fbpx

Greenland amidst Arctic Powerplay: ‘กรีนแลนด์’ ท่ามกลางสามเหลี่ยมยุทธศาสตร์อาร์กติก

ใครจะคาดคิดว่า ‘กรีนแลนด์’ เกาะที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกภายใต้อธิปไตยของราชอาณาจักรเดนมาร์ก[1] ประกอบด้วยประชากรเพียง 56,000 รายกว่าๆ จะกลายมาเป็นจุดศูนย์กลางสำคัญของการแข่งขันภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างมหาอำนาจสหรัฐอเมริกา จีน และรัสเซียในภูมิภาคอาร์กติกปัจจุบัน

ผู้อ่านคงจำกันได้ว่ามหาอำนาจทั้งสามต่างพยายามขยับขยายอิทธิพลเข้าไปในกรีนแลนด์ อย่างในเดือนสิงหาคม ปี 2019 อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) ประกาศความตั้งใจที่จะซื้อเกาะกรีนแลนด์ ซึ่งถูกปฏิเสธจากทั้งรัฐบาลเดนมาร์กและกรีนแลนด์ โดยนายกรัฐมนตรีเดนมาร์ก เมตเต เฟรเดอริกเซน (Mette Frederiksen) กล่าวโต้ทรัมป์ว่า “ไร้สาระ (absurd)” ในทำนองเดียวกัน ในปี 2016 บริษัทเจเนอรัล นีซ (General Nice) บริษัทขุดเหมืองแร่สัญชาติจีนก็เคยเสนอซื้อฐานทัพอากาศที่เมืองแคนกาลินกิต (Kangilinnguit) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของกรีนแลนด์ แต่ก็ถูกรัฐบาลเดนมาร์กและกรีนแลนด์ปัดตกเช่นกัน ในขณะเดียวกัน แม้ว่ารัสเซียจะไม่เคยยื่นข้อเสนอซื้อกรีนแลนด์เหมือนสหรัฐฯ และจีน แต่เห็นได้ชัดว่าข้อเสนอว่าด้วยขอบเขตไหล่ทวีปของรัสเซียฉบับแก้ไขปี 2021 ของรัสเซียกินอาณาเขตทับซ้อนกับอาณาเขตทางทะเลของกรีนแลนด์จนกลายเป็นข้อพิพาทระหว่างรัสเซีย กรีนแลนด์ และเดนมาร์ก

นอกจากนี้ สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ปะทุขึ้นในปี 2022 ยิ่งตอกย้ำความสำคัญของกรีนแลนด์ในการคิดคำนวณเชิงยุทธศาสตร์ของทั้งสหรัฐฯ จีน และรัสเซียอย่างมาก สงครามที่ยืดเยื้อทำให้รัสเซียเพิ่มกองกำลังทหาร รื้อฟื้น และพัฒนาระบบเพื่อสอดแนมการปฏิบัติการทางทหารของสหรัฐฯ และรัฐสมาชิกองค์การนาโตตามน่านน้ำต่างๆ ในมหาสมุทรอาร์กติก (Arctic Ocean) ความพยายามของรัสเซียทำให้สองฝ่ายหลังกังวลว่า รัสเซียจะค่อยๆ แผ่ขยายกองกำลังมาใกล้บริเวณกรีนแลนด์ ซึ่งเป็นที่ตั้งของฐานทัพอากาศทูลิ (Thule Air base)[2] ของสหรัฐฯ และที่ยิ่งไปกว่านั้นคือ กรีนแลนด์ยังเป็นหนึ่งในสมาชิกนาโตผ่านสมาชิกภาพของเดนมาร์ก ในเวลาเดียวกัน จีนประกาศความร่วมมือกับรัสเซียในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในอาร์กติกหลายโครงการ อาทิ โครงการผลิตและส่งออกก๊าซธรรมชาติ Yamal-LNG I และ Yamal-LNG II ให้การสนับสนุนด้านต่างๆ แก่รัสเซียในสงครามรัสเซีย-ยูเครน อีกทั้งยังเสนอความช่วยเหลือในการสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานต่อรัฐบาลกรีนแลนด์ เช่น สนามบิน และท่าเรือ ด้วยเหตุนี้ สหรัฐฯ จึงมองว่าพฤติกรรมของรัสเซีย กอปรกับความร่วมมือระหว่างมหาอำนาจจีน-รัสเซียเป็นภัยคุกคามต่ออิทธิพลของสหรัฐฯ ในแถบขั้วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อกรีนแลนด์เคยมีความสำคัญอย่างมากต่อสหรัฐฯ ในช่วงสงครามเย็น

คำถามสำคัญมีอยู่ว่า เหตุใดสหรัฐฯ จีน และรัสเซียจึงสนใจและพยายามขยายอิทธิพลเข้ามาในกรีนแลนด์ มหาอำนาจเหล่านี้มีบทบาทในการกำหนดภูมิทัศน์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของกรีนแลนด์อย่างไร ประชาชนชาวกรีนแลนด์มีมุมมองอย่างไรต่อการเข้ามาของมหาอำนาจเหล่านี้ รัฐบาลกรีนแลนด์ตัดสินใจดำเนินนโยบายอย่างไรท่ามกลางการแข่งขันของมหาอำนาจ ตลอดจนการแข่งขันที่เกิดขึ้นส่งผลอย่างไรต่อฉากทัศน์ภูมิรัฐศาสตร์ของภูมิภาคอาร์กติก

ทำไมต้องกรีนแลนด์?: จุดยุทธศาสตร์ อำนาจ และทรัพยากร

นักวิชาการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ศึกษาภูมิภาคอาร์กติกเห็นตรงกันว่า ปัจจัยสำคัญที่ดึงดูดให้สหรัฐฯ จีน และรัสเซียพยายามขยายอิทธิพลเข้าสู่กรีนแลนด์แบ่งออกเป็นสามประการ

