fbpx
เมื่อผีพม่าปรากฏตัว : คุยกับ ชาติชาย เกษนัส ผู้กำกับ ‘From Bangkok to Mandalay’ และ ‘มาร-ดา’

เมื่อผีพม่าปรากฏตัว : คุยกับ ชาติชาย เกษนัส ผู้กำกับ ‘From Bangkok to Mandalay’ และ ‘มาร-ดา’

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย เรื่อง

พิมพ์ใจ พิมพิลา ภาพ

ประมาณ 3 ปีที่แล้ว มีหนังรักเรื่องหนึ่งทำรายได้ถล่มทลายในพม่า เกิดปรากฏการณ์คนแห่เข้าโรงหนัง ได้รับการพูดถึงทั้งตัวหนังและนักแสดงอย่างแพร่หลาย หนังเรื่องนั้นชื่อ From Bangkok to Mandalay หรือ ถึงคน…ไม่คิดถึง (2016) ว่าด้วยเรื่องของสาวไทยที่ต้องตามรอยจดหมายรักของย่าที่เพิ่งจากไป โดยมีหนุ่มพม่าเป็นผู้นำทาง

เป็นภาพยนตร์สไตล์ road movie ที่คลอไปด้วยเพลงเพราะๆ มีบทเข้าคู่พระนางน่ารักสดใส ขณะเดียวกันก็ฉายภาพชีวิตความเป็นอยู่ของพม่า และหลายฉากก็งดงามเสียจนอยากกดจองตั๋วไปเที่ยวพม่าเดี๋ยวนั้น หนังพาเราไต่ไปตามเรื่องราวในจดหมายที่ค่อยๆ เผยอดีตออกมาทีละนิด เมื่อถึงตอนจบก็ทำหัวใจเราอิ่มเอมไม่รู้สิ้น

หนังเรื่องนี้เป็นฝีมือกำกับของ แน็ต ชาติชาย เกษนัส ผู้กำกับที่โลดแล่นอยู่เบื้องหลังวงการภาพยนตร์หลายสิบปี หนึ่งในเจ้าของไวท์ไลท์สตูดิโอ (ร่วมกับ ลี ชาตะเมธากุล, สยมภู มุกดีพร้อม ฯลฯ) โปรดัคชั่นเฮ้าส์ที่มีส่วนร่วมกับภาพยนตร์ระดับโลกหลายเรื่อง เช่น Call Me By Your Name, รักที่ขอนแก่น ฯลฯ

ล่าสุด เขากลับมาอีกครั้งพร้อมหนังพม่าเรื่องใหม่ ที่แตกต่างคือ นี่ไม่ใช่หนังรักละมุนหัวใจ แต่เป็นหนังผีกระตุกขวัญ ที่ทำเอาคนดูในพม่าทั้งโรงนิ่งงันมาแล้ว ในชื่อ The Only Mom หรือในภาษาไทยว่า มาร-ดา

ในวันสัมภาษณ์ หนังยังไม่ออกจากโรงที่พม่า แต่ทำรายได้ไปแล้วกว่า 1,500 ล้านจั๊ต (ประมาณ 1 ล้านเหรียญ หรือ 35 ล้านบาท) ในขณะที่มีจอฉายอยู่แค่ประมาณ 40-50 จอเท่านั้น

“หนังเข้าวันแรก ถ้าคนเดินไปซื้อตั๋วตอนบ่ายสอง เต็มแล้วนะ ต้องจองเป็นตั๋วของวันรุ่งขึ้นเลย” ชาติชายเล่าถึงปรากฏการณ์ The Only Mom ที่เกิดขึ้นในพม่า เขากลายเป็นผู้กำกับเนื้อหอม และได้ทำงานกับดาราชื่อดังของพม่าหลายคน

โชคดี — แม้เราไม่ได้อยู่พม่า แต่ก็มีสิทธิดูหนังเรื่องนี้ หนังเรื่อง มาร-ดา จะเข้าฉายรอบพิเศษวันที่ 1 เมษายนนี้ และฉายรอบปรกติตั้งแต่วันที่ 4 เมษายนเป็นต้นไป

ตลอดการสนทนาเราคุยกันหลายเรื่อง ทั้งเรื่องผีพม่า ความสัมพันธ์ไทย-พม่า ชีวิตการทำหนัง และประวัติศาสตร์การเมือง

เตรียมใจให้พร้อม บางช่วงของการพูดคุยอาจต้องปิดตา

แน็ต - ชาติชาย เกษนัส

คุณเข้าไปทำหนังในพม่าได้อย่างไร ทำไมต้องเป็นพม่า

ก่อนที่จะทำ From Bangkok to Mandalay เราแค่อยากทำหนังที่มีเพลงเพราะๆ เดินทางไปทั่วประเทศ เป็น road movie แต่ยังไม่ได้คิดว่าสถานที่จะอยู่ที่ไหน เพื่อนก็บอกว่าไปพม่าสิ เราก็เออ น่าสนใจ บวกกับคนพม่าค่อนข้างชอบหนังไทย ชอบสินค้าไทย ซึ่งเขาไม่ได้คิดกับเราแบบอคติ ในขณะที่เราตีอกชกตน เก็บความข้นแค้น ความดาร์กไว้ในใจแต่เพียงผู้เดียว ตรงนี้ก็เลยทำให้เราอยากรู้ว่า จริงๆ แล้วเขามองประวัติศาสตร์ยังไง

ในอดีต เวลาเกิดศึกสงครามมันคือการกวาดต้อนทรัพยากรมนุษย์ แน่นอนว่ามีเรื่องสินค้าเข้าไปเกี่ยวข้อง แต่ไม่ใช่เรื่องดินแดน แร่ธาตุ เพราะตอนนั้นทรัพยากรธรรมชาติเหลือเฟือ เขาต้องการคนไปหักร้างถางพง ต้องการคนไปจัดการดินแดนเถื่อน แล้วก็เก็บส่วยส่งส่วนกลาง

มีบันทึกว่าคนอยุธยาถูกกวาดต้อนไปอยู่อังวะ แต่ทำไมคนไทยไม่เคยถามเลยว่าเขาอยู่ที่ไหน เขาก็ต้องมีสายเลือด ต้องอยู่มาถึงปัจจุบันสิ ผมก็เลยค่อยๆ สืบค้น โชคดีที่ได้อาจารย์ มิคกี้ ฮาร์ท ที่เคยเขียนหนังสือ โยเดียกับราชวงศ์พม่า มาช่วยเป็นที่ปรึกษา คำว่า ‘โยเดีย’ หลายคนอาจจะมองว่าเป็นการตัดคำว่า ‘อะ’ ออกจาก อโยธยา จะมองแบบนี้ก็ได้ แล้วแต่ แต่ผมมองว่าเป็นเรื่องการเพี้ยนเสียง

