fbpx

นักคณิตศาสตร์เหรียญทอง ผู้ผันตัวมาทำหนังว่าด้วยลำนำของสงคราม : ฮิลัล เบย์ดารอฟ

สำหรับ ฮิลัล เบย์ดารอฟ คณิตศาสตร์ไม่เคยเป็นเรื่องยากสำหรับเขา 

ปี 2004 และ 2005 เขาสร้างประวัติศาสตร์ด้วยการคว้าชัยในการแข่งขันคณิตศาสตร์ระดับชาติสองสมัยซ้อน ชีวิตของเบย์ดารอฟไม่เคยห่างจากตัวเลขและระบบตรรกะ กระทั่งเมื่อเขาเรียนจบ และประสานสายตาต่อโลกภาพยนตร์เป็นครั้งแรกในวัย 23 ปี เบย์ดารอฟก็หันหลังให้โลกของตัวเลขและลงมือกำกับหนังเรื่องแรก Hills Without Names (2018) เล่าถึงชายผู้ออกเดินทางกลับมายังมาตุภูมิ กับเสียงกังวานซึ่งดังขึ้นที่นั่นเพียงแห่งเดียว 

ห้าปีหลังจากนั้น -จากคนที่ไม่เคยดูหนังมาก่อนตลอดสองทศวรรษของชีวิต- เบย์ดารอฟก็ทำหนังออกมาทั้งสิ้นสิบเรื่อง รวมทั้งลำดับล่าสุด Sermon to the Birds (2023) หนังเรื่องที่สองของไตรภาคลำนำสงคราม (War Tales trilogy) ต่อจาก Sermon to the Fish (2022) โดยตัวหนังเข้าฉายที่เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติโตเกียวครั้งที่ 36 ที่ผ่านมา เล่าเรื่องชายหญิงคู่หนึ่งที่เฝ้ารอนักล่าให้ปรากฏตัว ท่ามกลางแวดล้อมของสงครามและความขัดแย้ง

หนังของเบย์ดารอฟมีจุดร่วมเหมือนกันหลายแห่ง ประการแรก เขากำกับ, เขียนบท, ตัดต่อและกำกับภาพเองทุกเรื่อง (เว้นก็แต่ In Between Dying, 2020 ที่เขาไม่ได้กำกับภาพเอง) ประการที่สอง หนังของเขามักเล่าเรื่องช้าเชือน พูดถึงคนผู้ทุกข์ตรมในสังคม หรือตัวละครที่หลีกลี้หนีออกจากเมืองใหญ่ และประการที่สาม งานภาพที่เผยให้เห็นแลนด์สเคปสุดลูกหูลูกตาของทะเลทราย ผืนป่าและทะเล

101 มีโอกาสได้สนทนากับเบย์ดารอฟ ชวนพูดคุยถึงจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้เขาเบนสายจากโลกของตัวเลขมาสู่โลกภาพยนตร์ ไปจนถึงเรื่องราวความขัดแย้งที่กระซิบกระซาบอยู่รอบตัวเขามาตั้งแต่ยังเด็ก

ในฐานะที่เป็นอดีตแชมป์นักคณิตศาสตร์ระดับประเทศสองสมัยซ้อน คุณคิดว่าการทำหนังเหมือนหรือต่างจากการคำนวณอย่างไร และมันทำให้หนังคุณเหมือนหรือต่างจากคนอื่นๆ ไหม

ผมว่ามันเหมือนกันนะ ไม่ว่าจะคณิตศาสตร์หรือศิลปะ หรือศาสตร์อื่นๆ ก็ตาม ก่อนหน้านี้ ผมเป็นนักคณิตศาสตร์ ระหว่างนั้นก็เล่นเปียโนด้วย จากนั้นก็ค่อยมาทำหนัง แต่ผมไม่ได้เปลี่ยนไปสักน้อย เรื่องนี้อธิบายยากแต่ผมอยากบอกว่าผมก็เป็นเหมือนเดิม ไม่ว่าจะเป็นตัวผมที่คำนวณเลข ตัวผมที่เล่นเปียโน หรือตัวผมที่กำลังทำหนังอยู่ในเวลานี้

