fbpx

‘Breaking the Cycle’: คุยกับสองผู้กำกับท่ามกลางข้อวิจารณ์ว่า ‘ภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่ต่างอะไรจากโฆษณาชวนเชื่อ’

Breaking the Cycle

ชัยชนะของพรรคก้าวไกลในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ได้สะท้อนภาพว่าประชาชนต้องการความเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างอย่างพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน เพื่อพาประเทศไทยออกจากระบอบประยุทธ์ที่ครองอำนาจมาตลอด 8 ปี จนหลายคนคาดหวังว่าชัยชนะครั้งนี้ของพรรคก้าวไกลจะเป็นเหมือนตอนจบของภาพยนตร์อันแสนสุข

แต่ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาก็บอกกับเราว่า นี่อาจเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของมหากาพย์ที่ยากคาดเดาจุดจบ

เพราะเมื่อย้อนไปยังการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2562 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกหลังการรัฐประหารโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่มีใครรู้และคาดหวังว่าพรรคเกิดใหม่อย่าง ‘พรรคอนาคตใหม่’ จะสามารถสร้างปรากฎการณ์ได้รับความนิยมคว้าคะแนนเสียงทั่วประเทศกว่า 6,330,617 คะแนน คำนวณออกมาเป็นจำนวนที่นั่งในรัฐสภาถึง 81 ที่นั่ง สร้างผลกระทบต่ออารมณ์ความรู้สึกของผู้คนอย่างมากว่าสังคมไทยจะเปลี่ยน

ความจริงไม่เป็นเช่นนั้น

คำสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร, การตัดสิทธิ์ทางการเมือง และการยุบพรรคการเมือง คือสิ่งที่ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และพรรคอนาคตใหม่พบเจอในช่วงหลังการเลือกตั้งครั้งนั้น เรื่องเล่าเช่นนี้หากมีใครบันทึกเป็นภาพยนตร์ คงจะเป็นภาพยนตร์ที่มีทั้งจุดเริ่มต้น จุดรุ่งเรือง และไคลแมกซ์ ครบสมบูรณ์ตามขนบเรื่องเล่าที่พวกเราคุ้นชิน

แต่ในวันที่ เอกพงษ์ สราญเศรษฐ์ และ ธนกฤต ดวงมณีพร สองผู้กำกับหน้าใหม่ตัดสินใจหยิบกล้องไปบันทึกเส้นทางของพรรคอนาคตใหม่นั้น เขาบอกกับเราว่าเริ่มแรกไม่ได้ตั้งใจสร้างออกมาเป็นภาพยนตร์สารคดี เพียงแค่ต้องการบันทึกประวัติศาสตร์การเมืองไทยและการก่อตัวของพรรคหน้าใหม่เท่านั้น ทว่าท้ายที่สุดแล้ว เรื่องราวก็บรรจบออกมาในรูปแบบอย่างที่เราเห็นกัน คือภาพยนตร์สารคดี ‘Breaking the Cycle’

101 ชวนผู้กำกับทั้งสองพูดคุยเกี่ยวกับกระบวนการคิด และการถ่ายทำสารคดีในวันที่การเมืองไทยแตกขั้ว ท่ามกลางข้อวิจารณ์ว่า ‘ภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ไม่ต่างอะไรจากโฆษณาชวนเชื่อ’

อ่านบทสนทนาทั้งหมดได้ในบรรทัดถัดจากนี้


ทำไมทั้งคู่ตัดสินใจทำหนังร่วมกัน และทำสารคดีเกี่ยวกับธนาธรและพรรคอนาคตใหม่

ธนกฤต – เรากับพี่เอก (เอกพงษ์ สราญเศรษฐ์) จบการศึกษาจากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเหมือนกัน ที่ผ่านมาเราทำงานด้านโฆษณา ส่วนพี่เอกก็ตัดต่อภาพยนตร์ ช่วงเวลานั้นทั้งคู่ต่างเริ่มสนใจสารคดีกัน ประจวบกับผมเองก็เกิดภาวะชอกช้ำจากการทำงานด้านโฆษณาจึงตัดสินใจลาออก

