fbpx

“ไม่ใช่ว่าคอลเอาต์เพราะเป็นหน้าที่ดารา แต่เพราะสามัญสำนึกในความเป็นมนุษย์” – Daung นักแสดงพม่า

กลางแดดร้อนยามบ่ายของกรุงเทพฯ ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2021 คนพม่าจำนวนหนึ่งรวมตัวกันที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เพื่อส่งเสียงต่อต้านรัฐประหารที่เกิดขึ้น ณ ประเทศบ้านเกิดพวกเขาในต้นเดือนนั้น ท่ามกลางมวลชนปรากฏชายคนหนึ่งร่วมยืนถือป้ายประท้วงกลมกลืนไปกับผู้คน สำหรับคนพม่า ใบหน้าของชายคนนี้เป็นที่คุ้นเคยกันดี เพราะเขาเป็นนักแสดงยอดนิยมแห่งวงการบันเทิงพม่า นามว่า ‘ดาง์ว’ (Daung)

หลังเกิดรัฐประหารขึ้นที่พม่า ศิลปินดาราชาวพม่าหลายต่อหลายคนเลือกทลายความกลัว ออกมายืนเคียงข้างประชาชน ดาง์วก็เป็นหนึ่งในนั้น ถึงแม้ตอนนี้ตัวเขาจะไม่ได้อยู่ในพม่า เพราะติดโปรเจกต์ถ่ายทำละครที่ประเทศไทย แต่เขาก็แสดงออกในหลายวิถีทางทั้งทางออฟไลน์และออนไลน์ ให้ประชาชนคนพม่าได้เห็นว่าเขาก็กำลังต่อสู้ร่วมกับทุกคน

ดาง์วมีผลงานการแสดงผ่านตาคนพม่ามามากมาย และอาจเคยผ่านตาคนไทยมาบ้างแล้ว โดยเฉพาะจากผลงานเรื่อง The Only Mom (มาร-ดา) ภาพยนตร์สัญชาติพม่าโดยฝีมือของผู้กำกับชาวไทย ชาติชาย เกษนัส ที่ดาง์วได้ฝากฝีมือการแสดงอันตราตรึงไว้ในบทผีช่างภาพ The Only Mom ทุบสถิติทำรายได้สูงสุดในประเทศพม่า และยังส่งให้ดาง์วขึ้นมายืนเป็นนักแสดงยอดนิยมแถวหน้าคนหนึ่งของประเทศ

สำหรับดาง์ว การมอบความสุขความบันเทิงแก่ผู้คนไม่ใช่เพียงบทบาทเดียวของเขาเท่านั้น แต่ในช่วงเวลาที่เขาอยู่ในวงการบันเทิง ก็ออกมาส่งเสียงยืนเคียงข้างประชาธิปไตยและประชาชนอยู่บ่อยครั้ง เพราะเขามีความเชื่อว่าการเป็นศิลปินดาราต้องทำตัวให้เหมือน ‘เพชร’ ที่ไม่ได้มีแค่ความสวยความงาม แต่ยังต้องมีคุณค่าต่อสังคมส่วนรวม และในวันนี้ที่ประชาธิปไตยพม่าถูกทำลายลงไป เขาก็ไม่ลังเลที่จะออกมาประกาศกร้าวแสดงจุดยืน ไม่ใช่แค่ในฐานะที่เขาเป็นดาราที่สามารถใช้ชื่อเสียงอันโด่งดังเป็นกระบอกเสียงให้ประชาชนได้เท่านั้น แต่ในฐานะที่เขาเป็น ‘มนุษย์’ คนหนึ่งที่รักความถูกต้อง

นี่เป็นเพียงความคิดส่วนหนึ่งที่กลั่นออกมาจากใจของดาง์วขณะสนทนากับเรา โดยมีเชอร์รี่-ประภาพร ปรียาภัสวรสกุล เป็นล่ามช่วยถ่ายทอดถ้อยคำของเขาสู่ภาษาไทย ดาง์วยังพาเราย้อนไปท่องโลกความทรงจำของเขาในวงการศิลปะบันเทิงพม่า คลอไปกับฉากหลังอันเป็นการเมืองที่ผันแปรไปมา นับเป็นบทสนทนาที่สะท้อนความจริงของโลกให้เราได้เห็นว่าศิลปะกับการเมืองไม่อาจแยกขาดจากกัน และศิลปะก็ย่อมมิอาจเบ่งบานได้ในรัฐเผด็จการ   

