4 ก็เป็นตัวอย่างที่มองว่าความยุติธรรมนั้นต้องหมายถึงส่วนรวมด้วย 

กรณีที่เกิดขึ้นกับ 6 ตุลาฯ หรือการล้อมปราบปี 2553 การที่รัฐเมินเฉย ไม่พูดถึงหรือทำราวกับว่านี่ไม่ใช่สิ่งที่เป็นแผลของสังคมด้วยซ้ำ ส่งผลต่อความยุติธรรม หรือความไม่ยุติธรรมในไทยอย่างไรบ้าง

ประการแรก ทำให้เรื่องที่ควรจะเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่รับรู้ได้ เช่น เรื่องความเป็นธรรม ความชอบธรรมถูกต้อง คนก็รับรู้ได้ทันทีว่านี่คือความยุติธรรมและจะนำไปสู่การคลี่คลายปัญหาอื่น ไม่ว่าจะปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง ปัญหาการทะเลาะกันของแต่ละกลุ่ม หลังๆ การโจมตีนั้นเป็นการเอาความเชื่อที่จะทำลายอีกฝ่ายมาเป็นจุดเริ่มต้น ไม่ได้เริ่มจากความต้องการในการสร้างความสามัคคี สร้างสังคมที่เป็นธรรม มีประสิทธิภาพหรือเป็นประชาธิปไตย มีเพียงจุดหมายที่อยากเล่นงานอีกฝ่าย เราจะเห็นได้จากทฤษฎีล้มเจ้า ทฤษฎีว่าด้วยการทำลายรัฐหรือทำลายความมั่นคง คือหาเรื่องเล่นงานคนอื่นเท่านั้นเอง ซึ่งนี่ไม่นำมาสู่ความยุติธรรม ไม่ทำให้เกิดประชาธิปไตยได้

ปัญหาใหญ่ของความยุติธรรมในไทยคืออะไร เราปฏิรูปได้ไหม นับตั้งแต่ชั้นศาล อัยการ ราชทัณฑ์ และตำรวจ

ทุกอย่างปฏิรูปได้ ทำให้ดีขึ้นได้ ผมว่าปัญหาของเราที่ผ่านมาคือ การที่ระบอบการเมืองยังยึดโยงอยู่กับความเชื่อเดียวว่าอำนาจการปกครองสูงสุดมีอยู่อย่างเดียวและเป็นอำนาจที่แตะต้องไม่ได้ วิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้ และแบ่งไม่ได้ (indivisible) ทฤษฎีประชาธิปไตยในตะวันตกต้องมีการแบ่งอำนาจสูงสุด เพราะถ้าไม่แบ่งก็จะไม่เกิดความยุติธรรม ไม่อาจสร้างเสถียรภาพ เพราะจะมีฝ่ายที่มายึดอำนาจ เป็นเผด็จการ ซึ่งสิ่งนี้เกิดขึ้นได้ทุกที่ สหรัฐอเมริกาเองก็เช่นกัน ดูอย่างโดนัลด์ ทรัมป์ ตัวทรัมป์บอกชัดเจนว่าเขาต้องการอำนาจ เป็นตัวอย่างของผู้นำโลกที่สามที่อยู่ในสหรัฐอเมริกา สิ่งนี้บอกให้เรารู้ว่า ผู้นำแบบทรัมป์มีเป็นปกติ จะเกิดเมื่อไหร่ก็ได้ และการที่จะไม่ให้ผู้นำลักษณะนี้ควบรวมอำนาจคือระบอบประชาธิปไตย คือให้อำนาจไปอยู่ที่ประชาชนของประเทศ

ขณะที่การปฏิรูปความยุติธรรมทำยากเพราะเราโยงระบบความยุติธรรมของเราไว้กับสถาบันสูงสุด แตะต้องไม่ได้ วิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้ 

ในฐานะที่อาจารย์เป็นนักประวัติศาสตร์ ถ้าให้เขียนประวัติศาสตร์ไทยช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา อยากบันทึกความยุติธรรมไว้ว่าอย่างไรบ้าง

ผมอยากมองดูประวัติศาสตร์ไทยที่พูดถึงข้อเรียกร้องของคนจำนวนมาก ด้วยมูลเหตุ สาเหตุ สภาพแวดล้อมอะไรที่ทำให้ความต้องการความเป็นธรรมทางอาชีพ เศรษฐกิจ การเมือง ไปจนถึงเนื้อตัวร่างกายของผู้คนเกิดขึ้นมาได้ ซึ่งแต่ละเรื่องไม่ได้เกิดขึ้นพร้อมกัน ผมคิดว่าแรกๆ อาจเกิดขึ้นจากความต้องการทางการเมือง เขาต้องการความเป็นธรรมมากขึ้น มีชีวิตที่ดีขึ้น แล้วค่อยๆ กระจายไปสู่การทำให้ความเป็นมนุษย์ของคนไทยโดยทั่วไปเริ่มมีความหมายขึ้น ซึ่งผมว่าในประวัติศาสตร์เราไม่มีหลักฐานถึงเรื่องนี้ 

