fbpx

คุยกับว่าที่รัฐบาลใหม่ถึงโจทย์ใหญ่ทลายทุนผูกขาด

ผลการเลือกตั้งในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 วาดภาพให้เราเห็นถึงหน้าตาว่าที่รัฐบาลใหม่ โดยมีพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาลจากพรรคก้าวไกลที่ชูนโยบายทลายทุนผูกขาด พร้อมชนปัญหาเชิงโครงสร้าง เพื่อแก้ไขปัญหาทุกข์ทนของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องค่าไฟฟ้าแพง ค่าเดินทางขนส่งสาธารณะที่ไม่สมเหตุสมผล การผูกขาดในธุรกิจสุราที่ไม่ตอบโจทย์ผู้ผลิตรายย่อย ฯลฯ

จากสารพัดสารพันปัญหาใกล้ตัวที่สะท้อนให้เห็นถึงภาพรวมการแข่งขันของหลากอุตสาหกรรมในประเทศไทยที่ไม่เท่าเทียมและทางเลือกที่ลดน้อยถอยลงของผู้บริโภค

101 จับเข่าคุยกับ เดชรัต สุขกำเนิด ผู้อำนวยศูนย์นโยบายเพื่ออนาคต (Think Forward Center) พรรคก้าวไกล และ สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค ตัวแทนของผู้บริโภค ถึงปัญหาทุนผูกขาดในประเทศไทยที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันของประชาชน ความท้าทายในการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง ไปจนถึงข้อเสนอแนะในการทำงานร่วมกันระหว่างรัฐบาลและภาคประชาสังคมเพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองให้กับผู้บริโภค

การหาเสียงที่ผ่านมาพรรคก้าวไกลชูประเด็นทลายทุนผูกขาด ในฐานะว่าที่รัฐบาลใหม่มีเป้าหมายระยะสั้นอะไรที่อยากผลักดันหรืออยากเห็นใน 100 วันแรกของการจัดตั้งรัฐบาล

เดชรัต: ผมอาจจะต้องเกริ่นนิดนึงว่าเป้าหมายปลายทางของเราคืออะไร เพราะว่าสิ่งที่เราจะทำในระยะสั้น ไม่ได้ทำเพราะเป็นปัญหาเฉพาะหน้าอย่างเดียว แต่เราอยากจะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงในปลายทางด้วย เราอยากเห็นการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างที่เคยถูกบิดเบือนจนทำให้ภาระตกมาอยู่กับผู้บริโภค เช่น ภาระค่าไฟฟ้าแพง กติกาการซื้อขายไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนโซลาร์เซลล์ที่ไม่เป็นธรรม เป็นต้น หรือการแก้ปัญหากติกาที่ไม่เป็นธรรมระหว่างผู้ผลิตด้วยกันอย่างกรณีสุราก้าวหน้า เพื่อปลายทางคือเราอยากเห็นแฟร์เกมและกติกาที่เป็นธรรม

ในระยะสั้น ประเด็นแรกคือ การแก้ปัญหาค่าไฟฟ้า มีอยู่สองส่วนที่จำเป็นจะต้องแก้ไข ส่วนแรกคือโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญสำหรับการผลิตกระแสไฟฟ้า ปัจจุบันก๊าซธรรมชาติมีอยู่สามแหล่งก็คืออ่าวไทย พม่า และการนำเข้ามาที่เป็นก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) แต่ในโครงสร้างของเราให้ก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยที่ราคาถูกที่สุดกับอุตสาหกรรมปิโตรเคมีก่อนเป็นอันดับแรก ทำให้ผู้ใช้ไฟฟ้าอื่นๆ จำเป็นจะต้องแบกรับกับต้นทุนของก๊าซธรรมชาติในราคาที่สูงขึ้น เพราะฉะนั้นพรรคก้าวไกลอยากให้มีการปรับโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติ เพื่อให้ผู้ใช้ทุกๆ ฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นประชาชน หรือภาคอุตสาหกรรมใช้ก๊าซธรรมชาติในราคาเดียวกัน ซึ่งถ้าทำได้ ต้นทุนค่าไฟฟ้าก็น่าจะลดลงได้ประมาณสัก 70 สตางค์ต่อหน่วย 

ในขณะเดียวกัน ปัจจุบันเรามีผู้ใช้ไฟฟ้าจำนวนหนึ่งที่มีสถานะเป็นผู้ผลิตไฟฟ้า เพราะว่ามีโซลาเซลล์ผลิตไฟฟ้า แต่ว่าตอนนี้ถ้าเราซื้อไฟฟ้าจากการไฟฟ้าฯ เราจะเสียค่าไฟฟ้า 4.70 บาทต่อหน่วย แต่เราขายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าฯ จะได้อยู่ที่ 2.20 บาทต่อหน่วย พรรคก้าวไกลจึงเสนอว่าควรมีลักษณะที่เป็นระบบหักลบกลบหน่วยไฟฟ้า หรือเน็ตมิเตอร์ริง (Net Metering) ซึ่งจะทำให้ผู้ใช้ไฟฟ้าซื้อและขายไฟฟ้าในราคาเดียวกัน อันนี้คือสิ่งที่พรรคก้าวไกลคิดว่าจะทำได้ในระยะสั้น 

ในระยะถัดไป เรามีสินเชื่อปลอดดอกเบี้ยมาช่วยทำให้การติดตั้งโซลาเซลล์เป็นไปได้ดีขึ้น ผู้ใช้ไฟฟ้าจำนวนหนึ่งก็จะสามารถติดตั้งโซลาเซลล์และเป็นผู้ผลิตกระแสไฟฟ้าได้เพิ่มขึ้น

 ส่วนประเด็นที่สองคือสุราก้าวหน้า อาจจะไม่ได้มีโครงสร้างราคาที่ไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภคโดยตรง แต่ว่ามีประเด็นที่ไม่เป็นธรรมในระหว่างผู้ผลิตด้วยกัน เพราะงั้นถ้าเราปลดล็อกเงื่อนไขที่ทำให้ผู้ผลิตรายใหญ่บางรายสามารถผูกขาดได้ก็จะทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกในการบริโภคมากขึ้น

มองในอีกมุมหนึ่ง ที่ผ่านมาทุนผูกขาดอยู่ใกล้ตัวและส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันของผู้คน สภาองค์กรผู้บริโภคมองว่าอะไรคือโจทย์เร่งด่วนที่อยากจะให้ว่าที่รัฐบาลใหม่แก้ไข

