fbpx

จะมีรัฐสวัสดิการ รัฐบาลต้องทำอะไรบ้าง ? : สำรวจการทำงานของรัฐบาลเดนมาร์ก

หลังการเลือกตั้งในปี 2566 ประเด็น ‘รัฐสวัสดิการ’ เริ่มเป็นที่สนใจในสังคมไทยเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากเป็นเรื่องใกล้ตัวที่เกี่ยวข้องกับประชาชนทุกคน ไม่ว่าจะเป็นสวัสดิการสำหรับเด็กแรกเกิดที่สนับสนุนค่าเลี้ยงดูให้พ่อแม่ สวัสดิการด้านการศึกษาเมื่อถึงวัยเล่าเรียน สวัสดิการสำหรับคนทำงานเพื่อสร้างความมั่นคงให้ชีวิต จนไปถึงสวัสดิการในวัยชราเพื่อเป็นค่าครองชีพในวัยเกษียณ มีข้อคิดเห็นจากนักวิชาการ สื่อมวลชน ประชาชน ที่พูดคุยแลกเปลี่ยนในประเด็นนี้กันมากมาย

ผู้อ่านจำนวนไม่น้อยคงคุ้นเคยกับเรื่องราวของรัฐสวัสดิการกันพอสมควร แต่ประเด็นที่หลายคนอาจยังไม่ทราบมากนักคือ หากประเทศเป็นรัฐสวัสดิการแล้ว รัฐบาลต้องทำหน้าที่อะไรบ้าง? 

เพื่อคลายข้อสงสัยดังกล่าว ผู้เขียนจึงไปค้นหาข้อมูลการทำงานของรัฐบาลประเทศเดนมาร์ก ประเทศที่ประสบความสำเร็จในการดำเนินนโยบายรัฐสวัสดิการ มาสำรวจไปพร้อมกันว่า รัฐบาลเดนมาร์กมีวิธีการอย่างไรในการจัดสรรสวัสดิการให้แก่ประชาชน จนสามารถสร้างสังคมที่เสมอภาคไปพร้อมกับความมั่นคงทางเศรษฐกิจเช่นในปัจจุบัน 

ต้องเห็นคุณค่าของประชาชน

การออกแบบนโยบายสาธารณะของรัฐบาล ล้วนต้องเริ่มต้นจากหลักคิดพื้นฐานหรืออุดมการณ์ของผู้ออกแบบนโยบาย ว่าต้องการให้ผลลัพธ์สร้างประโยชน์ให้แก่คนกลุ่มไหนในสังคม บางประเทศอาจมีนโยบายสวัสดิการที่มอบให้เฉพาะคนมีรายได้น้อยเท่านั้น หรือบางประเทศมีนโยบายจัดสวัสดิการให้ประชาชนทุกคนอย่างทั่วถึง

สำหรับเดนมาร์กแล้ว นโยบายรัฐสวัสดิการจัดอยู่ในรูปแบบสังคมนิยมประชาธิปไตย (Social Democratic) ที่มีจุดเด่นคือมองประชาชนทุกคนเป็นผู้ที่สมควรได้รับสวัสดิการจากรัฐอย่างทั่วถึงเท่าเทียมกัน ไม่ต้องมีการพิสูจน์สิทธิว่าเป็นคนยากจน มีสวัสดิการที่เปรียบเป็นตาข่ายคุ้มครองทางสังคมให้แก่ประชาชนในทุกช่วงชีวิตตั้งแต่เกิดจนวัยชรา 

สาเหตุและความเป็นมาของรัฐสวัสดิการเดนมาร์กนั้น ผู้เขียนได้เขียนถึงไปแล้วในบทความ ‘เพราะชาติคือประชาชน: เส้นทางการสร้างรัฐสวัสดิการในเดนมาร์ก’ จึงขอกล่าวโดยสรุปว่า สังคมเดนมาร์กผ่านการต่อสู้เรียกร้องของประชาชนมาอย่างยาวนาน จนรัฐสวัสดิการกลายเป็นฉันทมติร่วมกันในสังคม และเริ่มมีสวัสดิการให้แก่ประชาชนมาตั้งแต่ร้อยกว่าปีที่แล้ว  