ประการแรก สภาพภูมิศาสตร์ของกรีนแลนด์เป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญของมหาอำนาจทั้งสาม โดยเฉพาะสหรัฐฯ เนื่องจากที่ตั้งของกรีนแลนด์อยู่ในบริเวณมหาสมุทรอาร์กติกและมีพรมแดนทางตอนใต้ติดมหาสมุทรแอตแลนติก (Atlantic Ocean) ทำให้กรีนแลนด์เป็นทางเชื่อมระหว่างสามภูมิภาคที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจสูง ได้แก่ ภูมิภาคอาร์กติก ทวีปอเมริกาเหนือ และทวีปยุโรป ยิ่งไปกว่านั้น ระยะทางจากกรีนแลนด์ไปสู่ทวีปอเมริกาเหนือและยุโรปยังอยู่ภายในรัศมีทำการของขีปนาวุธข้ามทวีป (Intercontinental ballistic missile: ICBM) ซึ่งมีขอบเขตตั้งแต่ 5,500 กิโลเมตรขึ้นไป ด้วยเหตุนี้ จึงไม่น่าประหลาดใจที่สหรัฐฯ และพันธมิตรนาโตถึงให้ความสำคัญกับกรีนแลนด์อย่างมาก

นอกจากนี้ กรีนแลนด์มีพรมแดนติดกับเส้นทางการเดินเรือและขนส่งสินค้าใหม่ๆ ผ่านมหาสมุทรอาร์กติกหลายเส้นทาง ไม่ว่าจะเป็นเส้นทางตะวันตกเฉียงเหนือ เส้นทางทรานส์โพลาร์ และเส้นทางทะเลเหนือ (Northern Sea Route: NSR) ซึ่งเป็นเส้นทางที่รัสเซียกับจีนกำลังร่วมมือกันพัฒนาเพื่อเชื่อมเศรษฐกิจของภูมิภาคอาร์กติก เอเชีย และยุโรปเข้าด้วยกัน หากพัฒนาสำเร็จ NSR จะร่นระยะเวลาขนส่งสินค้าระหว่างยุโรปเหนือกับทวีปเอเชียลง โดยใช้เวลาน้อยกว่าเส้นทางดั้งเดิมอย่างเส้นทางช่องแคบมะละกาและคลองสุเอซ (Malacca Straits-Suez Canal Route: MSR) อีกทั้งยังลดต้นทุนการขนส่งสินค้า และช่วยเร่งกิจกรรมทางเศรษฐกิจระหว่างสองทวีปด้วย  

ประการถัดมาคือ กรีนแลนด์สามารถเป็นพันธมิตรสำคัญที่ช่วยผลักดันประเด็นวาระต่างๆ ของจีน สหรัฐฯ และรัสเซียในกลไกพหุภาคีภายในภูมิภาคอย่างสภาอาร์กติก (Arctic Council)[3] กรีนแลนด์ซึ่งมีตัวแทนอยู่ในสภาอาร์กติกผ่านสิทธิของเดนมาร์กมีสิทธิออกเสียงเพื่อตัดสินใจผ่านหรือปัดตกประเด็นวาระต่างๆ ที่รัฐสมาชิกอื่นๆ เสนอได้ แม้จะต้องผ่านการอนุมัติจากเดนมาร์กก็ตาม

เพราะฉะนั้น มหาอำนาจ โดยเฉพาะสหรัฐฯ และจีน ซึ่งคอยผลักดันนโยบายตนเองผ่านรัสเซียที่เป็นรัฐสมาชิกสภาอาร์กติกจึงพยายามเพิ่มปฏิสัมพันธ์กับกรีนแลนด์ผ่านหลายช่องทาง อาทิ การให้เงินช่วยเหลือ และการเสนอช่วยสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ด้วยความหวังที่ว่า กรีนแลนด์จะช่วยผลักดันผลประโยชน์ของสองมหาอำนาจได้สำเร็จ ออกเสียงผ่านวาระต่างๆ ที่ทั้งสองประเทศนำเสนอในสภาอาร์กติกได้

ทั้งสหรัฐฯ และจีนต่างมีโครงการสำคัญหลายโครงการที่จะผลักดันในภูมิภาคอาร์กติก เช่น จีนต้องการสร้างระเบียงเศรษฐกิจอาร์กติก (Arctic Blue Economic Corridor) เพื่อเชื่อมเศรษฐกิจเอเชียและยุโรปเข้าด้วยกันผ่านเส้นทางคมนาคมขนส่งทั้งทางบกและทางทะเล ในขณะที่สหรัฐฯ มุ่งรื้อฟื้นและสั่งสมกองกำลังทหารของตนเองในภูมิภาคอาร์กติกมากขึ้นเพื่อป้องปรามการเพิ่มกองกำลังของรัสเซียในอาร์กติก อย่างไรก็ดี ความหวังของมหาอำนาจทั้งสองขึ้นอยู่กับว่า กรีนแลนด์จะสามารถประกาศอิสรภาพจากเดนมาร์กได้สำเร็จหรือไม่ในอนาคต

ประการสุดท้ายคือ กรีนแลนด์มีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ซึ่งส่วนมากมีมูลค่าทางเศรษฐกิจที่สูง อาทิ ก๊าซธรรมชาติ สังกะสี ตะกั่ว เพชร ทอง ทองแดง เหล็ก ยูเรเนียม

แต่ที่คาดว่าเป็นที่ต้องการอย่างสูงคือน้ำมัน ซึ่งมีโอกาสที่จะขุดได้มากกว่า 2 พันล้านตันจากแหล่งขุดเจาะน้ำมันในกรีนแลนด์ภายในปี 2050 ส่วนไฮโดรคาร์บอน ซึ่งจำเป็นต่อการพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานสะอาด (clean technology) ก็พบได้ทั้งภาคตะวันตกและภาคตะวันออกของกรีนแลนด์ ขณะเดียวกันกลุ่มแร่หายาก (rare-earth elements: REE) สามารถพบได้มากทางตอนใต้ของกรีนแลนด์ เช่น บริเวณเหมือง Kvanefjeld และ Kringlerne โดยพบ REE ได้ทั้ง REE แบบหนัก (heavy REE) และแบบเบา (light REE) ที่สำคัญคือ REE ที่พบในกรีนแลนด์มีปริมาณมากถึง 1.5 ล้านตัน ซึ่งมากเป็นอันดับต้นของโลก

