fbpx

‘ข้ามให้พ้นจากโรงเรียนที่เหมือนกรงขัง’ กะเทาะปัญหาการศึกษาไทยผ่านสายตาเด็กสอบเทียบ

การระบาดของโควิด-19 เมื่อต้นปี 2020 ทำให้การจัดการเรียนการสอนแบบออนไซต์ที่โรงเรียนต้องหยุดชะงัก ทั้งครู นักเรียน และผู้ปกครองต้องปรับกิจกรรมการเรียนรู้มาเป็นรูปแบบออนไลน์ทั้งหมด เมื่อลองคำนวณดูแล้ว เด็กวัยเรียนที่เติบโตมาในยุคนี้ต้องสูญเสียเวลาเกือบ 1 ใน 4 ของปีที่อยู่ในระบบการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งเป็นช่วงเวลาคุณภาพที่ควรได้ใช้กับเพื่อนๆ กับการเรียนในห้องที่บรรยากาศเอื้อให้จดจ่อได้มากกว่าเรียนผ่านจอ ในสภาวะไม่พึงปรารถนาเช่นนี้ ถ้าเป็นเด็กเล็กก็คงทำอะไรไม่ได้นอกจาก ‘ทำใจ’ ก้มหน้าก้มตาเรียนให้ผ่านช่วงเวลานี้ไป แต่สำหรับเด็กโต หลายคนเลือกที่จะลาออกไปสอบเทียบ

ช่วงที่โรงเรียนปิดเพราะต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาด สังเกตุเห็นได้ว่าในโซเชียลมีเดียหรือเว็บไซต์ที่มีบอร์ดพูดคุยเรื่องการศึกษา เริ่มมีคนมาแบ่งปันประสบการณ์ ตั้งกระทู้ถามวิธีเตรียมตัวสอบ GED (General Educational Development) หรือการสอบเทียบวุฒิการศึกษาระดับมัธยมปลาย (high school diploma) ตามระบบสหรัฐอเมริกา ซึ่งได้รับความนิยมและเป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ การสอบเทียบวุฒินี้จะสอบได้ตั้งแต่อายุ 16 ปีขึ้นไป แน่นอนว่าหากผู้สอบทำคะแนนผ่านเกณฑ์ก็จะได้ใบผ่านทางสู่มหาวิทยาลัยโดยไม่ต้องทนอยู่ในระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานไป 3 ปี    

แต่คงไม่ใช่แค่การเรียนออนไลน์ที่เป็นจุดเปลี่ยนให้เด็ก ม.ปลาย หลายคนหันเหออกจากการศึกษาในระบบ เพราะปัญหาที่สั่งสมมานานก็เป็นปัจจัยให้เด็กจำนวนมากไม่อยากไปต่อ ระบบการศึกษาที่แฝงฝังไปด้วยอำนาจนิยม กฎระเบียบที่ล้าหลัง และหลักสูตรที่เน้นความเป็นเลิศด้านวิชาการจนมองข้ามความสามารถในมิติอื่นๆ เหล่านี้ทำให้โรงเรียนกลายเป็นพื้นที่กักขังอิสรภาพของผู้เรียน

101 ชวนไขกุญแจคำตอบการศึกษาไทย เราอยู่ในระบบแบบใด ทำไมการสอบเทียบวุฒิจึงได้รับความนิยมมากขึ้น ความได้เปรียบจากการย่นระยะเวลาเรียนมัธยมปลายสะท้อนอะไรในสังคม เด็กทุกคนสามารถเข้าถึงได้หรือไม่ ฟังเสียง 2 อดีตนักเรียน ม.ปลาย รุ่นโตมากับจอ ผู้เลือกสอบ GED เพื่อข้ามชั้นเรียนมัธยมที่ระบบไม่เอื้อให้เขามีความสุข