เริ่มตั้งแต่ปี 1891 ที่ใช้ระบบบำนาญเป็นประเทศอันดับแรกๆ ของโลก มีสวัสดิการประกันอุบัติเหตุในปี 1898 เงินประกันการว่างงานในปี 1907 และพัฒนาจนเป็นรัฐสวัสดิการเต็มรูปแบบ ผ่านการออก พ.ร.บ. ช่วยเหลือทางสังคม (Public Service Law) ในปี 1933 ที่รัฐจะให้เงินสนับสนุนสวัสดิการค่าเล่าเรียน ค่ารักษาพยาบาล และพัฒนาสวัสดิการให้ครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่ม

หลักคิดพื้นฐานและมุมมองของรัฐบาลที่มีต่อประชาชน จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการขับเคลื่อนรัฐสวัสดิการให้เกิดขึ้นจริง 

ทว่าการมีแค่ความคิดเพียงอย่างเดียวคงยังไม่พอ

ต้องหาเงินมาจัดสวัสดิการ

เมื่อประชาชนต้องการรัฐสวัสดิการ หน้าที่ของรัฐบาลคือการสานต่อนโยบายให้เกิดขึ้นจริง อย่างแรกที่รัฐบาลเดนมาร์กทำ คือการหารายได้จำนวนมากมาจัดสรรสวัสดิการ ซึ่งก็หนีไม่พ้นรายได้จากภาษีของประชาชน 

ในภาพกว้าง เดนมาร์กมีรายได้จากภาษีที่สูงเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศในกลุ่ม OECD สถิติตั้งแต่ปี 1965 พบว่า เดนมาร์กมีรายได้จากภาษีที่สูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัดและสูงกว่าค่าเฉลี่ยรายได้จากภาษีของประเทศในกลุ่ม OECD มาโดยตลอด โดยในปี 2021 เดนมาร์กมีรายได้จากภาษีคิดเป็นร้อยละ 46.88 ของ GDP ขณะที่ค่าเฉลี่ยของประเทศในกลุ่ม OECD คือร้อยละ 34.11


ภาพที่ 1 สถิติรายได้จากภาษีของเดนมาร์ก (เส้นสีแดง) ปี 1965 – 2021 เทียบกับค่าเฉลี่ยของประเทศในกลุ่ม OECD (เส้นสีดำ) แหล่งที่มา : https://data.oecd.org/tax/tax-revenue.htm#indicator-chart

หากมองลึกลงไป พบว่ารายได้จากภาษีส่วนใหญ่มาจากภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามากกว่าครึ่ง (ร้อยละ 52.2) นับว่ามีรายได้จากภาษีในส่วนนี้มากเป็นอันดับ 1 ในกลุ่ม OECD ถัดมาคือ ภาษีการบริโภคร้อยละ 29.7 ซึ่งภาษีประเภทนี้เทียบเคียงได้กับภาษีมูลค่าเพิ่มในประเทศไทย

คำถามสำคัญในเรื่องนี้คือ เดนมาร์กสามารถจัดเก็บภาษีจากประชาชนเป็นจำนวนมากได้อย่างไร? งานวิจัยที่ชื่อว่า How Can Scandinavians Tax So Much? ผลงานของ Henrik Kleven อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัย London School of Economics ศึกษาเหตุผลที่กลุ่มประเทศสแกนดิเนเวียสามารถจัดเก็บภาษีในอัตราที่สูง ได้ให้คำตอบที่น่าสนใจกับเราไว้ ดังนี้ 

จากการศึกษาพบว่า เพราะระบบการจัดเก็บข้อมูลของรัฐบาลที่สามารถประสานงานกับหน่วยงานเอกชนอย่างบริษัทนายจ้าง ธนาคาร สถาบันการเงิน จนทำให้มีข้อมูลเงินได้ของบุคคลและนิติบุคคลที่ครบถ้วน รวมทั้งการมีสัดส่วนของผู้ประกอบอาชีพอิสระและอาชีพที่สามารถเลี่ยงภาษีไม่มีการตรวจสอบจากหน่วยงานภายนอกจำนวนน้อย จึงทำให้สามารถเก็บภาษีได้เป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ การกำหนดฐานภาษีของเดนมาร์กมีความชัดเจน ครอบคลุมเงินได้ทุกประเภท มีความเท่าเทียมในการกำหนดอัตราภาษี การให้สิทธิในการหักค่าใช้จ่าย ยกเว้นและลดหย่อนภาษีอย่างจำกัด จึงไม่เกิดปัญหาในการเลี่ยงภาษีมากนัก

