fbpx

A ‘New’ Cold War in the Arctic? ขยับขยายสมรภูมิภูมิรัฐศาสตร์สู่ขั้วโลกเหนือ

ตลอดหนึ่งศตวรรษที่ผ่านมา ภูมิภาคอาร์กติก (Arctic region) ได้รับความสนใจอย่างมากจากนักวิชาการด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ทั้งในมิติการเมือง เศรษฐกิจ และความมั่นคง ตั้งแต่ยุคแรกเริ่มของการสำรวจ ผ่านช่วงเวลาของสงครามเย็น (Cold War) จนมาถึงปัจจุบัน ภูมิภาคนี้ค่อยๆ พัฒนากลายไปเป็นพื้นที่แห่งการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์และความร่วมมือระหว่างประเทศ

ความเข้มข้นของการแข่งขันและความร่วมมือในภูมิภาคอาร์กติกที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นในทุกๆ ปี ส่งผลให้นักวิชาการบางท่านเสนอว่า สงครามเย็น ‘ครั้งใหม่’ (A ‘new’ Cold War) กำลังปะทุขึ้นในอาร์กติก ซ้ำร้าย ความสมเหตุสมผลของข้อถกเถียงนี้ยิ่งหนักแน่นมากขึ้นท่ามกลางการดำเนินไปของสงครามรัสเซีย-ยูเครน การเพิ่มกองกำลังทหารและการสร้างสาธารณูปโภคทางการทหาร (military infrastructure) ของรัสเซียเหนือดินแดนในอาร์กติก การแสดงความทะเยอทะยานที่จะรื้อฟื้นอำนาจนำของสหรัฐฯ ในอาร์กติก การเข้าไปมีบทบาททางการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมของประเทศจีนในอาร์กติก การเพิ่มปฏิสัมพันธ์ของสหภาพยุโรป (European Union) ในกลุ่มประเทศยูโร-อาร์กติก (Euro-Arctic States) ซึ่งประกอบด้วยประเทศฟินแลนด์ สวีเดน และเดนมาร์ก ตลอดทั้งการเข้าไปมีส่วนร่วมของประเทศอินเดีย ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลีใต้ และสิงคโปร์ในการก่อร่างธรรมาภิบาลของภูมิภาคอาร์กติกนี้ (Arctic governance)

ในบทความตอนแรกนี้ ผู้เขียนต้องการฉายให้ผู้อ่านเห็นถึงพัฒนาการและภาพกว้างของการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ในอาร์กติก ตลอดทั้งการทำความเข้าใจยุทธศาสตร์โดยรวมของแต่ละประเทศที่เข้าปฏิสัมพันธ์อาร์กติก และสรุปในตอนท้ายว่า ฉากทัศน์ที่จะเกิดขึ้นในอาร์กติกอีกหนึ่งทศวรรษข้างหน้ามิใช่สงครามเย็น ‘ครั้งใหม่’ หากแต่เป็นการฟื้นกลับคืนของสงครามเย็นครั้งเดิมที่มหาอำนาจต่างแข่งขันกันสั่งสมกองกำลังทหาร กอบโกยผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และฝังรากลึกอิทธิพลของตนเองในภูมิภาคนี้

ทำไมอาร์กติกจึงสำคัญ?

จุดเด่นของ ‘อาร์กติก’ คือความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งส่วนมากเป็นทรัพยากรที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและมีประโยชน์ในเชิงยุทธศาสตร์ อาทิ ทรัพยากรน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และแร่ธาตุต่างๆ ที่จำเป็นต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียว เช่น กลุ่มแร่หายาก (rare-earth elements) เป็นต้น ด้วยเหตุนี้ ความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรในภูมิอาร์กติกดึงดูดให้นานาประเทศเริ่มเข้ามาแข่งขันกันเพื่อแย่งชิงทรัพยากรดังกล่าวผ่านการอ้างกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนต่างๆ ในอาร์กติกตลอดหนึ่งศตวรรษที่ผ่านมา การค่อยๆ กลายมาเป็นพื้นที่แห่งการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ของภูมิภาคนี้เริ่มท้าทายและหักล้างสภาวะ ‘เอกลักษณ์ของภูมิภาคอาร์กติก’ (Arctic exceptionalism) ที่มองอาร์กติกว่าเป็นภูมิภาคที่ผูกโยงกันด้วยสันติภาพและความร่วมมือและปราศจากการแข่งขันทางอำนาจระหว่างประเทศ

