fbpx

‘ศิลปะนอกกรอบการตัดสิน’ ครู ศิลปะด้านใน และการเพิ่มความเป็นมนุษย์เข้าไปในการเลี้ยงเด็ก 

นิยามของ ‘ศิลปะ’ ในความคิดของใครหลายคนคงเป็นการวาดรูปด้วยดินสอหรือระบายภาพด้วยสีสันต่างๆ เพียงเท่านั้น ทว่าความงดงามในอีกแง่มุมหนึ่งของคำว่า ‘ศิลปะ’ ยังหมายรวมถึง ‘ศิลปะด้านใน’ ที่มีทั้งความสุข ความสงบ ความสบายใจ และเป็นอีกหนึ่งวิถีทางแห่งการเรียนรู้ซึ่งจะเป็นรากฐานไปสู่การขับเคลื่อนการศึกษารูปแบบใหม่ เพื่อเปิดให้มนุษย์ทุกเพศทุกวัยมีโอกาสพบเส้นทางที่ตัวเองไม่เคยรู้จักมาก่อน

“จงรับเด็กด้วยความศรัทธา ให้การศึกษาด้วยความรัก แล้วส่งเขาออกไปสู่ความมีเสรี” คือแนวคิดของรูดอล์ฟ สไตเนอร์ ผู้ริเริ่มการทำงานผ่านสุนทรียภาพบนแนวทางศิลปะมนุษยปรัชญา (Anthroposophy) ซึ่งต่อมาเป็นแนวทางการเรียนรู้ที่ถูกนำมาปรับใช้ในการพัฒนาผู้ทำงานด้านเด็ก ผ่านการศึกษาที่เรียกว่า ‘ศิลปะด้านใน’

ศิลปะด้านในมีความหมายเรียบง่าย หมายถึงการเข้าถึงความงามในโลกที่เป็นศิลปะและเข้าถึงสุนทรียภาพในใจของตนผ่านการบ่มเพาะฝึกฝนศิลปะรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการจัดดอกไม้ การวาดภาพระบายสี การร้องเพลง งานหัตกรรม การทำอาหาร เป็นการซับซึมความงามของศิลปะผ่านสัมผัสทั้งห้าที่ถ่ายทอดจากผู้ใหญ่ จนแทรกซึมเข้าไปสู่ภายในหัวใจดวงน้อยๆ ของเด็ก

โครงการพัฒนาคุณครูผ่านแนวทางศิลปะด้านในเริ่มต้นจากคุณครูต้นแบบสามท่านที่เป็นผู้ริเริ่มการศึกษาศิลปะแบบมนุษยปรัชญาบนแนวทางวอลดอร์ฟ ได้แก่ ครูมอส-อนุพันธุ์ พฤกษ์พันธ์ขจี, ครูอุ้ย-อภิสิรี จรัลชวนะเพท, และ ครูมัย-ณภัทร ชัยสุบรรณ์กนก ที่ร่วมกันวางกระบวนการทำงานศิลปะด้านในด้วยการนำสุนทรียภาพทางศิลปะแขนงต่างๆ เข้ามาในวิถีชีวิตของผู้เข้าร่วมที่มาจากหลากหลายบทบาท ไม่ว่าจะเป็นครูที่ทำหน้าที่ดูแลเด็กในห้องเรียน ผู้ทำงานเกี่ยวกับเด็กเล็ก หรือแม้แต่ผู้ปกครองที่ต้องเลี้ยงดูบุตรหลานของตัวเอง จนนำมาสู่การขยายผลไปตามพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ

หรือต่อให้จะไม่ได้ประกอบอาชีพที่เกี่ยวข้องกับการดูแลเด็ก แต่แค่เพียงมีความตั้งใจจะพัฒนาศักยภาพทั้งภายในของตัวเองและเด็กน้อยที่อยู่ใกล้ตัว ก็ล้วนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของศิลปะด้านในได้เช่นกัน เพราะในความเป็นจริงนั้น การดูแลเด็กสักคนหนึ่งไม่ใช่แค่หน้าที่ของครูหรือผู้ปกครอง แต่หมายรวมถึงทุกคนรอบตัวเด็กน้อยผู้เป็นดั่งเมล็ดพันธุ์แห่งความหวังเหล่านี้ด้วย 

หมายเหตุ : เรียบเรียงเนื้อหาจากงานสัมมนา ศิลปะด้านใน : การเติบโตของผู้ทํางานที่โอบอุ้มเด็กในสถานะด้านจิตวิญญาณ ณ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) 

เพราะศิลปะด้านในมีคุณค่ามากกว่าแค่ความงาม

เพราะ ‘ศิลปะด้านใน’ แตกต่างออกไปจากศิลปะที่พวกเราเคยร่ำเรียนมา ครูเปิ้ล-นลินรัตน์ อินต๊ะพันธ์ จากครูสอนวิชาศิลปะที่ผันตัวมาร่วมเรียนรู้แนวคิดศิลปะด้านใน ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์โดยระบุว่ากลุ่มเป้าหมายที่เธอตั้งใจจะมอบแนวทางการเรียนรู้ศิลปะที่แตกต่างไปจากหลักสูตรกระแสหลักนั้น ได้แก่ กลุ่มผู้ทำอาชีพครู ผู้ปกครอง ผู้ทำงานเกี่ยวกับเด็ก และหมุดหมายสำคัญที่สุด คือเด็กที่อยู่ในความดูแลของบุคลากรของรัฐหรือเด็กที่ผู้เข้าร่วมอบรมดูแลอยู่

