fbpx

เด็กๆ ไม่เกิด คนแก่ไม่ตาย

พูดกันว่าเด็กไทยไม่เกิดและคนแก่ไม่ตาย เรากำลังจะขาดผลผลิต และการจ่ายเงินอุดหนุนให้คนแก่กำลังจะไม่พอ

อีริก เอช อีริกสัน เขียนทฤษฎีพัฒนาการบุคลิกภาพไว้เมื่อปี 1950 โดยแบ่งพัฒนาการของมนุษย์เป็น 8 ขั้น รายละเอียดมีปรากฏในหนังสือ Childhood and Society บทที่ 7 Eight Ages of Man 

เนื้อหาสำคัญในหนังสืออธิบายปฏิสัมพันธ์ระหว่าง ‘มนุษย์’ กับโลกรอบตัวว่าควรเกิดอะไร และถ้าไม่เกิดจะเป็นอย่างไรต่อไป ยกตัวอย่าง ‘ระยะที่ 1 วัยทารก’ ทารกรับรู้ว่ามีใครคนหนึ่งดูแลเขาอย่างดีตลอดเวลา ใครคนนั้นเป็นที่ไว้วางใจได้ ทารกจะพัฒนาความสามารถไว้วางใจใครคนนั้น ไว้วางใจคนอื่นๆ แล้วไว้วางใจโลก ในทางตรงข้ามหากปฏิสัมพันธ์กับโลกภายนอกเป็นไปในทางที่ไม่ดี เช่น ถูกทอดทิ้ง ถูกทำร้าย ทารกจะพัฒนาความไม่ไว้ใจ ขั้นที่ 1 นี้เรียกว่า ‘trust vs mistrust’

ประเด็นคืออีริกสันมิได้กำหนดตัวเลขเอาไว้อย่างชัดเจนในตอนแรกๆ เขาเพียงบอกระยะเอาไว้อย่างหลวมๆ เหตุเพราะพัฒนาการทั้งแปดขั้นตอนนี้เป็นความต่อเนื่องซึ่งเรียกว่า ‘epigenesis’ มนุษย์บางคนช้าและบางคนเร็ว แต่จะช้าหรือเร็วก็ไล่ๆ กันไปตามลำดับชั้น

สมมติทารกหนึ่งขวบปีแรกไม่มีคนเลี้ยงที่ดี เขาอาจจะไม่ไว้ใจโลกนานเกินวัยทารก จนกระทั่งวันหนึ่งเขาพบคนเลี้ยงที่ดี เขาจึงจะสอบผ่านขั้นแรกแล้วเลื่อนระดับไปที่โจทย์ข้อที่สองต่อไป แน่นอนว่าด้วยข้อจำกัดของธรรมชาติทำให้เขาจะทำโจทย์ข้อที่สองได้ยากขึ้นเมื่อเทียบกับทำให้เรียบร้อยในเวลาที่เหมาะสมตั้งแต่แรก

เรื่องสำคัญมิใช่เรื่องตัวเลขอายุ แต่เป็นเรื่องหน้าที่ของมนุษย์และหน้าที่ของสังคม หากดูบทที่ 7 ของหนังสือ Childhood and Society จะไม่พบตัวเลขอายุ หากกลับไปอ่านตำราแพทย์ยุคแรกๆ เช่น ตำราจิตเวชศาสตร์ Kaplan and Sadock’s Comprehensive Textbook of Psychiatry ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 4 ปี 1980 จะไม่ระบุตัวเลขอายุเช่นกัน 

