fbpx

เพราะชาติคือประชาชน: เส้นทางการสร้างรัฐสวัสดิการในเดนมาร์ก

‘รัฐสวัสดิการ’ กลายเป็นสิ่งที่ถูกพูดถึงมากขึ้นในสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์โควิด-19 ที่ระบาดอย่างต่อเนื่อง และส่งผลกระทบต่อชีวิตประชาชน ทั้งทางสุขภาพและเศรษฐกิจ หลายคนตั้งคำถามถึงบทบาทของรัฐที่ควรทำหน้าที่ในการจัดสรรสวัสดิการเพื่อดูแลคุณภาพชีวิตให้คุ้มค่ากับภาษีที่ประชาชนเสียไป

เมื่อกล่าวถึงรัฐสวัสดิการ ย่อมปฏิเสธไม่ได้ที่จะต้องกล่าวถึงประเทศแถบสแกนดิเนเวีย นโยบายรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าที่ดูแลชีวิตประชาชนตั้งแต่เกิดจนถึงวัยชรา ทั้งค่าเล่าเรียนฟรี ค่ารักษาพยาบาลฟรี เงินประกันการว่างงาน ฯลฯ หรือที่หลายคนรู้จักกันดีในชื่อ ‘นอร์ดิกโมเดล’

แต่คำถามที่น่าสนใจคือ ประเทศเหล่านี้ก่อร่างสร้างรัฐสวัสดิการได้อย่างไร ?

บทความชิ้นนี้จึงขอย้อนอดีตไปค้นหาเรื่องราวการสร้างรัฐสวัสดิการของประเทศเดนมาร์ก หนึ่งในประเทศที่เลือกใช้นโยบายรัฐสวัสดิการในการดูแลประชาชน ไปสำรวจกันว่าประเทศที่มีเมืองแห่งจักรยาน สถาปัตยกรรมที่สวยงาม ผู้คนมีความสุขอันดับต้นๆ ของโลกผ่านเหตุการณ์อะไรมาบ้าง กว่าประชาชนจะได้รับสิทธิสวัสดิการอย่างทั่วถึงเช่นในปัจจุบัน

ดินแดนของชนชั้นนำและความสว่างทางปัญญา

ย้อนเวลาไปเมื่อ 400 กว่าปีที่แล้ว ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17 เดนมาร์กก็ไม่ต่างจากประเทศยุโรปอื่นๆ ที่รับระบบทาสติดที่ดิน (serfdom) มาใช้ในการปกครอง ส่วนใหญ่กษัตริย์เป็นเจ้าของที่ดินเกือบครึ่งประเทศ อีกกว่าครึ่งเป็นของขุนนางหรือชนชั้นนำ ส่วนที่เหลือร้อยละ 6 เป็นที่ดินของชาวนาคนธรรมดา และที่สำคัญการซื้อขายที่ดินยังมีกฎหมายกำหนดให้ซื้อขายได้เฉพาะขุนนางเพียงเท่านั้น

ดังนั้น ชีวิตชาวนาต้องอดทนทำงานหนักภายใต้ระบบทาสติดที่ดิน จะโยกย้ายถิ่นฐานไปทำงานในฟิวดัลของเจ้าที่ดินคนอื่นที่มีค่าจ้างที่ดีกว่าก็ไม่ได้ เพราะมีกฎระเบียบคอยจำกัดเสรีภาพเอาไว้ พวกเขาต้องอดทนใช้ชีวิตแบบนั้นเรื่อยมา

จนกระทั่งแสงสว่างทางปัญญาเข้ามาเปลี่ยนแปลง

เมื่อเข้าสู่ยุคสว่างหรือยุคเรืองปัญญา (The Age of Enlightenment) ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18 กระแสความคิดที่ให้ความสำคัญกับเสรีภาพและความเสมอภาคเริ่มมีอิทธิพลในการขับเคลื่อนสังคมเดนมาร์กแทนความเชื่อและความศรัทธาอย่างที่เคยเป็นในอดีต เริ่มมีชนชั้นนำที่ต้องการเปลี่ยนแปลงสังคม โดยพยายามปฏิรูปปรับเปลี่ยนการบริหารงานของรัฐบาลไปสู่ระบบราชการสมัยใหม่ และที่สำคัญคือ การปฏิรูปเกษตร