การจ่ายภาษีของคนเดนมาร์กแยกไม่ออกจากสวัสดิการทางสังคมที่พวกเขาได้รับกลับ ข้อมูลชี้ว่า  ‘การใช้จ่ายทางสังคม’ ที่ประกอบด้วย เงินที่จ่ายเพื่อดูแลผู้สูงอายุ ผู้พิการ สุขภาพของประชาชน การคุ้มครองแรงงาน ฯลฯ ของเดนมาร์กมีอัตราที่สูง โดยในปี 2022 เดนมาร์กมีค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ ร้อยละ 26.2 ของ GDP (เป็นอันดับ 8 จากประเทศในกลุ่ม OECD ที่มีทั้งหมด 35 ประเทศ) สวัสดิการที่ได้รับกลับนี้มีส่วนสำคัญในการสนับสนุนให้คนมีงานทำและเข้าสู่ระบบแรงงาน เมื่อแรงงานเข้าระบบได้มากเท่าไหร่ รัฐบาลก็สามารถจัดเก็บภาษีได้มากขึ้นเท่านั้น

ปัจจัยทางสังคมและวัฒนธรรมของเดนมาร์กก็มีผลต่อการจัดเก็บภาษีเช่นกัน โดยผู้วิจัยสำรวจสัดส่วนรายได้จากภาษีต่อ GDP กับผลสำรวจความเห็นของประชาชน พบว่า ประเทศที่คนส่วนใหญ่มีแนวโน้มเห็นด้วยกับข้อความว่า “ทุกคนสามารถเชื่อใจได้” หรือมีความไว้วางใจกัน จะมีแนวโน้มสัดส่วนรายได้ภาษีต่อ GDP ที่สูงกว่าประเทศอื่นๆ เพราะการเชื่อใจกันของประชาชนจะส่งผลให้เกิดแนวโน้มที่จะเสียภาษีอย่างถูกต้อง ไม่เกิดพฤติกรรมการเลี่ยงจ่ายภาษี

สอดคล้องกับผลสำรวจของสถาบัน Gallup Institute Survey ที่ระบุว่า แม้คนเดนมาร์กโดยเฉลี่ยจะจ่ายภาษีทั้งหมดประมาณ 46% ของรายได้ และมีภาระเสียภาษีสูงเป็นอันดับที่ 5 ของโลก แต่ชาวเดนมาร์ก กว่า 88% ก็ยินดีจ่ายภาษีของตน เพราะเชื่อมั่นในสวัสดิการที่ได้รับกลับมา 

เมื่อมีรายได้มาจัดสรรสวัสดิการแล้ว ความท้าทายต่อมาคือจะจัดสรรสวัสดิการอย่างไรให้ทั่วถึงคนทั้งประเทศ?

ต้องให้อำนาจท้องถิ่นจัดการ

ปฏิเสธไม่ได้ว่า หน่วยงานของรัฐที่อยู่ใกล้ชิดประชาชนมากที่สุดคือหน่วยงานท้องถิ่น เพราะในแต่ละพื้นที่ย่อมมีบริบท พื้นที่ สภาพแวดล้อมที่ไม่เหมือนกัน ส่งผลต่อความต้องการด้านสวัสดิการที่แตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ ดังนั้น คนที่รับรู้ความต้องการของประชาชนได้ดีที่สุดย่อมเป็นหน่วยงานท้องถิ่น

รูปแบบการปกครองในประเทศเดนมาร์กสามารถแบ่งได้เป็น 3 ระดับ คือรัฐบาลกลาง รัฐบาลระดับเขต 5 เขต และระดับเทศบาลเมือง หรือ Kommuner จำนวน 98 เทศบาล การบริหารงานท้องถิ่นบริหารโดยสภาเขตและสภาเทศบาลที่มาจากการเลือกตั้งทุก 4 ปี โดยจำนวนของสมาชิกสภาเทศบาลขึ้นอยู่กับขนาดประชากรในแต่ละเทศบาล ซึ่งจะอยู่ระหว่าง 9 ถึง 31 คน แต่จะมีกรณีพิเศษคือเมืองที่มีขนาดใหญ่อย่าง เมืองหลวงโคเปนเฮเกน จะมีสมาชิกจำนวน 55 คน