ดาง์ว ทัดดอกไม้ที่หู แสดงสัญลักษณ์อวยพรวันเกิด ออง ซาน ซูจี หลังจากเธอถูกคุมขังโดยคณะรัฐประหาร
ขอบคุณภาพจาก Facebook: DAUNG – ဒေါင်

คุณดาง์วเข้ามาถ่ายทำละครในไทยตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่ระหว่างที่คุณอยู่ที่นี่ ที่พม่าบ้านของคุณเกิดรัฐประหาร และเราก็เห็นว่า ถึงแม้คุณจะยังอยู่ที่ไทยจนทุกวันนี้ แต่คุณก็ออกมาส่งเสียงต่อต้านรัฐประหารอย่างแข็งขันตลอด เพราะอะไรคุณถึงไม่เห็นด้วยกับการยึดอำนาจของกองทัพ

พม่าเพิ่งจะได้รับกลิ่นไอของประชาธิปไตยในยุคของออง ซาน ซูจี แค่ 5 ปีเท่านั้น ถึงจะเป็นเวลาสั้นๆ แต่ก็เป็นกลิ่นไอความทรงจำที่ดีสำหรับคนพม่าทุกคน รวมถึงตัวผมเองด้วย เป็นช่วงเวลาที่ทำให้เรารู้ว่าประชาธิปไตยเป็นอย่างไร ถึงแม้เราอาจจะยังไม่ได้เรียนรู้มันลึกซึ้งมากนัก เพราะมันเป็นเวลาสั้นมาก แต่นั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับการเติบโตของประชาธิปไตย แต่กลายเป็นว่ารัฐประหารครั้งนี้มาทำให้มันพังทลายลงไป

จริงอยู่ที่ว่านี่ไม่ใช่การรัฐประหารครั้งแรกของพม่า ที่ผ่านมาเราอยู่ภายใต้เผด็จการมายาวนาน เราได้รับกลิ่นไอประชาธิปไตยมาแป๊บเดียว ก็ต้องกลับมาอยู่ใต้เผด็จการอีกครั้ง แต่อย่างน้อยที่สุดมันก็สอนพวกเราอย่างหนึ่งว่า การจะได้รับประชาธิปไตยที่แท้จริงอาจจะต้องใช้เวลา แล้วเราก็ต้องสู้ต่อ นี่คือช่วงเวลาที่จะได้เรียนรู้ว่าเราจะต้องต่อสู้อย่างไรให้รัฐประหารจบในรุ่นเราสักที เพื่อที่เราจะไปสู่ประชาธิปไตยที่แท้จริง และไปสู่อนาคตที่ดีกว่าของพวกเรา

อย่างที่คุณบอกว่านี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่พม่าต้องอยู่ใต้เผด็จการ แต่เคยอยู่มานานแล้ว และไม่อยากย้อนกลับไปอีก จากประสบการณ์ที่คุณเองก็เคยอยู่ใต้เผด็จการทหารพม่ามาก่อน คุณว่ามันเลวร้ายอย่างไรบ้าง

ปัญหาใหญ่เลยคือเรื่องความไม่เป็นธรรม มันไม่ได้มีกฎหมายอะไรที่จะให้ความเป็นธรรมกับประชาชนที่แท้จริงได้เลย และแน่นอนว่าภายใต้ระบอบเผด็จการ ประชาชนตัวเล็กๆ ย่อมไม่สิทธิมีเสียง โดยเฉพาะประชาชนที่เป็นชาวนา เกษตรกร ชาวประมง หรือคนงานต่างๆ ซึ่งมีอยู่เยอะมากในประเทศพม่า พวกเขาแทบจะไม่มีที่ยืนเลยแม้แต่นิดเดียว รัฐบาลทหารไม่เคยเห็นหัวพวกเขา

ก่อนหน้ายุคของออง ซาน ซูจี ประชาชนอย่างเราถูกปิดกั้นทุกทาง โดยเฉพาะเรื่องการศึกษา เราแทบจะเรียนรู้อะไรจากโลกภายนอกไม่ได้เลย อินเทอร์เน็ตก็ไม่มีให้ใช้ เหมือนกับว่าเราอยู่ในมุมมืด โอกาสที่คนรุ่นใหม่ๆ จะได้รับการศึกษาที่ดี หรือได้เติบโตไปมีงานทำที่เป็นหลักเป็นแหล่ง มีคุณภาพ ก็แทบไม่มีเลย

