fbpx

เด็กๆ ในชุมชนคุณแม่ทองจันทร์ ล้วน ‘ช่างสำราญ’ และหลอกหลอน

ในขณะที่สังคมกำลังถกเถียงกันเรื่องสิทธิและหน้าที่ของเด็กนั้น ทำให้ผมนึกถึงนวนิยายเรื่อง ช่างสำราญ ของเดือนวาด พิมวนา ซึ่งมีเด็กเป็นตัวละครเอกของเรื่อง แม้นวนิยายเรื่องนี้จะตีพิมพ์มา 20 ปีแล้ว แต่ก็มีบางประเด็นที่ยังร่วมสมัยอยู่ ตัวละครเอกของเรื่องคือ เด็กชายกำพร้าชื่อ ‘กำพล ช่างสำราญ’ หรือ ‘ไอ้หนู’ อายุห้าขวบ พ่อแม่ของกำพลแยกทางกันจึงทิ้งเขาไว้ให้อยู่กับคนในชุมชนห้องแถวคุณแม่ทองจันทร์ แม้จะเป็นชุมชนของคนยากจน หาเช้ากินค่ำ ทว่าแต่ละบ้านก็ช่วยผลัดกันดูแลกำพลให้กินอิ่มนอนหลับ หากอ่านโดยผิวเผินแล้วเราจะสนุกสนานเพลิดเพลินไปกับวิถีชีวิตอันแสน ‘สำราญ’ ตามประสาเด็ก แต่ถ้าอ่านให้ดีแล้วจะพบว่านี่เป็นเรื่องเล่าของเด็กที่แสนรันทดหดหู่ มากไปกว่านั้นบางช่วงบางตอนอ่านแล้วชวนรู้สึกเหมือนอ่าน ‘เรื่องผี’ ก็ไม่ปาน   

หากพิจารณาในด้านรูปแบบการเล่าเรื่อง จะพบว่านวนิยายเรื่องนี้มีความแปลกตรงที่ไม่ได้เล่าเรื่องต่อเนื่องกันอย่างมีโครงเรื่องที่แน่นหนาเหมือนนวนิยายทั่วไป หากแต่เป็นเรื่องเล่าจบในตอน โดยมีตัวละครชุดเดิมและฉากเดิมไปตลอดทั้งเรื่อง อาจเป็นเพราะนวนิยายเรื่องนี้เคยตีพิมพ์เป็นตอนในนิตยสารมาก่อน เมื่อนำมารวมเล่มจึงเสมือนเป็นรวมเรื่องสั้น แต่ก็ยังอ่านในลักษณะของนวนิยายที่มีโครงเรื่องหลวมๆ ได้เช่นกัน

ความโดดเด่นของนวนิยายเรื่องนี้อยู่ที่การนำเสนอเรื่องราวของชุมชนคุณแม่ทองจันทร์ แม้ผู้คนในชุมชนนี้จะอยู่กันอย่างอัตคัดขัดสน แต่ก็มีคุณธรรมน้ำใจในการช่วยเลี้ยงดูเด็กชายกำพลจนมีชีวิตรอดได้ ในคำประกาศรางวัลซีไรต์ พ.ศ. 2546 สรุปแก่นสารสำคัญของนวนิยายเรื่องนี้ว่า ‘นี่คือเรื่องราวของผู้คนเล็กๆ ในชายขอบนาคร ซุกซ่อนตัวเองอยู่หลังตึกสูง และกำแพงหนาทึบ เป็นชุมชนห้องแถวไร้ชื่อ หากเสมือนหนึ่งภาพจำลองชุมชนมนุษย์บนโลกกลมๆ ใบนี้ ผ่านชีวิตของเด็กชายเล็กๆ คนหนึ่ง กับผู้คนเล็กๆ กลุ่มหนึ่ง’ การเขียนถึง ‘ชุมชนเล็กๆ’ และ ‘คนตัวเล็กๆ’ ที่ไร้ชื่อ ไร้ตัวตน ในแง่หนึ่งคือคนไร้อำนาจ แต่ก็ถูกนำเสนอผ่านเรื่องราวที่แสนดี มีความหวัง เพราะเนื่องด้วยมันถูกนำเสนอผ่านมุมมองของเด็กชายกำพล ดังนั้นแม้จะเป็นเรื่องที่หนัก มีปัญหาสังคมซุกซ่อนอยู่ แต่เมื่อถูกนำเสนอด้วยสายตาหรือมุมมองของเด็กแล้วจะพบว่าเรื่องเล่านี้มีความหวังอยู่มาก  

หากลองสำรวจบทวิจารณ์หรืองานที่ศึกษานวนิยายเรื่องนี้ จะพบประเด็นเรื่องการตีความชุมชนคุณแม่ทองจันทร์ไปในแนวทางเดียวกันคือ ‘ชุมชนในอุดมคติ’ ดังเช่นบทวิจารณ์ของรื่นฤทัย สัจจะพันธุ์ (2547) ได้ตีความเรื่องนี้ตั้งแต่ชื่อบทวิจารณ์ว่า ‘ช่างสำราญ…เรื่องราวของสังคมไทยที่ไม่แล้งน้ำใจและความเอื้ออาทร’ โดยขยายความไว้ว่า ‘นวนิยายเรื่อง ช่างสำราญ เป็นงานเขียนที่เรียบง่ายแต่งดงาม เรื่องราวแสนง่าย ใช้มุมมองของเด็กรับรู้สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับตนเองและสิ่งรอบตัว แสดงความคิดของเด็กที่ตัดสินสิ่งต่างๆ อย่างตรงไปตรงมาไม่พลิกแพลง ซึ่งแม้ชุมชนนี้จะดูเหมือนว่ามีแต่ในนวนิยาย แต่สุดท้ายก็เป็นหนทางแห่งความหวังให้สังคมไทยในความจริงควรจะเป็นเช่นนี้บ้าง’

