ความเหลื่อมล้ำในโลกาภิวัตน์ที่สั่นคลอน : สนทนาหลังเวทีกับ Eric Maskin นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล

ย้อนไปในช่วงต้นศตวรรษที่ 19 นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดัง เดวิด ริคาร์โด (David Ricardo) ได้เสนอทฤษฎี ‘ความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบ’ (Comparative Advantage) ที่ให้แนวคิดว่าหากมีการค้าเสรีระหว่างประเทศเกิดขึ้น ทุกคนจะได้รับประโยชน์ถ้วนทั่ว และปัญหาความไม่เท่าเทียมจะลดน้อยลงไปได้

ทฤษฎีนี้อาจสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงอยู่ในช่วงศตวรรษที่ 19 ถึงต้นศตวรรษที่ 20 เมื่อโลกาภิวัตน์เริ่มต้นขึ้นใหม่ แต่เมื่อกาลเวลาล่วงผ่านมา กลับกลายเป็นว่า แม้หลายประเทศจะมั่งคั่งขึ้นจากโลกาภิวัตน์ก็จริงอยู่ แต่ความเหลื่อมล้ำกลับถ่างกว้างขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความเหลื่อมล้ำภายในประเทศหรือระหว่างประเทศ

นี่คือข้อสังเกตที่เอริก มัสกิน (Eric Maskin) นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลปี 2007 ค้นพบจนนำไปสู่การศึกษาหาสาเหตุแท้จริงที่ทำให้โลกาภิวัตน์ไม่สามารถแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำได้ตามทฤษฎีความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบ

มัสกินชี้ว่าในโลกความเป็นจริง แรงงานมีระดับทักษะหลากหลาย โดยมีทั้งแรงงานทักษะสูงและแรงงานทักษะต่ำ แต่ภายใต้โลกที่มีห่วงโซ่การผลิตเชื่อมโยงกันนี้ แรงงานทักษะสูงในแต่ละประเทศได้รับโอกาสทางการงานและรายได้ที่สูงกว่า ขณะที่แรงงานทักษะต่ำถูกทิ้งไว้ข้างหลัง จึงเป็นที่มาของความเหลื่อมล้ำที่ขยายกว้างขึ้นในโลกยุคโลกาภิวัตน์ โดยมัสกินเสนอว่าหนทางที่จะช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำได้ ไม่ใช่การพาโลกออกจากโลกาภิวัตน์ แต่รัฐต้องพัฒนาทักษะของแรงงานระดับล่างให้สามารถขึ้นมามีโอกาสเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากโลกาภิวัตน์มากขึ้น

มัสกินได้นำเสนอแนวคิดนี้ในการปาฐกถาที่จัดขึ้นมาแล้วในหลายประเทศทั่วโลก โดยล่าสุดคือที่ประเทศไทย ซึ่งหนึ่งในนั้นคืองานปาฐกถา Chulalongkorn University BRIDGES Nobel Laureate Talk Series ครั้งที่ 2 ในหัวข้อ “Why globalization has failed to reduce inequality” ที่จัดโดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและ International Peace Foundation นับเป็นการมาปาฐกถาที่ประเทศไทยเป็นครั้งที่ 3 ของมัสกิน

แนวคิดนี้ได้ถูกนำมาพูดครั้งแล้วครั้งเล่าตลอดชั่วระยะเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมา แม้ตัวแนวคิดเองจะสอดคล้องกับสภาพการณ์ของโลกที่เราเห็นกันมาตลอดก็จริงอยู่ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าในช่วงเวลาไม่กี่ปีมานี้มีหลายเหตุการณ์ที่ทำให้เราต้องย้อนหันมามองทฤษฏีของมัสกินใหม่ ทั้งปรากฏการณ์การทวนกระแสโลกาภิวัตน์ (deglobalization) จากการกีดกันทางการค้าและสงครามการค้าที่เพิ่มสูงขึ้นจนห่วงโซ่การผลิตโลกเริ่มแตกออกเป็นเสี่ยง รวมถึงการเกิดขึ้นของวิกฤตโควิด-19 ที่เขย่าภาพสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำของโลก ตลอดจนเทคโนโลยีการผลิตที่พัฒนาขึ้นมาอย่างรวดเร็ว จนอาจเป็นความท้าทายในการพัฒนาทักษะแรงงาน

