fbpx
คิดอีกมุม ก่อนเรียกร้องให้ ธปท. แทรกแซงค่าเงินบาท

คิดอีกมุม ก่อนเรียกร้องให้ ธปท. แทรกแซงค่าเงินบาท

วิมุต วานิชเจริญธรรม เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

ช่วงที่ผ่านมา เรื่องเงินบาทแข็งปรากฎบนหน้าหนังสือพิมพ์และสื่อออนไลน์อย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบันกลายเป็นเรื่องปกติไปเสียแล้ว

หากย้อนกลับไปเมื่อห้าปีก่อน ค่าเงินบาทเคยอยู่ในช่วง 36-37 บาทต่อหนึ่งดอลล่าร์สหรัฐฯ และจากนั้นเป็นต้นมา ค่าเงินบาทก็เริ่มแข็งค่าขึ้น จนมาวนเวียนอยู่ในช่วง 30 บาทกว่าๆ ตั้งแต่กลางปีที่แล้ว

คงไม่ต้องสาธยายให้มากความถึงผลกระทบของค่าเงินบาทที่แข็งขึ้นอย่างต่อเนื่องต่อเศรษฐกิจมหภาคของไทย เชื่อว่าทุกท่านคงได้อ่านผ่านตา หรือได้ยินได้ฟังการวิเคราะห์กันมามากพอแล้ว

เมื่อสถานการณ์ได้ล่วงเลยมาถึงจุดนี้ หลายท่านอาจเกิดคำถามในใจเกี่ยวกับการดำเนินการของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพราะการดูแลค่าเงินบาทนั้นเป็นหนึ่งในพันธกิจหลักของ ธปท.  ไม่แปลกใจที่หลายคนมองว่า การปล่อยให้ค่าเงินบาทแข็งจนสร้างผลเสียต่อระบบเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา จึงไม่ต่างจากหลักฐานที่ฟ้องถึงความล้มเหลวในการดูแลเศรษฐกิจของ ธปท.

 

ก่อนจะคุยกันต่อไป อยากขอทำความเข้าใจกันสักนิดก่อนว่า ระบบอัตราแลกเปลี่ยนของไทยในปัจจุบันคือระบบอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัวแบบจัดการ หรือ Managed float กล่าวคือ ค่าอัตราแลกเปลี่ยนนั้นจะถูกกำหนดมาจากสองส่วน คือส่วนของ Float ซึ่งมาจากอุปสงค์และอุปทานในตลาดปริวรรตเงินตรา ส่วนนี้เป็นเรื่องของกลไกตลาดที่ให้มูลค่ากับเงินบาทตามภาวะเศรษฐกิจและปัจจัยพื้นฐาน อีกส่วนหนึ่งนั้นคือส่วน Managed ซึ่งหมายถึงการเข้าไปแทรกแซงจัดการค่าเงินตามที่ ธปท. จะเห็นสมควร โดยการแทรกแซงนั้นมีหลากหลายลักษณะ แต่โดยหลักการแล้ว มิใช่เพื่อรักษาค่าเงินให้คงที่ตายตัวเหมือนดังยุคสมัยของระบบอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ แต่เป็นการแทรกแซงชั่วครั้งชั่วคราว เพื่อลดความผันผวนจากภาวะตลาดการเงิน หรือปัจจัยเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปรเฉียบพลัน

เหตุการณ์ในช่วงรอยต่อระหว่างการซื้อขายในวันสุดท้ายของปี 2562 และวันเริ่มกลับมาทำธุรกรรมครั้งแรกของปี 2563 เป็นตัวอย่างหนึ่งของการแทรกแซงเพื่อลดความผันผวนของค่าเงินบาท

ในวันที่ 30 ธันวาคม 2562 ผู้ประกอบการบางรายได้เร่งทำธุรกรรมก่อนวันสิ้นปี นำเงินดอลล่าร์ออกขาย ในภาวะตลาดที่มีสภาพคล่องต่ำ ทำให้อัตราแลกเปลี่ยนหลุดต่ำกว่าระดับ 30 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐฯ และส่งผลทางด้านจิตวิทยาต่อการซื้อขายในวันถัดมา กอปรกับเป็นช่วงวันหยุดยาวที่นักค้าเงินมิได้เข้ามาทำธุรกรรมตามปกติ ทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นโดยไร้แรงต้าน จนข้ามมาถึงวันแรกของปี 2563 จึงปรากฏให้เห็นการก้าวกระโดดของอัตราแลกเปลี่ยนจากที่เจียนจะแตะระดับ 29.7 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐฯ กลับพุ่งพรวดขึ้นมายืนเหนือระดับ 30 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐฯ ได้

 

ภาพที่ 1: ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นจนต่ำกว่า 29 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐฯ ในช่วงสิ้นปี 2562 แต่กลับอ่อนค่าลงเหนือระดับ 30 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐฯ ในวันแรกของปี 2563
ภาพที่ 1: ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นจนต่ำกว่า 29 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐฯ ในช่วงสิ้นปี 2562 แต่กลับอ่อนค่าลงเหนือระดับ 30 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐฯ ในวันแรกของปี 2563