นอกจากบทวิจารณ์ของรื่นฤทัยแล้ว ในบทวิจารณ์ของสรณัฐ ไตลังคะก็มองชุมชนคุณแม่ทองจันทร์ไปในทิศทางเดียวกัน เพียงแต่ในบทวิจารณ์ของสรณัฐได้ชี้ละเอียดลงไปด้วยกรอบของวัฒนธรรมศึกษา มุ่งพิจารณาชุมชนคุณแม่ทองจันทร์ในฐานะชุมชนในอุดมคติแบบสังคมนิยมมาร์กซิสต์ ดังที่อธิบายว่า “แม้สถาบันครอบครัวจะล่มสลาย แต่สิ่งที่เป็นทางรอดก็คือ ชุมชนที่แข็งแกร่ง ที่ไม่จำเป็นต้องให้สถาบันทางราชการใดมาช่วยแก้ปัญหา…นวนิยายชี้ให้เห็นความสำคัญของชุมชนและวัฒนธรรมของชนชั้นรากหญ้า (การสัมพันธ์แบบพึ่งพาทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง) รวมทั้งการพึ่งพาตนเองโดยไม่พึ่งรัฐ”

เช่นเดียวกัน ในบทความของอารียา หุตินทะ (2546) ก็วิเคราะห์ชุมชนคุณแม่ทองจันทร์ที่มีลักษณะราวกับชุมชนในอุดมคติ แต่มากไปกว่านั้นคือชี้ให้เห็นในอีกด้านว่า การสร้างชุมชนในอุดมคติกลับสะท้อนให้เห็นอาการที่เรียกว่า ‘การโหยหาอดีต’ (nostalgia) ของคนในสังคมไทย ทั้งนี้ ประเด็นที่น่าสนใจจากการศึกษาของอารียาคือ ประเด็นเรื่องการนำเสนอผ่านมุมมองของเด็กชายกำพลซึ่งมีนัยของการต่อต้านกับอำนาจไว้ด้วย เนื่องจากตัวละครในชุมชนคุณแม่ทองจันทร์ล้วนแล้วแต่เป็นกลุ่มคนที่ด้อยอำนาจ ทั้งสถานะทางสังคมและทางเศรษฐกิจ อารียาวิเคราะห์ว่าการต่อกรกับอำนาจของ ‘คนตัวเล็กๆ’ ในชุมชนนั้นไม่ใช่วิธีการที่ยิ่งใหญ่อะไร หากแต่เป็นเหตุการณ์เล็กๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันนั่นเอง เช่น ชาวบ้านหลบหลีกไม่ให้ตัวเองเสียค่าโทรศัพท์จากร้านเฮียชง หรือการที่ตัวละครเด็กใช้ความเป็นเด็กในการต่อรองขายของ เป็นต้น ซึ่งแม้จะเป็นเหตุการณ์ไม่สำคัญ แต่ก็เป็นเสมือน ‘สมรภูมิ’ แย่งชิงพื้นที่ของคนตัวเล็กๆ

อย่างไรก็ตาม จรูญพร ปรปักษ์ประลัย (2547) กลับมองในทางตรงกันข้ามว่า แท้ที่จริงแล้วชุมชนคุณแม่ทองจันทร์เป็นเพียงชุมชนที่ถูกสร้างขึ้นผ่านจินตนาการหรือภาพฝันของคนนอกที่มองอยู่เบื้องบน ดังที่ต้นเรื่องเปิดบทเกริ่นนำว่า มีหญิงสาวบนหลังคามองลงมาที่ชุมชนแห่งนี้ สายตาและมุมมองของหญิงบนหลังคาคือมุมมองแทนสายตาจากคนนอกและคนอ่าน ซึ่งสะท้อนถึงความสวยงามและความมีเมตตาของชุมชนที่คนในสังคมใฝ่ฝันถึง นอกจากนั้น จรูญพรเสริมด้วยว่า กลวิธีการเล่าจากสายตาของเด็กชายกำพลทำให้นวนิยายเรื่องนี้มีลักษณะของวรรณกรรมเยาวชน มีส่วนเสริมให้เรื่องเล่ายิ่งมีลักษณะราวกับนิทาน ตอกย้ำว่า ‘ชุมชนอันแสนสุขนี้เป็นเพียงภาพฝัน […] ใครจะคิดอย่างไรก็ช่าง แต่สำหรับผมกลับรู้สึกเศร้า ที่เหตุการณ์ดีๆ ต่างๆ นานาในชีวิตของเด็กชายกำพล เป็นเพียงแค่จินตนาการสวยๆ ของคนที่มองมาจากยอดตึก โดยที่เท้าไม่เคยก้าวลงมาสัมผัสตีนเลยสักครั้ง’