หนังของผมอาจจะต่างจากหนังเรื่องอื่นๆ แต่ไม่ใช่เพราะผมมีพื้นฐานมาจากการเป็นนักคณิตศาสตร์ แต่เป็นเพราะตัวตนของผมมากกว่า มันสะท้อนผ่านประเภทหนังที่ผมชอบหรือหนังที่ผมทำ ผมชอบนั่งนิ่งๆ สำรวจหนังที่กำลังทำ และไม่ค่อยอยากให้มีไดอะล็อกมากนัก ปล่อยให้หนังมันเล่าเรื่องของมันไปก็พอ 

ผมชอบไปนั่งเงียบๆ ในป่า ครุ่นคิดถึงหนัง และบางทีหนังที่ผมทำก็อาจจะน่าเบื่อก็ได้ แต่ผมชอบ

ครั้งหนึ่ง คุณเคยให้สัมภาษณ์ถึงการมีสัญชาตญาณแบบนักคณิตศาสตร์ (mathematical intuition) ว่ามีส่วนช่วยคุณในการทำหนัง มันคืออะไร

ใช่เลย (ยิ้ม) อย่างเวลาผมจับกล้องขึ้นมาถ่าย มันเริ่มจากการที่ผมเห็นอะไรบางอย่างเป็นฉากเป็นซีน และผมก็บันทึกภาพไว้ การเห็นว่าอะไรที่เราอยากเก็บภาพหรืออะไรที่เราไม่อยากนั่นแหละคือสัญชาติญาณที่ผมบอก และเป็นสัญชาติญาณแบบเดียวกันกับที่ผมใช้ตอนคิดเลข 

ตอนผมคำนวณผมก็ใช้วิธีคิดและการหยั่งถึงคำตอบแบบนี้ กล่าวคือสิ่งนี้เกิดขึ้นโดยที่ผมไม่ได้วางแผนล่วงหน้า ผมเพียงแต่ทำตามที่สัญชาติญาณบอกและถ่ายทำไว้ ทั้งหมดนี้ทำให้เราได้งานภาพที่ดีมากๆ อย่างเวลาในฉากมีต้นไม้ มีเด็กผู้ชายและเด็กผู้หญิง เราต้องเชื่อในสัญชาติญาณว่าจังหวะไหนที่ดีที่ไหนสุด จังหวะไหนที่ควรบันทึกภาพไว้ ผมว่ามันคือสิ่งเดียวกันกับที่เกิดขึ้นตอนผมคำนวณตัวเลข มันอยู่ในสัญชาติญาณ

คณิตศาสตร์มีคำตอบเดียวเสมอ ไม่ถูกก็ผิด แต่การทำหนังดูไม่มีคำตอบตายตัวแบบนั้น แต่ละซีนอาจถ่ายทำได้หลายแบบและหลายครั้ง คุณทำงานกับสิ่งนี้อย่างไร

ไม่เลย สำหรับผม มันมีคำตอบเดียวเหมือนกัน (ตอบเร็ว) เพราะช็อตที่ถูกต้องมีเพียงช็อตเดียวเท่านั้น ผมเชื่อเรื่องการควานหามุมกล้องที่ถูก เราถ่ายทำได้ 360 มุมแต่มันมีแค่มุมเดียวเท่านั้นที่ถูกต้องสำหรับซีนนั้นๆ และผมต้องหาทางถ่ายทำออกมาให้ได้ นั่นก็แปลว่า หากผมชอบมุมนี้ ก็เท่ากับว่ามันมีเพียงคำตอบเดียวเท่านั้น จะเอาคำตอบอื่น มุมอื่นมาไม่ได้ หากผมคิดว่าองศานี้่คือองศาที่ถูกต้องสำหรับการตั้งกล้องถ่ายทำ มันก็ต้องเป็นองศานี้เพียงองศาเดียว หากต้องใช้มุมอื่นผมก็ไม่ถ่าย

ผมแค่รู้สึก หากผมรู้สึกว่ามุมนั้นเป็นมุมที่ใช่แล้ว ผมจึงลงมือถ่ายทำ เหมือนกันกับตอนที่คิดเลข แค่เห็นแล้วก็รู้ว่าคำตอบไหนคือคำตอบที่ถูก เวลาไปออกกอง ผมก็ดูบรรยากาศโดยรอบ แดด ลมฝน ทุกอย่าง ผมเก็บความรู้สึกทั้งหมดนับตั้งแต่วินาทีแรกที่เข้าไปในสถานที่ถ่ายทำแล้วว่าอยากได้อะไร มันแค่ต้องรู้สึก

