fbpx
สังคมไทยในมือม็อบรุ่นเล็ก : การต่อสู้ของเด็กมัธยมที่มีอนาคตเป็นเดิมพัน

สังคมไทยในมือม็อบรุ่นเล็ก : การต่อสู้ของเด็กมัธยมที่มีอนาคตเป็นเดิมพัน

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์ เรื่อง

เมธิชัย เตียวนะ ภาพ

 

‘ตอนอายุเท่านั้น เราทำอะไรอยู่วะ’ คือประโยคคำถามที่ได้ยินไม่รู้กี่หนต่อกี่หน เมื่อคนกล่าวถึง ‘ม็อบมัธยม’

นับครั้งไม่ถ้วนที่เด็กวัยเรียนทำให้ผู้คนอึ้งและทึ่ง ด้วยอายุที่ยังน้อยแต่หาญกล้า ยืนหยัดเพื่อเรียกร้องประชาธฺิปไตย น้ำเสียงและท่าทีมาดมั่นยามปราศรัยต่างทำให้ใครๆ อ้าปากค้าง — ยุคสมัยกำลังเปลี่ยนไป เราต่างรู้แก่ใจยามเห็นโบว์สีขาวปลิวไหวบนผมหางม้าของพวกเขา

แต่ฟ้าไม่ได้เปลี่ยนอย่างไร้จุดหมาย ปรากฏการณ์เด็กวัยรุ่นออกมาทำหน้าที่พลเมืองในสังคมประชาธิปไตย การชุมนุมหน้าโรงเรียน ไปจนถึงหน้ากระทรวงศึกษาธิการ ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างไร้เหตุผล

ในช่วงที่การชูสามนิ้วฮิตกว่ามินิฮาร์ต ติดโบว์ขาวเท่กว่าแฟชั่นไหนๆ และม็อบนักเรียนนักศึกษายังเดินหน้าต่อเนื่อง นักเรียนจากกลุ่ม #เกียมอุดมจะไม่ก้มหัวให้เผด็จการ  #สวที่อยู่ข้างประชาธิปไตย และหนึ่งนักเรียนที่ขึ้นปราศรัยบนเวที #อีสานสิบ่ทน สนทนากับเรา เพื่อทำความเข้าใจปรากฏการณ์ ‘เด็กรุ่นใหม่’ ทั้งเบื้องหลังการเคลื่อนไหวของม็อบมัธยม การเมืองทั้งในและนอกรั้วโรงเรียน ผลกระทบที่ได้รับในฐานะ ‘เยาวชน’ ไปจนถึงความฝันและความหวังของพวกเขาที่มีต่อสังคมไทย

ทำไมและอย่างไร มีเพียงพวกเขาที่ตอบได้

 

#เกียมอุดมไม่ก้มหัวให้เผด็จการ

นักเรียน-นักเคลื่อนไหวในโรงงานผลิตพลเมือง

 

 

ห้างใหญ่ใจกลางเมืองคือที่นัดพบ 2 นักเรียนจากกลุ่ม #เกียมอุดมไม่ก้มหัวให้เผด็จการ กลุ่มนักเรียนจากโรงเรียนหัวกะทิที่ออกมาจัดแฟลชม็อบยืนไว้อาลัยให้ประชาธิปไตยตั้งแต่ช่วงเหตุการณ์ยุบพรรคอนาคตใหม่ในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 พวกเขาดำเนินกิจกรรมต่อเนื่องทันทีที่โรงเรียนเปิดเทอมในเดือนกรกฎาคม มีกิจกรรมที่หลายคนจดจำเช่น แฟลชม็อบ #แจวเรือตามหาประชาธิปไตย และยังใช้โซเชียลมีเดียในการสื่อสารจุดยืนและแสดงความคิดเห็นทางการเมืองอย่างสม่ำเสมอ

ท่ามกลางความพลุกพล่านของผู้คน วัยรุ่นสองคนในวัยเพียงแค่ 18 ปี อยู่ในชุดนักเรียนหญิง ผูกโบว์สีขาวไว้ที่กระเป๋าเป้ ดูกลมกลืนไปกับนักเรียน ม.ปลาย อีกหลายคนในย่านนี้

เมื่อเริ่มยิงคำถามแรก พวกเธอสบตากันอย่างแน่วแน่ และใช้สันติวิธีในการตัดสินว่าใครจะเป็นผู้ตอบคำถามก่อน ‘ขนมปัง’ (นามสมมติ) ออกกระดาษ ส่วน ‘แยม’ (นามสมมติ) ออกกรรไกร สิ้นเสียง ‘เป่ายิงฉุบ’ เรื่องเล่าว่าพวกเธอสนใจการเมืองได้อย่างไรจึงเริ่มขึ้น

“ช่วงก่อนรัฐประหาร 2557 ครอบครัวเราไปม็อบ กปปส. เราก็เข้าใจว่าเป็นเรื่องดี แต่เมื่อเราเรียนอยู่ ม.ต้น ประเทศตกอยู่ใต้รัฐบาลทหาร เราก็เริ่มตั้งคำถาม” ขนมปังเล่า

“เริ่มมาจากครูคนนึงที่โรงเรียนเก่า เขาเป็น กปปส. จำได้ว่าเขาอินกับความเป็นชาติไทยมาก เขาจะห้อยนกหวีดมาสอน เวลาโฮมรูมก็จะพูดแต่เรื่องชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ แต่มีครั้งนึงอยู่ๆ เขาก็เอาไม้ไผ่หนาๆ มาตีเพื่อนเราเกือบครึ่งห้อง เพราะไม่ชอบหน้าเด็ก EP (นักเรียนในหลักสูตรภาษาอังกฤษ) เพราะเขารู้สึกว่าการเรียนกับฝรั่งเป็นเรื่องที่ไม่เข้ากับบรรทัดฐานของเขา”

แม้ไผ่หนาจะไม่ได้ฟาดลงที่ร่างกายของขนมปัง แต่พลังของมันก็ปลุกให้เธอตื่นรู้และตั้งคำถามว่าเหตุใดคุณครูที่พร่ำบอกเรื่องความรักชาติให้กับเธอจึงกระทำความรุนแรงอย่างไม่สมเหตุสมผลเช่นนี้ นั่นเป็นครั้งแรกที่เริ่มตระหนักถึงสิทธิมนุษยชน และมองเห็นการเมืองภาพใหญ่สะท้อนอยู่ในโรงเรียน

ขนมปังติดตามการร้องเรียนเพื่อเอาผิดครูที่กระทำความรุนแรงต่อเด็ก แต่กลับพบว่าครูคนนี้ไม่เคยถูกลงโทษ ซ้ำยังมีอำนาจของผู้บริหารคอยปกป้อง พร้อมกันกับคืนวันที่การเมืองร้อนแรงขึ้น เมื่อเธออ่านเรื่องการเมืองในโซเชียลมีเดีย จึงพบว่าเสียงสะท้อนของผู้คนไม่แตกต่างอะไรจากประสบการณ์ของเธอ

“มีคนไม่ประสีประสาอีกมากที่ถูกกระทำหรือกลั่นแกล้งโดยอำนาจบางอย่างที่อยู่เหนือเรา” เธออธิบายสองโลกที่อาศัยอยู่ไว้ในประโยคเดียว