สารี: สิ่งที่อาจารย์เดชรัตเสนอเป็นชุดข้อมูลเดียวกันกับที่สภาองค์กรผู้บริโภคเราผลักดันอยู่ในปัจจุบัน เช่น ระบบหักลบกลบหน่วยไฟฟ้า (Net Metering) ซึ่งเราทำข้อเสนอไปถึงรัฐบาลและกระทรวงต่างๆ มาสักระยะหนึ่ง เพื่อที่จะลดอุปสรรคในคนที่ติดโซลาร์เซลล์ ประเด็นค่าไฟฟ้าก็เห็นตรงกันว่าจะต้องลดค่าไฟฟ้า และเห็นด้วยเรื่องโครงสร้างการใช้ก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยว่าประชาชนควรจะได้ใช้เพื่อที่จะทำให้ค่าไฟฟ้าถูกลงและควรจะทำทันที ส่วนเรื่องลดพลังงานสำรองและลงทุนในกิจการไฟฟ้าขนาดใหญ่อันนี้ก็เป็นประเด็นที่สภาองค์กรผู้บริโภค องค์กรด้านสิ่งแวดล้อม ภาคธุรกิจและภาคประชาสังคมอยากเห็นความเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้มากพอสมควร ที่ผ่านมากฎหมายจัดตั้งสภาองค์กรผู้บริโภคออกแบบให้สภาองค์กรผู้บริโภคเป็นผู้แทนผู้บริโภค เราพยายามไปเสนอกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) แต่ก็เป็นการกำกับกิจการปลายน้ำ เพราะว่าคนออกแบบระบบพลังงานอยู่ที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เพราะฉะนั้น กกพ. ก็จะกำกับเท่าที่ตัวเองมีข้อมูล ใช้การรับฟังความคิดเห็นผ่านเว็บไซต์ และใช้เทคนิคของตัวเลข ซึ่งเราไม่ได้อยากเห็นแบบนี้ เพราะจริงๆ แล้วสิ่งนี้ควรจะถูกตั้งคำถามตั้งแต่แรกว่าทำไมผู้บริโภคต้องจ่ายค่าไฟที่แพง ทำไมเราต้องสำรองไฟมากขนาดนี้ ทั้งๆ ที่เราควรจะมีระบบสำรองไฟ แต่ไม่ใช่มากจนเป็นภาระของผู้บริโภค หรือถ้าเราอยากผลิตไฟฟ้า ทำไมถึงยากเหลือเกินต้องเป็นคนที่ทำงานที่บ้านเท่านั้นถึงจะคุ้ม เพราะคุณต้องใช้กลางวัน ซึ่งมันไร้สาระมาก เราคิดว่าสิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่เราอยากเห็นรัฐบาลใหม่ โดยเฉพาะนโยบายของพรรคก้าวไกลที่พูดเรื่องนี้ชัดเจน และก็ตรงกับที่สภาองค์กรผู้บริโภคผลักดัน

ถ้ามองในเรื่องการลดการผูกขาดในกิจการสุรา ก็ต้องบอกว่ากลุ่มองค์กรผู้บริโภคไม่ได้สนับสนุนให้คนบริโภคสุรา แต่เราสนับสนุนให้เกิดการทลายการผูกขาดการผลิตสุรา เนื่องจาก พ.ร.บ. คุ้มครองผู้บริโภคตั้งแต่ปี 2522 พูดว่าเรามีสิทธิที่จะเลือกแต่จริงๆ แล้วตลาดในไทยเลือกได้น้อยมาก เพราะว่าหลายส่วนเป็นตลาดที่ผูกขาด กรณีล่าสุดก็เรื่องโทรคมนาคมในอินเทอร์เน็ตที่ AIS 3BB กำลังจะควบรวมกัน เราคิดว่ามันไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค ซึ่งอันนี้ก็คงตรงกันว่าเราจะลดการผูกขาด แล้วทำให้คนเล็กคนน้อยเข้าไปมีส่วนร่วมอย่างไร เราไม่อยากเห็นภาพที่สุดท้ายแล้ว องค์การโทรศัพท์กลายเป็นบริษัทขนาดเล็กมาก แต่ว่าความท้าทายคือพรรคก้าวไกลจะทำอย่างไรให้มีความพอดี ไม่งั้นก็จะกลายเป็นว่าสุดท้ายภาระก็จะมาอยู่ที่ผู้บริโภคอีกที่จะต้องไปสนับสนุนและลดการขาดทุน

ทั้งนี้เท่าที่ดู 23 MOU ที่ประกาศ เราไม่เห็นเรื่องขนส่งมวลชน ซึ่งอาจจะอยู่ในเรื่องคุณภาพชีวิตในข้อ 8 หรือคือ ‘ร่วมฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยยึดหลักเพิ่มรายได้ประชาชน ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างระบบเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างเป็นธรรม’ จริงๆ ขนส่งมวลชนก็ต้องถือว่าเป็นโจทย์สำคัญของสองพรรคใหญ่ พรรคก้าวไกลเสนอเรื่องว่าจะจัดตั้งกองทุนที่จะทำเรื่องบริการขนส่งในระดับจังหวัด ซึ่งขณะนี้กิจการขนส่งก็ถือว่าเป็นกิจการที่ผูกขาด แล้วก็เป็นกิจการที่ถูกให้ความสำคัญน้อยมาก ท่ามกลางการต่อสู้ของผู้บริโภค พรรคเพื่อไทยก็เสนอรถไฟฟ้า 20 บาทในกรุงเทพมหานคร ซึ่งเราก็คิดว่าเมืองใหญ่ขนาดนี้ รถไฟฟ้าก็มีความจำเป็น และเมื่อสร้างแล้วจะใช้ประโยชน์ยังไงแล้วก็จะทำให้คนจนทุกคน รวมถึงคนด้อยโอกาส คนเปราะบางทั้งหลาย ขึ้นรถไฟฟ้าได้ทุกวันอย่างไร