ตอนที่ผมถ่ายหนังอยู่ คนพม่าจะเรียกคนไทยว่า ‘โยเดีย’ ไม่เรียกว่าคนไทย เวลาไปกินข้าว เขาถามว่ามาจากไหน เราบอกว่ามาจากไทยแลนด์ เขาก็จะบอกว่า “อ๋อ โยเดีย” แล้วเขาก็ยิ้มๆ เราก็สงสัยว่ายิ้มทำไม ตกลงเขาคิดกับโยเดียยังไงกันแน่

พอสืบค้นไป นอกจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ก็มีหลักฐานทางศิลปวัฒนธรรม เช่น เรื่องการเรียนการสอนนาฏศิลป์ในตำรามหาคีตะของพม่า ไม่มีดนตรีชาติอื่นเลย นอกจากดนตรีของพม่ากับโยเดีย แสดงว่าคน ณ 200 ปีก่อน เขามาตรงนี้ เปล่งประกาย แล้วสร้างงาน อยู่กับวัฒนธรรมพม่ามาเป็น 200 ปี ก็เลยสนใจ ตกหลุมไปทีละนิดๆ

From Bangkok to Mandalay เป็นหนังร่วมทุนกับพม่า?

ร่วมทุนครับ แน่นอนว่าร่วมทุนก็ดีกว่าเราควักเองทั้งหมด ถัดมาคือเราต้องการที่จะแชร์รายได้ระหว่าง 2 ประเทศ แทนที่เราทำหนังแค่ในเมืองไทย มีกลุ่มเป้าหมายอยู่เท่านี้ เราขยายตลาดเข้าพม่าด้วย ความเสี่ยงในการลงทุนหนังเรื่องนี้ก็ลดลง ในจำนวนเงินเท่ากัน ถ้าเราทำหนังไทยอย่างเดียว ถ้าเราพลาดตลาดไทย ก็ไม่เหลือ แต่พอมีพม่าด้วยก็มี 2 ตลาดเลย

ตอนแรกที่ไปถึงพม่า ผมพบว่าคล้ายบ้านเรามากเลย ชาวบ้านยังบริสุทธิ์อยู่ แล้วก็ welcome มาก ยิ่งไปเจอเยอะๆ ก็เป็นพลังงานที่ดีมาก เราก็เลยคิดว่าน่าทำหนังที่นี่ ก็เริ่มจากตรงนั้น

ด้วยที่เราอยู่ในอุตสาหกรรมหนังมา 20 ปี เห็นหนังไทยที่ทำงานกับประเทศเพื่อนบ้าน แล้วมีปัญหาตลอดเวลา เช่น ไม่ได้ฉาย กระทบกระเทือน เดี๋ยวเป็นข่าวหน้าหนึ่งบ้าง ทีนี้พอทำกับพม่า แน่นอน ความ sensitive มันสูงกว่า เราก็เลยต้องหาที่ปรึกษาที่ไว้ใจได้ แล้วก็มีข้อมูลจริงๆ เพื่อจะเข้าใจก่อน ก็เลยกลายมาเป็นข้อมูลมหาศาล เลยเอามาทำสารคดีต่อ ก็คือ โยเดีย ที่คิด (ไม่)ถึง ซึ่งก็ยิ่งทำให้เราเข้าไปลึกซึ้งกับพม่ามากขึ้น

โลกความเชื่อในพม่ากับไทย ดูเผินๆ เหมือนจะคล้ายกัน แต่จริงๆ แล้วไม่เหมือนกัน

ยังไง?

พูดถึงเรื่องที่เชื่อมโยงกับหนังเรื่อง มาร-ดา ที่กำลังจะเข้าโรงในไทยแล้วกัน ศาสนาความเชื่อของพม่าแยกกันชัดเจน เช่น จักรวาลของพราหมณ์ก็พราหมณ์ พุทธก็พุทธ ฮินดูก็ฮินดู ซึ่งผีในหนังที่เราพูดถึงคือ ผีนัต เป็นผีกึ่งเทพ เช่น เทพทันใจก็คือหนึ่งในผีนัต ในย่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก่อนหน้าที่ศาสนาพุทธ คริสต์จะมา เรานับถือผี ซึ่งเป็นผีแม่เป็นส่วนใหญ่ เช่น ทางเหนือ อีสาน ถ้าแต่งงานจะมีการลาผีแม่มานับถือผีอีกฝั่ง

ในสมัยพระเจ้านรธา ช่วงกลางของอาณาจักรพุกาม ก่อนหน้าสุโขทัย พระเจ้านรธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนามาก แล้วก็อยากจะกำจัดผีนัตให้หมดไปจากสังคม แต่ท่านก็ทำไม่ได้ ผ่านมาอีกพันปี นัตก็ยังอยู่ในสังคมพม่า

นัตจะมีทั้งนัตนอกกฎหมายและนัตหลวง หรือนัตศักดินากับนัตเถื่อน หลักการก็คือ ตอนที่นัตมีชีวิตอยู่ เขาจะเป็น magician มีฤทธิ์ มีเดช มีเวทมนตร์ เป็นคนที่ชาวบ้านเลื่อมใสศรัทธา อาจจะเป็นคนอารมณ์เกรี้ยวกราดรุนแรง มีความสุดโต่ง แล้วก็ต้องตายโหงเท่านั้นถึงจะเป็นนัตได้ มีนัตหลวงอยู่ 30 กว่าองค์ ที่เหลือไม่ใช่นัตหลวง ซึ่งมีเต็มไปหมด

เราเดินไปที่ไหนในพม่าแล้วเห็นศาลเพียงตา ไม่ใช่ศาลพระภูมิเหมือนบ้านเรา แต่คือศาลนัต การบูชาแต่ละองค์ก็จะมีเครื่องไหว้บูชาที่แตกต่างกันไป ซึ่งไม่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา แยกกันอย่างเด็ดขาด แต่คนที่ทำพิธีนัต เรียกว่า นัตกะดอ เขาก็นับถือพระพุทธศาสนา ทุกคนในพม่าส่วนใหญ่นับถือพุทธ ถ้าบอกให้ทำเกี่ยวกับนัต เขาก็จะสวดมนต์ไหว้พระ

