fbpx

DOI BOY พวกเราถูกสอย พวกเขาลอยนวล

หนังไทย ‘น้ำดี’ ของผู้กำกับหนังสารคดี นนทวัฒน์ นำเบญจพล ที่หันมากำกับงานเรื่องเล่าหรือหนังฟิกชั่น (fiction) เต็มตัวเป็นครั้งแรกจนดูแตกต่างไปจากผลงาน ‘สารคดีลำนำ’ ที่เขาเคยทำ DOI BOY ประสบความสำเร็จเข้าตากรรมการคัดเลือกของเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองปูซานประเทศเกาหลีใต้ ได้เข้าชิงรางวัลในสาย Ji-seok Award สำหรับผลงานของผู้กำกับเอเชียเลือดใหม่ ทั้งนักแสดงนำอย่าง อวัช รัตนปิณฑะ ในบทแรงงานชาวไทใหญ่ที่ลักลอบเข้ามาทำงานในประเทศไทย ก็ยังได้รับรางวัล ‘ดาราดาวรุ่ง’ Asia Rising Star by Marie Claire with BIFF ประจำปี 2023 มาครอง แต่ราวสองเดือนถัดมา เมื่อหนังมีโอกาสเผยแพร่ในไทย มันกลับกลายเป็นงานที่ถูกฉายใน ‘ช่องทางปัจจุบันธรรมชาติ’ ออกอากาศผ่านทางเน็ตฟลิกซ์! และที่ต้องออกโรงมาจิกกัดแดกดันว่าทำไมมันช่างขึ้นต้นเป็นมะลิซ้อนแต่พอแตกใบอ่อนกลายเป็นมะลิลาแบบนี้ ผู้เขียนก็มิได้มีอคติอันใดกับสตรีมมิ่งค่ายใหญ่อย่างเน็ตฟลิกซ์เขาเลยนะ ดีเสียอีกที่หนังจะได้เผยแพร่ให้สมาชิกทุกหย่อมหญ้า ไม่ว่าจะในไทยหรือประเทศไหนๆ ได้ดูพร้อมหน้ากันโดยไม่ต้องหันมาปวดหัวจากการคอยหาโรงฉาย ทั้งต้องมานั่งลุ้นรายวันว่าจะได้พื้นที่เวลากี่โรงกี่รอบ กอบโกยรายได้ที่คุ้มควรแล้วไหมกับการลงทุนไป แต่การกลายเป็นหนังสตรีมมิ่งมันก็ไม่ยุติธรรมเอาเสียเลย เช่นเดียวกับคณะผู้กำกับและเหล่าทีมงาน ที่ต้องชวดโอกาสจากงานประกวดรางวัลภาพยนตร์ทุกๆ เวทีภายใต้เงื่อนไขว่าจะต้องเป็นหนังที่ได้ฉายในโรงประเทศไทยเท่านั้น!