กิจการที่พรรคก้าวไกลอาจจะพูดน้อยก็คือกิจการซื้อขายออนไลน์ ซึ่งจริงๆ ก็เป็นปัญหาสำหรับผู้บริโภคเยอะทีเดียว และเป็นตัวเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ ขณะนี้ผู้บริโภคถูกโกงออนไลน์ไม่น้อย นอกจากนี้ด้านอื่นเราก็ทำงานอย่างเข้มข้นกับทางพรรคการเมืองทั้งหลาย เช่น ในด้านกิจการด้านบริการสาธารณสุข ซึ่งก็ต้องถือว่าในกรุงเทพมหานคร เราอยู่กับบริการสาธารณสุขของโรงพยาบาลเอกชนมากกว่าโรงพยาบาลของรัฐ เพราะฉะนั้นการกำกับในสิ่งเหล่านี้จะเป็นอย่างไร ดิฉันก็อยากเห็นการลดความเหลื่อมล้ำด้านบริการสาธารณสุข ขณะนี้ผู้ประกันตนจ่ายเงินอยู่กลุ่มเดียว เขาไม่ควรจ่ายเงิน เงินส่วนนี้ที่จ่ายไปควรเอาไปสมทบบำนาญชราภาพ แล้วก็ควรที่จะได้ใช้บริการสุขภาพมาตรฐานเดียวกันกับทุกคนที่ใช้บริการในเรื่องสุขภาพ หรือเรื่องการเงิน ธนาคารก็ไม่ได้มีการแข่งขันกันมากนัก คือกิจการที่สำคัญที่เป็นกิจการพื้นฐานของผู้บริโภคอีกมากที่อยู่ในสถานการณ์ที่ดูเหมือนเรามีหลายธนาคาร แต่จริงๆ แล้ว คุณไปฝากเงินแบงค์ไหน คุณได้ดอกเบี้ยเท่ากันหมดหรือคุณกู้เงินแบงก์ไหน คุณก็เสียดอกเบี้ยเท่ากันหมด เพราะฉะนั้นดิฉันคิดว่าตรงนี้เองก็เป็นเรื่องที่อาจจะมีความสำคัญ หรือเรื่องสำคัญมากที่เป็นปัญหาของผู้บริโภคก็คือเรื่องหนี้สิน ซึ่งเราไม่ได้อยากเห็นรัฐบาลไปตัดหนี้หรือเคลียร์หนี้ แต่ว่าเราอยากเห็นว่าการแก้ปัญหาแบบครบวงจรของคนที่เป็นหนี้ ซึ่งดิฉันคิดว่าเป็นโจทย์ใหญ่มาก

สภาองค์กรของผู้บริโภคได้สะท้อนปัญหาในการดำรงชีวิตที่ครอบคลุมในหลากหลายมิติ อาจารย์เดชรัตฟังโจทย์ที่อยากจะเห็นจากรัฐบาลใหม่แล้วเป็นอย่างไรบ้าง นโยบายของพรรคก้าวไกลมีเรื่องอะไรที่ตอบโจทย์สอดคล้องหรือตรงกับความคาดหวังของผู้บริโภคไหม

เดชรัต: จริงๆ ทุกข้อที่คุณสารีพูดแยกมาเป็นแต่ละหัวข้อหนึ่งชั่วโมงได้เลย ผมอาจจะขออนุญาตตอบสั้นๆ หกประเด็น ประเด็นแรก การแก้ไขพระราชบัญญัติเรื่องของการผูกขาดทางการค้าหรือการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม อันนี้เป็นหัวใจสำคัญที่เราตั้งใจจะทำ ตราบใดก็ตามที่ตัวพระราชบัญญัตินี้ไม่มีประสิทธิผลในการป้องกันการผูกขาด ไม่มีกลไกในการเข้าไปติดตาม เช่น การควบรวมสองกิจการโทรคมนาคมหรือกิจการธนาคารอย่างเข้มแข็ง โอกาสที่จะแก้ไขปัญหาอื่นๆ ก็จะยากตามมา แม้ว่าจะทำไม่ได้ใน 100 วันแรก แม้กระทั่งภายในปีแรกก็อาจจะไม่สำเร็จ แต่เราจะต้องทำให้สำเร็จในสี่ปีนี้ให้ได้

ประเด็นที่สอง เรื่องการขนส่ง ถ้ามองในมุมของพรรคก้าวไกล องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะเป็นตัวแกนสำคัญในการที่จะมาขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดขนส่งสาธารณะเกิดขึ้นระหว่างภายในจังหวัดและภายในเมือง เพราะงั้นใน 23 ข้อของ MOU ขั้นแรกที่อยากจะไปทำก็คือการกระจายอำนาจ เมื่อกระจายอำนาจได้ชัดเจนขึ้นในแง่ของอำนาจหน้าที่และงบประมาณ ตัวกองทุนก็จะไปดำเนินการร่วมกับท้องถิ่น แน่นอนว่าจะมีบางส่วนที่มันเป็นการเชื่อมโยงระหว่างจังหวัดหรือส่วนกลางไปยังจังหวัดอื่น แต่ว่าตอนนี้เท่าที่เราดูมาส่วนที่ขาดที่สุดเป็นภายในจังหวัด ปัจจุบันนี้ขนส่งมวลชนระหว่างอำเภอภายนอกมายังจังหวัดหายไปเยอะมากและภาระค่าใช้จ่ายก็เยอะ เพียงแต่ว่าเสียงของพี่น้องกลุ่มนี้ก็อาจจะยังน้อยกว่าพี่น้องในกรุงเทพมหานคร ในประเด็นขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร มีข้อเสนอที่ใช้คำว่าแตกต่างกันในส่วนของพรรคเพื่อไทยกับพรรคก้าวไกล เพราะฉะนั้นจำเป็นจะต้องปรึกษาหารือกัน แต่ไม่ว่าจะเป็นผู้ว่าฯ ชัชชาติก็ดี สิ่งที่เพื่อไทยเสนอก็ดี สิ่งที่ก้าวไกลเสนอก็ดี ชัดเจนว่าตัวเลขค่าโดยสารต่ำกว่าปัจจุบัน ตัวเลขของก้าวไกลอาจจะกว้างที่สุดก็คือ 8-45 บาท แต่จะเป็น 20 บาทหรือจะเป็น 8-45 บาทก็คงเดี๋ยวจะต้องหารือกันในลำดับต่อไป

ประเด็นที่สาม เรื่องไฟฟ้า อาจจะมองต่างกันนิดหน่อยอยู่สามประเด็น ประเด็นแรก ผมคิดว่าระบบไฟฟ้าที่จะเข้มแข็งต่อไปอาจจะไม่ใช่บอกว่ารัฐต้องถือครองอยู่เท่าไหร่ แต่มันอาจจะเริ่มต้นว่าผู้บริโภค ท้องถิ่น กลุ่ม สหกรณ์ บริษัทเอกชนรายย่อยๆ ถือครองเท่าไหร่ แล้วถึงจะเป็นรัฐและบริษัทขนาดใหญ่เท่าไหร่ ผมไม่ได้หมายความว่าบทบาทของรัฐไม่มีความสำคัญ แต่มันอาจจะเริ่มต้นจากผู้บริโภคและท้องถิ่นก่อนก็ได้ ประเด็นที่สองที่สำคัญมากก็คือ โครงสร้างการวางแผน ผมคิดว่าถ้าเราปรับโครงสร้างการวางแผน โดยเฉพาะการวางแผนที่ไม่ให้เกิดกำลังการผลิตสำรองล้นเกิน แล้วพ่วงกับสิ่งที่ผมเสนอไปเรื่องการกระจายโอกาสในการที่จะเป็นผู้ผลิต และมีส่วนร่วมในระบบพลังงาน เราอาจจะค่อยๆ เห็นภาพชัดเจนขึ้นว่าความมั่นคงของระบบพลังงานในอนาคตควรจะอยู่ที่บทบาทของใครบ้าง 

