fbpx

งบ ‘สงเคราะห์’ เด็กไทย ไม่ไหว ไม่พอ ไปต่อไม่ได้

เด็กจำนวนหนึ่งไม่มีพื้นที่ให้ได้เติบโตอย่างปลอดภัย จากสถิติการให้บริการสายด่วนของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์พบว่า ในช่วง 5 ปีหลัง (ปีงบประมาณ 2018 – 2022) มีเด็กเป็นเหยื่อความรุนแรงภายในครอบครัวเพิ่มขึ้นจาก 681 ราย เป็น 721 ราย [1] และยังมีเด็กอีกจำนวนไม่น้อยที่ต้องเผชิญกับปัญหาความยากจนและถูกทอดทิ้ง ‘สถานรองรับ’ จึงเป็นที่พักพิงแก่เด็กเหล่านี้

แต่งบประมาณที่รัฐไทยจัดสรรให้สถานรองรับทั้งประเทศ ทำให้สถานรองรับอาจไม่ใช่ที่พักพิงของเด็ก และไม่ใกล้เคียงจะทดแทนครอบครัวได้

คิด for คิดส์ โดยความร่วมมือระหว่าง 101 PUB กับ สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว สสส. ชวนสำรวจงบประมาณที่สถานรองรับและครอบครัวอุปถัมภ์ได้รับ อุปสรรคด้านการเงินที่ทำให้ระบบคุ้มครองเด็กไทยไม่สามารถคุ้มครองเด็กไทยได้จริง

งบสงเคราะห์เด็กลดลงต่ำกว่าเส้นความยากจน

5 ปีที่ผ่านมา เด็กไทยเฉลี่ยกว่า 5,000 คน/ปี ต้องอยู่ในสถานรองรับระยะยาวของรัฐ ทั้งสถานสงเคราะห์ ศูนย์สงเคราะห์และฝึกอาชีพเยาวชน และสถาบันเพาะกล้าคุณธรรม อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณางบประมาณที่จัดสรรให้สถานรองรับกลับพบว่ามีแนวโน้มลดลง จากเดิม 291,553,400 บาทในปีงบประมาณ 2562 (2019) เหลือเพียง 169,711,400 บาทในปีงบประมาณ 2566[2] (2023) หรือลดลงเฉลี่ยกว่า 12.6% ต่อปี

แม้ว่าในช่วงการระบาดของโควิด-19 จะทำให้จำนวนเด็กในสถานรองรับลดลง ซึ่งอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้งบประมาณที่ได้รับลดลง แต่ในปี 2023 ที่ผ่านมา จำนวนเด็กในสถานรองรับกลับพุ่งสูงขึ้นจาก 4,898 คนในปี 2022 เป็น 5,435 คน หรือเพิ่มขึ้น 9.8% ในขณะที่งบประมาณที่ได้รับจัดสรรมานั้นเพิ่มขึ้นจากปี 2022 เพียงแค่ 6.5 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นเพียง 3.84% เท่านั้น

หากนำเงินจำนวนดังกล่าวมาคำนวณเป็นค่าใช้จ่ายในการดูแลเด็กในสถานรองรับก็พบว่า จากปี 2019 ที่รัฐจัดสรรงบประมาณให้เด็กในสถานรองรับกว่าคนละ 50,355 บาท/ปี เหลือเพียงคนละ 37,149 บาทในปี 2020, คนละ 41,306 บาทในปี 2021, คนละ 33,319 บาทในปี 2022 และคนละ 31,226 บาทในปี 2023[3]

การดูแลเด็ก โดยเฉพาะเด็กในสถานรองรับที่ผ่านการถูกทารุณหรือทอดทิ้งมาควรต้องทำอย่างใกล้ชิดและเข้มข้นมากกว่าปกติ เช่น กรณีของเด็กที่ถูกทำร้ายร่างกาย นอกจากการเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลแล้ว ยังต้องมีการดูแลหลังออกจากโรงพยาบาลด้วย หรือในกรณีของเด็กที่ถูกทอดทิ้งที่มีภาวะขาดสารอาหาร สถานรองรับก็ต้องจัดหาอาหารที่เสริมโภชนาการเฉพาะราย และยังไม่รวมถึงเด็กที่มีความต้องการพิเศษอื่น เช่น เด็กที่ป่วยเป็นโรค G6PD ก็จะไม่สามารถรับประทานอาหารประเภทถั่วบางชนิดได้ เป็นต้น โดยหลักแล้วจึงควรต้องได้รับงบประมาณในการดูแลมาก แต่ปัจจุบัน งบประมาณในการดูแลเด็กรายคนกลับต่ำกว่าเส้นความยากจน[4] กล่าวคือ เงินที่รัฐใช้ในการดูแลเด็กในสถานรองรับปัจจุบันนี้น้อยกว่าค่าใช้จ่ายที่ใช้เพื่อให้เพียงพอต่อการดำรงชีพทั้งในเรื่องการอุปโภคและบริโภคของคนในสังคมเสียอีก