 

มีหลักฐานเพียงพอที่ทำให้เชื่อได้ว่า ธปท. ได้เข้ามา “ดูแล” ค่าเงินบาท (“ให้สอดคล้องกับปัจจัยพื้นทางเศรษฐกิจ”) กล่าวคือ จากรายงานฐานะทุนสำรองระหว่างประเทศที่ ธปท. เผยแพร่ต่อสาธารณะเมื่อเร็วๆ นี้ แสดงให้เห็นว่าทุนสำรองระหว่างประเทศที่ ธปท. ถือครองได้เพิ่มขึ้นกว่า 4 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ ในช่วงระยะเวลา 7 วัน คือระหว่างวันที่ 27 ธันวาคม 2562 ถึงวันที่ 3 มกราคม 2563 โดยเพิ่มขึ้นจาก 2.23 แสนล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ มาเป็น 2.275 แสนล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ

ปริมาณเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้นนี้สะท้อนถึงการนำเงินบาทจำนวนมากเข้าไปซื้อเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ ในตลาดปริวรรตเงินตรา เพื่อมาเก็บเป็นทุนสำรองระหว่างประเทศ ในช่วงที่ตลาดมีความต้องการซื้อเงินบาทสูง (หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง มีคนนำเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ จำนวนมากออกขาย)

ทางด้าน ธปท. ก็ได้ออกมายอมรับเองด้วยว่า ได้ใช้วิธีการแทรกแซงในลักษณะนี้ตลอดช่วงห้าปีที่ผ่านมา เพื่อชะลอการแข็งค่าของเงินบาท จนทำให้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศของไทยเพิ่มพูนขึ้นเกือบ 8 หมื่นล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ ส่งผลให้ประเทศไทยติดอันดับประเทศที่มีปริมาณเงินสำรองสูงสุดเป็นอันดับที่ 12 ของโลก

แต่กระนั้นก็ยังไม่อาจต้านแรงซื้อเงินบาท ที่ดันค่าเงินบาทให้แข็งต่อเนื่องได้

มิหนำซ้ำ การเข้าแทรกแซงตลาดปริวรรตเงินตรายังสร้างต้นทุนต่อระบบเศรษฐกิจอีกหลายประการด้วย

ต้นทุนประการแรก คือ ความสุ่มเสี่ยงต่อภาวะเงินเฟ้อ เนื่องจากเงินบาทต้องถูกพิมพ์ออกมามากขึ้นตามจำนวนดอลล่าร์สหรัฐฯ ที่ ธปท. เข้าไปซื้อเก็บไว้เป็นทุนสำรองฯ ทำให้ปริมาณเงินในระบบมากขึ้นจนล้นเกินได้

ปริมาณเงินหมุนเวียนที่ล้นเกินนั้น ย่อมดันราคาสินค้าให้ปรับสูงขึ้นจนเกิดภาวะเงินเฟ้อ ส่งผลให้ค่าครองชีพพุ่งสูงขึ้น สร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนโดยทั่วไป

หาก ธปท. ไม่ต้องการให้การแทรกแซงสร้างผลข้างเคียงที่ไม่พึงปรารถนานี้ ก็ต้องหาวิธีดึงสภาพคล่องส่วนเกินออกจากระบบ

อย่างไรก็ดี การดำเนินการขจัดสภาพคล่องส่วนเกินนี้ อาจส่งผลให้เกิด ต้นทุนประการที่สอง ได้ นั่นคือ ต้นทุนของการตัดตอนผลข้างเคียง หรือ Sterilization

โดยปกติธนาคารกลางจะขายตราสารหนี้ภาครัฐ (หรือพันธบัตรรัฐบาล) แก่สถาบันการเงิน เพื่อดึงสภาพคล่องส่วนเกินออกจากระบบการเงิน (คล้ายกับการยื่นหมูยื่นแมว ธนาคารกลางยื่นพันธบัตรให้สถาบันการเงิน ส่วนสถาบันการเงินส่งเงินให้ธนาคารกลาง) แต่เนื่องจาก ธปท. ไม่ได้มีตราสารหนี้ภาครัฐมากพอที่จะดำเนินการดูดซับเงินบาทส่วนเกินออกจากระบบ ธปท.จึงต้องออกพันธบัตรของตัวเองมาเพื่อการนี้

พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นหนี้ที่สร้างภาระดอกเบี้ยจ่ายให้กับ ธปท. และตรงจุดนี้เองที่สร้างต้นทุนให้กับการทำ Sterilization กล่าวคือ ยิ่ง ธปท.เข้าไปแทรกแซงในตลาดปริวรรตมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งต้องออกพันธบัตรมาเพื่อดึงสภาพคล่องส่วนเกินออกจากระบบมากขึ้นเท่านั้น และต้องมีภาระจ่ายดอกเบี้ยให้กับผู้ถือพันธบัตรมากขึ้นเป็นเงาตามตัว