ผมสนใจว่า ความคิดเรื่องการได้อำนาจ การรักษาอำนาจ ในรอบ 2-3 ปีที่ผ่านมา ถูกท้าทายอย่างไร การเลือกตั้งก็เป็นบทหนึ่งของการเข้ามาเพื่อบอกว่า ใครจะเข้ามาสู่อำนาจสูงสุดนี้ แล้วจะนำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่จะเป็นตัวแบบของอำนาจการปกครองสูงสุด สิ่งนี้บอกเราอย่างไรบ้าง ทำไมในช่วงแปดปีที่ผ่านมานี้ คติอำนาจแบบอนุรักษ์และแบบอำนาจนิยมจึงเข้ามายึดพื้นที่ได้มาก 

ผมอยากให้ประวัติศาสตร์บันทึกไว้ ไม่ได้เขียนเพื่อไปประณามใครหรือเพื่อไปวิจารณ์อีกฝ่ายหนึ่งว่ามันยึดอำนาจ มันรัฐประหารมาไงจึงเป็นเช่นนี้ นั่นคือปรากฏการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นจริง แต่ผมก็อยากดูเหมือนกันว่ามันมีการเกิดขึ้นของโลกทัศน์ ความรับรู้เรื่องความเป็นคนของเรากับสังคมนั้นเปลี่ยนไปไหม มันนำไปสู่มิติอะไรที่ทำให้แนวคิดแบบอนุรักษ์เรื่องอำนาจจึงเป็นที่ยอมรับได้ แล้วเราจะเปลี่ยนแปลงสิ่งนี้ได้อย่างไร 

อย่างไรก็ดี หลังๆ ผมสนใจประวัติศาสตร์ในเชิงภูมิปัญญา (intellectual history) หรือประวัติศาสตร์ความคิด และเป็นความคิดที่มุ่งในเชิงการเมืองเป็นหลัก เพราะผมไม่มีเวลาไปทำเรื่องอื่น ไม่ว่าจะวรรณกรรมหรือเศรษฐศาสตร์ ก็อยากทำแต่ไม่มีเวลา เอาแค่เรื่องการเมือง 

ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น เราก็จะพบว่ามีการพยายามรื้อถอน-สร้างประวัติศาสตร์ใหม่ด้วย อันจะเห็นได้จากกรณีหมุดคณะราษฎรหาย มองว่าเป็นการพยายามของชนชั้นนำที่จะเขียนประวัติศาสตร์ใหม่ลงไปหรือไม่

ผมมองเป็นความต่อเนื่องของการต่อสู้ จะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตามที ฝ่ายที่ทำให้เกิดเรื่องนี้ขึ้นมานั้น ทำให้การปฏิวัติ 24 มิถุนายน 2475 เกิดความต่อเนื่อง เพราะที่ผ่านมา เหตุการณ์วันที่ 24 มิถุนายนถูกตัดขาด ถูกทำให้เป็นส่วนเสี้ยว ไม่อยู่ในภาพรวม

สมัยผมเรียนรัฐศาสตร์ปี 2511 ผมไม่ได้มองวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ว่าเป็นจุดเริ่มต้นประชาธิปไตยของประวัติศาสตร์ไทยนะ เพราะมันไม่มี narrative ที่เล่าให้เราเห็น ก่อนหมุดหายก็มีอีกหลายเรื่องราว ก็เป็นการสร้างวาทกรรมที่มาเบียดขับ 24 มิถุนายน 2475 ขณะเดียวกันการศึกษาในมหาวิทยาลัยก็เริ่มยกระดับไปสู่การมองเห็นอุบัติการณ์ของวันที่ 24 มิถุนายนและความล้มลุกคลุกคลานของประชาธิปไตยไทยกับการรัฐประหารว่าเป็นเรื่องเดียวกัน 

ผมจึงบอกว่า อะไรก็ตามที่ฝ่ายอนุรักษนิยมทำ ยิ่งทำให้ประวัติศาสตร์เส้นตรง ซึ่งเราคุยกันตั้งแต่เริ่มว่าประวัติศาสตร์สมัยใหม่ต้องเป็นเส้นตรงตั้งแต่เริ่ม ไม่ใช่ประวัติศาสตร์วัฏจักรที่จะหายไปทุกครั้งที่เกิดการเปลี่ยนแปลง ตอนนี้ประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่เป็นเส้นตรงกำลังมา หมายความว่ามันต้องมุ่งไปสู่จุดหมาย การที่มันมีพลังเพราะมันมีจุดหมาย ถ้าเขาไม่เห็นจุดหมายจะเดินหน้าไปได้อย่างไร 