ท่ามกลางโลกที่เปลี่ยนไปมหาศาลนี้ มัสกินได้เห็นอะไรมากขึ้นบ้าง และทฤษฎีของเขายังคงอธิบายสภาพเศรษฐกิจในวันนี้ได้อยู่หรือไม่ 101 ชวนฟังแนวคิดของมัสกินจากการสนทนากันเป็นการส่วนตัวแบบสั้นๆ หลังเวที

ความเหลื่อมล้ำในโลกาภิวัตน์ที่สั่นคลอน : สนทนาหลังเวทีกับ Eric Maskin นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล
Eric Maskin

ขอขอบคุณสำหรับปาฐกถาในวันนี้ แต่ผมมีคำถามที่อยากชวนคุณคุยต่อจากปาฐกถาของคุณ เนื่องจากเราเห็นได้ชัดว่าทุกวันนี้กระแส deglobalization และ decoupling (การแยกห่วงโซ่อุปทาน) กำลังมาแรง นี่ทำให้คุณต้องทบทวนทฤษฎีคุณใหม่ไหม แล้วคุณคิดว่าหากเราออกจากยุคโลกาภิวัตน์จริงแล้ว สภาพความเหลื่อมล้ำของโลกจะเป็นไปในทิศทางไหน

deglobalization และ decoupling จะเป็นความผิดพลาด และเราไม่ควรให้มันเกิดขึ้น ผมว่าที่กระแสนี้เติบโตขึ้นมาได้ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะมีคนจำนวนมากถูกทิ้งไว้ข้างหลังจากกระแสโลกาภิวัตน์ เขาถึงได้ขึ้นมาต่อต้าน ด้วยการเลือกผู้นำที่มีแนวคิดต่อต้านกระแสโลกาภิวัตน์อย่างโดนัลด์ ทรัมป์ (อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ) ขึ้นสู่อำนาจ

อย่างไรก็ตาม การพยายามออกจากโลกาภิวัตน์จะไม่สามารถช่วยให้ชีวิตใครดีขึ้น เพราะอย่างไรเสียโลกาภิวัตน์ก็เป็นบ่อเกิดของการเติบโตทางเศรษฐกิจ การไม่เอาโลกาภิวัตน์ย่อมหมายถึงการตัดวงจรการเติบโต ซึ่งท้ายที่สุดก็จะยิ่งไม่ได้ช่วยแก้ปัญหา เพราะฉะนั้นทางแก้ที่ดีกว่านั้นคือโลกาภิวัตน์ยังต้องคงอยู่ แต่ต้องมีความพยายามพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คนที่ขาดโอกาสจากยุคโลกาภิวัตน์ ทำให้ทุกคนมีโอกาสได้รับผลประโยชน์อย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งสามารถทำได้ด้วยแนวทางที่ผมได้พูดไปแล้วตอนปาฐกถา นั่นคือการยกระดับทักษะของคน ผ่านการฝึกทักษะแรงงานและการศึกษา

ความเหลื่อมล้ำในโลกาภิวัตน์ที่สั่นคลอน : สนทนาหลังเวทีกับ Eric Maskin นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล

นอกจากเรื่องนี้แล้ว เมื่อ 3-4 ปีที่ผ่านมา โลกต้องเผชิญวิกฤตการระบาดของโควิด-19 คุณได้มองเห็นผลประทบของวิกฤตนี้ที่มีต่อหน้าตาความเหลื่อมล้ำของโลกอย่างไรบ้าง

เห็นได้ชัดเจนว่าคนจนคือกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุด ซึ่งก็ตอกย้ำความจริงชัดเจนว่าเขาคือกลุ่มคนที่เปราะบางยิ่งกว่าอื่นๆ ยามเมื่อต้องเผชิญกับวิกฤต และแน่นอนว่าสถานการณ์โควิดที่เกิดขึ้นทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำยิ่งย่ำแย่ลง

