fbpx

เมื่อญี่ปุ่นนำเศรษฐกิจมาขบคิดคู่ความมั่นคง: Economic Security ในยุทธศาสตร์รัฐบาลคิชิดะ

ญี่ปุ่นเป็นชาติที่มีลูกเล่นเป็นพิเศษกับแนวคิดด้านความมั่นคง โดยพลิกแพลงให้ดำรงอยู่ได้ลงตัวสอดรับกับหลักสันตินิยมต่อต้านการทหารในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง จากเดิมที่ญี่ปุ่นเคยมองความมั่นคงโยงกับลัทธิทหารและการใช้กำลังขยายอำนาจในตะวันออกไกล ญี่ปุ่นยุคใหม่เลือกมองความมั่นคงฉีกออกไปจากการหมกมุ่นด้านการสั่งสมแสนยานุภาพ แม้ในยามที่กลายเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ แนวคิดความมั่นคงที่ลดบทบาททหารก็ยังคงดำเนินต่อมา

ลูกเล่นที่ทำให้ญี่ปุ่นดูล้ำหน้ากว่าใครในสมัยสงครามเย็น ที่ประเด็นความมั่นคงถูกครอบงำด้วยการแข่งขันแสนยานุภาพ คือแนวคิด ‘ความมั่นคงแบบครอบคลุม’ (comprehensive security) ซึ่งตกผลึกช่วงทศวรรษ 1980 แนวคิดดังกล่าวมองว่านอกจากการทหารแล้ว เสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ความมั่นคงด้านอาหาร พลังงาน และการรับมือภัยพิบัติก็เป็นประเด็นสำคัญ อันเป็นการมองความมั่นคงจากมุมมองที่ต่างไป ซึ่งก็ได้รับความสนใจศึกษาจากวงวิชาการไม่น้อย

ที่ว่าแนวคิดนี้ล้ำสมัย เพราะหลายคนนำมาเทียบเคียงกับแนวคิด ‘ความมั่นคงของมนุษย์’ (human security) ซึ่งเป็นแนวคิดใหม่ในยุคหลังสงครามเย็นและเป็นที่รู้จักกันแพร่หลายในเวลานี้ แนวคิดนี้เบี่ยงความหมายของความมั่นคงออกจากวังวนการทหารและการคงกำลังไว้ปกป้องชาติ มามองสวัสดิภาพของบุคคลเป็นหัวใจหลักในความมั่นคงแทน โดยให้ความสนใจหัวข้อต่างๆ ที่ญี่ปุ่นวางแนวทางไว้ตั้งแต่สมัยโน้น จึงไม่น่าแปลกใจที่ญี่ปุ่นกลายเป็นหนึ่งในชาติแนวหน้าที่ส่งเสริมแนวคิดนี้จนเป็นที่ยอมรับแพร่หลายในโลก

แนวคิดความมั่นคงของญี่ปุ่นที่เปลี่ยนไป

ความมั่นคงแบบครอบคลุมได้กลายเป็นฐานคิดให้ญี่ปุ่นทุ่มเทกับการสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ รวมทั้งการธำรงระเบียบ เสถียรภาพและสันติภาพของโลก นั่นเป็นเพราะญี่ปุ่นตระหนักว่าตนไม่อาจเลี้ยงปากท้องประชากรของประเทศได้ด้วยทรัพยากรที่มีอยู่จำกัด จึงต้องสานสัมพันธ์และพึ่งพิงชาติต่างๆ รวมทั้งระเบียบเสรีที่ทำให้เข้าถึงปัจจัยยังชีพจากภายนอกได้ หลักคิดนี้ยังช่วยให้ญี่ปุ่นแสดงบทบาทบนเวทีโลกด้านความมั่นคง โดยมองคุณูปการด้านเศรษฐกิจว่ามีส่วนช่วยส่งเสริมความมั่นคงด้วยอีกทาง ขณะที่ยืนกรานว่าจะไม่ข้องเกี่ยวกับบทบาทการทหารโดยตรง