ความสำคัญของอาร์กติกต่อประชาคมระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างมากท่ามกลางการทวีความรุนแรงของปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป กอปรกับอุณหภูมิของโลกที่เพิ่มสูงขึ้นทำให้น้ำแข็งในอาร์กติกค่อยๆ ละลาย แปรเปลี่ยนให้ภูมิภาคกลายเป็นพื้นที่แห่งโอกาสของการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์และความร่วมมือระหว่างประเทศที่เข้มข้นขึ้น ทั้งการเกิดขึ้นของเส้นทางการเดินเรือและขนส่งสินค้าทางทะเลสายใหม่ (shipping route) เช่น เส้นทางการเดินเรือผ่านทะเลเหนือ (Northern Sea Route: NSR) ซึ่งรัสเซียและจีนกำลังร่วมมือกันวิจัยและพัฒนาเส้นทางสายนี้อยู่ ตลอดจนก่อให้เกิดข้อพิพาทใหม่ๆ เหนือดินแดน (territorial dispute) ในอาร์กติก อาทิ ความขัดแย้งในการอ้างกรรมสิทธิ์เหนือเกาะฮันส์ (Hans island) ระหว่างประเทศแคนาดากับเกาะกรีนแลนด์ภายใต้การปกครองของประเทศเดนมาร์ก เป็นต้น

แม้จะอยู่ห่างไกลในเชิงกายภาพ แต่ความเป็นไปของอาร์กติกกลับส่งผลต่อประเทศไทยอย่างมีนัยสำคัญผ่านปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงเพิ่มขึ้น รายงานว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่จัดทำขึ้นโดยคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change: IPCC) ใน ค.ศ.2022 ชี้ว่า การละลายของน้ำแข็งขั้วโลกส่งผลให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นทั่วโลก และไทยมีความเสี่ยงที่จะเกิดน้ำท่วมทะเลชายฝั่งและในหลายพื้นที่ของกรุงเทพฯ มากขึ้น

การทำความเข้าใจภูมิภาคอาร์กติกจึงไม่เพียงแต่เป็นการทำความเข้าใจสมรภูมิสำคัญของการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างประเทศเท่านั้น หากแต่ยังช่วยให้เห็นที่ทางของไทย และโอกาสในการกำหนดนโยบายต่างประเทศใหม่ในบริบทโลกด้วย

อาร์กติก: ประวัติศาสตร์ดินแดนน้ำแข็งในภูมิรัฐศาสตร์โลกฉบับย่อ

แม้ว่าความหมายของภูมิภาคอาร์กติกจะมีหลากหลาย แต่ในทางภูมิศาสตร์ อาร์กติกคือพื้นที่ที่ตั้งอยู่ภายในวงกลมอาร์กติก (Arctic Circle) ซึ่งเป็นวงกลมละติจูด 66°33 องศาเหนือเส้นศูนย์สูตร ห้อมล้อมด้วยมหาสมุทรอาร์กติก (Arctic Ocean) และกระจายติดกับพรมแดนของประเทศ 8 ประเทศ ได้แก่ ประเทศสหรัฐฯ รัสเซีย แคนาดา สวีเดน นอร์เวย์ ฟินแลนด์ และเดนมาร์ก (ผ่านสิทธิการปกครองเกาะกรีนแลนด์และหมู่เกาะฟาโรห์) สภาพโดยรอบของภูมิภาคปกคลุมด้วยน้ำแข็งและภูเขาน้ำแข็งส่งผลให้สภาพอากาศหนาวเย็นตลอดทั้งปีโดยมีอุณหภูมิเฉลี่ยต่อเดือนอยู่ที่ 10 องศาเซลเซียสตลอดปี