ไม่ต่างจากขนมปัง ‘แยม’ เติบโตในครอบครัวที่ชื่นชม ‘ลุงกำนัน’ เธอโตมาโดยเห็นนกหวีดและผ้าคาดลายธงชาติวางอยู่ในบ้านจนชินตา และแม้ครอบครัวจะไม่ได้พูดเรื่องการเมืองกับเธอโดยตรง ไม่เคยถูกบอกว่านักการเมืองคนไหนเป็นคนชั่ว แต่สิ่งที่เธอได้ยินโดยธรรมชาติยามดูทีวีกับครอบครัว คือการพูดถึงคนกลุ่มหนึ่งว่าเป็น ‘พวกเผาบ้านเผาเมือง’ โดยไร้คำอธิบาย

“เราก็ฟัง ซึมซับมา เป็นข้อมูลเกี่ยวกับการเมืองชุดแรกในชีวิต คือฝ่ายหนึ่งไม่ดี พอปี 57 มีรัฐประหาร เราก็ไม่รู้ด้วยซ้ำว่ารัฐประหารส่งผลเสียอย่างไร

“แต่บ้านเราก็ไม่เคยสั่งว่าอย่าไปยุ่งเรื่องการเมือง ครั้งหนึ่งเราเลยเข้าไปส่องเฟซบุ๊กคุณยิ่งลักษณ์ (ชินวัตร) แล้วก็ไปเจอคนให้กำลังใจเขา ไปคอมเมนต์ว่าคิดถึงเขา อะไรแบบนี้ เรารู้สึกว่า เออ จริงๆ คนทั้งโลกก็ไม่ได้เกลียดเขานี่ บ้านเราก็ไม่ได้ represent ความคิดของคนทั้งโลก”

โรงเรียนเป็นอีกสถานที่ที่สอนเรื่องการเมืองให้แยมโดยธรรมชาติ เมื่อเธอเรียนอยู่ชั้น ม.3 เพื่อนของแยมคนหนึ่งโดนคุณครูใช้กรรไกรไถผมจนแหว่งขณะเข้าแถวเคารพธงชาติ ท่ามกลางสายตาของนักเรียนทุกชั้น มีช่างภาพประจำโรงเรียนจับภาพเอาไว้ได้ เธอเล่าว่าหลายคนในเหตุการณ์มองเป็นเรื่องขำๆ รวมถึงเธอและเพื่อนที่ถูกไถผมด้วย กระทั่งภาพดังกล่าวถูกเผยแพร่ในเพจของโรงเรียน กระแสวิพาษ์วิจารณ์ก็ถาโถมเข้ามาจนเธอเอะใจ

“เขาบอกว่าทำไมอาจารย์ตัดผมเด็กแบบนี้ สร้างความอับอายรึเปล่า บางคนก็เถียงว่าอาจารย์เขาตัดเพราะคุณไม่ยอมตัดมาตามกฎ แต่เรามานั่งคิด เผอิญวันที่อาจารย์ลงโทษป็นวันพฤหัสฯ แล้ววันพุธก็เป็นวันที่รู้กันว่าร้านตัดผมแทบทุกร้านไม่เปิด เพื่อนจะหาทางตัดผมได้อย่างไร คิดดูแล้วมันก็ไม่สมเหตุสมผลจริงๆ เราเลยเริ่มรู้สึกว่า หรือจริงๆ แล้วมันเป็นการละเมิดสิทธิ เป็นสิ่งที่เราไม่เคยนึกถึงมาก่อน”

เมื่อเข้าสู่ ม.ปลาย ในโรงเรียนชื่อดัง แยมบอกว่าเธอเปิดโลกมากขึ้น โซเชียลมีเดียทำให้เธอได้รับข้อมูลจากหลายทาง คนเริ่มถกเถียงกันเรื่องสิทธิ พูดถึงการตัดผมเด็กกลางแถว การลงโทษด้วยการตี ว่าเป็นการละเมิดสิทธิและผิดกฎหมาย หลายข้อถกเถียงและสิ่งที่เห็นมากับตาทำให้เธอเริ่มเข้าไปมีส่วนร่วมผลักดันเรื่องสิทธิในระบบการศึกษากับกลุ่มเคลื่อนไหวกลุ่มหนึ่ง

“เราผลักดัน ทำงานมาเรื่อยๆ สุดท้ายไปติดอยู่ที่กฎกระทรวง สุดท้ายทุกอย่างไปโยงกับการเมือง ไม่ว่าจะเป็นสิทธิสตรี สิทธิเด็ก หรือสิทธินักเรียน แล้วก็ทำให้เราคิดว่า ทำไมกฎกระทรวงถึงต้องพยายามจำกัดรูปแบบของคนด้วย ทำไมต้องจำกัดทรงผมให้เหมือนกัน จำกัดการแต่งกาย เอาชุดนักเรียนไปผูกกับความเป็นนักเรียน ทั้งที่มันไม่ได้เกี่ยวอะไรกับหน้าที่ หรือเป็นการปลูกฝังคนให้โตมาเป็นแบบหนึ่ง โรงเรียนเลยเป็นเหมือน…เหมือน…” เธอนิ่งคิด ขมวดคิ้วมุ่น ก่อนที่ขนมปังเพื่อนร่วมอุดมการณ์ที่นั่งข้างกันจะช่วยตอบ

“เหมือนโรงงานผลิตพลเมือง” ทั้งสองจะพยักหน้าให้กันว่าคำนี้เข้าท่า ก่อนแยมจะอธิบายต่อ

“ในโรงงาน ผลผลิตจะอยู่ในรูปทรงเดียวกัน โตขึ้นมาโดยถูกปลูกฝังให้เชื่อฟังระบบอำนาจนิยม ความอาวุโสในโรงเรียนเกิดขึ้นเพื่อเวลาเราออกมาในสังคมใหญ่ เราจะได้ไม่ตั้งคำถาม โรงเรียนเป็นสังคมจำลองของสังคมข้างนอก เหมือนกันเป๊ะเลย คนที่เป็นผู้อาวุโสในสังคมกับครูที่เป็นผู้อาวุโสในโรงเรียนก็คล้ายๆ กัน เขาจะกำหนดบทบาทให้เราทำ แล้วถือสิทธิว่าถ้าเราทำนอกเหนือจากที่เขาสั่ง เขามีสิทธิทำอะไรกับเราก็ได้”

 

 

เมื่อถามถึงจุดเริ่มต้นของกลุ่ม #เกียมอุดมไม่ก้มหัวให้เผด็จการ ทั้งสองเอ่ยพร้อมเสียงหัวเราะว่า

“ถ้าโรงเรียนคือโรงงานผลิตพลเมืองที่เชื่อฟัง กลุ่มเราก็เหมือนเอาสินค้าตก QC มารวมกันค่ะ”

เมื่อเห็นระบบโรงงานพลเมือง พวกเธอและเพื่อนๆ อีกจำนวนหนึ่งยืนยันจะไม่เป็น ‘ผลผลิตที่ดี’ ของผู้มีอำนาจ แต่จะเป็นมนุษย์ที่มีความเป็นมนุษย์ และต่อสู้กับความอยุติธรรมทุกรูปแบบ กลุ่มเกียมอุดมฯ เริ่มรวมตัวกันทำแฟลชม็อบครั้งแรกหลังปรากฏการณ์ยุบพรรคอนาคตใหม่ในเดือนกุมภาพันธ์ พวกเธอกล่าวว่าเหตุการณ์การยุบพรรคไม่ใช่ต้นเหตุ แต่เป็น ‘ฟางเส้นสุดท้าย’ ที่ตอกย้ำความคับข้องใจต่อระบบ

