fbpx

การเดินทางของกิมจิ: เมื่อเกาหลีใต้อยากเปลี่ยนเศษอาหารให้เป็นพลังงาน

1

ไม่นานมานี้ผมได้ไปกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ หลังจากที่ไม่ได้ไปตั้งแต่ปี 2018 และพบสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจซึ่งอยากมาขยายความเล่าให้ฟัง จริงๆ เรื่องนี้นั้นที่กรุงโซลทำมาแล้วเป็นเวลากว่า 20 ปีแล้ว แต่นักท่องเที่ยวอย่างเราๆ ท่านๆ ที่ไปกรุงโซลอาจได้เห็นแต่เพียงหน้าฉาก ทว่าไม่เคยรู้ถึงเบื้องหลังของสิ่งที่เกิดขึ้น และคำถามที่ว่าประเทศเกาหลีใต้มีวิธีการจัดการกับเมืองอย่างไร กระทั่งผมไปกินข้าวร้านอาหารพื้นเมืองร้านหนึ่งในย่านเมียงดงกับเพื่อนชาวเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นร้านที่ขายอาหารแบบพื้นถิ่น อารมณ์คล้ายร้านอาหารปักษ์ใต้บ้านเรา

ร้านอาหารแห่งนั้นอยู่ไม่ไกลจากห้างชินเซแกเท่าไรนัก ตั้งอยู่ชั้นสองของตึกตรงสามแยกหน้าตลาด ซึ่งที่นั่นทำให้ผมสังเกตเห็นสิ่งนี้โดยบังเอิญ เพราะหน้าร้านกับหลังร้านอยู่ในมุมที่ใกล้กันพอดี สิ่งนั้นคือถังขยะใบหนึ่งที่มีสติกเกอร์แปะอยู่ตรงบริเวณด้ามจับ (มีลักษณะเป็นถึงขยะใหญ่ๆ แบบที่เราเห็นเวลารถขนขยะมาเก็บนั่นแหละครับ) แต่อีกถังหนึ่งไม่มีด้ามจับ ด้วยความอยากรู้อยากเห็น ผมจึงเปิดถังที่มีสติกเกอร์ออกดู และพบว่าในถังนั้นเป็นขยะเศษอาหารพร้อมมีน้ำเจิ่งนอง

วินาทีนั้นจึงได้รู้ว่า นี่คงเป็นวิธีการจัดการขยะของกรุงโซล

2

ปัจจุบันกรุงโซลมีประชากรอาศัยอยู่ราว 10 ล้านคนบนพื้นที่ 605 ตารางกิโลเมตร ถือเป็นเมืองที่มีประชากรหนาแน่นเป็นอันดับ 11 ของโลก แน่นอนว่าโซลก็พบปัญหาใหญ่เรื่องการจัดการขยะเหมือนเมืองใหญ่ทั่วโลก อ้างอิงจากข้อมูลของ Seoul Metropolitan Government ในปี 2022 กรุงโซลสร้างขยะวันละประมาณ 2,500 ตัน ประกอบด้วยขยะมูลฝอยทั่วไป 1,200 ตัน ขยะรีไซเคิล 800 ตัน ขยะอันตราย 500 ตัน แต่ด้วยนโยบายการจำกัดขยะอย่างยั่งยืนของโซล ทำให้พวกเขาประกาศว่าจะลดขยะให้เหลือแค่ 1,000 ตันต่อวัน หมายความว่าในอีก 2 ปี ข้างหน้า ขยะในเมืองจะหายไปเกินครึ่ง 

แม้จะดูเป็นเป้าที่ค่อนข้างท้าทาย แต่เมื่อไปค้นข้อมูลและสอบถามจากเพื่อนเกาหลีใต้ ทำให้รู้ว่าสิ่งที่โซลตั้งเป้าไว้นั้นอาจไม่ได้ไกลเกินกว่าที่พวกเขาจะไปถึง