เอาล่ะ ประเด็น ‘ได้-เสีย’ อะไรเหล่านั้น เดี๋ยวค่อยว่ากันเพราะคงต้องจับเข่าอภิปรายอีกหลายนาน มาว่ากันถึงหนังอสารคดีหรือ non-documentary เรื่อง DOI BOY ของ นนทวัฒน์ นำเบญจพล ชิ้นนี้กันก่อนดีกว่า ตัวหนังเล่าเรื่องราวของคนชายชอบทั้งในเชิงสังคมและในเชิงกายภาพชายแดนอย่าง ‘ศร’ (อวัช รัตนปิณฑะ) หนุ่มไทใหญ่จากรัฐฉานดินแดนพม่าที่ลักลอบเข้าประเทศไทยมาทำงานเป็นเด็กนวดในบาร์เกย์ชื่อ DOI BOY กับสหายเพศชาย กระทั่งมีโอกาสได้ให้บริการ ‘จิ’ (อารักษ์ อมรศุภศิริ) นายตำรวจหนุ่มที่แม้จะอาศัยอยู่กินกับภรรยาจนมีลูกด้วยกัน ก็ยังไม่ลืมความหฤหรรษ์ของการได้เปลื้องผ้านัวเนียกับเด็กหนุ่มๆ จนต้องแอบซุ่มมาที่บาร์ดอยบอยเพื่อปลดเปลื้องกามารมณ์กับ ‘ศร’ ขณะที่ตอนกลางวันเขาก็ยังต้องรับหน้าที่ ‘กำจัด’ นักกิจกรรม ‘หาทำ’ หมกมุ่นวุ่นย้ำอยู่แต่กับเสรีภาพในการแสดงออกบอกกล่าวทุกถ้อยความคิด จนต้องคลุมหัวปลิดชีพหนุ่ม ‘ภูมิ’ (อัทธนีย์ โตคีรี) ให้ถึงชีพิตักษัย สุมเพลิงแค้นให้แก่ ‘วุฒิ’ (ภูมิภัทร ถาวรศิริ) แฟนหนุ่มของ ‘ภูมิ’ ซึ่งหันมาเรียกร้องความเป็นธรรมต่อกรณีโดน ‘อุ้มหาย’ ของเพื่อนชาย จนสุดท้ายเขาก็เป็นฝ่ายโดนหางเลขไปด้วยอีกคน!

โครงเรื่องทั้งหมดของ DOI BOY จึงจัดว่าเป็นอะไรที่น่าสนใจอย่างยิ่ง หลายๆ สิ่งเป็นเรื่องที่ไม่เห็นมีใครเคยคิดเล่าในหนังไทย ให้รสชาติที่แปลกใหม่จนอยากรู้อยากติดตามชะตากรรมของพวกเขาในทุกฝีก้าวของทุกตัวละคร ตั้งแต่ความซับซ้อนเชิงอัตลักษณ์ทางเพศแบบชายรักชายซึ่งจะเห็นว่าตัวละครหลักทั้งสี่รายต่างนิยมหรือหลับนอนกับเพศเดียวกันได้ จนฝ่ายหญิงเป็นตัวละครประกอบแทบไร้ความหมายความสำคัญ  แนวพื้นที่กั้นเขตแดนที่เอื้อต่อการทำธุรกิจสีเทานอกกฎหมาย อาศัยความไกลปืนเที่ยงมาขยายอิสรภาพให้ใครต่อใครคิดทำอะไรตามแต่ใจได้ เหมือนไม่มีใครเคยรู้จักโรงศาลหรือการฟ้องร้อง และที่ต้องปรบมือให้เลยคือความหาญกล้าในการแฉให้เห็นมาตรการกำจัดฝ่ายตรงข้ามด้วยวิธี ‘อุ้มหาย’ ของทางการ ผ่านตัวละครจิผู้ยืนอยู่ ณ ตำแหน่งตรงกลาง ซึ่งสุดท้ายก็ได้รับความกระจ่างว่าคุณไม่สามารถไม่เลือกข้างใดๆ ได้ในความระส่ำระสายทางการเมืองนี้ หนังอย่าง DOI BOY จึงมี premise ที่เปิดโปงปัญหาสังคมร่วมสมัยได้ชวนสะใจ ใช้เสรีภาพทางการแสดงออกในการ ‘สาวไส้’ ให้เห็นความเป็นไปที่ ‘หมกเม็ด’ มายาวนาน และถึงกาลต้องชำระสะสางล้างบางกันสักที