ด้วยความที่เราทั้งคู่ก็สนิทกัน อีกทั้งตอนนั้นเราเห็นพรรคอนาคตใหม่ก่อตั้งขึ้น พี่เอกเลยชวนว่าเราไปถ่ายกันไหม คือพวกเราก็ไม่ได้รู้จักธนาธรเป็นการส่วนตัว พวกเราแค่เห็นปรากฎการณ์ของพรรคอนาคตใหม่ขึ้นมาและรู้สึกว่าน่าจะมีใครไปถ่ายเขาไว้ ไม่ได้คิดว่าจะทำเป็นภาพยนตร์เลยในช่วงเวลานั้น

เอกพงษ์ – ช่วงเวลานั้นตัวละครอย่าง ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นตัวละครที่น่าสนใจ เขาเป็นตัวละครที่มีเอกลักษณ์ อีกทั้งพรรคอนาคตใหม่ก็เป็นพรรคเล็กๆ พรรคหนึ่ง คือมีเรื่องราวของความเป็น underdog แล้วพวกเราก็มองว่า เฮ้ย ในฐานะคนทำหนังต้องมีใครสักคนไปลองถ่ายเขา ซึ่งเมื่อผ่านมา 5-6 เดือน ก็ไม่มีใครไปถ่ายเลย ในช่วงเวลานั้นพวกเราก็ตัดสินใจว่า งั้นพวกเราไปถ่ายแล้วกัน โดยที่ไม่กล้าพูดเต็มปากเหมือนกันว่าอยากทำสารคดีเกี่ยวกับธนาธร เพราะพวกเราเป็นใครมาจากไหนก็ไม่รู้ มึงเก่ง มึงเจ๋งเหรอ ที่จะมาจับตัวละครอย่างธนาธร

พวกเราเลยตั้งเป้าไว้แค่ตามถ่ายไปเรื่อยๆ ก่อน มันจะเป็นอะไรก็ให้มันเป็น มันจะเกิดอะไรก็ให้มันเกิด ซึ่งตอนนั้นหากถามว่าแล้ววิดีโอเหล่านี้จะออกมาเป็นอะไร เราคงตอบได้แค่ว่า สิ่งที่โง่ที่สุดคือ นำวิดีโอทั้งหมดที่ถ่ายมาไปฝากไว้กับหอภาพยนตร์เหมือนเป็นหนังบ้าน (home movie) เมื่อผ่านไปอีก 20-30 ปีข้างหน้า แล้วมีวิดีโอที่บันทึกธนาธรก็เหมือนเป็นการบันทึกประวัติศาสตร์รูปแบบหนึ่ง

ธนกฤต – ลองจินตนาการว่าตอนนั้นพรรคเพิ่งก่อตั้ง พวกเราไม่รู้เลยว่าพรรคนี้จะประสบความสำเร็จหรือไม่ มันอาจจะไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลยก็ได้ พรรคอนาคตใหม่อาจจะมีเพียง 1 ที่นั่งในสภา กลายเป็นพรรคเล็กๆ ในรัฐสภาพรรคหนึ่ง อะไรก็เกิดขึ้นได้

ในความจริงเราก็รอเหมือนกันนะ ไม่ใช่ว่าพวกเราสองคนกล้า เพราะพวกเราก็รู้ว่าด้วยบริบทการเมืองในปัจจุบัน อะไรก็เกิดขึ้นได้ พวกเรากลัวเหมือนกัน ช่วงเวลานั้นจึงรอว่าจะมีใครไปถ่ายหรือไม่ คนที่กล้ากว่าเรา คนที่เก่งกว่าเรา แต่ในเมื่อมันไม่มี พวกเราจึงไปลองถ่ายดู จุดเริ่มต้นของหนังเรื่องนี้มันเล็กมากๆ


แล้วตามถ่ายไปถึงจุดไหนถึงคิดว่า วิดีโอเหล่านี้สามารถเป็นภาพยนตร์สารคดีได้แล้ว

เอกพงษ์ – สำหรับเราน่าจะเป็นการเลือกนายกรัฐมนตรี คือเราเริ่มเห็นว่าเรื่องราวนี้มี climax ของมันแล้ว

ธนกฤต –  พวกเราเริ่มเห็นจุดดำดิ่งของตัวละครนี้แล้ว ก็เลยคิดว่าเรื่องราวพอจะเป็นภาพยนตร์ได้ แต่ช่วงที่เห็นต้น กลาง และจบของภาพยนตร์จริงๆ คือตอนยุบพรรคอนาคตใหม่ วันยุบพรรคหลายคนอาจจะร้องห่มร้องไห้เสียใจ แต่พวกเราคือ เย้ หนังพวกเรามีตอนจบแล้ว

