fbpx

เมื่อ ‘ครูฉ่ำ จำรัสเนตร’ ตกเป็นจำเลยคดีอาชญากรรมทางเพศ

เป็นความนึกคิดโดยบังเอิญขณะผมนั่งไขว้ขาอยู่เพียงลำพังบนม้าหินอ่อนริมบึงน้ำแห่งมหาวิทยาลัยกลางทุ่งเชียงราก ในการที่จะเขียนบอกเล่าเรื่องราวของ ‘ครูฉ่ำ จำรัสเนตร’ อีกสักหน หลังจากเคยถ่ายทอดไว้เมื่อต้นทศวรรษ 2560

ช่วงระยะหลายปีล่วงผ่านมานี้ บุคคลในโฉมหน้าประวัติศาสตร์ไทยที่ดูเหมือนจะได้รับความสนใจและถูกเอ่ยถึงผ่านงานเขียนเนืองๆ น่าจะนับว่ามี ‘ครูฉ่ำ’ อยู่ด้วยคนหนึ่ง ซึ่งส่วนใหญ่มักจะมุ่งเน้นนำเสนอเกี่ยวกับบทบาททางการเมือง เพราะเขาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครศรีธรรมราชรวม 5 สมัย ทั้งยังเป็นผู้ที่มีสารพัดวิธีหาเสียงแปลกๆ จนส่งผลให้ได้รับคะแนนเลือกตั้งจากชาวบ้าน จนสบโอกาสได้เข้าไปโลดแล่นในสภา มิหนำซ้ำ ขณะดำรงตำแหน่ง สส. ก็มักจะแสดงพฤติกรรมประหลาดเสมอๆ กระทั่งกลายเป็น ‘ดาวเด่น’ ของสภา แต่บางสายตาก็อาจมองเห็นเป็น ‘ตัวตลก’

วีรกรรมทางการเมืองของครูฉ่ำช่างมากโขเกินจะพรรณนา ผมเองเคยตื่นตาตื่นเต้นมิใช่น้อยเช่นกัน หากคราวนี้ผมใคร่จะลองเปิดเผยอีกเรื่องราวหนึ่งของ สส. คนดังแห่งนครศรีธรรมราช ซึ่งเท่าที่สำรวจและอ่านผ่านตามา ยังไม่พบเห็นว่าเคยมีผู้ใดหยิบยกข้อมูลดังกล่าวมาขยายความ ผมจึงทำตนประหนึ่งสมิงพระรามอาสาในวรรณคดีพงศาวดารมอญเยี่ยง ราชาธิราช จะขอสาธยายให้คุณผู้อ่านทั้งหลายได้รับทราบ นั่นคือกรณีที่ครูฉ่ำเคยตกเป็นจำเลยคดีอาชญากรรมทางเพศ

อ้อ! อย่าเพิ่งด่วนพิพากษาหรือตัดสินให้ท่านผู้แทนฉ่ำ ถูกผลักไสเข้าไปในข่ายของผู้เลวร้ายอย่างทันทีทันใด โปรดอดใจคอยอีกสักประเดี๋ยวครับ แล้วผมจะจาระไนให้ทุกๆ ท่านอย่างแจ่มแจ้ง

แต่ก่อนอื่น คงจำเป็นอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงที่จะต้องแนะนำว่า ‘ครูฉ่ำ จำรัสเนตร’ เป็นใครกัน

ครูฉ่ำ จำรัสเนตร

เขาเป็นคนใต้ขนานแท้ ลืมตายลโลกหนแรกสุด ณ บ้านหัวถนน ตำบลศาลามีชัย เมืองนครศรีธรรมราชเมื่อ พ.ศ. 2441 เขาเป็นบุตรชายของ ‘นายช่วย’ และ ‘นางปริก’ บิดาเคยรับราชการเป็นมหาดเล็กใน ‘สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ายุคลทิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์’ สมุหเทศาภิบาลมณฑลนครศรีธรรมราช และสมเด็จอุปราชปักษ์ใต้ ณ วังโพธิ์ยายรด ซึ่งปัจจุบันตั้งอยู่บริเวณโรงพยาบาลมหาราช

เด็กชายฉ่ำเริ่มเรียนหนังสือชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนวัดท่ามอญ (วัดศรีทวี) และเข้าเรียนต่อชั้นมัธยมที่โรงเรียนวัดท่าโพธิ์ (ปัจจุบันคือโรงเรียนเบญจมราชูทิศ) พร้อมๆ กับเรียนนักธรรมจนสอบผ่านนักธรรมเอก พอสำเร็จการศึกษา ก็บ่ายหน้าสู่กรุงเทพมหานครราวๆ พ.ศ. 2470 เริ่มต้นชีวิตข้าราชการอันเป็นจุดกำเนิดของการที่ ‘นายฉ่ำ’ ถูกเรียกขานเคลือบริมฝีปากใครต่อใครว่า ‘ครูฉ่ำ’ เพราะได้เข้าทำงานในฐานะครูประชาบาลประจำโรงเรียนเทศบาลวัดชนะสงคราม ในยามว่างก็ยังค้าขายเล็กๆน้อยๆ

ครูฉ่ำอาจจะสอนหนังสือนักเรียนไปตราบนาน ถ้าวันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ไม่อุบัติขึ้น ครั้นคณะราษฎรร่วมกันเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่ระบอบรัฐธรรมนูญ ชะตาชีวิตของคนหนุ่มชาวนครศรีธรรมราชก็มิแคล้วมาถึงจุดเปลี่ยน

เช้าวันนั้น บรรดาโรงเรียนต่างๆ ในเขตพระนครประกาศให้หยุดการเรียนการสอน นักเรียนที่อุตสาหะมาถึงแต่เช้าจึงพบกับคุณครูที่บอกให้กลับบ้าน ทว่า ‘ครูฉ่ำ’ แห่งโรงเรียนเทศบาลวัดชนะสงครามซึ่งกำลังอยู่ในชุดเครื่องแบบผู้กำกับลูกเสือกลับเลือกจะกระทำไม่เหมือนใคร นอกจากไม่บอกให้นักเรียนกลับบ้าน ยังเรียกให้มารวมตัวเข้าแถว ก่อนจะพานักเรียนเดินขบวนพร้อมเพรียงไปตามถนนราชดำเนิน มุ่งหน้าไปทางสะพานมัฆวานรังสรรค์ ภาพเช่นนี้สะดุดสายตาผู้คนที่พบปะ หลายคนนึกฉงนพลันร้องถามว่าจะพานักเรียนไปไหนกัน ครูฉ่ำตอบด้วยภาคภูมิว่าจะพาไปช่วยปฏิวัติ

ขบวนนักเรียนโรงเรียนเทศบาลวัดชนะสงครามโห่ร้องไชโยทุกครั้งที่พวกคณะผู้ก่อการอภิวัฒน์นั่งรถแล่นผ่านมา ว่ากันว่าคนใต้ใจดีมีน้ำใจเปี่ยมล้น ฉะนั้น ในฐานะหนุ่มเมืองคอนศรี ครูฉ่ำจึงอาสาช่วยแจกใบประกาศแถลงการณ์ของคณะราษฎรแก่ประชาชนอย่างแข็งขันและมิรู้ลืมเหน็ดเหนื่อย นายทหารเรือหนึ่งในคณะผู้ก่อการเยี่ยง ‘หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์’ (ถวัลย์ ธารีสวัสดิ์) เห็นเข้าก็บังเกิดความรู้สึกประทับใจนักหนา