เกริ่นมาทางนี้ คงจะจับทางได้แล้วนะว่าอย่างอื่นที่เหลือ ‘กัลปพฤกษ์’ กลับไม่รู้สึกพอใจ โดยเฉพาะความ ‘ไม่ถึง’ หลายๆ ด้านของการสร้างสรรค์ที่จะผลักดันให้หนังกลายเป็นงานเล็กๆ ทว่า ‘ทรงพลัง’ อย่างแรงอีกเรื่องหนึ่ง ว่าแล้วจึงขอเริ่มบ่นก่นครวญไล่มาตั้งแต่ต้นชนวนเนื้อเรื่อง คือบทภาพยนตร์ที่นนทวัฒน์เป็นคนเขียนขึ้นมาเอง และจากทรีตเมนต์สุดเจ๋งของหนังตามที่เล่าไป นนทวัฒน์กลับแทบไม่ได้ขยายรายละเอียดอันใดในแต่ละสิ่งที่เขาเลือกเล่าเลย ตลอดความยาว 98 นาที มีเหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย หากมันกลับเป็นเพียงภาพฉายที่แวบเข้ามาแล้วผ่านเลยไป เอาแค่พอให้รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง ทั้งที่แต่ละช็อตต่างก็ดูเป็นเรื่องใหญ่ทั้งนั้น เอาแค่ตัวละครหลักอย่างศรที่เราได้เห็นทั้งตอนที่เขาบวชเป็นพระ โดนบังคับให้เป็นทหารตอนผ่านแดนมาเป็นผู้ลี้ภัย ตอนทำงานขายบริการ ตอนฝันหวานถึงอนาคตกับแฟนสาว และตอนที่เขาต้องกลับเข้าป่าอีกครั้ง ล้วนเป็นจังหวะชีวิตที่มีความหมายในการอธิบายตัวตนที่เลื่อนไหลไปตามสถานการณ์ของเขา หากเรากลับไม่มีโอกาสได้เห็นเลยว่า เขาศรัทธาในรสพระธรรมมากน้อยเพียงไหน (เพราะเราจะได้เห็นแค่ฉากนั่งดูโทรทัศน์) ถือปืนสวมเครื่องแบบทหารด้วยอุดมการณ์อันใด (เพราะเราไม่ได้เห็นเขาปฏิบัติหน้าที่) ชื่นชอบประทับใจประเทศไทยจุดไหน (เพราะเราจะได้ยินแค่ว่าเขากำลังมองหาอนาคตที่ดีกว่า) มองความเสน่หาในเรือนกายระหว่างผู้ชายด้วยกันอย่างไร (เพราะเราก็ไม่ได้เห็นตอนที่เขาให้บริการแขกรายอื่นๆ) หรือร่วมผ่านวันชื่นคืนสุขกับแฟนสาวอย่างไร (เพราะเราก็ยังไม่ทันได้รู้ว่าทั้งคู่พบรักกันอีท่าไหน และมัดใจกันด้วยวิธีใด) เมื่อภาพชีวิตแต่ละช่วงแวบเข้ามาแล้วผ่านเลยไป ดูจบแล้วจึงชักไม่มั่นใจว่าเราได้รู้จักศรมากขึ้นกว่าตอนสิบนาทีแรกของหนังบ้างหรือเปล่านะ