ทั้งหมดนี้ยังไม่นับรวมถึงแหล่งทรัพยากรอื่นๆ ที่ยังไม่ถูกค้นพบในกรีนแลนด์ นักธรณีวิทยาต่างเชื่อว่า การละลายของพืดน้ำแข็งและน้ำแข็งขั้วโลก อันเป็นผลมาจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่ทวีความรุนแรงขึ้นทุกปีจะส่งผลให้ทรัพยากรเหล่านี้ปรากฏมากขึ้นในอนาคตอย่างมีนัยสำคัญ

แผนที่ระบุทรัพยากรแร่มีค่าต่างๆ ภายในกรีนแลนด์ และบริษัทเหมืองแร่ที่ได้สัมปทานการขุดเจาะแร่ดังกล่าว | ที่มาภาพ

ท่ามกลางการแข่งขันระหว่างมหาอำนาจเพื่อประกันการเข้าถึงแหล่งทรัพยากรของกรีนแลนด์ตลอดหลายปีที่ผ่านมา REE ดูจะได้รับความสำคัญมากที่สุด การที่มหาอำนาจพุ่งเป้าไปที่ REE นั้นถูกขับเคลื่อนด้วยเหตุผลหลักสองประการ

ประการแรก เพื่อประกันความเสี่ยงในห่วงโซ่อุปทาน REE ระดับโลกจากการที่จีนผูกขาดการเป็นผู้ผลิตและส่งออก REE รายใหญ่ที่สุดของโลก โดย REE มากกว่าร้อยละ 80 ของโลกถูกผลิตและสกัดที่จีน นั่นทำให้นานาประเทศ รวมทั้งสหรัฐฯ และรัสเซียหวั่นเกรงว่า จีนจะใช้การพึ่งพา REE เป็นอาวุธ (weaponized) เพื่อสร้างแต้มต่อในการกดดันให้ประเทศที่พึ่งพาจีนดำเนินนโยบายตามผลประโยชน์ของจีน ซึ่งก็เคยเกิดขึ้นแล้วในปี 2010 เมื่อจีนระงับการส่งออก REE ทั้งหมดไปญี่ปุ่นเพื่อตอบโต้ญี่ปุ่นในข้อพิพาทเกาะเตียวหยู / เซงคะคุ (Diaoyu / Senkaku) เหตุการณ์ดังกล่าวถือเป็นจุดเปลี่ยนให้นานาประเทศพยายามแสวงหาแหล่งทรัพยากร REE อื่นๆ เพื่อลดการพึ่งพาจากจีนด้วย ซึ่งกรีนแลนด์ก็เป็นทางเลือกหนึ่งที่นานาประเทศให้ความสนใจ

ประการต่อมา คือ ทรัพยากร REE จำเป็นต่อทั้งการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียว (green economy) การสร้างความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และการพัฒนาอาวุธยุทโธปกรณ์ให้ทันสมัยของกองทัพ โดย REE แบบหนักที่สามารถพบได้บริเวณเหมือง Kvanefjeld และ Kringerne ไม่ว่าจะเป็นนีโอดีเมียม (neodymium) ยูโรเปียม (europium) เทอร์เบียม (terbium) และพราสิโอดีเมียม (praseodymium) ต่างถูกใช้ในกระบวนการผลิตเทคโนโลยีพลังงานทดแทน เช่น กังหันลม (wind turbine) และแผงวงจรแสงอาทิตย์ (solar panel) อีกทั้งยังถูกใช้ในการสร้างระบบนำร่องขีปนาวุธ เครื่องบินรบ ระบบเรดาร์ ระบบโซนาร์ และระบบสื่อสารผ่านดาวเทียมด้วย ดังที่กระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ (U.S. Department of Defense) ออกมากล่าวย้ำทุกปีถึงความจำเป็นที่สหรัฐฯ ต้องแสวงหาแหล่งทรัพยากร REE ใหม่ๆ และคิดค้นวิธีการใช้ทรัพยากร REE อย่างยั่งยืน เช่น การรีไซเคิลเพื่อให้เพียงพอต่อการผลิตยุทโธปกรณ์ของตนเอง เช่นเดียวกับจีนและรัสเซีย

แรงขับเคลื่อนสองประการส่งผลให้ทั้งสหรัฐฯ จีน และรัสเซียสนใจอย่างมากที่จะลงทุนและยื่นขอสัมปทานการขุดเจาะและสกัดทรัพยากรดังกล่าว เช่น ในปี 2014 บริษัท Nonferrous Metal Industry’s Foreign Engineering and Construction Co. (NFC) บริษัทรัฐวิสาหกิจของจีนได้ลงนามใน Memorandum of Understanding (MoU) ร่วมกับบริษัท Greenland Minerals and Energy บริษัทเหมืองแร่ของกรีนแลนด์ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลออสเตรเลีย เพื่อร่วมพัฒนาโครงการขุดเจาะและสกัด REE ที่เมือง Kvanefjeld เช่นเดียวกับ สหรัฐฯ ที่ Hudson Resources (HR) บริษัทเหมืองแร่ของสหรัฐฯ ถือครองใบอนุญาตดำเนินโครงการขุดเจาะและสกัด REE ที่ชื่อ Sarfartoq โดยเมื่อปี 2022 บริษัท HR ก็ตกลงขายใบอนุญาตดำเนินโครงการ Sarfartoq ให้กับบริษัทสัญชาติแคนาดา Neo Performance Materials Inc. เป็นมูลค่า 3.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในทางหนึ่ง ความตกลงครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า สหรัฐฯ กับแคนาดาพยายามร่วมมือกันเพื่อประกันการเข้าถึงแหล่งทรัพยากร REE ในกรีนแลนด์ เนื่องจากทั้งสองประเทศต่างต้องการลดการพึ่งพาการนำเข้า REE จากจีน และสำรอง REE ไว้พัฒนาเทคโนโลยีพลังงานสะอาดและการทหารของตนเองในอนาคต