เมื่อถึงปี 1784 ชนชั้นนำไม่อาจต้านทานความก้าวหน้าของกระแสความคิดในยุคสว่างได้อีกต่อไป กษัตริย์เฟรเดอริคที่ 6 (Frederick VI of Denmark) ผู้นำประเทศในขณะนั้นตัดสินใจปฏิรูประบบเกษตรกรรมครั้งใหญ่ ด้วยแนวคิดที่ให้ความสำคัญต่อเสรีภาพของประชาชนที่เพิ่มขึ้น ผสมผสานกับเป้าหมายที่ต้องการพัฒนาเศรษฐกิจและขจัดความยากจนของผู้คนในประเทศ จึงออกกฎระเบียบปกป้องชาวนาจากการถูกเอาเปรียบจากเจ้าของที่ดิน และให้โอกาสชาวนาสามารถกู้เงินเพื่อซื้อที่ดินเป็นของตนเองได้ การปฏิรูปในครั้งนั้นพัฒนามาเป็นการยกเลิกระบบทาสติดที่ดินในเวลาต่อมา

เมื่อมีสัญญาณจากชนชั้นนำที่เริ่มมีการผ่อนปรนกฎระเบียบ เดนมาร์กก็เริ่มมีการออกกฎหมายที่ให้ความสำคัญต่อสิทธิของประชาชนเพิ่มขึ้น เช่น กฎหมายสำหรับคนจน (The Poor Laws) ในปี 1803 ที่จัดตั้งกองทุนส่วนกลางเพื่อช่วยเหลือคนจน แต่การช่วยเหลือภายใต้กฎหมายฉบับนี้ก็ยังไม่ครอบคลุมสิทธิของประชาชนทั้งประเทศ เพราะมีการกลั่นกรองผู้ได้รับสิทธิ จำกัดผู้ได้รับสิทธิไว้เพียงแค่กลุ่มคนจนที่สมควรแก่การช่วยเหลือเพียงเท่านั้น มีข้อวิพากษ์วิจารณ์ว่าแม้กฎหมายฉบับนี้จะให้สวัสดิการแก่คนจน แต่ก็ไม่สามารถทำให้ทุกคนเท่าเทียมกันได้อย่างแท้จริง

ในส่วนของชาวนาก็ไม่นิ่งเฉย พวกเขาเดินหน้าเรียกร้องสิทธิที่ควรได้รับ ทั้งการเรียกร้องให้มีการยกเลิกระบบที่ดินแบบเก่าซึ่งให้สิทธิแค่เพียงชนชั้นนำในการเป็นเจ้าของ เรียกร้องความเสมอภาคและความเท่าเทียมในสังคม หรือการเคลื่อนไหวทางสังคมเพื่อเรียกร้องสิทธิเสรีภาพทางการเมืองและการเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยเฉพาะการก่อตั้ง ‘สมาคมเพื่อนชาวนา’ (The Society of the Friends of Peasants) ในปี1846 ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มกันของชาวนาและประชาชนที่ต้องการผลักดันสังคมให้ก้าวไปข้างหน้า

หลังก่อตั้งสมาคมได้ไม่นาน การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในเดนมาร์กก็เกิดขึ้น

ก้าวแรกของประชาธิปไตยและการต่อสู้ของแรงงาน

ในทศวรรษที่ 20 การเมืองการปกครองเดกมาร์กเริ่มมีสัญญาของความเปลี่ยนแปลง การเคลื่อนไหวของประชาชนที่มีอุดมการณ์เสรีนิยมและกลุ่มสมาคมเพื่อนชาวนา พวกเขาจัดทำหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ในชื่อว่า ‘เพื่อนชาวนา’ (the Friend of the Peasantry) ให้ข้อมูลข่าวสารและความรู้เพื่อให้สังคมตื่นตัวในเรื่องสิทธิเสรีภาพ ผสมผสานกับกระแสปฏิวัติการปกครองทั่วยุโรปช่วงปี 1848 อันเป็นกระแสที่ตามมาจากการปฏิวัติฝรั่งเศสที่เปลี่ยนการปกครองจากระบอบเดิมที่อำนาจสูงสุดขึ้นอยู่กับกษัตริย์กลายเป็นระบอบใหม่ที่แปรเปลี่ยนอำนาจสูงสุดมาอยู่ที่ประชาชนคนส่วนใหญ่ของประเทศสร้างแรงกดดันให้กษัตริย์เดนมาร์กเริ่มมีความคิดในการส่งมอบอำนาจให้แก่ประชาชนผ่านการมอบรัฐธรรมนูญ เพื่อป้องกันการเกิดสงครามนองเลือดเหมือนเช่นประเทศยุโรปอื่น