และอีกอย่างที่ผมรู้สึกว่ากระทบกับตัวเองมากก็คือเรื่องงานศิลปะและวงการบันเทิงที่ถูกปิดกั้นหมด ตัวผมเองอยากฟังเพลงฝรั่งบ้าง ก็ไม่สามารถฟังได้ เหมือนว่าพวกผู้ถืออำนาจกลัวที่พวกเราจะได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และพยายามจะล้างสมองพวกเรา ถ้าเรากลับไปอยู่ใต้เผด็จการอีก แน่นอนว่าพวกเราจะถูกปิดกั้นอีกครั้ง

ดาง์ว ขณะเชิญชวนคนพม่าไปเลือกตั้งในปี 2015
ขอบคุณภาพจาก Facebook: DAUNG – ဒေါင်

เข้าใจว่าคุณก็รู้สึกเหมือนคนพม่าหลายๆ คนที่ไม่อยากกลับไปเจอความโหดร้ายแบบนั้นอีก คุณเลยคอลเอาต์ (Call Out) ต่อต้านรัฐประหารมาตลอด แต่การที่คุณคอลเอาต์ก็อาจส่งผลหลายอย่างต่อตัวคุณเอง ตราบใดที่เผด็จการยังอยู่ เช่น อาจจะกลับพม่าไม่ได้ หรืออาจมีผลต่ออาชีพของคุณในพม่า แต่ทำไมคุณถึงยังกล้าออกมายืนหยัดยืนเคียงข้างประชาชน

ตัวผมเองคอลเอาต์เพื่อประชาธิปไตยมานานแล้ว โดยเฉพาะตั้งแต่ปี 2015 ซึ่งมีการเลือกตั้งใหญ่ หลังจากที่อยู่ภายใต้เผด็จการมายาวนาน ตอนนั้นผมเชิญชวนให้ทุกคนออกมาใช้สิทธิใช้เสียง เพราะการเลือกตั้งครั้งนั้นสำคัญมากจริงๆ เป็นจุดที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ให้ประเทศเป็นประชาธิปไตยได้ และก็เป็นเพราะผมเชื่อมั่นมาตลอดว่าประชาธิปไตยที่แท้จริงต้องมาจากเสียงของประชาชนทุกคนอย่างเท่าเทียมกันหมด แล้วก็ไม่ใช่แค่ในปี 2015 เท่านั้น แต่ผมทำมาตลอด พอมาถึงการเลือกตั้งปี 2020 ผมก็ยังทำแบบเดียวกันอยู่

ที่ผมทำอย่างนี้เพราะผมมีความเชื่อมั่นว่าเสียงของผมไปถึงทุกคนได้ และผมก็สามารถเป็นตัวแทนที่ส่งเสียงให้กับคนพม่าได้ด้วย และยิ่งตอนนี้เกิดรัฐประหารขึ้นมาอีกครั้ง ผมก็รู้สึกว่ายิ่งต้องออกมาพูด เพื่อที่ผมจะได้ส่งเสียงให้ทุกคนรู้ว่า ผมก็ต่อสู้อยู่เคียงข้างทุกคน ในฐานะที่ผมก็เป็นประชาชนพม่าคนหนึ่งที่มีสิทธิมีเสียงไม่ต่างจากคนอื่น

สำหรับผม คนที่เป็นดาราต้องไม่ใช่แค่แสดงให้คนดูหรือสร้างสรรค์ผลงานออกมาเพื่อความบันเทิงของผู้คนเท่านั้น แต่ต้องทำตัวเหมือน ‘เพชร’ ที่ไม่ใช่แค่สวยงาม แต่ต้องมีคุณค่าด้วย คนทั้งประเทศต้องได้รับคุณค่าจากสิ่งที่เราทำหรือสื่อสารออกมา นั่นถึงจะเรียกได้ว่าเราเป็นสื่อที่มีคุณภาพอย่างแท้จริง

