fbpx

กำแพงเบอร์ลิน วันชาติเยอรมนีและวัฒนธรรมป็อป สู่ ‘ความเป็นชาติ’ ที่แปรเปลี่ยน

ที่มาภาพ igorelick

“Follow the Moskva

Down to Gorky Park

Listening to the wind of change”

คนที่อายุเกิน 30 อาจจะเคยผ่านหูมาบ้างกับเนื้อเพลงข้างต้นที่ขับร้องโดยวงดนตรีสัญชาติเยอรมันตะวันตก ‘สกอร์เปี้ยน (Scorpion)’ กับเพลงที่มีชื่อว่า ‘Wind of Change’ ประพันธ์โดยเคลาส์ ไมน์เนอ (Klaus Meine) นักร้องนำของวง ซึ่งเป็นเพลงยอดฮิตของชาวร็อกทั้งหลาย

ไมน์เนอแต่งเพลง Wind of Change หลังจากที่สหภาพโซเวียตกำลังเข้าสู่จุดพีกของยุคนโยบายกลาสโนสต์และเปเรสทรอยกา (Glasnost and Perestroika) หรือยุคเปิดกว้างและปรับเปลี่ยนที่ประธานาธิบดีมิคาอิล กอร์บาชอฟ (Mikhail Gorbachev) ตั้งใจจะให้เกิดการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจสังคมในโซเวียต

ไมน์เนออาจไม่ได้แต่งเพลงนี้ หากรัฐบาลโซเวียตไม่สนใจนโยบายเปิดกว้างและปรับเปลี่ยน บทสัมภาษณ์ของเขาในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นเยอรมนีฉบับหนึ่งเล่าถึงแรงบันดาลใจในการแต่งเพลงนี้ว่าได้มาระหว่างร่วมเล่นใน Moscow Music Peace Festival “ในยามเย็นวันนั้นที่มอสโกทุกคนต่างพูดภาษาเดียวกัน ทั้งนักดนตรี แฟนเพลง และอีกหลายๆ คนไม่ว่าจะเชื้อชาติไหน ประเทศไหน ทั้งคนเยอรมัน โซเวียต อเมริกัน ยังไม่นับเหล่านักข่าวจากหลายประเทศ หรือแม้แต่พวกทหารแดง (ทหารโซเวียต) ที่ล้วนเจรจาพาทีกันไปในภาษาเดียวกัน ซึ่งก็คือภาษาดนตรี”[1]

ในสมัยนั้นคงไม่มีใครนึกว่านโยบายดังกล่าวจะนำไปสู่การล่มสลายของสหภาพโซเวียตและจุดจบของสงครามเย็นที่ลากยาวมาเป็นเวลากว่าสี่ทศวรรษ จุดจบของสงครามเย็นไม่ได้อยู่ในสหภาพโซเวียต หากแต่ลมแห่งการเปลี่ยนแปลงได้เริ่มพัดจากมอสโกไปยังปัจฉิมทิศ

สัญลักษณ์สำคัญของการสิ้นสุดสงครามเย็นคือการพังทลายของกำแพงเบอร์ลินในวันที่ 9 พฤศจิกายน 1989 หลังจากถูกสร้างขึ้นในวันที่ 13 สิงหาคม 1961 โดยรัฐบาลคอมมิวนิสต์ของเยอรมนีตะวันออก ถึงแม้ว่าวันที่กำแพงถล่มจะไม่ได้ถูกยกให้เป็นวันสำคัญระดับชาติทั้งที่ควรจะเป็น โดยมีเหตุผลว่าวันดังกล่าวบังเอิญไปตรงกับวันครบรอบการสังหารหมู่ชาวยิวโดยรัฐบาลนาซี ซึ่งไม่เหมาะที่จะเป็นวันสำคัญระดับชาติ จึงทำให้วันรวมชาติต้องเลื่อนไปเป็นวันที่ 3 ตุลาคมแทน

เบื้องหลังของการเลือกวันที่ 3 ตุลาคมสืบเนื่องมาจากสภาประชาชนของสาธารณรัฐประชาธิปไตยเยอรมนี (เยอรมนีตะวันออก) หรือ Volkskammer เปิดประชุมนัดพิเศษวันที่ 23 สิงหาคม 1990 ท่ามกลางความโกลาหลในม่านคอมมิวนิสต์หลังกำแพงถล่มไปได้เกือบปี โดยสภาได้ผ่านกฎหมายให้เยอรมนีตะวันตกเข้าครอบครองดินแดนเยอรมนีตะวันออก[2] และกฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้ในวันที่ 3 ตุลาคม 1990