“จุดยืนของเราตั้งแต่แรกเริ่มจนทุกวันนี้คือการต่อต้านเผด็จการและอำนาจนิยมทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นสเกลใหญ่ สเกลเล็ก ตั้งแต่ระบบโซตัสไปจนถึงเผด็จการระดับประเทศ เราเห็นผู้นำเผด็จการละเมิดสิทธิ คุกคามประชาชน ใช้วิธีที่ไม่เป็นธรรมทั้งนอกกติกาและในกติกาการเมือง นี่เป็นสิ่งที่เรายอมรับไม่ได้”

จากสมาชิกจำนวนนับนิ้วมือได้ พวกเธอเริ่มได้รับความช่วยเหลือจากเพื่อนๆ ในกิจกรรมต่อๆ มา เมื่อจัดงาน #แจวเรือตามหาประชาธิปไตย แยมและขนมปังในฐานะสมาชิกดั้งเดิมก็ช่วยกันอำนวยความสะดวกสร้างพื้นที่ให้เพื่อนๆ ที่ ‘ทนไม่ไหว’ ได้ออกมาส่งเสียงด้วยกัน วิ่งตามหานักร้องนำที่จะคอยร้อง ‘แจวมาแจวจ้ำจึก’ ได้ปังที่สุด หาคนตีกลองให้จังหวะการชุมนุมเต็มไปด้วยความฮึกเหิม’ หาคนนำสันทนาการสร้างความสนุกสนาน อย่างที่พวกเธอย้ำว่า กลุ่มเกียมอุดมฯ ยืดหยุ่น หลากหลาย และไม่จำกัดว่าใครทำหน้าที่อะไร

จากแฟลชม็อบแรกต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันที่กระแสการชุมนุมสะพัดไปทุกทิศ กลุ่มเกียมอุดมฯ ยังจัดกิจกรรมชุมนุมอย่างต่อเนื่อง สตาร์ตจากเรื่องยุบพรรค ไปถึงการถามหาอนาคตของพวกเธอท่ามกลางการเมืองที่บิดเบี้ยว

“คนบอกว่าเราเป็นอนาคตของชาติ เราคิดว่าการกำหนดอนาคตไม่ใช่เรื่องของปัจเจกบุคคล แต่คือการที่ปัจเจกบุคคลมารวมกันเป็นสังคมแล้ววาดภาพอนาคตด้วยกันบนผ้าใบโล่งๆ แต่สังคมตอนนี้กลายเป็นภาพวาดยุ่งเหยิงที่เผด็จการสร้างไว้ มียุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่ชี้นำอนาคต มีการทำลายทรัพยากรธรรมชาติโดยเกิดจากนโยบายรัฐที่เน้นแต่ผลประโยชน์ เราจึงต้องการฉีกผ้าใบผืนนี้ออก แล้วเอาผ้าใบโล่งเปล่ามากางให้ประชาชนได้เขียนร่วมกัน

“นี่เป็นสาเหตุที่เราต้องหยุดอำนาจเผด็จการ พอมีการชุมนุมของเยาวชนปลดแอกแล้วมีข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ซึ่งอาจนำไปสู่การฉีกผ้าใบผืนนี้ได้ ข้อเรียกร้องของเราจึงเพิ่มขึ้นมาอยู่จุดเดียวกับหลายๆ กลุ่มการเมืองคือ หยุดคุกคามประชาชน ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และยุบสภา”

แยมและขนมปังตระหนักดีว่าเพื่อนๆ ในหลายโรงเรียนมีราคาที่ต้องจ่ายต่างออกไป ความขัดแย้งระหว่างครูและนักเรียนร้อนแรงขึ้นหลังปรากฏการณ์ผูกโบว์ขาวและชูสามนิ้วตอนร้องเพลงชาติ ตัวอย่างตามข่าวหรือเรื่องเล่าจากเพื่อนที่รู้จักกันผ่านโซเชียลมีเดียแสดงให้เห็นว่ามีนักเรียนหลายคนถูกลงโทษและได้รับผลกระทบที่หนักหนา ทั้งสองกล่าวว่าตนเองได้รับการปฏิบัติที่ต่างออกไป เพราะผู้ใหญ่ยกย่องสถานะ ‘หัวกะทิ’ ไว้ และละเว้นพวกเธอ

“ครูโรงเรียนเราอาจมองว่าถ้าทำอะไรกับเด็กที่นี่ เรื่องไปไกลแน่นอน เพราะคุณจะขึ้นชื่อว่าเป็นอาจารย์ที่คุกคามเด็กหัวกะทิ กลายเป็นว่าเรามีคำว่าหัวกะทิปกป้อง แต่พอเพื่อนๆ โรงเรียนอื่นทำ กลับมีผลอีกแบบ อย่างซอฟต์เขาก็ลดทอนว่าเป็นแค่เทรนด์ ‘ทำแล้วมันเท่ใช่มั้ย ครูรู้นะว่าเธอโดนนักการเมืองหลอกมา’ ทั้งที่จริงๆ ไม่ใช่”

“ส่วนปฏิกิริยาโต้ตอบแบบที่ไม่ซอฟต์คือการทำร้ายจิตใจ ทำร้ายร่างกาย ตัดสิทธิในการศึกษา มันเป็นเรื่องที่เรารับไม่ได้ เหมือนเขามองว่าความอยู่รอดปลอดภัยในเก้าอี้ของตัวเองสำคัญกว่าเด็กที่มีเลือดมีเนื้อ เขาสามารถทำร้ายจิตใจเด็ก ทำให้เด็กมีแผลใจไปตลอดชีวิต เขาสามารถไปแจ้งผู้ปกครอง ทำให้ผู้ปกครองตัดการซัพพอร์ตเด็ก ทอดทิ้งเด็ก เพียงเพราะสนองความใคร่ทางศีลธรรมของตัวเอง”

ในฐานะนักเรียนชั้น ม.6 ทั้งคู่กำลังอยู่ในช่วงที่คิดถึงอนาคตและทางเดินต่อจากนี้ของตัวเอง แยมเล่าว่าสนใจเรียนด้านดาราศาสตร์ แต่เมื่อพยายามหาข้อมูลในอินเทอร์เน็ตก็เจอแต่ความเห็นว่า ไม่มีที่ทางให้คนเรียนดาราศาสตร์ในไทย ตอนนี้เธอจึงเบนเข็มไปในสายจิตวิทยาและปรัชญา

ส่วนขนมปังตั้งใจจะศึกษาต่อด้านนิติศาสตร์ และยังเปรยว่าสุดท้ายชีวิตอาจจะวิ่งเล่นอยู่ในสนามการเมืองก็เป็นได้

นอกจากความฝันส่วนตัว ทั้งคู่ยังเฝ้าฝันถึงสังคมที่อยากเห็น พวกเธอเปรียบว่าสังคมที่ดีจะต้องเหมือนลู่วิ่งที่ดี