ในส่วนของการขับเคลื่อนแนวคิดศิลปะด้านในต่อสังคม ครูเปิ้ลเลือกขยายผลในพื้นที่ภาคเหนือ โดยมีกลุ่มผู้เข้าร่วมอบรมมาจากหลากหลายสายอาชีพ เช่น ครูในระบบราชการ ผู้ปกครอง ผู้ทำอาชีพฟรีแลนซ์ และบุคคลทั่วไปที่สนใจเข้ามาเรียนรู้ ซึ่งมีการตั้งธงเป้าหมายในการเรียนการสอน คือการสนับสนุนให้ผู้เข้าร่วมมีประสบการณ์เข้าถึงความงามที่เรียบง่ายผ่านการทำงานศิลปะให้ได้มากที่สุด

แรกสุด ครูเปิ้ลเริ่มต้นจากการแชร์ประสบการณ์ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับตัวเองหลังจากได้รู้จักสิ่งที่เรียกว่า ‘ศิลปะด้านใน’ ความเปลี่ยนแปลงที่ครูเปิ้ลค้นพบคือความเข้าใจใหม่เกี่ยวกับศิลปะที่เปิดโลกและมอบโอกาสให้เธอได้สร้างสรรค์ผลงานอย่างอิสระปราศจากความคาดหวังหรือการตัดสินจากผู้อื่น ซึ่งสิ่งนี้เองคือเป้าหมายสำคัญของการบ่มเพาะจิตใจให้เกิดความงามและความสุขจากด้านในของผู้เรียนทุกคน จากแนวคิดดังกล่าว ครูเปิ้ลจึงเลือกออกแบบทั้งบรรยากาศในห้องเรียนไปจนถึงกระบวนการเรียนรู้ศิลปะด้านในอย่างประณีตที่สุด เพื่อมุ่งหวังจะบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์อย่างเด็กน้อยทุกคนให้เติบโตอย่างงดงาม 

ระหว่างแชร์ประสบการณ์ย้อนไปในอดีตขณะที่ครูเปิ้ลยังเป็นครูสอนศิลปะตามหลักสูตรการศึกษาไทย เธอเล่าอย่างติดๆ ขัดๆ พร้อมน้ำตาคลอหน่วย ด้วยความรู้สึกของครูศิลปะที่เคยถูกมองข้าม

“พอพูดถึงเรื่องนี้ทีไรก็จะร้องไห้ทุกที อย่างที่รู้ว่าหลักสูตรศิลปะในโรงเรียนถูกพูดถึงน้อยมากและแทบไม่มีการปรับปรุงหลักสูตรมาหลายสิบปีแล้ว ทั้งๆ ที่ศิลปะเป็นวิชาหนึ่งที่ทำให้เด็กได้พัฒนาด้านในจิตใจ การได้ถ่ายทอดศิลปะด้านในจึงพิสูจน์ว่าจริงๆ แล้วเราในฐานะครูศิลปะก็สำคัญต่อสังคมเหมือนกันนะ และในความเป็นจริงศิลปะที่เราสอนให้เด็กๆ ก็สำคัญกับการพัฒนาศักยภาพของเขามาก” 

“ในฐานะครูศิลปะ ที่ผ่านมาเราเจอคนที่มีบาดแผลจากวิชาศิลปะมามาก หลายคนทิ้งศักยภาพการวาดรูปของตัวเองเพราะถูกคนอื่นตัดสินผลงาน แต่ศิลปะด้านในที่เรากำลังทำอยู่เป็นการเน้นให้ความสำคัญที่กระบวนการ เพราะเราเชื่อว่าศิลปะมีคุณค่ามากกว่าแค่ความงาม” 

“การทำงานศิลปะด้านในทำให้เห็นว่าเราไม่จำเป็นต้องตัดสินเด็กเลย และทุกครั้งที่ทำงานศิลปะ หลักสำคัญคือการสังเกตตัวเองและเด็กที่อยู่กับเรา เพราะฉะนั้นสายตาที่เรามองเด็กจึงไม่ใช่สายตาของการตัดสิน แต่เป็นการสังเกตว่าเขากำลังขาดอะไรอยู่ไหม และเราจะเติมอะไรได้บ้างเพื่อให้เขาสมบูรณ์ขึ้นในแบบของเขา”

ในส่วนของกิจกรรมเสริมสร้างความเข้าใจศิลปะด้านใน ครูผักกาด-วริศรา ถวิลรักษ์ อีกหนึ่งครูสอนศิลปะผู้เป็นตัวแทนวิทยากรจากโครงการ ‘ศิลปะด้านในโอบอุ้มหัวใจผู้ดูแลเด็กภาคเหนือ จังหวัดลําปาง’ เท้าความจากสิ่งที่ครูเปิ้ลเล่าไปก่อนหน้า ว่าด้วยกระบวนการจัดกิจกรรมระบายสีที่เป็นแกนหลักของการจัดอบรม ครูผักกาดอธิบายว่าการระบายสีเป็นการเรียนรู้สมดุลในใจผ่านสีสันที่เคลื่อนไหวไปตามกระดาษ เป็นกิจกรรมที่ชวนให้ได้กลับมาทบทวนความรู้สึกด้านในของตัวเองผ่านสี น้ำ และโจทย์ที่แตกต่างกันออกไปโดยมีอิสระในการสร้างสรรค์ผลงานของตนเอง 