ภูมิภาคอาร์กติก

ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16 ถึงคริสต์ศตวรรษที่ 19 ถือเป็นยุคแรกเริ่มของการสำรวจภูมิภาคอาร์กติก ริ่เริ่มการสำรวจโดยนักสำรวจชาวยุโรป ซึ่งแรงขับเคลื่อนหลักจำกัดอยู่เพียงการแสวงหาดินแดนแห่งใหม่เพื่อตั้งอาณานิคม ค้นหาแหล่งทรัพยากรธรรมชาติแห่งใหม่ และดำเนินการสำรวจและวิจัยทางวิทยาศาสตร์เท่านั้น บุคคลสำคัญที่มีส่วนช่วยในการสำรวจและก่อร่างภูมิภาคอาร์กติกขึ้นมาอาจแบ่งได้เป็น 3 ท่าน ได้แก่ ท่านแรก คือ นักสำรวจทางทะเลชาวดัตช์ วิลเลียมส์ แบเรนส์ (William Barents) ผู้ค้นพบทะเลแบเรนส์ (Barents Sea) ซึ่งเป็นพื้นที่ทางภูมิรัฐศาสตร์ที่สำคัญในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในภูมิภาคอาร์กติกปัจจุบัน ท่านต่อมา คือ นาวิกโยธินชาวอังกฤษ มาร์ติน โฟรบิชเชอร์ (Martin Frobisher) ผู้ค้นพบเส้นทางการเดินเรือจากมหาสมุทรแปซิฟิกไปยังหมู่เกาะอาร์กติกแคนาดาซึ่งปัจจุบันเรียกเส้นทางนี้ว่า “เส้นทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือ (Northwest Passage)” และ ท่านสุดท้าย คือ นักสำรวจและนักเดินเรือชาวอังกฤษ เจมส์ คุก (James Cook) ผู้ทำการสำรวจวิจัยทางวิทยาศาสตร์และสร้างคุณูปการให้กับการเดินเรือในเส้นทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือเช่นเดียวกับโฟรบิชเชอร์ การสร้างแผนที่เดินเรือ การตั้งอาณานิคม และการสำรวจวิจัยทางวิทยาศาสตร์ของนักสำรวจเหล่านี้ค่อยๆ ก่อร่างภูมิภาคอาร์กติกขึ้น

กระทั่งเมื่อการตั้งรัฐสมัยใหม่ (modern states) ลงหลักปักฐาน แนวคิดว่าด้วยภูมิภาคอาร์กติกก็ปรากฏเป็นรูปเป็นร่างในแผน ซึ่งครอบคลุมทั้งหมด 8 รัฐ ได้แก่ สหรัฐฯ แคนาดา รัสเซีย สวีเดน นอร์เวย์ ฟินแลนด์ และเดนมาร์ก การเกิดขึ้นของรัฐเหล่านี้นำมาซึ่งการอ้างกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนในภูมิภาคอาร์กติกเพื่อประกันการเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติของภูมิภาคนี้ ซึ่งบางพื้นที่ก็ยังเป็นความขัดแย้งที่เรื้อรังมาจนถึงปัจจุบัน เช่น ข้อพิพาทระหว่างแคนาดากับเดนมาร์กเหนือหมู่เกาะฮันส์ดังที่กล่าวไปในตอนต้น กล่าวได้ว่า ในระยะแรกเริ่มอาร์กติกเป็นสมรภูมิของการอ้างกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนต่างๆ เพื่อแย่งชิงสิทธิ์ในการเข้าถึงทรัพยากรในภูมิภาคนี้

จุดเปลี่ยนสำคัญของภูมิรัฐศาสตร์ในอาร์ติกคือ การเกิดขึ้นของสงครามเย็น (Cold War) ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 20 สงครามเย็นได้แปลงสภาพให้ภูมิภาคอาร์กติกกลายเป็นสมรภูมิของการแข่งขันและการแผ่ขยายอิทธิพลระหว่างสหรัฐฯ และสหภาพโซเวียต (The Soviet Union) เนื่องด้วยปัจจัยสามประการ ได้แก่ ประการแรก มหาอำนาจทั้งสองพิจารณาว่าภูมิภาคอาร์กติกอุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจและการทหาร ประการต่อมาคือ ภูมิภาคอาร์กติกตั้งอยู่ตรงกลางระหว่างมหาอำนาจทั้งสองทำให้การติดตั้งยุทโธปกรณ์หรือขีปนาวุธในพื้นที่นี้ถือเป็นภัยคุกคามโดยตรงต่อทั้งสองฝั่ง ประการสุดท้าย ภูมิภาคอาร์กติกเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญสำหรับการขนส่งสินค้าทางทะเล การปฏิบัติการทางทหาร และการก่อสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานทางการทหารเพื่อสนับสนุนปฏิบัติการต่อต้านต่างๆ ของแต่ละฝ่าย

