fbpx
ภาษี e-Service: ก้าวแรกของการเก็บภาษีจาก Digital Economy

ภาษี e-Service: ก้าวแรกของการเก็บภาษีจาก Digital Economy

อธิภัทร มุทิตาเจริญ เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

คณะรัฐมนตรีเพิ่งมีมติเห็นชอบภาษี e-Service เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา ภาษีตัวนี้เกี่ยวข้องกับ ‘บริการ’ ดิจิทัลที่เราใช้กัน เช่น Netflix และ Google ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญต่อชีวิตประจำวันของคนทั่วไปเพิ่มขึ้นมากขึ้นเรื่อยๆ

ในโลกหลังโควิดที่รัฐบาลทุกประเทศมุ่งหน้าหารายได้เพิ่มเพื่อชดเชยรายจ่าย การเก็บภาษีจาก digital economy กำลังเป็นประเด็นภาษีที่สำคัญในทั้งประเทศกำลังพัฒนาและประเทศพัฒนาแล้ว ภาษี e-Service จึงถือเป็นก้าวสำคัญของกรมสรรพากรในการปรับตัวเข้ากับโมเดลทางธุรกิจและพฤติกรรมของคนที่เปลี่ยนไปในโลกดิจิทัล ในบทความนี้ ผมชวนท่านผู้อ่านคุยถึงบทบาท และผลกระทบทางเศรษฐศาสตร์ของภาษีตัวนี้ครับ

 

ภาษี e-Service คืออะไร

 

ภาษี e-Service คือภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการซื้อบริการดิจิทัลจากต่างประเทศ เช่น การซื้อแพ็กเกจรายเดือนของ Netflix การซื้อโฆษณาผ่าน Facebook และการซื้อแอปฯ ต่างๆ บน Google play store เป็นต้น โดยปกติเวลาที่เราซื้อบริการต่างๆ ภายในประเทศ เรามีหน้าที่ต้องจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% อยู่แล้ว โดยผู้ขายมีหน้าที่เก็บภาษีจากเรา และนำส่งให้รัฐ แต่ในกรณีที่ผู้ขายอยู่ต่างประเทศ กฎหมายปัจจุบันของเรามีข้อจำกัดค่อนข้างมาก ส่งผลให้การเก็บภาษีแทบจะเป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติ และกลายเป็นช่องโหว่ให้ tech firms ต่างชาติทั้งหลายใช้ในการหลบเลี่ยงภาษี (tax avoidance) ซึ่งถ้าเราสังเกตใบเสร็จที่เราจ่ายผู้ให้บริการดิจิทัลต่างๆ เรามักจะเห็นว่าชื่อผู้ขายที่เราจ่ายให้คือบริษัทตั้งอยู่ในประเทศ tax haven ต่างๆ ไม่ใช่บริษัทลูกที่อยู่ในไทย

 

ใครเป็นผู้แบกรับภาระภาษี e-Service

 

หนึ่งในคำถามสำคัญของการออกภาษีใหม่คือ ใครจะเป็นคนแบกรับภาระภาษีนั้น ในทางเศรษฐศาสตร์ ภาระภาษีจะแตกต่างจากภาระภาษีตามกฎหมาย ซึ่งหมายถึงผู้ที่มีหน้าที่นำส่งภาษีให้รัฐ โดยภาระภาษีทางเศรษฐศาสตร์หมายถึง ส่วนต่างระหว่างราคาที่ผู้ซื้อต้องจ่ายเมื่อมีภาษี เปรียบเทียบกับราคาก่อนจะมีการเก็บภาษีนั้น เช่น หากก่อนมีการจัดเก็บภาษี สินค้ามีราคา 100 บาท แต่รัฐมีการจัดเก็บภาษี 7% ผู้ขายปรับราคาสินค้าเป็น 105 บาท ภาระภาษีของผู้ซื้อจะเป็น 105-100 = 5 บาท ในขณะที่ภาระภาษีสำหรับผู้ขายจะเท่ากับส่วนของภาษีที่เหลือที่ไม่ได้มีการผลักไปให้ผู้ซื้อเท่ากับ 7-5 = 2 บาท