“การระบายสีน้ำเป็นการชวนให้มองเห็นการทำงานด้านในของเราและของผู้อื่น เช่น ถ้าเราไม่เข้าใจว่าเด็กคนหนึ่งกำลังรู้สึกอย่างไร หรือที่เด็กระบายสีแบบนี้หมายความว่าอย่างไร เราก็ต้องลองระบายแบบเขาดู หมายความว่าถ้าเราอยากเข้าถึงสภาวะในใจของเด็ก เราต้องลองทำแบบเขา ต้องลองจุ่มแช่อยู่กับประสบการณ์ตรงหน้าดู” ครูผักกาดเสริมถึงหัวใจสำคัญของกิจกรรมระบายสี

ถัดมาเป็นกิจกรรมร้องเพลงที่เริ่มต้นจากการให้ผู้เข้าร่วมเปล่งเสียงของตัวเองและตั้งใจฟังเสียงของเพื่อนรอบข้าง เพื่อให้ทุกคนรู้จักเสียงที่แตกต่างหลากหลายของตัวเองและผู้อื่น ชวนให้เห็นว่าความไพเราะของการประสานเสียงนั้นเกิดจากความแตกต่างแต่เติมเต็มซึ่งกันและกัน

ต่อด้วยกิจกรรมจัดดอกไม้ที่ให้ผู้เข้าร่วมเลือกมุมเลือกแจกันในการตกแต่งดอกไม้ได้อย่างอิสระ และได้ลองสัมผัสความงามของธรรมชาติด้วยตัวเอง ครูผักกาดเสริมว่ากิจกรรมเหล่านี้ล้วนชวนให้ทุกคนกลับไปทบทวนงานศิลปะที่ทำมาทั้งหมด ได้เห็นการเติบโตของตนเอง ได้ตกตะกอนความรู้สึกนึกคิดและประสบการณ์ในจิตใจของแต่ละคน

นอกจากนี้ ครูผักกาดยังชวนเรามองย้อนกลับไปถึงช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งสร้างวิกฤตให้ระบบการศึกษาไทยอย่างมาก ด้วยการเรียนการสอนที่ระส่ำระสายและการกลับมาเปิดเรียนที่เด็กไม่สามารถปรับตัวได้ทันหลังต้องเรียนออนไลน์อยู่หลายปี ครูผักกาดจึงนำเอาแนวคิดศิลปะด้านในมาปรับใช้ในการดูแลเด็กในห้องเรียนมากขึ้น โดยเริ่มต้นจากกิจกรรมวาดเส้นรูปทรง เธอเล่าว่ากิจกรรมนี้เป็นบทเรียนที่เน้นสอนการสร้างสมดุลผ่านการวาดรูป ให้เด็กๆ เรียนรู้ที่จะควบคุมสิ่งต่างๆ ทั้งกระดาษ สี ไปจนถึงกล้ามเนื้อส่วนมือของตัวเอง และได้กลับมามีสมาธิจดจ่ออยู่กับตัวเองมากขึ้น

“สิ่งที่เราจะไม่ทำคือการวาดภาพสำเร็จแล้วมาแปะให้เด็กๆ ลอกตาม แต่สิ่งที่เราจะทำคือค่อยๆ สอนเขาลากเส้นตั้งแต่ต้นจนจบ ค่อยๆ วางกระดาษ หายใจเข้าลึกๆ แล้วใช้สีเทียนลากเส้นจากขอบกระดาษลงมาจนสุดระหว่างที่ค่อยๆ ปล่อยลมหายใจออกมา จากนั้นก็ปล่อยให้เด็กๆ ลองทำตาม และที่สำคัญคือเราจะไม่ตัดสินเด็ก ให้เขาเรียนรู้ด้วยตัวเขาเองอย่างช้าๆ โดยไม่เร่งรัดเขา” 

“เราบอกเด็กๆ เสมอว่าในคลาสนี้เราไม่จำเป็นต้องใช้ยางลบก็ได้ เพราะการทำงานนี้เราไม่จำเป็นต้องสมบูรณ์แบบ เราสามารถทำเส้นใหม่ให้ดีขึ้นได้ เส้นที่ผ่านมาแล้วจะเป็นอย่างไรก็ไม่เป็นไร การลากเส้นสอนให้เราได้ใช้เวลากับตัวเอง กับเด็กๆ และให้เวลาซึ่งกันและกันผ่านการรักษาจังหวะในการเรียนรู้ การทำซ้ำ และการทำทุกอย่างบนพื้นฐานของการเคารพซึ่งกันและกัน” ครูผักกาดอธิบาย

หัวใจสำคัญที่สุดของการเรียนรู้ศิลปะด้านใน คือการสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้เด็กได้เติบโตในแบบที่พวกเขาเป็นอย่างช้าๆ ไม่เร่งรีบ ไม่กดดัน และไม่ต้องแบกรับความคาดหวังของผู้ใหญ่ในสังคม เพราะในท้ายที่สุด จะมีการเติบโตแบบไหนที่ดีไปกว่าการได้เติบโตอย่างงดงามในแบบของตัวเอง และในระหว่างการเติบโตนั้น ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าครอบครัวและคุณครูคือกุญแจสำคัญที่จะช่วยปลดล็อกตะกอนความคิดที่ซ่อนอยู่ลึกๆ ภายในจิตใจของเด็กทุกคน