การจัดให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นทุกปี อาจดูไม่แตกต่างจากประเทศอื่นที่มีการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นเท่าไหร่นัก แต่สิ่งที่ทำให้ท้องถิ่นเดนมาร์กแตกต่างและเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนรัฐสวัสดิการให้เกิดขึ้นจริง คือความอิสระ

จากข้อมูลของดัชนี Local Autonomy index (LAI) ดัชนีชี้วัดความเป็นอิสระของท้องถิ่นที่จัดทำโดยกลุ่มนักวิชาการในทวีปยุโรป เพื่อต้องการวัดค่าความเป็นอิสระของท้องถิ่นในแต่ละประเทศ โดยมีเกณฑ์ที่ใช้ในการวัดไว้  4 ข้อ คือ หนึ่ง–การกำหนดเขตพื้นที่ในความดูแลอย่างชัดเจน สอง–มีอำนาจหน้าที่ในการบริหารการปกครอง สาม–ให้อำนาจประชาชนสามารถเลือกตั้งผู้บริหารในท้องถิ่น และสี่–มีอำนาจในการกำหนดนโยบาย โดยทำการศึกษานโยบายการจัดการของหน่วยงานท้องถิ่นใน 57 ประเทศทั่วโลก เริ่มต้นตั้งแต่ปี 1990 

สำหรับเดนมาร์กได้รับการจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีอิสระของท้องถิ่นในระดับสูง (มีคะแนนมากกว่า 70 ขึ้นไปจาก 100 คะแนนเต็ม) อยู่ในกลุ่มเดียวกับประเทศฟินแลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ ไอซ์แลนด์ สวีเดน ฝรั่งเศส และลิกเตนสไตน์ โดยได้รับคะแนนเป็นอันดับ 1 เรื่องความอิสระในการจัดการองค์กร (Organisational autonomy) และอันดับ 2 เรื่องนโยบายที่ดูแลประชาชน (Policy scope)

ตัวอย่างความเป็นอิสระในการจัดการองค์กร ได้แก่ การมีสิทธิที่จะกำหนดโครงสร้างภายในองค์การของท้องถิ่นเดนมาร์กว่าจะมีกี่หน่วยงาน จะมีกรรมาธิการกี่ชุด ทำหน้าที่อะไรบ้าง ซึ่งอำนาจหน้าที่ตรงนี้เปรียบเป็นรากฐานสำคัญให้แก่หน่วยงานในท้องถิ่น สามารถขับเคลื่อนนโยบายที่ตอบสนองความต้องการของประชาชนในท้องถิ่นได้อย่างสะดวก เช่น เทศบาลเมือง Roskilde จัดให้มีหน่วยงานที่ดูแลเรื่องงานด้านสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะ เพื่อเน้นการขับเคลื่อนนโยบายเรื่องสิ่งแวดล้อมภายในเขตเทศบาล หรือการตั้งสภาพัฒนาธุรกิจขึ้นในเทศบาลเมือง Nestved เพื่อส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจในท้องถิ่น โดยมีผู้แทนของภาคธุรกิจ การศึกษา ประชาชน เข้าร่วมเป็นสมาชิกในการทำงานด้วย ซึ่งการจัดตั้งหน่วยงานสภาพัฒนาธุรกิจไม่ได้มีทุกเมือง แต่เป็นไปตามจุดประสงค์ของแต่ละท้องถิ่นนั้นๆ

ความเป็นอิสระอีกเรื่องคือ การดำเนินนโยบายที่ดูแลประชาชน ที่เดนมาร์กกำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบให้ท้องถิ่น โดยในรัฐธรรมนูญปี 1953 ว่าเทศบาลมีสิทธิที่จะดำเนินกิจการด้วยความอิสระ ภายใต้การกำกับดูแลของส่วนกลาง” และทำงานตามหลักพื้นฐาน คือ มอบสวัสดิการที่ดีให้แก่ประชาชน ขับเคลื่อนและระดมทรัพยากรในระดับท้องถิ่น และกำหนดทิศทางสำหรับพัฒนาชุมชนด้วยตนเอง 

