fbpx

Female Gaze มองหนังผ่านสายตานักวิจารณ์หญิง และพื้นที่ของนักวิจารณ์ในภาพยนตร์โลก

ในโลกที่ ‘ใครก็เขียนถึงหนังได้’ เช่นนี้ บทบาทของนักวิจารณ์ภาพยนตร์อยู่ตรงไหน หรือกระทั่งเรื่องที่ว่า -ยังจำเป็นจะต้องมีต่อไปหรือไม่ ในเมื่อใครก็ออกความเห็นได้

ยิ่งขยับมาพินิจในวงแคบกว่าเดิมอย่างการเป็นนักวิจารณ์ภาพยนตร์หญิง เรื่องของ ‘พื้นที่’ การแสดงความคิดเห็นดังกล่าวนี้ยิ่งน่าจับตา

จะว่าไป ในแวดวงขีดเขียนและวงการนักวิจารณ์ภาพยนตร์ในไทยก็เคยพูดถึงประเด็นนี้อยู่ประปราย ยุคสมัยที่ความเห็นต่างๆ ถาโถมและถูกมองเห็นในโลกอินเทอร์เน็ต ก่อกำเนิดวัฒนธรรมเพจหนังทั้งเล็กและใหญ่ ไปจนถึงวัฒนธรรม ‘อินฟลูเอนเซอร์’ ที่อาจจะเรียกกระแสให้ตัวหนังได้มหาศาล แล้วทำไมความคิดเห็นของนักวิจารณ์ภาพยนตร์จึงสำคัญ

น่าสนใจว่านี่ก็ไม่ใช่ประเด็นใหม่และไม่ได้เป็นประเด็นที่เกิดขึ้นในประเทศไทยที่เดียว หากแต่ดูเหมือนมันจะเป็นภาวะที่นักวิจารณ์จากหลายประเทศทั่วโลกก็กำลังเผชิญเช่นกัน เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติโตเกียวครั้งที่ 36 จัดงานเสวนา Female Gaze on Film Journalism สำรวจประเด็นที่ว่าด้วยบทบาทของสื่อและนักวิจารณ์ภาพยนตร์ที่ต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายใหม่ และในแง่สายตาของผู้หญิงต่อการรับรู้ภาพยนตร์ นับเป็นงานเสวนาที่ ‘พลาดไม่ได้’ อย่างยิ่งสำหรับผู้เขียนซึ่งขีดเขียนเกี่ยวกับภาพยนตร์อยู่บ้าง และน่าจะพอหยิบมาเทียบเคียงกับสถานการณ์ในบ้านเราที่ไม่เพียงแต่พื้นที่ของนักวิจารณ์กำลังหดแคบลง หากแต่พื้นที่ของนักวิจารณ์หญิงในวงการนี้ก็ดูเป็นสิ่งที่ควรจับตาเช่นกัน

จากซ้าย อันโดะ มาโมโกะ ผู้ดำเนินรายการ, อนดะ ยาสุโกะ, นาดา อัซฮารี กิลลอง, เวนดี ไอด์ และ เซซิเลีย หว่อง

อนดะ ยาสุโกะ สื่อมวลชนด้านภาพยนตร์สัญชาติญี่ปุ่นจากหนังสือพิมพ์โยมิอุริ ชิมบุน เล่าว่าด้วยบทบาทหน้าที่ทำให้เธอมีโอกาสไปเยือนเทศกาลหนังในพื้นที่ต่างๆ ทั้งที่คานส์ ประเทศฝรั่งเศสหรือที่เวนิส ประเทศอิตาลี และต้องสัมภาษณ์คนทำหนังทั้งรุ่นเก่าและรุ่นใหม่รายปี มีอยู่สองสามประการที่เธอคิดว่าเป็นความเปลี่ยนแปลงที่ก่อรูปชัดขึ้นในรอบหลายปีที่ผ่านมา ประการแรก เธอเห็นว่ามีผู้กำกับที่หลากหลายกว่าเพศชายมากกว่าเดิม ประการที่สอง ความหลากหลายที่ว่านี้ปรากฏขึ้นในสาขาอาชีพผู้สื่อข่าวด้วยเช่นกัน เพราะหลายต่อหลายปีที่ผ่านมา ผู้สื่อข่าวที่ออกเดินทางไปเทศกาลหนังนั้นมักเป็นผู้ชายเสียส่วนใหญ่ และประการที่สาม เธอพบว่าคนที่เขียนถึงภาพยนตร์นั้นไม่จำเป็นต้องเป็นสื่อมวลชนหรือนักวิจารณ์อีกต่อไปแล้ว แต่เป็นใครก็ได้ -และเขียนให้ที่ไหนก็ได้