แล้วจังหวะไหนของชีวิตที่เปลี่ยนคุณจากนักคณิตศาสตร์มาสู่การเป็นคนทำหนัง

ผมใช้ชีวิตตลอด 23 ปีที่ผ่านมาไปกับการคำนวณตัวเลข ทุ่มเทให้การเรียนอย่างหนัก อยู่แต่กับตัวเลขแค่อย่างเดียวจริงๆ สำหรับผม มีแค่ตัวเลขเท่านั้นที่มีอยู่จริง ผมไม่เคยเข้าโรงภาพยนตร์เลย ไม่เคยรู้จักชื่อคนทำหนังแม้แต่คนเดียว จนช่วงเรียนปริญญาตรีที่บังเอิญได้ดูหนังเรื่อง The Double Life of Véronique (1991 -ว่าด้วยเรื่องชีวิตคู่ขนานของหญิงสาวสองคนภายหลังการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองของโปแลนด์) กำกับโดย คริสซ์ตอฟ เคียสลอฟสกี (Krzysztof Kieślowski -คนทำหนังชาวโปแลนด์ นับเป็นหนึ่งในคนทำหนังที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดคนหนึ่งของยุโรป) และผมตกหลุมรักหนังของเขาเข้าอย่างจัง จากนั้นก็ไล่ดูหนังเรื่องอื่นๆ ของเขา ช่วงนั้นผมอายุราวๆ 23 ปี กล่าวได้ว่าก่อนหน้านั้นผมไม่เคยดูหนังแม้สักเรื่อง ไม่เคยเข้าโรงภาพยนตร์ ไม่เคยรู้เรื่องภาพยนตร์อะไรเลย

หนังของเคียสลอฟสกีเปลี่ยนแปลงคุณอย่างไร หรือเปลี่ยนทิศทางที่คุณมองภาพยนตร์อย่างไรบ้าง

มันทำให้ผมรู้สึกได้พบที่ที่เป็นของผม

แล้วคณิตศาสตร์ล่ะ คุณก็ทิ้งไปเลยอย่างนั้นหรือ

ครับ ผมแค่หยุดไปเลย หยุดทุกสิ่ง แล้วมานั่งดูหนังจำนวนมหาศาลแทน คิดว่าคงดูไปได้สักเจ็ดพันกว่าเรื่องได้ ผมดูหนังคลาสสิกของญี่ปุ่นครบทุกเรื่อง อยากบอกว่าผมหลงใหลวัฒนธรรมของประเทศญี่ปุ่นเหลือเกิน เทศกาลหนังโตเกียวทำให้ผมมีโอกาสได้มาอยู่ที่นี่ 11 วัน และแต่ละวัน ผมจะเข้าไปดูพิพิธภัณฑ์และสถานที่ต่างๆ ญี่ปุ่นช่างมีอะไรให้พบค้นหามากมายมหาศาล

กลับมาที่หนังญี่ปุ่น ผมคิดว่าคุณไม่มีทางพูดชื่อหนังญี่ปุ่นดีๆ สักเรื่องที่ผมยังไม่เคยดู คือถ้ามันเป็นหนังที่สำคัญคือประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ ผมมั่นใจว่าผมได้ดูแล้ว

Sermon to the Birds (2023)

อย่างนั้นในช่วง formative years ในการดูหนัง คิดว่าคนทำหนังคนไหนบ้างที่ส่งอิทธิพลต่อคุณ

มากมายทีเดียว อังเดรย์ ทาร์คอฟสกี (Andrei Tarkovsky -คนทำหนังชาวรัสเซีย ขึ้นชื่อเรื่องการทำหนังนิ่งเนิบที่มีเนื้อหาเชิงปรัชญากับงานภาพละเมียดละไม), เซอร์เกย์ ปาราจานอฟ (Sergei Parajanov -คนทำหนังชาวอาร์มาเนีย ได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในคนทำหนังที่ทรงอิทธิพลต่อประวัติศาสตร์ภาพยนตร์), อเล็กซานเดอร์ โซกูรอฟ (Alexander Sokurov -คนทำหนังชาวรัสเซีย งานขึ้นชื่อของเขาคือการกำกับเรื่อง Russian Ark, 2002 หนังความยาว 129 นาทีในเทคเดียว), เคนจิ มิโซกุจิ (Kenji Mizoguchi -คนทำหนังชาวญี่ปุ่น นับเป็นหนึ่งในผู้กำกับที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น)