ปัญหาเยอรมัน

วันที่ 3 ตุลาคมของทุกปีไม่ใช่เพียงแค่วันคล้ายวันเกิดของชาติเยอรมนีในยุคโมเดิร์น แต่ยังเป็นวันครบรอบการรวมชาติครั้งสำคัญ หลังจากรัฐที่ใช้ภาษาเยอรมันหลายรัฐพยายามรวมตัวกันมาตั้งศตวรรษที่ 18-19 จนรวมตัวกันได้แบบหลวมๆ เป็นครั้งแรกในปี 1815 ภายใต้ชื่อสมาพันธรัฐเยอรมัน (Deutscher Bund) อย่างไรก็ตาม การรวมตัวไม่ได้สลายคำถามคาใจถึง ‘ความเป็นเยอรมัน’ ไปเสียทีเดียว

ขณะนั้นเกิดข้อโต้เถียงเรื่อง ‘ปัญหาเยอรมัน (Deutsche Frage)’ ที่ตั้งคำถามต่อการรวบรวมอาณาจักรเล็กๆ ที่มีคนพูดภาษาเยอรมันอาศัยอยู่ว่าควรจะไปในทิศทางไหนและอย่างไร จนนำไปสู่การพยายามหาคำตอบโดยราชวงศ์ใหญ่ที่นำเสนอหนทางไขปัญหาดังกล่าว ซึ่งราชวงศ์ฮับส์บวร์ก (Habsburg) ซึ่งเป็นราชวงศ์ใหญ่เรืองอำนาจของจักรวรรดิออสเตรียพยายามนำเสนอแนวทางอภิเยอรมัน (Großdeutsche Lösung) ซึ่งเสนอให้รวมรัฐที่ใช้ภาษาเยอรมันทั้งหมดเข้าด้วยกัน แต่ก็มีข้อเสนอโต้แย้งจากราชวงศ์ที่เล็กกว่าอย่างปรัสเซีย (Preußen) ที่พยายามกีดกันราชวงศ์ฮับส์บวร์กของออสเตรียออกไปพร้อมเสนอข้อเรียกร้องที่ชื่อว่าแนวทางอนุเยอรมัน (Kleindeutsche Lösung) ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นการรวบรวมรัฐต่างๆ ให้อยู่ภายใต้อาณัติของราชวงศ์ผู้เสนอการไขปัญหา

กระทั่ง ออตโต ฟอน บิสมาร์ก (Otto von Bismarck) นายกรัฐมนตรีเหล็กผู้นำแคว้นปรัสเซียสามารถรวบรวมเยอรมนีให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวได้ในปี 1871 โดยยกเลิกสมาพันธรัฐเยอรมันทิ้ง ตัดมิตรกับราชวงศ์ฮับส์บวร์ก ซึ่งแน่นอนว่ามีสงครามน้อยใหญ่เกิดขึ้นในช่วงการนำของบิสมาร์กตลอดจนผนวกเอาแคว้นอาลซัส-ลอแรน (Alsace-Lorraine) หรือเอลซาส โลทริงเงิ่น  (Elsaß-Lothringen) ที่อยู่ภายใต้อาณัติของฝรั่งเศส ซึ่งชาวแคว้นพูดภาษาเยอรมันมาอยู่ภายใต้การปกครองของปรัสเซีย ทั้งนี้การนำของบิสมาร์กถือว่าเป็นการรวมเยอรมนีครั้งแรกในประวัติศาสตร์รัฐชาติของเยอรมนี

นั่นยังเป็นครั้งแรกที่มีชุมชนจินตกรรมเริ่มเกิดขึ้นอย่างชัดเจนท่ามกลางความคิดของคนในรัฐเยอรมนี ชัดเจนกว่าช่วงที่ชาวเยอรมันรวมตัวกันอย่างหลวมๆ ภายใต้ชื่อสมาพันธรัฐเยอรมัน สำหรับแนวคิดชุมชนจินตกรรมมีต้นกำเนิดมาจากเบเนดิก แอนเดอร์สัน (Benedict Anderson) โดยใจความอยู่ที่ทุนนิยมกับสิ่งพิมพ์ที่เป็นตัวบทสำคัญในการสร้างจินตนาการร่วมความเป็นชาติของคนในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง[3] แนวคิดนี้ยังสามารถเอาไปตอบคำถามได้ด้วยว่าแนวคิดของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์และปัญหาเยอรมันมีความสัมพันธ์กันอย่างไร