หากค้นวิกิพีเดียวันนี้จะพบว่าเอกสารยุคเก่าๆ จะระบุคำกว้างๆ เช่น ช่วงพัฒนาการ generativity เป็นระยะครึ่งชีวิต (mid-life) และช่วง ego integrity เป็นวัยชรา (old age) บางตำราอาจจะกำหนดอายุของช่วงพัฒนาการ generativity ไว้ที่ 35-55 ปี พ้นจากนี้เป็นผู้สูงอายุ อย่างไรก็ตามเอกสารในวิกิพีเดียที่เขียนต่อๆ กันมามักขยายอายุของผู้สูงอายุไปที่ 65 ปี ยิ่งไปกว่านั้นภริยาของอีริกสัน (Joan Erikson) ได้เขียนเพิ่มเติมระยะที่ 9 สำหรับผู้สูงอายุมากๆ เช่น ระหว่าง 80-90 ปี

ทฤษฎีพัฒนาการของอีริกสันนี้อิงกับสังคมมาก เปรียบเทียบกับของฟรอยด์ที่จะอิงกับจิตใต้สำนึกมากกว่า ดังนั้นเราไม่อาจจะใช้งานของอีริกสันได้หากไม่เหลือบดูสังคมรอบข้างด้วย นั่นแปลว่างานของเขาอาจจะแปรเปลี่ยนไปตามบริบทของแต่ละวัฒนธรรมหรือแต่ละประเทศได้ด้วย


เด็กไทยไม่เกิด

หลังการแต่งงานจะอายุเท่าไรก็ตาม คนไทย (รวมทั้งคนไทยเชื้อสายจีน) ถูกคาดหวังให้มีลูก เอาไว้ช่วยทำมาหากิน (หรือช่วยสืบสกุล) วันนี้มีปัญหาว่าลูกที่มีไม่ค่อยจะมีประโยชน์ในการช่วยทำมาหากินเท่าไรนัก เหตุเพราะไม่มีอะไรจะให้หากินมากมายเท่าแต่ก่อน ในน้ำไม่มีปลา ในนาไม่มีข้าว ในเมืองไม่มีงานทำ มีลูกนอกจากจะไม่ได้ช่วยจับปลา ทำนา หรือไปหาเงินมาช่วยพ่อแม่แล้วยังเป็นภาระไม่รู้จักจบสิ้น

ภาระนี้เริ่มตั้งแต่มันเกิดมา สมมติมีลูกตอนอายุ 18 บ้านก็แตก ถ้ามีตอนอายุ 25 หัวก็กระเซิง ถ้ามีตอนอายุ 35 นอกจากอุ้มได้ไม่นานก็หลังแอ่นแล้วยังแก่ไม่ทันใช้งานอีกต่างหาก เป็นเรื่องน่าดีใจที่คนรุ่นใหม่ไทยฉลาดพอจะตั้งคำถามว่าจะมีลูกไปทำไมให้ปวดหัว สำนึกเรื่องมีผู้สืบสกุลก็ลดลงตามปีที่ผ่านไปเพราะพวกเขาฉลาดพอจะรู้ว่าโลกใกล้ดับในเวลาไม่น่าจะเกินร้อยปีนับจากนี้ ดังนั้นจะมีหรือไม่มีลูกสืบสกุลก็ไม่ต่างอะไรมากนัก

หลายคนว่า “อย่าให้ลูกเกิดมาลำบากเลย” หมายถึงลำบากวันนี้ในบ้านเรา และลำบากวันหน้าเมื่อโลกร้อนถึงขีดวิกฤตที่หวนกลับมิได้

อีริกสันมิได้บอกให้มีลูก เขาพูดเรื่องการทำประโยชน์ (generate) ให้แก่คนอื่นหรือสังคม เขาเขียนว่าเมื่อถึงมิดไลฟ์-ระยะครึ่งชีวิต ที่คนเราทุกคนอยากทำคือถ่ายทอดตัวตนให้คนอื่น ตัวตนนี้มิได้แปลว่ามีลูก แต่อาจจะเป็นความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ ไปจนถึงของที่ระลึกที่เป็นประโยชน์ เช่น สร้างสะพานหรือห้องสมุดสาธารณะให้แก่ชุมชนเล็กๆ เป็นต้น แล้วถ้าใครไม่ทำจึงจะเกิดมิดไลฟ์ไครซิส  ซึ่งอีริกสันใช้คำว่าความหยุดนิ่ง (stagnation) แค่นั้น