โควิด x เรียนออนไลน์: จุดเปลี่ยนใหญ่ที่ทำให้อยากลาออก

“มันเป็นจุดที่นั่งเรียนออนไลน์อยู่ดีๆ ก็นึกขึ้นว่าเรียนคณิตไปแล้วเราจะเอาไปใช้ยังไงต่อนะ แล้วทุกครั้งที่แม่เปิดประตูห้องเข้ามาก็จะเจอภาพที่ผมนั่งเล่นเกมหรือเล่นกีต้าร์ เปิดหน้าจอที่อาจารย์สอนค้างไว้ แล้วแม่ก็จะทำสีหน้าแบบ เห้อ… ผมก็เลยตัดสินใจไม่ไปต่อแล้ว”

วี – วีรชัย ปะแก นักศึกษาชั้นปีที่ 1 จากวิทยาลัยดนตรี มหาวิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่งในจังหวัดปทุมธานีเท้าความถึงตอนที่เขาตัดสินใจลาออกจากโรงเรียนมาเตรียมสอบ GED เทียบวุฒิ ม.6 เพื่อสมัครเข้าเรียนต่อระดับอุดมศึกษา เมื่อ 3 ปีที่แล้ว วีคือนักเรียนชั้น ม.4 จากโรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ แต่ชีวิต ม.ปลายของเขาดำเนินไปได้เพียง 1 ภาคการศึกษาก็ต้องถึงจุดสิ้นสุด เพราะการระบาดของโควิดที่ทำให้ต้องเรียนออนไลน์ ประสิทธิภาพในการเรียนลดลง ยิ่งต้องเรียนวิชาที่เขาไม่ถนัดอย่างคณิตศาสตร์ผ่านหน้าจอ ความเบื่อหน่ายยิ่งเกาะกุมจิตใจ จนทำให้เขาตั้งคำถามกับตัวเองทุกวัน และสุดท้ายก็เลือกจะลาออก

คงไม่ใช่แค่วีที่รู้สึกเช่นนี้ หากย้อนไปดูอนุสรณ์ดิจิทัลอันเป็นผลจากการปิดโรงเรียน ผ่านแฮชแท็ก #ไม่เรียนออนไลน์แล้วอิสัส ที่เคยยึดครองเทรนด์อันดับ 1 บนทวิตเตอร์เมื่อช่วงเดือนกันยายน ปี 2021 จะพบว่าเด็กไทยจำนวนมากก็รู้สึกเหนื่อยล้าจากการเรียนออนไลน์ ในครั้งนั้น กลุ่มนักเรียนเลวผลักดันแคมเปญนัดหยุดเรียนออนไลน์ทั่วประเทศ และเรียกร้องให้รัฐจัดหาวัคซีนที่มีคุณภาพให้กับนักเรียน ครู รวมถึงประชาชนทั่วไป เพื่อให้โรงเรียนกลับมาเปิดได้ตามปกติโดยเร็ว อีกทั้งเสนอให้มีการปรับลดตัวชี้วัดทางการศึกษา ลดชั่วโมงเรียน ลดหย่อนค่าธรรมเนียมการศึกษาในสภาวะที่เศรษฐกิจถดถอย และทวงถามถึงการเยียวยาจิตใจนักเรียนจากการเรียนออนไลน์ต่อเนื่องเป็นเวลา 1 ปีกว่า

ในแฮชแท็กที่ผู้ใหญ่หลายคนมองว่าเด็กสมัยนี้ก้าวร้าว คือเสียงสะท้อนของนักเรียนที่เหมือนถูกขังไว้กับหน้าจอ ปัญหาที่เด็กพบเหมือนๆ กันคือภาระงานที่มากกว่าการเรียนออนไซต์ สภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้อให้มีสมาธิจดจ่อ อาการปวดคอ-บ่า-ไหล่ และปัญหาทางสายตาที่เป็นผลพวงจากการนั่งจ้องจอเป็นเวลานาน ที่แย่ไปกว่านั้นคือเด็กจำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงการเรียนออนไลน์ได้เลยด้วยซ้ำ เพราะขาดแคลนอุปกรณ์ บ้างไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ มิหนำซ้ำ รัฐและโรงเรียนก็ไม่ได้ให้ความช่วยเหลือเด็กเหล่านี้อย่างเพียงพอ