แต่เราคงพูดไม่ได้เต็มปากในเวลานี้ว่าญี่ปุ่นยังคงจุดยืนแบบบีบกดลดบทบาทการทหารในด้านความมั่นคงเหมือนแต่ก่อน เมื่อฟังสิ่งที่นายกฯ ฟุมิโอะ คิชิดะ เพิ่งประกาศไปในที่ประชุม Shangri-La Dialogue ที่สิงคโปร์ เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ถึงแผนการเสริมสร้าง ‘ศักยภาพป้องปรามและโต้ตอบ’ (deterrence&response capability) ซึ่งรวมถึงการขยายงบประมาณกลาโหมเพิ่มเป็น 2% ของ GDP ในช่วงอีก 5 ปีข้างหน้า จากเดิมที่อยู่ปริ่มๆ 1% มาโดยตลอด ทั้งยังจะจัดหาศักยภาพพร้อมโจมตีกลับ (counter-strike capability) อันหมิ่นเหม่ที่จะใช้เป็นอาวุธคุกคามในการเริ่มโจมตีก่อนได้

การเอ่ยเรื่องนี้บนเวทีโลกอย่างโจ่งแจ้งดูจะผิดแผกจากธรรมเนียมที่ญี่ปุ่นกระทำมา แต่ก็เข้าใจได้เช่นกันว่าญี่ปุ่นมีจุดประสงค์ที่จะส่งสัญญาณอันหนักแน่นเพื่อปรามรัฐใดก็ตามที่กำลังจ้องทำลายระเบียบที่เป็นอยู่ในเอเชีย เรากำลังเห็นความเปลี่ยนแปลงบางอย่างปรากฏชัดขึ้นในการต่างประเทศญี่ปุ่นยุคนี้ ในยามที่จุดสนใจของผู้สังเกตการณ์กำลังมุ่งไปที่การทบทวนยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคง ซึ่งคาดว่าแผนยุทธศาสตร์ที่จะออกมาใหม่ปลายปีนี้ จะบรรจุความริเริ่มต่างๆ ที่คิชิดะได้ประกาศไว้ต่อนานาชาติ

ท่ามกลางบริบทเช่นนี้เราเริ่มได้ยินคำว่า ‘ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ’ (keizai anzenhosho / economic security) บ่อยครั้งในรัฐบาลคิชิดะ ถึงกับมีการตั้งตำแหน่งรัฐมนตรีใหม่มาดูแลด้านนี้โดยเฉพาะ เมื่อได้ยินคำนี้มักทำให้นึกถึงแนวคิด ‘ความมั่นคงแบบครอบคลุม’ ที่ญี่ปุ่นใช้มา ข้อเขียนนี้จึงอยากสำรวจดูว่าแนวคิด ‘ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ’ ที่ถูกหยิบยกมาเน้นย้ำในนโยบายช่วงนี้มีจุดมุ่งหมายเช่นไร โดยตั้งใจจะชี้ว่าแนวคิดนี้เผยให้เห็นนัยใหม่ในยุทธศาสตร์ญี่ปุ่น ที่เดิมทีเน้นที่คำว่าเศรษฐกิจเป็นหลักใหญ่ แต่ปัจจุบันหันมาเน้นที่คำว่า ‘ความมั่นคง’ แทน ทั้งยังเป็นความมั่นคงที่ยึดโยงกับการทหารมากขึ้นด้วย

ความเคลื่อนไหวใหม่ในด้านความมั่นคงทางเศรษฐกิจ

หลังจากคิชิดะขึ้นเป็นนายกฯ เมื่อปลายปีที่แล้ว ได้มีการริเริ่มเกี่ยวกับนโยบาย ‘ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ’ โดยได้ตั้งทะคะยุคิ โคบะยะชิ ขึ้นเป็นรัฐมนตรีผู้ดูแลด้านนี้ และตั้งคณะกรรมการขึ้นจัดทำร่างกฎหมายอย่างรวดเร็ว จนถึงขณะนี้ กฎหมายความมั่นคงทางเศรษฐกิจได้ผ่านความเห็นชอบจากทั้งสภาล่าง (เมษายน) และวุฒิสภา (พฤษภาคม) เรียบร้อยแล้ว โดยมีเนื้อหาทั้งที่ส่งเสริม สอดส่องและกำหนดบทลงโทษที่เข้มงวด รวมทั้งได้รับความเห็นพ้องจากทั้งพรรครัฐบาลและฝ่ายค้าน