มาถึงตัวละคร ‘พี่จิ’ นี่สิที่ยิ่งดูก็ยิ่งงงยิ่งสงสัยว่าเขาเป็นคนอย่างไร ทั้งที่บทก็มอบหมายให้เขาเป็นถึงตัวแทนบุคลากรภาครัฐผู้ปราบปรามความขัดแย้ง ณ ตำแหน่งตรงกลาง ซึ่งบทหนังก็จงใจกั้นขวางไม่ให้เราได้เห็น ‘ผู้บังคับบัญชา’ รายอื่นๆ ที่ยื่นมือมาคอยชักใยอยู่หลังม่าน นอกเหนือไปจาก ‘พี่โจ’ ที่ร้านก๋วยเตี๋ยวราดหน้าผู้มีหน้าที่เข้ามาข่มขู่ว่าวงการนี้ใครที่เดินเข้ามาแล้วจะออกไม่ได้หากยังห่วงใยสวัสดิภาพความปลอดภัยของคนในครอบครัว ตัวตนที่แท้ของจิเลยยังดูโบ๋ๆ มโนให้ไม่ออกจริงๆ ว่าเขาต้องเผชิญกับอะไร การตัดสินใจลอบข้ามชายแดนช่วงท้ายจึงเหมือนเป็นการเดินทางที่ ‘บทหนัง’ กำหนดไว้ หาใช่มโนธรรมสำนึกใหญ่ของเขาจริงๆ  ขณะที่ตัวละครภูมินั้นถูกทิ้งให้ ‘หาย’ มากกว่า ‘เห็น’ อันนี้เข้าใจได้ แต่การ ‘เล่นใหญ่’ กับเรื่องทางเพศ (sexuality) ของ ‘วุฒิ’ นี่สิที่ชวนให้สงสัยว่าต้องการให้เห็นอะไร สักพักก็สบถ ‘อีดกอีดอก’ สักพักก็ออกท่าเป็นพระเอกเจ้าอุดมการณ์ สักพักก็กลับกลายมาเป็นแม่บ้านแม่เรือนทำกับข้าว สักพักก็แข็งกร้าวเรียกร้องความเป็นธรรม สักพักก็ทำตัวระริกระรี้คลี่สวมจีวรด้วยอาการอ้อนแอ้นแอ่นอกแบบโอต์กูตูร์ ดูแล้วเหมือนยังตบไม่เสร็จว่าจะให้ตัวละครเป็นแบบไหน ทั้งที่เรื่องทั้งหมดเหล่านี้สามารถหลอมรวมให้กลายเป็นหนึ่งเดียวกันได้โดยใส่ทุกพฤติกรรมและทุกอุดมการณ์ไว้ทุกซีนที่เขาปรากฏตัว จะได้ไม่มั่ว ไม่โลเลไปทั่วแบบนี้

รายละเอียดของเรื่องที่นนทวัฒน์เขียนไว้จึงยังไม่ได้รับการพัฒนาให้เห็นที่มาที่ไปของตัวละครสำคัญแต่ละรายว่าคืออะไรอย่างไร คล้ายจะเป็นเพียงร่างแรกที่วางเป็นโครงไว้ ดูหนังจบจึงอดไม่ได้ที่จะรู้สึกว่ามันน่าจะเป็นเพียงเทรลเลอร์ตัวอย่างของ DOI BOY the Series 12 EP’s x 5 seasons ซึ่งหยิบเอาสิ่งละอันพันละน้อยที่ถ้อยเกริ่นไว้มาขยายให้เต็มเรื่องต่อไปในแต่ละเอพิโซด เพราะแต่ละส่วนล้วนนำมาพัฒนาได้จากโครงบทที่ออกจะมหากาพย์! อันที่จริง ลีลาการเล่าแบบ ‘ขี้เกียจ’ เขียนบทของนนทวัฒน์ก็มีให้เห็นมาตั้งแต่เรื่อง ‘สายน้ำติดเชื้อ’ (2556) และ ‘ดินไร้แดน’ (2562) จนอาจมองเป็นความ ‘ขี้เกียจ’ ที่กระเดียดไปทางลายเซ็นเฉพาะตัวในการทำหนัง ฉะนั้นอาการ ‘ขี้เกียจ’ ทั้งหลายแท้แล้วก็อาจมิได้เป็นปัญหากระไรกระมัง แต่ถ้าจะตั้งประเด็นเอาไว้ยิ่งใหญ่เว่อร์วังในหนัง DOI BOY ก็ควรจะขี้เกียจแต่พอดี ให้ยังมีความหนักแน่นอะไรบ้าง เพราะคนดูเขาก็ตั้งความหวังว่าจะได้เห็นการปะทะปะทังกันทางความคิดและอุดมการณ์อันทรงพลัง แต่หนังกลับไม่มีให้ก็รู้สึกเฟลเอาได้ง่ายๆ เลยนะเธอว์! นี่ยังไม่นับตัวละครอื่นๆ ที่เสนอหน้ามาเข้าฉาก ไม่ว่าจะเป็น ‘กร’ ซึ่งเอาจริงๆ ถือเป็นตัวละคร ‘ด้านคู่ขนานต่างอุดมการณ์’ ของศรหรือ ‘ส้ม’ ภรรยาของจิที่มีหน้าที่อย่างเดียวคืออุ้มครรภ์ลูกให้ หรือ ‘บี๋’ ยอดยาหยีของศรที่เหมือนเป็นแค่ตัวละครฝ่ายนารีมาตัดเลี่ยนวิถีความสิเน่หาแบบชายรักชาย โดยบทของทุกคนล้วนถูกลดความสำคัญ (downplay) ไปมากมาย แบบไม่ต้องใส่มาเลยก็ยังเล่าเรื่องครบได้ด้วยความไม่รู้จะขี้เกียจเล่าไปถึงไหนของคนเขียนบท!

