fbpx
เป็นนักกีฬาแล้วโด๊ปยาทำไม

เป็นนักกีฬาแล้วโด๊ปยาทำไม

สำหรับนักกีฬา การใช้สารกระตุ้นอย่างจงใจนั้นถือเป็นความผิดร้ายแรง และสุ่มเสี่ยงต่อการหมดอนาคต คำถามก็คือ แล้วเหตุใดนักกีฬาหลายคนจึงเลือกที่จะเสี่ยง อย่างที่เราเห็นในข่าวกันเป็นระยะ

 

ลองคิดเล่นๆ ก็ได้ว่า ถ้าคุณเป็นนักกีฬาระดับโลกที่ทำเงินได้เดือนละไม่ต่ำกว่าหนึ่งแสนยูโร หรือราวๆ สี่ล้านบาท ยังไม่นับเงินก้อนโตที่ได้จากการเซ็นสัญญาเป็นพรีเซนเตอร์ให้กับแบรนด์กีฬาชื่อดัง ถ้าเกิดมีอะไรสักอย่างช่วยรั้งให้คุณอยู่ใน ‘จุดสูงสุด’ ไปได้เรื่อยๆ คุณคิดว่าน่าสนใจหรือเปล่า

เจ้าสิ่งนั้นจะเป็นอะไรไปไม่ได้-นอกจากสารกระตุ้น!

ในเดือนตุลาคม ปี 2012 แลนซ์ อาร์มสตรอง (Lance Armstrong) นักปั่นจักรยานอันดับหนึ่งของโลกในขณะนั้น ถูกตรวจพบว่าใช้สารกระตุ้นโดยจงใจ โดยที่เพื่อนร่วมทีมทั้ง 11 คน รวมถึงทีมโค้ชและนักกายภาพบำบัด ต่างก็รู้เห็นเป็นใจด้วย

องค์กรต่อต้านการใช้สารกระตุ้นสหรัฐฯ ผู้เผยแพร่รายงานดังกล่าว บอกว่านี่เป็นแผนการใช้สารกระตุ้นที่ชาญฉลาด มีความเป็นมืออาชีพ และประสบผลสำเร็จมากที่สุดเท่าที่เคยมีมาในวงการกีฬา

ขณะเดียวกันก็ทำให้บรรดาแฟนคลับของยอดนักปั่นรายนี้ที่มีอยู่ทั่วโลก ต่างช็อคไปตามๆ กัน เพราะไม่คาดคิดว่านักกีฬาผู้มีภาพลักษณ์เป็นนักสู้ (ช่วงปี 1990 เขาเคยต่อสู้กับโรคมะเร็ง ก่อนจะพลิกชีวิตมาสู่การเป็นนักปั่นจักรยานมือหนึ่ง) และเป็นขวัญใจของผู้คนมาตลอดหลายปี จะ ‘โกง’ ชัยชนะด้วยวิธีนี้

ยิ่งไปกว่านั้น เขายังรับสารภาพอย่างหมดเปลือกอีกด้วยว่า เคยใช้สารกระตุ้นในการลงแข่งรายการ ตูร์ เดอ ฟรองซ์ มาแล้วทั้งสิ้น 7 ครั้ง และทุกครั้งเขาเป็นผู้ชนะ แต่ในบางรายการที่ไม่ได้ใช้สารกระตุ้น เขากลับไม่สามารถเข้าเส้นชัยเป็นอันดับหนึ่งได้ นั่นหมายความว่า สารกระตุ้นที่เขาใช้นั้นสามารถสร้างความแตกต่างและ ‘หวังผลได้’ นั่นเอง

เมื่อถูกถามว่าขณะที่ใช้สารกระตุ้น เขารู้สึกผิด หรือเคยรู้สึกหรือไม่ว่าตนเองกำลังโกง เขาตอบว่า “ไม่ แต่รู้สึกกลัว” และเปิดใจว่าสิ่งที่เขาทำลงไปนั้นเป็นเรื่องที่เลวร้าย แต่ทำลงไปเพราะกระหายความสำเร็จล้วนๆ

จากเหตุการณ์นี้ ส่งผลให้อาร์มสตรองถูกยึดรางวัล ตูร์ เดอ ฟรองซ์ ทั้ง 7 สมัย และจบอาชีพปั่นจักรยานพร้อมตำนานอันสวยหรูของตัวเองลง ในวัย 41 ปี

ในช่วงแรก ดูเหมือนว่าเหตุการณ์นี้จะทำให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในแวดวงกีฬา หันมาเข้มงวดกับการใช้สารกระตุ้นมากขึ้น ทว่าในทางกลับกัน มันก็เป็นการชี้โพรงให้กระรอกด้วย

อดัม ฮาร์ททัง (Adam Hartung) คอลัมนิสต์แห่งนิตยสาร Forbes วิเคราะห์เรื่องนี้ไว้อย่างน่าสนใจว่า แม้กรณีของอาร์มสตรองจะผ่านมาหลายปีแล้ว แต่เรายังคงพบเห็นกรณีที่นักกีฬาถูกจับได้ว่าใช้สารกระตุ้นอยู่อย่างต่อเนื่อง แถมยังมีกลวิธีที่ซับซ้อนและแนบเนียนขึ้นอีกด้วย โดยเขาบอกว่าเหตุผลง่ายๆ ที่ทำให้เกิดการโกงในลักษณะนี้ ก็คือเรื่องของ ‘เม็ดเงินจำนวนมหาศาล’ นั่นเอง