แล้วใครอีกนะ อ้อ แน่นอนล่ะว่าก็ต้อง อิงมาร์ เบิร์กแมน (Ingmar Bergman -คนทำหนังชาวสวีเดน หนังของเขามักว่าด้วยการสำรวจความเป็นมนุษย์และมีเนื้อหาเชิงอภิปรัชญา) 

เบลา ทาร์ร (Béla Tarr -คนทำหนังชาวฮังการี ขึ้นชื่อเรื่องการถ่ายทำหนังด้วยลองช็อตและมักพูดถึงชีวิตคนตัวเล็กตัวน้อยในชนบท) ล่ะคะ

งานของเขาไม่ได้ส่งอิทธิพลต่อผมมากขนาดนั้นครับ (ยิ้ม)

ที่ถามเพราะหลายคน -รวมทั้งฉันเอง- คิดว่าหนังของคุณเจือกลิ่นความละเมียดแบบหนังของทาร์รอยู่ 

(ยิ้ม) 

แน่นอนว่า มีคนบอกว่าหนังของคุณก็มีความเป็นบทกวีคล้ายหนังของ เทอร์เรนซ์ มาลิค (Terrence Malick -คนทำหนังชาวอเมริกัน มักทำหนังช้าเชือนและเล่าเรื่องด้วยเสียงบรรยาย) ด้วย คุณคิดว่ายังไง

ผมดูหนังของเขาหลายเรื่องอยู่นะ แต่ที่จะพูดต่อไปนี้ ผมไม่อยากให้เข้าใจผิดว่าผมไม่ชอบงานเขาหรือไม่เคารพใดๆ ทั้งนั้น หากคุณบอกว่ามีความคล้าย ผมก็น้อมรับเช่นนั้น

มีคนบอกว่าดูหนังเรื่อง Knight of Cups (2015) ที่เขากำกับแล้วนึกถึงหนังของผม แต่นั่นแหละ ผมไม่รู้จะอธิบายอย่างไรไม่ให้ถูกเข้าใจผิด แต่เอาเป็นว่าเขาไม่ใช่โซกูรอฟหรือทาร์คอฟสกีน่ะ เขาไม่ได้เป็นคนที่จะส่งอิทธิพลต่อผมมากพอจะทำให้ผมเปลี่ยนแปลงวิธีการกำกับของตัวเองได้ ผมว่าถ้าจะมีสักอย่างที่คล้ายกันคือธีมที่เราเล่าเรื่องมากกว่า นึกถึงว่าหนังที่จะเปลี่ยนแปลงผมไปได้ก็คือหนังแบบ Mother and Son (1997, โซกูรอฟ -ว่าด้วยลูกชายที่ออกเดินทางลัดผืนป่าเล็กๆ พร้อมร่างใกล้สิ้นลมของแม่) ซึ่งหลังจากได้ดูนี่ทำผมหัวใจสลายไปเลย

อย่างไรก็ดี ผมรู้สึกว่าหนังของผมกับคุณมาลิคนั้นต่างกันทุกอย่าง มันอาจให้ความรู้สึกว่าเป็นหนังที่มีความเป็นบทกวีเหมือนกันเท่านั้น อันที่จริง ผมดูหนังเยอะและส่วนตัวก็คิดว่าหาหนังที่รู้สึกว่ามันเป็น ‘บทกวี’ จริงๆ ได้ไม่ถึงสามเรื่องด้วยซ้ำมั้ง ผมว่าหนังที่เหมือนบทกวีมันไม่ได้แปลว่าต้องเป็นหนังช้าหรือพูดเรื่องความเป็นธรรมชาตินะ ไม่ได้หมายความว่าหนังของคุณต้องถ่ายยอดหญ้าแล้วใส่ดนตรีประกอบเข้าไป ทำแบบนั้นไม่ได้ทำให้หนังมันกลายเป็นบทกวีหรอก สำหรับผม มันหมายถึงความเป็นจริงของชีวิต แต่ก็นั่นล่ะครับ ผมว่าหนังของผมกับคุณมาลิคคงมีจุดร่วมบางอย่างเหมือนกันอยู่บ้าง

หนังของคุณส่วนใหญ่เล่าด้วยลองช็อตหรือถ่ายจากระยะไกล มองว่าเป็นอิทธิพลจากคนทำหนังที่กล่าวมาข้างต้นไหม หรือคุณตั้งใจสื่อสารอะไรผ่านงานภาพมุมกว้างเหล่านี้