ผมเข้าใจว่าผีก็ต้องการบรรลุนิพพานเหมือนกัน แล้วก็น่าจะเป็นเรื่องของการที่ทำให้เขายังอยู่ในสังคมได้ มีความน่าสนใจตรงที่ว่า คนที่เป็นร่างทรงหรือ นัตกะดอ (กะดอ แปลว่า เมีย นัตกะดอ แปลว่า เมียของนัต) เขาจะเป็นผู้ชายแต่งหญิง อย่ารีบไปสรุปว่าเป็น LGBT นะ มีบางคนเป็นผู้ชายแต่งงานมีลูก จู่ๆ วันดีคืนดีก็มีอะไรบางอย่างเรียกให้ต้องไปทำตรงนี้ อยู่ไม่ได้ ต้องแต่งหญิง เข้าพิธีเป็นร่างทรงของนัตบางองค์ เป็นสื่อกลางในการสื่อสารระหว่างโลกจิตวิญญาญกับโลกของมนุษย์ ซึ่งสิ่งนี้ในปัจจุบันยังมีอยู่ มีงานชุมนุมของนัต มีเฟสติวัลทุกปี 7 วัน 7 คืน มีคนไปเยอะแยะ

เรื่องผีนัตแสดงให้เห็นความแตกต่างของไทยกับพม่ายังไง

ไทยไม่มีการบูชาผีนัต แต่เราก็มีร่างทรง ผมขอหยิบคำของอาจารย์ลลิตา หาญวงษ์ ที่ว่า สังคมพม่าเป็นพหุสังคมที่อยู่ร่วมกันแบบผสม แต่ไม่ผสาน คือในพื้นที่หนึ่งจะมีจักรวาลซ้อนทับกันอยู่ มีฮินดู พุทธ หรือผีนัต อยู่ในพื้นที่เดียวกัน แต่ไม่ยุ่งเกี่ยวกัน ผมมองว่าเป็นเรื่องของการจัดการพลังงานของ LGBT ที่จะอยู่ในสังคมนั้นได้โดยที่เขามีศักดิ์ศรี ยังมีคนเคารพนับถือ ไม่ถูกแบ่งแยก

ผีนัตมีบทบาทอย่างไรบ้างในหนังเรื่อง มาร-ดา ทำไมจึงอยากทำเรื่องนี้

พอเราทำหนังผี ก็คิดว่าถ้าเราหยิบวัตถุดิบที่ traditional มากๆ ที่ชาวบ้านรู้จักกันดีอยู่ก่อน น่าจะกินใจ เข้าถึงได้ง่าย ก็เลยเริ่มทำข้อมูล แล้วที่ปรึกษาก็แนะนำให้รู้จักคุณลุงที่เป็นนัตกะดอ ผมก็ขอสัมภาษณ์ บอกว่าผมกำลังจะทำหนังนะ

ผมสร้างเรื่องสมมติขึ้นมาว่า ถ้าผมอยากจะเชิญนัตกะดอไปช่วยไล่ผีที่สิงลูกของผมอยู่ ผมต้องทำยังไงบ้าง เขาก็บอกว่า วิญญาณของเด็กที่ยังมีชีวิตอยู่ ประมาณว่าเป็นเจ้าหญิงนิทรา เขาจะเรียกว่า ‘เลย์เพีย’ แปลว่า ผีเสื้อ ไม่เรียกว่าวิญญาณ พม่าเรียก ‘วิญญาณ’ ว่า ‘วินยา’ คล้ายไทย  ก็เลยกลายเป็นชื่อหนังว่า เลย์เพีย ซานเอน แปลว่า บ้านผีเสื้อ

ท่านบอกว่ามีนัตองค์นึง ชื่อ อะเหม่จัม น่าจะช่วยตรงนี้ได้ อะเหม่ แปลว่า แม่ จัม แปลว่า หยาบ แปลได้ว่า แม่ที่ดุ แม่ที่หยาบ วิญญาณน้อยๆ น่าจะกลัว ผมก็โอเค เอาโครงนี้แหละ ท่านบอกว่าวิธีเช็คคือเอาน้ำมนต์ไปหยอดที่ตา ถ้าคนปรกติก็ไม่เป็นไร แต่ถ้ามีวิญญาณสิงอยู่จะไม่ปรกติ ต้องอัญเชิญท่านมาช่วยไล่วิญญาณนี้ออกไป แล้วดึงวิญญาณลูกจริงๆ กลับมา เรื่องนี้อยู่ในหนัง

ในหนังมีคำโปรยที่ว่า ‘เกิดเป็นลูกอย่าเลือกแม่’ อยากรู้ว่ามีประเด็นเกี่ยวข้องกับเรื่องแม่อย่างไรบ้าง

แรงบันดาลใจของหนังมาจากเรื่องภาพที่มีทุกบ้านในพม่า คือภาพของนายพลอองซาน พ่อของซูจี ผมก็งงว่าทำไมรัฐบาลทหารถึงปล่อยให้มีภาพนี้อยู่ในบ้านได้ ทั้งๆ ที่เป็นสัญลักษณ์ขั้วตรงข้ามทหาร ไปๆ มาๆ ผมรู้สึกว่าคำตอบอยู่ที่เรื่องนัต

ในอดีต นักรบบางคนที่เก่งกล้า กำลังพลเยอะ เริ่มมีอิทธิพลทางการเมือง กษัตริย์อาจจะฆ่า แต่ก็ปล่อยให้คนนับถืออยู่ เป็นการจัดการพื้นที่ทางพลังงาน ย้ายคุณไปอยู่ในโลกวิญญาณซะ ไม่ต้องมายุ่งกับโลกคนเป็น จะนับถือก็นับถือกันไป แต่โลกตรงนี้เป็นของฉัน คุณก็เหลือแค่ภาพถ่าย ทำอะไรฉันไม่ได้ ดังนั้นผมก็มองว่ารูปนายพลอองซาน ก็คล้ายๆ นัต เลยเป็นที่มาของหนังเรื่องนี้

ตอนที่ผมกำลังจะถ่ายทำ เป็นช่วงเวลาที่อองซาน ซูจี กำลังมีปัญหาเรื่องโรฮิงญา เป็นช่วงที่เธอกล่าว speech เธอไปยืนอยู่ตรงหน้าศาลากลางเมือง บอกว่า ฉันไม่กลัวโลกภายนอก ถ้าคุณอยากรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นให้มาดูที่ฉัน เป็นครั้งแรกที่เห็นเธอแอ็คฝั่งเดียวกับทหาร คือเธอเป็นแม่ที่ดุ ไม่ได้เป็นแม่แบบที่ผ่านมา เราก็เห็นว่าสุดท้ายแล้ว สังคมพม่าก็ยังเป็นสังคมอำนาจนิยม สุดท้ายก็คือเรื่องนี้แหละ ถ้าดูหนังแล้วจะเข้าใจ

แสดงว่า มาร-ดา เป็นหนังการเมือง ไม่ใช่หนังผี ?