วีเล่าเสริมว่าในรุ่นของเขา มีเพื่อนรุ่นเดียวกัน 4-5 คนที่เลือกลาออกมาสอบ GED เพื่อให้มีวุฒิ ม.6 ติดตัวไว้เข้ามหาวิทยาลัย ถ้าเทียบกับรุ่นก่อนหน้าเขา แทบไม่มีใครที่เลือกเส้นทางนี้ เช่นเดียวกันกับลิลลี่ (นามสมมติ) อดีตนักเรียนชั้น ม.5 เมื่อ 3 ปีที่แล้ว ที่ลาออกจากโรงเรียนทันทีหลังสอบติดมหาวิทยาลัยด้วยวุฒิ GED เธอสังเกตว่าการสอบ GED ได้รับความนิยมมากขึ้นในหมู่เพื่อนๆ และรุ่นน้องของเธอ คำบอกเล่าเหล่านี้จากนักเรียน ม.ปลาย ยุคโควิดอาจสะท้อนได้ว่าการเรียนออนไลน์เป็นตัวกระตุ้นให้เด็กไทยหลายคนตัดสินใจออกจากระบบการศึกษามากขึ้น

ระบบไม่ตอบโจทย์ หลักสูตรไม่ตรงใจ

แน่นอนว่าความทุกข์จากการเรียนออนไลน์เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้เด็กหลายคนผละออกจากระบบ แต่นี่เป็นเพียงปัญหาที่ผุดขึ้นมาในช่วงโควิด หากถอยออกมาดูภาพใหญ่ จะพบหลากปัจจัยที่หยั่งรากมาก่อนหน้านี้แล้ว อาทิ การจัดการเรียนการสอนที่ก้าวไม่ทันโลกสมัยใหม่ หลักสูตรที่ไม่หลากหลาย และอำนาจนิยมที่แฝงอยู่ภายใต้คำว่า ‘ระเบียบวินัย’ ที่ทำให้การไปโรงเรียนเป็นสิ่งที่เด็กไทยเกือบทุกคนเคยขยาด

“ผมไม่ชอบตื่นเช้าไปโรงเรียน บางทีตื่นเช้าไปเจอคาบแรกที่เรียนหนักเลย มันก็เกิดอาการล้าสะสม ลงเอยที่ความท้อแท้ และไม่อยากไปเรียน” วีเล่าความรู้สึกสมัยเป็นนักเรียนที่การเริ่มเรียนตั้งแต่เช้าตรู่ทำให้เขาไม่อยากไปโรงเรียน อีกทั้งยังต้องเข้าแถวเคารพธงชาติกลางแดดที่น่าตั้งคำถามว่าจำเป็นแค่ไหน เช่นเดียวกับลิลลี่ เธอเคยมีประสบการณ์ไปเรียนที่ต่างประเทศ สหรัฐอเมริกาและนิวซีแลนด์ ตั้งแต่สมัยมัธยม ทำให้ได้เห็นว่าคุณภาพการเรียนไม่ได้แปรผันตามเวลาที่เด็กคนหนึ่งต้องใช้ในโรงเรียนเสมอไป

“ที่ต่างประเทศเขาไม่ได้เรียนหนักแบบเช้ายันเย็นเหมือนเรา โรงเรียนที่เราเคยไปจะเข้าเรียนประมาณเก้าโมงเช้า พอบ่ายสองก็กลับแล้ว เขาไม่ได้อัดเนื้อหาให้เยอะจนปวดหัว เราคิดว่ามันมีประสิทธิภาพกว่าการเรียนอัดๆ แบบที่ไทยด้วยซ้ำ” ลิลลี่กล่าว