แต่ความอ่อนพร่องทั้งหมดยังสามารถชดเชยได้ผ่านการแสดงที่มีความหมาย ซึ่งคงต้องขอขอบคุณทั้ง อวัช รัตนปิณฑะ, อารักษ์ อมรศุภศิริและภูมิภัทร ถาวรศิริ สามนักแสดงนำที่ตั้งอกตั้งใจรับเล่นเป็นตัวละครกันเหลือเกิน จะต้องแก้ผ้าแก้ผ่อนนอนลูบจูบเคลียกันก็ไม่ขัดเขิน จะเดินเรื่องไปทิศทางไหนก็จัดอารมณ์ให้ จนบางครั้งก็อาจตั้งใจมากเกินไปเสียด้วยซ้ำ แต่ผู้กำกับนี่สิที่เหมือนจะยังคลำหาทิศทางของตัวละครแต่ละรายไม่เจอว่าจะผลักดันพวกเขาไปในทางไหน หลายๆ ครั้งก็ติดจริตเชิงหนังมากไป ทำให้การแสดงที่พวกเขาต่างช่วยกันเล่นแทบตายยังดูไม่ค่อยได้ความเป็นธรรมชาติ

เริ่มตั้งแต่ตัวละครศรของอวัช ที่ยอมรับเลยนะว่าลุคและมาดของเขาเข้ากับตัวละครไทใหญ่ข้ามแดนรายนี้มากๆ ทั้งยังลำบากลำบนไปฝึกฝนวิธีการพูดให้มีสำเนียงจนกลายเป็นศรได้จริงๆ แต่สิ่งที่หนังต้องการเล่าคือความเป็นคนนอกจากชายขอบผู้พบปัญหารอบด้านถึงขั้นยอมเป็นแรงงานค้ากามผู้เปี่ยมไปด้วยความเป็น ‘คนตัวเล็ก’ แต่กล้องและการกำกับภาพกลับจ้องและเสกให้เขาแลดูมีออร่าเปล่งประกายความเป็นดารา เหมือนผู้กำกับพยายามอวดว่าเขาหานักแสดงจากการแคสติ้งมาได้อย่างแสนเข้าท่า เลยจับใบหน้าออกมาให้โดดเด่นเล่นรังสีเบอร์นั้น ซึ่งถามว่ามันเหมาะไหมกับตัวละครที่ควรจะ ‘มืดมน’ มากที่สุดในหนัง โดยทั้งหมดนี้มิได้เป็นความผิดของอวัชเลย เขาพยายามบ่งบอกถึงความเป็นคนตัวเล็กให้อย่างที่สุดแล้ว แต่กล้องกลับฉายความแพรวพราวความขึ้นกล้อง (photogenic) ให้เขามากไป คือหนังจะถ่ายเจาะ จะโคลสอัพอย่างไรก็ได้ แต่ยิ่งใกล้ก็ต้องยิ่งเห็นว่าเขามืดแปดด้านขนาดไหน มิใช่ยิ่งใกล้ก็ยิ่งได้เห็นออร่าชัดขึ้น! เห็นไหมล่ะ สุดท้ายเขาก็คว้ารางวัล Rising Star มาได้อย่างน่าชื่นใจ ทั้งๆ ที่จากบทที่เขียนไว้เขาไม่ควรจะมีความเป็น star ปรากฏให้เห็นในหนังเลยนะ!