3

หากไปกินร้านอาหารบางแห่งในโซล เมื่อเดินไปหลังร้านจะเห็นถังขยะที่มีสติกเกอร์เล็กๆ ปิดอยู่ ถังขยะถูกแยกจากกันอย่างชัดเจนระหว่างขยะเปียกที่มีเศษอาหารและขยะประเภทอื่นๆ ซึ่งพบว่าเป็นแบบนี้แทบทุกร้าน เดาได้ไม่ยากว่านี่คงเป็นส่วนหนึ่งของการกำจัดขยะของเมือง นอกจากนี้ กรุงโซลยังมีระบบแยกขยะที่ได้ผลและเข้มงวดพอสมควร ขยะที่ถูกแยกไว้จะถูกกำจัดอย่างเหมาะสมโดยที่ไม่มีการฝังกลบ เพราะรัฐบาลเกาหลีใต้ได้ยกเลิกการฝังกลบขยะมาตั้งแต่ปี 1995 และการส่งเศษอาหารไปฝังกลบก็ถือเป็นสิ่งผิดกฎหมายตั้งแต่ปี 2005 เป็นต้นมา  

หมายความว่าปริมาณของเศษอาหารมากมายเหล่านี้จะถูกนำไปทำอย่างอื่นแทนการฝังกลบ เพื่อนของผมบอกว่า แรงผลักดันที่ใหญ่มากคือปัญหาที่ดินและสิ่งแวดล้อม เนื่องจากกรุงโซลมีพื้นที่จำกัด และพื้นที่ส่วนใหญ่ในกรุงโซล (จริงๆ อาจเป็นทั่วเกาหลีใต้ด้วยซ้ำ) เป็นภูเขา จึงไม่มีพื้นที่ราบมากนักในการอยู่อาศัยและการฝังกลบขยะ ทำให้เกิดปัญหาเรื่องการกำจัดขยะ ส่งผลให้รัฐบาลทุกยุคทุกสมัยพยายามสานต่อวิธีการกำจัดขยะ คือเน้นการแปรรูป นำกลับมาใช้ใหม่ และทำลายทิ้ง

จริงๆ แล้วเกาหลีใต้เป็นประเทศที่สร้างขยะอาหารได้ง่าย ด้วยความที่ว่าเครื่องเคียงในการกินอาหารแต่ละมื้อนั้นมีจำนวนมาก ไม่ว่าจะกินอะไรก็จะต้องเสิร์ฟทั้งน้ำจิ้ม กิมจิ ของกินเล่นและผักดองอื่นๆ กินควบคู่กับอาหารจานหลัก ด้วยวัฒนธรรมที่ยิ่งเครื่องเคียงมากก็จะยิ่งแสดงถึงความหรูหรา ในขณะเดียวกัน พฤติกรรมการกินแบบนี้ก็ก่อให้เกิดขยะได้มากเช่นกัน มากไปกว่านั้น ปัญหาอีกประการหนึ่งของหมักดองเหล่านี้ คือเมื่อนำไปทิ้งจะยิ่งเร่งการเกิดก๊าซมีเทนได้มาก ซึ่งก๊าซมีเทนส่งผลต่อภาวะเรือนกระจกได้มากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยออกมาจากรถยนต์เสียอีก

ปัจจุบันในแต่ละปีขยะเศษอาหารส่วนใหญ่จากทั่วโลกมากกว่า 1.4 พันล้านตันถูกจัดการไปกับการฝังกลบ และปัญหาคือ เมื่อมันเน่าเปื่อยจะก่อให้เกิดมลพิษต่อน้ำและดิน ทั้งยังปล่อยมีเทนจำนวนมหาศาลเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ นักสิ่งแวดล้อมหลายคนบอกว่า สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่เพียงเพราะมีเทนเท่านั้น แต่ยังเป็นเพราะพลังงานและทรัพยากรที่นำไปใช้ในการผลิตและการขนส่งก็สูญเปล่าเหมือนกัน

คำถามต่อมาคือ แล้วเกาหลีใต้จะทำอย่างไรกับเศษอาหารจำนวนมหาศาลเหล่านี้ 

4  

ระบบการกำจัดเศษอาหารของกรุงโซลและของเกาหลีใต้นั้นน่าสนใจมาก เพราะปัจจุบันเศษอาหารที่ถูกทิ้งประมาณร้อยละ 90 จะถูกกำจัดอย่างสะอาดและไม่เหลือสิ่งที่เป็นมลพิษกลับสู่สิ่งแวดล้อม จากข้อมูลของ Project Drawdown ที่เข้าไปศึกษาวิธีการจัดการของเกาหลีใต้ในการกำจัดขยะเศษอาหารเหล่านี้อย่างได้ผล พบว่านี่เป็นกระบวนการที่ต้องทุ่มเทพอสมควร และเกี่ยวข้องกับทั้งบริษัทเอกชนที่เข้ามารับจ้างเก็บขยะ โรงงานแยกและกำจัดขยะ ไปจนถึงการนำพลังงานหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ เหล่านี้ล้วนเชื่อมโยงเป็นโครงข่ายใยแมงมุม 