(หัวเราะ) ก็เอนเตอร์เทนแบบหนังผี เราก็ไม่อยากแตะต้องเรื่องการเมืองมาก เพราะเป็นเรื่องของเขา ไม่รู้ต่อไปเขาจะให้ถ่ายรึเปล่า แต่ก็อดคอมเมนต์ไม่ได้

แน็ต - ชาติชาย เกษนัส

หนังทั้ง 2 เรื่องของคุณประสบความสำเร็จมากในพม่า คุณมองว่าวัฒนธรรมการดูหนังของคนพม่าเป็นยังไง

เขายังเป็นมหรสพ ครื้นเครงมาก ขออนุญาตเล่าวันกาลาพรีเมียร์เรื่อง มาร-ดา มีคนเคยเล่าให้ฟังว่าคนพม่าตอบสนองกับหนังมาก คือคุยกันในโรง กินของ พอเราไปเห็นก็ปั่นป่วนมาก ถือเม็ดแตงโมเข้ามาเคี้ยวกันกุ๊บกั๊บ เออ เขาไม่ใช้สมาธิเยอะนะ แต่พอดูไปสักครึ่งเรื่อง เริ่มเคี้ยวไม่ทัน เริ่มหยุด เออ ค่อยยังชั่ว โดนซะมั่งก็ดี (หัวเราะ)

พอโดนผีชาร์จเข้าไป เขาตกใจมากๆ เซอร์ไพรส์มากๆ โดนชาร์จเสร็จ เขาปรบมือ ถ้าเขารู้สึกอะไรก็จะแสดงออกตอนนั้นเลย ทำให้บรรยากาศดูหนังครึกครื้น ทำให้ผมจับได้ว่าคนดูต้องการอะไรค่อนข้างเร็วในตลาดพม่า เห็นตั้งแต่ตอนเรื่อง From Bangkok to Mandalay แล้ว เช่น รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ บางทีเราก็ใส่ไปพอน่ารักๆ เขาก็หัวเราะ ก็เลยทำให้เราเรียนรู้ค่อนข้างเร็ว

แล้วถ้าเปรียบเทียบกับตลาดดูหนังของไทยล่ะ

คล้ายๆ กัน ตลาดใหญ่ก็ยังชอบหนังตลก แต่ขณะเดียวกันสิ่งที่แตกต่างจากเมืองไทยคือ คนรุ่นใหม่มีความต้องการที่จะดูหนังคุณภาพ เหมือนหนังไทยเมื่อสมัย 2499 อันธพาลครองเมือง พอพี่อุ๋ย (นนทรีย์ นิมิบุตร) ทำหนัง full scale production ที่สู้ต่างประเทศได้ คนก็เริ่มให้ความสำคัญ เราก็แทรกเข้าไปตรงนี้พอดี เลยค่อนข้างจะได้เสียงชื่นชม แล้วก็ได้ความประทับใจจากคนดู

ผู้กำกับที่เป็นคนพม่าเอง มีมากน้อยแค่ไหน

เยอะครับ คนนึงก็ทำหนังปีละ 4-5 เรื่อง คิดคิด (หรือ วุด มน ชว ยี นักแสดงนำทั้ง From Bangkok to Mandalay และ The Only Mom) ก็บอกว่า พี่แน็ต ยูทำปีละ 2 เรื่องได้มั้ย เดี๋ยวไอก็ต้องแต่งงานมีลูก ไอจะเล่นหนังให้ยูต่อไปไม่ได้นะ ยูจะมาทำ 2-3 ปีเรื่อง ไม่ได้นะ เราก็บอก ปีละเรื่อง ไอก็จะตายอยู่แล้ว ยูยังจะมาบอกให้ไอทำปีละ 2 เรื่องได้ยังไง (หัวเราะ)

อุตสาหกรรมเขายังคึกคักอยู่ แต่การลงทุนเขาเล็กมาก คือเราไปทำสูงกว่าเขา เต็มที่เขาก็ลงทุนประมาณ 150,000 – 200,000 เหรียญ หรือประมาณ 6 ล้านบาท แต่เราไปลงทุน 12 ล้านบาท พอเช็คเกอร์รู้ว่าเราต้องการตัวเลขเท่าไหร่ เขาบอกว่าสองแสนเหรียญเขาก็ฉลองกันแล้ว ยูจะบ้าเหรอ เราก็ไม่คิดว่าจะได้ขนาดนี้ คิดว่าคงได้ 800 ล้านจั๊ต ไม่น่าจะมาถึง 1,500 ล้านจั๊ต ปรากฏว่าได้ โชคดีไป

พม่ามีการบล็อกหนังต่างชาติ ด้วยการไม่ขึ้นซับไตเติ้ลให้ เป็นวิธีคอนโทรล เขายังอยากให้คนสนใจหนังในประเทศมากกว่า เขาดูหนังมาร์เวลกันแบบไม่มีซับฯ ไปกันเป็นกลุ่ม มีคนนึงฟังรู้เรื่องก็บอกเพื่อน ผมไปดูหนังมาร์เวลกับเขา เขาฟังรู้เรื่องกว่าผมเยอะเลยนะ

ตอน From Bangkok to Mandalay รอบชนกับ Doctor Strange เขาขยับหนีเรา 1 วีค เหตุการณ์แบบนี้ไม่เคยเกิดขึ้นกับหนังไทย การกีดกันทางการค้าบางทีก็เวิร์ก เราก็ได้อานิสงส์ไปเต็มๆ

อยากชวนคุยถึงเส้นทางการทำหนังของคุณ เล่าให้ฟังหน่อยว่าเป็นมายังไง

ผมเป็นเด็กจังหวัดอุดรฯ ตอนผมอยู่ ป.5 การจะได้ดูหนังดีๆ จากต่างประเทศนี่ยากมาก แล้ววันนึง สโมสรโรตารีที่อุดรฯ ก็จัดหนังการกุศล ดีนะ ราคาถูกมาก จัดตอนเลิกเรียนพอดี วันนั้นผมเดินผ่าน เขาก็มีหนัง Dead Poets Society (ครูครับเราจะสู้เพื่อฝัน) เราก็อยากดู บัตร 25 บาท ผมถามพี่เขาว่ามีตังค์ 20 บาท ดูได้ไหม พี่เขาบอกมาเลยๆ เราก็เข้าไปนั่งดู โอ้โห เป็นหนังที่เปลี่ยนชีวิตเรา ทำให้เราตั้งคำถามว่า โตขึ้นอยากจะเป็นอะไร บวกกับก็มาอ่าน ปีศาจ ของเสนีย์ เสาวพงศ์ ก็เปลี่ยนชีวิต รู้ว่าอยากทำอะไร

