1
นครศรีธรรมราชช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ฟ้าเป็นสีเทา เมฆตั้งเค้ารอกระหน่ำตั้งแต่เช้า ตกลงมาตอนสาย แดดออกพอให้ดีใจสักครึ่งชั่วโมง และฝนก็กระหน่ำลงมาอีกในตอนบ่าย วนเวียนไปเช่นนี้ทั้งวันทั้งคืน วันแล้ววันเล่า
ฝนแปดแดดสี่ – สำนวนนี้ถ้าฟังจากที่ไกลๆ คงไม่รู้สึกรู้สาอะไรกับมัน แต่เมื่อคุณฝังตัวอยู่ในภาคใต้ ทุกความหมายของคำจะปรากฏผ่านความเหนอะชื้นตามร่างกาย ราวกับอยู่ในหุบเขาฝนโปรยไพรที่ดำรงไปเช่นนั้นตลอดกาล
ว่ากันว่า ‘คนคอน’ ดุ หน้านิ่ง รักพวกพ้อง และอย่าไปทำเล่นทำหัว เพราะคนที่นี่เอาจริง – เป็นเท็กซัสเมืองไทยก็ว่า แต่คำกล่าวเช่นนี้ดูจะละเลยของดีเมืองนครฯ ไปหลายอย่าง หากไม่นับฝนและยุงที่ขึ้นชื่อ นครศรีธรรมราชเป็นเมืองที่รุ่มรวยด้วยทรัพยากรธรรมชาติ อาหารการกิน และวัฒนธรรม
มีที่ไหน บ้านเมืองที่มีทั้งทะเล น้ำตก เทือกเขา แม่น้ำ และความเป็นเมืองสมัยใหม่รวมไว้ในที่เดียว ไม่ได้มีธรรมดา เพราะแต่ละที่ล้วนสง่างามและยิ่งใหญ่ในตัวเอง อย่างเขาหลวงนั่นไง ที่นักเดินป่าบอกว่าควรต้องไปสักครั้งในชีวิต
ที่โรงแรมในนครฯ มีรูปที่ท่องเที่ยวติดไว้มากมาย กวาดเอาของดีแต่ละอำเภอมาโชว์จนไม่มีที่ว่างพอ แต่นอกจากป่าเขาลำเนาไพรแล้ว พื้นที่ในผนังต้องเว้นไว้ให้สถานที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของนครฯ นั่นคือวัดเจดีย์ หรือที่มหาชนคุ้นหูกันในนาม ‘วัดไอ้ไข่’
หากคุณเพิ่งมาถึง ไอ้ไข่จะคอยดูแลคุณในช่วงเวลาที่อยู่ที่นี่ ส่วนถ้าคุณกำลังจะจากไป ไอ้ไข่จะให้โชคลาภติดตัวไปด้วย นี่คือ ‘เมสเสจ’ ที่คุณจะสัมผัสได้ตลอดช่วงเวลาที่อยู่นครฯ
วัดเจดีย์อยู่ห่างจากอำเภอเมืองนครฯ ประมาณหนึ่งชั่วโมงขับรถ ตั้งอยู่ในพื้นที่ราบเชิงเขาที่อำเภอสิชล แต่แรกเริ่มสถานที่ตั้งของวัดเจดีย์ยังเป็นที่รกร้าง มีหลวงปู่ทวดธุดงค์ผ่านมาและปักกลด ตำนานเล่าว่า หลวงปู่ทวดมีวิญญาณเด็กที่เป็นลูกศิษย์อายุประมาณ 9-10 ขวบติดตามมาด้วย และเมื่อมาถึงพบว่าที่แห่งนั้นมีทรัพย์สมบัติและศาสนสถานอยู่มาก หลวงปู่ทวดจึงให้วิญญาณไอ้ไข่สิงสถิตเฝ้าทรัพย์สมบัติตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
จากวัดรกร้างในพื้นที่ป่าเขา มีเพียงเจดีย์แตกหักตั้งอยู่บนพื้นดิน วัดเจดีย์ได้รับการบูรณะเมื่อปี 2500 ขณะนั้นมีชาวบ้านตั้งชุมชนอาศัยในบริเวณโดยรอบอยู่ก่อนแล้ว หลังจากการบูรณะ ตำนานไอ้ไข่ก็เริ่มต้นขึ้น เมื่อมีเรื่องเล่าว่าใครก็ตามที่มานอนพักแรมที่วัดเจดีย์โดยไม่บอกกล่าวต่อไอ้ไข่ คืนนั้นทั้งคืนจะโดนก่อกวนจนนอนไม่ได้ มีเด็กมาดึงแขนดึงขาบ้าง ตบหัวบ้าง จนกลายเป็นธรรมเนียมว่าถ้าจะมาพักที่วัดเจดีย์ต้องขอขมาต่อไอ้ไข่เจ้าที่ก่อน