นอกจากนี้ กระทรวงสิ่งแวดล้อมของเกาหลีใต้ระบุไว้ว่า พวกเขาใช้งบประมาณไปกับเรื่องนี้ราวปีละ 600 ล้านดอลลาร์ ข้อดีที่ได้นอกเหนือจะเป็นการกำจัดขยะ คือพวกเขาได้หมุนเวียนเอาพลังงานกลับมาใช้ใหม่ โดยรัฐบาลท้องถิ่นได้สร้างโรงงานเผาขยะหลายร้อยแห่งเพื่อดำเนินการนโยบายดังกล่าว นอกจากนี้ ทั้งผู้บริโภค เจ้าของร้านอาหาร หรือแม้แต่คนขับรถบรรทุกต่างก็เป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายรวบรวมและจัดการขยะเหล่านี้ โดยร้านค้าจะจ่ายค่าบริการสำหรับการทิ้งเศษอาหารให้กับเทศบาลท้องถิ่นเป็นเงินราว 2,800 วอนหรือมากกว่า 2 ดอลลาร์สำหรับการทิ้งขยะเศษอาหารอาหารทุกๆ 20 ลิตร 

หลังจากนั้น ตลอดทั้งวันเศษอาหารที่เหลือจะถูกเทใส่ถังในห้องครัว เมื่อถึงเวลาปิดร้าน แต่ละร้านจะมีถังสำหรับเทเศษอาหารที่ตั้งอยู่นอกร้าน แต่ละร้านจะติดสติกเกอร์ที่ซื้อมาจากเขตบนฝาถัง ซึ่งเป็นหลักฐานว่าแต่ละอยู่ในระบบของการเรียกชำระค่าบริการจัดเก็บขยะ และในช่วงเช้ามืดของทุกวัน บริษัทต่างๆ ที่ได้รับการว่าจ้างจากเขตจะออกเก็บขยะ ฉีกสติกเกอร์ออกจากถังขยะ และทิ้งสิ่งของลงในถังรถบรรทุก บริษัทเหล่านี้ทำงานทุกวันยกเว้นวันอาทิตย์ และก่อนที่ร้านค้าจะเปิดในช่วงสายของอีกวัน ขยะเหล่านี้จะไปถึงโรงงานแปรรูป ซึ่งส่วนมากจะอยู่ในเขตชานเมืองเพื่อขนถ่ายเริ่มต้นเข้าสู่กระบวนการแปรรูป 

ต่อมา ขยะอาหารต่างๆ จะถูกแยกออกมาโดยเครื่องจักรอัตโนมัติ หรือโรงงานบางแห่งอาจยังคงใช้แรงงานคนอยู่บ้าง โดยของที่อาจเผาทำลายยาก เช่น กระดูก เมล็ดพืช เปลือกหอย จะถูกแยกออก ส่วนขยะอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเศษผักดองที่เหลือหรือเศษเนื้อต่างๆ จะถูกลำเลียงผ่านสายผ่านเพื่อนำของเสียเข้าเครื่องบดที่จะบดจนขยะเหล่านี้เหลือเป็นชิ้นเล็กๆ จากนั้นของเสียที่มาจากพืชและสัตว์จะถูกอบที่ความร้อนสูงจนแห้ง ความชื้นจะไหลเข้าสู่ท่อที่นำไปสู่โรงบำบัดน้ำ และถูกทำให้สะอาดบริสุทธิ์ก่อนมีการตรวจสอบคุณภาพและปล่อยกลับลงสู่สิ่งแวดล้อม 

ทั้งนี้ กระบวนการนี้จะเกิดขึ้นทุกวันที่มีขยะอาหารเข้าโรงงาน และใช้เวลาราว 4 ชั่วโมง หลังจากที่ทีมงานเก็บขยะมาจากร้าน ในขั้นสุดท้ายขยะเหล่านั้นจะแปรสภาพเป็นผงสีน้ำตาลแห้งที่มีกลิ่นคล้ายดินแห้งๆ ซึ่งสามารถนำกลับไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย เช่น เป็นอาหารเสริมสำหรับเลี้ยงไก่และเป็ด เนื่องจากเศษอาหารที่ถูกอบจนแห้งนี้อุดมไปด้วยโปรตีนและไฟเบอร์