“ฉันคิดว่าโลกเปลี่ยนไปแล้วจริงๆ” เธอบอก “ตอนนี้ คนที่ไม่ได้เป็นสื่อมวลชนอาชีพก็เขียนถึงหนังได้ โดยที่เราไม่อาจรู้เลยว่าเขาเขียนรายงานลงให้ที่ไหน เป็นความรับผิดชอบของใคร กระนั้น ฉันคิดว่าอาชีพสื่อมวลชนก็ไม่ได้ลดความสำคัญลงนะคะ เรายังเคารพสื่ออาชีพอยู่มากทีเดียวในตอนนี้”

อนดะย้ำถึงความแตกต่างระหว่างนักวิจารณ์ภาพยนตร์กับสื่อมวลชน ตัวเธอเองยืนอยู่ทั้งสองสาขาอาชีพ และนับเป็นสิ่งที่เธอต้องย้ำเตือนตัวเองเสมอ “ในประเทศญี่ปุ่น โดยธรรมชาติแล้วเราแบ่งอาชีพนักวิจารณ์และสื่อออกจากกันค่อนข้างชัดเจน แม้ว่าตัวฉันจะทำทั้งสองอย่างก็ตาม และนี่เองคือสิ่งที่ฉันต้องย้ำเตือนตลอดเมื่อต้องเขียนถึงหนังสักเรื่อง เราต้องระวังไม่ให้เอาสิ่งที่เรารับรู้มาในฐานะสื่อ ไปปะปนกับงานวิจารณ์ของเรา”

ตอนนี้ คนที่ไม่ได้เป็นสื่อมวลชนอาชีพก็เขียนถึงหนังได้ โดยที่เราไม่อาจรู้เลยว่าเขาเขียนรายงานลงให้ที่ไหน เป็นความรับผิดชอบของใคร

อนดะ ยาสุโกะ

ประเด็นนี้ได้รับการตอบรับอย่างดีจาก เวนดี ไอด์ นักวิจารณ์ภาพยนตร์จากสหราชอาณาจักร เธอเขียนให้นิตยสารภาพยนตร์สัญชาติอังกฤษ Screen Daily และเพิ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้ากองวิจารณ์ภาพยนตร์หนังสือพิมพ์ The Observer เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา “ฉันเห็นด้วยเลยล่ะเรื่องที่บอกว่าตอนนี้เรามีคนที่เขียนถึงหนังเยอะมาก แต่ฉันว่ามีไม่กี่คนเท่านั้นค่ะที่เขียนถึงหนังเป็นอาชีพ” เธอบอก “ฉันว่าการเขียนถึงหนังจนเป็นอาชีพนั้นเป็นเรื่องยากมาก เพราะเราไม่ได้แค่ต้องแสดงความคิดเห็นของเราเท่านั้น แต่ต้องบอกคนอ่านในสิ่งที่เราอยากสื่อออกไปให้ชัดที่สุดด้วย” และสำหรับไอด์ ชัดเจนแน่นอนว่าหน้าที่นักวิจารณ์ภาพยนตร์นั้นก็ต้องเขียนถึงภาพยนตร์ ขณะที่สื่อมวลชนเน้นการสัมภาษณ์หรือเข้าถึงข้อมูลบางประการมากกว่า เธอย้ำว่าสองสิ่งนี้ทำด้วยกันได้ กระนั้น โดยส่วนตัวแล้ว เธอรู้สึกว่าสื่อมวลชนมีโอกาส ‘มอง’ ตัวหนังในระยะใกล้จากข้อมูลที่ได้รับมาในมือ “ในอีกด้าน นักวิจารณ์มักพินิจถึงภาพยนตร์แต่เพียงอย่างเดียว” เธอสรุป

