fbpx
อย่าหยุดที่ยอดภูเขาน้ำแข็ง: ถึงเวลา ‘ผ่าตัด’ นโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย

อย่าหยุดที่ยอดภูเขาน้ำแข็ง: ถึงเวลา ‘ผ่าตัด’ นโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย

ชลิดา หนูหล้า เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

ปฏิเสธไม่ได้ว่าข่าวที่สร้างความตระหนกแก่ผู้ปกครองที่มีบุตรหลานในช่วงปฐมวัย และสร้างความไม่พอใจแก่ผู้คนจำนวนมากในสัปดาห์ที่ผ่านมาคือการกระทำความรุนแรงต่อเด็กปฐมวัยในโรงเรียน ข่าวดังกล่าวไม่เพียงเปิดโปงบาดแผลของเด็กปฐมวัยจำนวนหนึ่ง หากนำมาซึ่งการเปิดเผยบาดแผลของผู้ใหญ่จำนวนมากในโลกออนไลน์ ที่ต่างบอกว่าตนเคยมีประสบการณ์เช่นนั้นในโรงเรียน และประสบการณ์เหล่านั้นส่งผลกระทบต่อการเติบโตของมนุษย์คนหนึ่งอย่างไร

ประเด็นที่ชวนกังวลกว่าความรุนแรงเหล่านั้น คือการยอมรับของนักการศึกษาจำนวนไม่น้อยว่าปรากฏการณ์ข้างต้นเป็นเพียง ‘ยอดภูเขาน้ำแข็ง’ ของการจัดการศึกษาปฐมวัยในไทย คือเป็นดอกผลของการบริหารจัดการที่ไม่มีประสิทธิภาพ และพัวพันกับหลากหลายปัญหาเรื้อรัง จนแก้ไขได้ยากยิ่ง

การปรับปรุงนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัยจึงต้องดำเนินไปอย่างรอบคอบ เป็นโอกาสดีที่สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพหรือ สสส. จัดเวทีระดมข้อเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย “ผ่าตัดนโยบายให้เด็กปฐมวัยมีพื้นที่เรียนรู้ที่สร้างสรรค์และปลอดภัย” ด้วยแนวคิด “เพราะช่วงชีวิตของเด็กแรกเกิดถึง 6 ปี คือช่วงเวลาแห่งการหล่อหลอมกล่อมเกลา เพื่อก้าวสู่การเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีสุขภาวะ” เพื่อสำรวจฐานของภูเขาน้ำแข็งลูกนี้ และป้องกันการทำร้ายเด็กปฐมวัยในอนาคต ในวันที่ 5 ตุลาคมที่ผ่านมา

 

ผ่าตัดนโยบายให้เด็กปฐมวัยมีพื้นที่เรียนรู้ที่สร้างสรรค์และปลอดภัย

 

จุดเริ่มต้นของการพัฒนาเด็กเล็ก คือการอนุบาลที่ถูกต้อง

 

ประเด็นที่ผู้ร่วมให้ข้อเสนอสนใจมากที่สุด คือการจัดการศึกษาปฐมวัยด้วยความคาดหวังและความเข้าใจที่เคลื่อนคลาด ไม่อาจพัฒนา ‘ลูกมนุษย์น้อยๆ ’ คนหนึ่งอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย

‘ครูอุ้ย’ อภิสิรี จรัลชวนะเพท ผู้ก่อตั้งอนุบาลบ้านรัก และผู้ร่วมให้ข้อเสนอคนแรกถามคำถามน่าสนใจว่า “เมื่อมี ‘โรงเรียน’ นำหน้า ‘อนุบาล’ เรากำลังอนุบาลหรือสอนเด็กกันแน่”

สำหรับครูอุ้ย การอนุบาลที่ถูกต้องคือการพิจารณาธรรมชาติของเด็ก เข้าใจว่าอะไรคือความต้องการของเด็ก เมื่อความต้องการตามธรรมชาติของเด็กเล็กคือความต้องการแม่ ครูอนุบาลจึงต้องเป็นแม่ครูผู้ให้ความอิ่มในความอบอุ่น เพราะ 3 ปีในระดับอนุบาล เป็น 3 ปีที่เรียนซ้ำไม่ได้

“เด็กๆ อ่านได้โดยธรรมชาติ โดยอ่านชื่อของเขา หรือชื่อสิ่งของในชีวิต ถ้าต้องสาละวนกับการสอนให้อ่านออกเขียนได้โดยไม่ได้เรียนรู้พื้นฐานชีวิต 3 ปีนี้ก็จะหายไปเฉยๆ ”