ปัญหาเยอรมันไม่ได้จบในช่วงศตวรรษที่ 19 แต่ข้อถกเถียงดังกล่าวยังดำเนินต่อมาจนถึงยุคที่อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ผู้นำพรรคนาซีที่ใช้กลเม็ดสกปรกแยบยลจนลุซึ่งอำนาจเปลี่ยนสาธารณรัฐไวมาร์ (เยอรมนีหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ช่วงปี 1918-1933) ที่กำลังอ่อนปวกเปียก การเมืองแตกออกเป็นเสี่ยงๆ เศรษฐกิจพังพินาศในฐานะผู้แพ้สงครามโลกครั้งที่หนึ่งให้กลายเป็นอาณาจักรไรซ์ที่สาม หรืออาณาจักรที่สามพร้อมกับแนวคิดชาตินิยมสุดโต่งซึ่งเป็นแนวคิดหลักที่เชื่อว่า ฮิตเลอร์ได้รับอิทธิพลจากดีเบตเรื่องปัญหาเยอรมันจนนำไปสู่แนวคิดการสร้างรัฐเยอรมนีอันยิ่งใหญ่ พร้อมกับการเกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์แบบของชุมชนจินตกรรมในหัวของฮิตเลอร์ที่ทุกอย่างเป็นเยอรมันและต้องรวบรวมคนเยอรมัน อย่างการมีนโยบายผนวกประเทศ โดยกลืนออสเตรียและพื้นที่ซูเดนเท่นลันด์ (Sudetenland) ซึ่งเป็นพื้นที่รอบนอกของสาธารณรัฐเช็กที่มีชาวเยอรมันเป็นชนกลุ่มน้อยเข้ามาเป็นหนึ่งเดียวกับอาณาจักรไรซ์ที่สาม

กระทั่งอาณาจักรไรซ์ที่สามพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งเป็นอีกครั้งหนึ่งที่เยอรมนีถูกแยกออกจากกัน โดยเนื้อที่ของเยอรมนีถูกหั่นให้เล็กลง บางส่วนถูกขีดเส้นให้อยู่ใต้พื้นที่โปแลนด์ บางส่วนโซเวียตยึดครอง (เช่นเมืองกาลินินกราด (Kaliningrad) หรือที่คนเยอรมันเรียกว่า เคอนิกส์แบร์ก (Königsberg) ในอดีต) ส่วนอาลซัส-ลอแรนก็กลับเป็นของฝรั่งเศส ทั้งนี้เยอรมนียังถูกแบ่งพื้นที่การปกครองชั่วคราวภายใต้การกำกับของผู้ชนะสงคราม โดยพื้นที่ตะวันตกมีสหรัฐฯ สหราชอาณาจักร และฝรั่งเศสควบคุมดูแลพื้นที่ รวมถึงเบอร์ลินตะวันตก ส่วนภาคตะวันออกของเยอรมนีตกอยู่ภายใต้การดูแลของโซเวียต

จนในปี 1955 สนธิสัญญาการประชุมบอนน์-ปารีสมีผลบังคับใช้ ทำให้ประเทศผู้ชนะสงครามที่กล่าวมาต้องคืนการปกครองให้คนเยอรมัน แต่ปัญหาอยู่ที่ว่าสนธิสัญญาดังกล่าวไม่ได้มีผลบังคับใช้กับโซเวียต อีกทั้งตามหลักแล้วเยอรมนีตะวันออกถือว่าเป็นประเทศนับตั้งแต่มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญในปี 1949 แต่ติดที่ว่าหลายประเทศยังไม่ยอมรับโดยเฉพาะประเทศในโลกการเมืองฝั่งตรงข้าม