ประมาณ ม.2 ก็ได้คำตอบแล้วว่า หนังอยู่กับชีวิตเราทุกวันเลย คือเราชอบ ตอนเย็นก็เดินไปอ่านโปสเตอร์หนัง ดูคนวาดคัทเอ้าต์หนัง แต่ก่อนเขาต้องวาดนะ เราก็รู้ว่าเราชอบหนัง

พอตอน ม.ปลาย เรามาเรียนที่สาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น มีห้องสมุดอยู่ 2 แห่งที่ดี คือห้องสมุดกลาง กับห้องสมุดของคณะศึกษาศาสตร์ที่โรงเรียน มีนิตยสารชื่อ American Cinematographer นี่คือเมื่อ 20 กว่าปีก่อน ปี 2535-2536 เราก็อ่าน ภาษาอังกฤษไม่ค่อยรู้เรื่องหรอก ค่อยๆ เปิดดิคอ่าน เพราะรูปเยอะ เอนเตอร์เทนมาก สนุก ก็สั่งสมความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องฟิล์มพวกนี้

เสร็จแล้วก็อยากเข้าคณะวารสารฯ ธรรมศาสตร์ แต่คะแนนไม่ถึง ก็เลยไปเรียนการละคอน ธรรมศาสตร์ ครูบาอาจารย์ก็ปลอบใจว่า อย่าคิดมาก ละครก็เป็นพื้นฐาน story telling ซึ่งปรากฏว่าก็จริง เพราะตอนที่เรียนวิชาละคอน 101 ว่าด้วยประวัติศาสตร์ละครกรีก จะมีเรื่อง act structure เรื่อง hero journey แล้วก็พื้นฐานของ tragedy ก็ได้เอามาใช้ในหนังเยอะ

เรามีเรื่องอยากจะพูดเยอะ อยากทำหนัง ในขณะที่อุตสาหกรรมหนังไทยใหญ่ แต่มี genre หนังแคบ ทำได้แค่แนวนี้ วิธีนี้ หรือถ้าเกิดเรามีประเด็นในสังคม ไม่ต้องไปคุยกับนายทุน เก็บไว้ในใจ คุยไปก็เท่านั้น เราก็ต้องเอา genre หนังนำก่อน ก็พยายามทำ

ในระหว่างเรียน ผมชอบไปขอความรู้พี่ๆ อย่างพี่เปีย (ธีระวัฒน์ รุจินธรรม) ช่างภาพ ตอนที่ผมเรียนหนังสืออยู่ ก็รู้จักกันแล้ว แกก็เริ่มถ่ายหนัง ตอนทำ คนล่าจันทร์ (14 ตุลา สงครามประชาชน) ของอาบัณฑิต ฤทธิ์ถกล ผมก็ขอไปดูกอง ติดสอยห้อยตาม หรือว่าพี่ๆ ที่เขาเป็นแคสติ้งไดเร็กเตอร์ ทำงานกับกองถ่ายหนังฝรั่ง เวลาที่เขาหานักแสดงเอ็กซ์ตร้า มีบทบรรทัดเดียว เราก็ไปแคสต์ เพื่อที่จะได้ไปอยู่ในกองถ่าย แล้วก็ได้เห็นวิธีการทำงาน

ความประทับใจสูงสุดในชีวิตก็คือได้อยู่ในกองถ่าย Rescue Dawn ของ Werner Herzog ตอนนั้นมีคริสเตียน เบล มาถ่าย ผมเล่นเป็นทหารเขมรแดงหรือทหารลาว จำไม่ได้ ไม่เห็นหน้าในหนัง แต่อยู่หลายวัน ก็เห็นการทำงานของ Herzog ซึ่งกองถ่ายมันใหญ่ แต่ใหญ่อยู่ข้างนอก มีทีมซัพพอร์ต มีกล้องไฟอยู่ข้างนอกเต็มไปหมด แต่สิ่งที่ทำให้เกิดหนังจริงๆ ก็มีแค่ผู้กำกับ นักแสดง และช่างภาพในละแวกตรงนั้น ซึ่ง Herzog ไม่เคยอยู่ห่างนักแสดงเลย เป็นคนมาร์กสเลทเอง เหมือนทำสารคดีเลย เราก็เรียนรู้มา

จนกระทั่งวันนึง ตั้งใจแล้วแหละ จะทำหนังให้ได้ เพราะถ้าแก่ไปกว่านี้จะไม่มีแรง ออกมาจาก GTH เราก็ทำไวท์ไลท์สตูดิโอกับพี่ลี (ลี ชาตะเมธากุล) พี่สอง (สยมภู ภักดีพร้อม) พี่ปิง พี่แม็ค ก็คิดว่าเปิดไวท์ไลท์เพื่อเป็นฐานให้เรา เวลาทำหนังจะได้สบาย

แต่ก่อนค่าทำ post production ยุคฟิล์ม สูงมากเลยนะ พอเป็นดิจิทัลปุ๊บก็ร่วงพรุบลงมา แต้มต่อในการทำธุรกิจก็หายไปเยอะเหมือนกัน แต่พี่ลีทำหนังไปแล้ว พี่สองก็ไปไกลแล้ว เราก็ขอทำบ้างแล้วกัน เลยทำ From Bangkok to Mandalay เป็นหนังยาวเรื่องแรก ตอนแรกก็มีเพื่อนลงทุน เสร็จแล้ว เพื่อนรู้สึกไม่สบายใจก็เลยถอนทุนไป ผมก็เลยต้องกลายมาเป็นผู้ร่วมทุนหลักตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา ก็ต้องขอบคุณครอบครัวที่เข้าใจ

แน็ต - ชาติชาย เกษนัส

ช่วงที่ผ่านมาจะเห็นผู้กำกับอายุน้อย เรียนจบแล้วเป็นผู้กำกับเลย คุณเคยเกิดภาวะที่รู้สึกว่า เราอายุมากไปเรื่อยๆ แล้ว แต่ยังไม่ได้ทำสักทีมั้ย

มีมาก เห็นน้องๆ ขึ้นมากำกับกัน แต่ตอนหลังเราก็โอเคนะ รู้สึกว่ายินดีที่จะเป็นรุ่นลายครามก็ได้วะ

