fbpx

‘มีความตั้งใจ แต่ก็ไร้พลัง’ ฟังปัญหาสภาเด็กและเยาวชนไทยที่ผู้ใหญ่มักมองข้าม

สภาเด็กและเยาวชน

นักเรียนเลว, เกียมอุดมไม่ก้มหัวให้เผด็จการ, เยาวรุ่นทะลุแก๊ซ ฯลฯ

หลังจากตัวตนของเด็กมัธยมเผยสู่สายตาสังคม ท่ามกลางกระแสการต่อสู้ของคนรุ่นใหม่ในปี 2563 เป็นต้นมา คล้ายกับว่าผู้ใหญ่ในประเทศจะมองภาพ ‘เด็ก’ ต่างไปจากเดิมโดยสิ้นเชิง เมื่อเด็กเป็นฝ่ายริเริ่มหยิบยกปัญหาเชิงโครงสร้างมาสนทนากับสังคมหลายครั้งหลายหน ทั้งระบอบอำนาจนิยมในระบบการศึกษา ความล้มเหลวของรัฐบาลในการจัดการโควิด-19 รวมถึงวิพากษ์ระบอบประชาธิปไตยที่พิลึกพิลั่น ทำให้ใครหลายคนยอมรับในศักยภาพ จนไม่อาจมองข้ามบทบาทของเยาวชนบนสนามการเมืองและการกำหนดนโยบายได้อีก

น่าสังเกตว่าความสำเร็จเหล่านี้ เกินกึ่งหนึ่งเป็นผลพวงจากการต่อสู้บนท้องถนน ดังนั้น สิ่งที่มาพร้อมกับคำชื่นชมย่อมเป็นคำวิจารณ์จากผู้ใหญ่บางกลุ่ม บ้างติติงถึงน้ำเสียงท่าที บ้างมองว่าการประท้วงเป็นพฤติกรรมไม่เหมาะสม บ้างแนะนำให้สู้ตามกติกาผ่านกลไกของรัฐ

ทั้งหมดนำมาสู่คำถามสำคัญว่าที่ผ่านมา รัฐไทยเปิดพื้นที่ให้เด็กและเยาวชนส่งเสียงตามกลไกมากน้อยเพียงใด

10 กว่าปีที่แล้ว ประเทศไทยมีพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ พ.ศ.2550 (ซึ่งต่อมามีการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2560) กำหนดให้จัดตั้ง ‘สภาเด็กและเยาวชน’ ทุกระดับทั่วประเทศ ตั้งแต่ตำบล อำเภอ จังหวัด และระดับชาติ รวมทั้งสิ้น 8,781 แห่ง เพื่อทำหน้าที่สนับสนุนการมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชนในการกำหนดนโยบายรัฐที่เกี่ยวพันกับชีวิตพวกเขา หรือกล่าวได้ว่าเป็น ‘กระบอกเสียง’ ของเด็กตามกลไกรัฐที่ถูกต้องชอบธรรม

ทว่าในความเป็นจริง ‘กระบอกเสียง’ ดังกล่าว กลับแลดูเหมือนเงียบหาย ถูกหลงลืมจากรัฐและสังคมตลอดมา

101 ชวนลงไปฟังเสียงคนทำงานจริงในสภาเด็กและเยาวชนถึงบทบาทและผลงานที่ผ่านมา หล่มปัญหาที่พวกเขาเจอ และข้อเสนอที่จะเปลี่ยนสภาเด็กให้กลายเป็นผู้แทนคนรุ่นใหม่อย่างแท้จริง


ไร้งบ – ไร้อิสระ สภาเด็กท้องถิ่นที่ถูกทอดทิ้งจากรัฐ


ตำบลอากาศไม่ใช่พื้นที่กว้างใหญ่นักเมื่อเทียบกับขนาดจังหวัดสกลนคร แต่ที่แห่งนี้คือบ้านเกิดของวัยรุ่นหลากหลายกลุ่มชาติพันธุ์ หนึ่งในนั้น อชิระ ประลอบพันธุ์ เด็กชายไทโย้ยเริ่มต้นทำงานในสภาเด็กและเยาวชนระดับเทศบาลตำบลอากาศอำนวย ด้วยวัยเพียง 12 ปี เรื่อยไล่จนถึงตอนนี้ เขาเรียนมหาวิทยาลัยชั้นปีที่ 4 – เสียงจากปลายสายโทรศัพท์บ่งบอกว่ากลายเป็นชายหนุ่มเต็มตัว

“ผมเริ่มต้นจากการไปเข้าร่วมโครงการที่สภาเด็กจัดขึ้น พอเห็นพี่คนอื่นๆ แล้วรู้สึกเหมือนโดนจุดประกายว่าวันหนึ่งเราอยากขึ้นไปถือไมค์บ้าง อยากเป็นผู้นำที่พาเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ทำกิจกรรมได้” จากความฝันอันเรียบง่าย ประจวบเหมาะกับเคยทำงานร่วมกับเทศบาลในฐานะนักดนตรีเด็กของกลุ่มชาติพันธุ์ไทโย้ย ทำให้เมื่อถูกชักชวนจากเจ้าหน้าที่เทศบาล อชิระจึงตอบตกลง

“ก่อนเข้ามาทำงานก็ยังไม่รู้นะครับว่าสภาเด็กคืออะไร เด็กหลายคนก็มองภาพไม่ออก ต้องมีการแนะนำจากพี่เลี้ยงของ อปท. (องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น) สอนว่าต้องทำงานยังไง ต้องเขียนเอกสารโครงการแบบไหน ได้งบประมาณมาก็นำมาจัดเป็นโครงการ พอเราทำไปเรื่อยๆ ก็เข้าใจว่า อ๋อ สภาเด็กเป็นแบบนี้ ต้องทำโครงการ ขับเคลื่อนด้านต่างๆ ในท้องถิ่น”