เมื่อ ‘สามเหลี่ยมยุทธศาสตร์อาร์กติก’ คืบคลานสู่กรีนแลนด์

นับตั้งแต่ปี 2019 เป็นต้นมา การแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างสหรัฐฯ จีน และรัสเซียในกรีนแลนด์ทวีความรุนแรงมากขึ้นจนภูมิภาคอาร์กติกตกอยู่ใน ‘สามเหลี่ยมยุทธศาสตร์’ ระหว่างชาติมหาอำนาจทั้งสาม กล่าวคือ กรีนแลนด์ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ของมหาอำนาจเหล่านี้เสียแล้ว โดยแนวทางการขยายอิทธิพลมักปรากฏในรูปของการแข่งขันด้านเศรษฐกิจและการทูตมากกว่าทางด้านยุทธศาสตร์การทหาร

ทว่า แต่ละมหาอำนาจในสามเหลี่ยมยุทธศาสตร์นี้มีการจัดลำดับความสำคัญของผลประโยชน์และมีวิธีการปฏิสัมพันธ์กับกรีนแลนด์ที่ต่างกัน

สำหรับสหรัฐฯ กรีนแลนด์เป็นดั่งสวนหลังบ้านที่สหรัฐฯ ให้ความสำคัญอย่างมากในทางยุทธศาสตร์ เพราะฉะนั้น กิจกรรมใดก็ตามของมหาอำนาจคู่แข่ง ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนของจีนในอุตสาหกรรมเหมืองแร่ในกรีนแลนด์ หรือความพยายามขยายกองกำลังของรัสเซียเหนือน่านน้ำใกล้พรมแดนของกรีนแลนด์ ย่อมถูกนับรวมในสมการยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ อีกทั้งระยะห่างระหว่างกรีนแลนด์กับสหรัฐฯ ก็อยู่ไม่เกินระยะทำการของขีปนาวุธข้ามทวีปดังที่กล่าวไว้ ทำให้สหรัฐฯ ไม่อาจนิ่งนอนใจได้หากคู่แข่งของตนเองมีแผนการขยายกองกำลังทหารหรือติดตั้งฐานยิงขีปนาวุธในกรีนแลนด์

การรับรู้เช่นนี้ขับเคลื่อนการดำเนินนโยบายของสหรัฐฯ ต่อกรีนแลนด์ตลอดหลายปีที่ผ่านมา และทำให้สหรัฐฯ ให้ความสำคัญกับความมั่นคงในกรีนแลนด์เป็นลำดับแรก ภายหลังรัสเซียประกาศแผนปฏิรูปกองกำลังในอาร์กติกและจีนเพิ่มปฏิสัมพันธ์กับกรีนแลนด์ สหรัฐฯ ก็ริเริ่มแผนฟื้นฟูและยกระดับฐานทัพอากาศทูลิ ซึ่งเคยมีการพัฒนาติดตั้งสถานีเรดาร์ ระบบสอดแนมปฏิบัติการทางทะเล และระบบตรวจจับขีปนาวุธเพื่อใช้ปฏิบัติการทางทหารและป้องกันการโจมตีอย่างไม่คาดคิดจากสหภาพโซเวียตในช่วงทศวรรษ 1950 กลับขึ้นอีกครั้ง เริ่มตั้งแต่สมัยอดีตประธานาธิบดีทรัมป์ออกคำสั่งให้สำรวจความสนใจของบริษัทเอกชนทั้งในสหรัฐฯ และกรีนแลนด์ในปี 2019 จนนำมาสู่การยกระดับและเปลี่ยนชื่อฐานทัพอากาศทูลิเป็น ‘ฐานทัพอวกาศบีดูฟีก’ (Pituffik Space Base) ในสมัยประธานาธิบดีโจ ไบเดน เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2023 ซึ่งอยู่ในการควบคุมโดยกองทัพอวกาศสหรัฐฯ ปัจจุบัน

การกระทำของสหรัฐฯ ครั้งนี้มีนัยสำคัญอย่างมากต่อความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับรัฐบาลกรีนแลนด์ ในด้านหนึ่ง การกลับมาฟื้นฟูฐานทัพอากาศทูลิและยกระดับให้เป็นฐานทัพอวกาศ ซึ่งถือว่าเป็นผลประโยชน์ในระยะยาวของสหรัฐฯ ชี้ให้เห็นว่า สหรัฐฯ กลับมาให้ความสำคัญกับกรีนแลนด์อีกครั้งในฐานะจุดยุทธศาสตร์สำคัญ ขณะเดียวกัน สหรัฐฯ พยายามกระชับความสัมพันธ์กับกรีนแลนด์ผ่านการยกวัฒนธรรมพื้นถิ่นของกรีนแลนด์ให้เป็นส่วนสำคัญในการปฏิสัมพันธ์ เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่เป็นมิตรต่อวัฒนธรรมพื้นถิ่น ซึ่งเป็นประเด็นที่ชาวกรีนแลนด์ให้ความสำคัญอย่างมาก จะเห็นได้ว่า คำว่า ‘บีดูฟิก’ ที่สหรัฐฯ ใช้ตั้งชื่อฐานทัพอวกาศนั้นมีที่มาจากภาษาพื้นถิ่นของกรีนแลนด์ นั่นทำให้ วิเวียน มอตซ์เฟลดต์ (Vivian Motzfeldt) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เศรษฐกิจ และการค้าของกรีนแลนด์ปัจจุบัน กล่าวชื่นชมว่า เป็นการกระทำที่เคารพ (respect) และตระหนัก (recognize) ต่อมรดกวัฒนธรรมของกรีนแลนด์