อย่างไรก็ตามสิ่งที่พรรคก้าวไกลเสนอใน 300 นโยบายคือ ประเด็นสุดท้าย เราคิดว่าตัวระบบสายส่งต่างหากที่จะเป็นหัวใจสำคัญ ควรจะเป็นของรัฐแบบ 100 เปอร์เซ็นต์และควรจะเป็นของรัฐแบบที่ปฏิบัติต่อคนอื่นอย่างเป็นธรรม เราอาจจะกังวลในมุมกลับว่าปัจจุบันการไฟฟ้าฯ ดูทั้งระบบสายส่งและระบบการผลิต การจัดสรรไฟฟ้าที่จะมีโอกาสเข้าสู่สายส่งได้อาจจะไม่ค่อยเป็นธรรมกับผู้บริโภค และผู้ผลิตรายย่อยมากนัก โดยสรุปก็มีส่วนที่เห็นตรงกันเกี่ยวกับเรื่องลดบทบาทของรายใหญ่ แต่ว่าอาจจะมีรายละเอียดที่เห็นต่างกันและก็คงจะหารือปรึกษากันต่อไป

ประเด็นที่สี่ เรื่องสาธารณสุข พรรคก้าวไกลเน้นอีกปัญหานึงคือภาระของแพทย์และพยาบาลที่ขณะนี้ล้นมือมากๆ อยากเสนอว่าเรื่องสาธารณสุขมีประเด็นที่ต้องบริหารจัดการมากทีเดียว อย่างเรื่องภาระแพทย์พยาบาลที่มากขึ้น ไม่ใช่แค่เขาทำงานหนักอย่างเดียว แต่เขาทำงานจนเกินชั่วโมงที่เหมาะสมและไปมีผลต่อคุณภาพในการรักษาพยาบาล ซึ่งผู้ที่รับภาระนั้นก็คือผู้บริโภคด้วย เพราะงั้นเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่จริงๆ แล้วก็ผมคงต้องเรียนรู้จากหลายๆ ฝ่าย โดยเฉพาะสภาองค์กรผู้บริโภค

ประเด็นที่ห้าคือเรื่องอีคอมเมิร์ช ทางสภาองค์กรผู้บริโภค เข้าใจว่าร่วมมือกับทางสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) และทางตำรวจอยู่ ทางพรรคก้าวไกลเราพบปัญหาว่าตำรวจบางที่ไม่ค่อยอยากจะรับเรื่อง เพราะว่าตำรวจไม่รู้ว่าตัวแพลตฟอร์มอยู่ที่ไหน พอตำรวจ ณ จุดที่เกิดเหตุไม่รับเรื่อง กระบวนการทั้งหลายมันไม่เดินต่อ แต่ถ้าถ้าทำให้เกิดศูนย์ประสานงานฯ ซึ่งรวบรวมผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญและตำรวจทั่วประเทศสามารถที่จะรับเรื่องและส่งเรื่องมาที่นี่ก็จะช่วยแก้ไขปัญหาได้ก็น่าจะไปได้ดีขึ้น เรื่องนี้ต้องพูดว่าผู้ผลิตจำนวนไม่น้อยอยากให้แก้ปัญหาด้วย เพราะว่าการมีคนโกงอยู่ในระบบมันก็ทำให้อีคอมเมิร์ชโดยภาพรวมเติบโตช้าลงกว่าที่ควรจะเป็น

สุดท้ายประเด็นหนี้สิน แนวนโยบายของพรรคก้าวไกลคิดว่าเรื่องนี้ต้องแก้ในเชิงโครงสร้าง ต้องเอื้ออำนวยโอกาสให้พี่น้องที่เป็นหนี้ พรรคก้าวไกลอยากจะเคลียร์หนี้ลักษณะแบบนี้ถึงบอกว่าใครที่มีอายุเกิน 70 ปีก็ถ้าจ่ายหนี้ได้ครึ่งหนึ่งก็จะปิดหนี้ให้ เพราะว่าถ้าอายุ 70 ปีก็มักจะชำระหนี้ธกส. มาประมาณสัก 20 ปี หรือกรณีพี่น้องเกษตรกรที่เป็นหนี้มาก และไม่สามารถเคลียร์หนี้ได้ พรรคก้าวไกลก็อยากจะมีกระบวนการที่เข้าไปเช่าที่ไปทำประโยชน์ และรัฐบาลก็จ่ายค่าเช่าที่เป็นลักษณะของการชำระหนี้แทน ถ้าพูดกันภาษาธุรกิจก็คือการบริหารจัดการทรัพย์สิน (asset management) แทนที่จะซื้อมาแล้วก็ลูกหนี้ก็หมดโอกาสในการถือครองทรัพย์สินนั้น พรรคก้าวไกลเสนอในทางแตกต่างคือถือครองไว้ระยะยาว แล้วพอชำระหนี้คืนหมดก็คืนที่ดินนั้นกลับไปให้พี่น้องเกษตรกร หรือลูกหนี้บางส่วนที่ไม่มีที่ดินและไม่มีเงิน รัฐบาลก็อาจจะลงทุนโซลาเซลล์แล้วก็แบ่งเงินกัน ลูกหนี้ก็ได้เงินส่วนหนึ่งไปชำระหนี้ 

ผมคิดว่าปัญหาหนี้ใหญ่เกินกว่าการที่จะไปบอกว่าลูกหนี้ควรจะต้องมีวิจัย มีความรู้ทางการเงินอย่างเดียว เราต้องให้เครื่องมือทางการเงินด้วยก็เลยกลายเป็นที่มาของนโยบายที่เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาหนี้สินทั้งหมด ซึ่งเราคิดว่าไม่มีข้อไหนที่รัฐบาลจะต้องควักเงินจ่ายโดยไม่เป็นธรรม หรือไม่ได้รับผลตอบแทนกลับมา เพียงแต่ว่าเราเอื้ออำนวยให้ลูกหนี้ได้มีโอกาสหรือมีช่องทางมากขึ้นในการที่จะปลดหนี้ของตัวเอง เพราะว่าถ้าไม่ลดหนี้ นอกจากประเด็นที่คุณสารีพูดในแง่ของจุลภาค ในแง่ของอำนาจซื้อโดยภาพรวมก็จะกระทบอีกยาว

ในหลายอุตสาหกรรมที่พรรคก้าวไกลประกาศจะทลายทุนผูกขาดล้วนเกี่ยวข้องกับระบบสัมปทาน ระบบใบอนุญาตของภาครัฐ หรือแม้กระทั่งการควบรวมกิจการ หลังจากที่รัฐบาลก้าวไกลตั้งรัฐบาลสำเร็จเสร็จสิ้นจะมีกระบวนการเป็นรูปธรรมในการแก้ไขปัญหาทลายทุนผูกขาดได้อย่างไรบ้าง