อดัมเปรียบเทียบให้เห็นภาพง่ายๆ ว่า แค่การเป็นนักกีฬาอันดับหนึ่งของโลก กับอันดับสองของโลก รายได้รวมถึงสปอนเซอร์ต่างๆ ที่ได้รับก็ต่างกันลิบลับแล้ว ไม่ต้องพูดถึงนักกีฬาฝีมือดาดๆ ที่ไม่อาจเทียบชั้นกับนักกีฬาระดับท็อป เพราะฉะนั้น ถ้าใครสักคนอยากประสบความสำเร็จบนเส้นทางนี้ ทางเลือกที่ดีที่สุด ก็คือการไปให้ถึงระดับท็อปให้ได้

ในเมื่อเดิมพันคือเงินก้อนโตที่พ่วงมากับผลประโยชน์อื่นๆ อีกมากมาย จึงไม่แปลกที่ใครสักคนจะทำทุกวิถีทางเพื่อให้ได้สิ่งเหล่านั้นมา หรือรักษาสิ่งเหล่านั้นไว้ให้นานที่สุด

นอกจากกรณีของอาร์มสตรอง ยังมีกรณีของนักกีฬาดังๆ อีกหลายคน ในหลายชนิดกีฬา ที่โดนตรวจและถูกกล่าวหาว่าใช้สารกระตุ้น อาทิ มาเรีย ชาราโปว่า (เทนนิส) วี.เจ.ซิง (นักกอล์ฟ) รวมถึง น้องเมย์-รัชนก อินทนนท์ นักแบตขวัญใจคนไทย ที่รอดพ้นจากการถูกลงโทษหลังตรวจพบสารกระตุ้นมาได้อย่างน่าใจหายใจคว่ำ

แน่นอนว่าเมื่อนักกีฬาสักคนถูกตรวจพบว่าใช้สารกระตุ้น ไม่แปลกที่นักกีฬาคนนั้นจะถูกสังคมตัดสินว่า ‘โกง’ ทันที

ทั้งนี้ ประเด็นสำคัญซึ่งเป็นที่ถกเถียงในแวดวงกีฬามาสักระยะหนึ่งแล้ว ก็คือประเด็นที่ว่า “การโด๊ปถือเป็นการโกงหรือไม่” และ “ยาชนิดใดควรจัดอยู่ในประเภท ‘สารต้องห้าม’ บ้าง”

สองประเด็นนี้เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกัน โดยมีข้อถกเถียงสำคัญว่า เหตุใดยาบางชนิดจึงถูกแบน แต่บางชนิดกลับไม่ถูกแบน เช่น เครื่องดื่มชูกำลัง หรือวิตามินประเภทต่างๆ ทั้งที่มันก็มีคุณสมบัติในการ ‘เพิ่มศักยภาพ’ ไม่ต่างกัน แล้วในเมื่อข้อกำหนดในการใช้สารต้องห้ามยังไม่มีความชัดเจน เราจะสามารถฟันธงได้อย่างไรว่าใครโกงหรือไม่โกง

กรณีที่สะท้อนเรื่องนี้ได้ชัดที่สุด ก็คือกรณีของ มาเรีย ชาราโปว่า ที่ถูกแบนเมื่อต้นปี 2016 จากการตรวจพบสาร ‘เมลโดเนียม’ ซึ่งเป็นส่วนประกอบของยาที่ใช้รักษาโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ที่เธอใช้ตามคำแนะนำจากแพทย์ต่อเนื่องมาหลายปี แต่เพิ่งถูกขึ้นบัญชีเป็นสารต้องห้ามก่อนหน้านั้นเพียงไม่กี่เดือน โดยองค์กรต่อต้านการใช้สารกระตุ้นของโลก (WADA) ให้เหตุผลว่า “เป็นสารที่ช่วยเพิ่มสมรรถภาพในการเล่นกีฬา”

ในกรณีของน้องเมย์-รัชนก นั้นก็คล้ายๆ กัน แต่โชคดีกว่าตรงที่สามารถอุทธรณ์และหาหลักฐานมายืนยันได้ว่าเป็นการใช้สารเพื่อรักษาอาการบาดเจ็บจริงๆ

 

หากจุดประสงค์ของการควบคุมการโด๊ปหรือการใช้ยา คือการป้องกันการทุจริต น่าคิดเหมือนกันว่า ระหว่างการต่อต้านและควบคุมอย่างเข้มงวด กับการปล่อยให้มีการใช้และให้คำปรึกษาอย่างถูกวิธี แบบไหนจะช่วยแก้ปัญหาได้ดีกว่ากัน

 

อ่านเพิ่มเติม

บทความ Why Cheating In Sports Is Prevalent — And We Can’t Stop It จาก Forbes

บทความ ‘Corruption embedded within IAAF’ จาก CNN

 

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save