คำถามนำต่อไปว่าโซเวียตเคยออกจากเยอรมนีตะวันออกหรือไม่ ซึ่งคำถามนี้ก็อาจจะคลายข้อสงสัยได้ในเหตุการณ์ลุกฮือของชาวเยอรมันตะวันออกในปี 1953 หลังโซเวียตพยายามเข้าไปมีอำนาจครอบงำในทุกมิติ ทั้งยังเป็นผลพวงเกมการเมืองระหว่างประเทศที่ฝั่งพันธมิตรปฏิเสธข้อเสนอรวมชาติเยอรมนีที่โจเซฟ สตาลิน ผู้นำโซเวียตได้เสนอในปี 1952

ดังนั้นเมื่อฝั่งตะวันตกไม่ยอมรับ ก็กลายเป็นสัญญาณไฟเขียวให้ความชอบธรรมแก่พรรคเอกภาพสังคมนิยมเยอรมนี (Sozialistische Einheitspartei Deutschlands – SED) ในการนำเยอรมนีตะวันออกเข้าสู่รัฐคอมมิวนิสต์แบบเต็มรูป ไม่ว่าจะเป็นการขึ้นภาษีนิติบุคคลที่เป็นเอกชน ปรับปรุงโครงสร้างการลงทุนรัฐสู่อุตสาหกรรมหนัก รัฐเข้าควบคุมที่ดินทั้งหมดที่เคยเป็นของเอกชน และโครงการสังคมนิยมอื่นๆ

อาจพูดได้ว่าการตั้งประเทศใหม่ของเยอรมนีตะวันออกและตะวันตกเต็มไปขวากหนามที่ทั้งคู่พยายามอ้างสิทธิเหนือดินแดนของกันและกันมาตลอด เหมือนกรณีเกาหลีเหนือและใต้ ไต้หวันและจีน แต่กรณีของเยอรมนีตะวันออกและตะวันตกมีข้อสังเกตอย่างหนึ่งคือ ทั้งสองประเทศอยากรวมประเทศมาโดยตลอด แม้ว่าทั้งคู่จะได้รับการยอมรับจากนานาชาติในฐานะประเทศและเป็นสมาชิกสหประชาชาติเต็มตัวตั้งแต่ปี 1973

ตัวอย่างที่สำคัญคือ การตั้งเมืองหลวงของเยอรมนีตะวันตกที่เลือกเอาเมืองเล็กๆ ริมแม่น้ำไรน์อย่างเมืองบอนน์ แทนที่จะใช้เมืองใหญ่กว่าอย่างแฟรงก์เฟิร์ตหรือฮัมบวร์ก ซึ่งในประเด็นนี้ คอนราด อาเดเนาเออร์ (Konrad Adenauer) นายกรัฐมนตรีคนแรกของเยอรมนีตะวันตกร่วมกับนักการเมืองคนอื่นๆ พยายามผลักดันการใช้บอนน์เป็นเมืองหลวงชั่วคราวจนสำเร็จและผลักดันให้เบอร์ลินเป็นเมืองหลวงหลังรวมประเทศแล้ว อาเดเนาเออร์ให้เหตุผลในการใช้เมืองบอนน์เป็นเมืองหลวงชั่วคราวว่า หากไปตั้งเมืองหลวงใหม่ที่แฟรงเฟิร์ตหรือฮัมบวร์กก็จะเหมือนกับว่าจะตั้งรกรากถาวรไม่คิดจะรวมเยอรมนีอีกต่อไป ดังนั้นบอนน์จึงเป็นคำตอบสุดท้ายให้เยอรมนีตะวันตกในสมัยนั้น ซึ่งในข้อนี้ผู้เขียนคาดว่า อาเดเนาเออร์อาจมีความหลังเกี่ยวเมืองบอนน์ ซึ่งเคยเป็นทั้งที่เรียนหนังสือ เคยทำกิจกรรมชมรมโรมันคาทอลิกที่บอนน์ และบ้านเกิดของอเดเนาเออร์ที่โคโลญก็ตั้งอยู่ไม่ไกลนัก