5

วิธีการดังกล่าวเป็นหนึ่งในการกำจัดขยะอาหาร นอกเหนือจากนั้น ยังมีบางโรงงานที่ก้าวไปอีกขั้น คือแทนที่จะอบหรือเผาขยะ พวกเขาจะเอาขยะจากเศษอาหารเหล่านี้ไปหมักไว้ก่อน โดยใช้แบคทีเรียประเภทหนึ่งที่ไม่พึ่งพาออกซิเจนในการย่อยสลาย จนได้ก๊าซมีเทนและหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ เช่น โรงงานผลิตก๊าซชีวภาพในเมืองโกยาง ชานเมืองกรุงโซล ที่รองรับเศษอาหารเกือบ 70,000 ตันต่อปี เศษอาหารเหล่านี้จะผ่านการย่อยโดยแบคทีเรียที่ไม่พึ่งพาออกซิเจนโดยบรรจุอยู่ในถังมิดชิดขนาดใหญ่นาน 35 วันในขณะที่แบคทีเรียทำงาน อินทรียวัตถุก็จะสร้างก๊าซชีวภาพซึ่งประกอบด้วยมีเทนและคาร์บอนไดออกไซด์เป็นส่วนใหญ่ ปลายทางของกระบวนการคือการแยกก๊าซ และก๊าซชีวภาพที่ได้มาจะถูกขายให้กับหน่วยงานสาธารณูปโภคในท้องถิ่น เพื่อเอาไปใช้เป็นพลังงานหมุนเวียน ซึ่งจำนวนของก๊าซชีวภาพที่ได้มาสามารถนำไปใช้ทำความร้อนให้กับบ้านเรือนได้มากถึง 3,000 หลัง 

และหลังจากเกิน 35 วันก็จะมีการนำขยะไปอบจนแห้ง ของที่เหลือสามารถนำไปผสมกับเศษไม้เพื่อทำเป็นไม้อัด หรือเอาไปทำเป็นดินเป็นปุ๋ยในการปลูกพืชได้โดยไม่มีอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ มีนักวิจัยพบว่า ขยะอาหารทุกตันที่เน่าเปื่อย ในหลุมฝังกลบจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกเทียบเท่ากับคาร์บอนไดออกไซด์ 800 ปอนด์ แต่การเปลี่ยนเป็นก๊าซชีวภาพยังสามารถทำให้โรงงานนำพลังงานนั้นมาใช้ได้ และลดต้นทุนในการกำจัดขยยะลงได้ครึ่งหนึ่ง แถมพลังงานที่ได้จากการสร้างก๊าซมีเทนและการเผาขยะเปลี่ยนเป็ยนพลังงานแบบนี้ยังประหยัดกว่าพลังงานทางเลือกอื่นๆ อีกมาก    

6

แม้ว่าเป้าหมายลดปริมาณขยะ 1,000 ตันในอีก 2 ปีจะดูท้าทายอย่ากมากสำหรับเกาหลีใต้ แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้ เพราะตลอดระยะเวลาของความพยายามในการลดขยะ และการเปลี่ยนแปลงวิธีการจัดการขยะของเกาหลีใต้กว่าเวลา 20 ปีที่ผ่านมา ทำให้กรุงโซลเป็นหนึ่งในเมืองใหญ่ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยเมื่อเทียบกับเมืองใหญ่อื่นๆ ของโลก 

ตอนนี้เพื่อนผมยังเล่าว่า เกาหลีใต้เริ่มมีโครงการอีกมากมายเพื่อลดและแยกขยะเพื่อเอาไปใช้ประโยชน์ เช่น คนที่อยู่ตามหอพักหรืออพาร์ทเม้นท์ที่อาจไม่สะดวกในการทิ้งขยะ ทางเทศบาลจะขายถุงใส่เศษอาหาร เรียกว่า อึมซิงมุล ซือเรกิ บงตู (음식물 쓰ר기 봉투) ราคาของถุงเหล่านี้จะแตกต่างกันไปตามขนาดและเขตที่อยู่อาศัย โดยขยะเศษอาหารที่แยกไว้เหล่านี้จะถูกนำไปทำเป็นอาหารสัตว์ หรือไม่ก็แปรรูปไปเป็นปุ๋ย