คุณพูดถูก ผมรักภาพมุมกว้างมาก เพราะยิ่งกว้างมากเท่าไหร่ เรายิ่งใส่องค์ประกอบต่างๆ เข้าไปได้เท่านั้น ตัวละครเดินเข้ามาในเฟรม ตัวละครเดินออกไปจากเฟรม ฝนตกลงมา อะไรต่อมิอะไรเต็มไปหมด รวมทั้งแสง ทั้งก้อนเมฆ กระนั้น ผมก็ไม่เคยมีเจตนาจะทำให้แต่ละเฟรมมีนัยหรือความหมายใดเป็นพิเศษ แต่บางทีสิ่งที่ปรากฏอยู่ในเฟรมก็น้อยมากๆ ผมเพียงแค่รู้สึกว่ามันเป็นเฟรมที่ใช่และต้องใช้เฟรมนี้เท่านั้น 

ฟังดูแล้วน่าจะต้องหาทางทำงานกับบทหนังอยู่ไม่น้อยเลย

(ยิ้ม) เรื่องก็คือผมไม่เคยมีสคริปต์หนังเลยน่ะสิ ผมไม่เคยเขียนสคริปต์หนังแม้สักประโยคเดียว ผมแค่เดินไปยังสถานที่บางแห่ง จากนั้นก็เขียนบทกวีสักบท กลับมาก็ส่งบทกวีที่ว่าให้นักแสดงและทีมงานที่เป็นเพื่อนของผม 

อย่างนั้นถ้าคุณไปในสถานที่แห่งหนึ่งแล้วไม่รู้สึกอะไรเลยล่ะ เขียนอะไรออกมาไม่ได้ เคยเจอสถานการณ์นั้นบ้างไหม

แน่นอนครับ โดยเฉพาะพวกในเมืองใหญ่ เมืองใหญ่ทำให้ผมไม่รู้สึกรู้สาต่อสิ่งต่างๆ ผมเกลียดสถาปัตยกรรมในตัวเมือง พวกตึกระฟ้าอะไรต่ออะไร รู้สึกว่าพวกมันเป็นปฏิเสธผม ยกตัวอย่างคือโตเกียว ผมอยู่ที่โตเกียวแล้วคิดอะไรไม่ออกเลย แต่ผมโปรดปรานจะได้ไปอยู่ในหมู่บ้านเล็กๆ แถวชานเมืองแทน เยี่ยมชมพวกบ้านหลังเก่าๆ เมื่อวานผมก็ไปพระราชวังโตเกียวอิมพีเรียล (Tokyo Imperial Palace) มา เห็นสิ่งสวยๆ งามตามากมายไปหมด ทั้งก้อนหิน ทั้งที่พำนักเก่าแก่ ขณะที่อาคารสูงในตัวเมืองให้ความรู้สึกเหมือนมันต่อต้านผม สำหรับผมแล้วมันไม่ใช่ที่อยู่สำหรับมนุษย์

อย่างที่อาเซอร์ไบจานเองก็มีอาคารระฟ้ามากมายทีเดียวตามประสาเมืองใหญ่ และผมว่าเมืองใหญ่ทั่วโลกก็เป็นเหมือนกันหมด พวกมันมีใบหน้าเหมือนกัน ไม่มีอะไรต่างกันเลย ถ้าคุณไปที่เบอร์ลินหรือนิวยอร์ก คุณจะพบว่ามันไม่ต่างกันนักเพราะมันคือเมืองแห่งทุนนิยม เต็มไปด้วยตึกสูง และกระทั่งมนุษย์ก็หน้าตาเหมือนกัน พวกเขาแต่งตัวแบบเดียวกัน กินอาหารแบบเดียวกัน ทุกแห่งต้องมีแมคโดนัลด์อยู่เสมอ เมืองใหญ่ทุกแห่งมีหน้าตาเหมือนกันหมด และหากคุณไม่เดินทางไปยังชานเมืองหรือแถบชนบท คุณก็จะหาความต่างอะไรไม่เจอเลย 

กลับไปที่อาเซอร์ไบจาน คุณหาสถานที่ถ่ายทำหนังของคุณได้ยังไง เมื่อส่วนใหญ่มันดูเป็นป่าหรืออยู่กลางธรรมชาติเสียมาก

