fbpx

พระยาศรีสิทธิสงคราม : ชีวิตของพ่อในทัศนะของลูก – โชติศรี ท่าราบ

เมื่อ 90 ปีก่อน รัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนา นำโดยหลวงพิบูลสงคราม (แปลก) สามารถปราบปรามฝ่ายปรปักษ์อย่าง ‘กบฏบวรเดช‘ ลงอย่างราบคาบได้ แม่ทัพคนสำคัญอย่างพระยาศรีสิทธิสงคราม (ดิ่น) ถึงกับตายในที่รบ

ชื่อของพระยาศรีสิทธิสงครามถูกจารึกอยู่ในประวัติศาสตร์ไทยมาอย่างยาวนานในฐานะผู้พ่ายแพ้ จนไม่กี่ปีมานี้ กระทรวงกลาโหมได้สำนึกในความดีความชอบของนายทหารผู้นี้ ถึงกับมีห้องที่ตั้งชื่อตามราชทินนามของท่านผู้นี้ว่า ‘ศรีสิทธิสงคราม’

นอกจากเป็น ‘บุคคลสำคัญ’ ในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองแล้ว พระยาศรีสิทธิฯ ยังเป็นมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่ง ซึ่งลูกสาวอย่างแพทย์หญิงโชติศรี ท่าราบ ได้บันทึกความทรงจำถึงพ่อไว้อย่างจับใจในหนังสือ กำศรวลพระยาศรีฯ ในบทความนี้จึงเรียบเรียงขึ้นโดยมุ่งนำเสนอภาพความเป็นมนุษย์ของนายทหารผู้นี้เป็นหลัก นอกเหนือไปจากรายละเอียดเกี่ยวกับเหตุการณ์กบฏบวรเดช เมื่อเดือนตุลาคม 2476


พระยาศรีสิทธิสงคราม (ดิ่น ท่าราบ)
10 พฤษภาคม 2434 – 23 ตุลาคม 2476


พระยาศรีสิทธิสงคราม


พระยาศรีสิทธิสงคราม มีชื่อเดิมว่า ‘ดิ่น’ ในสกุล ‘ท่าราบ’ เป็นบุตรของนายดิษฐ์ ซึ่งเกิดจากนางกลิ่น เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2434 ที่ตำบลท่าราบ อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี

เขาเป็นคนเรียนหนังสือเก่ง จบการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยทหารบก ด้วยคะแนนอันดับ 1 ได้ทุนรัฐบาลไปเรียนต่อ ณ โรงเรียนนายร้อยทหารบกเยอรมัน ช่วงปลายทศวรรษ 2440 เป็นเวลาประมาณ 10 ปี ในช่วงเวลาเดียวกับพระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์) และพระยาทรงสุรเดช (เทพ)

กลับมารับราชการต้นสงครามโลกครั้งที่ 1 ราว พ.ศ.2457 เป็นนายร้อยตรี ดิ่น ท่าราบ เมื่ออายุ 23 ปี เลื่อนยศทุกปีขึ้นนายร้อยเอก พ.ศ.2459 หลังจากนั้นในปี 2461 ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น ‘หลวงศรีสิทธิสงคราม’ ตำแหน่งหัวหน้าแผนกที่ 1 กรมยุทธศาสตร์ทหารบก ซึ่งเขารู้สึกว่าเคราะห์ดีที่ได้เป็นหลวงเลย ไม่ต้องเป็นขุนก่อน เพราะเห็นว่าเป็นขุนมันเชย

ต่อมา เลื่อนเป็นนายพันตรีเมื่ออายุได้ 29 ปี (พ.ศ.2463) อีก 3 ปีได้เป็นพันโท และขึ้นเป็นพันเอกในปี 2471 ขณะไปดูงานทางทหารในยุโรป ด้านบรรดาศักดิ์ได้เลื่อนเป็นพระศรีสิทธิสงครามในปี 2467 และเป็นพระยาในราชทินนามเดิม ปี 2474 เมื่ออายุได้ 40 ปี