ทั่วโลกมุ่งลดสถานรองรับ หวังให้เด็กเติบโตในครอบครัว

การมุ่งลดหรืออย่างน้อยที่สุดก็ไม่มีการเพิ่มจำนวนของสถานรองรับและสนับสนุนให้เด็กได้เติบโตในสภาพแวดล้อมแบบครอบครัว เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์การคุ้มครองเด็กที่สำคัญของ UNICEF[5] การที่เด็กได้เติบโตในสภาพแวดล้อมแบบครอบครัวย่อมทำเด็กได้อยู่กับบุคคลต่างวัยมากกว่าและได้เข้าสังคมมากว่าเด็กในสถานรองรับ ซึ่งเป็นผลดีต่อการใช้ชีวิตในสังคมในอนาคตมากกว่า

การที่เด็กอยู่ในสถานรองรับเป็นเวลานานย่อมส่งผลกระทบต่อตัวเด็กเอง ทั้งในด้านสุขภาพกายและสุขภาพใจ รวมถึงระบบพัฒนาการต่างๆ ด้วย เด็กที่ถูกทำร้าย ทารุณ หรือทอดทิ้งมาแต่เดิมอาจถูกทำร้ายซ้ำในสถานรองรับ[6] งานวิจัยเกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดกับเด็กในสถานรองรับในประเทศไทย[7] เนเธอร์แลนด์[8] และสเปน[9] กล่าวตรงกันว่าเด็กในสถานรองรับมีความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาด้านสุขภาพจิตโดยแสดงออกทางพฤติกรรมที่เกเรก้าวร้าวมากกว่าเด็กที่อยู่ในสภาพแวดล้อมแบบครอบครัว และยังอาจเผชิญปัญหาด้านสุขภาพจิตอื่น เช่น ความผิดปกติด้านความสัมพันธ์ (attachment disorder) โดยแสดงออกในลักษณะของการไม่ปฏิบัติตามกฎหรือไม่รู้สึกผิดเมื่อได้กระทำความผิดบางอย่าง ซึ่งอาจนำไปสู่การก่ออาชญากรรมได้ในอนาคต ยิ่งไปกว่านั้น ยังเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาด้านการเข้าสังคมจากความผิดปกติของพัฒนาการทางสมอง หรือที่เรียกว่า ASD (autism spectrum disorder) ด้วย[10]

นอกจากนี้ เด็กที่อยู่ในสถานรองรับยังมีผลการเรียนที่แย่กว่าเด็กที่อยู่ในครอบครัวอุปถัมภ์ จากงานศึกษาในสหราชอาณาจักรแสดงให้เห็นว่าเด็กอายุ 16 ปี ในสถานรองรับมีคะแนนเฉลี่ยการสอบ GCSE[11] ที่น้อยกว่าเด็กในครอบครัวอุปถัมภ์ทั้งแบบเครือญาติ (kinship care) และแบบไม่ใช่เครือญาติ (foster care)[12] โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กที่อยู่ในสถานรองรับนานกว่า 3 ปี  ดังตาราง


ตารางที่ 1: ตารางแสดงผลคะแนนสอบ GCSE เฉลี่ยของเด็กอายุ 16 ปีในครอบครัวอุปถัมภ์และในสถานรองรับ

 น้อยกว่า 1 ปี1-2 ปี2-3 ปีมากกว่า 3 ปี
การดูแลแบบครอบครัวอุปถัมภ์211.1 (654 คน)247.9 (716 คน)262.5 (384 คน)261.2 (1,527คน)
การดูแลในสถานรองรับ100.3 (751 คน)114.6 (406 คน)113.9 (188 คน)103.4 (221 คน)
ที่มา: Judy Sebba et al. (2015)

การอยู่ในสถานรองรับระยะยาวยังส่งผลต่อเด็กหลังจากที่ออกจากสถานรองรับไปแล้วด้วย จากการศึกษาในอังกฤษพบว่าเด็กอายุ 19-21 ปีที่ออกจากสถานรองรับทั้งในปี 2022 และ 2023 กว่า 38% เป็น NEET (Not in Education, Employment or Training) กล่าวคือเด็กที่ออกจากสถานรองรับเหล่านั้นไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษา การจ้างงาน หรือการฝึกฝนทักษะใดๆ เลย[13]