หลักสูตรที่ไม่หลากหลาย ในความหมายที่วีเปรียบเทียบว่า ‘จับเด็กยัดใส่กล่องเดียวกัน’ คือเน้นความเป็นเลิศทางวิชาการกว่าทักษะแขนงอื่น ทำให้เด็กที่ไม่ได้มีความชอบหรือความสนใจด้านวิชาการรู้สึกเป็นอื่นในพื้นที่โรงเรียน สำหรับวี เขาบอกว่า “ผมไม่ใช่เด็กดีตามขนบ” ตอน ม.ต้น เขาเป็นเด็กชายที่หลงใหลการเล่นดนตรีมาก หากวิชาไหนรู้สึกเบื่อก็จะไม่เข้าเรียน เขาไม่ชอบหลายวิชาที่โรงเรียนบังคับให้ต้องเรียน โดยเฉพาะวิชาลูกเสือและศาสนา ความไม่อยากเรียนจึงมีมาก่อนเข้าสู่ยุคเรียนออนไลน์เสียอีก

“หลักสูตรตอนมัธยมมันแคบไป ถ้าเป็นไปได้ก็อยากให้มีหลักสูตรสำหรับเด็กที่สนใจกิจกรรม ชอบถ่ายรูป ชอบด้านคอมพิวเตอร์ ดนตรี มากกว่าเอาแต่โฟกัสเรื่องวิชาการ ถ้าเราให้เด็กได้ทำสิ่งที่ชอบ เขาน่าจะมีความสุขตลอดการเรียน 12 ปีนี้”

สำหรับลิลลี่ ผู้ที่บอกกับเราว่าการเรียนออนไลน์ไม่ใช่เหตุผลหลักที่เธอเลือกจะสอบเทียบ เพราะเธอแน่วแน่ตั้งแต่ขึ้น ม.ปลายแล้วว่าจะสอบ GED ให้ได้วุฒิแล้วยื่นสมัครมหาวิทยาลัยให้ติด จะได้ลาออกจากโรงเรียนทันที ตอนยังเป็นนักเรียน ลิลลี่รู้สึกหมดแรงใจกับการเรียนวิชาหลักที่มีแต่ความน่าเบื่อหน่ายจนต้องถามตัวเองซ้ำๆ ว่าจะเรียนไปทำไม แต่พอเข้ามหาวิทยาลัย ได้เรียนคณะที่เลือกเอง ในวิชาที่เธอสนใจ ชีวิตการเรียนของเธอมีความสุขกว่าตอนมัธยมมาก

“3 ปีสุดท้ายของช่วงมัธยมควรทำแบบเมืองนอก อาจจะลดวิชาหลักที่บังคับเรียนให้เหลือน้อยกว่านี้ แล้วเพิ่มวิชาเลือกให้หลากหลาย ให้เด็กได้เลือกเรียนอะไรที่เขาสนใจจริงๆ จะได้รู้ตัวเองก่อนเข้ามหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นช่วงรอยต่อไปชีวิตการทำงาน ถ้าการไปโรงเรียนเอื้อให้เด็กได้ค้นหาตัวตนมากกว่านี้ คงไม่รู้สึกทรมานกับการไปเรียน” ลิลลี่กล่าว

นอกจากความไม่หลากหลายของหลักสูตร กฎระเบียบที่เคร่งครัดจนทำให้ผู้เรียนไม่สามารถเป็นตัวของตัวเองได้ ยังทำให้เด็กไปเรียนแบบไม่มีความสุข วีเล่าย้อนไปว่าตอนอยู่ ม.ต้น เขาต้องตัดผม ‘ทรงนักเรียนเกรียนสามด้าน’ ต้องใส่ถุงเท้าแบบที่โรงเรียนกำหนด ตัวเขาเองและเพื่อนๆ ก็มองว่าเป็นกฎที่ไม่เมกเซนส์ แต่ด้วยความเป็นเด็กก็ต้องเชื่อฟัง แม้ภายในใจจะรู้สึกว่าผมทรงที่ถูกต้องตามระเบียบนั้น ลดทอนความมั่นใจของเขาไปมากทีเดียว