เอกพงษ์ – สำหรับเราอาจจะไม่ได้คิดว่าจะจบตอนนั้น จนสนุ้ก (ธนกฤต ดวงมณีพร) ไปลองตามถ่ายช่วงก่อตั้งพรรคก้าวไกล แล้วเกิดความรู้สึกว่าไม่อยากถ่ายต่อแล้วว่ะ หนังมันจบแล้ว การก่อตั้งพรรคก้าวไกลเหมือนเป็นการขึ้นตอนใหม่แล้ว


ก่อนหน้านี้ทั้งคู่ต่างสนใจประเด็นการเมืองมาก่อนอยู่แล้วหรือเปล่า

เอกพงษ์ – เราว่าสนุ้กสนใจมากกว่าเรา ก่อนหน้านี้เราไม่รู้อะไรเลย ไม่รู้จริงๆ ว่าการเมืองคืออะไร แต่สิ่งที่มากระตุกเราคือการเห็นวิดีโอเปิดตัวของพรรคอนาคตใหม่ ในวิดีโอนั้นมีผู้คนจากหลากหลายที่มา เรารู้สึกว่า นี่แหละสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรควรจะแทนผู้คนที่หลากหลายเช่นนี้ นั่นคงเป็นจุดเริ่มต้นแรกที่ทำให้เราสนใจการเมือง

ธนกฤต – เราเป็นคนเชียงราย ถ้าพูดอย่างตรงไปตรงมาคือพื้นที่ในจังหวัดเชียงรายเป็นพื้นที่ของคนเสื้อแดง พ่อแม่เราเป็นคนเสื้อแดง ภายในตัวของเราก็มีเชื้อของความข้องใจเกี่ยวกับการเมืองไทยอยู่บ้าง แต่ไม่ถึงกับเข้าใจนะ แค่เห็นว่าผู้ใหญ่รอบตัว ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่พี่ป้าน้าอาของเราต่างก็อยู่ในขบวนการนี้

แต่ช่วงเวลาที่ทำให้เรามีความรู้สึกบางอย่างต่อการเมืองไทย คือช่วงก่อนการรัฐประหาร 2557 ในตอนนั้นเรากำลังศึกษาอยู่ชั้นปี 2 ไม่ก็ปี 3 แล้วม็อบอยู่ที่จุฬาฯ ทุกวันที่เราไปเรียน เราต้องผ่านม็อบ ต้องตรวจอาวุธ เมื่อเกิดการรัฐประหารขึ้น มีผู้คนออกมาชุมนุมที่หน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร มีการติดโพสอิตเพื่อเขียนความรู้สึกของผู้เข้าร่วมกิจกรรมการชุมนุมนั้น เราก็เดินไปอ่านโพสอิตแต่ละอัน จนไปเจออันหนึ่งเขียนว่า ‘อยากพูดแต่พูดไม่ได้’ พอเราอ่านจบ เราก็ร้องไห้ออกมา ไม่รู้เหมือนกันว่าความรู้สึกเช่นนี้มันมาจากไหน แต่เรารู้สึกกับคำๆ นี้มาก มันคงเป็นความรู้สึกที่สะสมมาตั้งแต่สมัยเด็กช่วงอยู่ที่จังหวัดเชียงราย จนมาเข้าเรียนที่กรุงเทพฯ เจอม็อบ เจอการรัฐประหาร แล้วมาเจอโพสอิตอันนี้

เอกพงษ์ – เชื่อไหมว่าตอน Shutdown กรุงเทพฯ เราสนุกนะที่ได้เดินบนถนน

ธนกฤต – นี่ คนละขั้วเลย เราว่าเป็นสิ่งที่น่าสนใจคือพี่เอกเป็นคนสงขลา เราเป็นคนเชียงราย พวกเราต่างเติบโตมาจากสองพื้นที่ที่แวดล้อมไปด้วยความคิดทางการเมืองที่แตกต่างอย่างสุดขั้ว ก่อนที่พวกเราทั้งสองจะมาเจอกันที่กรุงเทพฯ

เอกพงษ์ – พื้นที่เราตอนนั้นเป็นประชาธิปัตย์ (หัวเราะ) จำได้ว่าตอนไปเลือกตั้งครั้งแรก มีคนบอกให้ไปเลือกประชาธิปัตย์ เราก็ไปเลือก