“ก่อนจะเริ่มแต่ละคลาส เราจะถามเด็กก่อนเริ่มการเรียนเสมอว่า ‘วันนี้หนูรู้สึกอย่างไรบ้าง’ จนวันหนึ่งมีเด็กคนหนึ่งตอบเรามาว่า ‘ครูรู้ไหมว่าไม่เคยมีครูคนไหนถามหนูเลย ว่าหนูรู้สึกอย่างไรบ้าง’ เราคิดวนอยู่กับคำพูดนี้ไปนานเลยนะ เพราะในความเป็นจริง บางทีเด็กอยู่กับก้อนความรู้สึกมากกว่าที่พวกเราคิด แต่เขาไม่มีโอกาสได้พูดออกมา หรือเขาไม่รู้สึกปลอดภัยมากพอจะพูดออกมา”

“ตอนเด็กๆ เราต่างเติบโตมากับวิชาศิลปะที่ให้ความสำคัญแค่ว่าชิ้นงานต้องสวย ต้องเป๊ะ จนบางทีความคาดหวังนั้นทำให้เราไม่กล้าวาดรูป แต่แนวทางของศิลปะด้านในให้ความสำคัญกับกระบวนการในการวาดและระหว่างทางกว่าชิ้นงานจะสมบูรณ์ เพราะแม้แต่ทิศทางหรือน้ำหนักของเส้นก็สะท้อนความรู้สึกนึกคิดของเด็กได้ เป็นการจำลองสภาวะของเด็กให้ออกมาเป็นภาพ เพื่อให้ครูอย่างเราเข้าไปดูแลและโอบอุ้มเขาได้ถูกจุดและถูกจังหวะเวลา” ครูผักกาดกล่าวทิ้งท้าย

การเรียนรู้ที่ดีเริ่มต้นได้ที่บ้านของเรา 

ครูพร-ศิริพร ยอดไพบูลย์ ครูตัวแทนผู้จัดกิจกรรม ‘วิถีศิลป์สู่วิถีชีวิต จังหวัดพิจิตร’ อธิบายเพิ่มเติมว่าหัวใจสำคัญของการเรียนรู้ศิลปะด้านในและหลักคิดแบบวอลดอร์ฟ คือการฝึกฝนเพื่อเข้าใจจังหวะชีวิตที่สอดคล้องกับธรรมชาติ เชื่อมโยงมาถึงการทำซ้ำไปมาในความถี่ที่สม่ำเสมอ ซึ่งจะทำให้เรามีความมั่นใจและมั่นคงในจังหวะชีวิตของตนเองมากขึ้น จนในท้ายที่สุดก็จะนำมาสู่ความเคารพในมนุษย์ที่เท่าเทียมกันและเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนล้วนมีความสามารถที่จะพัฒนาได้ หลังจากได้เรียนรู้หลักคิดนี้ ครูพรจึงนำแนวทางศิลปะด้านในมาปรับใช้ในการดำเนินชีวิตของตัวเอง และนำไปเผยแพร่ในพื้นที่การเรียนรู้ในจังหวัดพิจิตร โดยครูพรเสริมว่าการส่งต่อความรู้ศิลปะด้านในไปยังผู้ดูแลเด็กในท้องที่จังหวัดพิจิตรมีเป้าหมายและวัตถุประสงค์หลักสามข้อ

ข้อแรก เพื่อนำเอาแนวคิดศิลปะด้านในมาพัฒนาและเสริมพลังให้ผู้ทำงานด้านเด็ก

ข้อสอง เพื่อให้ผู้เข้ารับการเรียนรู้ได้รับความรู้และประสบการณ์ในการจัดกิจกรรมดูแลเด็กได้อย่างมีประสิทธิภาพและเหมาะสม

ข้อสาม เพื่อให้เกิดการสร้างเครือข่ายผู้ดูแลเด็กที่มีประสิทธิภาพในพื้นที่ชุมชนห่างไกลมากขึ้น

เพราะหัวใจสำคัญที่สุดของการเรียนรู้ศิลปะด้านใน คือกระบวนการออกแบบกิจกรรมที่จะพาผู้เข้าร่วมทุกคนเข้าไปสู่โลกของธรรมชาติภายในจิตใจของตัวเองได้ ครูหลิน-กมลศรี ลิขิตประกายรุ้ง วิทยากรและกระบวนกรอิสระผู้เคยเข้ารับการอบรมหลักสูตรศิลปะด้านใน ตั้งใจเล่าให้เราฟังว่าในการออกแบบกิจกรรม เธอจะไม่ได้นำหลักการหรือทฤษฎีมาสั่งให้ผู้เรียนต้องทำตาม แต่จะคำนึงถึงบริบทของท้องถิ่นที่เข้าไปจัดกิจกรรมด้วย พร้อมทั้งต้องทำแนวคิดมาสังเคราะห์ให้ผู้เรียนเข้าใจได้ง่ายที่สุดและมีอารมณ์ร่วมระหว่างทำกิจกรรมไปด้วยกัน เพื่อให้มั่นใจว่าทุกคนจะได้ซึมซับความรู้สึกและประสบการณ์ต่างๆ ด้วยตัวเองอย่างแท้จริง

ครูหลินเน้นย้ำว่าในความเป็นจริงแล้วการจะพัฒนาศักยภาพของมนุษย์ ไม่ว่าจะในวัยเด็กหรือวัยผู้ใหญ่ล้วนเริ่มต้นได้ง่ายๆ ที่บ้าน ไม่ว่าจะเป็นการทำงานบ้าน งานครัว หรือแม้แต่งานสวน เธอจึงเลือกออกแบบกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการงานพื้นฐานเหล่านี้ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมได้เห็นว่าสิ่งที่อยู่รอบกายเรา แม้หลายครั้งจะถูกมองข้ามไป แต่สิ่งเหล่านั้นแท้จริงแล้วล้วนมีคุณค่าและมีประโยชน์ในแบบของมัน 