อชิระเล่ารายละเอียดว่าโครงการของสภาเด็กระดับท้องถิ่นเช่นตำบลและอำเภอ (ซึ่งเขาได้รับตำแหน่งประธานสภาเด็กและเยาวชนอำเภออากาศอำนวยจากการเลือกตั้งของสมาชิกในเวลาต่อมา) ส่วนมากเป็นการทำงานตามกรอบของต้นสังกัดอย่างกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวคือ “เขาจะมอบกรอบใหญ่ๆ มา เช่น ปีนี้อยากให้ทำงานด้านสุขภาวะ อนามัยเจริญพันธุ์ เราก็ต้องนำมาออกแบบว่าจะขับเคลื่อนเรื่องอนามัยเจริญพันธุ์แก่เด็กในท้องถิ่นอย่างไร อาจจะเป็นการจัดค่ายอบรม 1-2 วัน ตามงบประมาณที่จัดสรรให้ สภาเด็กจะเป็นคนวางแผนออกแบบกิจกรรมเกือบทั้งหมด โดยมีพี่เลี้ยงจาก อปท. คอยสนับสนุน”

ในความทรงจำของอชิระ กรอบนโยบายที่ว่ามักวนเวียนกันอยู่ไม่กี่เรื่อง หากไม่ใช่อนามัยเจริญพันธุ์ ก็เป็นคำกว้างๆ เช่นพัฒนาศักยภาพเยาวชน ซึ่งอชิระเสริมว่าถ้าสภาเด็กไม่เห็นด้วย จะไม่ทำโครงการก็ย่อมได้ เพียงแต่การกำหนดกรอบนั้นมาพร้อมกับขอบเขตการเบิกงบประมาณ หมายความว่าถ้าจะจัดกิจกรรมอื่นๆ นอกเหนือจากกรอบที่กำหนดมา จะไม่อาจใช้เงินอุดหนุนสภาเด็กของรัฐได้เลย

“ตัวอย่างเช่น งานสนับสนุนวัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์ก็ทำไม่ได้ เพราะไม่สอดคล้องกับกรอบโครงการหลัก เราต้องเขียนโครงการไปขอทุนสนับสนุนจากองค์กรอื่นๆ เพื่อขับเคลื่อนสร้างผลงานของตัวสภาเด็กเอง” อชิระกล่าว “ตัวงบประมาณของรัฐจะได้ก็ต่อเมื่อเราเขียนโครงการรับเงินอุดหนุนของปีนั้น ถ้าไม่เขียนก็ไม่ได้เลย”

รายงานของศูนย์คิด ฟอร์ คิดส์ โดย 101 Public Policy Think Tank ระบุว่า สภาเด็กและเยาวชนได้รับงบอุดหนุนจากรัฐบาลเฉลี่ย 18,353 บาทต่อแห่งในปีงบประมาณ 2564 และลดลงเหลือ 14,302 บาท ในปีงบประมาณ 2565 – เมื่อถามว่าเงินจำนวนนี้เพียงพอต่อการดำเนินงานไหม แน่นอน อชิระตอบว่า ‘ไม่’ ยิ่งในต่างจังหวัดนอกเขตเมืองที่มีทรัพยากรไม่เพียบพร้อม เช่น ไม่มีสถานที่นัดรวมกลุ่มเด็ก ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกบางอย่าง ค่าใช้จ่ายย่อมสูงกว่าการดำเนินงานของสภาเด็กในเมืองอยู่แล้ว

ยิ่งไปกว่านั้น “ถ้าทำโครงการแล้วไม่เห็นผลภายใน 3 เดือน ก็จะถูกท้วงติง โดนตามเอกสารสรุปโครงการ เหมือนเขากำหนดระยะเวลาแต่ละโครงการมาแล้วว่าจะให้ทำนานสุดแค่ไหน ทำให้เสร็จแล้วจะได้รับงบอุดหนุนในคราวถัดไป สภาเด็กเลยไม่สามารถทำโครงการระยะยาว”   

“อีกเรื่องหนึ่งที่มีปัญหามากที่สุดคือเรื่องพี่เลี้ยงของสภาเด็ก” อชิระกล่าว และอธิบายว่าโดยปกติ สภาเด็กระดับท้องถิ่นมักมีพี่เลี้ยงจาก อปท.คอยทำงานสนับสนุนเด็ก ซึ่งถือว่า “เป็นหัวใจหลักของสภาเด็กรองลงมาจากตัวเด็กเลยครับ ถ้าไม่มีพี่เลี้ยง เด็กคงไม่รู้ว่าจะปรึกษาใคร ทำงานแบบไหน” เพราะการทำงาน เขียนเอกสารตามระเบียบขั้นตอนทางราชการไทยช่างเป็นเรื่องยากแม้กระทั่งกับคนทั่วไป ไหนเลยจะให้เด็กๆ ทำได้โดยปราศจากคนแนะนำ