การส่งเสริมครอบครัวอุปถัมภ์ในไทยไม่คืบหน้า

แนวทางรองรับสำหรับการลดหรือไม่เพิ่มจำนวนสถานรองรับที่มีผลลัพธ์และการยอมรับดีกว่า คือการเพิ่มจำนวนครอบครัวอุปถัมภ์ทั้งแบบเครือญาติและไม่ใช่เครือญาติ เพื่อให้เด็กได้เติบโตในสภาพแวดล้อมใกล้เคียงกับคำว่าครอบครัวมากที่สุด แม้ว่าจะมีการกำหนดแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยการเลี้ยงดูทดแทนสำหรับเด็ก ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2565-2569) เพื่อส่งเสริมการมีครอบครัวอุปถัมภ์ แต่ในระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมากลับยังไม่เห็นความคืบหน้าเท่าใดนัก

เงินอุดหนุนรายเดือนไม่เพียงพอต่อการเลี้ยงดูเด็ก

เมื่อพิจารณาเงินสนับสนุนครอบครัวอุปถัมภ์ตามที่กำหนดไว้ในประกาศกรมกิจการเด็กและเยาวชนที่ 298/2558 เรื่อง กำหนดอัตรา และหลักเกณฑ์การจ่ายเงินค่าเลี้ยงดูเด็กแก่ครอบครัวอุปถัมภ์ และ/หรือ เครื่องอุปโภคบริโภคแก่เด็กตามความจำเป็น ก็ยังไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตของเด็กด้วย ในปัจจุบัน เงินสนับสนุนครอบครัวอุปถัมภ์จะอยู่ที่ 2,000 บาท/คน/เดือน หรือสนับสนุนเครื่องอุปโภคบริโภคอีกมูลค่าไม่เกิน 500 บาท/คน/เดือน แล้วแต่ว่าครอบครัวอุปถัมภ์จะเลือกรับการสนับสนุนแบบใดจากรัฐ อย่างไรก็ดี จากการคำนวณค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูเด็กจากฐานคำนวณแบบค่าจ้างเพื่อชีวิต[14] พบว่า เลี้ยงเด็ก 1 คนต้องใช้เงินราว 3,304.6 บาท/เดือน หรือในกรณีของเด็กเล็กต้องใช้เงินคนละ 3,373 บาท/เดือน[15]

เงินอุดหนุนที่ไม่เพียงพอต่อการดูแลเด็ก ทำให้ไม่เกิดแรงจูงใจในการรับเด็กมาอุปถัมภ์ มิหนำซ้ำยังมีมายาคติของคนไทยที่ว่า เอาลูกเขามาเลี้ยง เอาเมี่ยงเขามาอม อันหมายถึงการนำลูกคนอื่นมาเลี้ยงทำให้เกิดภาระที่ไม่สามารถหวังผลตอบแทนได้ สุดท้ายจึงทำให้การรับเป็นอุปถัมภ์เด็กในประเทศไทยเกิดขึ้นได้ยาก


งบประมาณจากรัฐแทบไม่เพิ่มขึ้น

งบประมาณที่รัฐจัดไว้สนับสนุนครอบครัวอุปถัมภ์ทั้งในบ้านพักเด็กและครอบครัว และสถานรองรับกลับพบว่าแทบไม่เพิ่มขึ้นเลย ในส่วนบ้านพักเด็กและครอบครัวอยู่ที่ 35,496,000 บาท ในปี 2019, 37,296,000 บาทในปี 2020, 37,440,000 ล้านบาทในปี 2021, 37,296,000 บาทในปี 2022 และ 38,016,000 บาทในปี 2023 แม้ว่างบประมาณเพื่อการสนับสนุนครอบครัวอุปถัมภ์ในส่วนบ้านพักเด็กและครอบครัวจะเพิ่มขึ้น แต่เมื่อพิจารณางบประมาณเพื่อการสนับสนุนครอบครัวอุปถัมภ์ในส่วนสถานรองรับทั่วประเทศกลับลดลง โดยพบว่าในปี 2019 ได้รับการจัดสรรอยู่ที่ 20,568,000 บาท, ปี 2020 อยู่ที่ 20,736,000 บาท และปี 2021-2023 อยู่ที่ 19,776,000 บาท[16] ซึ่งทำให้งบประมาณเพื่อการสนับสนุนครอบครัวอุปถัมภ์จากทั้งสองแห่งจะคงที่อยู่ที่ 56-58 ล้านบาทตลอด 5 ปีที่ผ่านมา