ในปี 1849 เดนมาร์กมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับแรก โดยมีใจความสำคัญในบทแรกว่า

“เดนมาร์กมีทั้งประชาธิปไตยและสถาบันกษัตริย์ในเวลาเดียวกัน แต่เป็นราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ หมายความว่า อำนาจของกษัตริย์ถูกจำกัดเอาไว้ด้วยรัฐธรรมนูญ”

เมื่ออำนาจสูงสุดในประเทศคือตัวบทรัฐธรรมนูญที่กำหนดกฎระเบียบให้คนในสังคม ทำให้มีการแบ่งแยกอำนาจการปกครองของเดนมาร์กออกเป็น 3 ส่วนที่คอยถ่วงดุลกันคือ รัฐสภา รัฐบาล และตุลาการ การเมืองประชาธิปไตยเริ่มก่อร่างและพัฒนาในเดกมาร์ก

ชนชั้นนำปรับตัว สังคมเปิดกว้าง ระบบเศรษฐกิจของประเทศเริ่มเปลี่ยนจากเกษตรกรรมสู่ยุคอุตสาหกรรมที่ต้องการแรงงานจำนวนมากในการทำงาน เหล่าชาวนาที่ในอดีตทำนาอยู่นอกเมืองก็ต้องเข้ามาในเมืองใหญ่เพื่อทำงานในโรงงาน รวมไปถึงผู้อพยพจากประเทศอื่นที่หลั่งไหลเข้ามาทำงานเป็นจำนวนมาก  ทำให้แรงงานกลายเป็นกลไกลสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ

เช่นเดียวกันกับประเทศอื่นๆ หลังเข้าสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม เกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่างนายทุนกับแรงงาน ทั้งปัญหาค่าจ้างไม่เป็นธรรม ชั่วโมงการทำงานที่ยาวนาน สภาพแวดล้อมการทำงานที่ไม่เหมาะสม สิ่งเหล่านี้ส่งผลให้แรงงานเดนมาร์กต่างลุกขึ้นมาต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรม ทั้งการรวมกลุ่มกันก่อตั้งสหภาพแรงงานของกลุ่มอาชีพต่างๆ หรือการก่อตั้งพรรคสังคมประชาธิปไตย (Social Democrats) ในปี 1871 เพื่อเป็นตัวแทนของแรงงานในรัฐสภา พวกเขากดดันนายจ้างด้วยการประท้วงหยุดงานหลายครั้ง จนกระทั่งในปี 1899 นายจ้างต้องยอมทำข้อตกลง ‘การประนีประนอมเดือนกันยายน‘ (September compromise) ที่กำหนดให้นายจ้างต้องยอมรับสิทธิของสหภาพแรงงานในการเจรจาเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของสมาชิกสหภาพ แลกเปลี่ยนกับอำนาจของนายจ้างในการเลือกจ้างงานและปลดคนงานออกได้

นอกจากต่อสู้กับนายจ้างแล้ว แรงงานเดนมาร์กยังต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิของคนในชาติ จากเหตุการณ์ครั้งสำคัญ 2 เหตุการณ์

เริ่มจากเหตุการณ์แรกในปี 1920 เมื่อกษัตริย์คริสเตียนที่ 10 (King Christian X) ใช้อำนาจในการปลดนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน พร้อมแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีรักษาการเข้ามาบริหารบ้านเมืองแทน การกระทำครั้งนี้ทำให้ประชาชนจำนวนมากไม่พอใจ เพราะขัดกับหลักการในรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้ว่า ทุกคนต้องอยู่ภายใต้กฎหมายสูงสุด