และในฐานะสื่อ แน่นอนว่าเราต้องอยู่เคียงข้างประชาชน แล้วเราก็จะถูกบันทึกในประวัติศาสตร์ต่อไปว่า ในวันนี้เราได้เลือกยืนอยู่เคียงข้างความถูกต้องเป็นธรรม ซึ่งอันที่จริงผมว่ามันไม่ใช่อะไรที่เราต้องเลือกด้วยซ้ำ เพราะมันเป็นจิตสำนึกพื้นฐานของคนอยู่แล้วที่จะต้องรู้ว่าอะไรถูกอะไรผิด และการที่ดารานักแสดงพม่าหลายคนกล้าออกมาคอลเอาต์ก็เป็นเพราะพวกเขามีจิตสำนึกเหล่านี้อยู่แล้ว มันออกมาจากใจข้างใน มันไม่ใช่ว่าคอลเอาต์เพราะเป็นหน้าที่ที่ดาราต้องทำ แต่เป็นเพราะมีสามัญสำนึกในความเป็นมนุษย์ที่ต้องทำเพื่อความถูกต้อง

แล้วคุณกลัวไหมกับผลกระทบที่อาจจะตามมา

ถ้าถามว่ากลัวไหม ผมเชื่อว่าศิลปินดาราทุกคนที่ออกมาย่อมกลัวว่าจะกระทบอาชีพของตัวเอง มนุษย์ทุกคนมีความกลัวเหมือนกันหมด ผมเองก็กลัว แต่ผมเลือกที่จะออกมาพูดหรือทำอะไรบ้าง เราแค่ใช้หลักความเป็นมนุษย์ง่ายๆ นี่แหละตัดสินว่าอะไรถูกหรือผิด แล้วเราก็จะก้าวข้ามความกลัวออกมาได้ เราอาจจะไม่ต้องทำอะไรยิ่งใหญ่มากเหมือนซูเปอร์แมนหรือสไปเดอร์แมน แค่เราทำตามศักยภาพที่เราทำได้

ณ ตอนนี้ เราไม่ควรห่วงแค่อาชีพของตัวเองอย่างเดียว แต่เราต้องมองส่วนรวม ในฐานะที่มนุษย์ต้องอยู่ในสังคมร่วมกันกับคนอื่น ถ้าในภาพรวม ประเทศเราไม่ดี ไม่เป็นประชาธิปไตย อาชีพหรือความฝันของเราก็ไม่มีทางไปรอดได้ ถ้าประชาชนไปไม่รอด วงการบันเทิงเราก็ไปไม่รอดเช่นกัน เพราะฉะนั้น การที่เราจะไปรอดได้คือทุกคนในสังคมต้องไปรอดเหมือนกัน นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมพวกเราถึงต้องก้าวข้ามความกลัวแล้วออกมาต่อสู้ร่วมกัน

ดาง์ว ขณะร่วมชุมนุมต่อต้านรัฐประหารร่วมกับคนพม่าในไทย เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2021
ขอบคุณภาพจาก Facebook: DAUNG – ဒေါင်

คุณบอกว่าอาชีพของเราไปรอดไม่ได้ ถ้าคนอื่นก็ไปไม่รอด แปลว่าคุณกำลังมองว่า ในสถานการณ์ตอนนี้ที่พม่ากลับสู่เผด็จการทหาร วงการบันเทิงที่คุณอยู่จะไปไม่รอดแน่ๆ หรือเปล่า

ผมมองว่าวงการบันเทิงหรือกระทั่งวงการศิลปะได้ถูกทำร้ายไปตั้งแต่ที่กองทัพเข้ามาทำรัฐประหาร มันจบสิ้นแล้ว ศิลปินไม่ได้มีความรู้สึกว่าอยากจะออกมาสร้างสรรค์ผลงานภายใต้รัฐบาลทหารอีกต่อไป เมื่อประชาชนไม่มีความสุข ศิลปินก็ไม่มีความสุขและไม่มีใจสร้างสรรค์งานไปด้วย เพราะฉะนั้น ผมว่าตราบใดที่ประเทศเรายังไม่เป็นประชาธิปไตย วงการนี้ก็ไม่มีทางอยู่ต่อไปได้แน่นอน