จากบทวิจารณ์และบทความดังที่ได้สำรวจมาส่วนหนึ่ง ช่วยทำให้เห็นประเด็นร่วมที่น่าสนใจการเล่าเรื่องผ่านมุมมองของ ‘เด็กชายกำพล’ ซึ่งก่อให้เกิดการตีความหมายได้มากมาย อย่างไรก็ตาม ก็ชวนให้เกิดคำถามเช่นกันว่า กลวิธีการนำเสนอผ่านสายตาของเด็กชายกำพล หรือแม้แต่การเล่าด้วยกลวิธีแบบวรรณกรรมเยาวชนนั้น ช่วยทำให้เราเข้าใจตัวตนและอำนาจของเด็กมากน้อยแค่ไหน การนำเสนอผ่านมุมมองของเด็ก ทำให้ปัญหาชีวิตและสังคมแวดล้อมดูเบาขึ้นและมีความหวังขึ้นเท่านั้นหรือ และภาพของชุมชนในอุดมคติเป็นแค่สิ่งสะท้อนจินตนาการหรือภาพฝันแฟนตาซีแค่นั้นหรือเปล่า หรือหากถามให้เฉพาะเจาะจงมากขึ้น ชุมชนคุณแม่ทองจันทร์ คือภาพฝันแฟนตาซีเฉพาะของ ‘ผู้ใหญ่’ ที่มีอำนาจการควบคุมและสอดส่องตรวจตราเด็กหรือไม่

เมื่อพิจารณาในมิติของเวลา เรามักคุ้นเคยว่าเวลาของเด็กเป็นเวลาที่ผูกโยงกับปัจจุบันและอนาคต เด็กเป็นภาพแทนของอนาคตและความหวัง ดังที่ได้ยกบทวิจารณ์และบทความที่มักมองว่า เรื่องเล่ามีทิศทางให้ความหวัง เพราะนำเสนอจากสายตาและมุมมองของเด็ก อย่างไรก็ตาม เราไม่อาจจะเหมารวมได้ทั้งหมดว่า เด็กเป็นภาพแทนของความหวังและอนาคต โดยเฉพาะเมื่อเราพิจารณาสถานะของเด็กชายกำพลผ่านมิติชนชั้น ซึ่งเป็นเด็กที่ถูกพ่อแม่ทอดทิ้งให้อยู่กับคนในชุมชนราวกับเป็นเด็กร่อนเร่ไร้หลักแหล่ง ดังที่ความฝันและความนึกคิดของเด็กชายกำพล มักถูกสอดแทรกให้เห็นถึงการหวนหาสายสัมพันธ์ของพ่อแม่ ในบางครั้ง (โดยเฉพาะในบทสุดท้าย) เรื่องเล่านำเสนอเสมือนว่าเด็กชายกำพล ‘พ้นไปจากเวลาในปัจจุบัน’ และตกอยู่ในเวลาแห่งความฝัน การกลับไปติดอยู่ที่ห้วงเวลาหนึ่งโดยไม่รู้ว่าเป็นเวลาของความเป็นหรือความตาย ได้เผยให้เห็นว่าไม่ใช่เด็กทุกคนจะถูกทาบเทียบกับเวลาในอนาคตเสมอไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เด็กที่อยู่ในชนชั้นยากจนและพ่อแม่ทอดทิ้งเช่นเด็กชายกำพล

การนำเสนอเรื่องเวลาที่น่าสนใจเรื่องนี้ ยังมีลักษณะเวลาที่ถูกตัดออกเป็นชิ้นส่วน ไม่ใช่เวลาที่มีพัฒนาการ ในแง่หนึ่ง การที่นวนิยาย ช่างสำราญ ถูกเขียนขึ้นเป็นตอนๆ ในนิตยสารมาก่อนแล้วนำมารวมเล่ม โดยจัดโครงสร้างหลวมๆ ให้กลายเป็นนวนิยายทั้งเล่มนั้น กลับสอดรับกับการนำเสนอเรื่องเวลาที่เป็นส่วนเสี้ยวได้อย่างน่าประหลาด การบอกเล่าเหตุการณ์สั้นๆ จบในตอน แต่ทุกตอนนำเสนอผ่านมุมมองของเด็กชายกำพลจึงยิ่งเน้นมิติการนำเสนอเวลาของเด็กชายกำพลผู้ถูกพ่อแม่ทอดทิ้ง ไม่ใช่เวลาที่มีพัฒนาการไปในอนาคตได้เลย

หากพิจารณาในมิติของพื้นที่ร่วมด้วยเราจะพบว่า ชุมชนคุณแม่ทองจันทร์ดูประหนึ่งจะเป็นชุมชนของผี คือเป็นชุมชนที่ ‘ระบุตำแหน่งแห่งที่ได้ แต่คนในสังคมกลับมองไม่เห็น’ นอกจากนั้น การไปยังชุมชนคุณแม่ทองจันทร์ได้จะต้องเป็นไปในลักษณะ ‘หลงทาง’ เข้าไป ดังที่บทเกริ่นนำบรรยายไว้ตั้งแต่ต้นเรื่องว่า  

ชุมชนห้องแถวคุณแม่ทองจันทร์ ก็เช่นเดียวกับชุมชนเล็กๆ อีกมากมาย เป็นเพียงทางผ่านของยุคสมัยที่รอเวลาเลือนหาย ไร้การจดจำรำลึก ชุมชนซึ่งก่อร่างขึ้นโดยเจ้าที่ดินรายย่อย ซุกตัวอยู่หลังกิจการบังกะโลขนาดเขื่อง ปากซอยเข้าหมู่บ้านเรียกความสนใจจากบุคคลทั่วไปด้วยป้ายชื่อโดดเด่นเห็นชัดในยามกลางวัน และสว่างโร่ในตอนกลางคืน แต่มันมิใช่ป้ายหมู่บ้าน เป็นป้ายชื่อบังกะโล