แต่แล้วความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งสำคัญในแผ่นดินสยามก็นำมาสู่ความพลิกผันในชีวิตของเจ้าคุณผู้นี้ แม้เพื่อนสนิทของเขาจะเป็นผู้นำนายทหารเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 แต่เขาก็มิได้เข้าร่วมด้วย

หลังจากความผันผวนทางการเมืองให้หลังอีก 1 ปี พระยาศรีสิทธิสงครามเข้าร่วมกับคณะกู้บ้านกู้เมืองที่นำโดยพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช ก่อการกบฏขึ้นในเดือนตุลาคม 2476 จนพ่ายแพ้ไป และถึงแก่อนิจกรรม ณ เนินเชิงเขาใกล้รางรถไฟ ช่วงโค้งแคบก่อนถึงสถานีรถไฟหินลับราว 1 กิโลเมตร เมื่อค่ำวันปิยมหาราช 23 ตุลาคม 2476


นางลุ้ม (ตลุ่ม) กับนายเหมือน อ่ำสำราญ


พ่อของลูก


พระยาศรีสิทธิสงคราม สมรสกับคุณหญิงตลับ สกุลเดิม อ่ำสำราญ ผู้เป็นบุตรีของนายเหมือน แพทย์แผนโบราณ เจ้าของสวนทุเรียนย่านคลองบางซื่อ กับนางลุ้ม (ตลุ่ม) ชาวอยุธยา จากท้องที่สำเภาล่ม บริเวณวัดขุนพรหมต่อกับวัดพุทไธสวรรย์

พระยาและคุณหญิงศรีสิทธิฯ มีบุตรธิดาด้วยกันหลายคน เช่น อัมโภช โชติศรี อารีพันธ์ และชัยสิทธิ์


ภาพครอบครัวพระยาศรีสิทธิสงคราม


โชติศรีดูจะเป็นธิดาซึ่งสนิทสนมกับเจ้าคุณบิดายิ่งกว่าลูกคนอื่น ดังที่เธอเล่าว่า เมื่ออายุ 9 ขวบ เริ่มทำหน้าที่เป็นเลขานุการกลายๆ ใช้พิมพ์ดีดพิมพ์จดหมายราชการและจดหมายส่วนตัว

หรือในกิจกรรมยามว่างก็เช่นกัน เธอเล่าว่า “ถ้าไม่ใช่หน้าทุเรียน วันอาทิตย์พ่อจะทำความสะอาด กวาดหยากไย่ตามซอกเสาและเพดาน หรือเช็ดถูพวกเครื่องลายคราม เบญจรงค์ จาน ชาม ช้อนส้อม และถาดเงินของพ่อ โดยมีฉันเป็นลูกมือตามเคย…พ่อซื้อบันไดไม้ฉำฉาชนิดพับได้มาจากเมืองนอก เอาไว้ให้ฉันปีนขึ้นไปใช้ไม้กวาดกวาดให้ทั่ว พ่อเป็นคนยกบันไดเลื่อนให้และคอยชี้บอก” ซึ่งไม่เพียงทำกิจกรรมด้วยกันเท่านั้น เจ้าคุณบิดายังให้หลักคิดแต่ธิดาว่า “ทำอะไรเป็นไว้หลายๆ อย่างน่ะดี จะได้ไม่ลำบากเวลาไม่มีคนรับใช้ แต่ถึงมี เราจะใช้ใครเขาก็จะสั่งเขาได้ถูก ไม่ใช่สั่งแต่ปาก แล้วตัวคนสั่งเองทำไม่เป็น หรือไม่รู้เลยว่าควรทำอย่างไร