เดชรัต: ถ้าตอบเป็นขั้นตอนก็อาจจะแบ่งขั้นตอนได้เป็นสามส่วน แบบแรก ความไม่เป็นธรรมอยู่ในมือของภาครัฐเอง ยกตัวอย่างที่คุณสารีพูดถึงการวางแผนกำลังการผลิตสำรองที่ล้นเกิน แน่นอนคนได้ประโยชน์คือภาคเอกชน แต่ภาครัฐเป็นคนวางแผนเอง ภาคเอกชนเขาไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรง หรือโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติเป็นกติกาของภาครัฐเอง เพราะงั้นสามารถปรับแก้ได้ แต่ว่าแน่นอนเราก็อาจจะจำเป็นจะต้องมีการส่งสัญญาณพูดคุย และก็ในขณะเดียวกันอาจจะมีระยะเวลา เพื่อที่จะทำให้เอกชนปรับตัวได้

แบบที่สอง ยกตัวอย่างเวลาเราพูดถึงขนส่งสาธารณะจะมีคนเป็นห่วงมากเรื่องสัมปทาน จริงๆ เราสามารถที่จะมีลักษณะการให้ผลประโยชน์ที่จะชดเชยจากสัมปทานเดิมแล้วก็มาอยู่ในระบบแบบใหม่ได้ กล่าวคือขนส่งสาธารณะในประเทศไทยจะไม่สามารถพัฒนาให้มีคุณภาพได้อย่างดีและมีราคาที่สมเหตุสมผล หากเรายังใช้ระบบสัมปทาน เพราะมันเป็นระบบที่ให้อำนาจกับเอกชนไปทำกำไรในเส้นทางใดเส้นทางหนึ่ง แนวทางต่อไปในอนาคตจะต้องเปลี่ยนมาเป็นระบบที่ผมอาจจะใช้คำว่ารับจ้างวิ่ง หมายความว่า คุณเคยได้สัมปทานก็ไม่ต้องไปกังวลเรื่องกำไรหรือขาดทุน คุณก็มารับจ้างวิ่งตามเส้นทางและคุณจะได้เงินค่าตอบแทนที่ชัดเจน เพราะรัฐบาลจ่ายให้คุณ อันนี้เป็นสิ่งที่เรายังจำเป็นจะต้องไปตกลงกับภาคเอกชน

แต่ส่วนที่ยากที่สุดก็คือแบบที่สาม เงื่อนไขที่รัฐไปสัญญากับภาคเอกชนไว้แล้ว หรือเปิดโอกาสให้เอกชนทำอะไรบางอย่างที่มันอาจจะย้อนกลับยากไปแล้ว เช่น ไฟฟ้า ปัจจุบันเรามีค่าความพร้อมจ่าย (Availability Payment: AP) ที่ต้องเสียเป็นประจำ ซึ่งถ้าพูดตามตรรกะธรรมดาก็รู้สึกว่ามันไม่ควรจะต้องจ่าย แต่เนื่องจากไปเซ็นสัญญาไว้แล้วการที่จะแก้ไขข้อสัญญานี้ก็ไม่ง่าย ฉะนั้นสิ่งที่พรรคก้าวไกลจะทำก็คือจะต้องเจรจาต่อรอง เพื่อขอลดสิ่งที่จะต้องจ่าย ณ ขณะนี้ และบอกว่าหลังจากนี้เขาน่าจะได้รับประโยชน์อะไร ซึ่งเรายังไม่เริ่มต้นเจรจา เพียงแต่ยกตัวอย่างเปรียบเทียบว่ามันคงจะต้องทำในลักษณะแบบนี้ รวมถึงสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าในกรุงเทพมหานครก็อาจจะต้องเข้าสู่กระบวนการคล้ายๆ แบบนี้ 

ส่วนกรณีการควบรวมบริษัทโทรคมนาคม อันนี้พูดตรงไปตรงมาว่าเรารู้ว่ามันคือการผูกขาด ไม่สมเหตุสมผลในแง่ของสังคมที่ต้องการส่งเสริมให้มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม แต่เมื่อควบรวมไปแล้วจะย้อนกลับมานี่ต้องบอกว่าไม่ง่าย เพราะงั้นส่วนที่แบบที่สามก็คงจะต้องดูไปทีละเรื่องว่าจะทำอย่างไร เช่นในประเด็นโทรคมนาคมก็อาจจะต้องตั้งโจทย์ว่าเราจะมีรายที่สามอีกครั้งได้หรือไม่ ผู้ที่อยู่ในรายที่ 1 หรือรายที่ 2 จะมีส่วนรับผิดชอบอย่างไรในการช่วยให้เกิดรายที่ 3 ซึ่งถ้ารัฐบาลบอกว่าไปบีบให้เขาคงรับผิดชอบไม่ได้ ก็แปลว่าคราวนี้ก็เป็นภารกิจของรัฐบาลที่จำเป็นจะต้องมีรายที่ 3 ในกิจการโทรคมนาคมให้ได้ แต่ในขณะเดียวกันก็ควรที่จะพูดให้ชัดเจนว่าต้องยุติการควบรวมในลักษณะที่ทำให้เกิดการผูกขาด 

ย้อนกลับมาที่ผู้ติดตามประเด็นนี้อย่างใกล้ชิด สภาองค์กรผู้บริโภคมองประเด็นการลดการทุนผูกขาดในกรณีที่เกี่ยวข้องกับสัมปทานหรือมีการทำเซ็นสัญญาควบรวมกิจการเรียบร้อยแล้วอย่างไรบ้าง