โดยเฉพาะในช่วงปฏิรูปโครงสร้างการปกครองท้องถิ่นเดนมาร์กในปี 2007 ที่ยุบรวมเทศบาลเมืองจาก 271 แห่ง เหลือ 98 แห่ง เพื่อความคล่องตัวในการบริหารงาน พร้อมกับกำหนดหน้าที่จัดสวัสดิการดูแลประชาชนที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น การบรรเทาความยากจนของประชาชน การจัดการปัญหาการว่างงาน ส่งเสริมการฝึกอาชีพ การดูแลผู้สูงอายุ การจัดสถานพยาบาลระดับปฐมภูมิ สวัสดิการสำหรับเด็ก การป้องกันการทำร้ายเด็ก ดูแลปัญหาคนไร้บ้าน คนติดยา ฯลฯ รวมไปถึงการดูแลเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อมและถนนในพื้นที่ที่ได้รับโอนมาจากรัฐบาลระดับเขต

เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น ลองดูตัวอย่างการแบ่งหน้าที่การจัดสวัสดิการด้านสาธารณสุขของเดนมาร์ก โดยรัฐบาลกลางมีอำนาจในการควบคุมและบังคับใช้กฎหมาย กำกับดูแลภาพรวมของระบบสาธารณสุข และรับผิดชอบด้านการรักษาพยาบาลโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ รัฐบาลระดับเขตกำกับดูแลโรงพยาบาลทั่วไปในระบบประกันสุขภาพ และรัฐบาลระดับท้องถิ่นดูแลเรื่องหน่วยบริการสาธารณสุขพื้นฐานระดับปฐมภูมิให้แก่ประชาชนในพื้นที่ ดังนั้น หน้าที่ของหน่วยงานท้องถิ่นจึงมีความชัดเจนและไม่ทับซ้อนกับส่วนกลาง

เมื่อมีอิสระในการจัดการแล้ว ลองไปดูผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจริงกันบ้าง สถิติการใช้จ่ายของรัฐบาลท้องถิ่นของเดนมาร์กในปี 2020 จะพบว่า ท้องถิ่นเดนมาร์กมีการใช้จ่ายมากที่สุดในกลุ่มประเทศ EU คือร้อยละ 34.6 ของ GDP ขณะที่ค่าเฉลี่ยการใช้จ่ายของรัฐบาลท้องถิ่นในกลุ่มประเทศ EU คิดเป็นร้อยละ 11.6 เท่านั้น


ภาพที่ 2 สถิติการใช้จ่ายของรัฐบาลท้องถิ่นเดนมาร์กเปรียบเทียบกับ GDP ในปีค.ศ. 2020 
แหล่งที่มา : https://ec.europa.eu/eurostat/databrowser/view/tec00023/default/bar?lang=en

ท้องถิ่นเดนมาร์กนำเงินจากไหนมาใช้จ่าย? หากค้นไปดูรายได้ของท้องถิ่นในปี 2020 จะพบว่ามีที่มาจากเงินอุดหนุนจากรัฐบาลกลางมากที่สุดร้อยละ 58.6 ลำดับถัดมาคือจากการเก็บภาษีท้องถิ่นร้อยละ 36.5 แสดงให้เห็นถึงความสำคัญในการจัดสรรงบประมาณของรัฐบาลกลางที่ต้องการกระจายงบประมาณ เพื่อจัดสรรสวัสดิการให้แก่ประชาชนในท้องถิ่น และเมื่อดูข้อมูลการใช้จ่ายของท้องถิ่นเดนมาร์กแล้ว พบว่า สิ่งที่จ่ายเงินงบประมาณไปมากที่สุด คือระบบการคุ้มครองทางสังคม (ร้อยละ 55.14) ได้แก่ นโยบายที่ออกแบบเพื่อสร้างความมั่นคงพื้นฐานให้แก่ประชาชน ระบบประกันสังคม เงินสงเคราะห์บุตร ระบบการประกันว่างงาน ฯลฯ รองลงมาคือ เรื่องสุขภาพและการศึกษา