และการทำสวน “ท่านเองชอบปลูกต้นไม้ ทั้งไม้ผลและไม้ดอกเป็นที่สุด…พ่อขุดดิน ปลูกต้นอะไร ลูกก็กุลีกุจอเข้าไปช่วย…ข้าพเจ้ายังจำได้ดีว่าเคยชอบท่านปลูกสับปะรด…กลางค่ำกลางคืนพ่อถือตะเกียงลงไปส่องหาแมลงที่มากินกุหลาบมอญดอกโตสีชมพูแสนสวยและหอมของพ่อ ลูกก็จะตามไปช่วยเก็บช่วยจับ พ่อมีกล้องเล็กๆ ไว้ส่องดูเกสรตัวเมียของดอกหน้าวัว ลูกก็จะขอดูมั่ง

รวมทั้งเป็นพ่อที่เล่นสนุกกับลูกด้วย ไม่ว่าจะเป็นการร่วมวงโดดเชือก เล่นน้ำในคลอง เล่นกีฬาอย่างกรรเชียงเรือกับแบดมินตัน และการเปิดมุ้งไปเล่นของเล่นกับลูกสาวในตอนกลางคืน

เมื่อเจ้าคุณบิดาผู้เป็นเสาหลักของครอบครัวลาจากโลกนี้ไปแล้ว รายรับหลักของครอบครัวนี้จึงมาจากผลหมากรากไม้ในสวน 4 ชนิด โดยเฉพาะทุเรียน กล้วย ละมุด มะม่วง มะไฟ และมังคุด


โชติศรี ท่าราบ
(6 ตุลาคม 2462 – 30 ธันวาคม 2559)

อุปนิสัย


ในวันแรกที่ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระยาศรีสิทธิสงคราม ภรรยาของเขาสั่งให้โชติศรี “เชิญผ้าเช็ดตัวใส่พานเงินคอยส่งให้พ่อหน้าห้องน้ำ…เพื่อต้อนรับการที่พ่อได้เป็นพระยา” แต่เจ้าคุณศรีสิทธิฯ ก็มิได้ปรารถนาเช่นนี้ พูดเรียบๆ เพียงว่า “ต่อไปไม่ต้องทำอะไรแปลกอย่างนี้อีก เคยยังไงก็ยังงั้น พ่อไม่ชอบเจ้ายศเจ้าอย่าง

นับว่านี่เป็นการเจริญรอยตามสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก โดยแท้ ทั้งนี้สมเด็จเจ้าฟ้าพระองค์นั้นทรงเป็นนักเรียนเยอรมันร่วมรุ่นกับพระยาศรีสิทธิฯ ซึ่งนักเรียนไทยในเยอรมันยุคนั้นมักกล่าวขานถึงพระองค์ท่านว่า “ทูนกระหม่อนน่ะท่านอัจฉริยะ จะให้ท่านทำอะไร เรียนอะไร เป็นสำเร็จในระดับแนวหน้าทั้งนั้น ทหารบก ทหารเรือ หมอ หรืออย่างอื่นก็เถอะ ท่านทำไม่ได้อยู่อย่างเดียวเท่านั้น คือจะให้ท่านถือพระองค์เป็นเจ้าเป็นนายเป็นเจ้าฟ้า วางพระองค์ห่างราษฎร ท่านทำไม่เป็น

ไม่เพียงเท่านั้น พระยาศรีสิทธิฯ ยังอบรมธิดาว่า ถ้าเธอไปรังแกใครให้พ่อรู้ แล้วอวดดีว่า “เป็นลูกเจ้าคุณ” พ่อจะทำโทษให้หนัก ซึ่งวิธีการทำโทษของเขานั้น ไม่ตี แต่ใช้วิธีขัง โดยอธิบายให้เข้าใจถึงความผิดของตน แล้วให้เข้าไปสงบสติอารมณ์สำนึกผิดในห้องรับแขกอันน่ากลัวสำหรับเด็กๆ เพราะห้องนั้นมีตุ๊กแกตัวโตอยู่