โดยพื้นฐานชีวิตที่ครูอุ้ยเชื่อว่าเด็กๆ ควรได้เรียนรู้ คืองานบ้าน เพื่อความสามารถในการรับผิดชอบตนเอง งานครัวเรือน เพื่อศึกษาบทบาทของผู้คนในชุมชนและสังคม และงานสวน เพื่อความรื่นรมย์ และการบริโภคผลผลิต

พงศ์ปณต ดีคง นักกิจกรรมเพื่อสังคมเห็นด้วยกับครูอุ้ย เพราะ “ความหมายหนึ่งของ ‘school’ คือการทำให้เชื่อง ตรงกันข้ามกับสิ่งที่เด็กเล็กๆ ต้องการ พวกเขามีความสร้างสรรค์ ต้องการเรียนรู้อย่างเป็นธรรมชาติ ใช้แค่ ‘อนุบาล’ ก็เพียงพอ”

พงศ์ปณตกล่าวถึงการจัดห้องเรียนปฐมวัยด้วยว่า ไม่เอื้อต่อการเรียนรู้ของเด็ก เด็กที่ต้องนั่งเป็นแถวหน้ากระดานโดยมีครูยืนหน้าห้องเรียนย่อมขาดจินตนาการ ขยับร่างกายไม่สะดวก และครูยังได้รับบทบาทผู้ออกคำสั่งโดยปริยาย แม้บทบาทที่ควรเป็นคือผู้ดู ผู้สังเกตการเรียนรู้ของเด็ก

“รูปแบบการจัดการเรียนรู้แก่เด็กเล็กที่น่าสนใจ คือ Plan – Do – Review ให้เด็กออกแบบหลักสูตรของตนเอง เรียนรู้ผ่านการเล่น แล้วนำเสนอว่าได้เรียนรู้อะไร ครูเป็นเพียงผู้ดูแลให้การเล่นนั้นๆ ปลอดภัย”

 

เข้าใจความต้องการของเด็กปฐมวัยผ่านการเล่น

 

ขณะที่ เมริษา ยอดมณฑป นักจิตวิทยาเด็กและครอบครัว เจ้าของเพจ ‘ตามใจนักจิตวิทยา’ แนะนำวิธีเข้าใจความต้องการของเด็กเล็กว่า การเล่นของเด็กเป็นการสื่อสารที่ดีที่สุด เพราะเด็กรู้จักคำไม่เพียงพอสำหรับอธิบายความรู้สึกอย่างครอบคลุม

“ถามว่ามีอะไรให้ช่วยหรือเปล่า บอกครูได้ไหม เด็กอาจอธิบายไม่ได้ แต่เด็กสื่อสารด้วยการเล่น เด็กจะมีโอกาสแสดงตัวตนผ่านการเล่นที่ปราศจากการชี้นำ หรืออาจมีกฎง่ายๆ ไม่ซับซ้อน คือไม่ทำร้ายตนเอง ผู้อื่น และไม่ทำลายสิ่งของ เด็กต้องได้เล่นเพียงพอ เพราะการเล่นส่งเสริมพัฒนาการทางจิตใจ และช่วยพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็กเพื่อการเรียนรู้ในระดับสูงขึ้นต่อไป”

เนื่องจากกล้ามเนื้อมัดเล็กของเด็กยังไม่พัฒนาเต็มที่ การบังคับให้เขียนจึงเป็นการบังคับให้เด็กอยู่ในสภาพไม่พร้อม เด็กจึงขัดขืน หลบหนี หรือนิ่งเสีย ซึ่งล้วนนำไปสู่ปัญหาสุขภาพจิตทั้งสิ้น อย่างน้อยแต่ละเขตพื้นที่การศึกษาจึงต้องมีผู้เชี่ยวชาญ อาทิ นักจิตวิทยาเด็กและครอบครัวที่ให้คำแนะนำแก่ครูและผู้บริหารโรงเรียนได้

ภูวฤทธิ์ ภูวภิรมย์ขวัญ ผู้จัดการโรงเรียนอนุบาลช้างเผือก เน้นย้ำความต้องการของเล่นของเด็กที่ช่วยส่งเสริมพัฒนาการให้สมวัย พร้อมทั้งยังเน้นด้วยว่าการเล่นของเด็กต้องไม่ถูกยัดเยียดโดยผู้ใหญ่