เช่นเดียวกับสหรัฐฯ จีนก็เป็นอีกประเทศหนึ่งที่เพิ่มปฏิสัมพันธ์กับกรีนแลนด์อย่างไม่ลดละ โดยเฉพาะตั้งแต่ที่จีนได้รับสถานะผู้สังเกตการณ์จากสภาอาร์กติกในปี 2013 และตั้งตนเองเป็น ‘รัฐที่อยู่ใกล้อาร์กติก’ (near-Arctic state) เห็นได้จากการเยี่ยมเยียนระหว่างเจ้าหน้าที่ระดับสูงของทั้งจีนและกรีนแลนด์เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดหลายปีที่ผ่านมา เช่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงที่ดินและทรัพยากร (Ministry of Land and Resources) ของจีนเดินทางหารือในประเด็นการพัฒนาความร่วมมือด้านเศรษฐกิจกับผู้นำกรีนแลนด์เมื่อปี 2012 ต่อมาในปี 2017 นายกรัฐมนตรีของกรีนแลนด์ พร้อมด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ฮันส์ เอนโกเซน (Hans Enkosen) เดินทางไปเยี่ยมเยือนประเทศจีนในปีเดียวกัน เพื่อหารือกับกลุ่มบริษัทก่อสร้างของจีน และสนับสนุนให้จีนเข้าลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐานของกรีนแลนด์

ขณะที่สหรัฐฯ มุ่งเสริมสร้างความมั่นคงเพื่อคานอิทธิพลที่รุกคืบเข้ามาในกรีนแลนด์ จีนกลับเน้นหนักไปที่การกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจผ่านการให้เงินช่วยเหลือและการลงทุนในอุตสาหกรรม และโครงสร้างพื้นฐานของกรีนแลนด์มากกว่า ดังจะเห็นได้ว่าตลอดกว่าทศวรรษที่ผ่านมา จีนได้กลายมาเป็นนักลงทุนรายใหญ่ที่สุดในอุตสาหกรรมเหมืองแร่ของกรีนแลนด์ไปแล้ว และทำให้กรีนแลนด์เริ่มต้องพึ่งพาการลงทุนของจีนมากขึ้น อย่างในปี 2010 ก่อนที่จีนจะได้รับสถานะผู้สังเกตการณ์ บริษัทผลิตทองแดงรายใหญ่ของจีน เจียงสี คอปเปอร์ (Jiangxi Copper) ก็ได้สัมปทานการขุดแร่ทองแดงบริเวณภาคตะวันออกของกรีนแลนด์แล้ว ต่อมาในปี 2014 บริษัท NFC ของจีนก็ได้ลงนามใน MoU เพื่อพัฒนาเหมือง Kvanefjeld ร่วมกับ Greenland Minerals and Energy และหนึ่งปีถัดมา บริษัทเจเนอรัล นีซก็เข้าซื้อสัมปทานเหมืองแร่เหล็ก Isua (Isakasia) ต่อจากบริษัทขุดเจาะลอนดอน (London Mining) ของประเทศสหราชอาณาจักร อีกทั้งในปี 2016 บริษัทเอกชนของจีน Shenghe Resources ก็กลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดของโครงการ Kvanefjeld คิดเป็นมูลค่าร้อยละ 12.5 ของหุ้นทั้งหมด มากไปกว่านั้น หนึ่งปีต่อมา บริษัท NFC ของจีนก็ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้พัฒนาหลักในโครงการ Citronen Fjord ซึ่งเป็นโครงการขุดแร่สังกะสีทางภาคเหนือของกรีนแลนด์

ทั้งหมดนี้ยังไม่รวมถึงว่า จีนยังเสนอช่วยสร้างสนามบินและท่าเรือน้ำลึกเพื่อเพิ่มความลื่นไหลของกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในและระหว่างกรีนแลนด์กับรัฐอาร์กติกอื่นด้วย อย่างไรก็ดี โครงการที่จีนเข้าไปลงทุนนี้กลับสร้างผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมของชาวพื้นถิ่นกรีนแลนด์ และเกิดข้อครหาของการที่จีนจ้างแรงงานของตนเองมากกว่าชาวพื้นถิ่น ก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์และกระแสต่อต้านจีนก่อตัวขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า มุมมองของชาวพื้นถิ่นกรีนแลนด์ต่อการเข้ามาของจีนเริ่มแย่ลงเรื่อยๆ เมื่อเทียบกับสหรัฐฯ และรัสเซีย

ส่วนรัสเซีย เมื่อเทียบกับสหรัฐฯ และจีนแล้วดูจะเป็นประเทศที่เข้าปฏิสัมพันธ์กับกรีนแลนด์น้อยที่สุด แม้ว่ารัสเซียจะต้องการขูดรีดทรัพยากรในกรีนแลนด์และแสวงหาพันธมิตรเพื่อสนับสนุนตนเองในสภาอาร์กติกเช่นเดียวกับสหรัฐฯ และจีนก็ตาม มากไปกว่านั้น ความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับกรีนแลนด์ก็ไม่ค่อยสู้ดีนักในช่วงสองถึงสามปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะภายหลังรัสเซียบุกยูเครนในปี 2022 ความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับกรีนแลนด์ก็ย่ำแย่ลง ดังจะเห็นว่า กรีนแลนด์ประกาศระงับการให้โควตารัสเซียเพื่อทำประมงในน่านน้ำกรีนแลนด์ในปีนี้ (2023) นับเป็นครั้งแรกตั้งแต่เริ่มมีความตกลงการแลกโควตาทำประมงในปี 1992

สาเหตุหลักที่ทำให้รัสเซียปฏิสัมพันธ์กับกรีนแลนด์น้อยกว่าสหรัฐฯ และจีนอาจแบ่งได้เป็นสองประการดังนี้ ประการแรก คือ ผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจ การทหาร และการทูตของรัสเซียในกรีนแลนด์ยังถือว่ามีความสำคัญน้อยกว่าประเด็นอื่นๆ ดังที่หนังสือ Red Arctic (2023) ชี้ว่ารัสเซียให้ความสำคัญกับประเด็นการผนวกดินแดนของยูเครน การสั่งสมกองกำลังของตนเองเหนือน่านน้ำทะเลแบเรนส์ (Barents Sea) และที่ราบสูงโคลา รวมถึงการตอบโต้อิทธิพลของสหภาพยุโรปที่เพิ่มขึ้นในกลุ่มรัฐยูโร-อาร์กติก (Euro-Arctic States) เหนือประเด็นอื่นๆ