เราจะเห็นว่าการสร้างสรรค์ผลงานของคนในวงการบันเทิงตอนนี้จะสื่อสารประเด็นหลักคือการต่อต้านรัฐประหาร ไม่ใช่แค่ดารานักแสดง แต่รวมถึงศิลปินหรือผู้คนต่างๆ ที่ออกมาแต่งบทกวีต่อต้านเผด็จการทหาร ตอนนี้ทุกคนต่างรู้กันดีว่าหน้าที่หลักของเราคือการต่อต้านรัฐประหารและต่อสู้เคียงข้างประชาชน ตัวผมเองก็คิดว่าสิ่งเดียวที่เราต้องทำตอนนี้คือต้องสู้จนกว่าจะชนะ แล้วถ้าได้ประชาธิปไตยเมื่อไหร่ เราถึงจะกลับมาสร้างสรรค์ผลงาน ทำตามความฝันของตัวเองกันได้อีกครั้ง

ครั้งหนึ่ง วงการบันเทิงของพม่าเคยอยู่ภายใต้เผด็จการทหารมาก่อน ตอนนั้นคุณอาจจะยังไม่ได้เข้าวงการ แต่ก็คงมีความทรงจำเกี่ยวกับวงการบันเทิงตอนนั้นอยู่ไม่น้อย จากความทรงจำของคุณ วงการบันเทิงพม่าใต้เงาเผด็จการมีหน้าตาแบบไหน แล้วพอเข้าสู่ประชาธิปไตย มันดีขึ้นอย่างไร  

ถ้าย้อนไปก่อนปี 2010 งานศิลปะหรืองานวงการบันเทิงทุกอย่างถูกพรากเอาคุณค่าออกไปหมด ผมเองก็แทบจะนึกไม่ออกเลยว่าจะอธิบายให้คุณเห็นภาพได้อย่างไร เพราะตอนนั้นทุกอย่างถูกปิดกั้นหมดเลย ผมอยากจะเสพงานศิลปะอะไร ก็ต้องหาทางแอบดูเอาเท่านั้น ตัวคนเผยแพร่ผลงานเองก็ต้องแอบเผยแพร่เหมือนกัน แทบไม่มีที่ทางให้คนพม่าได้สร้างสรรค์งานศิลปะใหม่ๆ ที่มีคุณค่าออกมาได้เลย

หลังจากนั้น ตั้งแต่ปี 2010 ก็เริ่มมีพัฒนาการที่ดีขึ้น คือมีการออกกฎหมายที่เปิดให้วงการบันเทิงสามารถทำงานได้อย่างมีอิสระเสรีมากขึ้น แต่ก็ยังถือว่าทำได้น้อยมาก แล้วก็พัฒนาขึ้นอีกในปี 2012 ตอนนั้นเริ่มมีการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะอย่างการวาดภาพ หรือการแต่งหนังสือมากขึ้น และหลายๆ คนก็เข้ามาช่วยกันผลักดันวงการนี้ พอถึงปี 2015 รัฐบาลชุดใหม่ที่เป็นประชาธิปไตยก็ขึ้นมา จากนั้นวงการศิลปะและวงการบันเทิงของเราก็แสดงออกได้เยอะขึ้นมาก ทุกคนได้แสดงออกในสิ่งที่อยากทำ มีหลายผลงานที่มีคุณค่าออกมา แต่พอถึงปี 2021 ทุกอย่างก็ถูกทำลายไปอีกครั้งหนึ่ง

จากที่คุณเล่า วงการบันเทิงพม่าใต้ระบอบเผด็จการดูไม่สดใสเลย แต่ในที่สุดคุณก็เข้าสู่วงการบันเทิง อะไรที่เป็นแรงบันดาลใจให้คุณก้าวเข้าสู่วงการนี้ ทั้งที่วงการบันเทิงตอนนั้นดูมืดมิดมาก

ผมขอพูดถึงนกสองตัว ตัวหนึ่งบินได้ในโลกกว้างอย่างอิสระ เติบโตมากับธรรมชาติ กับนกอีกตัวหนึ่งที่อยู่แค่ในกรง แน่นอนว่านกสองตัวนี้ต้องแตกต่างกันมาก ไม่ว่าจะเป็นความสวยงามของปีกหรือท่วงท่าที่โบยบิน นกที่อยู่ในธรรมชาติย่อมมีปีกที่สวยกว่าและบินได้อย่างงดงามกว่า แต่ตัวพวกผมเองตอนนั้นก็เหมือนนกตัวที่สองที่อยู่แต่ในกรง ไม่สามารถออกมาบินบนท้องฟ้าหรือไปเกาะต้นไม้ตามธรรมชาติได้อย่างเต็มที่ เราบินได้แค่ในจินตนาการเท่านั้น เพราะฉะนั้น นกในกรงอย่างผมก็อยากบินในธรรมชาติอย่างอิสระเหมือนอย่างนกตัวแรก นี่เป็นแรงบันดาลใจให้ผมอยากเข้าสู่วงการบันเทิง เพราะมีความหวังว่าวันหนึ่งจะบินได้แบบนั้น