บางครั้ง หนทางว่างเปล่าทั่วไป ยังชวนให้ผู้คนคิดสงสัยได้ว่า ทางนั้นทอดไปสู่สถานที่ใด ทว่าชุมชนห้องแถวคุณแม่ทองจันทร์ กลับไม่ได้รับอนุญาต เช่นนั้น เนื่องเพราะป้ายปากซอยดังกล่าว ไม่ชวนให้สงสัยอื่นใดอีก ดังนั้น มันจึงถูกตัดขาดจากความสนใจทั้งปวง

มีบ้างเหมือนกันที่คนนอกอาจจะผ่านเข้าไปพบว่า ยังมีชุมชนเล็กๆ ซุกตัวอยู่หลังบังกะโล ว่าไปแล้วก็บ่อยทีเดียว เพราะประดารถที่เลี้ยวเข้าบังกะโลนั้น หลายต่อหลายคันเข้าใจผิด แทนที่จะเลี้ยวซ้ายอีกครั้งกลับขับเลยทางเข้า…

บริเวณนั้นมีห้องแถวตั้งทำมุมขนาบจัตุรัสว่างเปล่าอยู่สองด้าน มองข้ามไปอีกฝั่ง ถัดจากร้านค้า อีกหลายห้องเรียงแถวอยู่หน้าถนนเท่านั้นเอง ที่พอจะมองเห็น ช่างธรรมดาเสียจนระบบความจำ ไม่ใคร่จะทำงาน” (เน้นโดยผู้วิจารณ์)

หลังจากอ่านการบรรยายพื้นที่ชุมชนคุณแม่ทองจันทร์จบ ผมรู้สึกราวกับว่าชุมชนนี้เหมือนชุมชนในเรื่องเล่าสยองขวัญ ด้วยการบรรยายที่ก่อให้เกิดความรู้สึกว่าชุมชนนี้ลึกลับ หลงทาง ซุกซ่อนตัวเอง และตัดขาดจากบริเวณรอบข้าง อย่างไรก็ตาม จะมีบางช่วงที่ผู้เขียนย้ำให้เราเห็นลักษณะว่า แท้ที่จริงแล้วชุมชนนี้ตั้งอยู่ตรงนั้นเอง มีหลักแหล่งที่มองเห็นได้ แม้จะถูกบังกะโลหรือป้ายหมู่บ้านบังอยู่  การมองไม่เห็นชุมชนนี้จึงอาจไม่ใช่เพราะปัจจัยเรื่องทำเลที่ตั้ง หากแต่เป็นเพราะสังคมพยายามจะทำเป็นมองไม่เห็นมันต่างหาก ด้วยเพราะ ‘มันธรรมดาเสียจนไม่อยู่ในความสนใจของผู้คน’ มันจึงกลายเป็นชุมชนที่ ‘ไร้การจดจำ’ ผมคิดว่าความธรรมดาของชุมชนเกิดขึ้นจากสองปัจจัยคือ หนึ่ง หากพิจารณาตามเนื้อเรื่อง ชุมชนนี้ถูกขนาบด้วยความเจริญและความเป็นสมัยใหม่ เป็นชุมชนที่ไม่ได้เป็นทำเลทอง คนที่อาศัยอยู่ในชุมชนก็ไม่ได้มีกำลังการผลิตและบริโภคเพราะยากจน จึงไม่เป็นที่สนใจของระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม กับปัจจัยที่ สอง คือ ความธรรมดาของชุมชนเกิดจาก ‘กิจวัตรอันเป็นปกติประจำวันของผู้คนในชนชั้นล่าง’ ไม่ใช่เรื่องเล่าที่ยิ่งใหญ่ดังเช่นวีรกรรมการกู้ชาติหรือการสู้รบของวีรบุรุษวีรสตรีของชนชั้นสูง พื้นที่ในชุมชนนี้ไม่ได้มีคุณค่าใดให้ยกย่องเทิดทูน จึงไม่ใช่เรื่องเล่าที่จำเป็นต้องจดจำ หรือ ‘ธรรมดาเสียจนระบบความจำ ไม่ใคร่จะทำงาน’

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าชุมชนคุณแม่ทองจันทร์จะธรรมดาหรือไม่มีคุณค่าให้จดจำเพียงใด แต่สังคมก็ไม่อาจปฏิเสธการมีอยู่ของชุมชนเช่นนี้ได้ การไล่รื้อหรือการเพิกถอนออกไปให้พ้นจากสายตาของความเจริญหรือสังคมสมัยใหม่ อาจทำได้ แต่ชุมชนเหล่านี้มันจะยัง ‘ซุกซ่อน’ ตัวอยู่หลังกำแพง หลังพงหญ้า หรือหลังบ้านจัดสรรสักแห่งหนึ่งตลอดเวลา ราวกับ ‘เงา’ ที่ยังคอยตามติดสังคมสมัยใหม่อยู่นั่นเอง เพราะการกำหนดนิยามความเป็นสมัยใหม่หรือความเจริญ จำเป็นต้องกำหนดจากความเสื่อมโทรมหรือความล้าหลังไปพร้อมกัน กล่าวให้ชัดคือเราจะรู้ว่าอะไรคืออนาคต ก็จำเป็นต้องกำหนดให้ได้ว่าอะไรคืออดีต ชุมชนคุณแม่ทองจันทร์จึงไม่อาจกำจัดออกไปได้ เพราะการกำจัดออกไปจะทำให้ความเจริญก้าวหน้าและความมั่งคั่งหายวับไปเช่นกัน มันจึงยังต้องอยู่และอยู่ในลักษณะของการหลบอยู่ในหลืบราวกับว่ามันล่องหน นี่จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมการบรรยายฉากชุมชนของคุณแม่ทองจันทร์ให้ความรู้สึกหลอนเมื่ออ่านครั้งแรก

