fbpx

สถาปัตยกรรมภายใต้เขี้ยวเล็บเสรีนิยมใหม่ : ดักลาส สเปนเซอร์

หากคุณเดินทางไปยังย่านใจกลางเมือง โดยเฉพาะส่วนที่เป็นพื้นที่ของสำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คุณคงพบว่าในพื้นที่หลายร้อยตารางกิโลเมตรนั้น มีตั้งแต่ตึกสูงระฟ้า อาคารเรียน คอนโดมิเนียมหรูหรา ไปจนถึงไซต์ก่อสร้างขนาดยักษ์

ที่หลืบเร้น ซุกตัวเงียบเชียบในตัวเมืองนั้นคือ ‘ศาลเจ้าแม่ทับทิม’ สถานที่พำนักทางจิตวิญญาณของหลายๆ คนที่อยู่มานานนับทศวรรษ และความสุ่มเสี่ยงในการจะถูกรื้อถอน หลังสำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาฯ วางแผนปรับปรุงพื้นที่ส่วนศาลเจ้าแม่ทับทิมสะพานเหลือง เพื่อเตรียมไปก่อสร้างเป็นอาคารเชิงพาณิชย์และที่พักอาศัย จนกลายเป็นกระแสที่ผู้คนพากันวิพากษ์วิจารณ์การกระทำของมหาวิทยาลัยที่ละเลยพื้นที่ทางวัฒนธรรม ยิ่งโดยเฉพาะหากพิจารณาว่า ศาลเจ้าแม่ทับทิมไม่ใช่รายแรกที่ถูกคำสั่งเบียดขับเช่นนี้ แต่ยังเคยมีโรงภาพยนตร์สกาลา, ร้านหนังสือ ไปจนถึงร้านค้าคู่บุญประจำย่านหลายต่อหลายแห่งที่จำต้องพ่ายแพ้และจากไปในรอบไม่กี่ปีที่ผ่านมา

ดักลาส สเปนเซอร์

ดักลาส สเปนเซอร์ (Douglas Spencer) เป็นอาจารย์สาขาวิชาประวัติศาสตร์และทฤษฎีวิพากษ์เชิงวิจารณ์ ที่มหาวิทยาลัยบักกิงแฮมเชอร์ ชิลเทิร์นส์ในสหราชอาณาจักร เมื่อครั้งที่หนังสือ The Architecture of Neoliberalism: How Architecture Became an Instrument of Control and Compliance (2016) ของเขาได้รับการตีพิมพ์ มันก็ถูกพูดถึงอย่างหนาหูในแง่การวิพากษ์ต่อแนวคิดเสรีนิยมใหม่ที่เข้าไปเกาะเกี่ยวกับสถาปัตยกรรม โดยเฉพาะการตั้งคำถามต่ออาคารหน้าตาล้ำยุคในเมืองใหญ่ต่างๆ และบรรดาสถาปนิกชื่อก้องโลกมากมาย 

สำหรับสเปนเซอร์ ชะตากรรมของศาลเจ้าแม่ทับทิม ตลอดจนสิ่งปลูกสร้างเล็กๆ น้อยๆ ที่ค่อยๆ ถูกกลืนหายไปในเงื้อมมือทุนนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ หากแต่ก็ยังเป็นเรื่องน่าเศร้าสำหรับเขาและหลายๆ คน

ในวาระที่สเปนเซอร์เดินทางมาเยือนประเทศไทย 101 ได้รับโอกาสอันดีในการได้สนทนากับเขาซึ่งเชี่ยวชาญทั้งในแง่สถาปัตยกรรมและการเมือง การเปลี่ยนผ่านของงานออกแบบอาคารบ้านเรือนที่ค่อยๆ ผันเปลี่ยนไปจากที่เราคุ้นเคยเมื่อระบบเสรีนิยมใหม่เข้ามามีบทบาท และดูเหมือนว่านี่ก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้่นในไทยด้วยเช่นกัน

หนังสือคุณเขียนถึงความสัมพันธ์ระหว่างสถาปัตยกรรมและแนวคิดเสรีนิยมใหม่ พอนิยามคร่าวๆ ได้ไหมว่ามันเกี่ยวข้องกันอย่างไร