“สิ่งที่เราต้องคำนึงถึงคือในพื้นที่ของเขาเป็นอย่างไรและมีอะไรอยู่บ้าง เราถึงจะเอาความรู้ที่มีเข้าไปเสริมเพื่อให้เขาทำสิ่งนั้นต่อไปได้อย่างยั่งยืนด้วยตนเอง ซึ่งเราเห็นว่าชุมชนที่เราเข้าไปเขาทำงานบ้าน งานครัว และงานสวนกันเป็นปกติในชีวิตอยู่แล้ว คือพวกเขามีเพชรอยู่ในมืออยู่แล้ว เราแค่นำกระบวนการที่มีไปสะกิดให้เขาเห็นว่า เด็กๆ ของคุณสามารถเรียนรู้จากสิ่งที่คุณมีได้ง่ายๆ ที่บ้านเลยนะ นี่แหละคือบทเรียนที่ดีที่สุดแล้วสำหรับเด็กเล็ก” 

“จากเดิมที่ผู้ปกครองอาจไม่อยากให้ลูกหลานทำงานบ้านเพราะกลัวเด็กจะทำผิดพลาด สิ่งสำคัญคือเราต้องเสนอวิธีการใหม่ๆ ที่จะชวนให้ลูกๆ หลานๆ มาทำกิจกรรมร่วมกับผู้ปกครองมากขึ้น ซึ่งจะนำมาสู่ความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว ทำให้เกิดความแน่นแฟ้นของสายสัมพันธ์ ให้พ่อแม่ของเด็กรู้สึกภาคภูมิใจที่มีส่วนทำให้ลูกหลานเติบโตเป็นคนที่มีความสุขในแบบตัวเอง” ครูหลินอธิบาย

กิจกรรมหลักที่ครูพรและครูหลินร่วมกันออกแบบขึ้นมา คือกิจกรรมที่เน้นส่งเสริมศักยภาพภายในของตัวเองโดยไม่ได้เกิดจากการฟังแล้วจำเพียงอย่างเดียว เพราะพวกเธอเชื่อมั่นว่าเมื่อไหร่ก็ตามที่เราได้ลงมือทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งด้วยตนเอง เราจะเข้าใจความรู้สึกจากการมีประสบการณ์ตรงต่อสิ่งนั้น กิจกรรมที่เน้นให้ทำและลงมือปฏิบัติด้วยตนเองจริงๆ ในฐานะของคนที่ต้องทำงานดูแลเด็กเล็กจึงจะช่วยให้พวกเขาได้เข้าใจความรู้สึกของเด็กมากขึ้น เช่น เข้าใจมากขึ้นว่าเมื่อเด็กแสดงพฤติกรรมใดออกมา ณ ขณะนั้นเด็กกำลังมีสภาวะจิตใจเช่นไรอยู่

“ในคลาสของเราจะมีกิจกรรมระบายสี ร้องเพลงประกอบจังหวะ เล่านิทาน มีงานบ้าน งานครัว งานสวน เช่น ให้ปลูกต้นไม้ ทำขนมหวาน ทำตุ๊กตาหุ่นเชิด จัดดอกไม้ ปลูกผัก ทั้งหมดนี้เป็นกิจกรรมที่ทำให้เราเข้าใจทั้งตัวเองและผู้อื่น รวมไปถึงเข้าใจลูกหลานที่บ้านหรือเด็กๆ ที่คุณครูต้องดูแล เช่น เมื่อผู้ใหญ่ได้ลงมือระบายสีด้วยตัวเอง เขาจะเข้าใจว่าเวลาลูกหลานของเขาระบายสีก็สะท้อนจิตใจด้านในว่าเด็กกำลังรู้สึกอย่างไรอยู่”

ครูหลินยังแบ่งปันประสบการณ์ให้เราฟังว่า ผลลัพธ์จากได้เข้าร่วมการทำศิลปะด้านในเหล่านี้ คือการที่รู้สึกว่าตัวเองใจเย็น สงบและนิ่งมากขึ้น ทั้งยังมีส่วนช่วยให้เกิดสมาธิในการสอนเด็ก ซึ่งก็จะเป็นผลดีไปสู่ตัวเด็กที่จะซึมซับความใจเย็นจากตัวครูผู้สอนได้อีกด้วย พร้อมเสริมว่ากิจกรรมเหล่านี้ปรับใช้ได้กับหลากหลายอาชีพ ไม่จำเป็นต้องเป็นครูเท่านั้น เช่น มีช่างภาพมาเข้าร่วมกิจกรรม ซึ่งได้ผลลัพธ์กลับมาคือการฝึกตนเองให้มีกระบวนการคิดที่ละเอียดอ่อนและถี่ถ้วนมากขึ้น หรือแม้แต่ผู้ปกครองที่ต้องดูแลบุตรหลานก็สามารถไปปรับใช้ในชีวิตครอบครัวได้ จากที่เคยมีความสัมพันธ์ภายในที่แข็งกระด้างก็ค่อยๆ ผ่อนคลายลง 

“เพราะการที่เด็กจะเติบโตได้อย่างมีคุณภาพในสังคมไม่ได้เริ่มจากที่ไหนไกล แต่เริ่มต้นได้ที่บ้านของเราเอง” ครูหลินกล่าวปิดจบพร้อมรอยยิ้ม