ผูกมิตรกับหลวงธำรงฯ รายเดียวคงจะไม่ชื่นหัวจิตเพียงพอ ครูฉ่ำยังปรารถนาเข้าพบและสานต่อไมตรีกับบุคคลระดับมันสมองของคณะราษฎรเยี่ยง ‘หลวงประดิษฐ์มนูธรรม’ หรือ ‘นายปรีดี พนมยงค์’ ความที่สามารถพูดคุยกับแกนนำคณะผู้ก่อการหลายรายอย่างถูกคอและถูกอัธยาศัยกัน จึงก่อให้เกิดจุดเปลี่ยนของชีวิตครูประชาบาลอีกครั้ง ครูฉ่ำตัดสินใจอำลาโรงเรียนเทศบาลวัดชนะสงครามมาทำงานประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เพราะค้นพบตนเองว่าชื่นชอบเหลือเกินกับการลิ้มชิมรสชาติการเมือง มิทันจะนานจนเนิ่นเกินไป หลังออกตัวสนับสนุนระบอบรัฐธรรมนูญชัดเจน ผลลัพธ์คือได้รับแต่งตั้งเป็นรองเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ใกล้ชิดแกนนำคณะราษฎรในวังปารุสกวัน

จวบจนรัฐบาลคณะราษฎรจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกสุดของไทยเมื่อวันพุธที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2476 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งแบบทางอ้อม คือรัฐบาลรับสมัครผู้แทนตำบล ประชาชนจะต้องเลือกตั้งผู้แทนตำบลก่อน จากนั้นผู้แทนตำบลที่ได้รับเลือกจะไปเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรระดับจังหวัดอีกที โดยมิรอช้า ครูฉ่ำลงสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประจำจังหวัดนครศรีธรรมราช ผลออกมาว่าสอบตก พ่ายแพ้ให้แก่ ‘รองอำมาตย์โทมงคล รัตนวิจิตร’ (นอกจากจะได้เป็น สส. แล้ว ยังได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งรองประธานสภาผู้แทนราษฎร) แต่ด้วยบุคลิกภาพและพฤติการณ์ขณะหาเสียงที่ค่อนข้างแปลกๆ ชาวบ้านมิวายเริ่มจดจำคนใต้ผู้นี้แม่นยำขึ้น

จำเพาะแค่การเคยสูญเสียดวงตาข้างหนึ่ง ก็ส่งผลให้ชื่อเสียงเรียงนามอย่าง ‘ฉ่ำ จำรัสเนตร’ ได้ถูกเรียกล้อเลียนเป็น ‘ฉ่ำ ชำรุดเนตร’

แม้จะสอบตก แต่ครูฉ่ำยังได้ทำงานการเมืองต่อมา โดยเข้าประจำสำนักงานเลขาธิการรัฐสภา และย้ายมาประจำแผนกสำนักงานเลขานุการรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยในปี พ.ศ. 2477 จวบจน พ.ศ. 2479 จึงได้เลื่อนขึ้นเป็นหัวหน้าแผนกการเมือง สำนักงานเลขานุการรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย

ถัดมาในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่ 2 ซึ่งกำหนดวันเข้าคูหาลงคะแนนพร้อมกันทุกจังหวัดตรงกับวันอาทิตย์ที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2480  ครูฉ่ำหมายมั่นปั้นมือเต็มที่ ถึงอย่างไรสมัยนี้ต้องพิชิตใจชาวบ้านจนได้เป็น สส.  หรือถ้าจะพูดแบบที่ผมเอกเขนกฟังเพลงยอดรัก สลักใจในยุคปัจจุบันก็คงประมาณว่า “เอา เอา เอา เอาแน่…”

กลเม็ดหนึ่งที่ครูฉ่ำเสมือนล้วงย่ามออกใช้ร่ายมนตราในการหาเสียงคือ ในคราวที่ ‘พระยาพหลพลพยุหเสนา’ นายกรัฐมนตรีไปตรวจราชการที่จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยการโดยสารรถไฟด่วนจากกรุงเทพฯ ไปลงที่สถานีร่อนพิบูลย์ และต่อรถยนต์เข้าตัวเมืองนคร ตอนรถไฟด่วนจอดเทียบชานชาลาสถานีร่อนพิบูลย์ พระยาพหลฯ กำลังก้าวลงบันได ครูฉ่ำรีบก้าวมาขวางหน้าท่านนายก และขอร้องให้หยุดรอก่อน ตนจะตรวจดูความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัย จากนั้น ได้ทำทีเป็นเดินตรวจแถวข้าราชการ เจ้าหน้าที่ตำรวจ และประชาชน ที่มารอต้อนรับนายกรัฐมนตรี ก่อนจะวิ่งกลับมารายงานพระยาพหลฯ ภาพนี้ทำให้ชาวนครตะลึง คนเฒ่าชราถึงกับอุทานว่า “นี่แหละอ้ายฉ่ำลูกพ่อ ต่อไปต้องเลือกให้เป็นผู้แทน”

หรือตอนยังอยู่ที่กรุงเทพฯ ครูฉ่ำนำเงินจำนวนหนึ่งไปฝากไว้กับ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม หวนกลับมานครศรีธรรมราชสักพัก ก็โทรเลขไปบอกนายปรีดี ว่า “เงินหมดแล้วขอให้ส่งด่วน” พอหลวงประดิษฐ์ฯ ส่งเงินมาให้ ครูฉ่ำจัดแจงป่าวประกาศให้ชาวนครศรีธรรมราชรับรู้ จนเป็นที่เลื่องลือกันทั่วว่าขนาดนายปรีดี ซึ่งมีบทบาทสำคัญในรัฐบาลคณะราษฎรยังสนับสนุนการหาเสียงของผู้สมัครคนนี้ ดังนั้น จึงควรเลือกเขาให้เป็นผู้แทน

ครับ ครูฉ่ำชนะการเลือกตั้งใน พ.ศ. 2480 ได้สัมผัสกับการเป็น สส. สมัยแรก

พึงยืนยันว่า ครูฉ่ำคือผู้โด่งดังในทางการเมือง ใครๆ ก็รู้จักมักคุ้น มีทั้งคนนิยมชมชอบและคนหมั่นไส้ไม่สบอารมณ์ แต่คนส่วนใหญ่ยังอดมองมิได้ว่าเขาเป็นคนเพี้ยนคนบ้า เพราะไม่ว่าจะแสดงบทบาทใน ‘สภาหินอ่อน’ อันหมายถึงการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม (องค์พระที่นั่งฯ นี้สร้างด้วยหินอ่อนจากประเทศอิตาลี) หรือการแสดงออกสื่อสารกับประชาชนทั่วไปภายนอกสภา ล้วนแต่เป็นพฤติการณ์พิกลๆ เป็นต้นว่า การขี่ควายเข้าสภา เพื่อสะท้อนถึงความเข้าอกเข้าใจชาวนา การตะโกนสบถคำหยาบในสภา ถอดเสื้ออวดผิวคล้ำดำกร้านแล้วบอกว่าเพราะไปลงพื้นที่เยี่ยมเยียนราษฎร บางทีก็ตีลังกาเดินเอาหัวลง เพื่อบ่งบอกว่าบ้านเมืองวิปริตจนคนไทยต้องเดินด้วยหัว บางทีก็ร่ายรำกลางถนนเพื่อบูชาดวงอาทิตย์ ซึ่งจริงๆ การที่ครูฉ่ำทำตัวแปลกๆ ก็เพราะเป็นวิธีเรียกร้องความสนใจเพื่อหวังผลทางการเมือง