พระยาศรีสิทธิฯ เป็นผู้แสวงหาความรู้คนหนึ่ง มีหนังสือที่บ้านถึง 2 ตู้ใหญ่ ทั้งภาษาเยอรมันและภาษาไทย นอกจากด้านการทหารแล้ว ยังสนใจกวีและปรัชญาด้วย ดังมีหนังสือของชิลเลอร์และเกอเธ่อยู่ครบชุด ลูกสาวอย่างโชติศรีจึงบรรยายบุคลิกลักษณะของเจ้าคุณบิดาว่า “นี่คืออีกภาคหนึ่งของพ่อ ภาคของความอ่อนโยน นุ่มนวลในจิตใจแกร่ง-เด็ดเดี่ยวแบบทหาร

อาจจะเป็นเพราะความชอบทางหนังสือ พระยาศรีสิทธิฯ เคยปรารภกับบุตรีว่า ถ้าภายภาคหน้าต้องออกจากราชการ อยากจะไปทำงานหนังสือพิมพ์ทางแผนกข่าวต่างประเทศ เพราะรู้ถึง 3 ภาษา คือ เยอรมัน ฝรั่งเศส และอังกฤษ


แต่งแบบไทยในชุดโปรด นุ่งผ้าไหมสีแดงก่ำโกเมนเอก ใส่เสื้อแพรไหมสีนวล และที่ขาดไม่ได้คือติดแหนบ ‘บริพัตร’ ที่กระเป๋าเสื้อบนซ้าย


ภาพจำยังชัดเจน


หลังจากเจ้าคุณบิดาถึงแก่อนิจกรรมในวันปิยมหาราช 2476 เวลาล่วงเลยไปอีกกว่า 60 ปี โชติศรีจึงมาเขียนบันทึกถึงพ่อ ซึ่งเธอเล่าว่า “บันทึก…พรูออกมาจากความทรงจำ ยังดูสด และชัดแจ่ม เหมือนเหตุการณ์เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวาน ทั้งที่ความจริงวันเวลาผ่านไปยาวนานถึง 62 ปีกว่า กาลเวลาจึงมิได้เยียวยาบาดแผล (ในใจฉัน)

ก่อนที่พระยาศรีสิทธิฯ จะจากลูกสาวไปก่อการโดยได้เอ่ยปากร่ำลา ภาพที่ติดอยู่ในใจเธอก็คือ คืนที่ลงเรือไปด้วยกันทำให้ “คราใดที่เดือนเต็มดวง สาดแสงนวลเย็นตาเข้ามาในห้องนอนของฉัน ครานั้นก็เหมือนมีอะไรปลุกฉันให้ตื่นจากหลับ ฉันจะนอนน้ำตาไหล สะอื้นให้ในใจ นัยน์ตามองเห็นแต่ภาพตัวเองนอนอยู่ใกล้พ่อ ซึ่งนั่งเขียนหนังสืออยู่บนโต๊ะเล็กบนดาดฟ้าเรือกลไฟสีขาว แล่นฝ่าสายน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาขึ้นไปทางเหนือ

ถึงแม้เธอจะเห็นภาพศพบิดาลงในหนังสือพิมพ์ แต่เธอในยามเยาว์ก็ไม่เชื่อ โดยให้เหตุผลกับตัวเองว่า “พ่อเพิ่งตัดผมไปใหม่ๆ สั้นแบบที่เดี๋ยวนี้เขาเรียกว่า สกินเฮด แต่ในภาพถ่าย ผมพ่อยาวอย่างไม่น่าเชื่อว่าชั่วอาทิตย์เดียว ผมจะยาวได้ขนาดนั้น…ในใจเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง เอาใครหน้าตาคล้ายพ่อมาแต่งศพเข้าก็ไม่รู้

และยังคิดไปว่า อาจมีปาฏิหาริย์ที่เจ้าคุณบิดาจะกลับมา ดังที่เธอเล่าว่า “ฉันเคยไปเดินปะปนกับฝูงชนคลาคล่ำแถวเยาวราช ค้นหาดวงหน้าทุกดวงที่เคลื่อนผ่านตาว่าจะมีดวงหน้าของพ่อโผล่มาให้เห็นบ้างหรือไม่ เดินจนสุดถนน แล้วจะไปหยุดยืนที่สี่แยก กวาดสายตาสำรวจตรวจค้นใบหน้าชายวัย 40 ทุกใบหน้าในคลื่นคนจนตาลาย จึงนั่งรถรางกลับบ้าน ฉันทำอย่างนี้อยู่ 4-5 ครั้ง เว้นระยะให้ห่างกันมากพอสมควร แต่ก็คว้าน้ำเหลว ไม่มีปาฏิหาริย์อย่างที่ฉันคิด