ความสามารถของผู้ขายในการผลักภาระภาษีไปให้ผู้ซื้อขึ้นอยู่กับความอ่อนไหวต่อราคา หรือความยืดหยุ่นของอุปสงค์ของผู้ซื้อ นั่นคือ ผู้ซื้อมีทางเลือกในการซื้อสินค้าที่สามารถทดแทนสินค้าของผู้ขายได้แค่ไหน และมีความจำเป็นในการบริโภคมากน้อยเพียงไร หากสินค้านั้นมีความยืดหยุ่นต่ำ ผู้ซื้อไม่มีตัวเลือกอื่นที่ใกล้เคียงมากนัก ผู้ขายก็จะสามารถผลักภาระภาษีมาให้ผู้ซื้อได้มาก

ในกรณีของภาษี e-Service นั้น การแบ่งภาระภาษีระหว่างผู้ขายและผู้ซื้อจะขึ้นอยู่กับความยืดหยุ่นของอุปสงค์เช่นเดียวกัน คำถามสำคัญคือ ผู้บริโภคไทยมีทางเลือกที่สามารถทดแทนบริการดิจิทัลต่างๆ เช่น การดูหนังผ่าน Netflix หรือ การซื้อแอปฯ ต่างๆ ใน App Store หรือ การโฆษณาผ่าน Facebook มากน้อยแค่ไหน คำตอบคือทางเลือกโดยตรงน่าจะน้อยมาก ดังนั้นเราน่าจะเห็นการผลักภาระภาษี e-Service มาให้ผู้ซื้อมากพอสมควร ประสบการณ์ของต่างประเทศที่มีการจัดเก็บภาษีในลักษณะเดียวกันมักจะชี้ว่า ผู้ขายจะปรับราคาค่าบริการขึ้น เช่น ในประเทศเม็กซิโก Netflix ปรับตัวโดยขึ้นราคาและผลักภาระภาษี 100% มาให้ผู้ซื้อบริการแพ็กเกจ standard และ premium ที่มีความอ่อนไหวต่อราคาต่ำ ในขณะที่ผลักภาระภาษี 50% มาให้ผู้ซื้อแพคเกจ basic ที่มีความอ่อนไหวต่อการขึ้นราคามากกว่า

 

ภาษี e-Service ช่วยส่งเสริมการแข่งขันของธุรกิจไทยได้ไหม และจะทำให้เกิดการตอบโต้ทางการค้าหรือไม่

 

จุดประสงค์สำคัญของภาษี e-Service คือ การส่งเสริมการแข่งขันที่เป็นธรรมระหว่างผู้ให้บริการในและนอกประเทศ ที่ผ่านมาผู้ให้บริการต่างประเทศไม่ต้องจ่ายภาษี VAT ทำให้ได้เปรียบด้านราคา เช่น ธุรกิจสตาร์ทอัพไทยที่อยากจะสร้างแพลตฟอร์มให้บริการสตรีมมิงแบบ Netflix บ้าง ก็จะต้องเสียเปรียบด้านราคาทันที เนื่องจากมีต้นทุนภาษี VAT ที่ Netflix ไม่มี ถ้าสตาร์ทอัพไทยอยากจะลดความเสียเปรียบนี้ ก็อาจจะต้องวางแผนภาษีโดยการไปจดทะเบียนในต่างประเทศก่อนที่จะมาขายบริการให้คนไทย ซึ่งภาษี e-Service จะช่วย level playing field นี้สำหรับสตาร์ทอัพไทยในอนาคต