ว่าถึงความ star กรณีของอารักษ์ อมรศุภศิริ ในบทจิยิ่งชัดกว่า คืออุตส่าห์เล่นเป็นตัวละครชายรักชายที่ต้องมีภรรยาบังหน้าไว้ ทั้งยังเป็นฝ่ายพิทักษ์กฎหมายไล่บี้ผู้มีความเห็นต่างทางการเมือง เป็นตัวอย่างของตัวละครที่แสนสลับซับซ้อน เอื้อให้นักแสดงต้องตีความสิ่งยอกย้อนเหล่านั้นซึ่งสามารถรังสรรค์ออกมาได้หลากหลาย แต่ก็ไม่ควรเป็นตัวละครสายหล่อเท่ คล้ายว่าการได้รับบทเกย์คือหนึ่งในความท้าทายอย่างที่เห็นกันไหม ตัวเลือกนี้ดูไม่โอเคเอาเสียเลย โดยเฉพาะเมื่อเราได้เห็นเฉพาะความหล่อเหลาเฉิดฉาย แต่ความอ่อนไหวภายในทั้งหลายกลับไม่มีให้ได้สำรวจเลย เข้าใจอยู่ว่าผู้กำกับต้องการให้ตัวละครรายนี้ยังดูมีความเมตตาเลยพยายามเทบุคลิกมาทางนี้ แต่พอตัวละครขาดมิติ ฉากที่เขาลงมือสังหารนักต่อสู้ผู้พิทักษ์อุดมการณ์จึงดูปลอมเหลือเกิน จะอมพระพุทธไสยาสวัดโพธิ์มาแสดงก็ไม่เชื่อว่าเขาลงมือทำได้ เหมือนเป็นเพียงฉากซ้อมการจับกุมผู้ชุมนุมใหญ่ที่ไม่มีใครล้มตายจริงๆ! มาดของจิในหนังจะมานั่งนิ่งๆ คูลๆ ดูเป็นพ่อพระเอกนักบุญอย่างนี้คงมิได้ ไหนล่ะความหื่นกระหายต่อเรือนร่างของผู้ชาย ความศรัทธาในอุดมการณ์ที่เลยพ้นไปจากบทภาพยนตร์ที่พ่นจากปาก ความยุ่งยากลำบากใจว่าจะตัดสินใจทำอย่างไร มันจะไม่ปรากฏให้เห็นเลยตราบใดที่อารักษ์และนนทวัฒน์พยายามทำให้จิดูเป็นพ่อยอดคนชนชั้นฮีโร่