แต่ปัจจุบัน ตำแหน่งพี่เลี้ยงยังไม่มีการมอบหมายให้เจ้าหน้าที่รัฐอย่างเป็นตัวเป็นตน “ปัญหาที่เกิดขึ้นคือในบางพื้นที่ไม่มีใครอยากมารับผิดชอบเรื่องเด็กและเยาวชน น้อยมากครับที่จะมีคนจาก อปท. เสนอตัวรับดูแล เพราะอย่าว่าแต่เด็กเลย ผู้ใหญ่บางคนใน อปท. ยังไม่รู้ว่าสภาเด็กคืออะไร ไม่รู้ว่าต้องขับเคลื่อนยังไง พอพี่เลี้ยงคนเดิมหมดวาระ ย้ายไปสังกัดที่อื่นตามคำสั่งราชการ ก็จะเกิดการโยนให้คนนั้นคนนี้มารับช่วงต่อตลอด เด็กเขารู้เรื่องนะครับว่าไม่มีใครอยากมาทำงานร่วมกับเขา แล้วแบบนี้ตัวเด็กจะมีกำลังใจที่ไหนไปทำงานครับ เพราะกระทั่งผู้ใหญ่ยังไม่อยากมาดูแลเราเลย

“ถ้าเป็นไปได้ ใน อปท. ควรมีตำแหน่งพี่เลี้ยงสภาเด็กเลยครับ มีหน้าที่ มีเงินเดือนให้ ถึงจะกระตุ้นคนที่อยากทำจริงๆ มาทำ เพราะถึงจะบังคับให้คนมาเป็น ก็ใช่ว่าเขาจะมีความรู้เรื่องการทำงานกับเด็ก สุดท้ายก็ไม่เกิดการขับเคลื่อนอะไรอยู่ดี”

ทั้งนี้ อชิระเสนอว่าคนที่มาเป็นพี่เลี้ยงต้องเข้าใจบทบาทว่าตนไม่มีอำนาจควบคุมหรือสั่งการเด็ก แต่มีหน้าที่รับฟังและช่วยเหลือเรื่องที่เด็กประสบปัญหาในการทำงาน เป็นสะพานเชื่อมเด็กกับภาครัฐ เพราะปฏิเสธไมได้ว่าบางครั้ง ผู้ใหญ่ในหน่วยงานต่างๆ ก็มักให้ความสำคัญกับเสียงของ ‘ผู้ใหญ่’ ด้วยกัน มากกว่าจะเห็นตัวตนของเด็ก

สุดท้าย ก่อนวางสายโทรศัพท์จากสกลนคร อชิระฝากเสียงเรียกร้องฝ่าลมพัดโกรกไปถึงบรรดาผู้ใหญ่ในกระทรวงว่า “ผมอยากให้กระทรวงมีความชัดเจน ว่าต้องการให้สภาเด็กเคลื่อนไปในทิศทางไหน จะทำงานยังไงให้ต่อเนื่อง ไม่ใช่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อเอาโครงการมาของบแล้วจบไป ปีใหม่ก็ทำใหม่วนไปเรื่อยๆ

“อยากให้บอกกันชัดๆ ครับว่าสภาเด็กมีไว้เพื่ออะไรกันแน่”


สภาเด็กแห่งชาติต้องเป็นผู้แทนเยาวชนที่มีความหมาย


วันที่เราคุยกับ โยธิน ทองพะวา อดีตประธานสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย เป็นวันเดียวกันกับที่พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ไม่ผ่านด่านการลงมติเห็นชอบเป็นนายกรัฐมนตรีในสภารอบแรก ตลอดการสนทนาจึงสอดแทรกไปด้วยความเห็นต่อการเมืองไทยมากมาย และโยธินก็ได้แย้มพรายถึงประสบการณ์ ‘เก้าอี้ร้อน’ ในช่วงแรกของการรับตำแหน่งประธานสภาเด็กราว 3 ปีที่แล้ว

“ช่วงปี 63 ผมเพิ่งมาเป็นประธานได้ประมาณเดือนหนึ่งก็มีการชุมนุม เจ้าหน้าที่ฉีดน้ำผสมสารเคมีใส่ผู้ชุมนุมแถวแยกราชประสงค์ ผมก็ออกแถลงการณ์ เพราะมองว่าวันนั้นเป็นวันศุกร์ พื้นที่สาธารณะแถวสยาม-จุฬา เป็นที่ที่เด็กมาเรียนพิเศษ มาเที่ยวพักผ่อนวันสุดสัปดาห์ การที่เจ้าหน้าที่รัฐสลายการชุมนุมทำให้ไม่มีพื้นที่เซฟโซนรองรับเด็ก เราจึงออกมาปกป้องสิทธิความปลอดภัยของเด็ก”

ผลปรากฏว่าวันเสาร์-อาทิตย์สัปดาห์นั้น บรรดาอธิบดี รัฐมนตรีหลายท่านถึงขั้นยกหูโทรศัพท์หาโยธินไม่เว้นว่าง เพราะสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทยกลายเป็นหัวข้อข่าวบนหน้าสื่อ แต่ถึงแม้ภายหลัง เขาจะถูกจับจ้องจากผู้ใหญ่ในหน่วยงานรัฐตลอดวาระดำรงตำแหน่ง โยธินก็ยังยืนยันว่านี่คือสิ่งที่สภาเด็กและเยาวชน ‘ควรทำ’

ก่อนก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งประธานสภาเด็กแห่งชาติ เส้นทางของโยธินเริ่มต้นจากการเป็นประธานนักเรียน โรงเรียนทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งถูกเสนอชื่อให้เป็นตัวแทนทำงานในสภาเด็กอำเภอทุ่งสงตอนอายุ 17 ปี ได้รับตำแหน่งประธานสภาเด็กระดับอำเภอจากการเลือกตั้งโดยสมาชิกสภาเด็กและเยาวชนด้วยกัน มาสู่ระดับจังหวัด และประเทศ ตามลำดับ ประสบการณ์ทำงานทั้งในท้องถิ่นบ้านเกิดจนถึงระดับชาติ ทำให้โยธินมองเห็นภาพปัญหาคนทำงานสภาเด็กที่แตกต่างกัน