การแข่งขันในช่วงสงครามเย็นส่งผลให้อาร์ติกกลายเป็นพื้นที่ทางทหารและความมั่นคง (militarized) มาจนกระทั่งปัจจุบัน เช่น สหภาพโซเวียตสร้างฐานทัพอากาศ Nagurskoye เหนือหมู่เกาะฟรานซ์โจเซฟแลนด์ (Franz Joseph Land archipelago) ซึ่งกลายเป็นฐานทัพสำคัญของรัสเซียเพื่อปฏิบัติการทางทหารแถบขั้วโลกเหนือ ในทำนองเดียวกัน สหรัฐฯ ร่วมกับนาโต (North Atlantic Treaty Organization: NATO) สร้างฐานทัพเรืออูลาฟสแวร์น (Olavsvern) ที่เมืองทรุมเซอ (Tromsø) ประเทศนอร์เวย์ เพื่อปฏิบัติการทางทะเลเหนือทะเลแบเรนส์ และสะกดรอยตามเรือดำน้ำของสหภาพโซเวียต ซึ่งกลับมาเปิดใช้อีกครั้งเมื่อปี 2021 ภายหลังรัสเซียผนวกดินแดนไครเมียของยูเครนเข้ากับประเทศตนเองในปี 2014 เป็นต้น มากไปกว่านั้น ระบบสอดแนมต่างๆ (surveillance systems) ก็ถูกพัฒนาและติดตั้งโดยทั้งสองประเทศเพื่อติดตามและแจ้งเตือนการกระทำที่อาจเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของประเทศตนเองจากการโจมตีของแต่ละฝ่าย

นอกจากนี้ สงครามเย็นยังก่อให้เกิดผลกระทบอย่างมากต่อสิ่งแวดล้อมในภูมิภาคอาร์กติก เช่น ปัญหามลพิษทางทะเลและมลพิษทางอากาศที่เกิดจากการสร้างสาธารณูปโภคทางการทหารและปฏิบัติทางการทหารของทั้งฝ่ายสหรัฐฯ และสหภาพโซเวียต ซ้ำร้าย ปัญหาเหล่านี้ยังย่ำแย่ลงเนื่องด้วยการเกิดขึ้นของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ด้วยเหตุนี้ประเทศอาร์กติกทั้ง 8 ประเทศจึงร่วมลงนามใน Arctic Environmental Protection Strategy (AEPS) ใน ค.ศ. 1991 ซึ่งพัฒนากลายมาเป็น สภาอาร์กติก (Arctic Council) ใน ค.ศ.1996 อันเป็นองค์กรความร่วมมือระหว่างรัฐบาลที่สำคัญที่สุดในภูมิภาคอาร์กติกปัจจุบัน

‘เอกลักษณ์ของภูมิภาคอาร์กติก’

แม้จะมีจุดเริ่มต้นมาจากความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อม แต่สภาอาร์ติกกลับมีบทบาทสำคัญยิ่งในการรักษาเสถียรภาพและสันติภาพภายในภูมิภาค โดยหน้าที่และความรับผิดชอบของสภาอาร์กติกอาจแบ่งได้เป็นสามประการ ได้แก่ ประการแรกคือ การพิทักษ์สิ่งแวดล้อมและส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน ดังเช่น การทำหน้าที่เป็นเวทีระหว่างรัฐบาลเพื่อถกเถียงการบรรเทาและแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในอาร์กติก รวมทั้งสร้างเสริมชีวิตความเป็นอยู่ให้แก่ชาวพื้นถิ่นในภูมิภาคอาร์กติก เช่น ชาวอินูอิต (Inuit) ซึ่งเป็นประชากรส่วนมากในเกาะกรีนแลนด์ เป็นต้น ประการต่อมาคือ สภาอาร์กติกมีหน้าที่ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างรัฐสมาชิก 8 ประเทศ การส่งเสริมความร่วมมือนี้อาจเป็นการส่งเสริมความร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม หรือส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศเพื่อเพิ่มปฏิสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค และประการสุดท้าย คือ สภาอาร์กติกมีหน้าที่รักษาสันติภาพและความมั่นคงภายในภูมิภาคโดยทำหน้าที่เป็นเวทีในการถกเถียงปัญหาด้านความมั่นคงร่วมกันและเป็นตัวกลางในการไกล่เกลี่ยในข้อพิพาทต่างๆ ระหว่างรัฐสมาชิก