กฎหมายใหม่นี้มุ่งความสนใจไปที่ 4 หัวข้อเป็นการเบื้องต้นเพื่อดูแลความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ซึ่งได้แก่ เสถียรภาพด้านปัจจัยการผลิต (supply chain) ความมั่นคงของสาธารณูปโภคพื้นฐาน การพัฒนาเทคโนโลยีชั้นสูง และการปกป้องเทคโนโลยีอ่อนไหวที่อาจใช้ด้านการทหาร ทั้งหมดนี้เพื่อรับประกันการเข้าถึง ‘สินค้าและวัตถุดิบที่สำคัญเชิงยุทธศาสตร์’ ต่ออุตสาหกรรมและการดำรงชีวิตของผู้คน อย่างปัจจัยทางการแพทย์ สารกึ่งตัวนำ (semi-conductor) ชิปและแร่ธาตุหายาก (rare earth) โดยรัฐบาลจะให้ทุนสนับสนุนเอกชนผู้ผลิตปัจจัยเหล่านี้ให้มีเสถียรภาพ ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างสองภาคส่วนในการพัฒนาเทคโนโลยีชั้นนำ (advanced technology)

ในส่วนข้อบังคับนั้นเกี่ยวข้องกับการดูแลสาธารณูปโภค 14 ด้านสำคัญ เช่นพลังงาน คมนาคม สื่อสาร ซึ่งได้ตั้งมาตรการตรวจสอบแหล่งที่มาและความปลอดภัยของอุปกรณ์ไม่ให้ถูกโจมตีทางไซเบอร์ อีกทั้งยังกำหนดบทลงโทษผู้ทำให้ข้อมูลลับด้านเทคโนโลยีรั่วไหล ซึ่งการให้อำนาจรัฐสอดส่องธุรกิจเช่นนี้ได้ก็ทำให้เกิดความกังวลใจในหมู่บริษัทเอกชนขึ้นไม่น้อย

หนึ่งในรูปธรรมของความเคลื่อนไหวเพื่อรับประกันเสถียรภาพการเข้าถึงปัจจัยการผลิตคือ การสนับสนุนแผนการร่วมทุนระหว่างบริษัท Sony Group และ Denso ของญี่ปุ่นกับบริษัท TSMC ของไต้หวัน ผู้นำและครองตลาดด้านสารกึ่งตัวนำ โดยให้มาตั้งฐานการผลิตในญี่ปุ่น ที่จังหวัดคุมะโมโตะ ท่ามกลางกระแสวิตกกังวลต่อความขาดแคลนปัจจัยด้านนี้ที่เกิดขึ้นทั่วโลก และความตึงเครียดในช่องแคบไต้หวัน น่าสนใจว่าการนำข้อคำนึงทางเศรษฐกิจมาปะติดกับคำว่า ‘ความมั่นคง’ ในรอบใหม่นี้มีนัยสำคัญอย่างไร?

ดูผิวเผินแล้วข้อริเริ่มใหม่นี้เหมือนจะเป็นการพลิกฟื้นหรือเน้นย้ำธรรมเนียมการมองความมั่นคงแบบญี่ปุ่นที่มักโยงเข้ากับเรื่องปากท้อง เศรษฐกิจและสวัสดิภาพของประชาชนซึ่งโดยทั่วไปมักถูกมองเป็น ‘เรื่องรอง’ ในกรอบความมั่นคงโดยทั่วไปหรือเรียกว่า low politics โดยเมื่อเทียบกับการทหาร การรักษาเอกราช อธิปไตยและเขตแดนที่มักมองว่าสำคัญเป็นลำดับต้น (high politics) ในความมั่นคง แต่ด้วยข้อจำกัดทางกฎหมายและแนวคิดต่อต้านทหารที่รัฐบาลญี่ปุ่นเผชิญในสังคมการเมืองภายใน จึงต้องพึ่งสหรัฐฯ ให้คอยรับภาระคุ้มกันอธิปไตยให้แก่ญี่ปุ่นเรื่อยมา