เหตุการณ์ลุกฮือในเยอรมนีตะวันออกในวันที่ 17 มิถุนายน 1953 ก็เป็นอีกเหตุการณ์สำคัญที่น่าสนใจว่าวันดังกล่าวสร้างแรงกระเพื่อมจนกลายเป็นวันสำคัญและเป็นวันหยุดราชการของเยอรมนีตะวันตกเพื่อรำลึกถึงการต่อต้านคอมมิวนิสต์ของคนฝั่งตะวันออก และยังเป็นสัญลักษณ์แห่งการต่อสู้เพื่ออิสรภาพและความเป็นหนึ่งเดียวของชาวเยอรมัน สะท้อนว่าชุดแนวคิดความเป็นชาติเดียวกันยังมีอยู่แม้ว่าจะถูกแบ่งแยกทั้งการลากเส้นสมมติบนแผ่นที่หรือกระทั่งการสร้างกำแพงกีดกั้นระหว่างพี่น้องตะวันออกและตะวันตก

ปัญหาเยอรมัน ชุมชนจินตกรรม และวัฒนธรรมป็อป

ในช่วงสงครามเย็น การแบ่งแยกระหว่างฝั่งประชาธิปไตยและฝั่งคอมมิวนิสต์ยังสะท้อนออกมาผ่านรูปแบบของดนตรีป็อปไม่ว่าจะเป็นจากในเยอรมนีเอง หรือจากประเทศตะวันตกอื่นๆ ที่มองสนามรบศึกสงครามเย็นในยุโรปเป็นพื้นที่อันร้อนแรง โดยเฉพาะเยอรมนีที่เป็นพื้นที่เผชิญหน้าระหว่างค่ายประชาธิปไตยและคอมมิวนิสต์ เนื้อเพลงในช่วงปี 1980-1990 มักสะท้อนถึงเรื่องเสรีภาพ ซึ่งก็อดคิดไม่ได้ว่าการเรียกร้องเสรีภาพผ่านวัฒนธรรมกระแสหลักจะเป็นหนึ่งในความพยายามเอาชนะคัดคานกันทางแนวคิดทางการเมืองผ่านซอฟต์พาวเวอร์หรือการขยายอำนาจทางวัฒนธรรม แทนที่จะใช้อาวุธห้ำหั่น

เพลงจากโลกตะวันตกและเยอรมนีตะวันตกมีความแตกต่างโดยสิ้นเชิงจากเพลงในฝั่งตะวันออก ทั้งเยอรมนีตะวันออกและกลุ่มประเทศคอมมิวนิสต์ แต่การเกิดขึ้นของวงดนตรีร็อกหลังวัฒนธรรมร็อกข้ามพรมแดนเข้ามาบวกกับการปรับเปลี่ยนทางวัฒนธรรมการเมืองในสมัยของเอริก โฮเนคเกอร์ (Erich Honecker) ช่วงปี 1971 ทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนทางการเมืองจนแนวคิดเรื่องดนตรีของชนชั้นผู้ปกครองในเยอรมนีตะวันออกเปลี่ยนไปและเปิดกว้างต่อวัฒนธรรมตะวันตกมากขึ้น วงดนตรีอย่าง Puhdys ร็อกเยอรมันตะวันออกแท้ๆ ได้เข้าไปอยู่ในวัฒนธรรมกระแสหลักในโลกคอมมิวนิสต์ซึ่งแน่นอนว่าจะไม่มีเรื่องการเมือง เสรีภาพและสงครามในเนื้อร้องอย่างแน่นอน

ส่วนวัฒนธรรมดนตรีฝั่งตะวันตก นอกเหนือจากวง Scorpions แล้ว อีกหนึ่งเพลงที่ขึ้นชื่อว่าเป็นเพลงป็อปต่อต้านสงครามแห่งยุคและเป็นเพลงที่คนเยอรมันรู้จักอย่างดีคือบทเพลงที่ชื่อว่า 99 Luftballons หรือแปลตรงตัวว่า ลูกโป่ง 99 ลูก ที่ขับร้องโดย Nena วางแผงครั้งแรกในปี 1983 เนื้อร้องเริ่มด้วยถ้อยคำที่เกี่ยวกับการเล่าเรื่องราวแฟนตาซีของลูกโป่ง 99 ลูกที่ลอยข้ามพรมแดนก่อเป็นชนวนสงคราม 99 ปีและจบลงโดยไม่มีผู้แพ้และผู้ชนะ แต่โลกต้องจบลงบนซากปรักหักพังหลังการสู้รบ