ปัจจุบันเกาหลีใต้ยังก้าวไปอีกขั้น ด้วยการนำเอาเทคโนโลยีชีวภาพมาใช้มากขึ้น สร้างถังขยะชีวภาพขึ้นในอพาร์ตเมนต์และคอนโดมิเนียม ไปจนถึงการสร้างถังหมักที่มีแบคทีเรียช่วยย่อยสลายขยะเปียกเหล่านี้ไว้ใกล้กับเขตที่พักอาศัยที่เป็นตึก โดยผู้พักอาศัยสามารถนำขยะเปียกของตัวเองมาทิ้งในถังนี้ เพียงแต่ต้องสแกนเพื่อยืนยันการเป็นสมาชิกก่อน และทุกครั้งที่ทิ้งเศษอาหารลงไปในถังขยะ ตัวถังจะชั่งน้ำหนักของที่หล่นลงไปว่ามีการทิ้งขยะมากแค่ไหน เมื่อถึงสิ้นเดือนสมาชิกทุกคนก็จะได้รับบิลเก็บค่ากำจัดขยะ นับเป็นระบบที่มีประสิทธิภาพ และลดค่าใช้จ่ายให้ผู้พักอาศัยได้ (เดือนหนึ่งบางครัวเรือนที่อาศัยในอพาร์ตเมนต์อาจเสียไม่ถึง 50 บาท) แต่ได้ความสะดวกรวดเร็วและลดปัญหาขยะในชุมชน

7

กระนั้น เส้นทางนี้ก็ไม่ใช่จะราบรื่นไปเสียหมด แม้กระบวนการดูจะมีประสิทธิภาพถึงขนาดที่ว่าประเทศในยุโรปและหลายเมืองในสหรัฐอเมริกามาดูงานที่นี่ แต่เกาหลีใต้ก็ยังมีปัญหาเรื่องคนทิ้งเศษอาหารไม่เป็นที่ และแม้การฝังกลบจะผิดกฎหมายแต่ดินแดนไกลปืนเที่ยงหลายแห่งกลับยังมีการทิ้งขยะแบบฝังกลบเหมือนกัน และปริมาณเศษอาหารที่ถูกทิ้งทั่วประเทศยังไม่แตกต่างจากเดิมอย่างมีนัยสำคัญ หมายความว่า บางทีจิตสำนึกของพลเมืองต่อการลดปริมาณเศษอาหารนั้นยังไม่เปลี่ยนจากเดิม และอาจสะท้อนได้ว่าคนยังต้องการความหรูหรา และการกินอาหารเหลืออาจยังเป็นค่านิยมของคนในประเทศ

สิ่งที่เป็นอุปสรรคที่เปลี่ยนยากกว่านั้น คือลักษณะอาหารหลักของคนเกาหลีที่ยังเน้นเนื้อสัตว์และอาหารพวกต้ม (เช่น เมนูสตูที่เป็นของคู่บ้าน) ทำให้การกำจัดอาหารที่มีน้ำและเนื้อสัตว์ยังเป็นความท้าทายของเกาหลีใต้อยู่ดีมากกว่าขยะประเภทอื่นๆ ที่อาจจัดการได้ง่ายกว่า 

มากไปกว่านั้น ยังมีปัญหาคลาสสิกที่พวกเขาเจอ เช่น การต่อต้านจากคนในชุมชน มาตรฐานของโรงงานกำจัดขยะบางแห่งที่เก่าเกินไปทำให้ไม่สามารถกำจัดกลิ่นและการบำบัดน้ำได้ดีพอ หรือในช่วงของเทศกาลที่มีทั้งนักท่องเที่ยวและคนท้องถิ่นจับจ่าย กิน เที่ยว ดื่มกันมากขึ้น ยิ่งทำให้เมืองไม่สามารถจำกัดขยะได้ทัน  

แต่เหนือสิ่งอื่นใด จากกล่าวมาทั้งหมด ดูๆ แล้วเขาก็ทุ่มเทกว่าบ้านเรา ก้าวหน้ากว่ากรุงเทพฯ และประเทศไทยเราอยู่มากมายหลายขุม 

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save