เสรีนิยมใหม่เป็นอีกรูปแบบหนึ่งของทุนนิยมซึ่งพัฒนาขึ้นมาราวๆ ยุค 70s-80s มันเป็นหมุดหมายของจุดจบของรัฐสวัสดิการในช่วงนั้น รวมทั้งยังรื้อเอาวิธีคิดที่ว่ารัฐควรให้การสนับสนุนประชาชนออกไปด้วย ไม่ว่าจะในแง่การให้บริการสุขภาพ, การศึกษา หรือที่อยู่อาศัยต่างๆ รัฐประนีประนอมต่อทุนนิยมมากขึ้น ประชาชนถูกมองข้าม รัฐกลายเป็นผู้ให้บริการสำหรับทุนนิยมและการตลาด เท่ากับว่า ทุกสิ่งทุกอย่างจึงถูกควบคุมโดยตลาด และนั่นจึงหมายความว่า คนกลายเป็นคนไร้บ้านเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่หน้าที่ของรัฐในการต้องรับผิดชอบต่อที่อยู่อาศัย, ยารักษาโรค, บริการสุขภาพและการศึกษาก็ลดน้อยลง 

ถามว่ามันส่งผลต่อสถาปัตยกรรมอย่างไร ผมว่าสถาปัตยกรรมมองเห็นบทบาทและหน้าที่ใหม่ของตัวเองท่ามกลางเงื่อนไขข้างต้นซึ่งเปลี่ยนแปลงไป และในรูปลักษณ์ใหม่ของทุนนิยมนี่เอง แทนที่สถาปัตยกรรมจะทำหน้าที่ในการออกแบบที่พักอาศัย โรงเรียนหรือโรงพยาบาล สถาปัตยกรรมก็หันไปให้ความสำคัญกับการออกแบบโรงแรมหรูหรา ห้างสรรพสินค้าหรือศูนย์วัฒนธรรมแทน

ตัวอย่างที่โด่งดังมากๆ คือพิพิธภัณฑ์กุกเกนไฮม์ (Guggenheim Museum) ในเมืองบิลเบา ประเทศสเปน ตัวเมืองบิลเบาเป็นเมืองหลังอุตสาหกรรม พวกเขาเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจในเมืองเพื่อให้รองรับกับนักท่องเที่ยว รัฐจึงไม่ต้องมาดูแลอะไรพวกเขา ตัวเมืองเองก็พยายามดึงดูดเงินจากนักท่องเที่ยว ดังนั้นแล้ว สถาปัตยกรรมจึงทำหน้าที่เป็นเครื่องดึงดูดความสนใจของผู้คนเป็นหลัก

แล้วการเปลี่ยนผ่านในลักษณะนี้ของสถาปัตยกรรมมันส่งผลกระทบต่อผู้คนอย่างไร

มันทำให้ผู้คนมองสถาปัตยกรรมในฐานะสิ่งบันเทิง เป็นสิ่งที่คุณเห็นว่าน่าสนใจ หรือเป็นสิ่งที่คุณอยากถ่ายรูปเก็บไว้ มากกว่าจะมองมันในฐานะสิ่งที่คุณใช้สอยในชีวิตประจำวัน สถาปัตยกรรมจึงไม่ได้ทำหน้าที่สิ่งที่ทำให้คุณใช้ชีวิตได้สะดวกสบายในชีวิตประจำวัน แต่มันกลายเป็นสิ่งซึ่งถูกสร้างขึ้นมาเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว ดึงดูดเงินลงทุนเป็นหลัก และมีขึ้นเพื่อสร้างรายได้ให้แก่ระบบเศรษฐกิจของเมือง

คุณมาเริ่มสนใจความเชื่อมโยงระหว่างทุนนิยม เสรีนิยมใหม่และสถาปัตยกรรมตั้งแต่ตอนไหน

ถามดีนะ (หัวเราะ) คือผมเคยมีพื้นฐานเป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมือง จำพวกประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมสักในยุค 1980s ทำนองนั้น แล้วสมัยเป็นนักเรียน ผมก็เคยเรียนเรื่องทฤษฎีแนววิพากษ์ (critical theory) มาด้วย จากนั้นผมก็สอนเกี่ยวกับสถาปัตยกรรม, ประวัติศาสตร์และทฤษฎีต่างๆ นั่นคือช่วงที่ผมเริ่มสถาปัตยกรรมผ่านเลนส์การเป็นนักเคลื่อนไหวทั้งทางด้านการเมืองและด้านสิ่งแวดล้อมของตัวเอง

ช่วง 80s เป็นหนึ่งในช่วงที่เกิดการเปลี่ยนผ่านทางสังคมการเมืองหลายๆ อย่าง ทั้งในแง่การมาถึงของสงครามเย็น, เสรีประชาธิปไตย สิ่งเหล่านี้มันเปลี่ยนมุมมองคุณต่อโลกบ้างไหม

แน่นอนเลย เพราะเดิมทีผมไม่ได้สนใจสถาปัตยกรรมนัก ผมสนใจเรื่องการเมืองเป็นหลัก จะมาสนใจเรื่องการเมืองในสถาปัตยกรรมเอาก็ช่วง 10 หรือ 15 ปีให้หลังนี่เอง