แต่ผมว่านี่คือผลที่เกิดขึ้นในระยะสั้นเท่านั้น เพราะเวลาต่อมาถือว่าเราสามารถฟื้นตัวจากโควิด-19 ได้ค่อนข้างดี อย่างประเทศของผมเอง (สหรัฐอเมริกา) เศรษฐกิจก็กลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว เช่นเดียวกับหลายประเทศในยุโรป แต่ทางด้านประเทศจีนดูเหมือนจะเป็นกรณีที่สวนทางกับประเทศอื่นๆ เพราะไม่สามารถฟื้นตัวได้ดีเท่าไหร่นัก ซึ่งเป็นผลจากทิศทางนโยบายที่ผิดพลาด แต่อย่างไรเสียทุกวันนี้ผลกระทบจากโควิดก็บรรเทาลงไปแล้ว มันเป็นแค่วิกฤตในอดีตที่ผ่านพ้นไปแล้ว

อีกปรากฏการณ์หนึ่งที่เราได้เห็นในช่วงไม่กี่ปีมานี้คือเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าขึ้นมาอย่างรวดเร็ว เช่น เอไอที่กำลังถูกนำมาใช้กันอย่างแพร่หลายมากขึ้น คุณคิดว่าเทคโนโลยีที่พัฒนามาอย่างรวดเร็วนี้ทำให้การพัฒนาทักษะแรงงานเพื่อลดความเหลื่อมล้ำตามข้อเสนอของคุณเป็นเรื่องท้าทายขึ้นหรือไม่

แน่นอน การเกิดขึ้นของเทคโนโลยีใหม่มักจะทำลายบางตำแหน่งงานเสมอ และนับตั้งแต่อดีต เราเห็นได้ว่าเทคโนโลยีใหม่มักทำลายตำแหน่งงานของแรงงานระดับล่างมากกว่าแรงงานระดับบน ซึ่งนั่นก็ย่อมทำให้ความเหลื่อมล้ำถ่างกว้างขึ้น

อย่างไรก็ตาม การทำลายตำแหน่งงานนั้นมักเกิดขึ้นในระยะสั้นเท่านั้น แต่ในระยะยาว มันจะสร้างตำแหน่งงานเพิ่มขึ้น อย่างเช่นในช่วงการปฏิวัติอุตสาหกรรมสมัยศตวรรษที่ 19 ที่การเข้ามาของเครื่องจักรต่างๆ ทำให้เกิดการเลิกจ้างแรงงานหลายคน แต่ในที่สุดผู้ประกอบการก็สามารถหาทางทำให้แรงงานกับเครื่องจักรทำงานร่วมกัน จนเกิดประสิทธิภาพการผลิตที่มากขึ้นกว่าเดิม แรงงานระดับล่างก็ได้รับอัตราค่าจ้างที่สูงขึ้นมาก ซึ่งนั่นช่วยให้ความเหลื่อมล้ำลดลง  

ส่วนในยุคปัจจุบันที่เอไอกำลังเข้ามา ตอนนี้อาจยังเร็วเกินไปที่จะบอกว่ามันจะส่งผลอย่างไร แต่ถ้าดูจากบทเรียนทางประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ผมยังหวังว่าสถานการณ์จะยังคล้ายเดิม นั่นคือแรงงานอาจตกงานในระยะสั้นเท่านั้น แต่สุดท้ายก็จะเกิดตำแหน่งงานใหม่ๆ ขึ้นมามากมาย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นแรงงานก็ต้องได้รับการพัฒนาทักษะ ซึ่งทุกวันนี้บอกได้ว่าการศึกษาและการฝึกฝนทักษะแรงงานเป็นเรื่องสำคัญยิ่งกว่ายุคสมัยใดๆ ที่ผ่านมา

สังเกตว่าทุกวันนี้รัฐบาลหลายประเทศใช้มาตรการให้เงินอุดหนุนประชาชนเพื่อไปพัฒนาทักษะของตัวเอง คุณว่าแนวทางนี้เพียงพอหรือไม่

ผมว่านโยบายลักษณะนี้มาถูกทางแล้ว ผมเห็นด้วยอย่างมาก

ข้อเสนอแนะหลักของคุณคือเรื่องการพัฒนาทักษะแรงงาน แต่มีแนวทางอื่นอีกไหมที่คุณคิดว่าจะช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำได้ดี

อีกทางหนึ่งก็คือการใช้นโยบายจัดสรรทรัพยากรใหม่ (redistribution) แต่ผมเองก็ยังไม่มั่นใจนักที่จะยกแนวทางนี้เป็นแนวทางหลักในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ เพราะมันก็มีผลเสียคือทำให้คนเสพติดการพึ่งพารัฐ ซึ่งนั่นย่อมไม่ใช่หนทางที่ดี