ศิลปะด้านในสู่หัวใจดวงพิเศษ

ศิลปะด้านในยังสามารถนำมาพลิกแผลงและปรับใช้กับสิ่งแวดล้อมรอบกายได้มากกว่าที่เราคิด ครูต้อง-ศรัญญา ขานหยู ตัวแทนจากกลุ่มคุณครูผู้นำศิลปะด้านในไปเผยแพร่ต่อในพื้นที่จังหวัดการฬสินธุ์ภายใต้โครงการ ‘ศิลปะด้านใน สู่หัวใจดวงพิเศษ’ เล่าให้เราฟังว่าเธอเลือกนำศิลปะด้านในมาปรับใช้กับวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น ทั้งศิลปะและดนตรีพื้นบ้านในท้องที่ภาคอีสาน โดยเลือกใช้ภาษาอีสานซึ่งเป็นตัวตนของครูและเด็กๆ ในพื้นที่มาเป็นเครื่องมือหนึ่งในการถ่ายทอดศิลปะด้านใน ด้วยการแต่งบทเพลงสำหรับทำกิจกรรมเป็นภาษาอีสานทั้งหมด รวมถึงใช้เครื่องดนตรีท้องถิ่นอีสานมาเป็นเสียงหลักในการทำกิจกรรมเต้นประกอบจังหวะ

และนอกจากศิลปะด้านในจะปรับใช้ได้กับคนทุกช่วงวัยแล้ว ยังสามารถถ่ายทอดให้กับคนทุกกลุ่มได้อีกด้วย สำหรับกลุ่มเด็กที่ครูต้องดูแลอยู่นั้น เธอให้คำนิยามว่าเป็นเด็กที่มี ‘หัวใจดวงพิเศษ’ โดยกิจกรรมศิลปะด้านในนี้จัดขึ้นที่ศูนย์การศึกษาพิเศษ จังหวัดกาฬสินธุ์ สถานศึกษาที่มีการจัดการเรียนการสอนในลักษณะใช้บริการช่วยเหลือเด็กทุกประเภทความพิเศษตั้งแต่วัยแรกเกิดจนถึงอายุ 18 ปี ไม่ว่าจะเป็นบุคคลที่มีความบกพร่องทางการเห็น การได้ยิน บุคคลออทิสติก บุคคลพิการซ้อน เป็นต้น

ครูต้องแบ่งปันประสบการณ์ส่วนตัวของเธอและเหตุผลที่เลือกจะส่งต่อแนวคิดศิลปะด้านในไปสู่เด็กพิเศษไว้ว่า “เราเป็นคนหนึ่งที่ร้องเพลงเพี้ยนและไม่ค่อยกล้าแสดงออก แต่ศิลปะด้านในทำให้เราก้าวข้ามผ่านความกลัวที่อยู่ในใจมาได้ จึงเป็นแรงบันดาลใจให้เราอยากส่งต่อความรู้สึกนี้ไปยังเด็กทุกประเภทความพิการ เพราะเราเชื่อว่าแต่ละบุคคลล้วนมีความแตกต่าง แต่ศิลปะด้านในจะทำให้เราเห็นว่าความแตกต่างไม่ใช่อุปสรรคในการทำงานกับเด็กกลุ่มพิเศษแต่อย่างใด”

กิจกรรมที่ครูต้องและทีมออกแบบเริ่มต้นด้วยกิจกรรมร้องเพลง ที่ครูต้องระบุว่าเป็นกิจกรรมที่ปลุกให้ทุกคนตื่นตัวพร้อมเรียนรู้ กิจกรรมเข้าจังหวะที่ฝึกให้เรียนรู้ถึงความสมดุลของจังหวะ การเคลื่อนไหวร่างกายและสอดคล้องกับลมหายใจ กิจกรรมเย็บปักถักร้อยที่เสริมสมาธิในการจดจ่อในสิ่งหนึ่ง กิจกรรมเล่านิทานพร้อมเสียงเพลงและท่าเต้นประกอบ กิจกรรมระบายสีน้ำที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้บ่งบอกความรู้สึกผ่านสีสัน ไปจนถึงกิจกรรมจัดโต๊ะอาหารให้กลุ่มเด็กพิเศษได้ฝึกช่วยเหลือตนเองในชีวิตประจำวัน

“กิจกรรมเหล่านี้สำคัญมากในการสะท้อนความรู้สึกนึกคิดของเด็ก ตัวอย่างเช่น กิจกรรมระบายสี เพราะทุกภาพที่ออกมาก็คือความรู้สึก ณ ขณะนั้นของเด็ก กิจกรรมนี้ทำให้ครูได้สังเกตและเข้าไปเยียวยาเด็กพิเศษในความดูแล เพราะบางทีเขาอาจจะสื่อสารได้ไม่ดีเท่าเด็กปกติ การระบายสีจึงทำให้เขาได้สื่อสารความรู้สึกภายในของเขาออกมา” ครูต้องเสริม

“ตอนจัดกิจกรรมเล่านิทาน เราสังเกตว่าเมื่อเด็กพิเศษได้ฟังนิทาน เขาจะสงบขึ้น จากที่กำลังวิ่งไปวิ่งมาแต่เมื่อไหร่ที่เขารู้ว่าการเล่านิทานกำลังจะเริ่มขึ้น เขาจะหยุดนิ่งและสนใจเรื่องราวที่ครูกำลังเล่าให้ฟัง จดจ่ออยู่กับเนื้อหาของนิทานนั้น และด้วยการถ่ายทอดที่ดีจะทำให้เขาซึมซับเนื้อหาได้ดีและรู้สึกมั่นคงในจิตใจมากขึ้น ที่สำคัญคือกิจกรรมเล่านิทานของเราจะไม่มีการสรุป ไม่มีการชี้นำ เพื่อสร้างพื้นที่ให้เด็กได้สร้างจินตนาการในแบบของเขา”