ลึกๆ ผมก็ยังเชื่อว่า คนดูไม่เปลี่ยน เพียงแต่องค์ประกอบแวดล้อมเปลี่ยน ช่วงหลังหนังเกาหลีเริ่มกลับมาอีกครั้ง เช่น Train to Busan หรือ Handmaiden ก็มาจากผู้กำกับที่เคยประสบความสำเร็จในยุคก่อนหน้านี้ คือผู้กำกับที่เคยเป็นไอดอลตอนที่เราเป็นเด็กนี่แหละ เขาก็ยังกลับมาได้ในขั้นกว่า ดังนั้นผมก็เลยไม่ค่อยคิดมาก

เด็กขึ้นมากำกับก็โอเค ไม่เป็นไร ที่สำคัญคือเราเอาอยู่ โครงสร้างเรื่องเราโอเค ผมก็คิดว่า ถ้าผมไปพม่าแล้วได้ทำหนังที่มีเรื่องที่ผมอยากจะพูดคุยอยู่ ก็ยังดีกว่าเราต้องทำหนังตลาดๆ บางเรื่องที่นี่นะ ซึ่งค่อนข้างเสียเวลาชีวิต แล้วหนังก็ไม่ได้มีเมสเสจอะไร แต่ถ้ามีนายทุนไทยอยากจะให้เราทำหนังที่มีอะไรพูดคุยกับสังคม เราก็แฮปปี้ แต่ถ้าเราต้องไปทำที่อื่นเราก็แฮปปี้ เพราะในโลกภาพยนตร์สำหรับเราไม่มีพรมแดน ตอนเป็นเด็กเราก็ดูหนังต่างประเทศตลอดเวลา ฟังรู้เรื่องบ้าง ไม่รู้เรื่องบ้าง ก็ได้เรียนรู้จากนั้น

คุณอยากจะสื่อสารอะไรกับสังคมในหนังของคุณ

แต่ก่อนก็มีประเด็นที่ค้างๆ อยู่ แต่เสร็จสองเรื่องนี้ก็โล่งไปเยอะแล้ว ผมคิดว่าสื่อสารมวลชนต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคม เราเชื่อจริงๆ เพราะหนังอย่าง Dead Poets Society ก็เปลี่ยนชีวิตเรา เราโตมาในยุค 80-90 ซึ่งหนังจะพูดถึงเรื่องความห่วงใยในสังคม เรื่อง moral ซึ่งฟังดูเป็นเรื่องโบร่ำโบราณ แต่ยิ่งพอมีลูกนะ เราจะอยู่กันอีกไม่กี่ปีหรอก แต่โลกที่เราสร้าง คือสิ่งที่ลูกเราต้องเผชิญต่อไป

ตอนนี้ผมคิดว่าในสังคมไทยคือการปะทะกันระหว่างอนุรักษนิยม กับโลกของเด็กที่จะโตไปข้างหน้า อนุรักษนิยมในสังคมไทย ค่อนไปทางอำนาจนิยม แล้วก็ไม่ค่อยครีเอทีฟ อนุรักษนิยมไทยในอดีตครีเอทีฟกว่านี้ ยกตัวอย่าง อนุรักษนิยมของญี่ปุ่นค่อนข้างแข็งแรง ทำงานหนัก ครีเอทีฟ แล้วก็โพสิทีฟ แต่ขณะที่อนุรักษนิยมไทย นอกจากจะไม่ค่อยมีคุณภาพแล้วยังใช้อำนาจ

อำนาจเป็นสิ่งที่น่ากลัวสำหรับผู้มีอำนาจ มีวิจัยออกมาว่า เวลาที่มนุษย์มีอำนาจเยอะๆ สมองจะหลั่งสารเคมีด้านลบออกมาทำงานเยอะกว่าปกติ ทำให้คนตัดสินใจผิดพลาดได้ตลอดเวลา ดังนั้นผมไม่ค่อยเชื่อว่าสังคมไทยควรให้อำนาจใครมากเกินไป

อนุรักษนิยมไทยจะครีเอทความกลัวขึ้นมาตลอดเวลา เพื่อที่จะให้เราผลักบางอย่างออกไป ในช่วงสงครามเวียดนาม สงครามเย็นในไทย คอมมิวนิสต์ก็จะถูกครีเอทให้เป็นภาพของปีศาจ มากกว่าที่จะเป็นการถกเถียงกันในเรื่องของปรัชญาเศรษฐศาสตร์การเมือง

ผมขอไม่แยกเศรษฐศาสตร์กับการเมือง เพราะมันเป็นสิ่งเดียวกันตลอด แต่บังเอิญว่าเราเรียนวิชาเศรษฐศาสตร์แยกกันกับการเมือง เราก็เลยพลาดอยู่ตลอดเวลา ไม่เคยเกิดข้อถกเถียงหรือพูดคุยกันตรงนั้น เราก็เลยสร้างสังคมที่ไม่ค่อยมีภูมิคุ้มกันขึ้นมา

แม้กระทั่งวิชาประวัติศาสตร์ไทยกับพม่า จริงๆ แล้วก็เพิ่งมาเกิดเอาตอนสมัยจอมพล ป. สมัยหลวงวิจิตรวาทการ บ้านบางระจันต่างๆ นานา มีจริงรึเปล่ายังต้องถามกันอยู่ แต่ก็ต้องยอมรับว่าเขาครีเอท แล้วเขารู้ว่าจะใช้เพื่ออะไร ในละแวกนี้ต่างก็สร้างชาติจากนิทานก่อนนอนกันหมด แต่ในยุคหลัง เราจะให้ลูกหลานเราก้าวไปข้างหน้ายังไง ในเมื่อการสร้างชาติจบแล้ว เราจะก้าวไปยังไงต่อ เราไม่เคยกลับไปทบทวนหรือพูดคุยเลย

ย่อภาพลงมาที่ความสัมพันธ์ไทย-พม่า พอคุณได้เข้าไปศึกษาวัฒนธรรมพม่า ได้ทำหนัง คุณเห็นภาพความขัดแย้งเดิมๆ กับความเป็นจริงต่างกันยังไง

ประวัติศาสตร์มีหลายด้าน ตอนที่เราสร้างเรื่องบางระจัน มันมาพร้อมประวัติศาสตร์แผนที่ ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศต่างๆ เริ่มขีดเส้นแผนที่ รัฐฉานเริ่มต้องเลือกว่าจะอยู่กับไทยหรือพม่า ประวัติศาสตร์ถูกมองเป็นเรื่องดินแดน ฐานคิดของไทยต่อพม่าเกิดจากตรงนั้นเยอะ ในขณะที่ทำไมพม่าไม่มีชุดความคิดแบบนี้เลย เพราะเขาไม่ได้มองว่าเป็นอย่างนั้น มีวิธีการเรียนประวัติศาสตร์คนละแบบกัน