นาดา อัซฮารี กิลลอง เป็นนักวิจารณ์ภาพยนตร์ชาวฝรั่งเศส-ซีเรียและเป็นสมาชิกสมาพันธ์นักวิจารณ์นานาชาติ (International Federation of Film Critics -FIPRESCI) เธอเดินทางไปทำงานหลายที่และเขียนบทความเกี่ยวกับภาพยนตร์ลงในนิตยสารที่ใช้ทั้งภาษาฝรั่งเศสและภาษาอารบิก เธอจึงรับรู้ความเคลื่อนไหวของแผ่นดินนักวิจารณ์และสื่อมวลชนในรอบหลายปีที่ผ่านมา ทั้งในยุโรปและในตะวันออกกลาง “ฉันคิดว่าทุกวันนี้ เรามีนักวิจารณ์อาชีพเพียงไม่กี่คนเท่าหรอก ยิ่งที่เป็นผู้หญิงยิ่งน้อย” เธอบอก “และจริงๆ นะ การสัมภาษณ์คนทำหนังไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ในฐานะที่ฉันเองก็เคยต้องทำสัมภาษณ์เหล่านี้ ฉันต้องเตรียมตัวด้วยการดูหนังของเขาห้าหรือหกเรื่องเพื่อทำสัมภาษณ์หนึ่งชิ้น แต่หากมองในภาพรวม ฉันคิดว่าสื่ออาจไม่ลงลึกในตัวภาพยนตร์มากเท่านักวิจารณ์ -ซึ่งสำหรับฉันแล้วก็เป็นงานที่ยากอีกเหมือนกัน- เพราะสื่อเขียนถึงตัวผู้กำกับ นักแสดงโดยไม่ได้เน้นถึงภาพยนตร์เท่านักวิจารณ์น่ะ”

อีกประเทศหนึ่งที่เส้นแบ่งระหว่างสองสายงานเลือนลางลงเรื่อยๆ คือฮ่องกง เซซิเลีย หว่อง นักวิจารณ์ภาพยนตร์และรองประธานสมาคมวิจารณ์ภาพยนตร์แห่งฮ่องกง (Hong Kong Film Critics Society) ตระหนักถึงการเคลื่อนตัวของเส้นแบ่งนี้ดี ก่อนหน้านี้ เธอเคยเป็นโปรแกรมเมอร์ให้หอภาพยนตร์ฮ่องกงและผู้ช่วยบรรณาธิการให้นิตยสารภาพยนตร์หัวใหญ่ๆ ในประเทศมาก่อน “อินเทอร์เน็ตทำให้เส้นแบ่งนี้เลือนลางมากขึ้นเรื่อยๆ ทุกคนแสดงความเห็นได้หมดเลย นอกจากนี้ อีกความเปลี่ยนแปลงที่ฉันเห็นในปีนี้คือ คนที่ชอบหนังมากๆ หรือพวกที่เป็นเนิร์ดหนัง ก็กลายเป็นสื่อมวลชนทำงานด้านภาพยนตร์ไปในที่สุด พวกเขามีโอกาสได้สัมภาษณ์ผู้กำกับมากมายเพราะมีความรู้เรื่องประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ และเผยแพร่บทสัมภาษณ์เหล่านี้ลงอินเทอร์เน็ต” หว่องบอก “นอกจากเขียนแล้ว พวกเขายังทำวิดีโอเป็นภาษาอังกฤษซึ่งสื่อสารกับคนในวงกว้างมากขึ้น ทั้งนี้ ฉันเชื่อนะคะว่าทุกคนสามารถแสดงความคิดเห็นได้ อย่างบริษัทภาพยนตร์ในฮ่องกงหลายๆ แห่งก็เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงนี้และเปิดพื้นที่ให้คนเข้ามาแสดงความคิดเห็นต่างๆ ได้ในเว็บไซต์ตัวเองเลย”