ในหนังสือของคุณกล่าวถึงและวิพากษ์วิจารณ์งานของสถาปนิกชื่อดังเยอะมาก หนึ่งในนั้นคือ ซาฮา ฮาดิด (Zaha Hadid -สถาปนิกชาวอิรัก-อังกฤษ เป็นผู้ออกแบบศูนย์ไฮดา อาลิเยฟที่อาเซอร์ไบจาน) งานของเธอสำคัญอย่างไร

ตอนที่ผมเขียนหนังสือเล่มนี้ เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่สถาปนิกหลายๆ คนมีโปรเจกต์ ยิ่งสถาปนิกที่มีชื่อเสียงก็เริ่มขยับจากการทำโปรเจ็กต์เล็กๆ มาจับโปรเจ็กต์ที่ใหญ่ขึ้น สิ่งที่ผมสนใจคือการสำรวจข้อถกเถียงเกี่ยวกับคอนเซปต์ของพาราเมตริก (Parametricism -การออกแบบโดยใช้อัลกอริธึมคณิตศาสตร์) และดูว่ามันทำงานกับสังคมอย่างไรบ้าง 

และนี่ก็เป็นเหตุผลว่าทำไมผมจึงเขียนถึงอาคาร BMW (The BMW Central Building) ในเมืองไลพ์ซิช ประเทศเยอรมนี ผมว่ากรณีนี้น่าสนใจมากๆ เพราะ BMW และตัวสถาปัตยกรรมนั้นดูล้ำยุคมาก ทุกคนไปเจอกันที่นั่นเพื่อพบปะพูดคุยกับคนอื่นๆ เหมือนทุกคนไปรวมตัวกันที่นั่น ตัวงานออกแบบก็ทำให้การพบปะเหล่านั้นเกิดขึ้นได้ด้วยดี มันดูช่างก้าวหน้า ช่างประชาธิปไตยใช่ไหม แต่อันที่จริงแล้ว แรงงานที่ทำงานให้อาคารนี้จึงแทบไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายเลย ระยะเวลาในสัญญาการทำงานก็สั้น และเมื่อความต้องการในการซื้อรถของผู้คนต่ำลง แรงงานเหล่านี้คือคนกลุ่มแรกๆ ที่องค์กรเอาออก และเมื่อยอดขายรถกลับมาสูงเหมือนเดิม พวกเขาก็ค่อยถูกเรียกตัวกลับมาทำงาน

เพราะฉะนั้น แนวคิดที่ว่าด้วยการพบปะ มีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นๆ และการพยายามจะสร้างอาคารที่เอื้อต่อการเกิดสังคม ชุมชนใหม่ๆ เช่นนี้ มันจึงเป็นพื้นที่ที่ไม่จริงเอาเสียเลย เพราะหากว่าพื้นที่ชุมชนนี้มีอยู่จริง คุณคงไม่เอาคนออกจากชุมชนของคุณง่ายดายปานนั้น หรือเรียกพวกเขากลับมาก็ต่อเมื่อคุณต้องการหรอก คุณจะดูแลทุกคน แบ่งปันทุกคน 

ว่าไปแล้ว ผมกำลังบอกว่ามันคือความไม่จริงใจ (hypocrisy) น่ะ 

ถ้าอย่างนั้นในมุมของสถาปนิกแล้ว การที่งานออกแบบเริ่มหันมาจับกับทุนนิยมมากขึ้น ส่งผลหรือเปลี่ยนแปลงวิธีคิดพวกเขาอย่างไรบ้าง

สถาปนิกน่ะรู้ดีว่าทุนนิยมทำงานอย่างไร (หัวเราะ) พวกเขารู้ว่าโปรเจกต์ออกแบบของเขามีขึ้นเพื่อยกระดับตัวเมืองเป็นสำคัญ 

ผมเข้าใจว่ามันมีช่วงเล็กๆ อยู่ช่วงหนึ่ง -น่าจะสักช่วงกลางศตวรรษที่ 20 ได้มั้ง- ที่สถาปนิกทำงานออกแบบเพื่อคนส่วนใหญ่ในสังคมนะ คือถ้าคุณลองไปดูประวัติศาสตร์ของสถาปัตยกรรม คุณคงพบว่าพวกเขามักออกแบบพระราชวังอะไรทำนองนั้น (หัวเราะ) สร้างคฤหาสน์หรูๆ และนี่แหละคือสถาปัตยกรรมยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา (renaissance) ขณะที่แนวคิดเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมยุคใหม่นั้นมักถูกใช้เพื่อออกแบบให้ครอบครัวที่มั่งคั่งก่อน รวมทั้งออกแบบธนาคาร หรือไม่ก็พวกตระกูลเมดีชี (The House of Medici -หมายถึงตระกูลที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดตระกูลหนึ่งในอิตาลี) และนี่แหละคือสิ่งที่สถาปัตยกรรมเป็นมาโดยตลอด

