fbpx

อาณานิคมเดนมาร์กในกรีนแลนด์

ผมเคยนำเรียนท่านผู้อ่าน ถึงกรณีการสร้างความทรงจำสาธารณะในเดนมาร์กสมัยใหม่ สร้างให้อดีตของตนเป็นกรณียกเว้นของการเป็นเจ้าอาณานิคม จากประวัติศาสตร์การมีอาณานิคมเหนือทรันคีบาร์ ศรีรัมปูร์ และหมู่เกาะนิโคบาร์ (ในอินเดีย) ในช่วงศตวรรษที่ 19 รวมไปจนกระทั่งถึงอำนาจปกครองที่เดนมาร์กมีเหนือหมู่เกาะแฟร์โร และกรีนแลนด์มาจนกระทั่งต้นศตวรรษปัจจุบันนี้

ท่ามกลางประวัติศาสตร์อันโหดร้ายของลัทธิล่าอาณานิคม เดนมาร์กสร้างความทรงจำให้ตนเองกลายเป็นเจ้าอาณาคมที่ต่างจากเจ้าอื่น ไม่ได้โหดร้ายแบบเขาอื่น เป็นเจ้าอาณานิคมที่มีความกรุณา!

กรีนแลนด์

วันนี้ผมจะมาเล่าเรื่องกรีนแลนด์เป็นการเฉพาะครับ เพราะในกรณีกรีนแลนด์นี้ กว่าจะได้อำนาจการปกครองตัวเองก็ล่วงมาจนถึงปี 2009 นี้เอง เพราะฉะนั้นจะกล่าวว่าเรื่องอาณานิคมเป็นเรื่องอดีตก็คงจะพูดได้ไม่เต็มปาก

ต่อไปนี้เป็นน้ำจิ้มของงานที่ศึกษาในหัวข้อดังกล่าวจากนักวิชาการเดนมาร์กเองครับ

กรีนแลนด์ถือว่าเป็นเกาะที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก กว่าร้อยละ 80 ของประเทศเป็นแผ่นน้ำแข็ง แต่ส่วนที่เป็นแผ่นดินฝั่งทะเลก็มีขนาดใหญ่ขนาดพอๆ กับประเทศโปแลนด์ทีเดียว ประชากรเกือบๆ 60,000 คนอาศัยอยู่ตามบริเวณนี้ ความบกพร่องทางด้านโครงสร้างพื้นฐานและสภาพภูมิประเทศถือเป็นความท้าทายอย่างยิ่งของคนกรีนแลนด์

คนกรีนแลนด์ประกอบขึ้นคร่าวๆ เป็นสี่กลุ่ม ได้แก่ 1. คนกรีนแลนด์ตะวันตก (ร้อยละ 80) 2. คนกรีนแลนด์ตะวันออก (ร้อยละ 6) 3. คนกรีนแลนด์ทางเหนือ (ร้อยละ 1.5) และ 4. ที่เหลือซึ่งเป็นคนเดนมาร์กเสียมาก และมีความสัมพันธ์กับคนกรีนแลนด์ผ่านทางเครือญาติและการแต่งงาน

ยุคอาณานิคมเดนมาร์กเหนือกรีนแลนด์

ฮันส์ เอเกด์ (ที่มาภาพ)

เริ่มต้นขึ้นในปี 1721 เมื่อ ฮันส์ เอเกด์ (Hans Egede) บาทหลวงชาวเดนมาร์ก-นอร์เวย์ ไปตั้งเขตมิชชั่นและสถานีการค้าที่บริเวณนุก (Nuuk) ซึ่งต่อมากลายเป็นเมืองหลวงของกรีนแลนด์

ในช่วงศตวรรษที่ 18 นี้ จะเห็นได้ว่ารัฐบาลอาณานิคมของเดนมาร์กจะบริหารการปกครองเมืองขึ้นของตน รวมทั้งกรีนแลนด์ว่าเป็นท่าการค้า นโยบายต่างๆ ก็จะมุ่งไปทางด้านการพาณิชย์เสียเป็นส่วนมาก ท่าการค้าที่นุกก็จะเชื่อมต่อสินค้าของทะเลแอตเลนติกเหนือ เชื่อมสองทวีปเข้าด้วยกัน เป็นแหล่งค้าขายสินค้าที่ผลิตจากที่นี่ ไม่ว่าจะเป็นหนังสัตว์ ขนสัตว์ เนื้อแมวน้ำ และไขมันเปลวปลาวาฬ เป็นต้น