ตานี้  มาดูเรื่องคนแก่ไม่ตาย

คนวันนี้ถูกยืดอายุหัวใจออกไปเรื่อยๆ ด้วยโภชนาการที่ดี ไม่กินหวาน ไม่กินเค็ม ออกกำลังกายทุกวัน ด้วยการแพทย์แผนปัจจุบันที่ดี กินยาลดไขมันเยอะๆ ทำบอลลูนหัวใจมากๆ แต่อวัยวะส่วนอื่นมิใช่จะยืดออกไปได้ง่ายนัก เช่น ตับ ไต ปอด และสมอง อวัยวะอื่นเดินหน้าเข้าหาความเสื่อมด้วยความเร็วสูงกว่าหัวใจเป็นอันมาก ดังนั้นเราจึงได้ผู้สูงอายุป่วยด้วยโรคเรื้อรังมากมาย เปลี่ยนตับ ล้างไต เส้นเลือดสมองแตก หรือสมองเสื่อมในวัยชราเป็นผักปลาให้ลูกหลานดูแลกันอีกนานเพราะหัวใจแข็งแรงมั่ก หลายคนจึงว่าใครตายปุ๊บปั๊บเป็นความโชคดี

คนแก่ไม่ตายจะมีความสุขได้ด้วยการทำประโยชน์ให้แก่ผู้อื่นเช่นกัน ดังที่ว่าอีริกสันมิได้กำหนดตัวเลขเคร่งครัด หน้าที่ของมนุษย์วัยกลางคนที่ว่าทำประโยชน์แก่ผู้อื่นสามารถเลื่อนมาทำตอนแก่เกินแกงได้ ที่ว่าแก่เกินแกงนี้หมายถึงมีลูกคงไม่เหมาะแล้วหรือมีมิได้แล้ว แต่เรื่องทำตัวให้เป็นประโยชน์นั้นควรทำอยู่

 อย่างไรก็ตามการทำอะไรช้าเกินไปก็มักจะยากและเกะกะผู้อื่น คนแก่อยากทำประโยชน์จึงอาจจะมีข้อแม้ว่าควรเดินลงจากเก้าอี้มาทำที่ข้างล้าง ตำแหน่งบริหารควรยกให้คนอายุน้อยกว่า สัก 30-40 ปีทำน่าจะกำลังดี เพราะโลกไอทีสมัยใหม่นั้นเกินกำลังสมองของพวกเราคนแก่จริงๆ

คนแก่ต้องมีเงินแน่ๆ คนแก่ไม่มีเงินมักจะเสียเซลฟ์มากเกินกว่าจะเยียวยาด้วยวิธีการปลอบใจ จะกินต้องขอลูก เจ็บป่วยต้องนอนเสื่ออนาถา ชีวิตเช่นนี้ไม่ควรปล่อยให้เกิด อีริกสันก็ช่วยอะไรไม่ได้ด้วย

เรื่องคนแก่ไม่ตายและมีจำนวนร้อยละของประชากรสูงขึ้นทุกทีนี้เป็นปัญหาของรัฐบาลใหม่จริงๆ

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Education

20 Jul 2023

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในวิกฤต (?)

ข่าวการปรับหลักสูตรของอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชวนให้คิดถึงอนาคตของการเรียนการสอนสายมนุษยศาสตร์ เมื่อตลาดแรงงานเรียกร้องทักษะสำหรับการทำงานจริง จนมีการลดความสำคัญวิชาพื้นฐานอันเป็นการฝึกฝนการวิเคราะห์วิพากษ์เพื่อทำความเข้าใจโลกอันซับซ้อน

เสียงเล็กๆ จากประชาคมอักษร

20 Jul 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save