ผมเข้าวงการบันเทิงตอนอายุยังน้อย ตอนนั้นแค่ประมาณ 17-19 ปี ก่อนหน้านั้นผมเป็นนักฟุตบอลอาชีพมาก่อน แล้วในช่วงนั้น ผมเริ่มสนใจศึกษาเกี่ยวกับงานศิลปะและงานบันเทิง มีศิลปินที่ผมชื่นชอบมากคนหนึ่ง ชื่อ KAD เขาเป็นนักแต่งเพลงที่ไม่ได้ผลิตแค่ผลงานเพลงเพราะๆ เท่านั้น แต่งานของเขายังมีคุณค่า สะท้อนหลักมนุษยธรรม ผมมีโอกาสได้รู้จักและเรียนรู้จากเขาหลายอย่างในเวลาต่อมา

มีอยู่วันหนึ่งผมได้นั่งคุยกับเขาอยู่ริมระเบียงสกปรกซอมซ่อแห่งหนึ่ง และเราก็ได้คุยกันถึงนกสองตัวอย่างที่ผมเล่าให้ฟังไปแล้วนี่แหละ ซึ่งก็ทำให้ผมรู้สึกว่าวันหนึ่งอยากมีปีกบินได้สวยๆ งามๆ แบบนั้นบ้าง นี่เป็นจุดเริ่มต้นที่ผมเข้าสู่วงการบันเทิง

     

ดาง์ว ในแคมเปญต่อต้านรัฐประหาร
ขอบคุณภาพจาก Facebook: DAUNG – ဒေါင်

แล้วพอได้มาอยู่ในวงการบันเทิง ชีวิตเป็นอย่างไร เปลี่ยนไปจากเดิมขนาดไหน

ชื่อของผม ‘ดาง์ว’ แปลว่า ‘นกยูง’ เป็นนกตัวหนึ่งที่โบยบิน หลังจากเข้าสู่วงการบันเทิง ผมว่าตัวผมก็ไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปมากจากเมื่อก่อน ดาง์วก็ยังเป็นนกยูงตัวเดิมที่ยังโบยบินอยู่ ผมก็ยังชอบทำอะไรที่ผมชอบอยู่เหมือนเดิม เมื่อก่อนผมเป็นคนชอบอะไรเก่าๆ ดั้งเดิม ชอบฟังเพลงเก่าๆ ดูงานศิลปะเก่าๆ ดูหนังเก่าๆ ทุกวันนี้ผมก็ยังชอบอะไรแบบนี้อยู่ไม่เปลี่ยนแปลง

และอีกสิ่งหนึ่งที่ผมไม่เคยเปลี่ยนแปลงก็คือความเชื่อมั่นที่ว่า เราต้องมีบทบาทผลักดันให้ประชาชนได้อยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุข มีชีวิตอยู่อย่างได้รับความเป็นธรรม ตามหลักมนุษยธรรม ตอนนี้ผมก็พยายามส่งเสียงให้ประชาชนพม่ากลับไปได้รับสิ่งเหล่านั้นให้ได้ นี่คือความเชื่อที่ผมยึดมั่นมาตลอดขณะอยู่ในวงการบันเทิง และก็จะเชื่อมั่นอย่างนี้ต่อไป

หลังเข้าสู่วงการบันเทิงแล้ว คุณเคยมีโอกาสมาร่วมงานกับวงการภาพยนตร์ฝั่งไทยด้วย ในผลงานภาพยนตร์เรื่อง The Only Mom ซึ่งโด่งดังมากในพม่าตอนนั้น คุณรู้สึกอย่างไรที่มีโอกาสได้ก้าวออกมาร่วมงานและสัมผัสวงการบันเทิงนอกประเทศของคุณ