ประชาชนจำนวนมากร่วมเดินขบวนประท้วงเรียกร้องให้กษัตริย์คริสเตียนที่ 10 เคารพกฎหมายรัฐธรรมนูญ และจัดการเลือกตั้งตามที่ระบอบประชาธิปไตยกำหนดไว้ ส่วนกลุ่มสหภาพแรงงานอาชีพต่างๆ เข้ามามีบทบาทสำคัญด้วยการนัดหยุดงานประท้วง เช่น พนักงานผลิตขนมปังงดส่งขนมปังให้ร้านค้า ทำให้เศรษฐกิจหยุดชะงัก หรือการที่พนักงานรถไฟปฏิเสธที่จะขับรถให้ทหารของกองทัพ ผลจากการรวมพลังของประชาชนและแรงงานจำนวนมากทำให้กษัตริย์คริสเตียนที่ 10 ต้องยอมถอยและรีบจัดการเลือกตั้งให้เร็วที่สุด หลังจากนั้น กษัตริย์เดนมาร์กก็ไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองอีกเลยจนถึงปัจจุบัน  เหตุการณ์ในครั้งนี้ถูกเรียกภายหลังว่า ‘วิกฤตการณ์อีสเตอร์’ (Easter Crisis)

ไม่ใช่แค่ในประเทศ แต่แรงงานเดนมาร์กยังเข้าร่วมกองกำลังต่อต้าน ช่วยกันต่อสู้กับกองทัพนาซีจากเยอรมันในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี 1945 ช่วงเวลาที่นาซีเข้ารุกรานที่กรุงโคเปนเฮเกน พร้อมทั้งประกาศเคอร์ฟิวจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนเดนมาร์ก ด้วยประสบการณ์การต่อสู้อันโชกโชนของเหล่าแรงงาน พวกเขาตัดสินใจต่อสู้ด้วยการนัดหยุดงานและประกาศว่า “จะไปทำสวน”  พวกเขาสู้กับกองกำลังทหารที่มีอาวุธครบมือด้วยการอยู่เฉยๆ การกระทำในครั้งนี้สร้างแรงกดดันให้กองทัพนาซี เนื่องจากการขาดแคลนแรงงานส่งผลให้เศรษฐกิจหยุดชะงัก จนกองทัพนาซีต้องยอมยกเลิกประกาศเคอร์ฟิวระหว่างสงครามในที่สุด

จากจุดเริ่มต้นของยุคประชาธิปไตยและการต่อสู้ของแรงงานเพื่อให้ได้มาเพื่อสิทธิอันชอบธรรม ทั้งการเจรจากับนายจ้าง สู้เพื่อปกป้องระบอบประชาธิปไตย หรือแม้กระทั่งสู้เพื่อเอกราชของประเทศ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญทางสังคมในการก่อร่างสร้างรัฐสวัสดิการของเดนมาร์กในเวลาต่อมา

ยุครัฐสวัสดิการ นำภาษีมาดูแลประชาชน

รัฐสวัสดิการในเดนมาร์กเริ่มต้นอย่างเป็นระบบเมื่อพรรคสังคมประชาธิปไตยชนะเลือกตั้งครั้งแรกในปี 1924 ด้วยแนวคิดของพรรคที่มีอุดมการณ์สังคมนิยมประชาธิปไตย คำนึงถึงคุณค่าของคนทุกระดับอย่างเท่าเทียม และเน้นการสร้างสวัสดิการเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ทำให้เกิดการพัฒนานโยบายต่างๆ ที่ดูแลประชาชนตั้งแต่เกิดจนถึงวัยชราอย่างต่อเนื่องและครอบคลุมคนหลายกลุ่มมากขึ้น นับตั้งแต่ การออก พ.ร.บ. ช่วยเหลือทางสังคม (Public Service Law) ปี 1933 ที่รัฐจะให้เงินสนับสนุนสวัสดิการค่าเล่าเรียน ค่ารักษาพยาบาล เงินประกันการว่างงาน ฯลฯ การปรับปรุงพัฒนาสวัสดิการเพื่อให้ครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่มในช่วงปี 1930-1990 ทั้งกลุ่มเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้อพยพ การปรับปรุงกฎหมายการให้บริการทางสังคม (Social Service Act)  ปี 1998 เพื่อสนับสนุนการดูแลผู้สูงอายุทั้งบ้านพักและหนทางในการประกอบอาชีพยามเกษียณ โดยเน้นให้การปกครองส่วนท้องถิ่นจัดสรรสวัสดิการให้ประชาชนในแต่ละพื้นที่ ไปจนถึงการออก พ.ร.บ. ค่าจ้างเท่าเทียม (Equal Pay Act) ปี 2008 ที่ส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ โดยหากนายจ้างคนไหนจ่ายค่าแรงให้แรงงานชายมากกว่าแรงงานหญิงทั้งที่ปฏิบัติงานประเภทเดียวกันจะมีความผิดตามกฎหมายทันที