“ลู่วิ่งที่ดีจะราบเรียบ การแข่งขันของแต่ละคนจะมาจากศักยภาพที่เขาควบคุมได้ มากกว่าสิ่งที่เขาควบคุมไม่ได้ คนวิ่งมีทั้งคนขาดี คนขาเจ็บ และคนที่ไม่สามารถวิ่งได้เร็ว สิ่งนี้รัฐต้องไปช่วยซัพพอร์ตให้เขาไปในจุดหมายที่เขาต้องการ และประสบกับความสุขในชีวิต นี่คือสังคมที่เราอยากเห็น”

 

 

#สวที่อยู่ข้างประชาธิปไตย

เสียงของยุคสมัย ที่หวังว่าผู้ใหญ่จะรับฟัง

 

 

หลังนักศึกษาลุกฮือออกมาแสดงความไม่พอใจต่อสังคมการเมืองในเดือนกุมภาพันธ์ นักเรียนในโรงเรียนที่ตั้งอยู่ใกล้กับอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ภายใต้ชื่อกลุ่ม #สวที่อยู่ข้างประชาธิปไตย เป็นนักเรียนกลุ่มแรกที่ลุกขึ้นมาจัดแฟลชม็อบ ถือป้าย และแสดงความเห็นต่อการเมืองอย่างแน่วแน่ เซอร์ไพรซ์ผู้คนมากมายด้วยพลังของเด็กวัยนี้

ก่อนการชุมนุมใหญ่หน้ากระทรวงศึกษาธิการที่กลุ่มสวฯ ร่วมกับกลุ่มนักเรียนเลวจะจัดขึ้นในวันที่ 5 กันยายนนี้ ‘น้ำ’ (นามสมมติ) และ ‘ฟ้า’ (นามสมมติ) ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มวัย 17 ปี ได้พูดคุยกับเราถึงเบื้องหลังการดำเนินกิจกรรม ชี้ให้เห็นว่าทำไมการเมืองถึงเป็นเรื่องของเด็กอย่างพวกเธอ

“หนูว่าการเมืองเป็นเรื่องของทุกคนนะคะ ขนาดผู้ใหญ่ที่พูดว่าการเมืองไม่ใช่เรื่องของเด็ก ยังเคยยัดความคิดของเขาใส่เด็กเล็กๆ ที่ไม่รู้เรื่องเลย” น้ำกล่าว ขณะที่ฟ้าให้เหตุผลว่า “ผู้ใหญ่ชอบคิดว่าเด็กยังอยู่ในวัยเรียน ตั้งใจเรียนไปดีกว่าไหม ซึ่งหนูก็คิดว่าเราตั้งใจเรียนได้และแสดงออกเรื่องการเมืองได้เหมือนกัน ไม่จำเป็นต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง”

“การเมืองอยู่รอบตัวเราทุกคน ตอนเด็กที่ต้องนั่งรถเมล์เหนื่อยๆ รอรถเมล์นานๆ นี่ก็การเมือง หรือบางทีแค่เดินไปตามถนนแล้วสะดุด นี่ก็การเมือง เราได้รับผลกระทบโดยตรง ยิ่งโตเป็นผู้ใหญ่ก็จะได้รับผลกระทบมากกว่านี้อีก ถ้าเราไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองตั้งแต่ตอนนี้ มันก็คงช้าไปแล้ว”

คำตอบฉะฉานถูกเอ่ยออกจากเด็กหญิงผมยาวสองคน ทั้งคู่มีรอยยิ้มน่ารักเป็นเครื่องประดับ ตอบคำถามอย่างสดใสแม้การสนทนาจะเกี่ยวข้องกับสังคมการเมืองที่บีบคั้นจนพวกเธอต้องก้าวออกมาต่อสู้

เมื่อถามถึงจุดเริ่มต้นที่ทำให้ทั้งสองสนใจเรื่องการเมือง ทั้งคู่ตอบเหมือนกันว่า ‘ทวิตเตอร์’ และโซเชียลมีเดียเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้พวกเธอได้รู้จักกับการเมืองและรับข้อมูลข่าวสารที่ไม่เคยรู้มาก่อน

“ช่วงยุครัฐประหารจะไม่ค่อยมีการเมืองในหน้าไทม์ไลน์ เพราะทุกคนจะรู้กันว่า ถ้าพูดแล้วจะส่งผลเสียต่อตัวเรา แต่หลังจากที่ผู้คนเริ่มโดนกดดันมากๆ แล้วก็เริ่มมีการเลือกตั้ง คนก็ออกมาพูดถึงการเมืองมากขึ้น หนูได้เจอกับบางเรื่องบางจุดที่คิดว่าเห็นด้วย ก็เลยติดตามการเมืองมาตลอด” ฟ้าเล่า

น้ำเสริมว่า ก่อนจะออกมาทำกิจกรรมทางการเมืองแบบออฟไลน์ พื้นที่ออนไลน์เป็นจุดเริ่มต้นการแอคทีฟเรื่องการเมือง และยังเป็นแหล่งข้อมูลสำคัญที่ช่วยสร้างบทสนทนาให้ได้ถกเถียงกันต่อในกลุ่มเพื่อน ขณะที่เธอกล่าวถึงโรงเรียนว่า “เป็นแหล่งความรู้ที่สอนตามตำราอย่างเดียว และไม่ค่อยเปิดประเด็นให้ถกเถียงกันนัก” ยิ่งในยุคสมัยที่พวกเธอเริ่มตั้งคำถามต่อระบอบเผด็จการ เธอก็ยิ่งรู้สึกว่าไม่มีพื้นที่ในการถกเถียง การสนับสนุนประชาธิปไตยกลายเป็นเรื่องที่ต้องปกปิด โดยมีหลักฐานยืนยันเป็นท่าทีของครูในโรงเรียน

“ครูในโรงเรียนมีหลายคน หลายแบบ บางคนก็ขวาจัด บางคนก็ซ้ายจัด เราสังเกตว่าครูที่มีความคิดก้าวหน้าจะอยู่ในมุมเงียบๆ เซฟตัวเอง แต่พอเป็นขวา เขากลับสปีกเอาต์ออกมาได้เลย

“ถ้าดูความแตกต่างตอนไปชุมนุม ยุค กปปส. มีรูปครูในโรงเรียนหลายคนใส่นกหวีดออกไป หรือใส่นกหวีดเดินในโรงเรียนเลย แต่ในช่วงนี้ ครูที่สนับสนุนพวกหนูหรือว่าที่ออกมาม็อบด้วยกันกลับต้องอยู่เงียบๆ ต้องคอยแอบยืนกับนักเรียน”

จุดที่ทำให้ความอัดอั้นของพวกเธอปะทุและเป็นที่มาของการรวมตัวกัน คือเหตุการณ์ยุบพรรคอนาคตใหม่ ประกายความหวังจุดติดจากม็อบของรุ่นพี่นักศึกษาที่ออกมาส่งเสียงกันอย่างคับคั่ง น้ำและฟ้าที่สนิทสนมจากการทำกิจกรรมด้วยกันอยู่แล้วจึงตัดสินใจจัดแฟลชม็อบขึ้นอย่างกะทันหัน