สารี: คิดว่าโจทย์สำคัญ ซึ่งก็เป็นเรื่องตลกของสังคมไทยว่ากิจการใหญ่ขนาดการรวมกิจการเหลือสองเจ้า สนับสนุนว่าเป็นเรื่องเร่งด่วนมากที่เราต้องแก้ไขพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้าให้สามารถจัดการเรื่องเหล่านี้ได้ เพราะขณะนี้เรียกว่ามีอำนาจเหนือตลาดแล้วก็ยังไปถูกตีความว่าไม่ผูกขาด ขณะนี้สภาองค์กรผู้บริโภคผลักดันกฎหมายอยู่ 4 – 5 กฎหมาย เรามีคนทำร่างพระราชบัญญัติแข่งขันทางการค้าไว้ส่วนหนึ่ง และผลักดันกฎหมายเรื่องความรับผิดต่อสินค้าที่ชำรุดบกพร่อง ซึ่งประเด็นเหล่านี้เรายินดีร่วมมือสนับสนุนก้าวไกล สนับสนุนนโยบายของรัฐบาล หรืออาจจะมีพื้นที่ปฏิบัติการที่จะทำงานร่วมกัน เช่น ขณะนี้เราผลักดันนโยบายเรื่องขนส่งไม่เป็นภาระกับผู้บริโภคก็คือเราก็คิดค่าเดินทาง 10 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ แล้วสมมติว่ารายได้เพิ่มขึ้น ค่าโดยสารก็อาจจะเพิ่มขึ้น แต่นี่คือเป้าหมายระยะยาว แน่นอนว่าถ้าเราทำให้เกิดขึ้นได้ในรอบสี่ปีและทำให้เกิดบริการขนส่งมวลชนที่เป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น ก็คิดว่าภาคประชาสังคมทั้งหลายพร้อมที่จะสนับสนุน ถ้ารัฐบาลทำเพื่อที่จะทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิต แต่ว่าเราจะเข้าไปร่วมอย่างไร  ดิฉันคิดว่าอันนี้ก็เป็นคีย์เวิร์ดที่สำคัญมาก คิดว่าโจทย์นี้ก็เป็นโจทย์ที่เราต้องทำร่วมกัน

ส่วนประเด็นที่บอกว่าควบรวมไปแล้วทำอะไรไม่ได้ อันนี้อยากให้ช่วยกันหาทางออก ขณะนี้เราก็ตามทางฝั่ง กสทช. แต่ดูเหมือนขณะนี้ กสทช.ก็ไม่อยากจะติดตามมาตรการ เช่น ภายในเดือนพฤษภาคมก็จะครบ 90 วัน การควบรวมกิจการโทรคมนาคมจะต้องลดค่าบริการลง 12 เปอร์เซ็นต์ เราพยายามขอข้อมูลว่าโครงสร้างราคาจะเป็นอย่างไร หรือการลดราคาจะเกิดขึ้นได้จริงไหมใน 90 วัน เป็นต้น ดิฉันคิดว่าเมื่อเรามีธุรกิจที่ผูกขาด การกำกับที่เข้มข้นมีความสำคัญ แต่ถ้าเรามีธุรกิจที่ไม่ได้ผูกขาด ภาครัฐก็อย่าไปยุ่งมากก็ปล่อยให้เขาทำงานกันไป เมื่อไหร่ก็ตามที่มันผูกขาด เช่น เรามีโครงสร้าง คณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์ (Egg Board), คณะกรรมการพัฒนาโคนมและ ผลิตภัณฑ์นม (Milk Board), คณะกรรมการนโยบายพัฒนาสุกรและผลิตภัณฑ์ (Pig Board) เต็มไปหมดเลย แต่ไม่มีตัวแทนของฝั่งผู้บริโภคเลย ก็กลายเป็นโครงสร้างการทำราคาให้เป็นธรรมของฝั่งผู้ผลิตเป็นหลัก ดิฉันคิดว่าการที่ลดการผูกขาดก็อาจจะต้องมีเครื่องไม้เครื่องมือหลายอย่าง รวมถึงการกำกับที่ดี

ในอนาคตคาดหวังว่ารัฐบาลจะสนับสนุนองค์กรเพื่อผู้บริโภคที่จะมาเพิ่มอำนาจการต่อรองให้ประชาชนอย่างไรบ้าง

สารี: จริงๆ สภาองค์กรผู้บริโภคเป็นเหมือนองค์กรร่มขององค์กรผู้บริโภคทั้งหมด แต่สภาองค์กรผู้บริโภคก็ถูกตัดขา เรียกว่า พ.ศ. 2565 เราไม่ได้งบประมาณ เราเพิ่งได้งบกลางเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สำหรับ พ.ศ. 2566 เพราะฉะนั้นความเป็นอิสระของสภาในการที่จะทำให้เกิดเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคในจังหวัดต่างๆ ก็เป็นไปด้วยความยากลำบาก จริงๆ เราก็ไม่ได้ต้องการงบประมาณมาก แต่เราต้องการงบประมาณที่รับประกันการทำหน้าที่ของเราขั้นต่ำ ขณะนี้เรามีความคาดหวังว่าอย่างน้อยมีองค์กรผู้บริโภคจังหวัดละหนึ่งองค์กรเพื่อที่จะเข้ามารักษาประโยชน์ของผู้บริโภค ซึ่งขณะนี้เรามีแค่ 41 จังหวัดเท่านั้นเอง เราคิดว่าสิ่งที่สำคัญมากก็คือประเทศจะพัฒนาได้ ต้องทำให้ผู้บริโภคมีอำนาจต่อรอง สิ่งที่เรากำลังทำอยู่ก็คือเพิ่มอำนาจต่อรองให้ฝั่งของผู้บริโภค เราหวังว่าพรรคก้าวไกลจะมาช่วยสนับสนุนหรือรัฐบาลจะมาช่วยสนับสนุนให้สภา zero budgeting ก็ตาม อย่างน้อยก็ท้าทายการสร้างความเปลี่ยนแปลงในฝั่งประชาชน แล้วก็สนับสนุนให้เกิดกลไกของภาคประชาชนมาช่วยทำให้เกิดกำแพงที่แข็งแรงในการสร้างความเปลี่ยนแปลง

รัฐบาลจะมีแนวทางการกำกับดูแลอย่างไรให้มีสิทธิผู้บริโภคในประเทศไทยเข้มแข็งขึ้น 

เดชรัต: การกำกับดูแลมีสองลักษณะ ลักษณะแรกก็คือ คณะกรรมการแข่งขันทางการค้า ซึ่งอันนี้เราและทางสภาองค์กรของผู้บริโภคก็เตรียมการที่แก้ไขกฎหมายคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า ซึ่งก็ยิ่งเป็นสิ่งที่เราน่าจะดำเนินการร่วมกันโดยเร็ว แต่ว่าจะยังมีส่วนของผู้กำกับดูแล (regulator) อย่างที่เมื่อสักครู่ยกตัวอย่างคณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์ (Egg Board)  ที่เราสามารถที่จะดูในรายภาค (sector) ว่าจะทำอย่างไรให้ผู้บริโภคเข้าไปมีบทบาทอยู่ในคณะกรรมการเหล่านั้น ผมเห็นด้วยเลยครับว่าจำเป็นต้องมีองค์กรผู้บริโภคและตัวแทนเกษตรกร เพราะฉะนั้นจำเป็นที่จะต้องทบทวนตัวโครงสร้างกติกา ส่วนอีกลักษณะคือการมีสภาองค์กรของผู้บริโภคติดตามตรวจสอบ เป็นหูเป็นตาของรัฐบาลอีกมุมนึง ผมคิดว่ามันก็จะเป็นส่วนที่จะช่วยทำให้รัฐบาลเห็นภาพได้ครบถ้วนมากขึ้น คือไม่ว่าเราจะตั้งใจปรับปรุงโครงสร้างอย่างไร สุดท้ายเราต้องการมุมมองที่จากผู้บริโภคที่มองย้อนเข้ามาอีกทีนึง