อาจเข้าทำนอง “บ้าก็บ้าซิวะ ถึงจะบ้าแต่ว่าไม่โง่” ก็เพราะทั้งความบ้าบิ่นและบ้าบอของครูฉ่ำ ไม่มีกำหนด ชาวเมืองคอนศรีจึงถูกใจได้แรงอก หรือพูดแบบลิ้นคนใต้คือ “ถูกรัดดวง” แม้ “รัดดวง” จะแปลว่า ริดสีดวง แต่การถูกรัดดวงกลับมีความหมายเชิงบวก แปลว่าถูกรสนิยมเหลือเกิน รวมถึงถ้านึกสงสารครูฉ่ำ ชาวบ้านก็คงไม่เพียงพาไปรดน้ำมนต์วัดพระมหาธาตุ แต่กลับช่วยกันไปลงคะแนนเลือกตั้งให้เป็น สส. หลายสมัย โดยเฉพาะในช่วงที่ ‘จอมพล ป.พิบูลสงคราม’ เป็นนายกรัฐมนตรี

ครูฉ่ำกำลังร่ายรำบูชาพระอาทิตย์

ครูฉ่ำได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครศรีธรรมราชสมัยที่ 2 จากการเลือกตั้งเมื่อวันเสาร์ที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2481 ช่วงระหว่างที่เป็น สส. ครั้งนี้เอง ครูฉ่ำมีเหตุให้เข้าไปพัวพันกับคดีอาชญากรรมทางเพศ กระทั่งตกเป็นจำเลยและเกือบจะต้องติดคุก

ย้อนกาลเวลาไปเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2482 ที่ตำบลตลาดเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต ‘นางผาด จันสมา’ พบกับ ‘นางน้อย’ อายุ 29 ปี จึงบอกกับนางน้อย ว่าตนรู้จักกับ ‘นายสนิท’ ซึ่งเป็นคนมั่งมีเงินทอง แต่ภรรยาตายแล้ว และยังไม่มีภรรยาใหม่ นายสนิทรักใคร่ในตัวนางน้อย อยากจะเลี้ยงดูเป็นภรรยาโดยสุจริตใจ เลยมอบหมายให้นางผาดพานางน้อยไปหาที่กรุงเทพมหานคร นางน้อยฟังน้ำคำรื่นหูของนางผาดซ้ำๆ ก็เคลิบเคลิ้มและคล้อยตาม ตกลงและยินดีจะไปเป็นภรรยาของ นายสนิท

ในวันศุกร์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2482 นางผาดพานางน้อยเดินทางจากเกาะภูเก็ตเข้ากรุงเทพฯ โดยมาขึ้นรถไฟที่สถานีรถไฟทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช บนขบวนรถไฟด่วนสายใต้ช่วงตอนกลางคืนของวันศุกร์ที่ 24 จวบจนวันเสาร์ที่ 25 นางผาด และนางน้อย พบกับ ‘นายฉ่ำ จำรัสเนตร’ สส. นครศรีธรรมราชซึ่งกำลังไปกรุงเทพฯ เช่นกัน นางน้อยอ้างว่าเธอได้พูดคุยสนทนากับนายฉ่ำ พอท่าน สส. ทราบว่านางผาดจะพานางน้อยไปเป็นภรรยาของนายสนิท ก็กล่าวสนับสนุน

ขบวนรถไฟมาถึงกรุงเทพฯ ในวันเสาร์ที่ 25 พฤศจิกายน นางผาด พานางน้อย ไปพบนายสนิท ที่ตำบลโรงเลี้ยงเด็ก อำเภอป้อมปราบ จังหวัดพระนคร ที่นั่น นางน้อยได้เจอกับ ‘นางผิว โสภะนราพงศ์’ และคืนวันนั้น นางผาด กับนางผิว สมคบกันจัดให้นายสนิท แสดงพฤติกรรมเสพสมกระทำชำเรานางน้อยจนสำเร็จความใคร่หนึ่งครั้ง

ตลอดห้วงเวลานับแต่วันอาทิตย์ที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2482 จนถึงวันศุกร์ที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2482 (หากนับเทียบศักราชแบบปัจจุบันจะตรงกับ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2483) ซึ่งนางน้อยพำนักอยู่กับนายสนิท ที่ตำบลโรงเลี้ยงเด็ก อำเภอป้อมปราบนั้น นายสนิท, นางผาด และนางผิว สมคบกันใช้อุบายหลอกลวงนางน้อย ให้มอบทรัพย์สินรวมราคา 1,566 บาทแก่พวกตนเพื่อจะเอาไปจำนำ โดยเขียนหนังสือสัญญากู้เงินมีใจความว่า “นายบุญมากู้เงินนางสนิทไป 500 บาท”  และมอบให้ นางน้อยเก็บไว้ ตอนแรกนางน้อยหลงเชื่อแบบไม่กังขาจึงมอบทรัพย์ให้นางผาดและนางผิวอย่างง่ายดาย เหตุเกิดที่ตรอกไก่แจ้ ตำบลบางลำภู อำเภอพระนคร จังหวัดพระนคร ต่อมาภายหลังนางน้อยตรึกตรองนึกทบทวนเรื่องราวทั้งหมดดู ก็คิดว่าเธอน่าจะถูกหลอกลวงมาตั้งแต่ตอนยังอยู่ที่ภูเก็ต อีกทั้ง นายสนิทเป็นชื่อปลอม เพราะชื่อจริงๆ คือนายทวี เป็นชายที่ยึดอาชีพล่อลวงผู้หญิงมาปอกลอกเงินและเป็นนักเลงการพนันตัวยง ส่วนนางผิวก็เป็นภรรยาของนายทวี

ไปโดนเขาหลอกอีกแล้ว แต่น้องแก้วอย่างนางน้อย ตระหนักดีว่าเข็ด ในวันอังคารที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2482 (หากนับเทียบศักราชแบบปัจจุบันจะตรงกับ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2483) เธอจึงเข้าร้องทุกข์กับเจ้าหน้าที่จนกลายเป็นคดีความขึ้น

ต่อมาเมื่อพนักงานอัยการแห่งกรมอัยการได้ตรวจสำนวนคดีเรียบร้อย จึงเป็นโจทก์ฟ้องร้องนางผาด จันสมา เป็นจำเลยที่ 1 นายฉ่ำ จำรัสเนตร เป็นจำเลยที่ 2 และ นางผิว โสภะนราพงศ์ เป็นจำเลยที่ 3 ในความผิดทางคดีอาญาฐานใช้อุบายหลอกลวงหญิงไปเพื่อการอนาจารและสำเร็จความใคร่ รวมถึงฐานฉ้อโกงทรัพย์ อีกทั้งนางผาด จำเลยที่ 1 ยังเคยต้องโทษมาก่อนแต่ไม่เข็ดหลาบ อยากขอให้เพิ่มโทษด้วย ด้านนายทวี เสียชีวิตไปช่วงระหว่างที่พนักงานอัยการยังดำเนินการไม่เสร็จสิ้น

จำเลยทั้ง 3 รายให้การปฏิเสธ นางผิวยอมรับว่าตนเป็นภรรยาของนายทวีจริง แต่นายทวีไม่ใช่คนปอกลอกผู้หญิงดังที่ฝ่ายโจทก์อ้าง และนายทวีกับนางน้อยร่วมประเวณีได้เสียกันก่อนหน้าที่ทั้งสองจะมาพบตน ส่วนทรัพย์สินของนางน้อยที่หมดสิ้นไปก็เพราะนางน้อยกับนายทวีเอาไปเล่นการพนันด้วยกัน