อย่างในสหราชอาณาจักรหรือในสหรัฐอเมริกา ยุคที่มีคอมมิวนิสต์ มีรัสเซียและมีประเทศกลุ่มตะวันออก ทุนนิยมในเวลานั้นมีหน้าที่ต้องดูแลผู้คนให้ดี เพื่อเป็นเครื่องป้องกันไม่ให้คนหันไปเป็นคอมมิวนิสต์กันหมด ดังนั้น คุณจึงต้องมอบอะไรให้แก่ผู้คนบ้าง ไม่เช่นนั้นคนก็จะรู้สึกว่า “โอ้! ดูรัสเซียเขาสิ เขามีระบบการศึกษา มีระบบสาธารณสุข แถมพวกเขายังมีงานมีการทำด้วย คนไร้บ้านก็ไม่มี แล้วดูประเทศเราเถอะ” และนั่นคือสภาพการณ์ในตอนนั้น แค่ตอนนั้นนะ จากนั้นเมื่อระบบทุนนิยมกับคอมมิวนิสต์เปลี่ยนไป ที่เหลือก็เปลี่ยนตาม

กลายมาเป็นว่า แนวคิดการออกแบบหันมาจับกับทุนนิยม เช่น ออกแบบเพื่ออาคารหรูๆ มากกว่า และด้านหนึ่งก็มักไม่ใยดีแรงงานที่เป็นคนก่อสร้างอาคารเหล่านั้นด้วยหรือเปล่า

ใช่เลย ผมว่างานออกแบบแบบพาราเมตริก หรือแนวคิดใดๆ ก็ตามที่เป็นงานออกแบบซึ่งดูซับซ้อนนั้น ดูทำราวกับว่ามันเป็นงานศิลปะสักชิ้นซึ่งเกิดขึ้นได้ด้วยตัวเองอย่างน่าอัศจรรย์ แต่แท้จริงแล้ว แรงงานเป็นผู้สร้างทุกสิ่งขึ้นมาทั้งนั้น และแรงงานเหล่านี้นี่เองที่ถูกเอารัดเอาเปรียบอย่างมาก จึงเท่ากับว่า แรงงานซึ่งถูกเอาเปรียบเหล่านี้อยู่ในโครงสร้างของอาคารแต่ละหลัง สิ่งก่อสร้างหลายๆ แห่งในโลกก็สร้างขึ้นมาโดยแรงงานอพยพทั้งสิ้น 

ยกตัวอย่างที่ตะวันออกกลาง ที่ประเทศซาอุดิอาระเบีย ตอนที่การสร้างอาคารสูงเสียดฟ้าได้รับความนิยมมหาศาลนั้น คนที่รับผิดชอบเรื่องโครงสร้างอาคารทั้งหมดคือแรงงานผู้อพยพซึ่งมาจากประเทศอย่างอินเดียหรือไม่ก็ปากีสถาน บางกรณี ตอนที่พวกเขาอพยพมาทำงาน หลายคนถูกยึดพาสปอร์ตไป บางคนไม่ได้รับค่าแรงด้วยซ้ำหรือถ้าได้ก็ได้น้อยมาก และถ้าแรงงานเหล่านี้ไม่ทำตามที่นายจ้างสั่ง พวกเขาก็ไม่ได้พาสปอร์ตคืน องค์กรแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล (Amnesty International) เขียนเคยรายงานเกี่ยวกับเรื่องนี้ด้วย ด้านหนึ่งมันก็ใกล้เคียงกับการทำให้แรงงานเหล่านี้ตกเป็นทาสแล้ว

สิ่งที่คุณพูดทำให้นึกถึงกรณีเวิลด์คัพที่กาตาร์เลย ที่มีแรงงานข้ามชาติมากมายได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากการสร้างสเตเดียมฟุตบอล

ใช่เลย! นั่นก็เป็นอีกรูปแบบหนึ่งของแรงงานที่ทำงานดูแลสิ่งปลูกสร้างต่างๆ และผมว่ามันเป็นเรื่องจำเป็นมากๆ ที่ต้องเห็นภาพและเข้าใจประเด็นเหล่านี้