หลักเกณฑ์การสนับสนุนครอบครัวอุปถัมภ์และการจัดสรรงบประมาณเช่นนี้ ทำให้สนับสนุนเด็กในครอบครัวอุปถัมภ์ได้เฉลี่ยเพียงปีละ 2,400 คนเท่านั้น ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความไม่คืบหน้าของการสนับสนุนครอบครัวอุปถัมภ์จากรัฐ

เด็กที่ต้องไปอยู่ในสถานรองรับและครอบครัวอุปถัมภ์ล้วนแล้วแต่เป็นเด็กที่มีความต้องการพิเศษทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นทางร่างกายหรือทางจิตใจ แต่การจัดสรรงบประมาณเช่นนี้ รังแต่จะทำให้สถานรองรับและครอบครัวอุปถัมภ์ดูแลเด็กไม่ไหว งบประมาณที่ไม่เพียงพอยังทำให้สถานรองรับต้องหันไปพึ่งเงินบริจาคจากภาคประชาชน และยังทำให้นโยบายที่ควรจะเปลี่ยนแปลงตามทิศทางโลกไปต่อไม่ได้อีกด้วย

References
1 ศูนย์ช่วยเหลือสังคม สายด่วน 1300, กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
2 101 PUB รวบรวมข้อมูลจากแผนปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณประจำปี 2562 – 2566 กรมกิจการเด็กและเยาวชน.
หมายเหตุ: เป็นข้อมูลเฉพาะงบดำเนินงานในแต่ละปีเท่านั้น
3 ข้อมูลจากกรมกิจการเด็กและเยาวชน, คำนวณโดย 101 PUB.
4 ข้อมูลจากสำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและความสังคมแห่งชาติ, คำนวณโดย 101 PUB.
5 Child Protection strategy 2021-2030, UNICEF,July 2021.
6 อ่านเพิ่มเติมได้ที่ : พิชชากร เรืองเดชาวิวัฒน์, “รื้อระบบคุ้มครองเด็ก ไม่ให้ใครต้องถูกทำร้ายซ้ำสอง”, 101 Public Policy Think Tank, 6 กรกฎาคม 2023.
7 Ladaphongphatthana, K., Lillicrap, A., & Thanapanyaworakun, W. (2022). Counting every child, identifying over 120,000 children in residential care in Thailand.
8 E.L.L. Strijbosch, J.A.M. Huijs, G.J.J.M. Stams, I.B. Wissink, G.H.P. van der Helm, J.J.W. de Swart, Z. van der Veen, (2015), The outcome of institutional youth care compared to non-institutional youth care for children of primary school age and early adolescence: A multi-level meta-analysis, https://doi.org/10.1016/j.childyouth.2015.09.018.
9 Carla González-García, Amaia Bravo a, Ignacia Arruabarrena, Eduardo Martín, Iriana Santos, Jorge F. Del Valle, (2016), Emotional and behavioral problems of children in residential care: Screening detection and referrals to mental health services, https://doi.org/10.1016/j.childyouth.2016.12.011.
10 อ้างแล้ว, เชิงอรรถที่ 7.
11 GCSE หรือ General Certificates of Secondary Education คือการสอบที่นักเรียนในสหราชอาณาจักรต้องสอบเพื่อจบการศึกษาในระดับ secondary education หรือเทียบได้เป็นระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 และ 4 ในประเทศไทย.
12 Judy Sebba, David Berridge, Nikki Luke, John Fletcher, Karen Bell, Steve Strand, Sally Thomas, Ian Sinclair, Aoife O’Higgins, (2015), The Educational Progress of Looked After Children in England: Linking Care and Educational Data, https://www.education.ox.ac.uk/wp-content/uploads/2019/05/Linking-Care-and-Educational-Data-Overview-Report-Nov-2015.pdf.
13 Department for Education, United Kingdom. (16 November 2023). Department for Education. เข้าถึงได้จาก GOV.UK: https://explore-education-statistics.service.gov.uk/find-statistics/children-looked-after-in-england-including-adoptions
14 กษิดิ์เดช คำพุช, “ยกระดับค่าจ้างขั้นต่ำไทย ให้ไปถึงค่าจ้างเพื่อชีวิต,” 101 Public Policy Think Tank, 29 กันยายน 2022, https://www.the101.world/minimum-wage-to-living-wage/.
15 “เศรษฐกิจแย่ทำเด็กเกิดน้อย! ผลศึกษาพบค่าเลี้ยงเด็กเล็กตก 3,373 บาท/เดือน”, Mono News – ข่าวโมโน, 15 มิถุนายน 2022, https://www.facebook.com/Mono29News/photos/a.281280008940826/1611647182570762/?type=3
16 ข้อมูลจากกรมกิจการเด็กและเยาวชน, คำนวณโดย 101 PUB.

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save