ตรรกะเศรษฐกิจ v. ตรรกะความมั่นคง

การนำเศรษฐกิจมาปะติดกับความมั่นคงอาจดูเหมือนช่วยทำให้นัยด้านการทหารและความหวาดระแวงผ่อนเบาลง และเป็นฐานในการเปลี่ยนจุดสนใจไปสู่การจัดการปัญหาข้ามชาติอย่างวิกฤตเศรษฐกิจโลก ที่เรียกกันในปัจจุบันว่าความมั่นคงใหม่ (non-traditional security) ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือ การทูต การวางกฎเกณฑ์และกรอบปฏิบัติเพื่อจัดการแก้ไขร่วมกัน ความตระหนักถึงเรื่องนี้ช่วยให้แนวคิดความมั่นคงกลายเป็นเรื่องการหาทางพึ่งพาอาศัยซึ่งกันมากกว่าการแข่งขันข่มขู่ด้วยกำลังอำนาจ

อันที่จริงในการศึกษาการเมืองระหว่างประเทศ คำถามที่ว่าเมื่อเศรษฐกิจจับคู่กับความมั่นคงแล้วจะส่งผลอย่างไรนั้น ถือเป็นข้อถกเถียงใหญ่ในทางทฤษฎี โดยเฉพาะข้อที่ว่าใครจะครอบงำใครและใครจะมีอิทธิพลมากกว่าจนเจือจางตรรกะของอีกฝ่ายได้ จากมุมมองแบบเสรีนิยม (liberalism) เศรษฐกิจมักชักนำให้ผู้คนเห็นผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างชาติ และเพื่อรักษาความมั่งคั่งและระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจจากการค้าการลงทุนระหว่างกัน ต่างฝ่ายต่างต้องสร้างและคงบรรยากาศแบบไว้เนื้อเชื่อใจ ประนีประนอม และปฏิบัติตามกรอบกติกาเอาไว้

ตรรกะทางเศรษฐกิจ (economic logic) มีส่วนลดความขัดแย้งหรือยับยั้งความบาดหมางไม่ให้บานปลาย เพราะรู้กันว่าความตึงเครียดและสงครามส่งผลเลวร้ายต่อเศรษฐกิจ กลุ่มธุรกิจและผู้คนในยุคนี้ที่ให้ความสำคัญกับรายได้และระดับความเป็นอยู่ กลายเป็นพลังผลักดันให้รัฐต้องพยายามรักษาสัมพันธภาพอันดีกับชาติคู่ค้า ผูกมิตรเข้าหาและโอนอ่อนผ่อนตามเพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ตรรกะแบบต่างฝ่ายต่างได้ประโยชน์ (win-win game) นำไปสู่ความร่วมมือ ซึ่งเมื่อดำเนินไปอย่างต่อเนื่องก็จะยิ่งสร้างความเชื่อมั่น ลดความระแวงซึ่งกันและความหวั่นวิตกด้านความมั่นคง

แนวคิดที่เห็นว่าการพึ่งพาทางเศรษฐกิจช่วยลดการตั้งการ์ดหวาดวิตกต่อกัน นำไปสู่นโยบายที่ใช้เศรษฐกิจนำหน้าในการสานสัมพันธ์ อย่างกรณีนโยบาย ‘ตะวันฉาย’ (Sunshine Policy) ที่เกาหลีใต้ใช้โน้มน้าวเกาหลีเหนือให้ละเลิกการพัฒนาอาวุธด้วยการเข้าไปลงทุนและส่งเสริมการท่องเที่ยว ความคาดหวังว่าการค้าขายแลกเปลี่ยนจะช่วยลดการใช้กำลังและส่งเสริมสันติภาพยังเป็นพื้นฐานการจัดตั้งระเบียบระหว่างประเทศยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง และระบบเศรษฐกิจแบบเสรีที่สหรัฐฯ เป็นตัวตั้งตัวตีจนเป็นที่ยอมรับในโลกปัจจุบัน แนวคิดที่ญี่ปุ่นใช้ข้อคำนึงด้านเศรษฐกิจและสวัสดิการมาถ่วงคานความมั่นคงทางทหารก็อยู่บนตรรกะนี้ด้วยเช่นกัน