หลังจากปล่อยตัวอย่างภาพยนตร์ออกไป หลายคนต่างให้ความสนใจกับภาพยนตร์เรื่องนี้อย่างมาก

เอกพงษ์ – ใช่ ความจริงแล้วพวกเราต้องการความสนใจจากคนหมู่มากด้วยเช่นกัน เพราะภาพยนตร์เรื่องนี้ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ ซึ่งหลังจากนี้หากต้องการนำภาพยนตร์เรื่องนี้ฉายในโรงภาพยนตร์ ต้องส่งไปยังคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวิดิทัศน์ หรือที่หลายคนรู้จักอย่าง กองเซนเซอร์ โดยที่พวกเราก็ไม่รู้ว่าพวกเขาเหล่านั้นเป็นใคร แต่กลับกุมชะตาไว้ว่าหนังเรื่องนี้จะได้เข้าโรงภาพยนตร์หรือไม่

เมื่อการเลือกตั้งมาถึงก่อนที่ภาพยนตร์เรื่องนี้จะเสร็จสมบูรณ์ พวกเราต้องตัดสินใจว่าต้องทำอะไรสักอย่าง จึงตัดสินใจปล่อยตัวอย่างภาพยนตร์ออกไปไปในช่วงเวลานั้น เพราะเราต้องการผู้คนสนับสนุนและเดินทางร่วมไปกับพวกเราจนกว่าภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้จะได้เข้าโรงภาพยนตร์ หลายฝ่ายอาจจะมองว่านี่คือการหวังผลทางการเมืองหรือไม่ เราตอบได้เลยว่าพวกเราโง่กว่านั้น ไม่ได้คิดอะไรซับซ้อนขนาดนั้น แต่หลายความคิดเห็นที่มีต่อภาพยนตร์เรื่องนี้ มันสะท้อนสภาวะของความรู้สึกและความกลัวในสังคมได้เลย


ก่อนหน้านี้ทั้งคู่ต่างก็มีผลงานภาพยนตร์สั้น ไม่ว่าจะเป็น ‘ทุกคนที่บ้านสบายดี’ หรือ ‘ฝน’ ซึ่งเล่าเรื่องราวของผู้คนตัวเล็กตัวน้อย ท่ามกลางบรรยากาศการเมืองและสังคมที่ส่งผลบางอย่างต่อความคิดและการตัดสินใจของตัวละคร ทั้งหมดนี้มันส่งผลกับการทำภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้หรือไม่

ธนกฤต – ส่งผล ความรู้สึกหนึ่งที่ส่งผลต่อเราตลอดเวลาคือ ความไม่ยุติธรรม หากดูในภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้ เราก็เริ่มต้นด้วยความรู้สึกเช่นนี้แหละว่ามันมีบางอย่างในประเทศนี้ที่ไม่ปกติ และความไม่ยุติธรรมที่เกิดขึ้นเหล่านั้นก็ส่งผลมายังประชาชน ผู้คนตัวเล็กตัวน้อย


จากภาพยนตร์สั้นมาสู่การทำภาพยนตร์ยาวเรื่องแรก ทั้งสองคนต้องปรับวิธีคิดในการทำงานอย่างไร

เอกพงษ์ – ก่อนหน้านี้เราเคยตัดต่อภาพยนตร์สารคดีขนาดยาวมาแล้วสองเรื่อง คือ ดินไร้แดน (กำกับภาพยนตร์สารคดีโดย นนทวัฒน์ นำเบญจพล) และ รอวัน (กำกับภาพยนตร์สารคดีโดย คมน์ธัช ณ พัทลุง) ซึ่งกำลังจะไปฉายที่ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ อีกทั้งเคยเป็นผู้ช่วยตัดต่อภาพยนตร์สารคดีเรื่อง The Trapped 13: How We Survived the Thai Cave ก็คือเรามีประสบการณ์มาบ้าง ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีมากๆ ที่อย่างน้อยเราเคยไปตัดสารคดีขนาดยาวมาก่อน