เข้าสู่ช่วงการจัดการระบบการปกครอง

และดังเช่นระบบการปกครองอาณานิคมยุโรปในที่อื่นๆ เมื่อเข้าสู่ศตวรรษที่ 19 เดนมาร์กเริ่มขยายนโยบายการปกครองกรีนแลนด์ไปสู่เรื่องการบริหารจัดการเรื่องการเมือง และมุ่งเปลี่ยนแปลงสังคมกรีนแลนด์ในระดับพื้นฐาน เป็นเทคนิควิศวกรรมทางสังคม (social engineering)

ในการจะกระทำเช่นนี้ได้ ผู้ปกครองก็จะต้องตั้งคำถามว่า แล้วคนที่พวกเขาปกครองเป็นใครกันเล่า

เรื่องนี้ไม่ได้เป็นเพียงการทำความเข้าใจคนอื่น แต่เป็นการสร้าง ‘คนอื่น’ ในแบบที่เราต้องการจะเข้าใจ เพื่อจุดประสงค์การควบคุม (การเข้าใจผู้อื่นนี่เป็นฐานของคริสต์ลูเทอรันเดนมาร์กอย่างยิ่ง)

แม้ว่าก่อนหน้านี้จะมีการพยายามศึกษาและมีการบันทึกอะไรจำนวนหนึ่งว่าด้วยวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของคน ‘พื้นเมือง’ กรีนแลนด์ก่อนหน้านี้ แต่การสร้างความรู้ว่าด้วยคนกรีนแลนด์เป็นปฏิบัติการทางอำนาจที่เจ้าอาณานิคมเดนมาร์กมุ่งกระทำด้วยมุ่งหมายการปกครองในช่วงศตวรรษที่ 19 นี้อย่างเข้มข้น

โปสการ์ดจากกรีนแลนด์ในศตวรรษที่ 19 (ที่มาภาพ)

ประเพณีประดิษฐ์​

ที่สำคัญคือ ความรู้ที่ว่านี้ เน้นหนักไปในการสร้าง ‘ประเพณี’ ของชาวกรีนแลนด์ก่อนหน้ายุคอาณานิคม ว่าคนพื้นเมืองในกรีนแลนด์นั้นมีชีวิต ความเป็นอยู่ วัฒนธรรมอย่างไรก่อนหน้าที่เดนมาร์กจะเข้ามา เป็นการเขียนชาติพรรณวรรณา (ethnography) รองรับความชอบธรรมของการเข้าปกครอง

ประเพณีของชาวกรีนแลนด์ที่เจ้าหน้าที่อาณานิคมเดนมาร์กผลิตขึ้นนั้น มีอำนาจในการอ้างความรู้ของแท้ (authentic) ที่ดั้งเดิม เป็นความรู้เรื่องประเพณีที่รัฐอาณานิคมสถาปนาขึ้นเพื่อจะอนุรักษ์ ปรับเปลี่ยน ปฏิรูป ยกระดับ พัฒนา ฯลฯ ให้เป็นไปตามที่ผู้ปกครองจากโคเปนเฮเกนต้องการ

การเลือกอนุรักษ์

อาจจะเป็นเรื่องที่น่าสงสัยอยู่ว่า ในความสัมพันธ์แบบอาณานิคมนั้น ผู้ปกครองย่อมจะมุ่งเปลี่ยนแปลง ทำลาย กดปราบวิถีต่างๆ ของผู้อยู่ใต้ปกครอง และมุ่งสู่การสร้างภาวะความเป็นเอกพันธุ์ (homogeneity) ซึ่งเป็นหัวใจของรัฐชาติสมัยใหม่ ซึ่งเป็นโครงการทางการเมืองของเจ้าอาณานิคมยุโรป มิใช่หรือ

ใช่ครับ จริงทีเดียว แต่สุดท้ายเจ้าอาณานิคมยุโรปไม่มีน้ำยาขนาดนั้น โครงการอาณานิคมถูกแรงต่อต้านและการลุกฮือครั้งแล้วครั้งเล่า เช่นในอินเดีย จาไมก้า หรือซูดาน จนในที่สุดก็จำต้องขยับไปสู่ขั้นตอนอีกขั้นหนึ่งของยุคอาณานิคม คือการเสนอการ ‘อนุรักษ์’ วัฒนธรรมหรือองค์ความรู้ดั้งเดิมของสังคมพื้นเมือง

นโยบายการรักษาและอนุรักษ์วัฒนธรรมดั้งเดิม นี้เป็นใจกลางของระบบอาณานิคมยุโรปในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 19 ทีเดียว

กล่าวคือ เกิดการเปลี่ยนแปลงและเห็นว่าวัฒนธรรมบางอย่างของเหล่าดินแดนอาณานิคมทั้งหลายมีคุณค่าและต้องรักษาเอาไว้ หรืออย่างน้อยก็ไม่เข้าไปก้าวก่ายเปลี่ยนแปลง