ประการที่สอง รัสเซียสามารถเข้าปฏิสัมพันธ์กับกรีนแลนด์ผ่านทางจีนได้ เนื่องจากรัสเซียกับจีนตกลงร่วมมือกันในภูมิภาคอาร์กติกหลายประเด็น การเพิ่มปฏิสัมพันธ์ในกรีนแลนด์ก็เช่นกัน ดังที่มิคาอิล มิซูซติน (Mikhail Mishustin) นายกรัฐมนตรีของรัสเซียเดินทางเยี่ยมเยือนจีนในเดือนพฤษภาคม 2023 เพื่อกระชับสายสัมพันธ์ทางการค้ากับจีน และเน้นย้ำให้จีนร่วมมือกันเพื่อสร้างความก้าวหน้าในอาร์กติกท่ามกลางสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่กำลังดำเนินไป นอกจากนี้ รัสเซียยังมองว่า จีนคือพันธมิตรที่สามารถสนับสนุนและผลักดันวาระของรัสเซียในสภาอาร์กติกได้ เพราะรัสเซียและจีนมีผลประโยชน์ในประเด็นเดียวกันที่ต้องการจะผลักดันในสภาอาร์กติก มีเพียงเรื่องการเพิ่มกองกำลังทหารเหนือน่านน้ำอาร์กติกที่จีนไม่แสดงท่าทีสนับสนุนอย่างชัดเจน

ด้วยเหตุนี้ สภาวะการแข่งขันระหว่างสามเหลี่ยมยุทธศาสตร์ที่เกิดขึ้นในกรีนแลนด์จึงไม่ได้เป็นการแข่งขันระหว่างสหรัฐฯ-จีน-รัสเซีย ทว่าเป็นการแข่งขันระหว่างสหรัฐ กับจีน-รัสเซีย เสียมากกว่า คำถามที่ตามมาคือ กรีนแลนด์ซึ่งยังอยู่ภายใต้อธิปไตยของเดนมาร์กจะเลือกดำเนินนโยบายท่ามกลางการแข่งขันระหว่างสหรัฐและจีน-รัสเซียอย่างไรเพื่อบรรลุผลประโยชน์ของตนเอง

สหรัฐก็ดี จีนก็ได้: ทางสองแพร่งสู่อิสรภาพของกรีนแลนด์?

การเข้ามาของสามเหลี่ยมยุทธศาสตร์อาร์กติกค่อยๆ บีบคั้นให้กรีนแลนด์ต้องเผชิญกับสภาวะทางสองแพร่ง (dilemma) ระหว่างว่า กรีนแลนด์จะตัดสินใจเลือกกระชับความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ ให้แน่นแฟ้นหรือจะเสริมสร้างสายสัมพันธ์กับจีน-รัสเซีย อย่างไรก็ดี ผลประโยชน์แห่งชาติและหลักการดำเนินนโยบายของกรีนแลนด์จะเป็นตัวกำหนดว่า กรีนแลนด์จะเลือกเดินไปตามทางแพร่งไหน

สิ่งที่กรีนแลนด์ให้ความสำคัญอย่างมากแบ่งออกได้เป็นสองประการ ประการแรกคือ การประกาศอิสรภาพจากเดนมาร์ก ซึ่งรัฐบาลกรีนแลนด์ผลักดันมาตลอดหลายทศวรรษ ความสำเร็จปรากฏทั้งการได้สิทธิการปกครองจาก Home Rule Act ตั้งแต่ปี 1979 และได้รับสิทธิการจัดการทรัพยากรดินแดนจาก Self-Rule Act ในปี 2009 นอกจากนี้ รัฐบาลกรีนแลนด์ยังพยายามสร้างภาพลักษณ์ของความเป็นรัฐอธิปไตยในเวทีโลกด้วย เพื่อแสดงให้เห็นว่ากรีนแลนด์ (ต้องการ) เป็นเอกเทศจากเดนมาร์ก และดำเนินนโยบายโดยปราศจากการควบคุมจากเดนมาร์ก อย่างที่รัฐบาลกรีนแลนด์พยายามแสดงความเป็นเอกเทศจากเดนมาร์กในการประชุมต่างๆ ของสภาอาร์กติก เช่น การประชุมเพื่อหารือประเด็นการห้ามนำเข้าผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากส่วนต่างๆ ของแมวน้ำ (seal products) ปี 2015 ซึ่งตัวแทนจากกรีนแลนด์มีบทบาทอย่างมากในการผลักดันให้สหภาพยุโรปยกเลิกการห้ามดังกล่าว เพื่อช่วยให้ชาวพื้นถิ่น อินูอิต (Inuit) ของกรีนแลนด์มีรายได้จากการส่งออกผลิตภัณฑ์ประเภทนี้มากขึ้น

การผลักดันของรัฐบาลกรีนแลนด์ครั้งนี้แสดงให้เห็นสิ่งที่รัฐบาลให้ความสำคัญประการที่สอง คือ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม เนื่องจากในด้านหนึ่ง รัฐบาลกรีนแลนด์ตระหนักดีว่าความสามารถของกรีนแลนด์ในการประกาศอิสรภาพออกจากเดนมาร์กขึ้นอยู่กับการสร้างเศรษฐกิจที่มั่นคง และการมีรายได้ประชาชาติเพียงพอที่อุ้มชูตนเองได้ภายหลังการเป็นเอกเทศจากเดนมาร์ก ปัจจุบัน กรีนแลนด์ยังพึ่งพาเงินช่วยเหลือต่อปีจากเดนมาร์ก ซึ่งส่งมอบให้รัฐบาลกรีนแลนด์เป็นมูลค่ากว่า 590 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทุกๆ ปี คิดเป็นร้อยละ 60 ของรายได้ทั้งหมดของกรีนแลนด์ ประกอบกับเดนมาร์กเริ่มใช้การให้เงินช่วยเหลือกรีนแลนด์เป็นเครื่องมื่อเพื่อตีกรอบความสัมพันธ์ของกรีนแลนด์กับมหาอำนาจนอกภูมิภาคในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เช่น เดนมาร์กส่งสัญญาณว่า หากกรีนแลนด์อนุมัติโครงการขุดและสกัดกลุ่มแร่หายาก Kvanefjeld ที่จีนเป็นผู้ลงทุนหลัก เงินช่วยเหลือต่อปีที่เดนมาร์กส่งให้กรีนแลนด์ก็อาจลดลง