ครูต้องเสริมถึงประเด็นการทำงานกับเด็กกลุ่มพิเศษไว้ว่าสิ่งสำคัญที่สุดของการทำงานด้านนี้คือ ‘หัวใจ’ ที่พร้อมจะส่งต่อสิ่งดีๆ ให้กับเด็กๆ ที่มาเรียนรู้กับเรา เธอระบุว่า “สิ่งสำคัญของการทำงานศิลปะด้านในกับเด็ก คือการ ‘เปิดใจ’ ครูต้องเข้าใจในตัวตนของตัวเองก่อน จึงจะไปถ่ายทอดให้กับเด็กๆ ได้ ไม่ปฏิเสธว่าการสอนเด็กพิเศษนั้นยากพอสมควร แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือเราต้องมีหัวใจที่อยากจะถ่ายทอดก่อน ครูทุกคนต้องถามตัวเองก่อนว่าพร้อมจะเรียนรู้สิ่งเหล่านี้ไปพร้อมกับเด็กๆ ของคุณไหม”

ให้ศิลปะด้านในเป็นสะพานเชื่อมใจครูสู่เด็ก

ครูมิ้น-ธนาพร ตระกูลดิษฐ์ จากการทำงานในสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้สู่การรับหน้าที่วิทยากรในโครงการ ‘ศิลปะด้านในเชื่อมใจครูสู่เด็กปฐมวัย’ ระบุว่าจุดเริ่มต้นของโครงการถ่ายทอดแนวคิดศิลปะด้านในในพื้นที่กรุงเทพฯ ของเธอนั้น เกิดขึ้นจากความผันผวนของสถานการณ์โควิดที่ทำให้ครูต้องเปลี่ยนจากการสอนในโลกจริงสู่โลกในจอ แน่นอนว่าในสภาวะวิกฤตเช่นนี้ ครูหลายคนต้องเผชิญกับความเครียดและความกดดันมหาศาล ซึ่งเป็นสิ่งที่ครูมิ้นเล็งเห็นว่าคุณครูหลายคนก็ต้องการการผ่อนคลายทั้งทางร่างกายและจิตใจไม่แพ้กัน จึงเป็นแรงบันดาลใจให้เธอจัดกิจกรรมศิลปะด้านใน

“สถานการณ์โควิดทำให้ครูรู้สึกระส่ำระสายไปกับความผันผวนที่เกิดขึ้นรอบกาย ซึ่งเด็กๆ ก็คงรู้สึกไม่ต่างกัน ในการออกแบบกิจกรรมเราจึงตั้งธงไว้ว่าเราอยากเห็นครูกลับมาผ่อนคลาย เพราะเราเชื่อว่าคุณภาพของหัวใจที่ดีของครูจะสามารถส่งต่อความผ่อนคลาย ความเบิกบานใจและความสุขสู่เด็กๆ ในห้องเรียนได้”

“ครูคือคนที่จะสื่อสารและนำพาเด็กเชื่อมโยงกับโลกใบนี้ สิ่งที่เด็กรับรู้หรือเชื่อมโยงกับโลกผ่านผัสสะต่างๆ ทั้งตา หู จมูก ลิ้น กาย และเชื่อมไปสู่ความรู้สึกที่ใจล้วนส่งผ่านจากท่าทาง สีหน้า และแววตาที่ครูแสดงออก น้ำเสียงที่เด็กได้ยิน สัมผัสที่อ่อนโยน ทุกอย่างมีความหมายกับเด็กน้อยของเราทั้งนั้น ครูจึงเป็นสะพานที่เชื่อมโยงโลกข้างนอกที่ยังคงมีความงาม ความจริง และความหวังไปสู่การรับรู้ของเด็ก” ครูมิ้นกล่าว

สำหรับกิจกรรมที่จะช่วยให้คุณครูให้ผ่อนคลายความเครียดและได้กลับมารับรู้ความรู้สึกข้างในจิตใจตัวเองนั้น ครูบี-อังสุมา คูหาวรรณ คุณครูในระบบที่มีประสบการณ์สอนเด็กเล็กมาหลายปี ระบุว่าหลักสำคัญคือการสร้างพื้นที่เชื่อมโยงหัวใจ ให้คุณครูที่เข้าร่วมกิจกรรมได้รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของกันและกันได้โดยไม่จำเป็นต้องมีคำอธิบาย ตัวอย่างเช่น การจัดกิจกรรมจัดดอกไม้ที่ให้ครูแต่ละคนได้อยู่กับตัวเอง สัมผัสความงามและความละเอียดอ่อนของธรรมชาติ และได้เห็นสิ่งรอบตัวที่เคยมองข้ามไป 

อีกหนึ่งกิจกรรมที่ครูบีภูมิใจนำเสนอคือ กิจกรรมจัดโต๊ะฤดูกาล ทั้งการสร้างสรรค์บรรยากาศในฤดูร้อน ฤดูฝน และฤดูหนาว เป็นกิจกรรมที่เปิดพื้นที่ให้ครูผู้เข้าร่วมได้ออกแบบภาพบรรยากาศแต่ละฤดูกาลได้ด้วยตนเอง โดยเลือกสรรอุปกรณ์ได้รอบตัวตามความต้องการและไม่มีกฎเกณฑ์ใดๆ ในการออกแบบ 