คำบอกเล่าของ 2 อดีตนักเรียนอาจจะดูเป็นเรื่องเล็กๆ สำหรับผู้ใหญ่หลายคน แต่สำหรับเด็ก เมื่อปัญหาเหล่านี้ทับถมกันมากขึ้นเรื่อยๆ ก็ทำให้เด็กอยากรีบไปให้พ้นจากสิ่งแวดล้อมที่เขาเลือกไม่ได้ แม้จะไม่มีข้อมูลทางสถิติว่ามีผู้สมัครสอบเทียบวุฒิ ม.6 และยื่นสมัครเรียนมหาวิทยาลัยกี่รายในแต่ละปี แต่เราเชื่อว่านักเรียนหลายคนกำลังมองการสอบเทียบเป็นทางเลือกที่จะพาเขาออกจากระบบได้เร็วขึ้น หากการสอบเทียบวุฒิเข้าถึงได้ง่าย ก็คงไม่มีใครฝืนเรียนกับระบบที่ไม่เอื้อให้เป็นตัวของตัวเองแบบนี้  

GED: ค่าผ่านทางราคาสูงที่ไม่ใช่ทุกคนจะจ่ายได้

อาจมองได้ว่าการสอบเทียบก็เหมือนการขึ้นทางด่วนที่พาไปถึงจุดหมายได้เร็วขึ้น ไม่ต้องหัวเสียกับถนนสภาพแย่ รถติดและอันตรายจากรอบทิศทาง แต่การขึ้นทางด่วนต้องมีค่าผ่านทางพิเศษ ที่ถือว่าแพงหรือไม่คุ้มพอที่จะจ่ายสำหรับหลายคน มิเช่นนั้นคนก็คงใช้ทางด่วนกันหมดจนถนนปกติโล่ง การสอบเทียบก็เช่นกัน สำหรับเด็กจำนวนหนึ่ง นี่คือการลงทุนที่คุ้มค่า แต่กับเด็กในประเทศที่ความเหลื่อมล้ำถ่างกว้างเช่นนี้ จำนวนมากไม่สามารถเจียดรายได้ครอบครัวมาขึ้นทางด่วนนี้ได้

สำหรับการสอบ GED ที่เป็นการสอบเทียบที่ได้รับความนิยมมากที่สุดตอนนี้ จะต้องสอบทั้งหมด 4 วิชา ได้แก่ คณิตศาสตร์ (mathematical reasoning) ภาษาอังกฤษ (reasoning through language arts) สังคมศึกษา (social studies) และวิทยาศาสตร์ (science) ซึ่งก่อนจะสมัครสอบได้ ผู้เข้าสอบจะต้องทำข้อสอบจำลองภาคบังคับ หรือ GED Ready ให้ผ่านทุกวิชาเสียก่อน มีค่าธรรมเนียมอยู่ที่ 6.99 ดอลลาร์สหรัฐต่อ 1 วิชา หมายความว่าจะต้องจ่ายราวๆ 1,000 บาทในขั้นนี้เพื่อไปด่านต่อไปที่เป็นการสอบจริง มีค่าธรรมเนียมอยู่ที่ 80 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 2,700 บาท) ต่อ 1 วิชา เมื่อรวมค่าใช้จ่ายตั้งแต่ด่านแรกจะอยู่ที่ประมาณ 11,000 บาท ไม่นับรวมกรณีที่สอบไม่ผ่านในบางวิชา

สำหรับวี การสอบ GED คุ้มที่จะลงทุน เพราะราคาพอๆ กับค่าเทอมโรงเรียนมัธยมของเขา “ผมบอกแม่ว่าค่าเทอมที่ต้องจ่ายไปอีก 5 เทอมมันจะเหลือแค่เทอมเดียวเองนะ แล้วก็ได้วุฒิ ม.6 เร็วกว่าเรียนในโรงเรียนอีก” เช่นเดียวกับลิลลี่ที่ไม่ได้คิดว่าการสอบเทียบต้องใช้เงินเยอะ เธอเรียนโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ค่าธรรมเนียมการสอบ GED นั้นถูกกว่าค่าเทอมที่โรงเรียนเสียอีก การเลือกเส้นทางนี้ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายสำหรับการศึกษาไปได้มาก และมันคุ้มกว่าที่จะเอาไปจ่ายค่าเล่าเรียนในคณะที่เธออยากเข้า