ช่วงเวลาของสันติภาพและความร่วมมือระหว่างรัฐอาร์กติกภายหลังสงครามเย็นสิ้นสุดทำให้ Michael Byers ศาสตราจารย์ด้านการเมืองโลกและกฎหมายระหว่างประเทศชาวแคนาดา เรียกและเสนอแนวปฏิบัติเพื่อรักษาสภาวะสันติในเวลานี้ว่า ‘เอกลักษณ์ของภูมิภาคอาร์กติก’ (Arctic exceptionalism) ซึ่งหมายถึง การปฏิสัมพันธ์ระหว่างประเทศอาร์กติกควรขับเคลื่อนด้วยการร่วมมือในวาระต่างๆ ในภูมิภาคร่วมกัน เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นต้น โดยปราศจากการแข่งขันระหว่างขั้วอำนาจในภูมิภาค

ในปัจจุบันหลักการนี้ได้ถูกนำมาใช้สร้างความชอบธรรมให้กับตัวแสดงต่างๆ ที่ต้องการเข้ามามีปฏิสัมพันธ์และสร้างอิทธิพลในภูมิภาคอาร์กติก อาทิ สหภาพยุโรปที่อ้างความพยายามที่จะส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในภูมิอาร์กติกเพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่การสานสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นขึ้นกับกลุ่มประเทศยูโร-อาร์กติก เป็นต้น ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่า ความสำเร็จในการก่อตั้งสภาอาร์กติกโดยการร่วมมือกันระหว่างรัฐอาร์กติกทั้ง 8 ประเทศฉายให้เห็นถึงการสิ้นสุดของสงครามเย็นในอาร์กติก ตลอดทั้งการเปลี่ยนผ่านสภาวะระหว่างประเทศในภูมิภาคไปสู่การขับเคลื่อนความร่วมมือเพื่อสร้างสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาค

นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาบริบทของระบบระหว่างประเทศในช่วงเวลาหลังสงครามเย็นสิ้นสุด ปัจจัยอีกสองประการที่นำไปสู่ภาวะสันติในภูมิภาคอาร์กติก ได้แก่ ปัจจัยแรก การหันเหความสนใจของสหรัฐฯ ไปที่ภูมิภาคอื่นเช่น ภูมิภาคตะวันออกกลาง เนื่องด้วยความรุนแรงของขบวนการก่อการร้าย ซึ่งทำให้สหรัฐฯ ต้องประกาศสงครามต่อต้านการก่อการร้าย (War on Terror) ในเวลาต่อมา ปัจจัยอีกประการหนึ่งคือ ความอ่อนแอของรัสเซียภายหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต ความสูญเสียทั้งทางการทหารและเศรษฐกิจของรัสเซียภายหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียตทำให้รัสเซียต้องปรับนโยบายกลับมาเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจภายในของประเทศตนเอง และลดความสำคัญในการสร้างกองกำลังทหารในภูมิภาคอาร์กติก ด้วยปัจจัยทั้งสองประการส่งผลให้สหรัฐฯ รัสเซีย และประเทศต่างๆ ในนาโตร่วมกันลงนามในความตกลงเพื่อลดจำนวนอาวุธนิวเคลียร์ออกจากพื้นที่อาร์กติก 2 ฉบับได้แก่ Strategic Arms Reduction Treaty (START I) และ Arctic Military Environmental Cooperation (AMEC) โดยกรอบความร่วมมือ AMEC เองก็ครอบคลุมถึงการปลดประจำการเรือดำนำของอดีตสหภาพโซเวียตออกจากภูมิภาคอาร์กติกเช่นกัน ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่า การหันเหความสำคัญของสหรัฐฯ ไปที่ภูมิภาคตะวันออกกลางประกอบกับความอ่อนแอของรัสเซีย ขณะนั้นทำให้สันติภาพเกิดขึ้นในภูมิภาคอาร์กติกเพิ่มเติมจากความร่วมมือระหว่างรัฐอาร์กติกในการสร้างสภาอาร์กติกขึ้นมา