“ผู้ใหญ่กำลังยัดเยียดความต้องการของผู้ใหญ่ให้เด็ก บังคับให้เด็กมองข้ามสิ่งที่พวกเราเคยโหยหา ทั้งที่การเล่นนั้นอุดมการเรียนรู้ หลายคนมุ่งตอบโจทย์ตลาด โฆษณาว่าเด็กเข้าเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ได้กี่คน มีเด็กที่เขียนสวยมาก ไม่ออกนอกเส้นประกี่คน มีงานให้ผู้ปกครองเห็นหลังเลิกเรียนกี่หน้า”

ภูวฤทธิ์เสริมว่า เด็กต้องออกแบบการเล่นหรือการเรียนรู้ของตนได้ ต้องได้ต่อยอดความรู้นั้นเองจึงจะเข้าใจตนเอง รู้จักความพิเศษของตน สังคมจึงจะมีองค์ความรู้ที่หลากหลาย นอกจากนี้ เขายังบอกอย่างหนักแน่นว่าต้องยกเลิกการสอบคัดเลือกเข้าศึกษาต่อระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 เสียที

“เด็กสอบไม่ได้ ผู้ปกครองร้องไห้ แต่เด็กต่างหากที่เจ็บปวดตลอดชีวิต เห็นโลกไม่กี่ปีต้องรับรู้ว่าตนล้มเหลว เพราะพ่อแม่ผิดหวัง ผู้ปกครองกดดันโรงเรียน โรงเรียนกดดันครู ครูกดดันเด็กให้ทำ ดังนั้น แทนที่จะถามลูกว่ามีการบ้านไหม ควรถามว่าลูกได้ช่วยเหลือใครบ้าง ถามว่ารู้อะไรใหม่ๆ ไหม เปลี่ยนคำถาม โลกก็เปลี่ยน”

นอกจากนั้น นงเยาว์ แข่งเพ็ญแข ผู้เชี่ยวชาญการศึกษาปฐมวัย ยังกล่าวเสริมในประเด็นการเล่นของเด็กด้วยว่า “ความคิดสร้างสรรค์ของเด็กถูกทำลายด้วยการบังคับให้เลียนแบบ เขียนอะไรก็ต้องเขียนให้เหมือนแบบ ในที่สุดก็ทำได้เพียงลอกเลียน พวกเราต้องฟังเด็ก เด็กมีคำน้อย เป็นทุกข์ก็ไม่รู้ว่าจะบอกอย่างไร เมื่อเด็กเป็นทุกข์จึงเป็นทุกข์กว่าผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่เป็นทุกข์ยังรู้วิธีแก้ไข เพราะฉะนั้นอย่าให้ทุกข์แก่เด็ก”

 

ผู้ปกครอง ครู และโรงเรียน : ความร่วมมือที่สำคัญในการพัฒนาเด็กเล็ก

 

อีกประเด็นหนึ่งที่มีผู้สนใจมากเช่นกัน คือการสร้างความร่วมมือระหว่างโรงเรียน ครู และผู้ปกครอง ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้และดูแลสุขภาพจิตของเด็กเล็ก

อรุณฉัตร คุรุวาณิชย์ นักจิตวิทยาเชิงบวกและผู้ก่อตั้ง Life Education Thailand เป็นคนแรกที่กล่าวถึงประเด็นนี้อย่างละเอียด และกล่าวถึงผลกระทบของการขาดการสร้างความร่วมมือต่อการกระทำความรุนแรงต่อเด็กปฐมวัย

“พวกเราจะเห็นการมีส่วนร่วมของครอบครัวในการจัดการศึกษาปฐมวัยเมื่อไม่มีทางเลือกอื่นเท่านั้น คือเมื่อต้องแก้ไขปัญหา เหมือนฝีแตกแล้ว จึงเต็มไปด้วยความเครียด แต่ระหว่างที่เด็กอยู่ในห้องเรียนหรือศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก กลับไม่มีช่องทางที่ถูกออกแบบเพื่อการสื่อสารระหว่างครู โรงเรียน และผู้ปกครอง ไม่มีการตรวจสอบโดยผู้ปกครอง แม้จะมีความพยายามตรวจสอบคุณภาพโดยหน่วยงานภาครัฐ แต่ไม่ทั่วถึง จึงต้องกระจายอำนาจนั้นโดยให้ผู้ปกครองเป็นผู้ตรวจสอบ”