ในด้านมุมมองการเล่าเรื่อง หากอ่านอย่างละเอียดแล้วจะพบว่ามุมมองการเล่าเรื่องมาจากเด็กชายกำพลก็จริง แต่ลักษณะที่กำพลเห็นผู้คนในชุมชนในลักษณะที่เต็มไปด้วยผู้คนที่คอยจับจ้องและตรวจตรามาจากผู้ใหญ่ ราวกับว่าผู้ใหญ่ในชุมชนเป็น ‘ผู้ควบคุม’ ดังที่เผยออกมาตั้งแต่บทเกริ่นนำของเรื่องที่บรรยายผู้หญิงคนหนึ่งไปยืนอยู่บนหลังคาบ้าน แล้วมองลงมาที่ชุมชนคุณแม่ทองจันทร์ ผมเห็นด้วยตามที่จรูญพรตีความฉากนี้ว่า เป็นการมองลงมาของชนชั้นกลางไปยังชุมชนยากจนเสมือนหนึ่งลอยตัวอยู่เหนือปัญหา แต่ผมขอมองลงไปละเอียดไปอีกว่า การมองในลักษณะดังกล่าวไม่ใช่การมองคนทั้งชุมชน หากแต่ ‘เพ่งมอง’ ไปยังเด็กชายกำพลโดยเฉพาะ และสายตาการมองลงต่ำหรือการแอบมองเช่นนี้ สอดคล้องกับลักษณะการมองของตัวละครผู้ใหญ่ในชุมชนที่มองไปยังเด็กชายกำพลด้วยเช่นกัน  

เหตุใดเด็กชายกำพลจึงต้องตก ‘อยู่ในสายตา’ ของผู้ใหญ่

ในการรับรู้ทั่วไปแล้วความเป็น ‘เด็ก’ ทั้งในด้านร่างกายรวมถึงจิตใจ คือบุคคลที่มีอายุน้อยและไม่มีความสามารถในการปกป้องดูแลตัวเองได้ ยังเป็นคนที่ขาดวุฒิภาวะการเอาตัวรอดได้ไม่เท่ากับ ‘ผู้ใหญ่’ ในมิติของกฎหมายจึงจำกัดเด็กตามอายุขัย โดยวางลำดับว่าเด็กจะรู้จักผิดชอบชั่วดีได้เมื่อถึงวัยหนึ่ง หลังจากนั้นจึงจะมีสิทธิและหน้าที่ในการกระทำการได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย การสร้างความหมาย คำนิยาม และจัดประเภทว่าใครเป็นเยาวชนหรือบรรลุนิติภาวะแล้ว ทั้งมิติทางชีววิทยาและทางกฎหมายมาจากกลุ่มของผู้ใหญ่ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจ ‘โดยชอบธรรม’ ในการควบคุมดูแล ในด้านหนึ่งเป็นเรื่องจำเป็น แต่การพิจารณาเด็กเฉพาะแง่มุมทางชีวภาพและกฎหมายเพียงแง่เดียวอาจไม่เพียงพอ เพราะทำให้ผู้ใหญ่ใช้อำนาจโดยชอบธรรมนั้นในการจัดประเภท สั่งสอน อบรม จนละเลยที่จะทำความเข้าใจตัวตนของเด็กในฐานะบุคคล การมองเด็กด้วยสายตาของผู้ใหญ่ โดยนัยแล้วคือการมองจากอำนาจรัฐเพื่อการจัดการและควบคุมดูแลสิ่งที่เรียกว่า ‘อนาคตของชาติ’  

ผู้ใหญ่ในชุมชนคุณแม่ทองจันทร์ในนวนิยายเรื่อง ช่างสำราญ เป็นภาพแทนได้ดีถึงอำนาจของผู้ใหญ่ในการเข้าควบคุมกำกับเด็กชายกำพล แน่นอนว่า ในมิติของความช่วยเหลืออุปถัมภ์และความมีเมตตาต่อเด็กชายกำพร้าพ่อแม่ เป็นสิ่งที่นวนิยายต้องการนำเสนออย่างเด่นชัด แต่ขณะเดียวกันนวนิยายก็นำเสนอในมิติด้านอำนาจในการควบคุมกับเด็กชายกำพลซึ่งมาในรูปแบบของคำว่า ‘ผู้ปกครอง’ หรือ ‘ผู้อบรมสั่งสอน’ ด้วยเช่นกัน ดังจะเห็นอย่างชัดเจนในบทที่ชื่อว่า ‘ผมไม่ใช่ผม’ ชื่อบทนี้บ่งชี้ถึงการที่กำพลไม่ใช่ตัวเองหรือไม่อาจเป็นตัวเองได้ อันเนื่องมาจากการต้องฟังคำสั่งของผู้ปกครองหรือครูอยู่ตลอด ดังที่บรรยายว่า