ผมขอเปรียบเปรยด้วยนกอีกครั้งหนึ่ง พอผมได้มาร่วมงานกับฝั่งไทย ผมรู้สึกเหมือนตัวเองเป็นนกที่เพิ่งออกมาจากกรง แล้วได้สยายปีกโบยบินในท้องฟ้ากว้างไกล ผมดีใจและภูมิใจมากในตอนนั้น เหมือนเป็นก้าวแรกที่ผมได้ออกมาสัมผัสโลกภายนอก 

สิ่งที่น่าสนใจที่สุดสำหรับผมในการเล่นเรื่อง The Only Mom คือคาแรคเตอร์ที่ผมได้รับ ในบทผีช่างภาพ มันเป็นคาแรคเตอร์ที่แปลกใหม่มาก ผมไม่เคยเห็นและไม่เคยแสดงในคาแรคเตอร์แบบนี้มาก่อน ผมรู้สึกดีมากที่ผมได้ร่วมแสดงในเรื่องนี้

พอคุณได้มาสัมผัสวงการบันเทิงของฝั่งไทยแล้ว คุณเรียนรู้อะไรจากที่นี่บ้าง มีอะไรที่แตกต่างจากวงการบันเทิงของพม่าไหม

ตอนนั้นยังเป็นช่วงที่ผมเพิ่งเข้าวงการบันเทิงใหม่ๆ ประสบการณ์ผมยังน้อยมาก จริงๆ ผมก็ไม่ค่อยแน่ใจว่าผมได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ ไปเยอะขนาดไหน ตอนนั้นผมสนใจในคาแรกเตอร์ที่ผมได้รับมากเป็นพิเศษกว่าเรื่องอื่นๆ

แต่สิ่งหนึ่งที่ผมได้รับรู้แน่ๆ คือเรื่องการถ่ายทำ ผมว่าการออกกองถ่ายของวงการฝั่งไทยแตกต่างจากของพม่าอยู่ระดับหนึ่ง ของไทยดูมีความละเอียดพิถีพิถันสูง มีการวางแผนเป็นเรื่องเป็นราว ทำให้รู้ว่าวงการบันเทิงบ้านผมยังต้องพัฒนาในเรื่องการถ่ายทำอีกเยอะ และผมเองก็ได้เรียนรู้จากวงการภาพยนตร์ไทยไปไม่น้อย

ดาง์ว ในภาพยนตร์ The Only Mom
ขอบคุณภาพจาก – Facebook: လိပ္ျပာစံအိမ္ – The Only Mom

เรื่อง The Only Mom นับว่าดังมาก หลายคนบอกด้วยว่าหนังเรื่องนี้สะท้อนสังคมและการเมืองพม่าอยู่เยอะ ซึ่งคนดูแต่ละคนก็ตีความกันไปต่างๆ นานา แล้วในมุมของนักแสดงในเรื่องอย่างคุณตีความหนังเรื่องนี้อย่างไร 

จริงที่ว่าหลายคนที่ได้ดูเรื่องนี้พยายามเชื่อมโยงกับการเมืองพม่า ตัวผมเองก็เห็นความเชื่อมโยงในหลายๆ แง่มุมเหมือนกัน

คาแรกเตอร์ที่ผมเล่นเป็นช่างภาพ ตัวละครนี้มีชีวิตอยู่ในยุคของนายพลเน วิน หลังจากที่เพิ่งทำรัฐประหารใหม่ๆ ยุคนั้นเป็นยุคที่ค่อนข้างหดหู่ มันก็สะท้อนผ่านชีวิตของทุกคนในครอบครัว รวมถึงบรรยากาศแวดล้อมตอนนั้นที่ดูหดหู่เศร้าหมองไปด้วย ถัดจากนั้น หนังก็ข้ามมาที่ยุคประมาณปี 2008 มีตัวละครพ่อ-แม่-ลูก ซึ่งนั่นก็เป็นยุคที่อยู่ภายใต้เผด็จการอีกเหมือนกัน มันก็สะท้อนให้เห็นความรู้สึกนึกคิดของตัวละครที่ดูไม่ได้มีความสุขเลย อย่างตัวละคร ‘แม่’ ที่เหมือนดูขมขื่นอมทุกข์ เพราะถูกกดทับด้วยผู้คุมอำนาจบางอย่างอยู่ตลอดเวลา ซึ่งก็คงเปรียบได้กับอำนาจเผด็จการ