Win-win game หรือ Zero-sum game

ในทางตรงกันข้าม นักคิดสายสัจนิยม (realist) แย้งว่าตรรกะความมั่นคง (security logic) ทรงอิทธิพลเหนือกว่า โดยมองว่ายังไงเสียเศรษฐกิจก็มักถูกกลบกลืนโดยการคำนึงหรือหวั่นเกรงเรื่องความมั่นคง เศรษฐกิจก็เป็นแค่ปัจจัยทางอำนาจอย่างหนึ่งซึ่งรัฐนำมาคิดคำนวณในยุทธศาสตร์ที่แสนยานุภาพเป็นหัวใจหลัก ในเมื่ออำนาจทางทหารยังคงเป็นเครื่องมือที่รัฐทั้งหลายใช้รับประกันความอยู่รอดและรักษาผลประโยชน์ จะฉลาดกว่าไหมที่จะไม่ละเลยความเป็นไปได้ของสถานการณ์อันเลวร้ายที่อาจเกิดขึ้น (worst-case scenario) นั่นคือการถูกรัฐรุกราน คุกคามจากรัฐอื่น

เศรษฐกิจจึงถูกมองว่าเป็นหนทางที่ช่วยสนับสนุนการเพิ่มพูนแสนยานุภาพ ความมั่งคั่งถูกใช้ในการทหารอย่างที่เราเห็นว่าจีนผันความร่ำรวยไปสร้างเสริมกำลังให้ทันสมัยเพื่อไล่กวดสหรัฐฯ หรือกรณีญี่ปุ่นซึ่งถึงแม้จะเจียด GDP ไม่ถึง 1% ให้แก่กลาโหม แต่ด้วยเศรษฐกิจที่ใหญ่ทำให้ติดอันดับ top 10 ชาติที่ค่าใช้จ่ายทางทหารสูงที่สุด เศรษฐกิจยังถูกใช้เป็นเครื่องมือต่อรองทางการเมืองโดยเฉพาะในภาวะ ‘พึ่งพิงที่ไม่เท่าเทียม’ ทำให้ชาติที่จำเป็นต้องพึ่งคนอื่นน้อยกว่าได้เปรียบที่จะใช้เศรษฐกิจให้คุณให้โทษเพื่อผลประโยชน์ที่ตนต้องการ

ดังที่จีนใช้เงินช่วยเหลือและเงินลงทุนเป็นสิ่งจูงใจชาติต่างๆ ให้เลิกสังฆกรรมกับไต้หวันแล้วหันมาหาชิ้นเนื้อก้อนใหญ่ในตลาดและเศรษฐกิจจีนแทน จีนยังลงโทษไต้หวันเมื่อใดที่ทำให้ขัดเคืองด้วยการกีดกันการค้าและจำกัดโควตานักท่องเที่ยว เพราะการใช้เศรษฐกิจกดดัน (economic statecraft) เพื่อเป้าหมายทางการเมืองเช่นนี้ ทำให้ความระแวงและหวั่นวิตกด้านความมั่นคงไม่หายไปง่ายๆ กลับส่งผลเปลี่ยนตรรกะแบบ win-win ไปสู่การมองว่าใครได้เปรียบกว่ากัน (zero-sum game) แม้ในความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ

ไม่น่าแปลกที่ไต้หวันเริ่มหาทางเลือกใหม่เพื่อลดการพึ่งพิงจีน อย่างการเข้าร่วมเครือข่ายอุปทานกับชาติเสรีอื่นๆ โดยอาศัยข้อได้เปรียบที่ตนเป็นผู้ผลิตชิปรายใหญ่ของโลก ทั้งยังหันเข้าหาชาติในเอเชียใต้ และอาเซียนโดยใช้ ‘นโยบายมุ่งใต้ใหม่’ (new southbound policy) ซึ่งใช้เศรษฐกิจเป็นตัวผสานความสัมพันธ์เพื่อเน้นให้ชาติเหล่านี้เห็นความสำคัญของไต้หวันต่อไป นโยบายนี้ยังหวังผลเชิงยุทธศาสตร์ความมั่นคงอีกด้วย โดยมุ่งขยายแนวร่วมเพื่อสอดส่องและถ่วงดุลพฤติกรรมของจีน