เขาอธิบายว่า “กฎหมายกำหนดให้หน้าที่ของสภาเด็กทุกระดับใกล้เคียงกัน ตั้งแต่การรวบรวมข้อเสนอแนะเชิงนโยบายจากเด็กเยาวชนในพื้นที่ เป็นกระบอกเสียงของเยาวชน เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ ทั้งกีฬา วัฒนธรรม วิชาการ สุขภาพ” แต่ในความเป็นจริง สภาชิกสภาเด็กระดับตำบลและอำเภอส่วนใหญ่กลับทำงานไม่ต่างจาก ‘นักจัดกิจกรรม’ ที่นำนโยบายของกระทรวงมาเปลี่ยนเป็นอีเวนต์ แล้วค่อยมีโอกาสทำหน้าที่เสนอแนะเชิงนโยบายเมื่อกลายเป็นสมาชิกสภาเด็กระดับจังหวัด และนั่งเก้าอี้สมาชิกคณะกรรมการของจังหวัดด้านต่างๆ ประปราย

เช่นเดียวกันกับหน้าที่ของสภาเด็กและเยาวชนระดับชาติ โยธินกล่าวว่า “หน้าที่สำคัญคือการรวบรวมปัญหาด้านเด็กและเยาวชน เสนอแนะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงสาธารณสุขที่ดูแลมิติสุขภาพ กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ที่ดูแลด้านสังคม ความเป็นอยู่ กระทรวงศึกษาธิการเรื่องการศึกษา สิ่งที่สภาเด็กทำทุกวันนี้คือเปิดเวทีสมัชชารวบรวมเสียงของเด็ก แต่บางอย่างที่เสนอไป เขาก็ทำบ้างไม่ทำบ้าง เหมือนเสียงของเราก็ยังดังไม่พอ”

แม้ผู้แทนจากสภาเด็กแห่งประเทศไทยจะเข้าไปมีส่วนร่วมกับคณะทำงานระดับชาติ แต่ท่ามกลางจำนวนคณะกรรมการ-อนุกรรมการ ที่มีอยู่เกือบ 200 บอร์ด โยธินเผยว่าสภาเด็กกลับเป็นสมาชิกอยู่เพียง 2 บอร์ด คือคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กแห่งชาติและคณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ซึ่งเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก หากเทียบว่าประเด็นอื่นๆ ในสังคมก็ส่งผลต่ออนาคตของเด็กไม่ต่างกัน

นอกจากนี้ ปัญหาด้านงบประมาณที่น้อยเกินไป (“น้อยจนเทียบกับงบซื้อเรือดำน้ำไม่ได้เลย” – โยธิน) รวมถึงระบบที่ให้หน่วยงานรัฐอย่างกรมกิจการเด็กและเยาวชนเป็นผู้อนุมัติ ทำให้สภาเด็กตั้งแต่ระดับตำบลถึงระดับประเทศต้องทำงานแบบเกรงใจ ‘พาร์ตเนอร์’ มาโดยตลอด จนบางครั้งสภาเด็กก็กลายเป็น ‘อันเดอร์’ กรมกองเหล่านี้ไปโดยไม่ทันรู้ตัว

ทว่า ภายใต้ข้อจำกัดนานาประการ โยธินเองก็พยายามฝากผลงานในฐานะประธานสภาเด็กเท่าที่มีทรัพยากรและโอกาสอำนวย ตัวอย่างเช่น การผลักดันประกาศกฎกระทรวงห้ามไล่ออกนักเรียนนักศึกษาที่ตั้งครรภ์ เรียกร้องให้รัฐจัดสรรเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดถ้วนหน้าตามที่มีมติจากคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กแห่งชาติตั้งแต่ปี 2563 รวมถึงการจัดโครงการเยาวชนพิทักษ์สิทธิทางเพศของวัยรุ่น ซึ่งอบรมสร้างความรู้แก่สภาเด็กระดับจังหวัด จนเกิดกรณีความสำเร็จที่น่าสนใจ

“ที่พัทลุง มีเด็กผู้หญิงคนหนึ่งท้องและต้องการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย แต่ในพื้นที่ไม่มีโรงพยาบาลรองรับ เขาจึงไปปรึกษาเพื่อนที่เป็นสภาเด็ก แล้วเพื่อนคนนั้นเป็นเยาวชนที่ผ่านการอบรมกับเรา เบื้องต้นเขาแนะนำให้โทรไปสายด่วน 1663 ซึ่งเจ้าหน้าที่สายด่วนเสนอสองทาง คือแนะนำให้ไปยุติการตั้งครรภ์ที่โรงพยาบาลในจังหวัดนครศรีธรรมราช หรือซื้อยาสอดกับเจ้าหน้าที่สายด่วนเพื่อนำไปใช้เอง”

โยธินเล่าว่ามีเจ้าหน้าที่จำนวนไม่น้อยที่แสวงหาผลประโยชน์จากเด็กทำนองนี้ แต่โชคดีที่เด็กสาวกลับมาขอคำแนะนำจากเพื่อนสภาเด็กอีกครั้ง ซึ่งฝ่ายเพื่อนยืนยันให้ไปโรงพยาบาล เพราะยาสอดช่องคลอดมีความเสี่ยงด้านการติดเชื้อ ตกเลือด ถึงขั้นอาจทำให้เสียชีวิต เรื่องราวดังกล่าวจึงจบลงได้โดยปราศจากความสูญเสีย