ผมเดินเยอะ

แค่นี้เลยเหรอ

ครับ ผมเดิน ผมเดินเยอะมาก และมักจะเจอสถานที่ต่างๆ ด้วยตัวเอง ผมรักธรรมชาติและมักเดินหาป่าหรือต้นไม้อยู่เสมอ ผมเดินเยอะ อาจจะเดินเยอะเกินไปด้วยซ้ำเพื่อหาสถานที่ดีๆ ที่จะใช้ถ่ายทำหนังของผมได้

ใน Sermon to the Birds คุณจำบ้านหลังเล็กๆ ที่อยู่บนยอดเขาได้ไหม

ได้ค่ะ สวยมากเลย

ผมเดินไปเจอน่ะ แล้วมันอยู่บนเขาโน่นเลย ดังนั้น ทุกวัน กองถ่ายจึงต้องแบกอุปกรณ์ถ่ายทำไปยังยอดเขาอยู่วันละสามชั่วโมง และตกค่ำก็แบกอุปกรณ์ลงมาโดยบังเอิญ มันเป็นบ้านของจิตรกรยุค 1970s เขาตายในบ้านหลังนั้นนั่นแหละและทุกวันนี้มันก็กลายเป็นบ้านร้างไปแล้ว ไม่มีคนอยู่เลย ดังนั้น บ้านจึงเสื่อมโทรมและดูเก่าเหลือเกิน เป็นผมที่บังเอิญไปเจอมันเข้า บ้านหลังน้อยกลางป่าเขียวชอุ่ม และก็อย่างที่คุณเห็นในหนัง บ้านมันถูกล้อมรอบด้วยป่าที่งดงามหมดจด ตัวละครเดินไปเดินมาอยู่ในป่า ดูราวกับทั้งป่าโอบกอดพวกเขาไว้ แต่จะบอกว่าตอนถ่ายทำนี่เราต้องแบกอุปกรณ์ต่างๆ หนักตั้งหลายสิบกิโลกรัมขึ้นเขาเพื่อจะถ่ายฉากนี้

อย่างนั้นแล้วคุณทำงานกับแสงยังไง เพราะคุณถ่ายแสงได้สวยมาก

ผมทำงานกับดวงอาทิตย์ ดวงอาทิตย์คือแสงเดียวของเรา ผมตามดวงอาทิตย์ไป หากดวงอาทิตย์เคลื่อนคล้อยไปทางไหน ผมก็ตามไปทางนั้น

ผมเป็นคนเงียบๆ และออกจะชวนหดหู่หน่อย ผมมักอยู่ลำพังกับตัวเอง ค่อนไปทางหม่นหมองทุกข์ตรม มันเป็นธรรมชาติของผมเอง และมีอยู่สักเดือนหนึ่งที่ผมเริ่มเชื่อว่า ดวงอาทิตย์คือพระเจ้า รู้สึกว่าแสงมอบชีวิตให้แก่พวกเรา และช่วยให้ผมกลายเป็นคนที่สดใสขึ้น แม้จะไม่ถึงขั้นนิยามตัวเองได้ว่าเป็นคนสดใสก็ตามทีเถอะ

Sermon to the Birds คือหนังลำดับที่สองของคุณต่อจาก Sermon to the Fish ในไตรภาคลำนำสงคราม ทำไมคุณจึงสนใจเริ่มทำไตรภาคนี้

ผมเริ่มทำหนังเรื่องแรกในไตรภาคนี้เมื่อเกือบๆ สามปีที่แล้ว ตอนนั้นที่อาเซอร์ไบจานมีความขัดแย้งเกิดขึ้นมากมาย (หมายถึงข้อพิพาทดินแดนระหว่างอาร์เมเนียกับอาเซอร์ไบจาน) และผมอยากเล่าเรื่องสงครามเหล่านี้ให้เหมือนเราอยู่ในห้วงฝัน เนื่องจากว่า ปู่ผมเคยเข้าร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่สอง เสียขาไปข้างหนึ่ง ส่วนสมาชิกในครอบครัวคนอื่นๆ ก็เคยอยู่ในสงครามเหมือนกัน