แม้แต่ในบริษัทสถาปัตย์หลายแห่งเองก็ไม่ได้ปฏิบัติต่อคนทำงานในองค์กรของตัวเองอย่างเท่าเทียมกันทุกคน มันจึงเหมือนการเพ่งเล็งเข้าไปให้ถึงหน่วยย่อยๆ ที่สุด คล้ายว่า นี่คือระบบทุนนิยมที่อยู่ในบริษัทสถาปัตย์ คุณมีเจ้าของบริษัทอย่าง เร็ม คูลฮาส (Rem Koolhaas -สถาปนิกชาวดัตช์ เป็นหนึ่งในผู้ออกแบบอาคาร CCTV ที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีนอันเลื่องชื่อ) หรือ แพทริค ชูมัคเกอร์ (Patrik Schumacher -สถาปนิกชาวลอนดอน หนึ่งในผู้ออกแบบพิพิธภัณฑ์งานศิลปะแห่งศตวรรษที่ 21 หรือ Museo nazionale delle arti del XXI secolo – MAXXI ที่อิตาลี) และคนอื่นๆ อีกมากมาย พร้อมกันนี้คุณก็มีสถาปนิกตัวเล็กตัวน้อยหลายสิบหลายร้อยคนที่ทำงานในบริษัทนั้นๆ และเป็นกลุ่มคนที่ทำงานล่วงเวลาอย่างยากจะเชื่อ และใช้ชีวิตอยู่ในย่านคนจนของตัวเมือง มีหลายคนทีเดียวที่ต้องพักอยู่ร่วมกันเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย ดังนั้นแล้ว สถาปนิกหลายคนที่ทำงานในองค์กรใหญ่ๆ จึงไม่ใช่คนร่ำรวยนัก ทั้งยังใช้ชีวิตอยู่บนความเสี่ยงไม่น้อยเพราะพวกเขาต้องเรียนยาวนานมากๆ สักห้าหรือเจ็ดปีได้ สถานการณ์ที่พวกเขาเจอจึงไม่ง่ายนัก 

ช่วงสี่ถึงห้าปีหลังมานี้ ผมมีโอกาสได้เข้าไปสนับสนุนกลุ่มสถาปนิกที่เป็นคนทำงานตัวเล็กตัวน้อยเหล่านี้ ด้วยการพยายามผลักดันให้มีสหภาพแรงงานของเหล่าสถาปนิก 

ผมเข้าใจนะว่ามันยากมากๆ เวลาคุณมองไปที่สถาปัตยกรรมที่ถูกสร้างขึ้นมาแล้วสักชิ้น มันดูมหัศจรรย์มากเลยเนอะ โดยเฉพาะงานสถาปัตยกรรมแบบพาราเมตริก แต่อีกด้านหนึ่งมันคือหยาดเหงื่อของแรงงาน ซึ่งก็มีกลุ่มคนที่พยายามลงมือให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในประเด็นที่ว่านี้ ชื่อว่ากลุ่ม Who Builds Your Architecture? หรือในอังกฤษก็มีสหภาพแรงงานของกลุ่มสถาปนิกเหมือนกัน

ดูเหมือนว่าปัญหาหลักๆ ก็มาจากทุนนิยม ซึ่งที่จริงแล้วก็เป็นรากของปัญหาในอุตสาหกรรมใหญ่ๆ ทั่วโลกไม่ว่าจะอุตสาหกรรมภาพยนตร์, ดนตรีหรืออาหารซึ่งส่วนมากแล้วก็ยังหาทางคลี่คลายไม่ได้ สำหรับในแวดวงสถาปัตยกรรมเอง คุณพอมีความเห็นหรือทางออกต่อเรื่องนี้ไหม

(หัวเราะ) เกรงว่าจะไม่นะครับ แต่ถึงที่สุดผมว่าเราต่างก็ต้องต่อสู้ในสนามของตัวเอง หาทางจัดการและรวมแรงกันให้ได้ ผมว่ามันคงไม่เกิดขึ้นด้วยการหาคำตอบที่แน่นอนจากใครคนใดคนหนึ่ง แต่เกิดลงการรวมตัวกันของผู้คนเป็นสำคัญมากกว่า

การก่อตัวขึ้นของเสรีนิยมใหม่กับสถาปัตยกรรม เปลี่ยนวิธีมองโลกและความเข้าใจที่เรามีต่องานออกแบบไปแค่ไหน