เส้นทางรถไฟสายใต้

ศาลอาญาซึ่งเป็นศาลชั้นต้นปรึกษาสำนวนคดีและสืบหาข้อเท็จจริงแล้ว ลงความเห็นว่านางผาด จำเลยที่ 1 และ นางผิว จำเลยที่ 3 มีความผิดตามคำฟ้องของฝ่ายโจทก์ซึ่งมีนางน้อย เจ้าทุกข์เป็นพยานปากสำคัญที่สุด เพราะรู้เห็นเหตุการณ์ตั้งแต่ต้น และยังมีพยานอื่นๆ ประกอบคำให้การของนางน้อย อีกทั้งมีหนังสือสัญญากู้และหนังสือของนายสอาด (พยานอีกราย) เป็นหลักฐาน ประกอบด้วยคำฟ้องของโจทก์มีน้ำหนักเชื่อถือได้ว่าจำเลยทั้ง 3 ราย กระทำผิดจริง ศาลอาญาจึงพิพากษาโดยยกเอากฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. 127 มาตรา 276, มาตรา 241, มาตรา 304 และมาตรา 72 รวมถึงพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายลักษณะอาชญา พ.ศ. 2474 มาตรา 3 มาพิจารณา ซึ่งแต่ละมาตรามีบทบัญญัติไว้ดังนี้

ในกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. 127

มาตรา 276

“ผู้ใดบังอาจพาเอาหญิงคนใดไปเพื่อการอนาจาร โดยมันฉุดคร่าพาไปด้วยกำลังก็ดีหรือมันขู่เข็ญให้ไปด้วยความกลัวก็ดี หรือพาไปด้วยใช้อุบายทุจจริตล่อลวงประการใดใดก็ดี และผู้ใดที่รู้แล้วว่าหญิงคนใดมีผู้พาไปโดยทุจจริตเช่นนั้น มันบังอาจซ่อนเร้นหญิงนั้นไว้ก็ดี ท่านว่ามันผู้กระทำการอย่างใดใดเช่นว่ามาในมาตรานี้ มีความผิดต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนขึ้นไปจนถึงเจ็ดปี และให้ปรับตั้งแต่ร้อยบาทขึ้นไปจนถึงพันบาทด้วยอีกโสดหนึ่ง”

มาตรา 241

“ผู้ใดยุยงเสี้ยมสอนเด็กอายุต่ำกว่าสิบสองขวบ ให้ทำชำเราก็ดี หรือให้ทำอนาจารด้วยผู้อื่นก็ดี หรือมันเป็นธุระหาเด็กอายุต่ำกว่าสิบสองขวบให้ผู้อื่นทำชำเราหรือทำอนาจารก็ดี ท่านว่ามันมีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินกว่าสองปีและให้ปรับไม่เกินกว่าพันบาทด้วยอีกโสดหนึ่ง”

มาตรา 304

“ผู้ใดใช้อุบายหลอกลวงด้วยประการใดใด อันต้องประกอบด้วยเอาความเท็จมากล่าว หรือแกล้งปกปิดเหตุการณ์อย่างใดใดที่มันควรต้องบอกให้แจ้งนั้น โดยมันมีเจตนาทุจจริตคิดหลอกลวง ให้ผู้หนึ่งผู้ใดส่งทรัพย์อย่างหนึ่งอย่างใดให้แก่ตัวมันเอง หรือแก่ผู้อื่นก็ดี หรือให้เขาทำหนังสือสำคัญหรือให้เขาถอน หรือทำลายหนังสือสำคัญใดใดก็ดี ท่านว่ามันผู้หลอกลวงเช่นว่ามานี้กระทำการฉ้อโกง มีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินกว่าสามปี และให้ปรับไม่เกินกว่าสองพันบาทด้วยอีกโสดหนึ่ง”

มาตรา 72

“ผู้ใดถูกพิพากษาให้ลงโทษ เพราะได้กระทำความผิดอย่างหนึ่งอย่างใด และเมื่อมันได้พ้นโทษไปแล้ว ไปกระทำความผิดขึ้นอีก ภายในเวลาที่ท่านกำหนดไว้ ท่านว่ามันไม่เข็ดหลาบ

ผู้ใดศาลพิจารณาได้ความจริงว่าไปกระทำผิดขึ้นอีกภายในระหว่างห้าปีตั้งแต่ได้พ้นโทษไป ผู้นั้นต้องระวางโทษที่กฎหมายบัญญัติไว้สำหรับความผิดที่มันทำครั้งหลัง ทั้งเพิ่มโทษนั้นขึ้นอีก ส่วนหนึ่งในสามส่วนด้วย”

และ ในพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายลักษณะอาชญา พ.ศ. 2474

มาตรา 3 ให้ยกเลิกบทบัญญัติมาตรา 241 แห่งกฎหมายลักษณอาญา และใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา 241 ผู้ใดเพื่อให้สำเร็จความใคร่ของผู้อื่น บังอาจเป็นธุระจัดหา ล่อไป หรือชักพาไป เพื่อการอนาจาร ซึ่งหญิงหรือเด็กหญิงอายุต่ำกว่าสิบแปดขวบ แม้หญิงหรือเด็กหญิงนั้นยินยอมก็ตาม ท่านว่ามันมีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี  และปรับไม่เกินสองพันบาท โดยมิต้องคำนึงว่ากรรมทั้งหลายซึ่งประกอบกันเป็นความผิดนั้นได้กระทำไว้ในประเทศต่างกันหรือไม่

ผู้ใดเพื่อให้สำเร็จความใคร่ของผู้อื่นบังอาจโดยใช้อุบายหลอกลวง หรือโดยใช้อำนาจด้วยกำลังโดยขู่เข็ญ โดยใช้อำนาจคุ้มครองผิดทำนอง หรือโดยใช้วิธีบังคับอย่างอื่นๆ เป็นธุระจัดหา ล่อไป หรือชักพาไปเพื่อการอนาจารซึ่งหญิงหรือเด็กหญิง ท่านว่ามันมีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี และปรับไม่เกินสามพันบาท โดยมิต้องคำนึงว่ากรรมทั้งหลายซึ่งประกอบกันเป็นความผิดนั้นได้กระทำไว้ในประเทศต่างกันหรือไม่”

จากนั้น ได้มีคำพิพากษาคือ ให้นางผาด จำเลยที่ 1 มีความผิดตามกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. 127 มาตรา 276 และมาตรา 241 รวมถึงตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายลักษณะอาชญา พ.ศ. 2474 มาตรา 3 แต่ให้ลงโทษตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 276 อันเป็นบทหนัก โดยให้จำคุกนางผาด 2 ปี ส่วนความผิดตามมาตรา 304 ให้จำคุก 1 ปี รวมเป็นโทษจำคุก 3 ปี  กระนั้น นางผาดเคยต้องโทษมาแล้ว แต่ยังไม่เข็ดหลาบ จึงให้เพิ่มโทษตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 72 อีกหนึ่งในสาม รวมเป็นโทษจำคุกทั้งสิ้น 4 ปี 

ให้นายฉ่ำ จำเลยที่ 2 มีความผิดตามกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. 127, มาตรา 276 และมาตรา 241 รวมถึงพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายลักษณะอาชญา พ.ศ 2474 มาตรา 3 แต่ให้ลงโทษตามมาตรา 276 ซึ่งเป็นบทหนัก โดยให้จำคุก นายฉ่ำ 2 ปี