แต่สิ่งหนึ่งที่ผมเห็นแล้วแฮปปี้ ตลอดเวลาที่ทำหนังมา 2 เรื่อง 5 ปี เรามีพี่น้องที่เราไปมาหาสู่ แล้วก็ช่วยเหลือกันแบบไม่มีเงื่อนไขอยู่จำนวนนึง แล้วก็มีเพื่อนที่เราคบได้ในเรื่องเฉพาะธุรกิจอีกระดับนึง ซึ่งก็เป็นปกติ แต่สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ ลูกเราจะโตมาในสังคมยังไง ผมบอกที่บ้านเลยว่า ผมจะสอนวิชาประวัติศาสตร์ลูกเอง ผมไม่อยากให้ลูกเสียเวลาไปกับความเกลียดชัง เพราะความเกลียดชังไม่ทำให้สมองปลอดโปร่ง ไม่ทำให้สมองคิดตีความอะไรได้ เพราะเป็นอคติ

คุณอยากให้ลูกโตขึ้นมาในสังคมแบบไหน

เป็นสังคมที่เขาไม่ต้องกลัว เขาสามารถที่จะเป็นตัวของเขาเอง เขามีสิทธิเต็มที่ ในขณะเดียวกันเขาก็เคารพสิทธิของคนอื่นพอๆ กัน เรื่องสิทธิเกี่ยวข้องกับเรื่องครีเอทีฟ แล้วในโลกข้างหน้าครีเอทีฟน่าจะเป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุด เราคงต้องเลี้ยงให้เขารู้สึกอบอุ่น มีความรักเพียงพอ เพื่อที่เขาจะสร้างสังคมที่โอเค

ถ้าเกิดเราเลี้ยงเขาไม่ดีหรือไม่อบอุ่นพอ เขาก็อาจคิดเรื่องต้องชนะ ก็กลายเป็นประวัติศาสตร์นิทานก่อนนอน ที่โฟกัสไปแค่เรื่องแพ้ชนะ คงไม่ได้ทำให้เขาเป็นคนที่น่ารักเท่าไหร่

ตัดมาที่ภาพจริง สังคมปัจจุบันนี้ตรงกับโลกในอุดมคติแค่ไหน

ตอนนี้เป็นช่วงเวลาที่หัวเลี้ยวหัวต่อมาก ทั้งสองกลุ่มการเมืองใหญ่เลยจุดที่จะคุยกันรู้เรื่องแล้ว ตรงนี้เป็นจุดที่น่ากลัวมาก

ผมเห็นรัฐที่ล้มเหลวไปแล้ว ผมไปพม่า มองเห็นซากความรุ่งเรือง เมื่อ 50-60 ปีก่อน ย่างกุ้งเจริญกว่ากรุงเทพฯ มาก แต่ตอนนี้กรุงเทพฯ ต่างจากย่างกุ้ง มันเกิดอะไรขึ้น หรือสิงคโปร์ ที่อายุน้อยมาก แต่กลายเป็นผู้นำ เป็นผู้จัดการทรัพยากรใน Southeast Asia ทั้งหมดนี้เกิดจากอะไร ไม่ต้องไปรอ 20 ปี แล้วคุณจะสร้างเสร็จหรอก มันเป็นสิ่งที่ต้องทำตอนนี้เลย

เมื่อสังคมหมดโอกาสที่จะเข้าใจกันได้แล้ว น่ากลัวมาก เพราะมันกำลังนำไปสู่รัฐที่ล้มเหลว แล้วการที่ครีเอทกติกาขึ้นมาเพื่อที่จะเล่นงานคนบางกลุ่ม หรือครีเอทกติกาเพื่อที่จะเอาชนะกัน ผมมองว่าเรื่องแพ้ชนะอาจไม่สำคัญเท่ากับว่าเราต้องการอะไรจากประเทศนี้

ที่สำคัญคือเราต้องคุยกันแบบรัฐสมัยใหม่ เป็นรัฐที่ประชากรจ่ายภาษี แล้วรัฐมีหน้าที่ต้องเซิร์ฟประชากรในรัฐนั้น นอกจากจะให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีแล้ว ต้องสร้างโอกาสในการแข่งขัน เพราะถ้ามีโอกาสในการแข่งขันที่เท่าเทียม ก็จะสามารถสร้างนวัตกรรม แล้วก็สร้างความแข็งแกร่งได้เอง

แน็ต - ชาติชาย เกษนัส

มีประเด็นหนึ่งที่รัฐเกี่ยวโยงกับคนทำหนัง ที่ว่ารัฐควรสนับสนุนคนทำหนังมากน้อยแค่ไหน คุณมองยังไง

หนึ่ง รัฐจะมองเราเป็นขอทานไม่ได้ คุณจะสร้างโครงการอะไรก็ตามในทุกยุคทุกสมัย ของกระทรวงวัฒนธรรม แล้วให้ทำโปรเจ็กต์มา เดี๋ยวให้เงิน ตรงนี้ผมคิดว่าเป็นสิ่งที่ล้มเหลว คิดว่าคนทำหนังเป็นขอทาน ให้เศษเงินมา คุณคิดแบบนี้ไม่ได้

สิ่งที่ต้องทำจริงๆ คือ ทำในเชิงโครงสร้าง เช่น ทำไมเมืองไทยต้องมีสายหนัง สมมติว่าคุณมีหนัง คุณจะเอาไปฉายภาคอีสาน คุณฉายไม่ได้นะ คุณต้องไปดีลกับสายหนังที่ภาคอีสาน แล้วเขาก็จะขายขาด ให้ minimum การันตีไป คุณเอาไปเลยล้านนึงพอ ได้เท่าไหร่ก็ไม่รู้ ตรงนี้มันไม่ผิดกฎหมายใช่มั้ย เราปล่อยให้สิ่งเหล่านี้เกิดอยู่ได้ใช่มั้ย

สอง ทุนข้ามชาติใหญ่มาก ไม่ว่าจะเป็นทุนจากฮอลลีวู้ดหรือทุนจากสตรีมมิ่งที่เกิดขึ้น เป็นทุนขนาดใหญ่ บางอันอาจจะดี ถ้าเขาผลิตออริจินอลคอนเทนต์ในบ้านเรา แต่ว่าหนังฮอลลีวู้ดที่ถล่มเข้ามาทุกวีค เขาก็สร้างได้เยอะขึ้นเรื่อยๆ อันนี้จะทำยังไงได้บ้าง