คำถามยากนะ แต่ผมจะลองพยายามดูแล้วกัน 

ผมขอเริ่มจากการยกตัวอย่างง่ายๆ นี้แล้วกัน ผมเพิ่งไปอาคารสยามสเคป (Siam Scape) ตรงแยกปทุมวัน คุณจะเห็นเลยว่าสถาปัตยกรรมมันถูกออกแบบมาให้เป็นฉากหลังสำหรับคนเอาไว้ถ่ายรูปเซลฟี่แล้วโพสต์ลงอินสตาแกรมกัน การตกแต่ง งานประดับต่างๆ ในอาคารก็เอื้อให้คนทำเช่นนั้นด้วย เหมือนกันกับที่กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ซึ่งผมเพิ่งไปมาเมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อน สิ่งที่ผมพบคือคนพากันถ่ายรูปตัวเองกับร้านหรูๆ 

และนี่แหละที่ผมคิดว่าเสรีนิยมใหม่กับทุนนิยมมันเปลี่ยนวิธีที่เรามองพื้นที่ กล่าวคือ พื้นที่และสถาปัตยกรรมกลายเป็นองค์ประกอบของโซเชียลมีเดีย และตัวโซเชียลมีเดียเองนั้นด้านหนึ่งก็หมายถึงการพูดถึงตัวเราเอง มันจึงไม่ได้เป็นเรื่องเกี่ยวกับการเข้าสังคมเท่าไหร่แล้ว มันเหมือนเน้นความเป็นปัจเจกขึ้น

ชวนนึกถึงคำที่เคยเป็นที่พูดถึงสัก 4-5 ปีก่อนอย่าง instagrammable (หมายถึงสถานที่ซึ่งเหมาะสำหรับถ่ายรูปลงอินสตาแกรมหรือโซเชียลมีเดียอื่นๆ) คุณคิดว่ามันคือกรณีนั้นไหม

ใช่เลย! คำว่า instagrammable กระนั้นผมก็ไม่ได้คิดว่าการที่คนเราจะถ่ายรูปตัวเองเป็นเรื่องแย่อะไรนะ มันไม่ใช่เรื่องที่ควรต้องไปกังวลในแง่ศีลธรรมหรือความชอบธรรม เพราะสิ่งที่ผมคิดว่าควรกังวลคือ สถาปัตยกรรมกลายเป็นสิ่งซึ่งมีเป้าหมายเพื่อเป็นฉากหลังของโซเชียลมีเดีย ถูกออกแบบมาเพื่อการนั้น มากกว่าจะใช้คุณค่าในแง่อื่นๆ ของมันอย่างเต็มที่ 

ไม่แน่ใจว่าเกี่ยวกันไหม แต่กรณีที่เราไปห้างสรรพสินค้าหรือสถานที่หรูหราแล้วเรารู้สึกเหมือนเป็นคนแปลกแยก ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งหรือไม่เหมาะที่จะมาอยู่ตรงนี้ เป็นไปได้ไหมว่านี่ก็อาจเป็นความรู้สึกที่เกิดจากการออกแบบเหมือนกัน

น่าสนใจมากๆ ผมคิดว่าเคยได้ยินคนพูดถึงประเด็นนี้มาแล้วนะ

ผมว่าพวกเมืองใหญ่ๆ อย่างโซล, โตเกียวหรือกรุงเทพฯ พยายามสร้างเมืองให้หรูหราเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติ อย่างในโซลที่มีนักท่องเที่ยวที่ร่ำรวยมากๆ มาในเมือง นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ก็อาจใช้เวลาไม่กี่วันไปเข้าคอร์สเสริมความงาม เวลาที่เหลือพวกเขาก็ไปจับจ่ายใช้สอยในห้างร้านแบรนด์หรูหราอย่าง ชาแนลล์, หลุยส์ วิตตอง มีคนที่ผมเจอในโซลก็บอกผมเหมือนกันว่า พวกเขาไม่รู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกับสถานที่บางแห่ง

คล้ายว่ามันทำให้เรารู้สึกเป็นอื่นหรือแปลกแยกทำนองนั้นด้วย ซึ่งส่วนตัวแล้ว อาคารหลายๆ แห่งในกรุงเทพฯ ก็ทำให้รู้สึกแบบนั้นนะ 

ใช่เลย! มันอาจทำให้คุณรู้สึกเหมือนว่าคุณแต่งตัวมาไม่ถูกต้อง (ยิ้ม) และนี่คือสิ่งที่ คาร์ล มาร์กซ์ (Karl Marx -นักปรัชญาชาวเยอรมัน) เรียกว่าสภาวะแปลกแยก (alienation) คุณไม่รู้สึกว่าคุณเป็นเจ้าของสิ่งใด และในทางกลับกัน สิ่งเหล่านั้นให้ความรู้สึกเหมือนมันต่อต้านคุณด้วยซ้ำไป