ขณะเดียวกัน ความมั่นคงทางเศรษฐกิจของกรีนแลนด์ต้องมาพร้อมกับสภาพความเป็นอยู่ที่ดีของชุมชนและสิ่งแวดล้อม เนื่องด้วยประชากรร้อยละ 80 ของกรีนแลนด์เป็นชาวพื้นถิ่นอินูอิตที่ยังพึ่งพาการล่าสัตว์และการประมงเป็นหลัก ทำให้การตัดสินใจนโยบายต่างๆ ของรัฐบาลกรีนแลนด์ต้องคำนึงถึงความเป็นอยู่ของกลุ่มประชากรพื้นถิ่นอย่างมาก ดังเช่น การผลักดันให้สหภาพยุโรปยกเลิกการนำเข้าผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากส่วนต่างๆ ของแมวน้ำ นอกจากนี้ กรีนแลนด์ยังเป็นดินแดนที่ได้รับผลกระทบจากการทวีความรุนแรงมากขึ้นของปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จะเห็นได้ว่า ปริมาณน้ำสะอาดต่อปีเริ่มลดลงเรื่อยๆ เนื่องด้วยถูกแทนที่โดยน้ำทะเลที่สูงขึ้นจากการละลายของน้ำแข็งขั้วโลก นอกจากนี้ยังบั่นทอนสภาพความเป็นอยู่ของประชากรชาวพื้นถิ่นของกรีนแลนด์ด้วย ดังเช่น ที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินของประชากรเหล่านี้ถูกน้ำทะเลกัดเซาะรุนแรงขึ้นตลอดหลายปีที่ผ่านมา เพราะฉะนั้น ประชาชนส่วนใหญ่จึงมองว่า แม้การสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจจำเป็นสำหรับการประกาศอิสรภาพจากเดนมาร์ก แต่การสร้างความมั่นคงดังกล่าวต้องไม่แลกกับการทำให้สภาพความเป็นอยู่ของชุมชนและสิ่งแวดล้อมย่ำแย่ลง ซึ่งแนวความคิดนี้แสดงให้เห็นในการเลือกตั้งรัฐบาลกรีนแลนด์ทุกๆ ครั้ง

ด้วยผลประโยชน์ของกรีนแลนด์สองประการที่กล่าวมา ทำให้ Kristensen and Rahbek-Clemmensen เสนอว่า การดำเนินนโยบายต่างประเทศของกรีนแลนด์ขับเคลื่อนโดยหลักการ ‘ตรรกะของความมั่นคง’ (logics of security) คือ การตัดสินใจนโยบายการต่างประเทศของรัฐบาลกรีนแลนด์เป็นผลมาจากการพิจารณาภัยคุกคามทางการเมือง เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ซึ่งส่งผลต่อความมั่นคงของกรีนแลนด์โดยรวม เพราะฉะนั้น อย่างในกรณีที่เมื่อกรีนแลนด์ตัดสินใจให้สัมปทานกับประเทศอื่นๆ เพื่อขุดและสกัดทรัพยากร คำถามที่กรีนแลนด์ต้องพิจารณาคือ นั่นจะมีผลต่อการเมืองภายใน/ภายนอกของกรีนแลนด์หรือไม่ ช่วยยกระดับหรือบั่นทอนเศรษฐกิจของดินแดนอย่างไร ตลอดจนกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมของดินแดนมากน้อยเพียงใด

ดังนั้น เมื่อตั้งต้นด้วยผลประโยชน์และตรรกะของความมั่นคง กล่าวได้ว่าการที่กรีนแลนด์จะเลือกดำเนินนโยบายต่างประเทศระหว่างทางแพร่งสหรัฐฯ หรือจีน-รัสเซียนั้นขึ้นอยู่กับว่าทางแพร่งใดสนับสนุนการประกาศอิสรภาพออกจากเดนมาร์ก และช่วยเสริมสร้างความมั่นคงด้านเศรษฐกิจมากกว่ากัน ในขณะที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมของกรีนแลนด์น้อยที่สุด ทว่า ความเป็นจริงคือ กรีนแลนด์ไม่สามารถเลือกทางแพร่งใดทางแพร่งหนึ่งได้อย่างสุดโต่ง

แม้การเข้าหาสหรัฐฯ จะเอื้อต่อการประกาศอิสรภาพของกรีนแลนด์ เนื่องด้วยสหรัฐฯ สนับสนุนการเป็นเอกเทศจากเดนมาร์ก แต่การลงทุนจากสหรัฐฯ ยังคงจำกัด และประธานาธิบดีไบเดนก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะเพิ่มเงินสนับสนุนหรือเพิ่มการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในกรีนแลนด์ในอนาคตอันใกล้ สหรัฐฯ จึงอาจยังไม่สามารถประกันความมั่นคงทางเศรษฐกิจให้กับกรีนแลนด์ได้อย่างเต็มที่ ในทางกลับกัน ด้วยความที่สหรัฐฯ มีโครงการโครงสร้างพื้นฐานในกรีนแลนด์น้อย ทำให้รอยเท้า (footprint) ของผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมของกรีนแลนด์จึงมีไม่มากเช่นกัน