ให้นางผิว จำเลยที่ 3 มีความผิดตามกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. 127 มาตรา 304 โดยให้จำคุก 1 ปี

ให้นางผาด จำเลยที่ 1 และนางผิว จำเลยที่ 3 ชดใช้ทรัพย์สินจำนวน 1,566 บาท แก่ นางน้อย เจ้าทรัพย์

จำเลยทั้งสามยื่นต่อศาลอุทธรณ์คัดค้านในข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย

ในเวลาต่อมา เมื่อศาลอุทธรณ์พิจารณาคดีแล้วได้ลงความเห็นว่า สำหรับนายฉ่ำ จำเลยที่ 2 นั้น โจทก์ยังนำสืบไม่ได้ว่า เขาสมคบคิดกับจำเลยอีก 2 ราย ทั้งโจทก์ก็ไม่มีพยานอื่นมาประกอบคำให้การของนางน้อย อย่างแน่ชัด คดีตกอยู่ในความสงสัย จึงควรยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้เป็นผลดีแก่นายฉ่ำ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา พ.ศ. 2477 มาตรา 227 อันมีบทบัญญัติว่า

“ให้ศาลใช้ดุลพินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวง อย่าพิพากษาลงโทษจนกว่าจะแน่ใจว่ามีการกระทำผิดจริงและจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดนั้น เมื่อมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยได้กระทำผิดหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลย”

ขณะที่นางผาด จำเลยที่ 1 ยังรับฟังไม่ได้ว่าเคยต้องโทษมาก่อนดังที่โจทก์กล่าวหา ฉะนั้น จะเพิ่มโทษเลยไม่ได้

ศาลอุทธรณ์จึงพิพากษาแก้คำพิพากษาเดิมของศาลอาญาข้อที่ให้เพิ่มโทษแก่นางผาด ฐานไม่เข็ดหลาบว่ายังไม่ควรเพิ่ม คงให้ลงโทษจำคุกนางผาด ในความผิดเพียงแค่สองกระทงรวม 3 ปี ด้านนายฉ่ำ จำเลยที่ 2 ยังไม่มีความผิด ให้ปล่อยตัวไป ส่วนนางผิว จำเลยที่ 3 และถ้อยความอื่นใดนอกเหนือจากที่แก้ไว้นี้ ขอพิพากษายืนตามศาลอาญา

ล่วงผ่านหลายปี หากคดีนี้ยังไม่สิ้นสุดลงโดยง่าย กว่าจะได้มาถึงการพิพากษาของศาลฎีกาก็เป็นช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เกิดขึ้นในเมืองไทย หรือจะเรียกว่า ‘สงครามมหาเอเชียบูรพา’ กล่าวคือเมื่อวันเสาร์ที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2485 ฝ่ายโจทก์ยื่นต่อศาลฎีกาเพื่อคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ โดยต้องการให้เพิ่มโทษนางผาด จำเลยที่ 1 ตามกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. 127 มาตรา 72 และลงโทษนายฉ่ำ จำเลยที่ 2 ด้วย ส่วนนางผาด จำเลยที่ 1 และนางผิว จำเลยที่ 3 ยื่นต่อศาลฎีกาเพื่อคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในข้อกฎหมายและขอให้ยกคำฟ้องของโจทก์

เกินกว่า 7 เดือนต่อมา ศาลฎีกาได้ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาคดีเรื่องนี้ แล้ววินิจฉัยว่า การที่นางผาด จำเลยที่ 1 ยื่นฎีกาว่าไม่ได้กระทำความผิดตามกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. 127 มาตรา 276 และมาตรา 241 รวมถึงพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายลักษณะอาชญา พ.ศ. 2474 มาตรา 3 ศาลฎีกาเห็นว่านางผาด มีความผิดตามกฎหมายข้างต้น จำเลยจะอ้างว่า นายทวีเจตนาเลี้ยงนางน้อย เป็นภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายมิได้ เพราะในเวลานั้นนายทวีมีภรรยาอยู่คือนางผิว และนางน้อยเองก็มีสามีอยู่ ฉะนั้น การล่อลวงหญิงไปเพื่อการอนาจารและสำเร็จความใคร่ของผู้อื่นย่อมไม่ใช่เจตนาที่ดี

ส่วนการที่นางผาด จำเลยที่ 1 และนางผิว จำเลยที่ 3 ยื่นฎีกาว่าไม่ได้กระทำผิดฐานฉ้อโกงตามกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. มาตรา 304 ศาลฎีกาเห็นว่าทั้งสองคนย่อมมีความผิดฐานฉ้อโกง

ทางด้านฝ่ายโจทก์ซึ่งยื่นฎีกาขอให้เพิ่มโทษนางผาด จำเลยที่ 1 โดยอ้างว่านางผาด เคยต้องโทษมาก่อนนั้น ได้ปรากฏตามใบแดงแจ้งโทษของตำรวจสันติบาลว่านางผาด ศรีพิพัฒน์ หรือนางอำนวย (ชื่อเดิมก่อนจะเปลี่ยนมาใช้ชื่อนางผาด จันสมา) เคยต้องโทษเรื่องการพนันเล่นม้าวิ่ง ทำนองโปกำ จนถูกพิพากษาจำคุก 1 ปี และเคยต้องโทษปรับจากการพนันเล่นไพ่ซิมเซ็ก อันมิใช่ความผิดฐานลหุโทษหรือประมาทที่พ้นโทษมาไม่เกิน 5 ปี ใบแดงแจ้งโทษถือเป็นเอกสารมหาชนซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ทำขึ้นไว้ตามประมวลวิธีพิจารณาความแพ่ง พ.ศ. 2477 มาตรา 127 ที่ว่า

“เอกสารมหาชนซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ทำขึ้นหรือรับรอง หรือสำเนาอันรับรองถูกต้องแห่งเอกสารนั้น และเอกสารเอกชนที่มีคำพิพากษา แสดงว่าเป็นของแท้จริงและถูกต้องนั้น ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นของแท้จริงและถูกต้อง เป็นหน้าที่ของคู่ความฝ่ายที่ถูกอ้างเอกสารนั้นมายัน ต้องนำสืบความไม่บริสุทธิ์หรือความไม่ถูกต้องแห่งเอกสาร”

ศาลฎีกาจึงสันนิษฐานไว้ก่อนว่าใบแดงแจ้งโทษของนางผาด เป็นของจริงและมีความถูกต้อง ดังนั้นเป็นหน้าที่ของฝ่ายจำเลยที่จะต้องนำสืบความไม่บริสุทธิ์หรือความไม่ถูกต้องของใบแดงแจ้งโทษ อีกทั้งการใช้บทบัญญัติตามประมวลวิธีพิจารณาความแพ่งข้างต้นก็ไม่ขัดกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา พ.ศ. 2477 มาตรา 15 ที่บัญญัติไว้ว่า “วิธีพิจารณาข้อใดซึ่งประมวลกฎหมายนี้มิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับเท่าที่พอจะใช้บังคับได้”