สิ่งเหล่านี้ถือเป็นกรณีตอบโต้ต่อบทวุฒิของภูมิภัทร ถาวรศิริ ที่เรื่องราวบังคับให้เขาต้องสำแดงบุคลิกหลายๆ ด้านในสถานการณ์ที่แตกต่างกันไป ซึ่งเขาในฐานะนักแสดงก็จัดให้ พอต่างฉากต่างซีนก็เผยให้เห็นบุคลิกใหม่ๆ จนผู้กำกับตามปรับตามตบไม่ไหวว่าจะทำยังไงให้พอดูทั้งเรื่องแล้วยังคงมีความเป็นคนคนเดียวกัน ตัวละครวุฒิในหนังจึงดูมีความ ‘แตกซ่าน’ เหลือเกิน เหมือนผู้กำกับมิได้วางแผนไว้ก่อนเลยว่า ‘หัวใจ’ ที่แท้ในความเป็นวุฒิคือจุดไหน จะโบ้ยให้เป็นความผิดของนักแสดงก็คงไม่ได้ เพราะเขาก็คงต้องแสดงตามบทที่เขียนไว้ ในภาพรวมจึงชวนให้รู้สึกว่า ‘ผู้กำกับ’ ฝากความหวังไว้กับความเป็น ‘มืออาชีพ’ ของนักแสดงที่คัดเลือกมามากไปจนไม่คิดจะทำอะไร โดยหารู้ไม่ว่าโดยตำแหน่งแล้ว เขาเองนั่นแหละที่จะต้องรู้จักและเข้าใจเรื่องการแสดงมากกว่านักแสดง และต้องแถลงให้ทุกคนเห็นภาพร่วมกันได้ว่าเขามีคนแบบไหนอยู่ในหัว และตัวละครแต่ละรายควรจะแสดงออกในแต่ละฉากอย่างไร มิใช่ปล่อยให้พวกเขาทำงานไร้ทิศทางกันแบบนี้ นี่ขนาดได้นักแสดงรางวัลศิลปาธรถึงสองรายมาเล่นให้ในบทสมทบ ทั้ง ธีระวัฒน์ มุลวิไล ในร่างของ ‘มาดามเอ็ม’ ที่ประดิษฐ์จริตลีลาการเคลื่อนไหวร่างกายอันแสนจะ sophisticated เกินเบอร์จนไม่อาจหลงเชื่อเออออไปกับตัวละครได้ หรือ จารุนันท์ พันธชาติ ในมาด ‘พี่แนน’ ที่ต่อให้แม่นยำกับภาษาท้องถิ่นอย่างไร ก็ยังไม่วายมีอาการเก้ๆ กังๆ หาจังหวะการแสดงไม่เจอ เพราะทั้งเขาและเธอนั้น ต่อให้มีประสบการณ์แก่กล้าถึงเพียงไหน สุดท้ายก็ต้องใช้เข็มทิศจากผู้กำกับว่าต้องการการแสดงแบบใด อันนี้มากไปไหม อันนี้ยังน้อยอยู่หรือไม่ เพราะฉะนั้น นนทวัฒน์จะละเลยการชูคบไฟให้ยอดฝีมือเหล่านี้มีทิศทางการแสดงไปในทางเดียวกันไม่ได้เลย

มีฉากที่ดูแรงและควรจะมีความหมายสำคัญ เช่น ตอนที่สองกระทาชายชวนกันเปลื้องผ้าจนไม่เหลืออาภรณ์ใดลงลำธารใสสาดน้ำใส่กันทั้งที่ความสัมพันธ์ก็ยังไม่ถึงขั้นพิเศษอะไร จึงแลดูแปลกๆ เหมือนเป็นเพียงฉาก ‘ขาย’ เรือนร่างและสปิริตนักแสดงว่าถ้าบทเขียนมาแบบนี้ เธอต้องพร้อมจะแก้ผ้าลงน้ำได้โดยไม่เอียงอาย ทว่า มิได้เห็นถึงความหมายหรือความจำเป็นใดๆ ที่จะทำให้เรารู้ถึงลำดับความสัมพันธ์ของพวกเขาทั้งสองเลย!