คือเมื่อก่อนมันก็มีนะ เมืองใหญ่ๆ บางแห่งก็มีบางย่านของเมืองที่เป็นย่านคนรวย บางย่านก็เป็นย่านคนจน แต่สิ่งที่เราเห็นในเวลานี้คือ บางส่วนของตัวเมืองมันเปลี่ยนไป ผู้คนไม่รู้สึกว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งหรือเข้ากันกับพื้นที่ส่วนใหญ่ของตัวเมือง ซึ่งตัวอย่างที่เห็นได้ชัดมากๆ คือนิวยอร์กในแมนฮัตตัน ย้อนกลับไปสักยุค 70s หรือ 80s แมนฮัตตันตอนล่างคือถิ่นกำเนิดของพังค์ ของฮิปฮอปเลยล่ะ รวมทั้งศิลปินอย่าง ฌอง-มิเชล บาสเกีย (Jean-Michel Basquiat -กราฟฟิตี้ชาวอเมริกัน ผลงานของเขามักสะท้อนถึงประเด็นการเมือง, ความเหลื่อมล้ำ) และ คีธ ฮาริง (Keith Haring -ศิลปินป็อบอาร์ตชาวอเมริกัน งานของเขามักพูดถึงการเมือง, เพศและยาเสพติด) แต่ก็ด้วยความฉูดฉาด ความเก๋ของสิ่งเหล่านี้แหละที่ทำให้พวกคนรวยรู้สึกว่า แหม อยากมาอยู่แถวนี้จัง จากนั้นค่าเช่าที่ ค่าบ้านก็พุ่งกระฉูด ส่วนศิลปินและคนที่อยู่มาแต่ก่อนก็สู้ค่าเช่าไม่ไหว จนตอนนี้ก็มีแต่อะพาร์ตเมนต์หรูๆ แล้ว เช่นเดียวกับที่ลอนดอนเป็นนั่นแหละ ที่ย่านอีสต์ลอนดอนเดิมทีก็เป็นย่านของชนชั้นแรงงาน แต่ตอนนี้ อย่าว่าแต่ชนชั้นแรงงานเลย แม้แต่ชนชั้นกลางเองก็อยู่แถบนั้นไม่ไหวแล้ว

อย่างนั้นแล้ว สถาปัตยกรรมแบบไหนที่เหมาะกับความเป็นเมืองใหญ่แบบที่หลายเมืองเป็นอยู่

ถ้าถามผมนะ ผมอยากเห็นงานสถาปัตยกรรมที่ทำงานกับมนุษย์ ทำงานกับชุมชนและตอบโจทย์สิ่งที่ผู้คนต้องการจริงๆ สิ่งที่เราควรตั้งคำถามคือรูปแบบของสถาปัตยกรรมในเวลานี้ เท่าที่ผมเห็นในกรุงเทพฯ คือโครงการมิกซ์ยูส (Mixed-Use -หมายถึงโครงการพัฒนาพื้นที่อสังหาริมทรัพย์ที่เน้นรวมอาคารชุดและโครงการพาณิชย์ไว้ด้วยกัน) เต็มไปหมด โดยมีพื้นที่สีเขียวแซมบ้างนิดหน่อย อันนี้ก็เป็นสิ่งที่ผมเห็นน่ะนะ

พูดถึงพื้นที่สีเขียว กรุงเทพฯ ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่ามีพื้นที่สีเขียวน้อยมาก คุณเห็นด้วยไหม ได้ไปสวนสาธารณะในกรุงเทพฯ มาบ้างหรือยัง

ผมนึกถึงสวนสาธารณะที่ผมเพิ่งไปมา คือสวนปทุมวนานุรักษ์ พวกเขาจะยังไม่เปิดใช้งานสวนสาธารณะจนกว่าจะเอาบ้านหลังสุดท้ายของคนที่พักอาศัยในย่านนั้นออกไป และบทความที่ผมอ่านเกี่ยวกับประเด็นนี้ เขาเรียกบ้านนั้นว่าเพิง (hovel) ด้านหนึ่งจึงเหมือนกับกล่าวว่าคนเหล่านี้อาศัยอยู่ในสลัม การเอาคนเหล่านี้ออกไปจึงถือเป็นเรื่องที่เหมาะควร แต่อีกด้านหนึ่ง มันหมายถึงการอพยพคนออกจากถิ่นฐานที่พวกเขาอยู่มาเป็นเวลานานด้วย อย่างกับอังกฤษสมัยศตวรรษที่ 17-18 เลย พวกเขาก็เคยเอาคนในชุมชนออกจากพื้นที่อย่างนี้แหละ

ถ้ามองในเชิงการทำงานกับสถาปัตยกรรม เราจะหาทางแก้ปัญหาเรื่องสลัมหรือพื้นที่ชุมชนแออัดอย่างไร