แต่ค่าใช้จ่ายสำหรับการสอบอาจไม่ได้สิ้นสุดเพียงเท่านี้ เพราะการจะสอบให้ได้คะแนนดี ผ่านฉลุยตั้งแต่ครั้งแรกแบบไม่ต้องเสียเงินอีกก้อนกับการสอบรอบต่อไป ต้องอาศัยพื้นฐานทางภาษาอังกฤษและความรู้ที่ใช้ออกสอบ ซึ่งอิงอยู่กับแบบเรียนที่ใช้สอนกันในสหรัฐฯ เด็กส่วนใหญ่ที่เลือกสอบ GED ล้วนเคยผ่านการติวเพื่อเสริมจุดแข็ง แก้จุดอ่อน แม้ทั้งลิลลี่และวีกล่าวเหมือนกันว่าหากมีพื้นฐานภาษาอังกฤษที่ดีอยู่แล้ว จะเห็นตรงกันว่าข้อสอบ GED นั้นง่ายกว่าข้อสอบวัดผลของไทยเสียอีก แต่ทั้งสองล้วนเคยผ่านการติวเพื่อเสริมความมั่นใจในวิชาที่ยังไม่แม่นพอ

เมื่อลองเข้ากลุ่มหาติวเตอร์ GED ในโซเชียลมีเดีย จะพบว่าอัตราค่าเรียนมีตั้งแต่หลักร้อยไปจนถึงพันกว่าบาทต่อชั่วโมง สำหรับการติวแบบตัวต่อตัว และมีคอร์สแบบเข้มข้นที่เริ่มตั้งแต่ราคาหลักพันบาท ไปจนถึงครึ่งแสน สำหรับการเรียนในสถาบันที่มีชื่อเสียง ในสภาพความเป็นจริงที่โรงเรียนในไทยมีความห่างชั้นเรื่องคุณภาพการสอน เด็กหลายคนจึงไม่ได้มีพื้นฐานภาษาอังกฤษและวิชาอื่นๆ ที่แน่นพอจะเตรียมตัวสอบเทียบด้วยตัวเองได้ แต่ค่าใช้จ่ายในการติวเหล่านี้ก็ดูสูงเกินเอื้อม เมื่อลองคำนวณดูแล้วอาจจะแพงกว่าการอยู่ในระบบจนจบ ม.6 สำหรับเด็กหลายคน

นอกจากนี้ คะแนน GED เพียงอย่างเดียวไม่สามารถยื่นเข้ามหาวิทยาลัยได้ เพราะถือเป็นเพียงวุฒิ ม.ปลาย ที่มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ระบุว่าเทียบเท่าการจบมัธยมปลายในสายศิลป์-ภาษา หรือศิลป์-คำนวณ ยังมีคะแนนสอบอื่นๆ ที่แต่ละสถาบันและคณะมีเกณฑ์ต่างกันออกไป หากพิจารณาคณะที่เปิดรับเด็กเทียบวุฒิ GED ก่อนหน้านี้มีเพียงภาคอินเตอร์ที่เปิดรับ แต่เริ่มมีภาคไทยเปิดรับมากขึ้นเมื่อไม่กี่ปีมานี้ ถึงกระนั้นก็ยังน้อยกว่าคณะที่เป็นหลักสูตรพิเศษ ซึ่งมักจะกำหนดคะแนนที่ใช้ยื่นประกอบการพิจารณา เช่น IELTS, TOEFL และ SAT ที่มีค่าสมัครหลายพันบาทตามมา ไม่นับว่าคณะที่ยื่นได้ก็มักจะเป็นหลักสูตรพิเศษที่มีค่าเล่าเรียนหลายหมื่นบาทไปจนถึงแสนบาท เมื่อมองมาถึงจุดนี้ หลายคนจึงปัดตกทางเลือกการสอบเทียบ