กรณีสหรัฐฯ กับจีนซึ่งมีทีท่าว่าจะเลิกคบค้าสมาคมต่อกัน (decoupling) ก็เป็นอีกตัวอย่างแสดงให้เห็นว่าตรรกะความมั่นคงล้มล้างตรรกะเศรษฐกิจลงอย่างไร แนวโน้มนี้ที่มีมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลทรัมป์ ทำให้ zero-sum game ขึ้นมาครอบงำความสัมพันธ์ โดยเกรงว่าการค้าที่ตนขาดดุลขนานใหญ่จะยิ่งทำให้จีนรวยขึ้นและได้เปรียบดุลอำนาจ เทคโนโลยีที่จีนฉกฉวยไปจะทำให้กองทัพจีนล้ำสมัย และเมื่อจีนผลิตเทคโนโลยีได้และขายในราคาถูกก็จะสั่นคลอนบริษัทเจ้าของสิทธิบัตร รวมทั้งกองทัพสหรัฐฯ ที่ต้องพึ่งพิงเทคโนโลยีจากบริษัทของสหรัฐฯ เหล่านี้

จีนเองก็มองการค้ากับสหรัฐฯ และพันธมิตรด้วยตรรกะไม่ต่างกัน อย่างที่ฝ่ายจีนเคยกล่าวว่าคงไม่สมเหตุสมผลที่จะคาดหวังให้ตนเต็มใจขายแร่ธาตุหายากให้เพื่อชาติเหล่านี้จะได้นำไปผลิตอาวุธกลับมาโจมตีจีน จริงๆ แล้ว เห็นได้ชัดว่าทั้งสองฝ่ายต่างต้องพึ่งพาอาศัยกันเพื่อให้ได้เทคโนโลยี โดยฝ่ายหนึ่งมีวัตถุดิบที่จำเป็นอีกฝ่ายมีวิธีการแปรรูป แต่ตรรกะความมั่นคงที่ทำให้ต่างฝ่ายคิดว่าความร่วมมือจะยิ่งไปเสริมให้อีกฝ่ายมีอำนาจเหนือกว่าจนอาจมาทำร้ายตนได้ กลับกลายเป็นปัจจัยผลักไสให้ต่างฝ่ายต่างอยู่อย่างตัวใครตัวมัน

แนวโน้มการหันไปหา ‘การพึ่งพาตนเองทางเศรษฐกิจ’ (autarky) จากฐานคิดความมั่นคงเริ่มเห็นชัดมากขึ้นในปัจจุบัน นั่นก็เพื่อเลี่ยงภาวะเปราะบางจากการพึ่งพิงอย่างที่เห็นว่าการพึ่งพิงเป็นปัจจัยที่เปิดช่องให้ชาติตะวันตกใช้การคว่ำบาตรกดดันรัสเซียในกรณียูเครน ในขณะที่ผลเสียก็ตกกับชาติที่ใช้มาตรการคว่ำบาตรไม่แพ้กันจากการที่ต้องพึ่งพิงพลังงานจากรัสเซีย ทางด้านจีนก็มุ่งมั่นจะผลิตเทคโนโลยีด้วยตัวเองเพื่อลดการพึ่งพิงที่เปิดช่องให้ชาติอื่นต่อรองและกดดันจีน เรายังเห็นการกระชับพันธมิตรฝ่ายโลกเสรีเพื่อผันการพึ่งพิงจากชาติที่ไม่ไว้วางใจ โดยมุ่งหาห่วงโซ่อุปทานใหม่ แหล่งทรัพยากรใหม่ ฐานผลิตใหม่ภายในหมู่ชาติร่วมอุดมการณ์ด้วยกัน (like-minded countries)

ทิศทางใหม่ในยุทธศาสตร์ญี่ปุ่น?