โดยรวมคือหนังเรื่องนี้แสดงให้เห็นว่าแต่ละคนไม่ได้มีชีวิตที่ดีเลยภายใต้สภาพแวดล้อมที่เป็นอยู่ มันสะท้อนการเมืองของพม่าในยุคนั้นๆ

หลังจากเรื่อง The Only Mom ล่าสุดคุณมีโอกาสได้กลับมาร่วมงานกับฝั่งไทยอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งตอนนี้ก็อยู่ระหว่างการเดินหน้าถ่ายทำ อยากให้คุณช่วยเล่าถึงโปรเจ็กต์นี้

ผมกำลังถ่ายทำละครเรื่อง ‘จากเจ้าพระยาสู่อิรวดี’ อยู่ (ช่องไทยพีบีเอส) ละครแบ่งออกเป็นยุคสมัยอดีตกับปัจจุบัน ผมรับบทเป็น ‘สะสะ’ (Myawaddy Mingyi U Sa) ศิลปินเอกคนหนึ่งในราชสำนักพม่าในยุคอังวะ เขามีตัวตนจริง เคยประพันธ์ผลงานมามากมาย ผมดีใจมากที่ได้เล่นเป็นเขา เพราะเป็นศิลปินที่ผมชื่นชอบมาก ละครเรื่องนี้ถ่ายทอดให้เห็นประวัติศาสตร์และความสวยงามของศิลปะทั้งของฝั่งพม่าและฝั่งไทย ซึ่งในอดีตคือยุคของกรุงศรีอยุธยา โดยเล่าผ่านตัวละครสะสะ เรื่องนี้น่าสนใจมากๆ ทั้งพาร์ตอดีตและปัจจุบัน และทีมงานทุกคนก็ทำการบ้านหาข้อมูลกันมาอย่างดี

ผมอยากให้ทั้งคนไทยและคนพม่าได้ดูเรื่องนี้ เพราะถึงแม้ภาษาเราจะต่างกัน แต่เราก็เป็นเพื่อนบ้านกันมาแต่อดีตและมีความสัมพันธ์อันดีที่เราต้องสืบเนื่องกันต่อไป ละครเรื่องนี้สะท้อนถึงเรื่องราวความรักความสัมพันธ์ระหว่างคนไทยและพม่า และยังมีการอธิบายคลี่คลายถึงเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่หลายคนอาจเข้าใจผิดด้วย ผมอยากให้ดูเรื่องนี้มาก

ดาง์ว ในงานบวงสรวงละครจากเจ้าพระยาสู่อิรวดี
ขอบคุณภาพจาก Facebook: DAUNG – ဒေါင်

หลังจากผลงานละครชิ้นนี้ คุณมองอนาคตตัวเองต่อไปอย่างไร เพราะตอนนี้พม่ากลับสู่เผด็จการทหาร และดูเหมือนว่าหนทางในวงการบันเทิงพม่าสำหรับคุณคงจะไม่ง่ายนัก

อนาคตอย่างเดียวที่ผมมองเห็นในตอนนี้คือการต่อต้านรัฐบาลรัฐประหารชุดนี้ ถ้าถามว่าอีกหนึ่งชั่วโมงข้างหน้าจะทำอะไร ผมก็ตอบว่าผมจะต่อต้านรัฐประหาร แล้วหนึ่งชั่วโมงที่ผ่านมาผมทำอะไร ผมก็ต่อต้านรัฐประหารอยู่เหมือนกัน นี่คือสิ่งเดียวที่ผมคิดได้ตอนนี้ ถ้าเรียกร้องประชาธิปไตยกลับคืนมาได้สำเร็จ ผมถึงค่อยกลับมาสร้างสรรค์ผลงานอีกครั้ง ผมคิดแค่นี้เลยในตอนนี้

คุณอยากฝากอะไรถึงคนพม่าหรือคนไทยที่กำลังอ่านบทสัมภาษณ์ของคุณชิ้นนี้อยู่

โลกเรามีอยู่สองอย่างคือ ‘ความเป็นธรรม’ กับ ‘ความไม่เป็นธรรม’ และสิ่งที่มนุษย์เราต้องทำคือ จะทำอย่างไรให้มันเป็นธรรม ทำให้ทุกคนในสังคมมีความเท่าเทียมกันให้ได้ กำจัดความไม่เป็นธรรมให้หมดไป นี่คือสิ่งที่ผมและอีกหลายๆ คนกำลังทำอยู่ในตอนนี้

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save