อรุณฉัตรชี้ว่า การตั้งคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาเมื่อพบปัญหานั้น ไม่ใช่การแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืน หากเป็นการให้การสนับสนุนทางวิชาการ และอุดหนุนงบประมาณแก่สถานศึกษา เพื่ออำนวยความสะดวกแก่การพัฒนาตนเองของบุคลากรทางการศึกษา

ขณะที่ผู้แทนจากมูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทยชี้ว่า ผู้กระทำความรุนแรงต่อเด็กอาจเป็นอดีตผู้ถูกกระทำความรุนแรง ทว่าขาดความสามารถในการเข้าใจตนเองและแก้ไขปัญหาสุขภาพจิตของตน จึงควรมีกลไกให้ความช่วยเหลือแก่คนเหล่านี้อย่างทันท่วงที รวมถึงมีการตรวจสอบ และรายงานปัญหาอย่างสม่ำเสมอเพื่อตัดไฟแต่ต้นลม โดยผู้ตรวจสอบและรายงานควรเป็นผู้ใกล้ชิดโรงเรียนและบุคลากรในโรงเรียน โดยอาจเป็นอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านหรือ อสม. หรือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล (รพ.สต.)

‘ครูใหม่’ ปิยวลี ธนเศรษฐกร ผู้ก่อตั้งและหัวหน้าบรรณาธิการเว็บไซต์ 101educare.com เสริมว่า “ครูนั้น แม้มีคุณวุฒิก็ต้องผ่านการประเมินผลการปฏิบัติงาน และผู้ปกครองต้องรับรู้ว่าพฤติกรรมของตนที่บ้านส่งผลต่อพฤติกรรมของลูกอย่างไร ทั้งสองฝ่ายต้องถูก ‘ติเพื่อก่อ’ และต้องร่วมมือกัน”

ขณะที่ ‘ครูหม่อม’ ปนัดดา ธนเศรษฐกร จากสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล เสนอให้มี ‘ศูนย์บริหารสถานการณ์วิกฤตเด็กปฐมวัย’ เพื่อแก้ไขและติดตามการกระทำความรุนแรงต่อเด็ก เน้นการสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหา

โดยครูหม่อมอธิบายแนวคิดดังกล่าวผ่านแผนภาพ ‘ห้าสิ่งมีอยู่จริง’ คือเมื่อเด็กอยู่ในห้องเรียน ครูต้องมี ‘อยู่จริง’ คือเป็นที่พึ่งพา ใส่ใจความต้องการของเด็กจริง หลักสูตรการศึกษาที่ตอบโจทย์พัฒนาการของเด็กต้องมีอยู่จริง เช่นเดียวกับครอบครัว เพื่อนร่วมงานของครูซึ่งไม่ดูดายเมื่อครูประสบปัญหา หรือเมื่อเด็กถูกกระทำความรุนแรง ตลอดจนหน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือ เมื่อทั้งหมดนี้มีอยู่จริง เด็กจึงจะมีตัวตน มีอยู่จริงเช่นกัน

ข้อเสนอเหล่านี้ล้วนสอดคล้องกับข้อเสนอของ สรยศ พนายางกูร ผู้บริหารโรงเรียนเศรษฐบุตรอุปถัมภ์ที่เสนอวิธีแก้ไขปัญหาความรุนแรงด้วยแนวคิด PIE คือการป้องกัน (Prevention) การให้ความช่วยเหลืออย่างทันท่วงที (Intervention) และความเข้าอกเข้าใจซึ่งกันและกัน (Empathy) โดยบุคลากรในโรงเรียนต้องมีโอกาสร่วมกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหา ผู้เชี่ยวชาญในสาขาวิชาอื่นๆ เช่น นักจิตวิทยาเด็กและครอบครัว จิตแพทย์ ฯลฯ อาจให้ความร่วมมือกับโรงเรียนได้เช่นกัน ผ่านการให้นักจิตวิทยาเด็กและครอบครัวฝึกประสบการณ์วิชาชีพในโรงเรียน อันเป็นประโยชน์ต่อเด็ก และเป็นการพัฒนาองค์ความรู้ของนักจิตวิทยา