“กำพลคิดหนักเรื่องผู้ปกครอง เรื่องการดูแลตัวเอง เสียงใครต่อใครย้ำกันว่าเขาไม่มีผู้ปกครอง ไม่มีคนดูแล ดังนั้น ครูสัญญา ครูอังคณา นายชง และนางหมอน จึงต้องเป็นผู้ปกครองให้เขาแทนพ่อแม่ กำพลร่ำร้องอยู่ในอก แท้จริงแล้วเขามีผู้ปกครองถึงสี่คน มากกว่าใครอื่นทั้งหมด ทั้งที่โรงเรียนและที่บ้าน ไม่ว่าจะอยู่ตรงไหน เขาหลบหน้าผู้ปกครองไม่พ้น” (เน้นโดยผู้วิจารณ์)

แม้จะเป็นเพียงตอนเล็กๆ ของเรื่อง แต่หากนำประโยคที่ว่า ‘ไม่ว่าจะอยู่ตรงไหน เขาหลบหน้าผู้ปกครองไม่พ้น’ มาอ่านโดยตลอดทั้งเรื่อง จะพบว่ามีสายตาของผู้ปกครองสอดส่องและตรวจตราชีวิตของกำพลอยู่โดยตลอด หากมองในด้านของความห่วงใยและเอื้ออาทรย่อมได้แน่ และคิดว่าถ้าอ่านตามเรื่องด้วยสายตาของผู้ใหญ่ก็จะต้องคิดเช่นนั้น แต่หากอ่านในสายตาของเด็กชายกำพลดังย่อหน้าข้างต้นนี้ ก็ชักไม่แน่ใจว่ากำพลจะมี ‘ความสำราญ’ ต่อการมีผู้ปกครองหลายคนจน ‘หลบหน้าไม่พ้น’ นี้หรือไม่

อย่างไรก็ตาม การหลบหน้าผู้ปกครองไม่พ้นอาจจะไม่น่ากลัวเท่ากับเด็กชายกำพล ‘สมาทานอำนาจ’ ของผู้ปกครองเข้ามาอยู่ในตัวเองเสียเอง นั่นหมายถึงว่า ไม่จำเป็นที่จะต้องมีผู้ปกครอง ‘ตัวเป็นๆ’ มาสอดส่องดูแลก็ได้ แต่สายตาแห่งการสอดส่องดูแลได้เข้าไปอยู่ในจิตสำนึกของเด็กชายกำพล จนเขาต้อง ‘ควบคุมตัวเอง’ โดยปริยาย ดังที่บทสนทนาในตอนท้ายของบทนี้ หลังจากกำพลกลับจากโรงเรียนก็โดนนายชงไต่สวนว่า เหตุใดกำพลจึงดูเรียบร้อยขึ้น เล่นซนน้อยลง จนกำพลตอบว่า

“ไม่หรอกเฮีย ผมไม่อยากเล่นกับพวกนั้นหรอก” กำพลมองหน้านายชง “เดี๋ยวนี้ผมไม่ใช่ผมอย่างเดียวแล้วนะครับ”

นายชงอ้าปากค้าง “แล้วเราเป็นใครฮึ”

ผมเป็นกำพล กับเป็นผู้ปกครองของกำพลด้วย เฮียไม่ต้องล้างจานนะครับ เดี๋ยวให้กำพลล้างให้”

แล้วเขาก็ลุกขึ้น เก็บจานไปล้าง (เน้นโดยผู้วิจารณ์)

ฉากนี้เกิดขึ้นหลังจากกำพลถูกครูอังคณาอบรมสั่งสอนจากโรงเรียน โรงเรียนในเรื่องนี้สะท้อนให้เห็นอย่างดีถึงการเข้าไปสู่ระบบการอบรมบ่มเพาะวินัยในฐานะพลเมืองของรัฐ ทั้งที่ก่อนกำพลยังไม่เข้าเรียน เขาเป็นเด็กร่าเริงและเล่นสนุกตามวัยของเด็ก แต่เมื่อถึงจุดหนึ่ง เด็กจะต้องเข้าสู่กระบวนการการทำให้เป็นพลเมืองอย่างที่รัฐต้องการผ่านโรงเรียน ฉากนี้จึงเผยให้เห็นได้อย่างลึกซึ้งว่า กฎระเบียบจากระบบการศึกษาเข้ามากำกับถึงภายในตัวตนและความนึกคิดของกำพลจนสามารถบังคับตนเองให้กลายเป็นผู้ปกครองตนเองในแบบที่ผู้ใหญ่ต้องการได้ โดยมี ‘ราคาที่ต้องจ่าย’ ไปสำหรับการฝึกวินัยให้กับเด็ก คือความร่าเริงและการละเล่นของเด็กที่สูญเสียไป ดังนั้น แม้ตัวบทจะนำเสนอจากสายตาและมุมมองของเด็ก แต่คนอ่านกลับแทบจะไม่เข้าใจหรือมองไม่เห็นตัวตนของเด็กชายกำพลได้เลย ในทางกลับกันมันกลับเผยให้เห็นมุมมองของอำนาจ ‘ผู้ปกครอง’ ที่กำลังจับตามาที่เด็กชายกำพลอยู่ต่างหาก เพราะการควบคุมเด็กได้ ก็คือการควบคุมเวลาในอนาคตได้เช่นกัน