“เรามองว่าเรื่องนี้สมาชิกสภาเด็กช่วยชีวิตคนไว้ได้ เราไม่ใช่แค่นักกิจกรรมที่ร้องเล่นเต้นรำไปเรื่อยๆ” โยธินเสริมว่าสิ่งนี้คือภาพที่เขาอยากเห็น – ภาพที่สภาเด็กและเยาวชนทำงานดูแลเด็กและเยาวชนอย่างมีความหมาย และมีประสิทธิภาพ

“ลองจินตนาการดูว่าถ้าสภาเด็กและเยาวชนมีคนทำงานทุกระดับ ระดับตำบลมี 21 คน รวม 7,000 กว่าตำบล รวมแล้วสมาชิกเป็นแสนคน มากกว่าเจ้าหน้าที่ พม. หรือเจ้าหน้าที่บ้านพักเด็กและครอบครัวอีกครับ ถ้าเราสามารถทำโครงการดีๆ ให้ความรู้แก่สมาชิกเหล่านี้ พวกเขาสามารถดูแลเข้าถึงเยาวชนได้อีกหลายล้านคน เข้าไปช่วยเหลือเด็กที่ประสบปัญหาได้”

ไม่ต่างจากคนรุ่นใหม่ในกระแสสังคมปัจจุบัน – ยามที่โยธินพูดถึงความเชื่อว่าสภาเด็กและเยาวชนดีกว่านี้ได้ ดวงตาของเขาเต็มไปด้วยความหวัง “เหมือนที่เราเชื่อว่าประเทศไทยดีได้มากกว่านี้ สภาเด็กเองก็เหมือนกัน ผมว่าสภาเด็กควรเป็นพื้นที่ที่ให้เด็กมีอิสระ ควรถูกพัฒนาให้เป็นสภาผู้แทนราษฎรแบบเด็กๆ ให้เขาทำอะไรเองได้ แล้วมีหน่วยงานทำหน้าที่สนับสนุน เหมือนตอน ส.ส. จะลงพื้นที่ก็มีสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรดูแลเรื่องการเดินทาง ทำหน้าที่เป็น ‘คุณอำนวย’ ไม่ใช่ ‘คุณอำนวย’ บวก ‘คุณอำนาจ’ อย่างที่ผ่านมา

“ให้สภาเด็กได้ลงมือทำสิ่งต่างๆ เองครับ ถ้ามือของเด็กจะเปื้อนสิ่งสกปรก ก็ต้องเปื้อนด้วยตัวของเขาเอง หาวิธีแก้ไขปัญหาได้ด้วยตัวเอง” โยธินยิ้มทิ้งท้าย


จาก ‘เด็กดี’ สู่ ‘เด็กดื้อ’ เมื่อสังคมเปลี่ยน สภาเด็กไทย(ต้อง)เปลี่ยน


นับตั้งแต่เกิดพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ พ.ศ.2550 เป็นต้นมา อาจกล่าวได้ว่า โชติเวชญ์ อึ้งเกลี้ยง ประธานมูลนิธินวัตกรรมสร้างสรรค์สังคม (SIY) คือหนึ่งในคนที่เห็นภาพปัญหาเชิง โครงสร้าง รวมถึงความเปลี่ยนแปลงของสภาเด็กและเยาวชนจากอดีตจวบจนปัจจุบันชัดเจนที่สุด

ด้วยประสบการณ์ทำงานร่วมกับคนรุ่นใหม่ทั้งในท้องถิ่นและระดับชาติกว่า 10 ปี เขาเล่าว่ายุคแรกเริ่มสภาเด็กและเยาวชนมีเพียงในระดับจังหวัดและประเทศเท่านั้น โดยทำหน้าที่เสมือนผู้แทนของเยาวชนในการร่วมกำหนดนโยบาย นั่นทำให้ใครต่อใครต่างอยากเชิญสมาชิกสภาเด็กเข้าร่วมการประชุม เพราะการมีรายชื่อเยาวชนเป็นส่วนหนึ่งของคณะทำงานย่อมสร้างภาพลักษณ์เชิงบวกได้ไม่น้อย

“แต่ที่ผ่านมา สภาเด็กไม่สามารถลุกขึ้นมาต่อรองอะไรบางอย่างกับรัฐได้เลย ไม่ใช่ change agent ในแง่นโยบาย เขากลายเป็นคนที่อยู่ใต้อำนาจของผู้ใหญ่ในการประชุม บางทีเป็นกระบอกเสียงให้ผู้มีอำนาจด้วยซ้ำ”

โชติเวชญ์มองว่าสาเหตุเป็นเพราะสภาเด็ก ‘ติดกระดุมเม็ดแรกผิด’ กล่าวคือมีปัญหาตั้งแต่การประชาสัมพันธ์ให้เด็กและเยาวชนรับทราบ ตัวระบบขาดผลประโยชน์จูงใจให้เด็กมากความสามารถเข้ามาทำงาน กระทั่งนักเคลื่อนไหวรุ่นเยาว์ยังไม่เชื่อมั่นว่าพื้นที่ดังกล่าวจะสร้างความเปลี่ยนแปลงตามอุดมการณ์ของตนเองได้ตราบใดที่อยู่ภายใต้ระบบระเบียบแบบราชการไทย สุดท้าย สมาชิกสภาเด็กส่วนมากจึงมาจากการคัดสรรโดยผู้หลักผู้ใหญ่ บ้างเป็นเด็กเรียนดี นอบน้อมอยู่ในระเบียบวินัย บ้างต้องการเป็นที่ยอมรับของเพื่อนๆ หรือต้องการสร้างผลงานลงพอร์ตเรียนต่อ