ก็ถ้าคุณเป็นสถาปนิกแล้วมีคนจ้างให้คุณทำงานนี้ แทนที่คุณจะไปบอกคนในชุมชนว่าการที่พวกเขาอยู่ตรงนี้มันทำให้ทุกอย่างเลวร้ายแล้วไปขับไล่พวกเขาออกมา แล้วไปสร้างอาคารใหม่ที่ทำให้พวกเขาไม่รู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกับมัน คุณก็อาจต้องคิดว่าจะทำให้พวกเขาอยู่ที่นี่ต่ออย่างไรได้บ้าง อาจมีบ้านบางหลังที่ต้องการการซ่อมแซม หรือต้องการไฟฟ้า ต้องการน้ำและบริการอุปโภคบริโภคอื่นๆ ผมว่านี่อาจเป็นสิ่งที่ต้องคิดคำนึงหากว่าผู้คนในชุมชนต้องการจะอยู่ที่นั่นต่อจริงๆ

กรณีล่าสุดคือสำนักงานทรัพย์สินจุฬาฯ กับการรุกไล่พื้นที่ย่านวัฒนธรรม เช่น ศาลเจ้าแม่ทับทิม คุณเคยไปที่ศาลหรือยัง

ผมไปศาลทับทิมมาแล้วครับ ได้เสี่ยงเซียมซีด้วย

ผลออกมาเป็นยังไง

เยี่ยมเลย! (หัวเราะ)

ผมว่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก็ทำในสิ่งที่มหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกาเคยทำมาแล้ว อย่างมหาวิทยาลัยกลุ่มไอวีลีก เช่น ที่ฮาร์วาร์ดนี่สุดแสนจะเป็นเจ้าของที่ดินรายใหญ่เลย หรือมหาวิทยาลัยโคลัมเบียในแมนฮัตตันที่จริงๆ แล้วเหมือนเป็นนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์มากกว่าจะทำงานด้านการศึกษาเสียอีก และราวกับว่าที่จุฬาฯ เองก็เรียนรู้มาจากมหาวิทยาลัยอเมริกันเหล่านี้ คือสุดท้าย การศึกษาก็เป็นส่วนเล็กๆ ในงานของพวกเขา เพราะส่วนใหญ่ของงานคือการเป็นองค์กรยักษ์และเป็นนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ 

อย่างที่ผมเพิ่งทราบมาคือเรื่องศาลเจ้าแม่ทับทิม น่ามหัศจรรย์เหลือเกินที่ศาลยังดำรงอยู่ได้ท่ามกลางข้อจำกัดมากมายเช่นนั้น แน่นอนว่าคำตอบต่อคำถามนี้ซับซ้อนมาก เพราะเมื่อคุณทำทุกอย่างเพื่อให้ได้เงินเพิ่มขึ้น มันก็ไม่ใช่แค่ใครคนหนึ่งหรือปัจเจกหนึ่งที่ละโมบหรอก นั่นเป็นแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่ภาพใหญ่จริงๆ คือทุนนิยมทำงานด้วยระบบแบบนี้ นั่นคือการทำเงินจากการลงทุนของคุณ เพราะฉะนั้น ไม่ว่าคุณจะลงทุนอะไรก็ตาม คุณคาดหวังว่าคุณจะได้รับกลับมามากกว่าเดิม และไม่มีใครไปควบคุมอะไรหรอก

ทุนนิยมไม่ได้เป็นเรื่องของคนไม่ดียื่นมือมาเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆ แต่ทุนนิยมคือระบอบที่ทำให้ทุกคนยึดอยู่กับมัน และนี่แหละที่เป็นสาเหตุว่า ทำไมการจะเปลี่ยนแปลงระบบนี้ได้จึงช่างยากเย็นเหลือเกิน

แต่ก็มีคำกล่าวอยู่นะว่า ทุนนิยมที่มีหัวใจนั้นมีอยู่จริง

(ยิ้ม) ก็นะ แม้คุณจะมีเจตนาที่ดี กระนั้นเมื่อเป็นระบบทุนนิยม คุณก็ยังต้องมุ่งแสวงกำไร เพราะหากคุณไม่ทำ คนอื่นก็จะทำอยู่ดี

แต่ผมไม่คิดว่าเราจะแย่กันหรอก เราแค่ต้องตระหนักรู้ว่าระบบทุนนิยมมันทำงานอย่างไร และแน่นอนว่านี่ไม่ใช่เรื่องของปัจเจกบุคคลหรือเป็นเรื่องคนไม่ดี แต่มันเป็นเรื่องของระบบเศรษฐกิจทั้งมวลในเวลานี้น่ะ

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save