“หนูรู้สึกว่าเราก็เป็นเยาวชนคนหนึ่ง ทำไมไม่ออกมาแสดงจุดยืนของเราบ้าง ก็เลยคุยกับเพื่อน แล้วนัดแฟลชม็อบเลย มันฉุกละหุกมาก นัดตอนเที่ยงคืน ชุมนุมตอนบ่ายสามโมงของอีกวันนึง” น้ำเล่า

ในฐานะผู้ริเริ่มแฟลชม็อบ เมื่อโรงเรียนห้ามไม่ให้ชุมนุม น้ำจึงต้องเจรจากับคุณครูอยู่ในห้องปกครองจนไม่ได้ออกมาร่วมกับเพื่อนๆ คนอื่น

“ในห้องปกครองเขาพยายามคุยกับหนู โน้มน้าวว่าไม่จัดได้ไหม แต่หนูก็ยืนยันไปว่านัดไปแล้ว ยกเลิกไม่ได้ ในโรงเรียนวันนั้นก็มีตำรวจเข้ามาเยอะ เพื่อนหลายคนที่กำลังจะออกไปก็รู้สึกไม่ปลอดภัยกัน บวกกับเขาปิดประตูโรงเรียนไม่ให้ออก หลายคนจึงไม่ได้ร่วมชุมนุม แต่โชคดีที่เพื่อนคนอื่นๆ เขามาจากข้างนอก ไปรวมกันอยู่ตรงหน้าแมคโดนัลด์จนได้ชุมนุม”

น้ำเล่าว่าในช่วงแรก การที่เธอเป็นเด็กดี ช่วยงานครูมาตลอด ชีวิตในโรงเรียนของเธอจึงยังปกติสุขไม่ได้มีผลกระทบหรือการกดดันจากคุณครู แต่ยิ่งดำเนินกิจกรรมนานขึ้น ครูหลายคนก็เริ่มเพ่งเล็ง

“หลังๆ หนูก็เริ่มรู้สึกว่าตัวเองได้รับผลกระทบขึ้นมาบ้าง อย่างล่าสุดที่เรากำลังวางแผนกัน ครูหลายคนเริ่มมองแล้วก็ซุบซิบกันว่า เฮ้ย คนนี้เหรอ บางคนก็เริ่มเรียกไปคุย แต่ก็ไม่ได้มีการคุกคามรุนแรง”

 

 

หลังจากแฟลชม็อบครั้งแรก กลุ่มสวฯ เริ่มสื่อสารเรื่องการเมืองอย่างต่อเนื่องผ่านทางทวิตเตอร์ โดยมีน้ำและฟ้าเป็นผู้ดูแลคอยอัพเดตข่าวสาร ฟ้าเล่าว่าครั้งหนึ่งคุณครูเคยมาพูดคุยกับเธอโดยไม่รู้ว่า เธอเองที่เป็นผู้ดูแลทวิตเตอร์นี้ เธอจึงได้สื่อสารกับคุณครูด้วยท่าทีที่รับฟัง

“เขาบอกหนูว่า เล่าให้ฟังหน่อยได้ไหมว่าข้างนอกเกิดอะไรขึ้น ครูส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าเขาประท้วงกันทำไม และพอเขาไม่รู้ว่าหนูเป็นคนจัดทำทวิตเตอร์ เขาก็เลยพูดว่า ครูเคารพสิทธิของพวกเธอนะ จะทำอะไรก็แล้วแต่ แต่ครูไม่ชอบแอคเคาต์นี้เลย เพราะโจมตีโรงเรียน”

ความไม่พอใจของคุณครูนั้น อาจมีที่มาจากการที่น้ำและฟ้าตั้งคำถามต่อโรงเรียนผ่านการสื่อสารทางทวิตเตอร์ในหลายประเด็น เช่น กรณีม็อบของเยาวชนปลดแอกในวันที่ 18 ก.ค. ที่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไปในโรงเรียนสตรีวิทยาเพื่อใช้เป็นศูนย์บัญชาการ

“คนเขาสงสัย รวมทั้งพวกหนูก็สงสัยว่ามันคืออะไร ตอนที่เราจะจัดแฟลชม็อบในโรงเรียนเขายังไม่ให้จัดเลย เพราะเขาบอกว่าต้องเป็นกลาง แต่ทำไมในวันนั้นกลับให้ฝ่ายตำรวจเข้าไปในโรงเรียน ทำให้ผู้ประท้วงรู้สึกไม่สบายใจ แล้วตึกโรงเรียนหนูเป็นตึกสูง สมมติว่ามีใครขึ้นไปบนตึกได้ มันอันตรายมาก ข้อนี้โรงเรียนเขาก็มายืนยันกับพวกหนูทีหลังว่าไม่มีคนขึ้นตึก แต่ก็ยังไม่ได้มีแถลงการณ์ต่อสาธารณชนเลย”

“โรงเรียนเขาจะไม่ชอบให้เราตั้งคำถามหรือวิจารณ์ค่ะ เขาจะรู้สึกว่าทำไมเราถึงสงสัย ทั้งๆ ที่เขาหวังดี แต่เราทุกคนมีสิทธิสงสัยและตั้งคำถามต่อองค์กรที่เราอาศัยอยู่ เราตั้งคำถามเพื่ออยากให้มันดีขึ้น” น้ำกล่าว

แม้จะมีแรงเสียดทาน ถูกตั้งคำถามจากผู้ใหญ่ในโรงเรียน แต่ทั้งสองยืนยันว่าการต่อสู้ของพวกเธอเป็นการต่อสู้ระหว่างอุดมการณ์ ไม่ใช่การต่อสู้กับคนต่างเจเนอเรชัน เพราะในทางเดินการต่อสู้นี้พวกเธอยังได้รับการสนับสนุนจากคนต่างวัยอยู่เสมอ

“อย่างวันนี้หนูแวะไปซื้อโบว์ขาวที่ร้าน เจ้าของร้านเขาก็อายุมากแล้ว แต่เขาก็ยังบอกเราว่า สู้ๆ นะ ขอบคุณที่ออกมาต่อสู้อย่างนี้ แล้วก็ให้ของแถมมาด้วย หนูรู้สึกว่าก็ยังมีคนรุ่นเขาหลายคนที่อยู่ข้างเรา” น้ำเล่าด้วยรอยยิ้ม ขณะที่ฟ้าเสริมขึ้นมาอย่างแข็งขันว่า “หนูก็เคย ตอนนั้นเพิ่งกลับจากม็อบ เดินคุยกับเพื่อนๆ เรื่องม็อบนี่แหละ อยู่ดีๆ ก็มีลุงคนนึงเขาหันมาแล้วก็ชู 3 นิ้วให้ แล้วก็บอกว่าสู้ๆ นะ ทั้งที่เขาค่อนข้างแก่แล้ว ในม็อบก็ยังมีคุณลุงคุณป้าหลายท่านที่เขาสู้กันมานาน แล้วยังสู้อยู่กับเราจนถึงตอนนี้”

ในสังคมของเราปัจจุบัน ช่องว่างที่ใหญ่จนไม่อาจมองข้ามได้คือช่องว่างทางความคิดระหว่างลูกกับพ่อแม่ นักเรียนกับครู เด็กกับผู้ใหญ่ ช่องว่างเหล่านี้บางครั้งแปรเปลี่ยนเป็นข้อความข่มขู่มุ่งร้ายทางอินเทอร์เน็ต บางครั้งออกมาเป็นภาพข่าวครูกระทำรุนแรงต่อนักเรียน น้ำและฟ้าเห็นตรงกันว่าการพยายามสร้างพื้นที่เพื่อสื่อสารและทำให้คนต่างวัยเข้าใจกันและกันเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง

“การที่จะตัดช่องว่างระหว่างเจเนอเรชันได้ เราต้องไม่คำนึงถึงช่วงอายุ เราจะมองคนแต่ละคนอย่างเป็นมนุษย์ มนุษย์คนหนึ่งที่กำลังเล่าให้เราฟังว่าเขาเป็นคนอย่างไร คิดอย่างไร มีพื้นเพอย่างไร แล้วเราก็สื่อสารกับเขากลับไปในฐานะคนคนหนึ่ง

“หลายครั้งผู้ใหญ่จะชอบคิดว่าทำไมเราถึงเชื่อคนอื่น ทำไมไม่เชื่อคนในบ้าน ทำไมไม่เชื่อครูที่หวังดี หนูอยากจะบอกว่าจริงๆ หนูไม่ได้เชื่อใคร 100% หนูจะพิจารณาหลายอย่างก่อนจะตัดสินว่าอะไรที่ถูกต้องสำหรับหนู ผู้ใหญ่ก็ต้องดูเหมือนกัน เขาไม่ควรเชื่ออะไรด้านเดียว ฟังหนูด้วย ฟังข่าวข้างนอกด้วย แล้วค่อยเลือกว่าจะเชื่ออย่างไร” น้ำกล่าว

ฟ้ายกตัวอย่างวิดีโอ ‘แม่ VS ม็อบ’ ของกรมประชาสัมพันธ์เป็นกรณีศึกษาชั้นดีที่จะสะท้อนท่าทีและวิธีคิดบางอย่างของผู้ใหญ่ สิ่งกีดขวางสำคัญที่ทำให้ความเข้าใจระหว่างวัยไม่เกิดขึ้น คือการตั้งต้นสื่อสารด้วยอำนาจ มองเด็กเป็นผู้ที่ต้องเชื่อฟัง เธอกล่าวอย่างตรงไปตรงมาว่าหากผู้ใหญ่ในบ้านได้เสพโฆษณาตัวนี้ของกรมประชาสัมพันธ์ ความสัมพันธ์ระหว่างเด็กและผู้ใหญ่อาจยิ่งเลวร้ายลงไปอีก

พอดูแล้ว ก่อนอื่นก็คิดว่า นี่เหรอ ภาษีประชาชนที่เอาไปใช้ ปังมาก แต่วิดีโอนี้ก็ทำให้เห็นว่านี่แหละค่ะคือสิ่งที่ผู้ใหญ่พยายามจะฝังในหัวคนรุ่นเดียวกัน เพื่อให้ผู้ใหญ่ที่ได้ดูหยุดเด็กที่กำลังเป็นกำลังของชาติ ผ่านรูปแบบว่า เขาเป็นห่วงนะ เขาเป็นพ่อแม่ เขามีบุญคุณ เธอต้องฟังเขานะ ใช่ค่ะ เรารักพ่อรักแม่ของเรา แต่เราก็มีสิทธิ์ที่จะแสดงความเห็นและใช้ชีวิตในรูปแบบของตัวเอง เรามีสิทธิ์จะเลือกทางของเราเอง”

“เวลาเห็นเด็กออกมาทำอะไรแบบนี้ผู้ใหญ่จะชอบคิดว่าก้าวร้าว หัวรุนแรง หรือบางทีเราอธิบายให้เขาฟังเขาก็จะบอกว่าเราเถียงทันที หนูรู้สึกว่าถ้าไม่มองว่าพวกหนูมีอำนาจต่ำกว่า แต่มองเป็นคนเท่ากัน เขาก็จะไม่คิดว่าเราเถียง แต่คิดว่าเรากำลังแลกเปลี่ยนกัน” ฟ้าย้ำ

ท่ามกลางสถานการณ์ที่ยังไม่เห็นทางออก การประท้วงของหลายพื้นที่ยังเดินหน้าเต็มกำลัง ขณะที่ข่าวคราวการคุกคามผู้แสดงออกทางการเมืองยังมีให้เห็นทุกสัปดาห์ และรัฐบาลทหารก็ยังเมินเฉยต่อข้อเรียกร้อง คำถามสำคัญคือ อะไรที่จะเป็นพลังให้เรายังมีความหวังกับสังคมการเมืองไทยวันนี้

“ช่วงที่เหนื่อยและท้อ พอเห็นว่ายังมีคนรู้ว่าเราสู้เพื่ออะไร มีคนที่ไม่ได้เห็นด้วยแต่รับฟังเรา มีคนที่เห็นด้วยแล้วพร้อมจะสู้ไปกับเรา บางทีหนูเจอเขาตามถนน ตามร้านอาหาร บางทีก็เจอกันที่การชุมนุม แค่ได้เห็นคนที่เขายังมีความหวัง หนูก็รู้สึกว่าหนูน่าจะสู้ต่อได้” ทั้งสองตอบด้วยเสียงแห่งความหวังที่สะท้อนก้อง

 

 

นักเรียนบนเวที #อีสานสิบ่ทน

กับสังคมที่เขาบอกว่าคน ‘โง่ จน เจ็บ’

 

 

การชุมนุม #อีสานสิบ่ทน วันที่ 22 ก.ค. ณ จังหวัดมหาสารคาม ที่จัดโดยแนวร่วมนิสิตมมส.เพื่อประชาธิปไตย นอกจากข้อเรียกร้อง 4 ข้อต่อรัฐบาลจะถูกประกาศก้อง (1.ต้องประกาศยุบสภา 2.ยุติบทบาทสมาชิกวุฒิสภา 3.จัดการเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญ 2540 และ 4.ร่างรัฐธรรมนูญใหม่) นักศึกษาและประชาชนหลายคนยังผลัดเปลี่ยนกันขึ้นเวทีเพื่อปราศรัยวิพากษ์วิจารณ์สังคมการเมืองไทย หนึ่งในนั้นคือ ‘ข้าว’ (นามสมมติ) เด็กผู้หญิงตัวผอมบางที่ใส่ชุดนักเรียนขึ้นไปบนเวที ถ้อยคำของเธอมัดใจผู้ร่วมชุมนุม พิสูจน์ได้จากเสียงปรบมือและเสียงเชียร์ที่ได้รับ วิดีโอการปราศรัยสั้นๆ ของเธอยังถูกเผยแพร่ทางโซเชียลมีเดีย จนครองใจประชาชนไปทั่วทุกภาค

เวลาผ่านไปนับเดือน น้ำเสียงที่เธอใช้ตอบคำถามวันนี้ยังมั่นคงและชัดถ้อยชัดคำไม่ต่างจากบนเวที ระหว่างการพูดคุยกันเธอไม่แทนตัวเองว่าผู้ปราศรัย เธอไม่ค่อยเข้าใจว่าทำไมตัวเองเป็นเด็กที่ได้รับความสนใจไปทั่ว ข้าวยืนยันว่าเรื่องราวของเธอก่อนขึ้นเวทีไม่มีอะไรพิเศษ และสิ่งที่เธอพูดก็เป็นสิทธิในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนคนหนึ่งเท่านั้น