สรยศเสนออีกด้วยว่าควรมีฐานข้อมูลบุคลากรทางการศึกษาเสียที เพื่อตรวจสอบและติดตามผลการปฏิบัติงานของบุคลากรทางการศึกษา สอดคล้องกับข้อเสนอของนายแพทย์บวร แมลงภู่ทอง กุมารแพทย์ ผู้เชี่ยวชายด้านพัฒนาการทักษะสมอง ที่เชื่อว่าความร่วมมือระหว่างครอบครัว โรงเรียน และชุมชนจะนำมาซึ่งพื้นที่ปลอดภัยในการเรียนรู้ของเด็ก โดยทุกภาคส่วนต้องตรวจสอบซึ่งกันและกัน

 

หลากหลายเครื่องมือเพื่อส่งเสริมพัฒนาการเด็กเล็ก 

 

ทั้งสองข้อเสนอไม่อาจเป็นไปได้โดยปราศจากกลไกตรวจสอบคุณภาพสถานศึกษาและบุคลากรอย่างสม่ำเสมอ ตลอดจนเทคโนโลยี และเครื่องมือแก้ไขปัญหาที่มีประสิทธิภาพ โดยผู้กล่าวถึงประเด็นดังกล่าวอย่างน่าสนใจ คือ ‘ครูก้า’ กรองทอง บุญประคอง ผู้ก่อตั้ง และผู้บริหารโรงเรียนจิตตเมตต์ (ปฐมวัย)

ครูก้าชี้ว่า องค์ความรู้ของผู้บริหารโรงเรียนส่งผลต่อความปลอดภัยและพัฒนาการของเด็กเช่นกัน “หากต้องการให้โรงเรียนเป็นพื้นที่ปลอดภัย ต้องถามด้วยว่า ใครเป็นเจ้าของบ้าน อย่างไรเสียโรงเรียนเอกชนก็เป็นธุรกิจ แต่ต้องเป็นธุรกิจของนักการศึกษา”

ครูก้ากล่าวต่อไปว่า ผู้บริหารโรงเรียนหลายคนนั้นมีเจตนาดี แต่มีความเข้าใจคลาดเคลื่อน จึงควรผ่านการฝึกอบรมที่เกี่ยวข้อง และต้องมีการกำกับดูแลโดยหน่วยงานภาครัฐ โดยองค์ความรู้ของผู้บริหารโรงเรียนต้องเป็นหัวข้อสำคัญในการประเมินโรงเรียน

เช่นเดียวกับ แพทย์หญิงวนิดา เปาอินทร์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้าน กุมารเวช ที่เชื่อว่าการจัดการศึกษาปฐมวัยในปัจจุบันอยู่ในภาวะวิกฤต หลายพฤติกรรมไม่พึงประสงค์นั้นถูกเสริมแรงด้วยวัฒนธรรมจึงกำจัดได้ยาก ต้องมีกฎหมายหรือข้อบังคับเพื่อควบคุมและดูแล โดยบุคลากรในโรงเรียนต้องรับรู้ว่ากระทำความรุนแรงต่อเด็กไม่ได้ และผู้พบเห็นการกระทำความรุนแรงที่ดูดายต้องได้รับโทษเช่นกัน

ทว่าหากผู้ต้องการแจ้งเหตุถูกกดทับด้วยโครงสร้างอำนาจในโรงเรียนจะทำอย่างไร ชิตพงษ์ กิตตินราดร จากสถาบัน ChangeFusion ได้เสนอเครื่องมือเพื่อหยุดวงจรความรุนแรงในโรงเรียน ได้แก่ แชตบอตที่เน้นให้ความรู้เกี่ยวกับการกระทำความรุนแรง ให้คำแนะนำแก่เหยื่อ ตลอดจนเป็นช่องทางร้องทุกข์ และแบบประเมินความเสี่ยงการได้รับผลกระทบจากความรุนแรงซึ่งเป็นแบบประเมินที่ชิตพงษ์ได้พัฒนา โดยรวบรวมข้อมูลความสัมพันธ์ระหว่างสภาพแวดล้อม และค่าทักษะ EF (Executive Function) หรือกระบวนการทางความคิดในสมองส่วนหน้าที่เกี่ยวข้องกับความคิด ความรู้สึก และการกระทำของเด็กในจังหวัดลพบุรี ราว 2,000 คน เพื่อใช้ประเมินสุขภาพจิตของเด็กๆ

อย่างไรก็ตาม ชิตพงษ์ยอมรับว่า กลไกเหล่านี้ไม่อาจมีประสิทธิภาพ หากปราศจากความร่วมมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในท้องถิ่นที่ให้ความช่วยเหลือแก่เหยื่อได้ทันท่วงที