คราวนี้ยังมีอีกสองประเด็นที่อยากจะขยายความ ประเด็นแรก การที่สภาองค์กรผู้บริโภคไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณ ส่วนหนึ่งผมคิดว่ามันอยู่ที่นโยบายของรัฐบาลที่อาจจะไม่ได้มีการพูดถึงชัดเจนว่านโยบายไหนต้องการมุมมองของผู้บริโภค อันนี้จะแตกต่างกันในรัฐบาลที่พรรคก้าวไกลกำลังจะจัดตั้งขึ้นที่จะลิสต์ได้ว่าจะขอให้สภาองค์กรผู้บริโภคมาช่วยงานด้านไหน เพราะงั้นโดยส่วนตัวผมค่อนข้างมั่นใจว่าเราสามารถต่อรอง (defense) งบประมาณสำหรับสภาองค์กรผู้บริโภคงบประมาณกับพรรคการเมือง กระทรวงอื่นๆ หรือกับสำนักงบประมาณได้ชัดเจนขึ้น นอกจากนี้จะมีบางงานที่อยากให้สภาองค์กรผู้บริโภคช่วยทำต่อเนื่อง และทำให้มากขึ้น เช่น เรื่องการตรวจสอบมาตรฐานผลิตภัณฑ์ เพียงแต่ว่าเราอาจจะขอให้ฝั่งราชการมาคุยสักนิดนึงว่าจำเป็นต้องมีมิติอะไรเพิ่มเติมเข้ามา เพื่อให้ได้ผลที่สมบูรณ์ และงบประมาณส่วนนี้มันสามารถที่จะจัดสรรมาให้กับสภาองค์กรผู้บริโภคหรือมูลนิธิต่างๆ ในการที่จะดำเนินงานแต่ละเรื่องอย่างเป็นรูปธรรม 

เป้าหมายท้ายที่สุดที่อยากผลักดันในโอกาสถัดไปก็คือการมีคณะกรรมการร่วมระหว่างรัฐสภากับองค์กรของผู้บริโภคที่สามารถที่จะพิจารณาข้อกฎหมายร่วมกันตามประเด็นที่องค์กรเพื่อผู้บริโภคในเป็นเรื่องที่ต้องมองจากมุมผู้บริโภคเข้ามา อันนี้ก็ขออนุญาตว่าเมื่อมีประธานสภา เริ่มจัดตั้งกรรมการสามัญหรือคณะกรรมาธิการวิสามัญ ก็อยากจะสร้างกลไกกรรมาธิการวิสามัญใหม่ขึ้นมาที่จะให้ผู้บริโภคสามารถที่จะเสนอเรื่องเข้ามาสู่สภาและก็สู่รัฐบาลได้

หนึ่งในอุตสาหกกรรมที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการผูกขาดคืออุตสาหกรรมภาพยนตร์ มองประเด็นนี้อย่างไร

เดชรัต: ถามว่าผูกขาดจริงหรือไม่ก็อาจจะตอบยาก แต่เอาเป็นว่าพรรคก้าวไกลมีความเป็นห่วงถึงสถานการณ์ปัจจุบันใน 2-3 ข้อ ข้อแรกก็คือผู้ทำธุรกิจฉายภาพยนตร์มีไม่กี่รายและก็อาจจะไปมีส่วนกับการเป็นผู้ผลิตภาพยนตร์ อันนี้เราไม่ค่อยสบายใจนักก็กำลังจะหาวิธีแก้ไขที่เหมาะสมอยู่ ข้อที่สอง นอกเหนือจากที่มีผู้ฉายไม่กี่ราย ผู้ผลิตรายย่อยก็มีโอกาสได้รับงบประมาณที่จำกัด เพราะฉะนั้นก็เลยมีผู้ผลิตน้อยรายเข้าไปใหญ่ 

จากทั้งสองข้อ พรรคก้าวใกล้เราถึงมีสิ่งที่เราเลยเสนอขึ้นมาสามกลไก กลไกแรกเราเรียกว่ากองทุนที่จะไปสนับสนุนผู้ผลิตภาพยนตร์ที่ทำให้ผู้ผลิตภาพยนตร์สามารถที่จะผลิตภาพยนตร์ในรูปแบบที่อาจจะยังไม่แมสมากนัก กลไกที่สอง เราสนับสนุนให้มีพื้นที่ฉายภาพยนตร์ ซึ่งอาจจะไม่ใช่โรงภาพยนตร์ขนาดใหญ่ แต่ว่าเป็นโรงภาพยนตร์ที่สะดวกและอยู่รอดได้ โดยที่ไม่ต้องเก็บค่าตั๋วแพงนักและกลไกสุดท้ายก็คือเราจะกำหนดให้แบ่งเวลาฉายภาพยนตร์ส่วนหนึ่งมาให้ภาพยนตร์ที่ผลิตภายในประเทศ หรือถ้าจะมีเงื่อนไขอื่นๆ ก็คงต้องมีการต้องพิจารณากัน ซึ่งอันนี้ก็จะช่วยทำให้ภาพยนตร์ได้รับการกระจายเพิ่มมากขึ้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็คิดว่าไม่ง่ายนัก เพราะว่ามันเป็นเรื่องวัฒนธรรม และขออนุญาตเติมอีกนิดนึง แม้ว่าอาจจะไม่ตรงกันนักกับคำถามที่ถามมาก็คือการแก้ไขปัญหาเรื่องที่ปัจจุบันนี้รัฐบาลมีอำนาจในการเซนเซอร์ ซึ่งผมคิดว่าการทำนั้นก็มีผลเสียทางอ้อมต่อการผูกขาดของภาพยนตร์ด้วยเช่นกัน  

ระยะหลังปรากฏนายทุนต่างชาติเข้ามาทำธุรกิจในไทยในลักษณะที่ผูกขาดมากขึ้น มองประเด็นเรื่องนี้อย่างไร มีหนทางในการแก้ไขหรือไม่