ธนกฤต – ทุกขั้นตอนในภาพยนตร์เรื่องนี้คือครั้งแรก ทุกอย่างคือการเรียนรู้ใหม่ อย่างพี่เอกยังเคยมีประสบการณ์ในการทำภาพยนตร์ขนาดยาวมากกว่าเรา เพราะพี่เอกเคยตัดต่อภาพยนตร์ แต่เราที่ทำหนังสั้น มันคือการใช้เงินตัวเองจำนวนไม่มาก หลักหมื่นก็เพียงพอแล้ว แต่พอมาทำภาพยนตร์ขนาดยาว มันต้องเข้ากระบวนการการหาทุน อีกทั้งด้วยความยาวของภาพยนตร์ส่งผลให้ทุกขั้นตอนไม่ใช่ทำงานวันหรือสองวันก็เสร็จได้ แต่ใช้ระยะเวลายาวนานมากถึง 4-5 ปี ด้วยตัวละครอย่างธนาธร ความยาวของภาพยนตร์ ทำให้ทุกอย่างมันขยายขึ้นไปหมด

เอกพงษ์ – ความยากคือเมื่อพูดคำว่า ‘การเมืองไทย’ ก็เกิดคำถามว่าการเมืองไทยในช่วงเวลานั้นต้องรู้อะไรบ้าง ตั้งแต่จุดไหนถึงจุดไหน มันเป็นหนึ่งในโจทย์ใหญ่ของพวกเรามาก ก่อนหน้านี้ช่วงที่เราตัดต่อภาพยนตร์เรื่องนี้ พวกเราตัดฉากอื่นๆ ก่อน เช่น ฉากการปราศรัยใหญ่ของพรรคอนาคตใหม่ หรือการยุบพรรค โดยที่ยังไม่ตัดฉากเปิดของหนัง เพราะไม่รู้ว่าต้องเริ่มจากจุดไหน ข้อมูลอะไรบ้างที่คนต้องรู้

ธนกฤต – มันยากเพราะความตั้งใจแรกของเราอยากให้หนังเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ทุกคนดูได้ ไม่จำเป็นต้องรู้เรื่องการเมืองเลยก็ได้ พอความตั้งใจแรกของพวกเราเป็นเช่นนั้น มันเลยนำไปสู่กระบวนการตัดต่อภาพยนตร์ซึ่งจริงๆ แล้วสำหรับภาพยนตร์สารคดี การตัดต่อคือการเขียนบทใหม่อีกครั้ง มันคือการนำวิดีโอมาต่อและร้อยเรียงกันให้ตรงตามที่ตั้งใจไว้ ซึ่งโจทย์คือทำอย่างไรให้ทุกคนดูได้ ทุกคนดูเข้าใจ และสนุกไปกับมันด้วย


คำว่า ‘ทุกคนดูได้’ รวมถึงกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับพรรคอนาคตใหม่ด้วยไหม

ธนกฤต – คิดว่าดูได้ ภาพยนตร์เรื่องนี้ของเราไม่ได้ต้องการจะเปลี่ยนความคิดของใครทั้งนั้น เราแค่ต้องการเอาสิ่งที่พวกเราได้ประสบพบเจอตั้งแต่ต้นจนจบมานำเสนอว่าเราได้เรียนรู้อะไร

เอกพงษ์ – หลายคนอาจจะมองภาพยนตร์เรื่องนี้ว่าเป็นภาพยนตร์ตามติดธนาธร แต่ด้วยความที่พวกเราสองคนเป็นผู้กำกับ เราสามารถควบคุมเรื่องราวที่ผู้ชมจะเห็น ผู้กำกับมีพลังเหนือตัวละคร (power over subject) ดังนั้นต้องอย่าลืมว่าสารคดีทุกเรื่องล้วนเป็นชุดความจริงที่ถูกจัดการ ผ่านมุมมองของผู้กำกับ

หากพูดอย่างตรงไปตรงมาคือ พวกเราไม่ได้มีความหวังกับการทำหนังในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของประเทศไทยเลย เรามองว่าการทำภาพยนตร์ในปัจจุบัน เราต้องขายให้กับคนทั้งโลก ตอนนี้วัฒนธรรมการชมภาพยนตร์มันไร้พรมแดนไปแล้ว


จนมาถึงวันนี้ที่เรามีการเลือกตั้งครั้งใหม่ หากย้อนไปยังช่วงหลังการเลือกตั้งปี 2562 ตอนนั้นรู้สึกอะไรอยู่บ้าง