ภาพที่ 3 สถิติการใช้จ่ายของรัฐบาลท้องถิ่นเดนมาร์ก แยกตามหมวดหมู่ในปี 2020
แหล่งที่มา :  https://www.oecd.org/gov/bycountry/denmark/

จากข้อมูลที่กล่าวมา หน่วยงานท้องถิ่นนับเป็นกลไกสำคัญของรัฐสวัสดิการเดนมาร์ก ซึ่งขับเคลื่อนด้วยความอิสระในการดำเนินงานและงบประมาณที่เพียงพอ ต่อไปพบกับปัจจัยสำคัญที่หากขาดไปแล้ว นโยบายรัฐสวัสดิการคงยากที่จะสมบูรณ์

ต้องมีภาครัฐที่มีประสิทธิภาพ

เมื่อพูดถึงคำว่ารัฐสวัสดิการ แน่นอนว่า ‘รัฐ’ ที่ทำหน้าที่ดำเนินนโยบายจัดสรร ‘สวัสดิการ’ ต้องมีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ เพื่อบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ นั่นคือการส่งมอบสวัสดิการให้ประชาชนอย่างทั่วถึง และสิ่งสำคัญที่เปรียบดังหัวใจของภาครัฐ นั่นคือ บุคลากร

หากค้นดูข้อมูลการจ้างงานในภาครัฐแล้ว พบว่า เดนมาร์กมีข้อได้เปรียบคือการมีนโยบาย ‘Flexicurity’ ที่สร้างความยืดหยุ่นในการจ้างงาน หน่วยงานรัฐสามารถปลดคนทำงานที่ไม่ต้องการได้อย่างรวดเร็วและสามารถคัดเลือกบุคลากรที่มีทักษะความสามารถเข้ามาทำงานแทนที่ ซึ่งคนที่ถูกปลดออกนั้นก็จะได้รับความช่วยเหลือจากสวัสดิการต่างๆ จากรัฐอย่างเต็มที่ พร้อมสร้างโอกาสในการหางานทำใหม่ ระบบนี้ทำให้ภาครัฐเดนมาร์กมีทางเลือกในการหาบุคลากรที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ

คุณภาพของเจ้าหน้าที่รัฐ สะท้อนผ่านผลการประเมินจากสถาบัน Quality of Government Institute ของมหาวิทยาลัย Gothenburg ในสวีเดนที่ทำหน้าที่ค้นคว้าวิจัยในเรื่องคุณภาพการทำงานของภาครัฐในด้านต่างๆ พบว่า ภาครัฐเดนมาร์กได้รับการจัดอันดับเรื่องความเป็นกลาง ไม่เลือกปฏิบัติ และความเป็นมืออาชีพในการทำงานเป็นอันดับ 2 ของกลุ่มประเทศ EU

จากจุดเริ่มต้นคนที่มีคุณภาพแล้ว นำไปสู่การวางแผนนโยบายที่มีประสิทธิภาพจนได้รับการจัดอันดับเป็นอันดับ 1 เรื่องการวางแผนกลยุทธ์ของภาครัฐของตัวชี้วัดการกำกับดูแลกิจการที่ดีอย่างยั่งยืน (Sustainable Governance Indicators) ปี 2022 โดยวัดผลจากการวางแผนที่นำไปสู่การปฏิบัติจริงมากน้อยแค่ไหน ซึ่งเดนมาร์กมีการแต่งตั้งคณะกรรมการในด้านต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ เช่น ด้านโครงสร้างพื้นฐาน สวัสดิการ ภาษี การประกันการว่างงาน ฯลฯ โดยกระทรวงการคลังรับหน้าที่เป็นเจ้าภาพและประสานงานกับคณะกรรมการแต่ละชุด ทำหน้าที่ตรวจสอบนโยบายต่างๆ ให้สอดคล้องกับงบประมาณประเทศ เพื่อผลักดันนโยบายให้เกิดขึ้นจริง

อีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญสำหรับการทำงานของภาครัฐนั่นคือ ความโปร่งใส เดนมาร์กให้ความสำคัญกับการป้องกันปัญหาคอร์รัปชัน ด้วยการการสร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กรตรวจเงินแผ่นดิน (Rigsrevisionen หรือ The National Audit Office of Denmark) ผ่านการตรวจสอบการใช้เงินงบประมาณให้เกิดความคุ้มค่าที่สุด ควบคู่ไปกับการบังคับใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง และการจัดทำรัฐบาลเปิด ผ่านเว็บไซต์ Open Data DK ที่พร้อมเปิดข้อมูลการทำงานให้ประชาชนสามารถตรวจสอบการทำงานของทั้งรัฐบาลส่วนกลางและท้องถิ่นได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นการใช้งบประมาณ การทำสัญญาจัดซื้อจัดจ้างต่างๆ  

เมื่อต้องทำงานท่ามกลางระบบที่แข็งแรงแบบนี้แล้ว ทำให้ค่าดัชนีชี้ความโปร่งใสของประเทศเดนมาร์ก (Corruption Perceptions Index: CPI) นับตั้งแต่ปี 1995 เป็นต้นมานั้น เดนมาร์กไม่เคยได้คะแนนต่ำกว่า 90 จาก 100 คะแนนเต็มเลย และอยู่ในอันดับต้นๆ ของโลกอย่างสม่ำเสมอ

ดังนั้น การบริหารจัดการภาครัฐที่มีประสิทธิภาพ ให้ความสำคัญตั้งแต่บุคลากรจนมาถึงระบบการทำงานที่มีการวางแผนอย่างเป็นระบบ ผนวกกับความโปร่งใสในการทำงาน จึงเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้รัฐสวัสดิการเดนมาร์กประสบความสำเร็จ

นัยของรัฐสวัสดิการ: เป็นลูกใครไม่สำคัญเท่ากับเป็นพลเมืองประเทศไหน

หากจะให้ทุกคนเห็นภาพว่า นโยบายสวัสดิการของเดนมาร์กประสบความสำเร็จอย่างไร? คงต้องไปดูดัชนี The Global Social Mobility Index 2020 ของ World Economic Forum ที่จัดทำเพื่อประเมินโอกาสในการเลื่อนลำดับชั้นทางสังคมของประเทศต่างๆ 82 ประเทศ ซึ่งความหมายของ ‘การเลื่อนชั้นทางสังคม’ ก็หมายถึง การขยับฐานะใดๆ ในช่วงชั้นทางสังคมของคนในประเทศ สรุปเป็นคำง่ายๆ ว่า ฐานะของพ่อแม่จะส่งผลต่อรายได้ของรุ่นลูกมากน้อยเพียงใด

10 องค์ประกอบของดัชนีชี้วัดล้วนเกี่ยวโยงกับการจัดการสวัสดิการของรัฐทั้งสิ้น เช่น การสาธารณสุข การเข้าถึงโอกาสทางการศึกษา การมีระบบการศึกษาที่มีคุณภาพและเท่าเทียม การได้รับความคุ้มครองทางสังคม การเข้าถึงโอกาสในการทำงาน ฯลฯ


index

ภาพที่ 4 องค์ประกอบทั้ง 10 ของ Social Mobility Index
แหล่งที่มา : World Economic Forum (2020) และ World Economic Forum, The Global Social Mobility Index 2020

ในปี 2020 เดนมาร์กมีผลคะแนนรวมขององค์ประกอบทั้ง 10 เป็นอันดับ 1 ของโลก ซึ่งหมายความว่า สำหรับเด็กที่เกิดในเดนมาร์ก ความแตกต่างกันของรายได้ของคนรุ่นพ่อแม่จะมีผลต่อความแตกต่างกันของรายได้ของคนรุ่นลูกเพียงแค่ 15% เท่านั้น ในขณะที่เด็กที่เกิดในสหรัฐอเมริกา (อันดับที่ 27) จะได้รับอิทธิพลจากรายได้ของพ่อแม่ถึง 50% เพราะที่เดนมาร์ก เมื่อพ่อแม่มีรายได้น้อย ก็ไม่จำเป็นที่ลูกจะมีรายได้น้อยตาม ซึ่งเป็นผลมาจากการได้รับสิทธิสวัสดิการต่างๆ ที่ทำให้รุ่นลูกไม่ต้องมีปัญหาเรื่องหนี้สินและค่าใช้จ่ายในการดูแลครอบครัวเหมือนกับครอบครัวในประเทศที่มีสวัสดิการน้อย