ประเด็นที่แหลมคมมากๆ และนับเป็นประเด็นหลักของวงสนทนา คือภาวะความเป็นหญิงในวงการวิจารณ์ หนึ่งในสิ่งที่ผู้เขียนสังเกตได้คือ ทุกประเทศที่กล่าวมาข้างต้นนั้น สัดส่วนของนักวิจารณ์หนังชายมีมากกว่าเพศหญิงหลายเท่าซึ่งก็นับเป็นสิ่งที่น่าสนใจเพราะจำได้ว่าในปี 2022 ผู้เขียนเคยอ่านงานรายงาน Thumbs Down: Film Critics and Gender, and Why It Matters โดย มาร์ธา เอ็ม ลอว์เซน ระบุว่าลำพังในสหรัฐฯ สัดส่วนของนักวิจารณ์ชายยังมีมากกว่าหญิงสองต่อหนึ่ง ภาพรวมแล้วมีนักวิจารณ์ชายราว 69 เปอร์เซ็นต์ นักวิจารณ์หญิง 31 เปอร์เซ็นต์และนอน-ไบนารี 0.3 เปอร์เซ็นต์ (และก็น่าใคร่รู้อยู่เนืองๆ ว่าสภาพการณ์นี้ในไทยเป็นอย่างไรบ้างแล้ว หรือถามใหม่ว่า เรายังเหลือนักวิจารณ์ภาพยนตร์อาชีพกี่คนกัน)

ฉันไม่อาจหาเหตุผลอะไรมาทำความเข้าใจได้เลยว่าทำไมถึงสัมภาษณ์คนทำหนังไม่ได้ มารู้อีกทีว่าพวกเขาคิดว่าผู้หญิงตัวเล็กๆ แบบฉันคงไม่เข้าใจสิ่งที่พวกเขาพูดหรอก

เซซิเลีย หว่อง

ต่อคำถามที่ว่า งานที่มาจากนักวิจารณ์หญิงนั้น แตกต่างจากงานของนักวิจารณ์ชายหรือไม่ ก็นับเป็นหนึ่งในคำถามที่ได้คำตอบหลากหลาย ไอด์ยกตัวอย่างภาพยนตร์เรื่อง The End We Start From (2023) หนังไซ-ไฟจากสหราชอาณาจักรของ มาฮาเลีย เบโล คนทำหนังหญิง ว่าด้วยชีวิตของหญิงสาวคนหนึ่ง (โจดี โคเมอร์) ที่ต้องออกเดินทางหาที่พำนัก ท่ามกลางสถานการณ์วิกฤตเมื่อเกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ และเธอเพิ่งให้กำเนิดลูกคนแรก “ฉันคิดว่าผู้ชายมองหนังเรื่องนี้ในลักษณะที่มองว่ามันเป็นหนังไซ-ไฟ ขณะที่คนดูผู้หญิงจะรู้สึกว่ามันเป็นหนังที่ว่าด้วยชีวิตความเป็นแม่ และนี่แหละคือมุมมองที่นักวิจารณ์มีต่อหนัง ซึ่งในฐานะผู้หญิง ฉันคิดว่ามันทำให้เรามองหนังในอีกมิติหนึ่งด้วย”

แต่ถ้าถามคำถามนี้ต่ออนดะ เธอบอกว่า สำหรับเธอแล้วเธอไม่รู้สึกว่าตัวเองเขียนถึงภาพยนตร์ในแง่ความเป็นผู้หญิงนัก รวมทั้งไม่ปรารถนาให้ใครจับจ้องว่าเธอเป็นสื่อมวลชนผู้หญิงด้วย “อาจจะกล่าวได้ว่าเมื่อฉันเขียนถึงหนัง ฉันก็พยายามนำเสนอในแง่ความเป็นมนุษย์เป็นหลักล่ะมั้ง” เธอวิเคราะห์ ขณะที่กิลลองบอกว่า สำหรับเธอแล้ว เธอรับรู้แง่มุมความเป็นหญิงบางอย่างจากภาพยนตร์มาตั้งแต่เด็ก ก่อนหน้าที่เธอจะตัดสินใจมาเป็นนักวิจารณ์ภาพยนตร์และทำงานในวงการสื่อมวลชนเสียอีก “ตอนเด็กๆ ฉันดูหนังภาษาอารบิกเยอะค่ะ และสิ่งที่เห็นอยู่บ่อยครั้งคือในหนังนั้น หากผู้หญิงไม่ตกเป็นเหยื่อ พวกเธอก็มักจะเป็นตัวร้ายอยู่เสมอ นี่อาจทำให้ฉันโตมาเป็นเฟมินิสต์แบบนี้ก็ได้นะคะ” เธอหัวเราะ “ฉันอยากเปลี่ยนแปลงให้ทุกอย่างมันไม่เป็นอย่างที่เคยเป็น อยากให้คนรู้ว่าผู้หญิงนั้นสร้างศิลปะก็ได้ หรือจะเป็นอะไรก็ได้ทั้งนั้น”