อีกหนึ่งตัวอย่างที่ผู้เขียนเจอโดยบังเอิญกับวัฒนธรรมเพลงในประเทศเพื่อนบ้านเยอรมนี อย่างเนเธอร์แลนด์ คือเพลง Over de muur (ข้ามกำแพง) จากวง Klein Orkest ที่ติดอันดับเพลงท็อปฮิต 40 อันดับแรกในเนเธอร์แลนด์เมื่อปี 1984 โดยเนื้อเพลงพูดถึงนกที่โบยบินข้ามแดนจากเบอร์ลินตะวันออกสู่เบอร์ลินตะวันตกได้โดยไม่มีข้อจำกัดและไม่ถูกสังหารเฉกเช่นบรรดาเหยื่ออธรรมจากฝั่งตะวันออกที่พยายามข้ามพรมแดนเพื่อหาเสรีภาพ เนื้อเพลงนี้มีท่อนน่าสนใจที่ชวนคิดต่อถึงสภาพสังคมในขณะนั้น เป็นท่อนที่กล่าวถึงเยอรมนีตะวันออกว่าเป็นดินแดนยูโทเปีย สถานที่ที่ทุกคนมีสวัสดิการสังคมเฟื่องฟูนำโดยลัทธิมาร์กซ์และเลนิน แต่หากเสนอแนวคิดพิสดารแปลกประหลาดจากรัฐก็ไม่วายที่จะถูกจับส่งโรงพยาบาลโรคประสาท ต่างกับฝั่งตะวันตกที่แม้ว่าจะมีเสรีภาพมากมายที่สะท้อนผ่านภาพโป๊เปลือย การกินดื่มและการพนัน แต่ผลผลิตจากทุนนิยมก็ยังมีความยากจนข้นแค้นให้เห็นอยู่เนืองๆ

ไม่ใช่แค่เพลงเท่านั้นที่พยายามสื่อถึงการแบ่งแยกพี่น้องออกจากกันเพียงเพราะสิ่งที่รัฐพยายามครอบงำคนผ่านลัทธิการปกครองและการสร้างกำแพงกั้นเสรีภาพของมนุษย์ ในภาพยนตร์ตลกเรื่อง Sonnenallee หรือถนนพระอาทิตย์ ที่ไม่ได้พูดถึงเรื่องในกรุงเทพฯ แต่ฉายภาพชีวิตวัยรุ่นเบอร์ลินตะวันออกที่เติบโตบนถนนเส้นดังกล่าวตามชื่อเรื่อง ถึงแม้ว่าจะเป็นภาพยนตร์ตลก แต่ก็สอดไส้ตลกร้ายผ่านคำว่าการกดขี่อิสรภาพ ไม่ว่าจะเป็นการแอบลักลอบเอาเพลงร็อกและวัฒนธรรมป็อปจากฝั่งตะวันตกเข้ามา การเสียดสีสิ่งสำคัญที่เป็นสัญลักษณ์ของอำนาจรัฐบาลคอมมิวนิสต์เยอรมนีตะวันออก อย่างการล้อเลียนคำขวัญพรรค SED หรือแม้กระทั่งการแอบปัสสาวะใส่กำแพงเบอร์ลินจนกลายเป็นเรื่องราวใหญ่โต

นอกจากนี้เราอาจเห็นเพลงอีกหลายเพลง ไม่ว่าจะเป็นเพลง Nikita ของ Elton John ที่เกี่ยวกับหนุ่มอังกฤษหลงรักสาวตรวจคนเข้าเมืองเยอรมนีตะวันออก เพลง Brandenburger Tor ของ Ketil Stokkan ศิลปินชาวนอร์เวย์ ที่พูดถึงความปิติยินดีกับการพังทลายของกำแพงเบอร์ลิน เพลง Zoo station ของ U2 หรือเพลง Beauty and the Beast ของ David Bowie ที่สามารถตีความถึงเบอร์ลินตะวันออก-ตะวันตกได้อีกด้วย กระทั่งภาพยนตร์อีกหลายเรื่องอย่าง The Lives of Others (Das Leben der Anderen) ที่สะท้อนภาพความเป็นมนุษย์ในระบอบที่กดขี่เสรีภาพออกมาได้อย่างน่าทึ่ง เมื่อในหลายครั้งมนุษย์ต้องลดการจินตนาการความเป็นชาติให้น้อยลงและแทนที่ด้วยความเห็นอกเห็นใจบนพื้นฐานของความเป็นมนุษย์

