สิ่งที่ ‘คนดี’ ไม่เคยบอก

สิ่งที่ ‘คนดี’ ไม่เคยบอก

เมื่อพูดถึงคำว่า ‘คนดี’ คุณนึกถึงคนแบบไหนครับ

 

แล้วเคยสงสัยไหมครับว่า เวลาที่เรามองใครสักคนว่าเป็นคนดี เขาดีอย่างไร แล้วปัจจัยอะไรที่จะเปลี่ยนคนดี ให้กลายเป็นคนไม่ดีในสายตาของคุณ

ทั้งนี้ ข้อมูลจากผลวิจัยหลายแห่ง ระบุตรงกันว่า คนที่เราคิดว่าเป็น ‘คนดี’ ส่วนใหญ่ มักไม่ได้ ‘ดี’ อย่างที่เราคิดเสมอไปหรอกครับ เพียงแต่คนเหล่านั้นมีความสามารถในการปกปิด ‘ความชั่ว’ ได้ดีกว่าคนอื่นต่างหาก

บทความนี้จะเผยให้เห็นสิ่งที่ซุกซ่อนอยู่ใต้หน้ากากของคนดี ซึ่งบางทีก็น่ากลัวกว่าคนที่เลวอย่างเปิดเผยด้วยซ้ำ

หลายใจ แต่ไม่แสดงออก

เริ่มต้นจากเรื่องรักๆ ใคร่ๆ กันก่อน แน่นอนว่าคู่รักทุกคู่ ย่อมคาดหวังให้คนรักของตัวเองเป็นคนดี มีความซื่อสัตย์ ไม่คิดนอกใจหรือแอบไปมีชู้ กระทั่งคนโสดทั้งหลาย ก็คงอยากได้แฟนที่รักเดียวใจเดียว มากกว่าคนที่รักง่ายหน่ายเร็ว

แต่คุณเชื่อหรือไม่ว่า บางครั้งความสัมพันธ์ที่ดี กลับคงอยู่ได้ด้วย ‘พฤติกรรมที่ไม่ซื่อสัตย์’ เล็กๆ น้อยๆ นี่แหละ

เฮเลน ฟิชเชอร์ (Helen Fisher) นักมานุษยวิทยา จากมหาวิทยาลัยรัทเกอร์ส (Rutgers University) สหรัฐอเมริกา นำเสนอผลวิจัยว่า ในขณะที่ผู้ชายมีพฤติกรรมนอกใจด้วยเหตุผลด้านแรงขับทางเพศเป็นหลัก แต่ผู้หญิงนั้นมักนอกใจด้วยเหตุผลที่เกี่ยวกับอารมณ์ความรู้สึกมากกว่า

เธอพบว่าผู้หญิงที่แต่งงานแล้ว 34% มีพฤติกรรมนอกใจทั้งที่ยังมีความสุขดีกับชีวิตคู่ ขณะที่ผู้ชายนั้นมีสัดส่วนที่มากกว่าคือ 56% นอกจากนี้เธอยังพบว่าอีกสาเหตุหนึ่งของการนอกใจ ก็เพื่อ ‘ซ่อมแซม’ และ ‘รักษา’ ชีวิตการแต่งงานที่ล้มเหลวนั่นเอง

ถ้าคุณยังไม่เคยเจอความสัมพันธ์แบบนี้ ก็นับว่าเป็นโชคดี แต่คำถามคือว่า เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าคนรักของเรานั้น ‘ไว้ใจได้’ จริงๆ

ตามปกติแล้ว เมื่อเราพูดถึงการนอกใจหรือการมีชู้ เรามักจะนึกถึงความสัมพันธ์แบบชั่วคราว และเกิดขึ้นกับคนแปลกหน้าที่พบกันแบบฉาบฉวยใช่ไหมครับ

ทว่าข้อมูลจากการศึกษาวิจัย กลับพบว่าพฤติกรรมนอกใจส่วนใหญ่ มักเกิดขึ้นกับคนที่รู้จักมักคุ้นกันอยู่แล้ว โดย 85% คือเพื่อนร่วมงาน รองลงมาก็คือเพื่อนบ้านและเพื่อนสนิท เหตุผลที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะ ‘ความสะดวก’ และ ‘ความใกล้ชิด’ นั่นเอง