ฝ่ายโจทก์ยังมีถ้อยคำที่ ‘นายพันตำรวจตรีสวัสดิ์ กันเขตต์’ เป็นพยานเบิกความว่าเมื่อราวๆ พ.ศ. 2478 หรือ 2479 ตนเคยจับกุมนางผาด จำเลยที่ 1 ฐานเล่นการพนันโดยวิธีฉ้อโกง ซึ่งต่อมาศาลอาญาพิพากษาให้ลงโทษจำคุก 1 ปี และโจทก์ได้อ้างสำนวนคดีแดงที่ 1089/2479 ของศาลอาญา อันตรงกับเลขคดีอาญาที่แจ้งในใบแดงแจ้งโทษของนางผาด ศรีพิพัฒน์ กำหนดโทษในคดีก็ตรงกับถ้อยคำของนายพันตำรวจตรีสวัสดิ์ ด้านนางผาดเองไม่ได้กล่าวแก้ตัวเลยว่าตนไม่เคยต้องโทษ ดังนั้น ฎีกาของโจทก์ที่ยื่นขอให้เพิ่มโทษแก่จำเลยที่ 1 จึงฟังขึ้น

ส่วนฎีกาที่โจทก์ยื่นขอให้ลงโทษ ‘นายฉ่ำ’ จำเลยที่ 2 โจทก์มีเพียงถ้อยคำกล่าวอ้างของนางน้อย ผู้เสียหายรายเดียว ซึ่งเธอเบิกความว่าได้พบนายฉ่ำบนขบวนรถไฟสายใต้ที่แล่นรางจากสถานีทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช มายังกรุงเทพมหานคร โดยนายฉ่ำพูดจาสนับสนุนถ้อยคำของนางผาด จำเลยที่ 1 ว่านายสนิท (หรือตัวจริงคือนายทวี) เป็นคนมีหลักฐานมั่นคง มีรายได้มากโขและบ้านช่องใหญ่โต เป็นเจ้าของโรงทำน้ำแข็งที่จังหวัดลำปาง ด้วยความที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกล่าวรับรองเช่นนั้น จึงเป็นการจูงใจให้นางน้อยหลงเชื่อว่านายสนิท เป็นผู้ร่ำรวยจริงๆ ประเด็นนี้ศาลฎีกาลงความเห็นว่า ตอนที่ นายฉ่ำมาพบนางน้อยบนขบวนรถไฟด่วนสายใต้ นางน้อยได้ถูกล่อลวงไปหรือชักพาไปแล้ว อีกทั้งเธอก็มุ่งที่จะไปต่อเอง มิใช่ไปเพราะนายฉ่ำกระทำให้ต้องไป ถือว่านางน้อยถูกหลอกและหลงเชื่อน้ำคำนางผาดมาตั้งแต่ก่อนหน้าที่จะพบนายฉ่ำ ฝ่ายโจทก์เองก็นำสืบไม่ได้ว่านายฉ่ำล่วงรู้แผนการอยู่ก่อนว่านางผาดกับนายทวี จะสมคบกันใช้อุบายล่อลวงนางน้อยไปเพื่อการอนาจารและสำเร็จความใคร่ของนายทวี และเพื่อฉ้อโกงทรัพย์สิน แม้บนขบวนรถไฟ นายฉ่ำจะพูดจายกย่องนายทวีบ้าง แต่ก็มิได้ล่วงรู้ถึงเรื่องราวส่วนตัวอันเป็นเรื่องลับภายใน ฉะนั้นนายฉ่ำจึงหามีความผิดด้วยไม่ เพราะไม่มีเจตนาจะกระทำความผิด ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

ในวันพุธที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2486 ศาลฎีกาจึงพิพากษาให้แก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ โดยให้เพิ่มโทษแก่นางผาด จำเลยที่ 1 ตามกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. 127 มาตรา 72 อีกหนึ่งในสาม รวมเป็นลงโทษจำคุก 4 ปี ดังคำพิพากษาเดิมของศาลอาญา ส่วนรายละเอียดอื่นๆ นอกเหนือจากที่แก้ไขนี้ ให้พิพากษายืนตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์

คณะผู้พิพากษาศาลฎีกา ได้แก่ พระยาเลขวณิชธรรมวิทักษ์มนูประจักษ์ยุกติสภาบดี (เยี่ยม เลขะวณิช), พระยาอิศรภักดีธรรมวิเทศ (เคลื่อน อิศรภักดี) และ หลวงจำรูญเนติศาสตร์ (จำรูญ โปษยานนท์) ซึ่งล้วนเป็นผู้แตกฉานเชี่ยวชาญด้านกฎหมายอาญาของไทย

‘พระยาเลขวณิชธรรมวิทักษ์’ เคยเรียบเรียงหนังสือคำอธิบายกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. 127 เผยแพร่ออกมาหลายเล่มช่วงปลายทศวรรษ 2460 และต้นทศวรรษ 2470 นับเป็นคนที่สามของเมืองไทยที่เรียบเรียงกฎหมายดังกล่าวแบบเรียงมาตราจนจบบริบูรณ์ ถัดต่อมาจากพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ และพระยาปรีดานฤเบศร์ (ฟัก พันธุ์ฟัก) ท่านเจ้าคุณยังเป็นพ่อภรรยาของนักฎหมายนาม หยุด แสงอุทัย

พระยาอิศรภักดีธรรมวิเทศ สมัยที่ยังเป็นหลวงราชปริญญา เคยเรียบเรียงหนังสือว่าด้วยการพยายามกระทำความผิดในกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. 127 ตีพิมพ์เผยแพร่เมื่อ พ.ศ. 2561

หลวงจำรูญเนติศาสตร์ เคยเป็นผู้บรรยายหรืออาจารย์พิเศษของมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง เป็นอธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ เมื่อ พ.ศ. 2485 ก่อนจะเลื่อนขึ้นมาเป็นผู้พิพากษาศาลฎีกา

เป็นอันว่าครูฉ่ำ หรือ สส.ฉ่ำ แคล้วคลาดรอดพ้นความผิดทางอาญาฐานใช้อุบายหลอกลวงหญิงไปเพื่อการอนาจารและสำเร็จความใคร่ซึ่งถือเป็นคดีอาชญากรรมทางเพศมาได้ ทั้งๆ ที่เกือบจะต้องติดคุกติดตะรางตั้ง 2 ปี ด้วยคำพิพากษา เพียงแค่บังเอิญสนทนากับผู้หญิงสองคนบนขบวนรถไฟด่วนสายใต้ในคืนวันศุกร์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2482

นี่คงเป็นเพราะโชคชะตา หากว่ากันตามพื้นดวงแล้ว ครูฉ่ำหาใช่คนที่จะต้องติดคุกด้วยคดีจิปาถะอื่นใด มีเพียงคดีทางการเมืองเท่านั้นที่ผู้ตกหลุมรักต่อการเมืองอย่างมิอาจป่ายปีนขึ้นมาได้แบบเขาจะได้ลิ้มรสแสนขมขื่น ชั่วชีวิตของครูฉ่ำต้องก้าวเข้าไปในคุกด้วยคดีทางการเมืองถึงสองหน