สำหรับวีและลิลลี่ พวกเขาไม่รู้สึกเสียดายที่เลือกเส้นทางนี้ แม้จะไม่ได้ใช้เวลาช่วง ม.ปลาย ในโรงเรียน มีสังคม มีเพื่อนฝูงตามวัย แต่มันก็คุ้มที่หลุดพ้นจากระบบการศึกษาที่บั่นทอนพลังกาย พลังใจ ต้องฝืนเรียนในสิ่งที่ไม่ได้ชอบและไม่มีโอกาสเลือก ลิลลี่บอกว่าพอเรียนจบ ใครๆ ก็ต้องเข้าสู่ตลาดงานเหมือนกัน แต่มันจะดีกว่าถ้าช่วงเวลาก่อนเป็นผู้ใหญ่นั้นเด็กๆ ได้เลือกเองว่าอยากใช้ไปกับอะไร ส่วนวี เขาเชื่อว่าโรงเรียนยังสำคัญสำหรับการค้นหาตัวเอง เพราะตัวเขาเองก็ค้นพบว่าชอบดนตรีเพราะถูกชักชวนเข้าวงดนตรีในโรงเรียน แต่คงไม่ใช่ทุกคนที่จะค้นจนเจอแบบเขา

“เป้าหมายผมชัดเจนมาตั้งแต่ ม.ต้น หลังจากโดนชักชวนเข้ากลุ่มดนตรี ผมก็ยังทำวงมาจนถึงตอนนี้ การไปโรงเรียนทำให้เรามีคอนเน็กชัน ทำให้เจอคนที่ชอบอะไรเหมือนๆ กัน แต่เหตุการณ์แบบผมคงไม่ได้เกิดขึ้นกับทุกคน บางคนชอบดนตรีมากๆ แต่รอบตัวไม่มีเสียงดนตรี ไม่มีเครื่องดนตรีให้ฝึกเลย เด็กก็คงหาตัวเองไม่เจออยู่ดีว่าตัวเองชอบแบบไหน” วีกล่าวทิ้งท้าย

ถึงที่สุดแล้วเราเรียนรู้จากเขาเหล่านี้ได้ว่า เด็กทุกคนอยากอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เลือกเองได้ เป็นตัวของตัวเองได้ และมีพื้นที่ให้ค้นหาตัวตน ขณะที่เด็กบางคนใช้เวลาไม่กี่เดือนเพื่อได้วุฒิ ม.6 เป็นตั๋วข้ามสะพานไปสู่เป้าหมายที่เขาเลือกเอง เป็นอิสระจากระบบที่กักขังเขาไว้ในกล่องแบบเดียว เด็กส่วนใหญ่ของประเทศนี้ที่คงรู้สึกกับการเรียนในระบบไม่ต่างกัน แต่ตัวตน ความชอบ ความสนใจที่รอให้ถูกค้นพบนั้นต้องใช้เงินในการเข้าถึง คงดีกว่านี้หากผู้ใหญ่ฟังเสียงเด็กมากกว่านี้ สร้างพื้นที่ปลอดภัยให้เด็กเป็นตัวของตัวเองได้ตั้งแต่อยู่ในรั้วโรงเรียน

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Education

20 Jul 2023

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในวิกฤต (?)

ข่าวการปรับหลักสูตรของอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชวนให้คิดถึงอนาคตของการเรียนการสอนสายมนุษยศาสตร์ เมื่อตลาดแรงงานเรียกร้องทักษะสำหรับการทำงานจริง จนมีการลดความสำคัญวิชาพื้นฐานอันเป็นการฝึกฝนการวิเคราะห์วิพากษ์เพื่อทำความเข้าใจโลกอันซับซ้อน

เสียงเล็กๆ จากประชาคมอักษร

20 Jul 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save