ความพยายามที่จะบรรลุเป้าหมายค่าเงินพร้อมๆ กับการดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจภายใน ส่งผลให้ ธปท. ต้องออกพันธบัตรของตนอย่างต่อเนื่อง (ดังปรากฏในภาพที่ 2 ที่แสดงยอดคงค้างของพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย) ควบคู่ไปกับแบกรับภาระดอกเบี้ยจ่าย ที่ส่งผลให้ตัวเลขหนี้สินที่เกิดจากการออกพันธบัตรมีสัดส่วนในงบดุลของ ธปท. เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

 

ภาพที่ 2: ยอดคงค้างพันธบัตร ธปท. มีแนวโน้มสูงขึ้น
ภาพที่ 2: ยอดคงค้างพันธบัตร ธปท. มีแนวโน้มสูงขึ้น

 

ธปท. มีรายจ่ายดอกเบี้ยจากการออกตราสารหนี้เพื่อบริหารสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจสูงกว่ารายรับดอกเบี้ยที่ได้จากการบริหารทุนสำรองฯ ส่งผลให้ ธปท. มีผลประกอบการที่ขาดทุนอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ผลขาดทุนนี้ได้กัดกินส่วนของทุนของ ธปท. จนติดลบติดต่อกันมาหลายปี (ดูภาพที่ 3 ประกอบ)

 

ภาพที่ 3: ส่วนของทุนของ ธปท. ติดลบอย่างต่อเนื่องมาหลายปี อันเป็นผลจากการบริหารสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจ
ภาพที่ 3: ส่วนของทุนของ ธปท. ติดลบอย่างต่อเนื่องมาหลายปี อันเป็นผลจากการบริหารสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจ

 

ต้นทุนประการที่สาม คือ ความสุ่มเสี่ยงที่จะถูกสหรัฐอเมริกาขึ้นบัญชีประเทศไทยเป็นประเทศ “ปั่นค่าเงิน” (Currency manipulator) อันมีที่มาจากการสั่งสมทุนสำรองระหว่างประเทศมากผิดปกติ โดยสหรัฐอเมริกาได้กำหนดเกณฑ์ของประเทศผู้ปั่นค่าเงินไว้ดังนี้

  1. เป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญของสหรัฐฯ และมีการเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ ไม่น้อยกว่า 2 หมื่นล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ
  2. มียอดเกินดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างน้อย 2% ของมูลค่ารายได้ประชาชาติ
  3. มีการแทรกแซงค่าเงิน จนส่งผลให้ทุนสำรองฯ ในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นเป็นสัดส่วนร้อยละ 2 ของมูลค่ารายได้ประชาชาติ

แม้รายงานล่าสุดของกระทรวงการคลังจะไม่มีรายชื่อประเทศไทยในบัญชีผู้ปั่นค่าเงินก็ตาม แต่ประเทศไทยได้บรรลุสองในสามเงื่อนไขที่ระบุข้างต้นดังกล่าวไปแล้ว กล่าวคือ มีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดกว่า 5.3% ของจีดีพีในปีที่แล้ว และมีการเข้าแทรกแซงค่าเงินบาทที่สูงและต่อเนื่อง

จะเห็นได้ว่า การแทรกแซงค่าเงิน แม้ก่อประโยชน์ให้กับบางภาคส่วนในระบบเศรษฐกิจ แต่ก็สร้างต้นทุนที่สูงไม่น้อยให้กับระบบเศรษฐกิจโดยรวม

ยิ่งไปกว่านั้น หลักฐานที่ปรากฏนี้ตอกย้ำให้เห็นว่า แม้ว่า ธปท. จะออกแรงต้านการแข็งค่าของเงินบาทมากเพียงใดก็ตาม ส่วนของการ Manage ค่าเงินนั้น ในที่สุดก็ไม่อาจต้านทานแรงสวนจากส่วนของ Float ที่มาจากกลไกตลาดเสรี และเงินทุนจากภายนอกได้

ทิศทางของค่าเงินบาทในปี 2563 คงไม่ต่างจากห้าปีที่ผ่านมาสักเท่าใด และเราคงจะอยู่กับวิวาทะเรื่องบาทแข็งไปอีกสักระยะหนึ่ง

MOST READ

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

Economy

23 Nov 2023

ไม่มี ‘วิกฤต’ ในคัมภีร์ธุรกิจของ ‘สิงห์’ : สันติ – ภูริต ภิรมย์ภักดี

หากไม่เข้าถ้ำสิงห์ ไหนเลยจะรู้จักสิงห์ 101 คุยกับ สันติ- ภูริต ภิรมย์ภักดี ถึงภูมิปัญญาการบริหารคน องค์กร และการตลาดเบื้องหลังความสำเร็จของกลุ่มธุรกิจสิงห์

กองบรรณาธิการ

23 Nov 2023

Economy

19 Mar 2018

ทางออกอยู่ที่ทุนนิยม

ในยามหัวเลี้ยวหัวต่อของบ้านเมือง ผู้คนสิ้นหวังกับปัจจุบัน หวาดหวั่นต่ออนาคต และสั่นคลอนกับอดีตของตนเอง
วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร เสนอทุนนิยมให้เป็น ‘grand strategy’ ใหม่ของประเทศไทย

วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร

19 Mar 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save