ครูฉ่ำครองตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสมัยที่ 2 มาจนถึงปี 2487 ก็สิ้นสุดสถานภาพหลังจากจอมพล ป. พิบูลสงคราม หลุดพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีด้วยการแพ้เสียงในสภา ครั้นสงครามโลกครั้งที่สองปิดฉากลงเมื่อกลางเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2488 ต่อมาเมื่อจอมพล ป. ตกเป็นอาชญากรสงคราม ต้องติดคุกเพราะสนับสนุนฝ่ายอักษะ (เยอรมนี อีตาลี และญี่ปุ่น) ที่ตกเป็นผู้พ่ายแพ้ ครูฉ่ำก็เป็นอีกคนหนึ่งที่ถูกจับกุมในข้อหาเป็นอาชญากรสงคราม เพราะเขาให้การสนับสนุนจอมพล ป. อย่างแข็งขัน แม้ตอนแรกเริ่มที่ครูฉ่ำได้เข้ามาคลุกคลีกับแกนนำคณะราษฎร เขาจะดูเหมือนสนิทกับหลวงประดิษฐ์มนูธรรม และหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ แต่ไปๆ มาๆ บุคคลที่ สส. ชาวนครศรีธรรมราชคลั่งไคล้คือหลวงพิบูลสงคราม หรือ จอมพล ป.  ถึงขั้นออกปากเรียกขานว่า พ่อ’ ทั้งๆ ที่อายุรุ่นราวคราวเดียวกัน

ครูฉ่ำ จำรัสเนตร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครศรีธรรมราช 5 สมัย

ผู้แทนฉ่ำไม่ได้มีแค่พฤติกรรมแปลกๆ หากยังหลงใหลจอมพลแปลกด้วย เฉกเช่นตอนที่อยู่ในคุกด้วยคดีอาชญากรสงคราม เมื่อสบโอกาสได้ออกจากห้องขังมาทำกิจกรรมต่างๆ ของนักโทษ แล้วพบจอมพล ป. เข้า ครูฉ่ำจะทรุดกายลงหมอบกราบ บอกว่าตนเป็นหนุมาน บัดนี้ทราบว่าพระรามซึ่งก็คือจอมพล ป. ถูกยักษ์ไมยราพจับตัวมากักขังไว้ในบาดาล ดังนั้น ‘หนุมานฉ่ำ’ จึงต้องลงมาตามสายบัวเพื่อช่วยเหลือ ‘พระรามแปลก’

ถ้ายังจดจำหลวงจำรูญเนติศาสตร์ ที่เป็นหนึ่งในคณะผู้พิพากษาศาลฎีกาพิจารณาคดีซึ่งครูฉ่ำตกเป็นจำเลยในฐานใช้อุบายหลอกลวงหญิงไปเพื่อการอนาจารและสำเร็จความใคร่ แต่ศาลพิพากษาให้รอดพ้นคุก พอถึงปี พ.ศ. 2489 คุณหลวงจำรูญก็เป็นหนึ่งในคณะผู้พิพากษาคดีอาชญากรสงครามซึ่งเป็นเหตุให้ครูฉ่ำต้องติดคุก หากต่อมาศาลพิพากษาว่าคดีดังกล่าวเป็นโมฆะ จะใช้กฎหมายบังคับย้อนหลังไม่ได้ จึงสั่งให้ปล่อยตัวผู้ต้องหาครูฉ่ำ เลยพ้นตะรางสู่อิสรภาพ

โดนการเมืองเล่นงานหนักเสียจน ‘งอมหนุมาน’ (เพราะในความคิดของครูฉ่ำ พระรามคือ จอมพล ป.) แต่หาได้ทำให้รู้สึกเข็ดหลาบต่อการเมือง เว้นวรรคพักผ่อนไปราวเกือบ 2 ปี ครูฉ่ำก็ลงสมัคร สส. อีกหนในการเลือกตั้งเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2491 ชะรอยคนใต้จะรักจริง ชาวนครศรีธรรมราชจึงเลือกผู้แทนฉ่ำเข้าสภา

การเป็น สส. ในทศวรรษ 2490 ครูฉ่ำยังคงแสดงพฤติการณ์แปลกๆ ในสภาหินอ่อน และนอกสภาอยู่เนืองๆ มิเว้นวาย แต่ดูเหมือนช่วงหลังๆ จะไม่คลั่งไคล้จอมพล ป. ผู้เป็นนายกรัฐมนตรีอย่างเคย แต่กลับวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลด้วยลักษณะเฉพาะตน บางทีนำลูกฟุตบอลเขียนชื่อจอมพล ป. มาเดาะเล่นกลางสภา บางทีก็ร้องตะโกนขึ้นมาลั่นสภาเฉยๆ เจ้าหน้าที่ตำรวจประจำสภาต้องเข้ามาควบคุมตัวครูฉ่ำเพื่อระงับเหตุบ่อยๆ ผู้แทนชาวนครศรีก็โวยวายโอดครวญว่า ตนถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจทำร้ายร่างกาย แต่ก็แอบกระซิบเจ้าหน้าที่ทำนองว่า “มันเป็นวิธีการของพี่ ไอ้น้อง”  ซึ่งเป็นที่รับรู้กันดีของนักการเมืองว่าครูฉ่ำ ตีรวน ก่อกวน สร้างความวุ่นวาย ก็เพื่อหวังผลทางการเมือง เป็นการขัดขวางมิให้การพิจารณาบางร่างกฎหมายหรือการประชุมบางประเด็นเนื้อหาดำเนินไปอย่างราบรื่น นักหนังสือพิมพ์ซุบซิบอีกว่าที่ผู้แทนฉ่ำ ทำบ้า ทำบ้า ทำบ้าอะไรได้เรื่อยๆ ก็เพราะ ‘พ่อ’ หรือ ‘จอมพล ป.’ นั่นแหละคอยหนุนหลัง

ครูฉ่ำยังได้เป็น สส. นครศรีธรรมราช อีก 2 สมัย คือสมัยที่ 4 ในการเลือกตั้งเมื่อวันอังคารที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500  ซึ่งเขาสังกัดพรรคธรรมาธิปัตย์และได้เลขประจำตัวผู้สมัครคือ เบอร์ 9 ในใบปลิวหาเสียงจึงมีบทกลอนว่า

จำเบอร์ 9 ครูฉ่ำ จำรัสเนตร   เลือกรวมเขตคราวนี้คงมีหวัง

ฉีกเบอร์ 9 เอาใช้ให้ระวัง       ติดกาวตั้งใส่ซองให้ว่องไว

จำเบอร์ 9 ครูฉ่ำ จำให้แน่     ญาติพ่อแม่โปรดด้วยช่วยกันใส่

กุมภาพันธ์ช่วยกันไป          เลือกวัดไหนช่วยฉ่ำทำตามเคย

ช่วยครูฉ่ำให้เด็ดขาดนะญาติเอย   ถ้าใครเฉยพระธาตุให้ญาติไป

เลือกครูฉ่ำเบอร์ 9 เช้าจนค่ำ        จำเบอร์ 9 ครูฉ่ำอย่าจำไหน

สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่สถิตประเทศไทย    ช่วยคุ้มภัยให้ญาติปราศทุกข์เอย

แต่การเลือกตั้งคราวนี้ถูกตีตราว่าเป็น ‘การเลือกตั้งสกปรก’ จึงสั่นคลอนอำนาจของรัฐบาลจอมพล ป. กระทั่งจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำรัฐประหารเมื่อวันจันทร์ที่ 16 กันยายน ปี 2500 ส่งผลให้จอมพล ป. ต้องลี้ภัยการเมืองไปยังต่างประเทศ รัฐบาลใหม่ที่มี ‘นายพจน์ สารสิน’ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้จัดให้มีการเลือกตั้งขึ้นเมื่อวันอาทิตย์ที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2500  ครูฉ่ำลงสมัครอีกหนโดยสังกัดพรรคสหภูมิ และได้รับเลือกเป็น สส. สมัยที่ 5