‘ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ’ ที่ญี่ปุ่นริเริ่มส่งเสริมขึ้นมาช่วงปีนี้เกิดขึ้นในบริบทแวดล้อมดังที่กล่าวมา อย่างที่บอกแล้วว่าด้วยตัวแนวคิดอาจทำให้หลงผิดว่าท่ามกลางความตึงเครียดในโลก ญี่ปุ่นกำลังย้ำมุมมองแบบไม่เน้นการทหารและมุ่งประสานความร่วมมือกับนานาชาติ ซึ่งก็สอดคล้องกับแบบแผนการเป็นผู้นำแนวคิดความมั่นคงแบบใหม่และการไม่เล่นบททหารของชาติใฝ่สันติ แต่เมื่อฟังเหตุผลที่รัฐมนตรีผู้ดูแลความมั่นคงทางเศรษฐกิจอธิบายว่าทำไมญี่ปุ่นต้องสนใจและวางแนวทางในเรื่องนี้ ความหมายดูจะไม่ได้เป็นเช่นนั้น

รัฐมนตรีโคบายาชิ กล่าวถึงเป้าหมายที่ต้องเตรียมการด้านนี้ว่าเป็นไป “เพื่อให้ญี่ปุ่นสามารถตัดสินนโยบายได้อย่างเป็นอิสระโดยไม่ขึ้นกับท่าทีของชาติอื่น” ซึ่งสื่อถึงการไม่ยอมให้ชาติใดมาตั้งเงื่อนไข กดดันหรือต่อรองโดยใช้เศรษฐกิจเป็นเครื่องมือ คงไม่ใช่ใครที่ญี่ปุ่นนึกถึงนอกไปเสียจากจีนที่พึ่งพิงทางเศรษฐกิจกันมา เห็นได้ชัดว่าแนวคิดแบบเสรีนิยมที่ญี่ปุ่นใช้เมื่อจับคู่เศรษฐกิจเข้ากับความมั่นคงเริ่มเปลี่ยนแปลงไป โดยหันมาคำนึงถึงเศรษฐกิจ ‘ภายใต้’ กรอบความมั่นคงมากยิ่งขึ้น นั่นคือมองสถานการณ์แบบ zero-sum game และคำนึงว่าการพึ่งตนเองหรือกระจายความเสี่ยงไปพึ่งพันธมิตรหลายๆ ทางน่าจะช่วยประกันเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและความมั่นคงได้ดีกว่า

ดูเหมือนนี่จะเป็นการเตรียมพร้อมรับมือภาวะสงคราม หรือไม่ก็ภาวะการแบ่งฝ่ายแบ่งขั้วคล้ายกับสงครามเย็น ความระแวดระวังต่อการพึ่งพิงชาติที่อยู่คนละฝั่งอย่างจีนและรัสเซีย สะท้อนการคำนึงถึงปัญหาความมั่นคงในพื้นที่รายล้อมญี่ปุ่นและอินโด-แปซิฟิก อย่างประเด็นช่องแคบไต้หวัน ทะเลจีนตะวันออกและทะเลจีนใต้ที่อาจระอุขึ้นสักวัน เมื่อนั้นประเด็นเศรษฐกิจก็จะกลายเป็นหนึ่งเดียวกับยุทธศาสตร์การทหารโดยปริยายแบบแยกออกจากกันอย่างที่ญี่ปุ่นเคยทำมาก่อนไม่ได้อีกต่อไป

รัฐมนตรีกลาโหมโนบุโอะ คิชิ ได้บรรยายสถานการณ์โลกเวลานี้ว่าคือภาวะการแบ่งขั้ว “แข่งขันระหว่างรัฐฝ่ายที่พยายามรักษาระเบียบบนพื้นฐานการเคารพกฎกติกา (rule-based order) กับฝ่ายที่จ้องจะใช้กำลังทำลายระเบียบนี้” เมื่อบวกกับการที่ญี่ปุ่นมองผลประโยชน์ของตนเชื่อมโยงกับระเบียบโลกที่มีเสถียรภาพและเอื้ออำนวยต่อการพึ่งพิงทางเศรษฐกิจเป็นทุนเดิม การมองโลกแบบดังกล่าวจึงกลายเป็นเหตุผลให้ญี่ปุ่นเคลื่อนไหวเลือกฝักฝ่ายที่ชัดเจน ปัจจัยทางเศรษฐกิจที่เคยจูงใจให้ผูกมิตรเข้าหาจีน กำลังผลักทั้งสองออกจากกันด้วยตรรกะความมั่นคงไม่ต่างจากความสัมพันธ์สหรัฐฯ กับจีน