“กิจกรรมจัดโต๊ะฤดูกาลทำให้ครูบางคนได้หวนนึกถึงเรื่องราวในอดีตของตัวเองผ่านฤดูกาลต่างๆ เพราะประสบการณ์และความคิดคือสิ่งที่ศิลปะด้านในทำงานกับตัวเรา เมื่อเราได้อยู่กับตัวเองมากพอ เราก็จะอยู่กับเนื้อตัวและใจตัวเองมากขึ้น ได้นึกย้อนไปทบทวนเรื่องราวประสบการณ์ต่างๆ ของตัวเองอย่างลึกซึ้งกว่าที่เคยเป็น”

นอกจากประสบการณ์ของผู้เข้าร่วมแล้ว ครูบียังเปิดใจเล่าให้เราฟังถึงความรู้สึกของตัวเองจากการได้ทำงานศิลปะด้านในที่ลึกลงไปในระดับจิตใจ รวมถึงบอกเล่าถึงประสบการณ์การทำอาชีพครูในกรุงเทพมหานคร เมืองหลวงที่ขึ้นชื่อเรื่องความวุ่นวายและเร่งรีบเสียจนทำให้เธอพลาดโอกาสที่จะได้อยู่กับตัวเองหลายต่อหลายครั้ง

“สิ่งที่เราได้เรียนรู้คือการได้รู้จักตัวเองจริงๆ ในความเป็นจริงการทำงานเป็นครูในกรุงเทพฯ เราก็รู้สึกว่าตัวเองพลาดหลายโอกาสในบางครั้งเหมือนกันนะ คือการทำงานดูคับแคบและเร่งรีบไปหมด ที่ผ่านมาเหมือนเราไม่มีเวลาได้ฟังความรู้สึกของตัวเอง ไม่ได้ใช้หัวใจของเราเลย เอาแต่สนใจความคาดหวังของคนอื่นจนเราพลาดอะไรไปเยอะ แต่พอเราได้กลับมาทำงานด้านในจิตใจ ได้ทำงานช้าลง ได้รู้เนื้อรู้ตัว รู้ความต้องการจริงๆ ของตัวเองบ้างก็ทำให้ได้ตระหนักและเห็นตัวเองชัดเจนขึ้นกว่าแต่ก่อน” 

“พอรู้วิธีการทำงานด้านในของตัวเองมากขึ้น ได้เรียนรู้ที่จะทำงานด้วยฐานใจไม่ใช่แค่ฐานคิด เมื่อเรารู้ใจตัวเองมากขึ้นก็มีพลังที่จะส่งต่อสิ่งดีงามเหล่านั้นต่อให้คนอื่น โดยเฉพาะเด็กที่เราดูแล เพราะศิลปะด้านในคือการทำงานด้วยความรู้สึกและพลังงานบวกที่มีต่อผู้อื่น”

“สุดท้ายผลลัพธ์จากการเรียนรู้ศิลปะภายในคงเป็นสิ่งที่ตัวชี้วัดทางวิชาการอันไหนก็มาวัดผลไม่ได้ เพราะมันคือการเปลี่ยนแปลงจากข้างใน คือความเป็นมนุษย์ที่ขาดหายไปจากระบบการศึกษาไทย และถ้าเราไม่เปิดใจ เราก็จะไม่มีวันได้ยินเสียงภายในของหัวใจผู้อื่น” ครูมิ้นกล่าวพร้อมรอยยิ้ม

‘ศิลปะด้านใน’ เป็นเสมือนหนึ่งในเรือจ้างที่โต้คลื่นในยุคสมัยของการอบรมครู และกลายมาเป็นกระบวนการที่เติมเต็มหัวใจของผู้ทำงานด้านเด็กท่ามกลางสภาพสังคมที่ป่วยไข้จากทั้งวิกฤตโรคระบาดและความเครียดของผู้คน ความพยายามและความตั้งใจที่ปกป้องเด็กน้อยรอบตัวให้เติบโตอย่างงดงามและปลอดภัยท่ามกลางความผันผวนและปรวนแปรของโลกจึงเป็นอีกหมุดหมายสำคัญของพวกเขาเหล่านี้

เมื่อศิลปะด้านในเข้ามาสู่จิตใจของมนุษย์ เมื่อได้เห็นศิลปะเชื่อมโยงไปถึงโลกด้านในตัวเด็ก ได้เห็นความเป็นธรรมชาติของวัยเยาว์เหมือนสีสันที่กระโดดเคลื่อนไหวบนกระดาษ เห็นก้าวเดินของเด็กเปล่งทำนองเหมือนตัวโน้ตในดนตรี ศิลปะในเส้นทางการเรียนรู้ไปกับธรรมชาติและความบริสุทธิ์ของวัยเด็กที่เกิดขึ้นนี้ จึงเป็นอีกกุญแจสำคัญที่จะพาทั้งครูผู้สอนและเด็กน้อยผู้กำลังเรียนรู้ไปสู่การค้นพบคุณค่าและความงามในแบบของตัวเอง


ผลงานชิ้นนี้เป็นความร่วมมือระหว่างโครงการพัฒนาโมเดลวิทยากรต้นแบบศิลปะด้านในเชิงลึกและพัฒนาสุขภาวะเด็กวัยเรียน และ The101.world

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save