ความน่าสนใจในเพลงและภาพยนตร์ข้างต้นคือ agenda หรือวาระแก่นสารที่ผู้สร้างงานพยายามสื่อออกมา เมื่อผลงานต่างๆ ที่สื่อออกมาในวัฒนธรรมบันเทิงกระแสหลักในโลกตะวันตกมักสร้างภาพจินตนาการว่า กำแพงเบอร์ลินไม่ใช่แค่การสิ้นสุดของสงครามเย็นและไม่ใช่แค่จุดที่ชาวเยอรมันได้กลับมารวมกัน แต่ยังหมายถึงเสรีภาพ การริเริ่มวัฒนธรรมเสรีที่ไม่ต้องมีใครมาขีดเส้น ไม่ต้องถูกจำกัดอีกต่อไป มากกว่านั้นสัญลักษณ์ของกำแพงเบอร์ลินยังมีการทำซ้ำ ย้ำให้ชัดเพื่อเป็นหมุดหมายสำคัญต่อการเปลี่ยนผ่านทางการเมือง สังคม และความคิดที่มีรากเหง้ามาจากการแบ่งแยกคนออกจากกัน

หากย้อนกลับไปในวัฒนธรรมป็อปก็จะเห็นได้ว่าบางครั้งมีการนำเอาเรื่องกำแพงเบอร์ลินกลับมาปัดฝุ่นและนำกลับมาเล่นใหม่อยู่ตลอด แต่การนำเสนอก็ไม่ผิดแปลกไปจากภาพแสดงที่ว่ากำแพงเบอร์ลินคือกำแพงที่กั้นสิทธิเสรีภาพ หาใช่กำแพงที่กั้นพวกนาซีตามที่พลพรรค SED กล่าวอ้างไม่ และมักจะไม่แตะถึงเหตุผลที่ฝั่งคอมมิวนิสต์ตะวันออกพยายามอ้างถึงข้อดีของกำแพง

พื้นที่เบอร์ลินถูกแปลงสภาพจากสนามรบไปสู่การสรรค์สร้างวัฒนธรรมร่วมสมัย อย่างดนตรีแนวเทคโน ที่เบอร์ลินปัจจุบันนี้กลายเป็นเสมือนเมืองหลวงย่อมๆ ของผู้ชื่นชอบดนตรีแนวดังกล่าว การเปลี่ยนแปลงนี้ยังชี้ให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงจินตภาพของคนในยุคปัจจุบันเมื่อ ‘ปัญหาเยอรมัน’ ได้รับคำตอบแล้วและสำนึกร่วมความเป็นชาติไม่ได้สำคัญเหมือนในยุคศตวรรษที่ 19 อีกต่อไป แต่แก่นของแนวคิดกลายเป็นเรื่องความยุติธรรมในสังคมที่ทุกคนต้องได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมบนพื้นฐานความเป็นมนุษย์ โดยไม่สนว่าใครจะมาจากพื้นเผ่าพันธุ์ไหน หรือภาษาแม่จะเป็นอะไร

ปัญหาคลาสสิกอย่างปัญหาเยอรมันกับการรวมชาติได้รับคำตอบผ่านประวัติศาสตร์ไปเรียบร้อยแล้ว สังคมจินตกรรมยุคใหม่ไม่ได้พุ่งเป้าไปที่การรวมคนพูดภาษาเดียวกัน สำนึกในมโนภาพของรัฐชาติได้แปรเปลี่ยนไป (ถึงแม้ว่ากระแสโต้จากกลุ่มคนคลั่งชาติก็มีอยู่ให้เห็นเนืองๆ) สู่ความหมายที่มีความก้าวหน้าไปถึงหลักการความเป็นธรรมทางสังคมที่ทุกคนต้องเข้าถึงโอกาส ทรัพยากร และความเป็นมนุษย์ที่ทุกคนพึงมีสิทธิเท่าเทียม หรือพูดง่ายๆ คือ ความคลั่งชาติลดลง ความเป็นมนุษย์มากขึ้น


[1] “Wind of Change”: Die Scorpions und die CIA.

[2] Volkskammer der DDR stimmt für Beitritt

[3] อ่านเพิ่มได้ที่หนังสือ Imagined Communities: Reflections on the Origin and Spread of Nationalism หรือ ชุมชนจินตกรรม: บทสะท้อนว่าด้วยกำเนิดและการแพร่ขยายของชาตินิยม

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save