‘สามเหลี่ยมยุทธศาสตร์’ ในสมรภูมิอาร์ติก

การกลับมาของรัสเซียและการเป็น ‘รัฐที่อยู่ใกล้อาร์ติก’ ของจีน

หมุดหมายสำคัญที่ถือเป็นจุดเปลี่ยนของภูมิรัฐศาสตร์ในภูมิภาคอาร์กติกประกอบด้วย 2 เหตุการณ์ ดังนี้ เหตุการณ์แรกคือในปี 2007 เมื่อรัสเซียนำเรือดำน้ำสองลำของตนเองปักธงที่ก้นมหาสมุทรอาร์กติกในส่วนที่รัสเซียอ้างว่าเชื่อมต่อกับเขตไหล่ทวีปของน่านน้ำตนเองซึ่งอุดมไปด้วยทรัพยากรน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเป็นจำนวนมาก และในปีเดียวกัน ประธานาธิบดีวลาดีมีร์ ปูติน (Vladimir Putin) ได้วิพากษ์การกระทำของสหรัฐฯ และประเทศพันธมิตรสหรัฐฯ ณ เวทีการประชุมความมั่นคงที่กรุงมิวนิก ประเทศเยอรมนี ว่าฉวยโอกาสจากความอ่อนแอของรัสเซียภายหลังสงครามเย็นในการโจมตีผลประโยชน์ของรัสเซีย ภายหลังสองเหตุการณ์นี้ รัสเซียประกาศดำเนินนโยบายปฏิรูปกองทัพและแผนที่จะรื้อคืนกองกำลังทหารของตนเองในภูมิภาคอาร์กติกและในน่านน้ำอธิปไตยของตนเอง การกระทำของรัสเซียที่กล่าวมาทั้งหมดสร้างความไม่พอใจให้กับประเทศอาร์กติกอื่น ๆ ดังเช่น แคนาดาไม่เพียงแต่ประณามการปักธงรัสเซียของรัสเซียแล้ว ยังประกาศแผนที่จะทุ่มงบประมาณกว่า 7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อนำเรือลาดตระเวนจำนวน 8 ลำมาประจำการเพื่อสอดส่องการกระทำของรัสเซียเหนือน่านน้ำของมหาสมุทรอาร์กติกด้วย

เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ประชาคมโลกต่างจับจ้องมาที่ภูมิภาคอาร์กติกอีกครั้ง ตลอดจนส่งผลให้การแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ภายในภูมิภาคทวีความรุนแรงมากขึ้นจนนำไปสู่เหตุการณ์ที่สองคือ ประเทศฝั่งเอเชียทั้งจีน อินเดีย สาธารณรัฐเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ต่างยื่นใบสมัครเพื่อขอสถานะผู้สังเกตการณ์ (observer) ในสภาอาร์กติก และได้รับการอนุมัติทุกประเทศในปี 2013 ในด้านหนึ่ง การได้รับสถานะผู้สังเกตการณ์ในสภาอาร์กติกส่งผลให้ประเทศเหล่านี้สามารถเข้าร่วมในการทำงานของคณะทำงาน (working groups) ภายในสภาอาร์กติกเพื่อร่วมปรึกษาหารือและเสนอแนะแนวทางแก้ไขในประเด็นปัญหาต่างๆ ได้ เช่น จีนและสิงคโปร์ที่เข้าร่วมและสร้างคุณูปการอย่างมากต่อการปฏิบัติงานของคณะทำงาน อย่าง Conservation of Arctic Flora and Fauna (CAFF) ซึ่งมุ่งเน้นการคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพในภูมิภาคอาร์กติก, Protection of the Marine Environment (PME) ซึ่งมุ่งเน้นการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางทะเลและสัตว์ทะเลในมหาสมุทรอาร์กติก และ Emergency Prevention, Preparedness and Response (EPPR) ซึ่งมุ่งเน้นการปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากอุบัติเหตุต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นในภูมิภาคอาร์กติก เป็นต้น