นโยบายรัฐสวัสดิการทำให้รัฐบาลเดนมาร์กมีรายจ่ายสาธารณะ (Public social spending) ซึ่งเป็นเม็ดเงินที่นำมาดูแลประชาชนทั้งค่าเล่าเรียน ค่ารักษาพยาบาล เงินบำนาญ ฯลฯสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 1920 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งในปี 2019 เดนมาร์กมีค่าใช้จ่ายในส่วนนี้สูงเป็นอันดับ 4 ของกลุ่มประเทศ OECD (องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ) คือร้อยละ 28.3 เมื่อเทียบกับ GDP (รองจากฝรั่งเศส ฟินแลนด์ เบลเยียม)

ภาพสถิติสัดส่วนรายจ่ายเพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือ Public social spending เทียบกับ GDP ของประเทศเดนมาร์ก ปี 1880-2016 | แหล่งที่มา Our World in Data

นอกจากนั้น อีกหนึ่งนโยบายที่เป็นจุดเด่นของรัฐสวัสดิการเดนมาร์กคือ ‘ความยืดหยุ่นแต่มั่นคง’ จากนโยบาย ‘Flexicurity’ ที่เกิดจากคำว่า ‘flexible’ ที่แปลว่ายืดหยุ่น มาผสมกับคำว่า ‘security’ ซึ่งแปลว่าความมั่นคงปลอดภัย นโยบายนี้ออกแบบมาเพื่อดูแลคุณภาพชีวิตของแรงงานที่ไม่มีความมั่นคงจากระบบ ทุนนิยม โดยรัฐจะอนุญาตให้นายจ้างสามารถปลดคนงานได้อย่างสะดวก และรัฐจะเข้ามาดูแลความมั่นคงให้แรงงานผ่านสิทธิสวัสดิการต่างๆ เช่น เงินชดเชยการว่างงาน สนับสนุนการพัฒนาทักษะที่จำเป็นให้แก่แรงงาน และพร้อมช่วยเหลือในการหางานให้แก่แรงงาน นโยบายเช่นนี้ทำให้แรงงานมีอิสระในการเลือกอาชีพ มีความกล้าในการทดลองทำอาชีพใหม่ๆ มากขึ้น เนื่องจากไม่ต้องกังวลเรื่องรายได้หากตกงาน ส่วนนายจ้างก็มีทางเลือกในการหาแรงงานที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ

เมื่อได้รับสวัสดิการถ้วนหน้าจากรัฐแล้ว แน่นอนว่าประชาชนต้องยอมรับการเสียภาษีในอัตราที่สูง เพื่อนำเงินเหล่านั้นมาจัดสรรสวัสดิการให้ประชาชน โดยเดนมาร์กมีสัดส่วนของภาษีที่รัฐจัดเก็บสูงเป็นอันดับต้นๆ ของกลุ่มประเทศ OECD โดยในปีค.ศ. 2020 มีการจัดเก็บภาษีสูงถึงร้อยละ 46.5 เมื่อเทียบกับตัวเลข GDP (ค่าเฉลี่ยสัดส่วนการเก็บภาษีต่อ GDP ของกลุ่มประเทศ OECD  คือร้อยละ 33.5) และประชาชนเดนมาร์กต้องเสียภาษีรายได้บุคคลธรรมดาถึงร้อยละ 27-42

ต้องเสียภาษีที่สูงเพื่อแลกกับสวัสดิการแบบนี้ คำถามที่น่าสนใจคือ แล้วประชาชนเดนมาร์กรู้สึกอย่างไรกับรัฐสวัสดิการ?

รัฐสวัสดิการ ศูนย์รวมจิตใจคนทั้งชาติ

“พลเมืองเดนมาร์กส่วนใหญ่ ยินยอมที่จะจ่ายภาษีแพง เพราะสวัสดิการที่ได้รับกลับมา”

เกษตรกรในเมืองโคเปนเฮเกน กล่าวกับ พตท.ติรัส ตฤณเตชะ ผู้เขียนวิทยานิพนธ์ “การรับรู้อัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมใน รัฐสวัสดิการของพลเมืองเดนมาร์ก” ซึ่งทำการสัมภาษณ์ประชาชนเดนมาร์กในเมืองโคเปนเฮเกนและเมือง ฮอร์เซ่นส์ จำนวน 48 คนจาก 4 กลุ่มอาชีพ ได้แก่ ข้าราชการ เกษตรกร แรงงานในอุตสาหกรรมและนักศึกษา เพื่อสอบถามถึงความรู้สึกของประชาชนที่มีต่อนโยบายรัฐสวัสดิการของประเทศ