ในอีกด้านหนึ่ง การเปิดรับการลงทุนจากจีน เช่น การลงทุนในอุตสาหกรรมเหมืองแร่ทั่วดินแดนของกรีนแลนด์ ทำให้กรีนแลนด์สามารถลดการพึ่งพาจากเงินช่วยเหลือรายปีจากเดนมาร์ก และเสริมสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจตนเองได้ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะประกันความมั่นคงทางเศรษฐกิจและทำให้กรีนแลนด์ประกาศอิสรภาพจากเดนมาร์กได้สำเร็จ อย่างไรก็ตาม โครงการโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่จีนลงทุนกลับก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมอย่างมาก ดังเช่น เหมืองแร่เหล็ก Isua (Isukasia) ทางภาคตะวันตกของกรีนแลนด์ที่บริษัทเจเนอรัล นีซของจีนเป็นผู้ดำเนินโครงการ เผชิญกับข้อครหาของการจ้างแรงงานชาวจีนมากกว่าชาวพื้นถิ่นกรีนแลนด์ อีกทั้งสภาพแวดล้อมและสวัสดิการของแรงงานย่ำแย่ ซ้ำร้ายการขุดแร่เหล็กทำให้เกิดสารอันตรายที่ทำให้ระบบนิเวศบริเวณเหมืองปนเปื้อนและค่อยๆ ถูกทำลาย ท้ายที่สุด ข้อครหานี้นำไปสู่รัฐบาลกรีนแลนด์เพิกถอนใบอนุญาตการขุดเจาะแร่เหล็กของเจเนอรัล นีซเมื่อปี 2021 ทำให้เหมืองแร่เหล็กดังกล่าวต้องปิดตัวลง

ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลกรีนแลนด์ภายใต้การควบคุมของเดนมาร์กจึงเลือกดำเนินนโยบายเข้าหามหาอำนาจทั้งสองฝ่าย โดยพยายามสร้างสมดุลเพื่อป้องกันไม่ให้มหาอำนาจฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมองว่า กรีนแลนด์เลือกข้างฝ่ายสหรัฐฯ หรือจีน-รัสเซียมากเกินไป ผลที่อาจตามมา คือ มหาอำนาจฝ่ายตรงข้ามลดการปฏิสัมพันธ์กับกรีนแลนด์ลง ซึ่งจะทำให้กรีนแลนด์เสียประโยชน์ เพราะฉะนั้น หนทางที่กรีนแลนด์เลือกคือ พยายามรักษาความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ เพื่อประกันความมั่นคงและคงไว้ซึ่งพันธมิตรที่สนับสนุนการประกาศอิสรภาพของตนเอง ในขณะที่เปิดรับการลงทุนและความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจจากจีนเพื่อลดการพึ่งพาเงินทุนจากเดนมาร์ก ตลอดจนเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจของตนเองเพื่อทำให้การประกาศอิสรภาพจากเดนมาร์กประสบผลสำเร็จ

ในทศวรรษข้างหน้า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงขึ้นจะส่งผลให้การแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ของสามเหลี่ยมยุทธศาสตร์อาร์กติกในกรีนแลนด์เข้มข้นขึ้น ความพยายามที่จะรื้อฟื้นอำนาจนำของสหรัฐฯ ในกรีนแลนด์เพื่อตอบโต้อิทธิพลของจีนและรัสเซียที่เพิ่มมากขึ้น

การเพิ่มการลงทุนของจีนในอุตสาหกรรมเหมืองแร่และโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ของกรีนแลนด์ การสั่งสมกองกำลังของรัสเซียที่ขยับขยายมาใกล้กรีนแลนด์มากขึ้น และความร่วมมือระหว่างจีนกับรัสเซียในการพัฒนาเส้นทางขนส่งสินค้า NSR จะทำให้กรีนแลนด์กลายเป็นจุดศูนย์กลางของการแข่งขันภูมิรัฐศาสตร์อาร์กติก และบีบคั้นให้กรีนแลนด์ต้องดำเนินนโยบายเข้าหามหาอำนาจทุกฝ่ายเพื่อบรรลุผลประโยชน์ของตนเอง ทว่า การดำเนินนโยบายลักษณะนี้จะสำเร็จมากน้อยเพียงใด ก็เป็นเรื่องที่ต้องเฝ้าติดตามกันต่อไปในอนาคต …


[1]ผู้เขียนนิยามสถานะของกรีนแลนด์เป็นดินแดนภายใต้อธิปไตยของราชอาณาจักรเดนมาร์ก เนื่องจากกรีนแลนด์ยังไม่มีอธิปไตยเหนือดินแดนของตนเองโดยสมบูรณ์ตามองค์ประกอบของรัฐที่บัญญัติไว้ในอนุสัญญามอนเตวิเดโอว่าด้วยสิทธิและหน้าที่ของรัฐ ค.ศ. 1933 ทั้งนี้ แม้กรีนแลนด์จะได้สิทธิการปกครองตนเองจากเดนมาร์กในปี 1979 กรีนแลนด์ก็ยังไม่สามารถตัดสินใจนโยบายที่เกี่ยวข้องกับกิจการการต่างประเทศและความมั่นคงได้โดยปราศจากการอนุมัติจากเดนมาร์ก เพราะฉะนั้น กล่าวได้ว่า กรีนแลนด์ยังไม่ถือเป็นรัฐอธิปไตยตามอนุสัญญาดังกล่าว

[2] สหรัฐฯ เปลี่ยนให้ฐานทัพอากาศนี้กลายเป็นฐานทัพอวกาศและเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น ฐานทัพอวกาศบีดูฟีก (Pituffik Space Base) เมื่อวันที่ 6 เมษายน ปี 2023

[3] สภาอาร์กติกประกอบไปด้วยสมาชิกรัฐอาร์กติก 8 รัฐ ได้แก่ สหรัฐฯ รัสเซีย แคนาดา สวีเดน นอร์เวย์ ฟินแลนด์ และเดนมาร์กผ่านสิทธิการปกครองกรีนแลนด์ นอกจากนี้ ยังมีผู้สังเกตการณ์ (observer) อีกหลายประเทศ อาทิ จีน ญี่ปุ่น อินเดีย สาธารณรัฐเกาหลี และสิงคโปร์

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save