อย่างไรก็ตาม ภาษี e-Service เป็นแค่จิ๊กซอว์เล็กๆ ชิ้นเดียวในสมรภูมิการแข่งขันของตลาดบริการดิจิทัล ซึ่งเต็มไปด้วยยักษ์ใหญ่ต่างชาติที่มีความได้เปรียบเป็นอย่างมากในด้าน economies of scale (ยิ่งขนาดใหญ่ ยิ่งได้เปรียบเรื่องต้นทุน) การเก็บภาษี VAT จากผู้ให้บริการต่างประเทศจึงเป็นการเพิ่มความเป็นธรรมด้านภาษี แต่คงไม่มีศักยภาพมากพอที่จะช่วยให้สตาร์ทอัพไทยแข่งขันกับยักษ์ใหญ่ต่างประเทศได้ด้วยตัวเอง

เมื่อไม่นานมานี้ อีกข่าวใหญ่ที่เราเห็นคือ การที่สหรัฐฯ ประกาศจะดำเนินการสอบสวนมาตรา 301 กับประเทศที่วางแผนจะเก็บ digital services tax ซึ่งมี 10 ประเทศและกลุ่มประเทศที่จะโดนสอบสวน (สหราชอาณาจักร ออสเตรีย บราซิล เช็ก อินเดีย อินโดนีเซีย อิตาลี สเปน ตุรกี และกลุ่ม EU) ที่ผ่านมาสหรัฐฯ เคยใช้มาตรา 301 ตอบโต้จีนด้วยการเก็บภาษีศุลกากรแล้ว และยังอยู่ระหว่างการเจรจากับฝรั่งเศสที่ประกาศจะเก็บ digital services tax เช่นกัน

โอกาสที่ไทยจะโดนการตอบโต้ทางการค้าคงไม่มากนัก เนื่องจากภาษี e-Service ของไทยไม่ได้เป็นการเลือกปฏิบัติ ถือเป็นการเก็บภาษีบนฐานการบริโภคในลักษณะเดียวกับที่เก็บจากผู้ให้บริการในประเทศ แตกต่างกับประเทศที่โดนสอบสวนชัดเจน เช่น ฝรั่งเศสที่วางแผนจะเก็บภาษีจากยอดขาย (turnover) ทั้งหมดของ tech firms ต่างชาติ อย่างไรก็ตามในยุคที่ภูมิรัฐศาสตร์ (geopolitics) เป็นตัวนำนโยบายเศรษฐกิจนี้ เหตุผลทางเศรษฐศาสตร์อย่างเดียวอาจจะไม่เพียงพอในการออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ tech firms ต่างชาติ และรัฐบาลต้องระวังมาตรการในอนาคตที่อาจถูกโยงว่าเป็นการเลือกปฏิบัติ เช่น การลงโทษและจำกัดสิทธิของ tech firms ที่ไม่นำส่งภาษี e-Service อย่างถูกต้องเป็นต้น

 

บทส่งท้าย

 

การหาวิธีในการเก็บภาษีที่เหมาะสมจากเศรษฐกิจดิจิทัล เป็นความท้าทายที่มีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ต่อนโยบายภาษีของไทยในโลกหลังโควิด และภาษี e-Service นับเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของประเทศไทย อย่างไรก็ตาม ภาษีนี้จะเก็บบนฐานการบริโภคเท่านั้น โจทย์ใหญ่ที่สำคัญต่อไปคือการเก็บภาษีจากกำไรของ tech firms ยักษ์ใหญ่ต่างชาติ ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยไม่สามารถเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลได้เลย เนื่องจากบริษัทเหล่านั้นมักจะไม่มีสถานประกอบการถาวรในไทย แต่มีการใช้ประโยชน์จากข้อมูลผู้ใช้ในประเทศชัดเจน โจทย์นี้เป็นเรื่องของการเจรจาในระดับโลก ซึ่งคำตอบจะมีผลไม่เพียงแค่เรื่องของภาษี แต่ยังโยงไปถึงความยั่งยืนทางการคลังของประเทศในระยะยาวด้วย

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save