มีเกร็ดเพิ่มเติมอีกเล็กน้อยว่า ในกลุ่มคนที่มีพฤติกรรมนอกใจนั้น มักจะชื่นชอบดนตรีแนวร็อคเป็นพิเศษ โดยคิดเป็น 41% จากกลุ่มตัวอย่าง รองมาคือแนวป๊อป (16%) แนวคันทรี่ (11%) และแนวคลาสสิก (7%) ใครที่มีแฟนเป็น ‘ชาวร็อค’ ก็อาจต้องดูแลกันเป็นพิเศษหน่อยนะครับ

สุจริตใจ แต่ไม่ซื่อสัตย์

พักจากเรื่องความสัมพันธ์ ลองมาดูตัวอย่างของพฤติกรรมอันไม่ซื่อสัตย์ในแบบที่ซีเรียสขึ้นมาอีกนิด

สมมติเล่นๆ ว่า ระหว่างการแอบขโมยปากกาหรือดินสอจากออฟฟิศมาใช้ที่บ้าน กับการขโมยเงิน 20 บาทที่ใครสักคนวางทิ้งไว้ คุณจะ ‘รู้สึกผิด’ กับการกระทำไหนมากกว่ากัน

หรือถ้าคุณต้องเบิกเงินค่ารถจากบริษัท แล้วต้องเลือกระหว่างการชี้แจงรายละเอียดพร้อมใบเสร็จ กับชี้แจงแค่ยอดรวม โดยไม่ต้องมีใบเสร็จหรือแจกแจงรายละเอียดใดๆ คุณจะเลือกแบบไหน เพราะอะไร

เก็บคำตอบของคุณไว้ในใจ แล้วลองมาดูว่าตรงกับผลการทดลองที่ แดน อาไรลี่ย์ (Dan Ariely) ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยา แห่ง Duke University เคยทำไว้หรือไม่

ในหนังสือ ‘อ่านทะลุความคิด ด้วยจิตวิทยาแห่งการโกง’ (The (Honest) Truth About Dishonesty) เขาเล่าว่าได้ทำการทดลองเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยนำน้ำอัดลมหนึ่งแพค ไปแช่ไว้ในตู้เย็นส่วนกลางของหอพักนักศึกษา และวางเงินที่มีมูลค่าเท่ากันไว้ด้วย ผลปรากฏว่าวันรุ่งขึ้น น้ำอัดลมในแพคนั้นมีคนหยิบไปจนหมดเกลี้ยง แต่กลับไม่มีใครแตะต้องเงินที่วางอยู่เลย

แดนได้ทำการทดลองอื่นๆ ด้วย เพื่อพิสูจน์กลเม็ด ‘การโกง’ รูปแบบต่างๆ แล้วจึงได้ข้อสรุปว่า คนเรามีแนวโน้มที่จะโกงทีละเล็กละน้อย มากกว่าโกงทีละมากๆ และมีแนวโน้มที่จะโกงมากกว่า เมื่อสิ่งตอบแทนที่ได้รับนั้นไม่ใช่เงินโดยตรง

นั่นจึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมคนจึงเลือกที่จะขโมยดินสอหรือปากกา มากกว่าขโมยเงิน (ซึ่งมีค่าเท่ากัน) และยังมีแนวโน้มที่จะโกงมากขึ้น เมื่อประเมินแล้วว่าไม่มีใครรู้เห็น เช่น การเบิกเงินค่ารถเกินจริงโดยไม่ต้องแนบใบเสร็จ ที่สำคัญคือคนส่วนใหญ่มักทำไปโดยไม่รู้สึกว่านั่นเป็น ‘ความผิด’ ซะด้วย!

ถ้าเป็นปากกาหนึ่งด้าม หรือเงินไม่กี่ร้อย เราอาจรู้สึกว่าเป็นเรื่องธรรมดา ไม่เห็นน่าตื่นเต้นอะไรใช่ไหมครับ

แล้วถ้าเราเปลี่ยนตัวเลขจากไม่กี่ร้อย เป็นไม่กี่ ‘ร้อยล้าน’ ล่ะครับ จะน่าสนใจขึ้นไหม