เช่นเดียวกับหว่อง นักวิจารณ์ที่อยู่ในฮ่องกง -ดินแดนแห่งหนังแก๊งสเตอร์- เล่าประสบการณ์ที่นักวิจารณ์ภาพยนตร์สิบคนเขียนถึงหนังเจ้าพ่อเรื่องหนึ่ง และเธอพบว่านักวิจารณ์ทุกคนล้วนเขียนถึงสไตล์การกำกับและความรุนแรงถึงเลือดถึงเนื้อของตัวหนัง “ฉันเป็นนักวิจารณ์ผู้หญิงเพียงคนเดียวในสิบคน และเป็นคนเดียวที่เขียนถึงความสำคัญและความจำเป็นของตัวละครหญิงเพียงหนึ่งเดียวในเรื่อง” เธอบอก

กลับมาที่อะดะ เธอยกตัวอย่างสภาวะชวนอิหลักอิเหลื่ออันเกิดจากการแบ่งแยกทางเพศ -ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม- จากผู้อื่น “ตอนเริ่มทำงานสายนี้ใหม่ๆ เวลามีคนโทรศัพท์เข้ามาในสำนักงานแล้วฉันเป็นคนรับสาย พวกเขาจะถามกลับมาทันทีว่า ‘มีคนอยู่ที่สำนักงานไหม’ ฉันซึ่งเป็นคนรับสายก็ได้แค่สงสัยว่า แล้วฉันไม่ใช่คนหรือยังไงนะ” เธอเล่า “นึกออกใช่ไหมคะ ว่าพวกเขาไม่พิจารณาฉันซึ่งคุยกับเขาทางโทรศัพท์อยู่ว่าเป็นคนเสียด้วยซ้ำน่ะ ดังนั้น หากจะมีสักอย่างที่ฉันอยากแนะนำคนรุ่นใหม่คือ บอกได้แค่ว่าสิ่งที่จะทำให้คนเคารพคุณได้มีแต่งานเท่านั้น ขอให้มุ่งมั่นตั้งใจทำงานและพิสูจน์ตัวเองค่ะ”

สิ่งที่เห็นอยู่บ่อยครั้งคือในหนังนั้น หากผู้หญิงไม่ตกเป็นเหยื่อ พวกเธอก็มักจะเป็นตัวร้ายอยู่เสมอ

นาดา อัซฮารี กิลลอง

เรื่องเล่าของหว่องทิ้งรสชาติย่ำแย่ไม่แพ้ของอนดะ เธอเล่าว่าเมื่อสมัยทำงานใหม่ๆ เธอได้รับหน้าที่ไปสัมภาษณ์นักแสดงและผู้กำกับหนังแอ็กชัน เพื่อจะพบว่า พวกเขาปฏิเสธจะสนทนากับเธอด้วยเหตุผลที่ว่า สื่อมวลชนหญิงไม่น่าจะเข้าใจธรรมชาติของหนังต่อสู้ “ตอนนั้นฉันได้แต่งงว่าเกิดอะไรขึ้นนะ ทำไมพวกเขาถึงลุกหนีไปแบบนั้น และฉันไม่อาจหาเหตุผลอะไรมาทำความเข้าใจได้เลยว่าทำไมถึงสัมภาษณ์คนทำหนังไม่ได้ มารู้อีกทีว่าพวกเขาคิดว่าผู้หญิงตัวเล็กๆ แบบฉันคงไม่เข้าใจสิ่งที่พวกเขาพูดหรอก” หว่องบอก “แต่นั่นก็หลายปีมาแล้วนะคะ เวลาผ่านมาให้หลัง ฉันมีโอกาสได้เจอพวกเขาอีกหน สถานการณ์เปลี่ยนไป พวกเขาสนทนากับฉันอย่างดีมากๆ ฉันคิดว่าเพราะเมื่อก่อน ผู้กำกับชายคงไม่ค่อยได้เจอสื่อมวลชนผู้หญิงด้วยละมั้งคะ จึงมีปฏิกิริยาแบบนั้นออกไป”