ในประเทศเล็กๆ ในยุโรป ก็มีหลากหลายโมเดล เพราะเขาก็สู้ฮอลลีวู้ดไม่ได้ ก็มีโมเดลซัพพอร์ตเรื่องการเก็บกำแพงภาษี แล้วอาจมา subsidize คืนให้หนัง local เช่นว่า คุณซื้อหนังราคาเท่ากัน แต่ว่าส่วนหนึ่งของตัวหนังฝรั่งก็ต้อง subsidize เข้ามาช่วย แทนที่หนังไทยที่เข้าโรงไปจะได้สัดส่วนเท่านี้ อาจจะได้เพิ่มขึ้น

รัฐต้องมองในเชิงโครงสร้าง ไม่ใช่สนับสนุนรายใดรายหนึ่ง เพื่อให้มีโอกาสพร้อมๆ กัน เท่ากัน

สิ่งที่ผมเป็นห่วงที่สุดก็คือว่า คนไทยเก่งเรื่องการทำหนังมากที่สุดใน Southeast Asia แต่ตอนนี้ประเทศเพื่อนบ้านเราทั้งหมด มีการสนับสนุนที่เป็นรูปธรรมจากภาครัฐ

มาเลเซียก็ผลักดันเต็มที่ ทุ่มทุน แต่คนมาเลย์ก็ยังทำหนังไม่เก่งเท่าคนไทย แต่ผมว่า 5 ปี 10 ปี เขาจะเก่งมากกว่านี้ ความเก่งอย่างหนึ่งของคนไทย อาจจะเป็นเพราะว่าเราเป็นมวยวัด ดิ้นรนต่อสู้กันเองมา ก็เลยอาจจะเก่งกว่าชาวบ้านเขาหน่อย แต่ในโลกสมัยใหม่ ผมคิดว่ามันต้องการการแบ็คอัพจากภาครัฐด้วยเช่นกัน

ถ้ามันลดลงเรื่อยๆ สิ่งที่หายจริงๆ ไม่ใช่อุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย แต่คือทรัพยากรมนุษย์ในวงการภาพยนตร์ไทยต่างหาก

นอกจากเรื่องการสร้างรายได้เข้าภาครัฐแล้ว หนังสำคัญยังไงกับสังคม ทำไมคนจะต้องดูหนัง

ในวิชาภาพยนตร์ เราจะเรียนภาพยนตร์ของ Leni Riefenstahl ซึ่งเป็นมือขวาของฮิตเลอร์ ทำหนัง propaganda เช่น เรื่อง Olympia และ Triumph of the Will ฮิตเลอร์ใช้ภาพยนตร์ขับเคลื่อนสังคม หรือแม้กระทั่งในฝั่งฮอลลีวู้ด ก็เอาฐานในการ propaganda ชวนคนเข้าไปเป็นทหาร หรือในช่วงสงครามเย็นบ้านเรา ก็มีการผลิตภาพยนตร์เพื่อการปกครอง แน่นอนว่าภาพยนตร์มีอิทธิพลต่อความคิดของคน

พอสังคมสมัยใหม่ที่มีความซับซ้อนมากขึ้น มีความหลากหลายทางความคิด ภาพยนตร์เป็นการดีเบตของสังคม แล้วก็พาให้เราไปเข้าใจโลกของใครคนใดคนนึงได้ เพราะว่ามันจะเข้าไปใกล้ชิดและลึกซึ้ง และนำออกมาให้เห็น ลองนึกว่าถ้าวันนึงไม่มีหนังไทย แล้วเราต้องเสพหนังสิงคโปร์ มาเลย์ แต่ไม่ได้อยู่ในคัลเจอร์เราเลย ต่อให้มันลุ่มลึกเข้าถึงมนุษย์แค่ไหน แต่ลึกๆ เราก็อยากจะเห็นคนที่แต่งหน้า แต่งตัวเหมือนพวกเรา แล้วก็เผชิญปัญหาแบบพวกเราบนจอมากกว่า

ถามว่าตอนนี้สังคมไทยมีหนังหลากหลายมั้ย ผมต้องบอกว่าไม่เพียงพอ ยังไม่สามารถบอกเล่าความรู้สึกของคนอีกจำนวนมหาศาล เรื่องราวในชีวิตเราทุกวัน คงไม่มีแค่เรื่องที่เราจะหัวเราะ คงมีเรื่องอื่นด้วย

คำถามสุดท้าย อยากให้คุณพูดถึงเรื่อง มาร-ดา ที่กำลังจะเข้าฉายหน่อย

ผมกับทีมงาน เรารักหนังมาก แล้วเราก็ไม่ได้มีพรมแดนว่าจะต้องเป็นหนังไทยหรือหนังพม่า เราไม่คิดว่าทำหนังพม่าได้เท่านี้ก็โอเคแล้ว เพราะอุตสาหกรรมหนังพม่าไม่เคยมีโปรดักชันที่ดูดีแบบนี้ ไม่มีความคิดนี้อยู่ในหัวเลย

หนึ่ง เราเคารพตัวเอง สอง เราเคารพคนดู แล้วผมก็เชื่อว่าคนดูในพม่าก็ต้องการสิ่งที่ดีกว่า สิ่งที่พวกเราต้องสู้ด้วยจริงๆ คือมาตรฐานฮอลลีวู้ด เพราะเขามาพร้อมกับทุนมหาศาล ในขณะที่คนดูจ่ายค่าตั๋วเท่ากัน เราก็พยายามทำ ไม่ใช่หนังที่เพอร์เฟคหรอก แต่ดีที่สุดในศักยภาพที่เราทำได้ ในบัดเจทที่เรามี ในสติปัญญาที่เราฝึกฝนมา เราก็พยายามทำเต็มที่

ก็อยากจะให้เปิดโอกาสดูกันหน่อย แล้วผมอยากบอกว่าเด็กตัวเล็กๆ สองคน อายุไม่ถึงสิบขวบ เล่นดีมาก มหัศจรรย์มาก ในขณะที่พูดกันไม่รู้เรื่อง สื่อสารกันผ่านล่ามตลอดเวลา เด็กสามารถเล่นได้ ไม่เคยมีปัญหาว่าต้องรอเด็กเลย เขาทำได้

เราดูผีไทยมาเยอะแล้ว ดูผีพม่าบ้างดีกว่า (หัวเราะ) 

แน็ต - ชาติชาย เกษนัส

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save