บรรยง พงษ์พานิช เขียนไว้ในหนังสือ ‘หางกระดิกหมา’ ว่าเขาเคยคุยกับเพื่อนของเขาที่เป็นตำรวจชั้นผู้ใหญ่คนหนึ่ง ที่เคยรับสินบนจากบ่อนการพนันและสถานบริการหลายแห่ง ตำรวจนายนี้บอกว่าสินบนที่ตัวเขารับมานั้นเป็น ‘สินบนสะอาด’ เพราะแม้มันจะผิดกฎหมาย แต่มันก็ทำให้ทุกคนที่เกี่ยวข้อง ทั้งเจ้าของสถานบริการ และลูกค้า ต่างมีความสุขกันถ้วนหน้า

เท่านั้นยังไม่พอ เขายังบอกต่อไปอีกว่า ถ้าเขาเอาเงินที่ได้มาไปซื้อตำแหน่ง เพื่อให้มีตำแหน่งใหญ่ขึ้น เขาก็จะสามารถทำประโยชน์ให้ประเทศไทยได้มากขึ้นด้วย

นี่แหละครับคือคำบอกเล่าของ ‘คนดี’ ระดับประเทศ

สิ่งที่ ‘คนดี’ ไม่เคยบอก

ไม่ว่าจะเป็นคนรักผู้มีหลายกิ๊ก พนักงานออฟฟิศผู้ลักเล็กขโมยน้อย หรือนายร้อยตำรวจผู้เชื่อว่าสินบนเป็นของสะอาด มองปราดเดียวเราอาจยัง ‘ดูไม่ออก’ เพราะอย่างที่บอกไปตั้งแต่ช่วงแรกว่าคนเหล่านี้ มักมีวิธีปิดความชั่วได้ดีกว่าคนอื่น

ยิ่งถ้าเป็นคนมีตำแหน่ง หรือมีหน้ามีตาในสังคม แน่นอนว่ายิ่งมีความแยบยลกว่าคนทั่วๆ ไป สิ่งไหนที่ประเมินว่าทำแล้วอาจส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์อันดี ยิ่งต้องระมัดระวัง

อย่างไรก็ดี มีการศึกษาที่บอกว่าเหล่าผู้ฉ้อฉลบางคน กลับจงใจทิ้ง ‘เบาะแส’ บางอย่างไว้ เพื่อบอกใครสักคนให้รู้ว่าเขากำลังทำผิดอยู่..

ฟังดูไม่น่าเชื่อใช่ไหมครับ แต่ สก็อตต์ ฮอลท์แมน (Scott Haltzman) ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยา แห่งมหาวิทยาลัยบราวน์ ผู้ศึกษาเรื่องนี้ ให้เหตุผลว่า บางทีคนเหล่านี้ก็อยากจะหยุดพฤติกรรมแย่ๆ ของตัวเองเหมือนกัน แค่ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร จะหักห้ามใจตัวเองก็ไม่ไหว จึงต้องทิ้งเบาะแสไว้เพื่อให้ตัวเองโดนจับได้ จะได้หยุดพฤติกรรมร้ายๆ นั้นอย่างจริงจังเสียที

นั่นคือกรณีของคนที่ยังพอจะมีความละอายอยู่บ้าง แต่กับบางคนหรือบางกลุ่มที่ไร้ยางอาย เราอาจต้องใช้สายตาที่แหลมคมเป็นพิเศษจึงจะมองออก หรือหากโชคดีหน่อย เขาอาจจะ ‘ปล่อยไก่’ ออกมาให้เราเห็นเองก็เป็นได้

ทั้งหมดทั้งมวลที่ยกมา ไม่ใช่ว่าจ้องแต่จะมองโลกในแง่ร้ายนะครับ เพียงแต่ถ้าคุณลองสังเกตดีๆ จะเห็นว่าสังคมของเราทุกวันนี้ เต็มไปด้วยเรื่องที่ไม่ชอบมาพากลมากมาย และหลายต่อหลายเรื่องก็อยู่ภายใต้การควบคุมของ ‘คนดี’ และในนามของความดี ซึ่งจะไม่มีปัญหาอะไรเลย หากกลุ่มคน หรือองค์กรนั้นๆ สามารถตรวจสอบได้ และยืนยันได้ว่าตัวเองนั้น ‘ดี’ จริง –ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับการป่าวประกาศหรือโฆษณาเพื่อสร้างภาพลักษณ์ว่าดี

 

อ่านเพิ่มเติม

-บทความ Five Truths Every Married Person Needs to Know about Affairs ของ Lori Hollander จาก Good Therapy, July 21, 2011

-บทความ Why Honest People Do Dishonest Things ของ Jessica Schmerler จาก Scientific American, May 22, 2015

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save