จนแน่ใจเมื่อในเวลาต่อมาได้ตรวจร้อยโท จรูญ ปัทมินทร ซึ่งเพิ่งพ้นโทษมาจากเกาะตะรุเตา ยืนยันว่า “ท่านตายจริงๆ” ในสนามรบนั่นเอง

เหตุนี้เวลานึกถึงพ่อ ภาพที่ปรากฏจึงเป็น “ภาพน่ารักต่างๆ ของพ่อ” เช่น เมื่อโรงเรียนมีกิจกรรมต้องเลิกดึกเป็นพิเศษ แทนที่จะปล่อยให้ลูกกลับบ้านเองเหมือนปกติ ผู้เป็นพ่อก็มายืนรอรับลูก “พ่อจะต้องมายืนแกร่วหรือเดินเกร่แถวนั้นนานเป็นชั่วโมงเพื่อรอรับลูก” ทันทีที่เธอเห็นพ่อมารอรับนั้น “ใจมาเป็นกอง…เห็นพ่อยืนยิ้มอยู่ จึงโดดเข้ากอดด้วยความดีใจ


เมื่อครั้งเป็นนายพันโท พระยาศรีสิทธิสงคราม


บทส่งท้าย


กระนั้นก็ตาม โชติศรีก็ปลอบใจตัวเองว่า “ที่ใครๆ สงสารฉันเรื่องพ่อตายในที่รบ แล้วฉันกลับบอกว่า ท่านตายไปเสียตอนนั้นน่ะดีแล้ว คงเป็นเพราะ…ฉันคงทนไม่ได้ที่จะเห็นพ่อในชุดนักโทษเดินลากโซ่ตรวนไร้อิสรภาพ”

เพราะตอนเธอเรียน ม.8 วิทยาศาสตร์ โรงเรียนราชินีบน มีคุณครูยสวดี อัมพรไพศาล เป็นครูประจำชั้น ซึ่งคุณหลวงอัมพรไพศาล (กฤษณ์ บูรณะสัมฤทธิ) สามีของคุณครูนั้น เป็นนักบินที่ถูกจับเป็นนักโทษการเมืองคราวกบฏบวรเดชเช่นเดียวกัน

โชติศรีเล่าว่า ในวันอาทิตย์ได้ช่วย “พี่ยส” หิ้วปิ่นโตและตะกร้าใส่ของกินของใช้ลงเรือแท็กซี่ที่ท่าเขียวไข่กา บางกระบือ ไปเยี่ยมคุณหลวง “เวลาเห็นคุณหลวงในชุดนักโทษเดินลากโซ่ตรวจเข้ามาในห้องที่เยี่ยมนั้น ฉันหดหู่ใจมากและสงสารจนนึกถึงว่า นี่ถ้าเป็นพ่อ ฉันจะรู้สึกอย่างไร


ท่านผู้หญิงยสวดี อัมพรไพศาล กับหลวงอัมพรไพศาล (กฤษณ์ บูรณะสัมฤทธิ)
ยสวดีกับบุตรชาย (จักรกฤษณ์) นั่งเรือไปเยี่ยมหลวงอัมพรไพศาลที่บางขวาง พ.ศ.2479


โชคร้ายที่ในเวลานั้น คนอย่างโชติศรีเข้าใจเพียงว่านักโทษจะต้องปรากฏตัวในชุดนักโทษเท่านั้น หากเป็นสมัยนี้ บางทีเธออาจจะไม่จำเป็นต้องเห็นคนรู้จักของเธอที่ต้องโทษ อยู่ในชุดนักโทษเลยก็เป็นได้!


บรรณานุกรม

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save