ตั้งแต่ยังเด็ก ผมจึงได้ยินเรื่องเล่าเกี่ยวกับสงครามมากมาย และพบว่าตอนเหนือของอาเซอร์ไบจานที่อยู่พ้นชายแดนระหว่างรัสเซียกับจอร์เจียไปนั้นเต็มไปด้วยการต่อสู้ปะทะ ดังนั้น แต่ไหนแต่ไรเราจึงได้ยินตำนานเกี่ยวกับสงครามอยู่เสมอ และผมก็อยากทำหนังที่ว่าด้วยเรื่องเล่าเหล่านี้ เพียงแต่มันต้องไม่เหมือนตำนานเสียทีเดียว ผมเพียงแต่หยิบแนวคิดบางอย่างมาแล้วเล่าเรื่องตามสัญชาตญาณของตัวเองไป

คุณว่าการโตมาในพื้่นที่ซึ่งมีความขัดแย้งเป็นพื้่นฐาน ทำให้คุณและหนังของคุณต่างไปจากหนังเรื่องอื่นๆ ไหม

(คิดนาน) ผมว่าสงครามและความขัดแย้งมันเกิดขึ้นของมันและไม่ได้รบกวนใจอะไรผม อย่างไรก็ตาม ผมไม่เคยทำหนังด้วยเจตนาจะให้หนังตัวเองเป็นหนังการเมืองอะไรเพราะผมไม่ชอบหนังฌ็อง สำหรับผม การทำเช่นนั้นจะทำลายคุณค่าที่แท้จริงของงานจนหมดสิ้น ภาพยนตร์คือศิลปะ มันไม่อาจถูกจำกัดไว้ด้วยฌ็องใดฌ็องหนึ่งได้

ที่ผ่านมาคุณกำกับ, เขียนบท, ตัดต่อและกำกับภาพเองมาตลอด มองว่างานที่ยากที่สุดคืออะไร

แน่นอนล่ะว่าก็ต้องเป็นการถ่ายทำ เพราะผมทำงานกับธรรมชาติ เราทำได้แค่รอคอยให้ธรรมชาติเอื้อมมือมาทักทายเรา เปิดเผยตัวตนแห่งความเป็นศิลปะให้เราเห็น ดังนั้น แต่ละวันผมจึงไม่รู้เลยว่าจะได้เจออะไรบ้าง ต้องถ่ายอะไรบ้าง

ลำดับต่อมาที่ยากคือเรื่องเสียง เพราะตลอดทั้งเรื่อง เราไม่ได้บันทึกเสียงธรรมชาติใดๆ กลับมาเลย เสียงที่คุณได้ยินในหนังเป็นเสียงที่เราสรางขึ้นใหม่ทั้งหมด อันที่จริงหนังเรื่องก่อนๆ ของผมก็เช่นกัน เสียงเป็นสิ่งที่ผมมาสร้างขึ้นในกระบวนการโพสต์โปรดักชัน เพราะหลายครั้งทีเดียวที่ผมไม่อาจเก็บเสียงในสถานที่จริงหรือไม่ มันก็ไม่ตรงใจผม ดังนั้น ผมกับเพื่อนที่ทำงานด้านนี้จึงร่วมกันสร้างเสียงใหม่ขึ้นมาจากศูนย์เลยล่ะ เพราะว่าเสียงของธรรมชาติมันไม่ตรงกับเสียงที่อยู่ในความคิดผม เสียงฝน เสียงน้ำตกที่คุณได้ยินในหนังนั่นของจริงไม่ใช่แบบนั้น ผมจึงต้องสร้างขึ้นใหม่

ผมไม่ได้แค่ถ่ายเก็บไว้ แต่ผมบันทึกเรื่องราวเหล่านั้นลงไปเป็นหนัง ผมจึงเห็นภาพผลลัพธ์ที่ตัวเองอยากเห็นในใจอยู่แล้ว เสียงก็เช่นกัน และเมื่อเสียงที่ผมคิดมันไม่ตรงกับเสียงที่เกิดขึ้นในชีวิตจริง ผมก็หยุดบันทึกเสียงและเอามาสร้างเสียใหม่ในกระบวนการโพสต์โปรดักชัน อย่างตอนถ่ายทำเรื่อง Sermon to the Fish คุณจำเวิ้งทะเลทรายในหนังได้ไหม เวลาดูหนัง คนดูคิดว่าทะเลทรายนี้มันอยู่ตรงไหนกันนะ ดูเหมือนมันตัดขาดจากโลกเหลือเกิน แต่ไม่เลยครับ ผมจะบอกว่าห่างออกไปจากตรงนั้นนิดหน่อยมีทางด่วนตั้งอยู่ มีผู้คนอาศัยด้วย แต่ผมไม่ได้ถ่ายพวกเขาให้ติดมาในหนัง เสียงก็ต้องสร้างขึ้นใหม่ให้เหมือนว่าเรื่องราวเกิดขึ้นในใจกลางทะเลทรายปราศจากผู้คน 