“เราจะเจอเด็กที่สนใจเรื่องการสร้างความสัมพันธ์มากกว่าคนที่มองเห็นตนเองเป็นผู้แทนเด็กและสร้างความเปลี่ยนแปลง เวลาผมทำค่ายพัฒนาสภาเด็ก ซึ่งเกิดขึ้นก่อนการเลือกตั้งประธานสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย เห็นเลยว่าคนที่โดดเด่นไม่ใช่คนที่มีแนวคิด วางแผนพัฒนาสิ่งใหม่ แต่เป็นคนตลก น่าสนใจ ทำได้หลายอย่าง และมี connection ที่ดี เวลาหาเสียงจะพูดถึงเป้าหมายการเปลี่ยนแปลงแบบกว้างๆ คุ้นเคยกับอะไรที่คลุมเครือ

“ลองดูสิว่ามีนโยบายไหนบ้างที่เด็กเป็นคนผลักดันประเด็นแหลมคมจนสุดทาง ในอดีตที่ผ่านมาเราแทบจะหาไม่ได้เลยตามสื่อ จะหาได้บ้างในยุคหลังๆ แต่เสียงของพวกเขาก็เบามาก” โชติเวชญ์ตั้งข้อสังเกต แม้จะเป็นแนวโน้มที่ดีขึ้น แต่ก็อดเสียดายช่วงเวลาที่ผ่านไม่ได้ เพราะถ้าสภาเด็กและเยาวชนมีจุดยืนที่เข้มแข็งในฐานะผู้แทนเยาวชนตั้งแต่ต้น เราอาจได้เห็นนโยบายดีๆ ออกมาเสียนานแล้ว

“ถ้าสภาเด็กมีจุดยืนและอุดมการณ์เข้มแข็ง เขาจะทำงานได้แบบโคตรเจ๋ง เพราะเขาเข้าไปอยู่ในวงศ์อำนาจเต็มไปหมด ยกตัวอย่างคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ ซึ่งมีผู้แทนฝั่งเด็กและประธานสภาเด็ก คณะกรรมการชุดนั้นมีผู้แทนจากทุกกระทรวง และตามกฎหมายมีนายกฯ นั่งเป็นประธาน ถ้าเขาใช้โอกาสนี้ให้เป็นประโยชน์จะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้เยอะมาก”

อย่างไรก็ตาม หลังการแก้ไขพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ ในปี 2560 ระบุให้จัดตั้งสภาเด็กและเยาวชนระดับตำบลและอำเภอ โชติเวชญ์ก็เริ่มเห็นโอกาสและความหวังจากฝั่งเยาวชนในท้องถิ่นมากขึ้น

“เราเห็นว่าสภาเด็กมีคนทำงานที่เป็นนักกิจกรรมมากขึ้น เพราะระบบเอื้อให้เขาทำงานเพื่อท้องถิ่น ใกล้ชิดกับนักการเมืองท้องถิ่น ข้าราชการ อบต. เทศบาล ซึ่งมีญาติพี่น้องของตนเองทำงานอยู่ ทำให้เด็กเข้าใกล้การมีส่วนร่วม มีปากมีเสียงมากขึ้น ซึ่งนักการเมืองท้องถิ่นส่วนหนึ่งก็พร้อมน้อมรับฟังเด็ก พร้อมเข้ามาพูดคุยแลกเปลี่ยน”

ทั้งหมดนำมาสู่การถอดบทเรียนของโชติเวชญ์ว่ากุญแจสำคัญที่ทำให้เสียงของเด็กมีพลัง คือการมีสภาพแวดล้อมที่ดี ประกอบกับความร่วมมือจากหลายฝ่าย ทั้งฝ่ายนักการเมือง ข้าราชการประจำ และกลุ่มคนรุ่นใหม่

ยิ่งเมื่อเกิดปรากฏการณ์เยาวชนหลากหลายกลุ่มลุกขึ้นมาต่อสู้กับอำนาจเผด็จการ วิพากษ์ปัญหาเชิงโครงสร้างในสังคมไทยในช่วงที่ผ่านมา ยิ่งสร้างแรงสั่นสะเทือนต่อสภาเด็กทุกระดับให้ตื่นตัว อีกนัยหนึ่งคือ ‘เด็กดี’ ของผู้ใหญ่ในสภาเด็กเริ่มกลายร่างเป็น ‘เด็กดื้อ’ ตามคำของโชติเวชญ์ สังเกตได้จากกรณีของโยธินซึ่งออกแถลงการณ์ปกป้องเยาวชนในการชุมนุมทางการเมือง และสภาเด็กออกประกาศปกป้องหยก ธนลภย์ จากการคุกคามข่มขู่ในโซเชียลมีเดียเมื่อไม่นานมานี้ เป็นนิมิตหมายอันดีว่าสภาเด็กและเยาวชนไทยกำลังก้าวไปข้างหน้า

เหลือเพียงแรงสนับสนุนจากรัฐเท่านั้นว่าจะกล้ามอบอำนาจและอิสระให้มากน้อยเพียงใด

“เราเข้าใจเลยว่าสภาเด็กแทบทุกระดับไม่ได้เป็นอิสระอย่างแท้จริงและไม่มีทรัพยากร การมีทรัพยากรคือการมีอำนาจ การมีเครื่องมือเข้าถึงเพื่อนๆ ที่เป็นเด็กด้วยกันคืออำนาจแบบหนึ่งของเขา” โชติเวชญ์แสดงความเห็น แน่นอนว่าทรัพยากรและเครื่องมือดังกล่าวย่อมหมายถึงงบประมาณ ซึ่งผู้ใหญ่มักคัดค้านเรื่องเปิดโอกาสให้สภาเด็กถือเงินด้วยตัวเองมาตลอด