แต่มีสองประเด็น ที่เรื่องการอนุรักษ์นี้ที่แท้จริงแล้วไม่ได้เป็นเรื่องมนุษยธรรมมากไปกว่าการจัดสรรทรัพยากรอำนาจ

ประเด็นแรก ผู้ที่ลุกขึ้นเรียกร้องเรื่องการอนุรักษ์จำนวนมาก คือผู้เป็นผลพวงของกระบวนการอาณานิคมตั้งรกราก (settlement colonialism) คือย้ายจากเมืองแม่ไปอยู่ดินแดนใหม่เป็นการถาวร การอนุรักษ์ที่ว่านี้ คือการอนุรักษ์ประเพณีที่ประดิษฐ์ขึ้นใหม่ เพื่อขยายให้เป็นประเพณีของประชากรทั้งหมด และคนกลุ่มน้อยที่ย้ายจากเมืองแม่มานี้จึงจะสามารถเข้าไปเป็นเจ้าของ เป็นผู้กำหนดนโยบายเหล่านี้ เป็นผู้อยู่ในชนชั้นปกครอง และกีดกันคนที่อยู่เดิมส่วนใหญ่ออกไป หลายครั้งด้วยการสังหารหมู่ ตัวอย่างของกรณีเหล่านี้ก็ขอให้ดูออสเตรเลีย แอฟริกาใต้ สหรัฐอเมริกา และอิสราเอลดู

ภาพถ่ายชาวอินูอิต ที่เจ้าอาณานิคมเดนมาร์กจ้องมองออกไปจากหลังกล้อง (ที่มาภาพ)

ถ้าเป็นกรณีเดนมาร์ก ชาวเดนมาร์กที่ตั้งรกรากอยู่ในกรีนแลนด์เองก็จะเป็นผู้สนับสนุนนโยบายที่ว่าเหล่านี้ (ซึ่งเป็นที่มาหนึ่งของการมองตัวเองว่าเป็นผู้มีความกรุณา)

ประเด็นที่สอง คือการอนุรักษ์นั้นเกี่ยวข้องด้วยว่า ประเพณีที่ว่านี้คืออะไร ในกรณีกรีนแลนด์สำหรับเจ้าอาณานิคมเดนมาร์กแล้ว ไม่มีประเพณีอะไรที่แสนจะเป็นกรีนแลนด์ไปมากกว่าการล่าแมวน้ำ

และการล่าแมวน้ำนี้เป็นธุรกิจที่นำรายได้มหาศาล การมุ่งบันทึกและรักษาการล่าแมวน้ำในฐานะประเพณีแท้จริงดั้งเดิมของชาวกรีนแลนด์ ก็ตัดไม่ขาดออกจากเรื่องเม็ดเงินที่จะไหลกลับไปโคเปนเฮเกนด้วยอย่างมีนัยยะสำคัญ

การล่าและแล่แมวน้ำ (ที่มาภาพ)

ประวัติศาสตร์นิพนธ์สแกนดิเนเวียในครึ่งแรกของศตวรรษที่ 21

เหล่านี้เป็นน้ำจิ้มที่ผมนำมาเรียนท่านผู้อ่าน ซึ่งในช่วงไม่กี่สิบปีมานี้ กระแสของการหันกลับไปทบทวนประวัติศาสตร์อาณานิคมของกลุ่มประเทศที่ถูกมองว่า ‘เป็นกลาง’ ทางอำนาจของเวทีระหว่างประเทศมีขึ้นอย่างคึกคัก

ภาพของการเป็นกลางทางการเมืองและเป็นประเทศคนดี ฯลฯ เริ่มถูกท้าทายด้วยนักวิชาการข้างในภูมิภาคสแกนดิเนเวียเอง เป็นการทะลวงแผ่นน้ำแข็งอุดมการณ์ซึ่งเย็นยะเยือกจากชัยชนะของฝ่ายเสรีประชาธิปไตยหลังสงครามโลกครั้งที่สอง

แต่อาจจะเป็นเพราะภาวะโลกร้อนก็เป็นได้ ที่ดูเหมือนว่าน้ำแข็งแผ่นมหึมาที่ว่านี้ดูจะค่อยๆ ละลายลงเสียแล้ว


อ้างอิง

Søren Rud, Colonialism in Greenland: Tradition, Governance, and Legacy (2017)

Søren Rud og Søren Ivarsson (red.), Postkoloniale og globale perspektiver på dansk kolonihistorie (2021)

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save