เดชรัต: ผมเข้าใจว่าหมายถึงว่ามีการเข้ามาทำธุรกิจในรูปแบบต่างๆ เช่น การท่องเที่ยว การซื้อขายผลไม้ กระบวนการทางอีคอมเมิร์ชทั้งหลาย ผมคิดว่าเราจำเป็นจะต้องมีการตรวจสอบเรื่องการดำเนินกิจการเหล่านั้นในสองเรื่อง  เรื่องแรกคือมีความเป็นธรรมในแง่การขายหรือเปล่า เช่น ไม่ใช่มีการ Dump ราคา โดยอาศัยนโยบายของประเทศต้นทางที่เอื้ออำนวยให้เขาสามารถมีราคาที่ต่ำกว่าผู้ประกอบการในประเทศได้ อันนี้เป็นอีกกระบวนการนึงที่ประเทศไทยจำเป็นจะต้องใช้ในให้มากขึ้น เรื่องที่สองก็คือมีกระบวนการที่ขัดกับกฎหมายในเมืองไทยหรือเปล่า ปัจจุบันนี้ธุรกิจจำนวนไม่น้อยที่มาดำเนินการในประเทศไทยมีลักษณะคล้ายกับการฟอกเงิน การตรวจสอบเรื่องนี้ก็คงจะเป็นเรื่องที่ดำเนินการอย่างจริงจัง ทั้งหมดนี้ถ้าจะสรุปสั้นๆ ก็คือ กฎหมายบ้านเรามีอยู่แต่เราไม่เคยบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังนะครับ เรายังไม่จำเป็นต้องใช้มาตรการที่นอกเหนือจากกฎหมายที่เรามีอยู่ แต่ที่ผ่านมาเราไม่เคยใช้มันเพื่อที่จะแก้ไขปัญหา

ข้อเสนอแนะต่อการก้าวข้ามผ่านอุปสรรคในการทลายทุนผูกขาดคืออะไร

สารี: คิดว่าเราต้องสร้างวัฒนธรรมใหม่ที่ทำให้เห็นว่าการแข่งขัน หรือการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย การเพิ่มอำนาจผู้บริโภคหรือการทำให้เกิดการแข่งขันไม่ได้เป็นอุปสรรคกับทุน ยิ่งทำให้เกิดการแข่งขันมากขึ้นและท้ายที่สุดทุนก็จะไปแข่งขันกับคนอื่นได้มากขึ้น แต่แน่นอนอย่างที่เรียนว่าเมื่อไหร่ที่มีผู้เล่นน้อยรายการกำกับต้องเข้มข้น แต่เมื่อไหร่ที่มีผู้เล่นมากรายการกำกับก็จะว่าไปตามสัดส่วน

เดชรัต: อาจจะเติมสรุปสั้นๆ สองข้อ ข้อแรกก็คือผมคิดว่าจินตนาการของผู้บริโภคสำคัญ ผมยกตัวอย่างเรื่องสุราก้าวหน้า ถ้าย้อนกลับไปสัก 10 ปีที่แล้ว หลายคนอาจจะสงสัยว่ามีทำไม แต่พอเราได้มีโอกาสลองชิมคราฟต์เบียร์ต่างๆ มากขึ้น เราก็เริ่มรู้แล้วว่าความแตกต่างไม่ได้หมายถึงว่าเฉพาะพื้นบ้านอย่างเดียวมันหมายถึงคุณภาพที่ดีกว่าด้วย อันนี้ก็เลยกลายเป็นเสียงที่ส่งให้ผู้บริโภคเรียกร้อง ในทางตรงกันข้าม ผมคิดว่าผู้บริโภคก็ยังมีจินตนาการไม่ค่อยชัดเจนนักว่าเวลามีการควบรวมกิจการโทรคมนาคม เขาเสียประโยชน์อย่างไร เพราะมันอาจจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในอนาคต ตรงนี้จะทำอย่างไรให้ผู้บริโภคเข้าใจถึงเรื่องเหล่านี้แล้วก็ร่วมกันออกแรงเพื่อจะนำไปสู่การแก้กฎกติกาต่างๆ ให้เป็นธรรม ผมคิดว่าเรื่องนี้สำคัญมาก เรื่องที่สอง ผมคิดว่าคุณสารีพูดไว้ชัดว่าถ้าเรามีการแข่งขันคุณภาพก็ดีขึ้น อุตสาหกรรมก็พัฒนามากขึ้น แต่เมืองไทยเรายังแยกไม่ค่อยออกระหว่างสิ่งที่เราเรียกว่าการแข่งขันที่จะนำไปสู่การเติบโตและก็การขยายตัวทางเศรษฐกิจ ถ้าเราพูดง่ายๆ ก็คือ “ทุนนิยม” กับสิ่งที่เมืองไทยเรานิยม เราเรียกว่า ‘นายทุนนิยม’ ทุนนิยมกับนายทุนนิยมไม่เหมือนกัน คนไทยส่วนใหญ่เราอาจจะคุ้นเคยกับนายทุนนิยม นายทุนพูดอะไรก็เอาแบบนั้น แต่จริงๆ แล้วทุนนิยมก็คือทุกคนไม่ว่ารายเล็ก รายใหญ่ก็ต้องมีโอกาสแข่งขันกันได้อย่างเท่าเทียมกัน หลายกรณีเราก็จะมีความเป็นห่วงว่าถ้าทำแบบนั้นแล้วรายใหญ่เขาจะว่าอย่างไร อันนี้ก็แปลว่าเรายังติดกับวัฒนธรรมที่เป็นนายทุนนิยมมากว่าที่จะเป็นทุนนิยมอย่างแท้จริง

MOST READ

Political Economy

17 Aug 2023

มือที่มองไม่เห็นของ อดัม สมิธ: คำถามใหญ่ว่าด้วย ‘ธรรมชาติของมนุษย์’  

อั๊บ สิร นุกูลกิจ กะเทาะแนวคิด ‘มือที่มองไม่เห็น’ ของบิดาแห่งวิชาเศรษฐศาสตร์ อดัม สมิธ ซึ่งพบว่ายึดโยงถึงความเป็นไปตามธรรมชาติของมนุษย์

อั๊บ สิร นุกูลกิจ

17 Aug 2023

Political Economy

12 Feb 2021

Marxism ตายแล้ว? : เราจะคืนชีพใหม่ให้ ‘มาร์กซ์’ ในศตวรรษที่ 21 ได้หรือไม่?

101 ถอดรหัสความคิดและมรดกของ ‘มาร์กซ์’ ผู้เสนอแนวคิดสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ผ่าน 3 มุมมองจาก เกษียร เตชะพีระ, พิชิต ลิขิตสมบูรณ์ และสรวิศ ชัยนาม ในสรุปความจากงานเสวนา “อ่านมาร์กซ์ อ่านเศรษฐกิจการเมืองไทย” เพื่อหาคำตอบว่า มาร์กซ์คิดอะไร? มาร์กซ์ยังมีชีวิตอยู่ในศตวรรษที่ 21 หรือไม่? และเราจะมองมาร์กซ์กับการเมืองไทยได้อย่างไรบ้าง

ณรจญา ตัญจพัฒน์กุล

12 Feb 2021

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save