การเข้าร่วมในคณะทำงานเหล่านี้เปิดโอกาสให้ประเทศเหล่านี้สามารถเฝ้าติดตามการเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาในด้านต่างๆ ภายในภูมิภาคอาร์กติกที่อาจส่งผลต่อการบรรลุผลประโยชน์แห่งชาติของตนเองได้ ในอีกด้านหนึ่ง การได้รับสถานะผู้สังเกตการณ์ของประเทศเหล่านี้ โดยเฉพาะจีนซึ่งตั้งตัวว่าเป็น ‘รัฐที่อยู่ใกล้อาร์กติก’ (near-Arctic state) ทำให้ดุลอำนาจภายในภูมิภาคอาร์กติกเริ่มเปลี่ยนจากการแข่งขันภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างสองขั้วอำนาจสหรัฐฯ กับรัสเซียมาเป็นการแข่งขันระหว่างสามขั้วอำนาจ (tripolarity) ซึ่งประกอบด้วย สหรัฐฯ รัสเซีย และจีน จนถึงปัจจุบัน สภาวะการแข่งขันระหว่างสามขั้วอำนาจดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงการย้อนกลับไปสู่สภาวะสามขั้วอำนาจของสงครามเย็น ดังที่ Lowell Dittmer ศาสตราจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของสหรัฐฯ เรียกความสัมพันธ์นี้ว่า สามเหลี่ยมยุทธศาสตร์ (strategic triangle) ซึ่งมีการถ่วงดุลอำนาจของแต่ละฝ่ายตลอดเวลา

การประกาศตัวเป็นรัฐที่อยู่ใกล้อาร์กติกของจีนส่งผลให้อาร์ติกกลายเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ในปัจจุบันอย่างเต็มตัว โดยเฉพาะ การประกาศแผนการเส้นทางสายไหมขั้วโลกในปี 2018 พร้อมทั้งเผยแพร่แนวทางการดำเนินนโยบายของตนเอง และบรรจุเส้นทางสายไหมสายนี้เข้ากับข้อริเริ่มแถบและทางของตนเอง (Belt and Road Initiative: BRI) และการพยายามที่จะเข้าไปมีบทบาทในทุกด้านของการพัฒนาในอาร์กติก ในขณะเดียวกัน การที่รัสเซียประกาศรื้อฟื้น ปฏิรูป สั่งสมกองกำลังทหารของตนเองในภูมิภาคอาร์กติกมากขึ้นก็แยกไม่ออกจากการดำเนินโยบายต่างประเทศอย่างก้าวร้าว ดังจะเห็นได้ชัดจากการผนวกรวมดินแดนไครเมียของประเทศยูเครนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของประเทศในปี 2014 และต่อมาประกาศสงครามกับประเทศยูเครนในปี 2022 ที่ผ่านมา ซ้ำร้าย ทั้งจีนและรัสเซียต่างร่วมมือกันในหลายประเด็น เช่น ร่วมมือกันพัฒนาโครงการส่งออกก๊าซธรรมชาติ Yamal-LNG project ตลอดทั้งสร้างและปฏิบัติการวิจัยทางวิทยาศาสตร์เพื่อพัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภูมิภาคอาร์กติกร่วมกัน เป็นต้น

การร่วมมือระหว่างจีนกับรัสเซียเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของสหรัฐฯ ในฐานะที่ภูมิภาคอาร์กติกอยู่คั่นกลางระหว่างสองประเทศ เพราะฉะนั้นสหรัฐฯ จึงตอบโต้โดยการหันมาปักหมุดและให้ความสำคัญกับสายสัมพันธ์ของประเทศอาร์กติกมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น การรื้อฐานทัพทางทหารกลับมาใช้อีกครั้ง ดังเช่น ฐานทัพเรืออูลาฟสแวร์น (Olavsvern) ที่เมืองทรุมเซอ ประเทศนอร์เวย์ เป็นต้น รวมทั้งล่าสุดในเดือนตุลาคม ปี 2022 ที่ผ่านมา สหรัฐฯ ประกาศแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติฉบับใหม่ ซึ่งพัฒนาต่อมาจากฉบับปี 2013 เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินนโยบายในภูมิภาคอาร์กติก (National Strategy for the Arctic Region) ซึ่งกล่าวชัดเจนถึงทิศทางการดำเนินนโยบายของสหรัฐฯ ในภูมิภาคอาร์กติกจนถึงอีกสิบปีข้างหน้า อีกทั้งแผนยุทธศาสตร์ยังบัญญัติอย่างชัดเจนตั้งแต่ย่อหน้าแรกถึงการกล่าวโทษการกระทำอันก้าวร้าวของรัสเซียและความจำเป็นที่สหรัฐฯ จะเข้าไปมีบทบาทนำในการจัดการปัญหาที่เกิดขึ้นในภูมิภาค