ภาพที่ 5 อันดับดัชนีการเลื่อนลำดับชั้นทางสังคม ปี 2020
แหล่งที่มา: World Economic Forum, The Global Social Mobility Index 2020

เมื่อดูคะแนนในแต่ละองค์ประกอบพบว่า เดนมาร์กได้รับคะแนนการคุ้มครองทางสังคมสูงถึง 90 คะแนน คิดเป็นอันดับ 1 ของโลก จากนโยบายสวัสดิการที่สร้างความมั่นคงให้ประชาชนตั้งแต่เกิดจนชรา สอดคล้องกับการลงทุนค่าใช้จ่ายของรัฐบาลที่ลงทุนไปเป็นจำนวนมาก


Denmark index

ภาพที่ 6 คะแนนดัชนีการเลื่อนลำดับชั้นทางสังคมของเดนมาร์กในแต่ละองค์ประกอบ
แหล่งที่มา: World Economic Forum และ The Global Social Mobility Index 2020

จากประเด็นรัฐสวัสดิการที่หลายฝ่ายมองเป็นแค่เรื่องในอุดมคติ เป็นแค่ความฝันของคนกลุ่มน้อยที่จินตนาการถึงโลกที่เท่าเทียมกันเท่านั้น แต่เรื่องราวในประเทศเดนมาร์ก คงทำให้ผู้อ่านมองเห็นความเป็นไปได้ในการขับเคลื่อนรัฐสวัสดิการให้เกิดขึ้นจริงเพิ่มมากขึ้น 

แน่นอนว่ารัฐสวัสดิการ ไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นในชั่วข้ามคืน นอกจากต้องใช้การต่อสู้เรียกร้องของภาคประชาสังคม เพื่อสร้างฉันทมติในสังคมแล้ว การจะทำให้นโยบายที่กระจายทรัพยากรไปยังประชาชนเกิดขึ้นได้จริง ย่อมต้องพึ่งพาการจัดการของภาครัฐ ซึ่งเปรียบเป็นหัวใจหลักในการขับเคลื่อนนโยบาย เริ่มตั้งแต่การมองเห็นคุณค่าของประชาชน การหารายได้มาจัดทำสวัสดิการด้วยเงินภาษี และปฏิบัติจริงด้วยการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น ผสานกับการบริหารจัดการภาครัฐที่มีประสิทธิภาพ 

สำหรับประชาชนคนธรรมดาที่ใฝ่ฝันอยากจะให้รัฐสวัสดิการเกิดขึ้น การใช้สิทธิเลือกตั้งเพื่อเลือกรัฐบาลไปทำงานให้อาจยังไม่เพียงพอ การรับรู้ข้อมูลการทำงานของรัฐบาลจะทำให้เราจินตนาการได้ว่า รัฐสวัสดิการที่หลายคนมองเป็นแค่ความฝันนั้น มีขั้นตอนแนวทางปฏิบัติให้เกิดขึ้นจริงได้อย่างไร เพื่อร่วมกันตรวจสอบการทำงานของรัฐ และช่วยกันผลักดันนโยบายที่มองเห็นคุณค่าของประชาชนอย่างเท่าเทียมกันนั้น เกิดขึ้นจริงในสังคมเสียที


อ้างอิง

World Economic Forum, The Global Social Mobility Index 2020

Public administration characteristics and performance in EU28: Denmark โดย Carsten Greve ,Copenhagen Business School

Strategic capacity report, Sustainable Governace Indicators 2022

รายงานสรุปการศึกษาอบรมและดูงาน ณ ประเทศเดนมาร์ก สำหรับนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด โดยสถาบันพระปกเกล้า พ.ศ. 2547

How Can Scandinavians Tax So Much? โดย Henrik Kleven 

Self-rule index for local authorities in the EU, Council of Europe and OECD countries, 1990-2020  Written by Andreas Ladner, Nicolas Keuffer and Alexander Bastianen

thaipublica.org

oecd.org

The Concept of Local Autonomy

theactive.net

taxfoundation.org

spacebar.th

ourworldindata.org

Taxes in Denmark

Global Social Mobility Index 2020: why economies benefit from fixing inequality

think.moveforwardparty.org

Tax revenue

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save