ความเหลื่อมล้ำในโลกาภิวัตน์ที่สั่นคลอน : สนทนาหลังเวทีกับ Eric Maskin นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล

มันมีแนวคิดในการใช้นโยบายแจกเงินประชาชนเพื่อแก้ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำ อย่างรัฐบาลไทยในปัจจุบันก็มีการออกนโยบายแจกเงินคนละ 10,000 บาทออกมา โดยยกเหตุผลข้อหนึ่งว่าจะช่วยบรรเทาปัญหาดังกล่าว คุณคิดเห็นอย่างไรกับการใช้นโยบายลักษณะนี้

จริงๆ ก็ไม่ใช่ว่าผมต่อต้านการใช้นโยบายแนวนี้ แต่ผมว่ามันจะไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาลงไปถึงฐานราก แม้ในระยะสั้น มันจะช่วยให้ประชาชนที่ลำบากขัดสนพอมีเงินประทังชีวิตได้มากขึ้นบ้าง แต่ในที่สุดรากเหง้าของปัญหาความเหลื่อมล้ำก็ไม่ได้หายไปไหน เพราะฉะนั้นการแจกเงินเป็นนโยบายที่ช่วยได้ชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น แต่ควรต้องใช้นโยบายที่จะแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน

จากที่คุณบอกว่าปัญหาความเหลื่อมล้ำมีที่มาจากโลกาภิวัตน์ เพราะฉะนั้นถ้าจะแก้ปัญหานี้ได้ มันอาจต้องใช้กลไกความร่วมมือระหว่างประเทศด้วยเลยหรือเปล่า

เราอาจจำเป็นต้องใช้ความร่วมมือระหว่างประเทศสำหรับหลายๆ เรื่อง ทั้งเรื่องการค้าระหว่างประเทศ และการแก้ปัญหาโลกร้อน แต่สำหรับการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ผมคิดว่ามันอาจเป็นเรื่องที่แต่ละประเทศต้องแก้ไขกันเอง เพราะที่จริงมันเป็นปัญหาภายในประเทศมากกว่าที่จะเป็นปัญหาระดับระหว่างประเทศ

คุณเดินทางมาประเทศไทยครั้งนี้เป็นครั้งที่สามแล้ว ผมเชื่อว่าคุณอาจต้องเรียนรู้ถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำของประเทศไทยอยู่พอสมควร คุณมองความเหลื่อมล้ำที่นี่อย่างไร

ประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำสูงมาก ถือว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่ความเหลื่อมล้ำสูงที่สุดในโลก อย่างไรก็ตาม ข่าวดีก็คือความเหลื่อมล้ำของประเทศไทยจะลดลงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เห็นได้จากค่าสัมประสิทธิ์จีนี (Gini Coefficient – ดัชนีชี้วัดความเหลื่อมล้ำ) ที่แต่ก่อนอยู่ที่ประมาณ 41 ซึ่งถือว่าสูงสุดประเทศหนึ่ง แต่ตอนนี้มันลดลงมาอยู่ที่แถวๆ 36 ซึ่งมันอาจจะสะท้อนว่านโยบายที่ประเทศไทยใช้กำลังมาถูกทาง

ความเหลื่อมล้ำในโลกาภิวัตน์ที่สั่นคลอน : สนทนาหลังเวทีกับ Eric Maskin นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล

MOST READ

Interviews

5 May 2024

สวนกล้วยของคนจีน-ชีวิตอาบสารเคมีของคนลาว: เสถียร ฉันทะ

101 คุยกับ ผศ.ดร.เสถียร ฉันทะ ผู้ทำวิจัยเรื่องสวนกล้วยจีนในลาวและพม่า ถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นและการคืบคลานของสวนกล้วยจีนที่ขยายไปในลุ่มน้ำโขง อย่างพม่าและกัมพูชา

วจนา วรรลยางกูร

5 May 2024

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

Economy

19 Mar 2018

ทางออกอยู่ที่ทุนนิยม

ในยามหัวเลี้ยวหัวต่อของบ้านเมือง ผู้คนสิ้นหวังกับปัจจุบัน หวาดหวั่นต่ออนาคต และสั่นคลอนกับอดีตของตนเอง
วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร เสนอทุนนิยมให้เป็น ‘grand strategy’ ใหม่ของประเทศไทย

วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร

19 Mar 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save