ธนกฤต – พวกเราคงเหมือนคนส่วนใหญ่แหละ คือก่อนเลือกตั้งเรามีความหวังมาก เราสนุกกับการฟังแต่ละพรรคการเมืองเสนอนโยบาย ประชาชนมีอำนาจในการตัดสินอนาคต แต่หลังจากการเลือกตั้ง เรากลับรู้สึกว่าประชาชนถูกตัดออกจากวงสนทนา เหมือนนักการเมืองก็ไปคุยกันเอง ไปรวมเสียงกัน แล้วเราก็นั่งอยู่บ้านทำงานของเราต่อไป เรากลายเป็นคนนอก แต่เราเป็นประชาชนนะ

เอกพงษ์ – การเลือกตั้งคงไม่ต่างอะไรจากการขายของ ช่วงหาเสียงทุกพรรคต่างโฆษณาว่าสินค้าเราดีอย่างไร ทำไมคุณต้องมาซื้อ แต่พอหลังการเลือกตั้ง บางพรรคโฆษณาว่าขายมันฝรั่ง แต่แกะออกมาเป็นกุ้งแห้ง หรือโฆษณาว่าขายนมถั่วเหลือง แต่เทออกมาเป็นน้ำขิง มันทำได้ว่ะ ตลกดี สุดยอดนะประเทศไทย


ในต่างประเทศมีภาพยนตร์สารคดีที่พูดถึงเรื่องการเมือง พรรคการเมืองจำนวนมาก แต่ประเทศไทยเรากลับเห็นภาพยนตร์ลักษณะดังกล่าวน้อยมาก คุณคิดว่ามันมีอุปสรรคหรือปัญหาอะไรที่ทำให้ไม่มีภาพยนตร์ลักษณะดังกล่าว

ธนกฤต – พวกเราก็อยากรู้เหมือนกัน ในต่างประเทศเราได้เห็นภาพยนตร์อย่าง An Insignificant Man (2016) ของประเทศอินเดีย หรือ Knock Down The House (2019) ของประเทศสหรัฐอเมริกา เห็นได้ว่าภาพยนตร์เหล่านี้มันมีอยู่ทั่วโลก แต่พอประเทศไทยมีภาพยนตร์ลักษณะนี้น้อย หลายคนจึงรู้สึกเกิดคำถามว่ามันคืออะไร พรรคจ้างหรือเปล่า หนังของธนาธรหรือไม่ คำถามเกิดขึ้นเต็มไปหมด และสิ่งที่พวกเราประสบพบเจอตลอดเส้นทางการทำภาพยนตร์เรื่องนี้คือ พวกเราทั้งคู่คุยกันเยอะมากๆ เกี่ยวกับบางประเด็น ต้องตัดสินใจว่าพูดอย่างนี้ได้ไหม นำเสนอแบบนี้ดีไหม

เอกพงษ์ – ส่วนหนึ่งเรามองว่าประเทศนี้เน้นทำลายมากกว่าสร้าง ตัวอย่างที่ชัดเจนคือเมื่อหนังของพวกเราปล่อยตัวอย่างภาพยนตร์ออกไป ก็โดนเพจหนึ่งไปโจมตีโดยการเอาตัวอย่างไปตัดยำแล้วเขียนแคปชั่นว่า ‘สิ่งที่คุณจะไม่ได้เห็นจากภาพยนตร์ของธนาธร’ พวกเราไม่ได้รู้สึกต่อต้านเลยนะถ้าจะมีเรื่องเล่าจากฝั่งอนุรักษนิยม ในทางกลับกัน พวกเรากลับคาดหวังที่จะเห็นด้วยซ้ำ แต่พวกเขากลับเลือกทำลาย ทำให้ดูเป็นอันตราย และสร้างความเกลียดชังมากกว่าสร้างสิ่งใหม่ๆ 


หลายคนมองว่า เมื่อภาพยนตร์เรื่องนี้ใช้ ‘ธนาธร’ เป็นตัวละครดำเนินเรื่องหลัก หรือกระทั่งการตั้งชื่อภาพยนตร์อย่าง Breaking the Cycle นั้น จะทำให้ธนาธรมีภาพลักษณ์เหมือนฮีโร่ผู้มากอบกู้บ้านเมืองหรือไม่

ธนกฤต – สำหรับเรา มันเป็นการบันทึกความพยายามของผู้คน หากวันนี้เรามองว่าการรัฐประหารเป็นเรื่องที่ผิด ภาพยนตร์เรื่องนี้คือการบันทึกความพยายามทำให้สิ่งที่ผิดนั้นหายไป แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะมองความพยายามดังกล่าวในมุมมองแบบฮีโร่