ใครที่โตทันคงเคยได้ยินคำวิจารณ์ที่ใช้ว่าขานแดกดันกันในวงการภาพยนตร์อินดี้เมื่อสัก 20 ปีที่แล้วว่าเธอช่างมีจริต “แอ็คอาร์ต-act art” ชอบวางมาดเป็น ‘ศิลปินใหญ่’ ทั้งที่ผลงานของเธอกลับ ‘กลวงโบ๋’ ไม่เห็นจะมีอะไร ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าหลังจากคำนี้เสื่อมความนิยมลงไป ‘กัลปพฤกษ์’ จะยังระลึกถึงและอยากจะหวนกลับมาหยิบใช้แปะป้ายให้หนังอย่าง DOI BOY ในปีนี้  DOI BOY ที่ตอนแรกก็คิดว่าอ่านว่า ‘ดอยบอย’ เล่าเรื่องราวของ ‘ด้อยบอย’ ชาวไทยใหญ่ หากสุดท้ายมันกลับกลายเป็น ‘ด้อยบ่อย’ จนไม่ค่อยจะน่าพอใจ ค่าที่ผลลัพธ์มันช่างห่างไกลจากเป้าหมายที่หนังตั้งเอาไว้ ชวนให้ต้องตัดพ้อว่า นนทวัฒน์ นำเบญจพล ไม่น่าจะขี้เกียจเล่ากันเบอร์นี้ กับเรื่องราวและชุดตัวละครที่น่าสนใจจนอยากจะทำความรู้จักด้วยทุกราย ถ้าจะไม่พ่ายไปกับการกำกับอันดูจับจดแบบนี้

เอาเถิด ถึงแม้ว่า ‘กัลปพฤกษ์’ จะมาบ่นครวญว่าโน่นก็ไม่ใช่นี่ก็ไม่ดี ก็อย่าได้มีอารมณ์มาถือสาหาความอันใด ‘กัลปพฤกษ์’ จะไม่ชอบก็ช่างหัวมันปะไร ไปลุ้นให้เหล่าคณะกรรมการรางวัลผู้มีอำนาจในการตัดสินใจ และนักวิจารณ์+คนดูคนอื่น ๆ ให้เขาชื่นชอบกันจะดีกว่าไหม ซึ่งก็อย่างที่เกริ่นไว้ว่าพอ DOI BOY กลายเป็นหนังสตรีมมิ่งจากค่ายเน็ตฟลิกซ์ มิได้เข้าวิกเข้าโรงให้คนดูได้ชื่นชมกันบนจอใหญ่ ก็จะชวดทุกการเข้าชิงรางวัลภาพยนตร์ประจำปีของเวทีต่างๆ โดยอัตโนมัติ อันนี้แหละที่ชวนให้ขัดใจมากๆ เพราะไม่ว่าจะขี้หมูขี้หมาอย่างไร ‘หนังไทย’ อย่าง DOI BOY ก็มีศักยภาพที่จะเข้าประกวดชิงรางวัลกับหนังไทยในรอบปีเรื่องอื่นๆ ได้สบายๆ และขอบอกไว้เลยว่าถึงแม้จะ ‘ไม่ชอบ’ ก็มิได้แปลว่า ‘ไม่เชียร์’ ขึ้นชื่อว่าเป็น ‘หนังไทย’ แม้สำหรับเรามันจะยัง ‘ไม่ใช่’ แต่ก็พร้อมจะใส่กระโปรงมินิสเกิร์ต เชิดเขย่าปอมปอมเป็นเชียร์ลีดเดอร์นำเสนอเชื้อเชิญให้คนอื่นๆ ตัดสินด้วยตาตัวเองอยู่เสมอ พอมาเจอเน็ตฟลิกซ์ประเทศไทยดักทางรางวัล คะยั้นคะยออย่างไรก็ไม่ยอมเอาไปฉายโรงให้คนสนใจและเพื่อให้ได้สิทธิ์เข้าชิง ก็ยิ่งรู้สึกของขึ้น ถ้ายังจะขัดขืนก็ขอยุให้จัดรางวัล Netflix Thai Film Award 2023 เสียเองให้รู้แล้วรู้รอดไป หากรรมการไม่ได้เดี๋ยวจะอาสาถ่างตาไล่ดูหนังและรวบรวมสรรพกำลังจากพรรคพวกมาเป็นให้ เห็นแก่โอกาสสำหรับหนังเล็กๆ แบบนี้ที่จะได้เฉิดฉาย รวมทั้งหนังเน็ตฟลิกซ์ ออริจินัลทั้งหลายที่พัฒนาคุณภาพออกมาได้แบบดีวันดีคืน!

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save