คำถามสำคัญที่หว่องทิ้งไว้ซึ่งยังเป็นประเด็นที่เกิดขึ้นในแวดวงภาพยนตร์ทั่วโลกคือ “นักแสดงหญิงส่วนมากต้องยอมเสียสละอาชีพการแสดงตัวเองหลังแต่งงานหรือมีลูก ฉันมารู้สึกว่าดูเหมือนจะมีแค่นักแสดงหญิงเท่านั้นที่ถูกบีบหรือลงเอยด้วยลักษณะเช่นนี้ และนี่เอง ที่อาจทำให้บุคลากรชายในวงการภาพยนตร์มีมากกว่าผู้หญิงน่ะ”

ฉันเพิ่งมารู้ทีหลังนี่เองว่าฉันได้รายได้น้อยกว่าเพื่อนร่วมงานชายบางคนน่ะ

เวนดี ไอด์

ขณะที่ไอด์นั้นมองว่า อาชีพนักวิจารณ์ภาพยนตร์ในสหราชอาณาจักรก็ไม่ได้มอบรสชาติหอมหวานให้เธอสักกี่มากน้อย “ที่ผ่านมานะ ในสหราชอาณาจักรนี่ไม่มีนักวิจารณ์ภาพยนตร์ที่เป็นผู้หญิงคนไหนให้ฉันยึดเป็นต้นแบบได้เลย คนเขียนถึงหนังมีแต่ผู้ชายทั้งนั้น ตลอดจนหน้าที่อื่นๆ อย่างบรรณาธิการก็ล้วนแต่เป็นผู้ชายทั้งหมด” เธอบอก “และฉันก็แทบไม่รู้เรื่องบทบาททางเพศของตัวเองแม้สักนิด จนเมื่อมองย้อนกลับไปนั่นแหละถึงได้เห็นว่าที่ผ่านมา ฉันต้องทำงานอย่างหนักเพื่อพิสูจน์ตัวเองในสายงานนี้มากแค่ไหน และที่สำคัญเลยนะ -ฉันเพิ่งมารู้ทีหลังนี่เองว่าฉันได้รายได้น้อยกว่าเพื่อนร่วมงานชายบางคนน่ะ”

“แต่ฉันว่าตอนนี้เราเห็นความเปลี่ยนแปลงแล้วล่ะเพราะมีผู้หญิงเข้ามาทำงานด้านนี้มากขึ้น ฉันเองก็เชื่อนะว่าในพื้นที่อื่นๆ นอกเหนือจากสหราชอาณาจักรก็เกิดความเปลี่ยนแปลงนี้เช่นกัน กระนั้น ก็ยังมีอีกหลายอย่างทีเดียวที่เรายังต้องมุ่งมั่นทำกันต่อไป”

หวนกลับมามองยังวงการบ้านเรา ดูเหมือนจะยังมีอีกหลายปมให้ต้องสาง ไม่ว่าจะในแง่พื้นที่นักวิจารณ์หญิงที่ดูเหมือนจะยังไม่มีผลสำรวจออกมาจริงจังว่ามีสัดส่วนเท่าไหร่ พื้นที่ของการทำงานนักวิจารณ์หดแคบลงไปมากแค่ไหนในวัฒนธรรมอินฟลูเอนเซอร์ที่ถาโถมเข้ามา

หรือถึงที่สุด -เรายังเหลือคนที่ทำหน้าที่เป็น ‘นักวิจารณ์อาชีพ’ กี่คนกัน

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save