“ก่อนหน้าจะมีปราศรัย เราก็เป็นคนธรรมดาที่สนใจการเมือง มีจุดเริ่มต้นคล้ายกับเด็กหลายๆ คนคือเห็นการเมืองในโรงเรียน เราคิดว่าอยากแสดงความเห็นของเราตามสิทธิพลเมือง เราเลยขอพี่ๆ เขาขึ้นไปพูด ขึ้นไปบนเวทีในฐานะคนธรรมดา และอยากลงจากเวทีในฐานะคนธรรมดา เพราะการแสดงความคิดเห็นไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรเลยในสังคมประชาธิปไตย”

“การปราศรัยวันนี้เป็นครั้งแรกที่เราพูดในเวทีสาธารณะ ตื่นเต้นมากๆ แต่ก็ต้องขอบคุณสังคมไทยด้วยมั้ง ที่ทำให้เราอัดอั้นขนาดนั้นจนพร้อมที่จะคิดและพูดเดี๋ยวนั้น ถึงแม้ว่ามันจะทำร้ายเราแค่ไหน มันก็ยังทำให้เราได้มีความคิดวิพากษ์”

สำหรับเธอแล้วการแสดงความเห็นเป็นการลดความสัมพันธ์เชิงอำนาจทั้งในสังคมใหญ่และในโรงเรียน การเรียนการสอนที่ปิดกั้นการตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์ และแสดงความคิดเห็นก็เป็นภาพสะท้อนสังคมใหญ่สำหรับเธอ

“เราเป็นคนอินวิชาสังคมมาก แต่เรารู้สึกว่าสังคมศึกษาเป็นเครื่องมือของรัฐที่พยายามจะหล่อหลอมให้เราเป็น ให้เราเชื่อตามสิ่งที่เขาต้องการ วิชาสังคมที่ควรจะเปิดให้มีการวิพากษ์ แสดงความเห็น ใช้คำถามแบบปลายเปิด แต่ในระบบการศึกษาไทย กลับเป็นวิชาที่ชี้นำ ท่องจำ ทำตาม ไม่ได้เปิดโอกาสให้นักเรียนหรือผู้รับสารได้ลองตั้งคำถามต่อหลายๆ เรื่อง”

“โรงเรียนก็เหมือนกระจกที่จะสะท้อนความเป็นอยู่ของรัฐ ครูก็เหมือนคนที่ใช้อำนาจ นักเรียนก็เหมือนประชาชนที่กำลังถูกกดทับโดยอำนาจ ในหลายๆ สถานการณ์ที่เกิดขึ้นที่โรงเรียน พอเด็กได้มีพื้นที่ในการพูดคุยกัน จะทำให้เด็กตระหนักว่านี่มันไม่แฟร์ เช่น กฎของโรงเรียน บางอย่างครูไม่ต้องทำตาม แต่นักเรียนต้องทำตาม การแสดงความคิดเห็นจะทำให้เราเห็นว่า กฎไม่ได้ตกลงมาจากฟากฟ้า กฎเป็นสิ่งที่เราสามารถพูดคุยถกเถียงและเปลี่ยนแปลงให้เข้ากับสถานการณ์ได้”

นอกจากการขึ้นเวทีปราศรัยเพื่อแสดงความคิดเห็นแล้ว เธอยังจัดตั้งชมรมในโรงเรียนเพื่อสร้างพื้นที่ในการถกเถียงประเด็นสังคม จัดกิจกรรมชุมนุมกลางลานโรงเรียน เพื่อให้เพื่อนๆ รุ่นพี่รุ่นน้อง ศิษย์เก่า คุณครู ไปจนถึงผู้บริหาร ได้มาแลกเปลี่ยนประเด็นสังคมต่างๆ ร่วมกัน ข้าวมีความตั้งใจจะทำให้การส่งเสียงแสดงความเห็นกลายเป็นวัฒนธรรมที่ทุกคนเคยชิน สนุก และเป็นพื้นฐานปฏิบัติของสังคม

“เราเองรู้สึกว่าวัฒนธรรมการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นไม่ใช่วัฒนธรรมที่เกิดขึ้นได้ง่ายๆ ในประเทศไทย แต่เราเป็นคนที่สนุกกับการแชร์ความคิดเห็น สนุกกับเรื่องการเมือง และเรารู้สึกว่าอยากจะแบ่งปันความสนุกนี้ให้กับคนอื่นบ้าง อยากจะเอื้อให้การแสดงความคิดเห็นเป็นประสบการณ์ใหม่ๆ สำหรับทุกคน ไม่ใช่แค่ระหว่างนักเรียนกันเอง คนทุกเพศทุกวัยสามารถมาเข้าร่วมได้”

ในช่วงที่ผ่านมาหลายโรงเรียนปิดกั้นการแสดงออกของนักเรียน เพื่อนในจังหวัดใกล้เคียงของข้าวยังเล่าให้ฟังว่ามีการสั่งปิดโรงเรียนเพราะนักเรียนจัดกิจกรรมชูกระดาษขาว ในฐานะที่เธอเชื่อในการแสดงความคิดเห็น และเชื่อว่าโรงเรียนเป็นพื้นที่สำคัญที่เด็กอย่างเธอจะได้แสดงตัวตนอย่างภาคภูมิ เธอกล่าวว่าโรงเรียนควรจะทำหน้าที่ ‘บ้านหลังที่สอง’ ให้ได้ เริ่มจากการรับฟังความเห็นที่แตกต่างของนักเรียน

“บ้านหลังที่สองก็เหมือนการมอบความอบอุ่น มอบความปลอดภัยให้กับนักเรียน แต่สิ่งที่คุณครูในโรงเรียนบางแห่งทำมันตรงกันข้าม นักเรียนแค่แสดงออกทางความคิดเห็นเท่านั้น และสิ่งที่เขาแสดงออกก็ไม่ได้ก่อให้เกิดความรุนแรงเลย เราค่อนข้างแปลกใจว่าทำไมผู้ใหญ่ของประเทศเราไม่เปิดรับ ทั้งๆ ที่สถานศึกษาสำหรับเราควรเป็นสถานที่ไม่มีรูปแบบตายตัว เป็นภาชนะที่พร้อมจะรองรับความแตกต่างหลากหลายในตัวนักเรียนเอง”

“ถึงแม้ว่าเราจะพยายามดึงการเมืองออกห่างจากตัวเรามากแค่ไหน มันก็ดึงไม่ออก เราเลยอยากจะบอกว่า มันจะเหนื่อยน้อยกว่าไหม ถ้าเราเปลี่ยนจากการดึงการเมืองออกจากตัวเด็ก มาเป็นการทำให้ทุกคนหันมาสนใจการเมือง สนใจในสิทธิของตัวเอง ทุกคนพร้อมที่จะสนใจและส่งเสียงออกมาในแบบฉบับของตัวเอง ทำให้เกิดบรรยากาศในการถกเถียงและแสดงความคิดเห็น และบรรยากาศแบบนั้นก็จะนำมาสู่การหาคำตอบร่วมกันในที่สุด”

แม้ในสังคมที่เผด็จการปิดปากผู้คน คุกคามคนที่ออกมาแสดงความเห็น เธอกลับไม่เคยกลัว เพราะเชื่อในความจริง ในถ้อยคำของตัวเองและผู้ปราศรัยคนอื่นๆ ผู้ที่คุกคามความจริงต่างหากคือผู้ที่ต้องรู้สึกรู้สา