อย่างไรก็ดี ดังที่ได้กล่าวถึงบทความของอารียา หุตินทะในตอนต้น ซึ่งชี้ให้เห็นว่าชาวชุมชนคุณแม่ทองจันทร์ใช้กลวิธีในการรับมือกับอำนาจในชีวิตประจำวันด้วยนั้น ผมจะขอต่อยอดจากบทความดังกล่าวออกไปอีกสักนิด โดยมุ่งเน้นไปที่คุณสมบัติพิเศษของตัวละครเด็กชายกำพล รวมถึงเพื่อนๆ วัยเดียวกันด้วย เนื่องจากตัวบทมุ่งเน้นนำเสนอมุมมองจากตัวละครเด็ก ความเป็นเด็กที่ถูกนำเสนอมีด้านที่ด้อยอำนาจ แต่ในขณะเดียวกันก็มีด้านลักษณะพิเศษอยู่ด้วย นั่นคือความเยาว์วัย การเล่น และจินตนาการ ลักษณะเด่นของเด็กนี้เองที่ผสมผสานกันจนกลายเป็นกลวิธีที่ทำให้เด็กชายกำพล และอาจรวมทั้งเด็กคนอื่น เอาตัวรอดภายใต้ข้อจำกัดในชีวิตของตัวเอง

ในด้านของความเยาว์วัย เกิดจากการผสมผสานหลายคุณสมบัติในชุดเดียวกันไว้คือ อายุน้อย ความน่ารัก น่าเอ็นดู ไร้เดียงสา และไร้พิษภัย สิ่งเหล่านี้เป็นตัวช่วยให้เด็กชายกำพลดำเนินชีวิตในชุมชนได้อย่างสะดวก เข้าบ้านนั้นออกบ้านนี้ อาศัยนอนและกินข้าว โดยไม่ทำให้ผู้ใหญ่ในบ้านหลังนั้นๆ แปลกใจหรือขับไล่ไสส่งเขาออกมา ประหนึ่งว่ากำพลเป็นสมาชิกคนหนึ่งของบ้าน มากไปกว่านั้นยังทำเป็นมองไม่เห็นหรือเห็นว่าไม่สลักสำคัญ ในแง่นี้ สถานะของกำพลที่เป็นเด็กกำพร้าไร้หลักแหล่งจึงคล้ายกับการล่องลอยไปราวกับผีที่ล่องหน ซึ่งฉวยใช้สถานะความเป็นผีนั่นเองพลิกกลับให้กลายเป็นข้อได้เปรียบในการอยู่ร่วมอาศัยและเอาตัวรอด 

อีกเหตุการณ์หนึ่งคือ เด็กชายกำพลและผองเพื่อน คิดจะไปขายของที่ตลาดนัดกันเล่นในยามว่าง ในครั้งแรกพ่อค้าแม่ค้าที่ตลาดนัดหน้าบริษัท ทู แวร์ ทู ไม่ยอมให้เด็กๆ ไปขายในพื้นที่ของพวกเขา แถมยังขับไล่ให้ไปขายที่อื่น จนเด็กๆ ไปตั้งแผงขายอยู่ชายขอบนอกพื้นที่ ครั้นเมื่อบริษัทโมเดียมเปิดพื้นที่ตลาดนัดบ้าง เด็กๆ ก็ไปตั้งแผงขาย และแม้จะอยู่บริเวณชายขอบของตลาด แต่กลับกลายเป็นแผงที่ขายดี เพราะคนที่มาซื้อของเอ็นดูความเป็นเด็กของกำพลและเพื่อนๆ ของเขา ผลของความน่ารักน่าเอ็นดูนี้ได้กลายเป็นอำนาจต่อรองที่ทำให้บริษัททู แวร์ ทูยอมให้เด็กชายกำพลและเพื่อนกลับไปตั้งแผงขายหน้าบริษัทของตนเองได้ ดังที่เจ้าของบริษัท สร้างข้อตกลงว่า “เอางี้ ขายด้านนอกก็ได้ แต่ต้องอยู่หน้าบริษัททู แวร์ ทู ห้ามไปขายหน้าบริษัทโมเดียม แล้วลุงจะให้คนละยี่สิบบาท” จนทำให้ ‘เด็กๆ ยิ้มรับข้อเสนอ ทำสัญญาด้วยการพยักหน้าหงึกๆ’ (น.85) ฉากนี้ทำให้เห็นว่า แม้เด็กชายกำพลและผองเพื่อนจะเป็นเด็กที่ถูกผู้ใหญ่มองข้าม และเห็นว่าไม่มีกำลังในการค้าขายได้ในตอนแรก แต่ความเยาว์วัยและความน่าเอ็นดูของเด็กกลับกลายเป็นเครื่องมือที่ทำให้ผู้ใหญ่หันมาสนใจ จนถึงขนาดทำให้กลายเป็นผู้มีอำนาจต่อรองกับนายทุนได้โดยไม่ต้องเสียค่าเช่าแผง และพลิกมาแถมเงินค่าจ้างให้ตั้งแผงด้วย