เมื่อไปอ่านแถลงการณ์ประกาศคณะราษฎรฉบับแรกของอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ผมก็อ่านตอนที่เรียน ไม่ได้รู้สึกมากไปกว่าว่าตื่นเต้นที่เขาพูดขนาดนี้เชียวหรือ แต่ฟังกลุ่มนักศึกษาคณะราษฎร 2563 มาอ่านใหม่ ผมฟังจากไลฟ์ทางอินเทอร์เน็ตแล้วขนลุกเลย เพราะอ่านด้วยความรู้สึกร่วมสมัย พวกเขาอ่านว่าประชาชนมีความเสมอภาค เท่าเทียมกัน โอ้โห เรารู้เลยว่าพวกเขาไม่ได้พูดถึงอดีต แต่พูดถึงเหตุการณ์ปัจจุบันและอนาคตที่เขาต้องการ คือเขาต้องการประชาธิปไตยที่แท้จริง

ด้านหนึ่ง เราพูดได้ไหมว่าประวัติศาสตร์คือการช่วงชิงพื้นที่ เรื่องเล่าระหว่างชนชั้นนำ รัฐและประชาชน

ถ้าพูดแบบทฤษฎีมันคือการช่วงชิงพื้นที่ แต่ผมไม่อยากมองว่า เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วเราจะทำลายหรือทิ้งประวัติศาสตร์ของชนชั้นนำไปเลย เราไม่จำเป็นต้องไปปฏิเสธประวัติศาสตร์ของเขา เราเรียนรู้ได้ ต้องอ่านควบคู่กันไป มันเป็นปฏิสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นในสังคมของคนในยุคนั้น มันมีเหตุผลในนั้น มันจึงไม่ใช่การช่วงชิงแบบถีบหัวอีกฝ่าย แต่เป็นการทำให้พื้นที่นั้นหลากหลายและสมบูรณ์ขึ้น

ที่ผ่านมา กระบวนการยุติธรรมไทยมักถูกเพ่งเล็งเมื่อมีประเด็นเกี่ยวกับมาตรา 112 ทั้งการจำคุกคนที่ตั้งคำถามหรือลงโทษเยาวชน พฤติกรรมของศาลต่อกระบวนการยุติธรรมในเวลานี้จะส่งผลต่อหน้าตาความยุติธรรมในไทยในอนาคตอย่างไร

มองกลับไปในประวัติศาสตร์อันยาวไกล ผมคิดว่าโจทย์เรื่องความยุติธรรมเป็นจุดหมายภายในของสังคมมนุษย์โดยธรรมชาติอยู่แล้ว มันขาดไม่ได้ ต้องมี ฉะนั้น การที่คนดิ้นรนต่อสู้เพื่อหา ไขว่คว้าและสถาปนาความยุติธรรมให้เกิดขึ้นนั้น จึงกลายเป็นธรรมชาติอีกประการของความเป็นมนุษย์ มันจะอยู่ชั่วกัลปาวสาน อยู่ไปจนตราบเท่าที่มนุษย์และสังคมยังอยู่ นี่จึงเป็นอกาลิโก เป็นสิ่งที่ไม่หายไปไหน ใครที่มีอำนาจและคิดจะทำให้ความยุติธรรมหายไป คุณก็ทำได้เฉพาะปีเดียว ห้าปี หรือสิบปี 

แต่ถึงจุดหนึ่ง ทุกคนก็ต้องตาย จะหายไป ไม่มีใครอยู่ตลอดกาล ผมจึงเชื่อว่าคนที่ต่อสู้เพื่อความยุติธรรมนั้นเป็นคนส่วนใหญ่ เป็นคนที่อยู่กับความเป็นจริงและสร้างสังคมที่ดำรงอยู่ได้ ไม่ช้าก็เร็ว ความยุติธรรมจะบังเกิด มันจะต้องมา แต่ว่าอาจจะนาน อาจจะช้าหน่อย 

ผมว่าความยุติธรรมก็เป็นอีกชีวิตหนึ่งที่ต้องการอยู่และเติบโตในสังคม และการมีอยู่ของความยุติธรรมนี้ก็เพื่อให้มนุษย์ยังมีอนาคตอยู่ต่อไปนี่เอง


ผลงานชิ้นนี้เป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) (TIJ) และ The101.world

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save