“เราพูดความจริงเราไม่ควรกลัวหรือระแวงความเสี่ยงอะไรทั้งนั้น สิ่งที่เราอยากให้ทุกคนและเจ้าหน้าที่รัฐตระหนักคือ ประชาชนอย่างเราๆ เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ทำไมคุณถึงไม่ยอมรับฟังเรา ทำไมคุณถึงยังคุกคามเราอยู่ตลอด นี่เป็นสิ่งที่เขาควรตระหนัก ข้อเรียกร้องที่บอกว่าหยุดคุกคามประชาชน ไม่ควรเป็นข้อเรียกร้องด้วยซ้ำ มันควรเป็นสิ่งที่เขาควรรู้และปฏิบัติมานานแล้ว”

บนเวทีปราศรัย ประเด็นหนึ่งที่ข้าวกล่าวถึงคือรัฐสวัสดิการ เธอชวนทุกคนให้ฝันถึงรัฐที่รองรับชีวิตของผู้คน ไปพร้อมๆ กับสะท้อนภาพความเป็นจริงที่ขัดแย้ง ความสนใจเรื่องรัฐสวัสดิการของข้าวมาจากการเติบโตในพื้นที่อีสาน เพราะเธอ ‘เห็น’ และ ‘เป็น’ คนอีสาน ที่มักถูกผลักให้อยู่ในชายขอบ ซ้ำและย้ำด้วยวาทกรรม ‘โง่ จน เจ็บ’

ข้าวเล่าว่าหลังจากปราศรัยเสร็จเรียบร้อย เธอมีโอกาสได้พูดคุยกับนักการภารโรงคนหนึ่ง เขาเข้ามาชื่นชม บอกว่าเห็นด้วยกับสิ่งที่เธอพูด เธอจึงถามเขาว่า “คุณน้าอยากจะลองพูดบ้างรึเปล่า” เพราะอยากจะรับฟังความคิดเห็นของเขาบ้าง สิ่งที่คุณน้าท่านนี้ตอบกลับมาสะท้อนภาพสังคมที่ข้าวเติบโตได้อย่างอยู่หมัด

“เขาตอบว่า ก็อยากพูดนะ แต่ถ้ามีหนังสือให้อ่านเป็นความรู้ก่อนก็จะดี พอเราได้ยินแบบนี้เราก็รู้สึกว่า รัฐทำกับเราขนาดนี้เลยเหรอ เขาไม่มีเวลาแม้กระทั่งการใฝ่หาความรู้ รัฐไม่เปิดโอกาสให้เขาฉลาดขึ้น ไม่เปิดโอกาสให้เขามีเวลาพัฒนาตัวเอง นี่คือสิ่งที่เรามองเห็น”

“พอเราเป็นคนชายขอบ รัฐก็จะมองไม่เห็นเรา การที่เขาบอกว่าคนอีสาน โง่ จน เจ็บ สำหรับเราไม่ใช่คำด่า แต่มันคล้ายความจริง โง่ คือพอคนจน ก็เป็นคนชายขอบที่ไม่สามารถเข้าถึงการศึกษา สิทธิในการเข้าถึงการศึกษาที่ดีเกิดขึ้นแค่กับเฉพาะคนบางกลุ่มเท่านั้น

“เจ็บ ก็เพราะเราต้องทำงานอย่างหนัก เป็นโอกาสที่ทำให้เราล้มป่วย และเขาไม่ได้เปิดโอกาสให้เราแพ้ เรียนจบมา เราอาจอยากเสี่ยงไปทำธุรกิจบ้าง แต่สังคมไม่ได้เปิดโอกาสให้เราเสี่ยงได้ เพราะถ้าเราล้มลงไป ไม่มีอะไรมารองรับเราเลย สวัสดิการของรัฐไม่มี เราแพ้ไม่ได้ ต้องฮึบสู้ตลอดเวลา”

ไม่นานมานี้แฮชแท็ก #ถ้าการเมืองดี เป็นที่นิยมไปทั่วโลกทวิตภพ ผู้คนแลกเปลี่ยนกันถึงชีวิตที่ดีกว่าหากสังคมการเมืองเป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย เอื้อเฟื้อให้ผู้คนได้ใช้ชีวิตบนความเท่าเทียม

หลายคนบอกว่าถ้าการเมืองดี จะมีฟุตปาธเรียบๆ ให้เดิน

ถ้าการเมืองดี แม่จะมีเครื่องล้างจานใช้

ถ้าการเมืองดี ประเทศไทยจะมีรถขนส่งสาธารณะที่สะดวกสบาย

ข้าวเองก็มี #ถ้าการเมืองดี ในแบบของตัวเอง เธอแทนทุกภาพฝันไว้ด้วยคำง่ายๆ ว่า “ถ้าการเมืองดี เราก็จะเป็นคนธรรมดา แต่เป็นคนธรรมดาในรัฐที่ดี อาจจะเป็นรัฐที่มีรัฐสวัสดิการรองรับเรา ถ้าการเมืองดีเราอยากเป็นแค่นี้ก็พอแล้ว”

ในวันนี้ที่การเมืองยังไม่ดีอย่างแฮชแท็ก สังคมที่เป็นอยู่เป็นผลักใครๆ ออกจากความฝันในทุกเมื่อเชื่อวัน แต่ข้าวก็ยังไม่เคยหยุดตั้งความหวังและความฝันต่อสังคมนี้ เธอยังยืนยันหนักแน่นตลอดจนจบการสัมภาษณ์ว่าความเห็นของเธอนั้นไม่ได้พิเศษ และความฝันของเธอก็ไม่ได้หรูหรา ฝันที่มีต่อประเทศไทยของเธอเรียบง่ายอย่างถึงที่สุด

“ตอนนี้สภาพสังคมเรามันทั้งพังทลายความฝันและความหวังของเราไปแทบจะหมด รัฐแบบเผด็จการเป็นรัฐที่สร้างอารมณ์แห่งความสิ้นหวังให้กับเรา ทำให้ความฝันเป็นเพียงเรื่องของคนกลุ่มหนึ่ง แต่กับบางกลุ่มไม่มีสิทธิได้ฝัน ทั้งๆ ที่การเมืองควรมอบความหวังให้กับชีวิตของคนทุกกลุ่ม

“แต่เราเองก็ต้องดำเนินชีวิตไปด้วยความหวังและความฝันที่เรามีต่อสังคมไทย ไม่ใช่ความฝันที่หรูหราอะไร (หัวเราะ) เราแค่ต้องการประเทศที่เห็นประชาชนเป็นมนุษย์มากขึ้น มีพื้นที่สาธารณะเพื่อที่จะได้เสพได้ชื่นชมความงามความรู้โดยไม่ต้องเสียสตางค์ ประเทศที่เอื้อให้คนรักกันได้มากขึ้น และเป็นประเทศที่สามารถแสดงความคิดเห็น มีสิทธิเสรีภาพในการกำหนดทั้งตัวตนและร่างกายของตัวเองได้ แค่นี้ เราว่ามันไม่ใช่ความฝันที่ยิ่งใหญ่อะไรมากมาย เป็นความฝันที่เราร่วมกันสร้างได้จริง”

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save