เราจึงพูดได้ว่า ‘ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ’ ซึ่งกลายเป็นวาระแห่งชาติขึ้นมานั้น สอดคล้องกับจุดยืนด้านความมั่นคงที่ผันความสนใจไปสู่การทหารมากขึ้นด้วยการผลักดันของรัฐบาลสายอนุรักษ์นิยมที่ดำเนินต่อเนื่องมาจนถึงนายกฯ คิชิดะ เพื่อที่จะรับมือกับ “บริบทความมั่นคงที่สาหัสสากรรจ์ยิ่งขึ้น” และภาวะไม่แน่นอน ในตอนนี้เศรษฐกิจแทนที่จะเป็นปัจจัยช่วยลดทอนความสำคัญของการทหารดั่งแต่ก่อน กลับกลายเป็นอีกเครื่องมือและแนวหน้าหนึ่งเพื่อตอบสนองอย่างเป็นเอกภาพกับยุทธศาสตร์ความมั่นคงแบบที่มีความกังวลด้านการปกป้องอธิปไตยและดินแดนเป็นแกนกลาง

นัยใหม่ในการมองเศรษฐกิจคู่กับความมั่นคงนี้ ซึ่งแท้ที่จริงก็ไม่ได้ถือว่าใหม่ในมโนทัศน์ทั่วไปภายนอกสังคมญี่ปุ่น สะท้อนให้เห็นถึงความเคลื่อนไหวอีกขั้นในการรับมือภัยคุกคามจีน และเผยให้เห็นความโอนเอียงเข้าหาวิถีการถ่วงดุลอำนาจด้วยการหันไปกระชับพันธมิตรกับหลายชาติและหลายกรอบ ญี่ปุ่นยังให้คำมั่นที่จะช่วยชาติเอเชียต่างๆ สร้างเสริมศักยภาพความมั่นคงทางทะเล (maritime security) โดยถ่ายทอดความรู้และเครื่องไม้เครื่องมือเพื่อสร้างแนวร่วมสกัดการขยายอิทธิพลของจีน ควบคู่ไปกับการแสวงหาช่องทางเข้าถึงทรัพยากรและปัจจัยการผลิตใหม่ๆ เพื่อโยกย้ายและกระจายการพึ่งพิงของญี่ปุ่นออกไปจากจีน

ภายใต้การนำของคิชิดะ ที่มองกันว่าเป็นตัวแทนสายพิราบในพรรครัฐบาล เรากำลังเห็นการเปลี่ยนผ่านจากกรอบคิด ‘ความมั่นคงแบบครอบคลุม’ ที่เคยเป็นกระบวนทัศน์สะท้อนเอกลักษณ์สันตินิยมแบบญี่ปุ่น มาสู่ ‘ความมั่นคงแบบครอบงำ’ ที่แผ่คลุมตรรกะทางเศรษฐกิจ ปรากฏการณ์นี้ตอกย้ำคำอธิบายแบบสัจนิยม และการขยับใกล้เข้าไปอีกขั้นของการกลายเป็น ‘รัฐปกติ’ ของญี่ปุ่น ที่การทหารกลายเป็นหลักใหญ่ใจความของความมั่นคง สอดคล้องกับแนวโน้มที่รัฐใหญ่ต่างๆ ในโลกกำลังขับเคลื่อนไปในทิศทางนั้น ท่ามกลางความไม่แน่นอนที่สั่นคลอนระเบียบที่เราคุ้นเคยมา

อ้างอิง

Radtke, Kurt W. and Raymond Feddema, eds. 2000. Comprehensive Security in Asia: Views from Asia and the West on a Changing Security Environment. Leiden: Brill.

TSMC’s Japan Plant was Seen as a Win, but its Future is More Complicated

Cabinet Approves Bill to Beef up Japan’s Economic Security

Kishida Outlines His Vision for a More Secure Indo-Pacific Region

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save