การรังสรรค์เสียงขึ้นมาใหม่เป็นกระบวนการที่ท้าทายมากเพราะคุณต้องดึงเอาเสียงที่อยู่ในหัวออกมาให้ได้ คุณสื่อสารกับทีมงานโพสต์-โปรดักชันด้วยวิธีไหน

พระเจ้า นี่คืออีกเรื่องหนึ่งเลย เป็นสงครามแท้ๆ (ถอนหายใจ)

ผมร้องไห้ไปสามหนได้มั้งตอนมิกซ์เสียง เข้าไปในห้องบันทึกเสียง นั่งลงที่มุมห้องแล้วบอกเพื่อนว่าไม่ไหวแล้ว เสียงเป็นเรื่องละเอียดอ่อน หากคุณทำพลาดเพียงนิดเดียว มันก็เปลี่ยนโฉมหน้าหนังทั้งเรื่องไปเลย แต่ถ้าคุณทำออกมาได้ถูกต้อง มันจะออกมาเป็นศิลปะที่งดงามที่สุด นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมผมจึงบันทึกภาพก่อนแล้วค่อยมาบันทึกเสียงทีหลังโดยเป็นการสร้างเสียงขึ้นมาใหม่ทั้งหมด

แต่ทีมเสียงก็เป็นเพื่อนผมมาสิบกว่าปีแล้ว พวกเขาเข้าใจผมทุกอย่าง ไม่เพียงแต่ทีมเสียง แต่ยังรวมถึงนักแสดงและผู้คนในกองถ่ายต่างๆ ด้วย พวกเขาเข้าใจดีว่าผมต้องการอะไร พวกเรากินอยู่ด้วยกัน หลับรอรด้วยกัน เคยได้ยินไหมที่เขาบอกว่าการแต่งงานที่ดีจะทำให้คุณได้มีชีวิตที่แท้จริง ผมว่าผมกับเพื่อนๆ ก็เป็นแบบนั้น เราเพียงแค่เชื่อใจกันและกัน หรือกระทั่งนักแสดงเองก็ตามที หลายครั้งพวกเขาก็ไม่ได้แสดงอะไรหน้ากล้อง แค่เป็นตัวของตัวเอง

เท่ากับว่าคุณใช้แสงธรรมชาติเป็นหลัก แต่กับงานเสียง คุณเอามาสร้างเองใหม่หมดเลยอย่างนั้นเหรอ

ใช่ มีเรื่องหนึ่งที่ผมอยากเล่ามากเลย เช้าวันหนึ่งผมออกเดินไปตรงนั้นตรงนี้ ตอนนั้นสักช่วงแปดโมงครึ่งเท่านั้นเอง ผมคิดว่าแสงตรงแถวชายสวยเหลือเกิน อีกวันหนึ่งผมจึงตื่นขึ้นมาตั้งแต่หกโมงเช้า หอบข้าวของไปตรงบริเวณนั้นและเฝ้ารอ จนราวๆ เจ็ดโมงครึ่งเราก็เริ่มถ่ายทำ และพอแปดโมงครึ่ง แสงแบบที่ผมโปรดปรานก็ปรากฏตัวอีกครั้ง

มีอีกครั้งคือตอนที่ตัวละครเดินเข้าไปในป่า ดวงตะวันฉายแสงอยู่ด้านหลังของเขา และมีนกตัวเล็กๆ อยู่แถวนั้น ผมมองนาฬิกา ตอนนั้นเวลาอยู่ที่ราวๆ บ่ายสามครึ่ง ดังนั้นในอีกวัน ผมจึงไปตรงป่าแห่งนั้นใหม่ตั้งแต่บ่ายหนึ่ง เฝ้ารอ เพื่อนๆ ผมลงไปว่ายน้ำกันขณะที่ผมแค่นั่งอยู่บนก้อนหิน รอแสงแบบนั้นกลับมาอีก และเมื่อถึงเวลาบ่ายสามครึ่ง แสงก็มาจริงๆ ผมทำงานกับธรรมชาติเสมอ 

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save