เอกพงษ์ – นอกจากข้อวิจารณ์นี้ก็มีที่มองว่าภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นหนังชวนเชื่อ ซึ่งเอาเข้าจริงแล้วมันเป็นคำที่กำกวมเหมือนกัน หนังเรื่องนี้เริ่มง่ายมากคือคนสองคนเห็นนักการเมืองคนหนึ่งแล้วรู้สึกสนใจจึงหยิบกล้องไปถ่าย มันก็แค่นั้น เราไม่เข้าใจว่าการที่มีหนังเรื่องนี้ออกมาทำไมต้องทำให้เป็นเรื่องใหญ่ วิพากย์วิจารณ์หนังเรื่องนี้ให้มันไกลจากกรอบ Propaganda ยุคสงครามเย็นได้ไหม

ธนกฤต – มันเป็นเรื่องปกติ เพียงแต่ไม่มีใครทำมาก่อนเฉยๆ แต่ไม่ได้แปลว่าสิ่งนี้มันพิเศษ

เอกพงษ์ – เราไม่ได้คาดหวังให้ภาพยนตร์เรื่องนี้จะต้องไปทำงานอะไรกับคนจริงๆ นะ เรามองว่ามันคือเป็นอีกหนึ่งเรื่องเล่าของประเทศนี้ ในการศึกษาไทย เรามีเรื่องเล่าต่างๆ จากฝั่งอนุรักษนิยมที่ถูกบังคับให้เรียนมาตลอด อันนี้ก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องเล่าเกี่ยวกับประเทศไทยที่เพิ่มเข้าไป คนที่เพิ่งเกิดวันนี้ เขาจะได้โตมาและรู้ว่ามันเกิดอะไรขึ้นบ้างในประเทศไทย


ในการเมืองไทยต่างก็มีพรรคที่สร้างปรากฎการณ์มากมาย หรือเส้นทางของพรรคการเมืองก็เหมือนกับพรรคอนาคตใหม่ ทำไมถึงตัดสินใจว่าต้องเป็นพรรคอนาคตใหม่

เอกพงษ์ – พวกเรารู้สึกเชื่อมโยงทางอัตลักษณ์กับพรรคมั้ง ในช่วงเวลานั้นเราไร้เดียงสามากๆ ถ้าถึงวันนี้เราอยากถ่ายพรรคไทยภักดีนะ

ธนกฤต – ใช่ พอวันนี้เรารู้จักการเมืองไทยมากขึ้น พวกเราก็อาจจะมีตัวเลือกมากขึ้น แต่ ณ วันนั้นพวกเราไม่รู้อะไรเลย มันก็เลย โอเค เมื่อพรรคนี้เกิดขึ้น ก็สนใจพรรคนี้


แล้วคิดว่าจากวันแรกจนถึงวันนี้ ภาพยนตร์เรื่องนี้ทำให้ทั้งคู่เข้าใจการเมืองมากขึ้นหรือไม่

ธนกฤต – สำหรับเรามีจุดที่จากไม่รู้เป็นรู้ หรือหลายคนมักเรียกว่า ‘ตาสว่าง’ นะ หลังจากนั้นเราก็ค่อยไปเก็บรายละเอียดในเรื่องต่างๆ มากขึ้น ยอมรับได้เลยว่าการทำภาพยนตร์เรื่องนี้ทำให้เราตื่นรู้ทางการเมือง

เอกพงษ์ – เหตุการณ์ตาสว่างของเรา อาจจะเป็นตอนที่เราไปเจอคนหนึ่งที่สีลม ซึ่งไม่รู้เหมือนกันว่าเขาเป็นใคร ในวันนั้นเราไปถ่ายธนาธรเสร็จ จึงมีโอกาสไปคุยกับเขา ประโยคหนึ่งที่เขาพูดและคาใจเราคือ ‘คุณรู้ไหมว่าการเมืองไทยปัจจุบันนี้คือเกมเดียวกันกับปี 2475 มันเป็น one game’ เราเก็บประโยคนี้ไปคิดถึงจะเข้าใจว่าเขาหมายถึงอะไร


หากเจอเจ้าของประโยคอีกครั้งอยากพูดอะไรกับเขา

เอกพงษ์ – ก็ไม่มีอะไรพูดหรอก มองตาก็รู้และเข้าใจแล้ว

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save