อีกเสียงหนึ่งที่กล่าวถึงเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับพัฒนาการของเด็ก คือเสียงของ ภูเบศร์ สมุทรจักร จากสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล โดยภูเบศร์กล่าวว่า พื้นที่ ‘เล่น’ ที่สำคัญของเด็กในปัจจุบัน คือพื้นที่ออนไลน์ ทว่าพื้นที่ออนไลน์ไม่มีกล้องวงจรปิด ครูและผู้ปกครองไม่รู้ว่าเด็กๆ กระทำความรุนแรงหรือถูกกระทำความรุนแรงหรือไม่ แม้เด็กๆ ทั้งในเมืองและในชนบทเข้าถึงพื้นที่ออนไลน์แล้วมากกว่าร้อยละ 90

เมื่อเด็กเข้าถึงพื้นที่ออนไลน์ได้แล้ว ครอบครัวควรมีการสร้างเงื่อนไขเพื่อควบคุมการเข้าถึงพื้นที่ออนไลน์ ทั้งการกำหนดโอกาส เวลาที่ใช้ และเนื้อหาที่รับชม นอกจากนี้ ยังควรมีคู่มือ คล้ายสมุดบันทึกสุขภาพแม่และเด็กหรือสมุดสีชมพู เพื่อให้คำแนะนำที่ผู้ปกครองปรับใช้ในครอบครัวได้ เช่นเดียวกับคู่มือสำหรับครู โดยผู้ผลิตอุปกรณ์ดิจิทัล รวมถึงผู้ผลิตเนื้อหาออนไลน์ต้องให้ความร่วมมือ มีอัลกอริธึมที่เหมาะสมหากเด็กร่วมใช้งานพื้นที่ออนไลน์ มีรายงานประจำสัปดาห์ว่าเข้าชมรายการใดมากน้อยเท่าใด เป็นต้น โดยองค์กรเหล่านี้จะปฏิเสธความรับผิดชอบข้างต้นไม่ได้

 

หากข่าวการกระทำความรุนแรงต่อเด็กเป็นเพียงยอดของภูเขาน้ำแข็งที่ไม่ได้บอกขนาดจริงของปัญหา เวทีการระดมข้อเสนอนี้อาจบอกหลายคนอย่างชัดเจนว่า การขาดความเข้าใจ หรือการมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับการเรียนรู้ของเด็กเล็ก การขาดความร่วมมือระหว่างครอบครัว โรงเรียน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเสริมสร้างพัฒนาการของเด็กนี้เองที่เป็น ‘ฐาน’ ของภูเขาน้ำแข็งชื่อ ‘ความรุนแรงต่อเด็กปฐมวัย’ ที่บ่มเพาะปัญหาสุขภาพจิตและพัฒนาการระยะยาว อันนำไปสู่ปัญหาสังคมอื่นๆ ต่อไป

เพราะยอดของภูเขาน้ำแข็งไม่ใช่ทั้งหมดปัญหา จึงต้องสำรวจฐานของภูเขาน้ำแข็งเพื่อรู้ขนาด รูปร่าง และขอบเขตของอุปสรรคอันขจัดได้ยากนี้ ก่อนกำหนดเส้นทางปลอดภัยเพื่อเดินเรือแห่งการพัฒนาเด็กและเยาวชนจนถึงฝั่ง ไม่อับปางเพราะจู่โจมแก้ไขปัญหาโดยไม่รู้ข้อเท็จจริงกระทั่งกลายเป็นการซ้ำเติมปัญหา และไม่ชะงักงันเพราะกังวลจนไม่อาจเคลื่อนที่ ด้วยไม่รู้ว่าปัญหาอยู่ที่ใดนั่นเอง

 


ผลงานชิ้นนี้เป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ The101.world

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Education

20 Jul 2023

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในวิกฤต (?)

ข่าวการปรับหลักสูตรของอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชวนให้คิดถึงอนาคตของการเรียนการสอนสายมนุษยศาสตร์ เมื่อตลาดแรงงานเรียกร้องทักษะสำหรับการทำงานจริง จนมีการลดความสำคัญวิชาพื้นฐานอันเป็นการฝึกฝนการวิเคราะห์วิพากษ์เพื่อทำความเข้าใจโลกอันซับซ้อน

เสียงเล็กๆ จากประชาคมอักษร

20 Jul 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save