ผลวิจัยสรุปออกมาว่า ประชาชนกลุ่มตัวอย่างทุกคนมีความรู้สึกไปในทางเดียวกันว่า นโยบายรัฐสวัสดิการทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี ทั้งสุขภาพร่างกายที่ได้รับสิทธิการรักษาฟรี สุขภาพจิตใจที่สามารถสร้างสมดุลระหว่างชีวิตการทำงานกับครอบครัวได้ รวมไปถึงการสร้างความเท่าเทียมให้เกิดขึ้นในสังคม

กลุ่มตัวอย่างยังกล่าวอีกว่า รัฐสวัสดิการกลายเป็น ‘ศูนย์รวมจิตใจของประชาชน’ เพราะสวัสดิการที่ได้รับสามารถตอบสนองความต้องการพื้นฐานของประชาชนได้อย่างครบถ้วน ทำให้คนในสังคมมีความสามัคคีและมีความรู้สึกหวงแหนระบบรัฐสวัสดิการที่สามารถดูแลคุณภาพชีวิตของตนเองและครอบครัว

เมื่อรัฐสวัสดิการคือ ‘ฉันทามติ’ ในสังคมเดนมาร์ก รัฐสวัสดิการจึงกลายเป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อประชาชนในการตัดสินใจเลือกนักการเมืองเข้ามาทำงานในสภามากกว่าชื่อของพรรคการเมืองด้วยซ้ำ โดยข้าราชการในเมืองฮอร์เซ่นส์ได้กล่าวว่า ประชาชนจะสนใจนโยบายรัฐสวัสดิการจากพรรคการเมือง เพราะมันส่งผลต่อคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน โดยยกตัวอย่างในปีค.ศ. 2009-2011 รัฐบาลของนายรัสมุนเซิน (Lars Løkke Rasmussen) จากพรรคเสรีนิยม ตัดสินใจตัดงบประมาณด้านสวัสดิการของประชาชน จนทำให้ประชาชนไม่พอใจ หันไปเทคะแนนให้นางเฮลเลอ ทัวนิง สมิต (Helle Thorning-Schmidt) จากพรรคสังคมประชาธิปไตยชนะการเลือกตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของเดนมาร์ก แต่ต่อมานางเฮลเลอก็มีนโยบายตัดงบสวัสดิการของประชาชนเช่นกัน จนทำให้เธอพ่ายแพ้ในการเลือกตั้ง และทำให้นายรัสมุนเซิน กลับมาเป็นรัฐบาลอีกครั้ง

จากการลุกขึ้นสู้ของประชาชนตั้งแต่สมัยเป็นชาวนาในยุคเกษตรกรรมที่กดดันจนชนชั้นนำต้องยอมแบ่งปันอำนาจ สู่แรงงานในยุคอุตสาหกรรมที่ต่อสู้เพื่อสิทธิอันชอบธรรมจนก่อให้เกิดนโยบายต่างๆ และก่อร่างกลายเป็นรัฐสวัสดิการที่ดูแลประชาชนอย่างทั่วถึงเช่นในปัจจุบัน ทำให้เราเห็นถึงความเป็นไปได้ในการที่คนธรรมดาจะเข้ามามีบทบาทเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงให้แก่สังคมที่อาศัยอยู่ การร่วมแรงร่วมใจกันต่อสู้สามารถสร้างค่านิยมของคนในประเทศให้ยึดมั่นในรัฐสวัสดิการร่วมกัน ทำให้คำว่าชาติของพวกเขา กลายเป็นชาติที่ยึดโยงกับประชาชนอย่างแท้จริง


อ้างอิง

วิทยานิพนธ์ “การรับรู้อัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมในรัฐสวัสดิการของพลเมืองเดนมาร์ก” พตท.ติรัส ตฤณเตชะ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2560

หนังสือ ประวัติศาสตร์สแกนดิเนเวีย : History of Scandinavia โดยปรีดี หงษ์สต้น

SOCIAL WORK IN DENMARK 1790-2003 A BRIEF HISTORY โดย VIGGO JONASEN

รัฐสวัสดิการ: ทางเลือกสู่การสร้างคนให้เท่ากันในสังคม?

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save