“เคยมีนักวิชาการเสนอว่าอย่าให้สภาเด็กถือเงิน หน่วยงานรัฐเป็นคนถือแล้วให้น้องๆ เป็นคนทำ สำหรับเราคือสภาเด็กต้องถือเงินเองเลย ควรมอบทรัพยากรให้เขาไปทำงาน และต้องสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง

“ถ้าเขาทำผิดขึ้นมาก็ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เราต้องยอมรับให้ได้ว่าคนทุนคนมีศักยภาพ เด็กในสภาเด็กไม่ใช่เด็กอมมือ เขาต้องรับผิดชอบตัวเองให้ได้เมื่อก้าวเข้ามารับตำแหน่ง ถูกฟ้องได้ ดำเนินคดีได้ อาจจะมีกฎหมายที่อะลุ้มอล่วยอยู่บ้าง แต่อย่างเขาต้องได้บริหารเอง และมีกลไกคอยตรวจสอบ”

ในสายตาของโชติเวชญ์ คงไม่มีห้วงเวลาใดเหมาะเจาะต่อการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาสภาเด็กไปมากกว่าห้วงยามนี้อีกแล้ว – ยามที่เด็กและเยาวชนต่างลุกฮือขึ้นมา คิดอ่านวิพากษ์ปัญหาในสังคมกันอย่างกว้างขวาง เปี่ยมไปด้วยไฟฝันและความคิดสร้างสรรค์ รัฐจึงควรทำให้สภาเด็กกลายเป็นกลไกทางการสำหรับใครก็ตามที่มุ่งมาดอยากพัฒนาประเทศก้าวเข้ามาขับเคลื่อนอุดมการณ์ โดยมอบอิสระและงบประมาณสนับสนุนเต็มที่

“เพราะเราเห็นแล้วว่าทุกวันนี้กลยุทธ์กดปราบเด็กใช้ไม่ได้ผลอีกต่อไป เราต้องกลับมาทบทวนบทบาทของสภาเด็กกันใหม่ ให้เป็นหนึ่งในแพลตฟอร์มที่ช่วยส่งเสริมประชาธิปไตย”

ท้ายที่สุดแล้ว โชติเวชญ์เสนอว่านอกจากสร้างพื้นที่ทำงานของเยาวชนโดยสมบูรณ์ อีกหนึ่งศักยภาพของสภาเด็ก –โดยเฉพาะในระดับประเทศที่เป็นไปได้คือเป็นเวทีบ่มเพาะนักการเมืองรุ่นเยาว์

“จากประสบการณ์ที่ผ่านมา เด็กและเยาวชนที่ก้าวเข้าสู่งานระดับชาติ ส่วนใหญ่เป็นเด็กที่สนใจงานทางการเมือง อยากทำงานกับพรรคการเมือง แต่ที่ผ่านมักมีข้อห้ามไม่ให้สภาเด็กแห่งชาติยุ่งเกี่ยวกับเรื่องการเมือง ซึ่งเราคิดว่าควรจะเปลี่ยน

“ในอนาคตข้างหน้า เราอยากให้เขาทำงานกับนักการเมือง กับผู้มีอำนาจ สภาเด็กกลายเป็นพื้นที่การเรียนรู้ทักษะด้านการเมืองจากการร่วมงานเชิงนโยบายหรือได้รับการอบรมจากพรรคการเมืองแต่ละพรรค ทั้งพรรคฝ่ายรัฐบาลและพรรคฝ่ายค้าน สุดท้ายมีสนามทดลองงานคือสนามตัวแทนเด็กและเยาวชน ส่งเสียงเกาะติดไปกับสภาผู้แทนราษฎรแทนการนั่งในคณะกรรมการต่างๆ”  

“ที่สำคัญอยากให้เปิดรับเด็กทุกกลุ่ม จะเป็นเด็กแบบนักเรียนเลวหรือกลุ่มไหนก็สามารถเข้ามาได้ การสร้างระบบให้เฟรนด์ลี่เพื่อตอบรับคนรุ่นใหม่ และมีพื้นที่เรียนรู้ทักษะจากพรรคการเมืองจะเป็นแรงจูงใจให้โฉมหน้าสมาชิกสภาเปลี่ยน”

เมื่อกระดุมเม็ดแรกเปลี่ยน โครงสร้างและจุดยืนของสภาเด็กก็จะเปลี่ยนตาม – โชติเวชญ์เชื่อมั่นและบอกกับเราเช่นนั้นก่อนจบบทสนทนา


สภาเด็กยังคงต้องไปต่อ ข้อเสนอสร้างกระบอกเสียงเยาวชน


หากกล่าวสรุปปัญหาในสภาเด็กและเยาวชนของไทยอย่างย่นย่อโดยอ้างอิงจากปากคำคนทั้งสาม สิ่งที่ชัดเจนที่สุดคงหนีไม่พ้นปัญหาด้านงบประมาณ ซึ่งไม่เพียงพอต่อการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง ซ้ำยังมีแนวโน้มลดลงในแต่ละปี และผูกโยงกับปัญหาด้านอิสระในการทำงาน ดังที่มีตัวอย่างว่าสภาเด็กเบิกของบจัดโครงการได้เท่าที่รัฐกำหนดขอบเขตมาให้ กระทั่งจะจัดกิจกรรมอย่างไรก็ต้องเกรงใจ ‘พาร์ตเนอร์’ ผู้ถือเงินอย่างกรมกิจการเด็กและเยาวชน หรือบ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัด

ถัดมา คือปัญหาขาดบทบาทเชิงนโยบาย อันมีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากความเหลื่อมล้ำเชิงอำนาจระหว่างผู้ใหญ่ในภาครัฐกับเด็ก วัฒนธรรมของสังคมไทยที่ส่งผลให้ผู้ใหญ่มักเมินเฉยต่อเสียงเรียกร้องของเยาวชน เห็นเด็กเป็นเพียง ‘ไม้ประดับ’ ในวงประชุม ไปจนถึงบางครั้ง ผู้ใหญ่เองก็ไม่เชื่อมั่นในศักยภาพของเยาวชนและไม่เห็นความสำคัญของการทำงานร่วมกัน

อีกหนึ่งปัญหาที่ไม่อาจมองข้ามจากบทสนทนา คือปัญหาด้านความเป็นตัวแทนที่ดี จากการที่สมาชิกส่วนใหญ่ในสภาเด็กมักเข้ามาทำงานผ่านการชักชวน คัดเลือกโดยผู้ใหญ่ มากกว่าคัดเลือกโดยเด็กและเยาวชนอายุไม่เกิน 25 ปีตามที่กฎหมายระบุไว้ ทำให้ผู้แทนเสียงของเด็กอาจไม่มีความหลากหลายเท่าที่ควร

ทั้งนี้ ศูนย์คิด ฟอร์ คิดส์ โดย 101 Public Policy Think Tank ได้เสนอทางแก้ปัญหาสภาเด็กและเยาวชนไทย เริ่มด้วยการกำหนดให้สมาชิกสภาเด็กจำนวน 2 ใน 3 มาจากการเลือกตั้งทางตรงโดยเด็กและเยาวชนอายุ 12-25 ปี ผ่านช่องทางออนไลน์และสถานศึกษา เพื่อลดต้นทุน เพิ่มการเข้าถึง และสมาชิกที่เหลือมาจากการสุ่มประชากรอายุ 15-25 ปีทั่วประเทศ เพื่อสร้างความหลากหลายของตัวแทน ทั้งด้านพื้นที่ สถานะทางเศรษฐกิจ ภูมิหลังการศึกษา ฯลฯ

ต่อมาคือการแก้ปัญหาอิสระและงบประมาณ นอกจากการเพิ่มงบให้สภาเด็กแล้ว รัฐอาจพิจารณาเพิ่มแหล่งงบประมาณอื่นๆ เช่นที่ประเทศเดนมาร์ก มีการจัดสรรเงินที่ได้รับจากสลากกินแบ่งรัฐบาลให้สภาเยาวชนเพิ่มเติม ขณะเดียวกัน เราควรเพิ่มอิสระให้สภาเด็กได้ทำงาน ด้วยการแก้ไขกฎหมายห้ามหน่วยงานที่ดูแลเข้ามาแทรกแซงจุดยืน-ปิดกั้นความเห็นของสภา หรือเปลี่ยนให้สภาเด็กอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยมีสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรคอยสนับสนุน เพราะประธานสภาผู้แทนราษฎรไม่ใช่ผู้ตัดสินใจด้านนโยบาย และเป็นกลางตามที่มีบัญญัติทางกฎหมาย จึงไม่มีเหตุแทรกแซงการทำงานของสภาเยาวชน

ยิ่งไปกว่านั้น ควรกำหนดให้รัฐสภา คณะรัฐมนตรี และหน่วยงานรัฐส่งร่างกฎหมาย – นโยบายที่อาจส่งผลกระทบต่อเด็กและเยาวชนให้สภาเด็กแห่งชาติพิจารณาให้ความเห็นก่อนดำเนินการ รวมถึงมีอำนาจร่วมตัดสินใจเชิงนโยบาย และเสนอร่างกฎหมายไปยังสภาผู้แทนราษฎร รัฐมนตรีได้โดยตรง ขณะที่สภาเด็กระดับจังหวัดและท้องถิ่นจะมีอำนาจในแบบเดียวกัน ต่างเพียงแค่ร่วมทำงานกับหน่วยงานของจังหวัดและท้องถิ่นเป็นหลักเท่านั้น

สำคัญที่สุด สภาเด็กและเยาวชนในโลกสมัยใหม่ควรทำหน้าที่เป็น ‘สะพาน’ เชื่อมรัฐและเยาวชนทั่วไป ผ่านการเป็นเจ้าภาพจัดกิจกรรมรับฟังเสียงจากเด็ก เปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนนอกสภาสามารถเข้ามาเป็นคณะกรรมาธิการและผู้แทนในสภาตามสัดส่วนที่เหมาะสม ไปจนถึงเปิดโอกาสให้เยาวชนในพื้นที่สามารถเสนอโครงการเพื่อของบประมาณไปดำเนินการ และเปิดให้เด็กคนอื่นลงคะแนนเสียงเพื่อตัดสินใจเลือกโครงการได้ตามระบบประชาธิปไตย

กล่าวได้ว่าสภาเด็กและเยาวชนคือกลไกของรัฐที่เปี่ยมไปด้วยความเป็นไปได้หลากหลายรูปแบบ ทั้งพื้นที่เอื้ออำนวยให้เยาวชนมาร่วมตัดสินใจเชิงนโยบายดำเนินประเทศ กระบอกเสียงแห่งอุดมการณ์คนรุ่นใหม่ เวทีสรรค์สร้างยุวชนนักการเมือง ตัวประสานความสัมพันธ์ระหว่างรัฐและผู้มีอำนาจด้อยสุดในสังคม ฯลฯ

แต่สุดท้ายแล้วจะดำเนินไปทิศทางไหน คงขึ้นอยู่กับว่าผู้ใหญ่จะมองเห็นความสำคัญของเด็กและเยาวชนมากน้อยเพียงใด และถึงเวลาเปิดใจรับฟังเสียงบ้างหรือยัง?



ผลงานชิ้นนี้เป็นความร่วมมือระหว่าง the101.world และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save