ความเป็นเด็กยังมีคุณสมบัติพิเศษอีกประการคือ การเล่นและจินตนาการ เด็กมีจินตนาการในการสร้างมายาภาพที่ดูประหนึ่งเป็นการละเล่น แต่พวกเขาก็เชื่อว่าจินตนาการที่ตนเองสร้างขึ้นมานั้น คือความจริง เช่น เอากล่องกระดาษลังมาทำเป็นบ้าน อาศัยอยู่กันอย่างจริงจังทั้งวันราวกับกล่องลังนั้นเป็นบ้านที่แท้จริงของตนเอง อย่างไรก็ดี ในอีกด้านหนึ่ง เด็กๆ ก็กลับมองเห็น ‘ความจริง’ ใน ‘มายาภาพ’ ด้วยเช่นกัน ดังเช่นเมื่อคณะลิเกมาเปิดการแสดงที่หน้าทางเข้าหมู่บ้าน โดยแสดงตอนชื่อว่า ‘จอมโจรใจพระ’ พระเอกลิเกผู้รับบทเป็นโจรก็หล่อเหลา ส่วนนางเอกก็สวยหวาน ตัวเล็ก มีนางอิจฉาที่สวยเปรี้ยว และตัวตลกก็อ้วนเตี้ยฟันหลอ ในฉากนี้บรรยายตอนลิเกแสดงผ่านมุมมองของเด็กที่เห็นรายละเอียด ‘หน้าฉาก’ ของลิเกทั้งหมด ตั้งแต่รูปร่างหน้าตา ขนตา ริมฝีปาก เครื่องแต่งกาย ทุกอย่างหน้าฉากเหล่านี้สวยงามตระการตาในสายตาของเด็กๆ แต่ในวันรุ่งขึ้น เด็กๆ ก็เห็นนางเอก ตัวอิจฉา และพระเอกในสภาพไร้เครื่องสำอาง ผมกระเซิง ใส่เสื้อกล้าม ตัวผอม ปากดำ แต่เด็กพวกนี้จำนักแสดงได้ดี จนกระทั่งตะโกนล้อเลียนกันเป็นที่ขบขัน ในแง่หนึ่ง ลิเกซึ่งเป็นมายาภาพที่สร้างความบันเทิงสำหรับผู้ใหญ่ และผู้ใหญ่เองก็มักจะ ‘อิน’ กับพระเอกนางเอกจนกลายเป็นแม่ยก ถึงขนาดควักเงินให้พระเอกกันจนล้นหลาม ไม่ต่างอะไรเลยกับเด็กที่เชื่อในจินตนาการของตนเอง ตัวบทได้วิพากษ์ผู้ใหญ่ที่หลงลิเกผ่านสายตาของเด็กที่มองเห็นว่า ภายใต้เครื่องสำอางและเครื่องแต่งกายประดับประดาตัวละครลิเกได้ซ่อนความเป็นจริงในด้านตรงกันข้ามไว้นั้นเป็นเรื่องที่หน้าขันเสียมากกว่า  

โดยสรุปแล้ว นอกจากนวนิยายเรื่อง ช่างสำราญ จะนำเสนอให้เห็นเรื่องเล่าของเด็กที่ต้องเผชิญกับความด้อยโอกาสและถูกควบคุมกำกับจากสังคมของผู้ใหญ่อย่างไรแล้ว ในอีกด้านหนึ่งยังเผยให้เราเห็นว่า คุณสมบัติพิเศษของความเป็นเด็ก คือตัวช่วยให้เด็กเอาตัวรอดจากสถานการณ์อันจำกัดในชีวิตไปได้ นอกจากนั้นคุณสมบัติในด้านการเล่นและจินตนาการยังนำมาใช้เปิดโปงให้เห็นว่า แท้ที่จริงแล้วผู้ใหญ่นั่นเองที่มัวเมาในมายาคติ

คำถามที่ชวนคิดก็คือเป็นไปได้ไหมว่า ตัวละครอย่าง ‘เด็กชายกำพล’ และผองเพื่อนที่อาศัยอยู่ในชุมชนคุณแม่ทองจันทร์ต่างล้วนเป็นผีปีศาจซึ่งหลอกหลอนสังคมสมัยใหม่และแม้กระทั่งอำนาจของผู้ใหญ่ ไม่ต่างจากตัวละครอย่าง ‘สาย สีมา’ ในนวนิยายเรื่อง ปีศาจ นั่นเอง


รายการอ้างอิง

จรูญพร ปรปักษ์ประลัย. (2547). “ในกระจกแห่งความฝัน ไม่มีภาพสะท้อนของผู้ร้าย.” ใน 25 ปี ซีไรต์: รวมบทวิจารณ์คัดสรร. กรุงเทพฯ: สมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทยฯ.

เดือนวาด พิมวนา. (2559). ช่างสำราญ. พิมพ์ครั้งที่ 19. กรุงเทพฯ: สามัญชน.

รื่นฤทัย สัจจะพันธุ์. (2547). “ช่างสำราญ…เรื่องราวของสังคมไทยที่ไม่แล้งน้ำใจและความเอื้ออาทร.” ใน 25 ปี ซีไรต์: รวมบทวิจารณ์คัดสรร. กรุงเทพฯ: สมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทยฯ.

สรณัฐ ไตลังคะ. (ไม่ปรากฏปี). “ช่างสำราญ: ชุมชน ‘ในจินตนาการ’ หรือชุมชน ‘แห่งอุดมการณ์’.” ใน ดวงใจวิจารณ์.com/16845915/สรณัฐ-ไตลังคะ

อารียา หุตินทะ. (2546). “โลกเศร้าแต่พวกเขายังยิ้ม ชีวิตสามัญของชุมชนห้องแถวคุณแม่ทองจันทร์ ใน ช่างสำราญ.” ใน วารสารอักษรศาสตร์ ปีที่ 32 ฉบับที่ 2 (กรกฎาคม-ธันวาคม).

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save