ผู้แทนฉ่ำ มีรึจะคาดฝันว่าการเมืองจะผลักเขากระโจนเข้าไปอยู่ในคุกเป็นครั้งที่ 2 คราวนี้ถึงกับโดนข้อหากบฏภายในประเทศ สืบเนื่องจากความเชื่อมั่นในสิทธิเสรีภาพที่สามารถวิจารณ์รัฐบาลได้ ครั้นจอมพลสฤษดิ์ยึดอำนาจ แล้วก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเสียเองเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2501 ครูฉ่ำก็อาศัยฝีปากอันเผ็ดร้อนเร่วิจารณ์รัฐบาลตามที่ชุมนุมชนต่างๆ ท้ายสุดจึงมิแคล้วถูกจับกุมควบคุมไปขังไว้ที่เรือนจำลาดยาว

ช่วงแรกๆ ที่อยู่ในคุก ครูฉ่ำยังประคองอารมณ์ครึกครื้นไว้แม่นมั่น นักโทษการเมืองทั้งหลายมักแลเห็นอดีต สส. นครศรีธรรมราช อ้าแขนทั้งสองข้างกางออก และอ้าปากกว้างตะโกน “อำ อำ เอ้า อำ อำ” เพื่อกินแสงอาทิตย์ ทว่าเมื่อศาลทหารโดยคำสั่งของคณะปฏิวัติพิพากษาตัดสินให้ ครูฉ่ำต้องโทษจำคุกนานถึง 5 ปี ก็ดูเหมือนอดีตผู้แทนฉ่ำจะเศร้าซึมสงบเงียบไปเลย มิค่อยสำแดงพฤติการณ์แปลกๆ

ในความทรงจำของอิศรา อมันตกุล และ สุวัฒน์ วรดิลก นักคิดนักเขียนผู้ต้องติดคุกเพราะการเมืองในเรือนจำเดียวกันกับครูฉ่ำนั้น สิ่งที่พวกเขาประจักษ์ชัดคืออดีต สส. นครศรีธรรมราช เป็นนักโทษการเมืองเพียงรายเดียวที่ถูกตีตรวนโซ่ล่ามขา เนื่องจากคราวหนึ่งครูฉ่ำเรียกผู้คุมให้มาทำอะไรสักอย่าง แต่ผู้คุมไม่ยอมมา เขาจึงเอาไม้ทุบโถส้วมแตก

ต่อมาครูฉ่ำได้ถูกย้ายจากเรือนจำลาดยาวไปอยู่ที่เรือนจำนครศรีธรรมราชอันเป็นถิ่นฐานบ้านเกิด กว่าจะพ้นโทษได้รับอิสรภาพก็ในปี 2508 เขามีอายุขัยยืนยาวมาจนได้ราว 80 ปี ก็อำลาโลกไปเมื่อวันเสาร์ที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2521 หากวีรกรรมทางการเมืองของครูฉ่ำยังโลดแล่นตราตรึงในห้วยความนึกคิดของคนไทยอย่างมิรู้ลืมเลือน

คดีอาชญากรรมทางเพศที่ครูฉ่ำ จำรัสเนตร ได้ตกเป็นจำเลยเมื่อทศวรรษ 2480 นั้น ว่ากันตามจริงอดีต สส. นครศรีธรรมราชผู้นี้แทบจะไม่มีพฤติกรรมเกี่ยวข้องเลย แต่คงด้วยจังหวะชีวิตที่ชักนำให้ถูกฉุดดึงเข้าไปพัวพันจนต้องขึ้นโรงขึ้นศาล ถูกครหาว่าร้าย และเกือบจะต้องติดคุก ยังโชคดีที่ครูฉ่ำสามารถพ้นมลทินมัวหมอง นั่นละครับถ้าข้อเท็จจริงยังไม่กระจ่างแจ่มชัด บางทีเราๆ ท่านๆ ต้องระวังตนเหมือนกันในการที่จะไม่ไปตัดสินพิพากษาหรือสร้างให้ใครต่อใครกลายเป็นปีศาจ ก็ได้แต่คาดหวังว่าสังคมคงจะไม่น่าหดหู่ไปถึงขั้นที่คนพากันหิวโหยการตัดสินพิพากษาจนยากเกินเยียวยา

เอกสารอ้างอิง

1. เกียรติ. กลวิธีเลือกตั้ง. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์เกษมสัมพันธ์การพิมพ์, 2511

2. เจ้าฟ้าธรรมธิเบศ พระประวัติ และบทร้อยกรอง. พิมพ์ในการพระราชทานเพลิงศพ พระยาเลขวณิชธรรมวิทักษ์ ม.ว.ม., ป.ช. (เยี่ยม เลขะวณิช) ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพสิรินทราวาส วันที่ 29 มีนาคม 2505. พระนคร: ห้างหุ้นส่วนจำกัดศิวพร, 2505

3. ณรงค์ บุญสวยขวัญ. นักการเมืองถิ่นจังหวัดนครศรีธรรมราช. นนทบุรี : สถาบันพระปกเกล้า, 2549

4. ที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพหลวงจำรูญเนติศาสตร์ ม.ป.ช., ม.ว.ม., ท.จ.ว. ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันที่ 21 ตุลาคม 2518. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย, 2518.

5. นริศ จรัสจรรยาวงศ์. “ปรมาจารย์การเลือกตั้งเบื้องแรกแห่งประชาธิปไตย ครูฉ่ำ จำรัสเนตร (พ.ศ. 2441-2521) ส.ส. เมืองคอน 5 สมัย.” ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 40 ฉบับที่ 5 (มีนาคม 2562). หน้า 74-100

6. เนติบัณฑิตยสภา. “คำพิพากษาฎีกาที่ 358/2486.” ใน คำพิพากษาฎีกา ประจำพุทธศักราช 2486. ประกอบ หุตะสิงห์ บรรณาธิการ. พระนคร: โรงพิมพ์บริษัท คณะช่าง จำกัด, 2493. หน้า 357-365

7. “พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายลักษณะอาชญา พุทธศักราช 2474.” ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 48 (19 เมษายน 2474). หน้า 34-36

8. “พระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง พุทธศักราช 2477.”  ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 52 (20 มิถุนายน 2478). หน้า 723-978

9. “พระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา พุทธศักราช 2477.”  ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 52 (10 มิถุนายน 2478). หน้า 598-721

10. ราชปริญญา (เคลื่อน อิศรภักดี), หลวง. ว่าด้วยพยายามกระทำความผิด. พระนคร: โรงพิมพ์กรุงเทพฯเดลิเมล์, 2461

11. ศิวะ รณชิต. จดหมายจากลาดยาว. กรุงเทพฯ: ประกาย, 2521

12. เสถียร วิชัยลักษณ์ (รวบรวม). กฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. 127 พร้อมด้วย พ.ร.บ. และพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมทุกฉบับ กับประกาศที่เกี่ยวกับกฎหมายนี้. พระนคร: นีติเวชช์, 2498.

13. หยุด แสงอุทัย. ประมวลกฎหมายอาญาศึกษาทางคำพิพากษาฎีกา ตอน 1. พิมพ์เป็นที่ระลึกในการพระราชทานเพลิงศพ พระยาเลขวณิชธรรมวิทักษ์ (เยี่ยม เลขะวณิช) ณ สุสานหลวง วัดเทพสิรินทราวาส วันที่ 29 มีนาคม 2505. พระนคร: โรงพิมพ์มงคลการพิมพ์, 2505

14. อาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ. “ขี่ช้างขี่ม้า ฝากตังค์กับปรีดี ว่าด้วยสีสันการเลือกตั้งครั้งอดีต.” The MATTER (17 มีนาคม 2562)

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save