อนาคตของภูมิภาคอาร์กติก: ฤาสงครามเย็นครั้งใหม่กำลังปะทุขึ้น?

การแข่งขันอย่างรุนแรงในภูมิภาคอาร์กติกทำให้ผู้สังเกตการณ์บางคนถึงกับตั้งคำถามว่าหรือสงครามโลกครั้งที่ 3 (World War III) จะเกิดขึ้นในภูมิภาคอาร์กติก โดยให้เหตุผลว่า บทบาทของจีนที่เพิ่มขึ้นในภูมิภาค ความก้าวร้าวและการสั่งสมกองกำลังทหารของรัสเซีย และความพยายามที่จะตอบโต้ของสหรัฐฯ ก่อให้เกิดความตึงเครียดทางการเมืองซึ่งกลไกระดับภูมิภาคอย่างสภาอาร์กติกไม่มีอำนาจเพียงพอในการจัดการกับความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้น

แม้ว่าความคิดเห็นนี้จะมีส่วนถูกอยู่บ้างเกี่ยวกับข้อจำกัดของสภาอาร์กติก แต่ก็ดูจะเข้าใจการแข่งขันทางอำนาจระหว่างทั้งสามประเทศอย่างคลาดเคลื่อน ทว่าสภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้นเป็นลักษณะสงครามเย็นมากกว่า ดังที่นักวิชาการบางท่านเสนอว่า สงครามเย็น ‘ครั้งใหม่’ กำลังปะทุขึ้นในอาร์กติก

กระนั้นก็ยังมีข้อถกเถียงกันว่า สงครามเย็นที่ว่าไม่ใช่สงครามเย็น ‘ครั้งใหม่’ ทว่าเป็นการฟื้นคืนสภาวะทางอำนาจของสงครามเย็น ‘ครั้งเดิม’ เสียมากกว่า Lowell Dittmer มองว่า ลักษณะความสัมพันธ์ทางอำนาจแบบ ‘สามเหลี่ยมยุทธศาสตร์’ มิใช่เพิ่งเกิด แต่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงสงครามเย็นภายหลังจากการประนีประนอมระหว่างสหรัฐฯ กับจีน (U.S.-China Rapprochement) ในปี 1972 แล้ว กล่าวโดยย่อ Dittmer เสนอว่า ความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นเป็นการผลิตซ้ำพลวัตทางความสำคัญระหว่างสามขั้วอำนาจมาตลอด 50 ปีให้หลัง ความสัมพันธ์อันดีระหว่างจีนกับรัสเซียก็ส่งผลต่อวิธีคิดของสหรัฐฯ ในขณะเดียวกัน การที่สหรัฐฯ มองว่า ทั้งสองประเทศเป็นภัยคุกคามก็กลับมาผลิตซ้ำความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ จีน และสหภาพโซเวียต (รัสเซีย) เช่นกัน Dittmer เรียกปฏิสัมพันธ์ลักษณะนี้ว่า Stable Marriage

หากมองความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ จีน และรัสเซียผ่านความสัมพันธ์สามเหลี่ยมยุทธศาสตร์ตามแบบที่ Dittmer มองก็อาจคาดการณ์ได้ว่า สภาวะการแข่งขันทางอำนาจของสามประเทศในรูปแบบนี้จะทวีความรุนแรงมากขึ้นจากการที่ต่างฝ่ายต่างผลิตซ้ำความสัมพันธ์ และกลายมาเป็นความท้าทายที่สำคัญของทั้งประเทศอาร์กติกอีก 6 ประเทศและประเทศนอกภูมิภาคอื่นๆ ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save