ไอ้ไข่เริ่มมีตัวตนให้เห็นเป็นรูปเป็นร่าง ในความหมายที่ว่าไม่ได้เป็นเพียงแค่วิญญาณกับเรื่องเล่า ก็ตอนที่อาจารย์เที่ยงมีนิมิตว่ามีเด็กบอกให้สร้างรูปปั้นเมื่อช่วงปี 2523 ในนิมิตเป็นภาพเด็กเปลือยกายยืนอยู่กับพระสวมจีวรสีคล้ำ
“แกะรูปให้เราที เราจะได้มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง” เด็กในนิมิตนั้นว่า
“ใครหรือนี่” อาจารย์เที่ยงถามกลับ
“เราไอ้ไข่เด็กวัดเจดีย์” เสียงเด็กคนนั้นตอบกลับมา
นับแต่นั้นเองที่วิญญาณเฝ้าสมบัติก็กลายเป็น ‘ไอ้ไข่’ หรือบางคนก็อยากให้เรียกว่า ‘ตาไข่’ เพราะเกรงว่าหากนับอายุแล้ว เด็กรุ่นใหม่ที่เกิดมาคงเป็นรุ่นหลานของไอ้ไข่ จนการเรียก ‘ไอ้’ กลายเป็นความหยาบคาย
แรกเริ่ม ไอ้ไข่เป็นไม้แกะสลัก รูปร่างเป็นเด็กอายุประมาณ 9-10 ขวบ สวมชุดลายพรางทหารสวมแว่นตาดำ หลังจากนั้นก็เริ่มมีชาวบ้านมาขอพรบนบานศาลกล่าวกับไอ้ไข่และได้ตามที่ขอ ชื่อเสียงของไอ้ไข่ก็ขจรขจาย จากวิญญาณเด็กวัดธุดงค์ตามหลวงปู่ทวด กลายเป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของคนในหมู่บ้านและดังไปไกลนอกพื้นที่ ชื่อเสียงของไอ้ไข่สั่งสมความขลังและศรัทธาของผู้คนอย่างไม่ลดระดับ หลังจากนั้น ‘ถนนทุกสาย’ ก็มุ่งหน้าสู่วัดเจดีย์
2
หลังจากหมุนพวงมาลัยเลี้ยวซ้าย จากถนนใหญ่เชื่อมอำเภอ กลายเป็นถนนสองเลนที่สวนได้แต่แซงยาก ป้ายบอกทางไปวัดไอ้ไข่ติดอยู่ตามรายทางเป็นระยะ แต่คงไม่มีอะไรชัดเจนว่าขับมาถูกทางเท่ากับร้านขายประทัดและรูปปั้นไก่ที่เรียงติดกันเป็นแนวยาวตรงริมทาง
หากถนนสู่วัดไอ้ไข่มีพจนานุกรมศัพท์ของตัวเอง คงออกมาเป็นหนังสือเล่มบาง เพราะคำที่ผ่านตาตลอดเส้นทางมีอยู่เพียงไม่กี่คำ เช่น โชคดี ทรัพย์ มงคล เพิ่มพูน ร่ำรวย ฯลฯ ติดอยู่บนป้ายร้านขายของแก้บน สีแดงของป้ายและตัวอักษรกลายเป็นสีที่ฉาบทับตลอดสองฝั่งถนน มีร้านอาหารและที่พักแทรกอยู่เป็นระยะ แต่ที่หวาดเสียวที่สุดเห็นจะเป็นร้านขายประทัดที่วางประทัดเรียงแน่นในโกดังสูงท่วมหัว เห็นแล้วหวั่นใจว่าจะมีใครสักคนทำไม้ขีดจุดไฟตกไว้
ถ้าไม่ต้องแวะซื้อรูปปั้นไก่เพื่อเอาไปบนบานต่อไอ้ไข่ จะใช้เวลาขับรถไม่นานก็ถึงตัววัด ตรงทางแยกสามแพร่ง กำแพงวัดสีขาวใหญ่โตก็ปรากฏในครรลองสายตา รูปปั้นไก่สีเงิน-ทองสูงสองเมตรวางคู่กันหน้าประตู แสงระยับจากกระจกสีที่ติดเป็นเกล็ดสะท้อนเข้าตา ลานจอดรถกว้างใหญ่ที่พร้อมต้อนรับคนเรือนพันเรือนหมื่นยังพอมีที่ว่าง ไก่ตัวเล็กตัวน้อยกว่าหมื่นตัววางเรียงรายอยู่ตามใต้ต้นไม้และขอบทาง และจุดที่โดดเด่นที่สุดของวัดคือเจดีย์ขนาดใหญ่ที่กำลังสร้าง มีพระพุทธรูปปางสมาธิขนาดมหึมาอยู่ใต้ร่มเจดีย์
เสียงที่ต้อนรับผู้มาเยือนคือเสียงประทัด – ไม่ใช่ดังประเดี๋ยวประด๋าวแบบที่เด็กแถวบ้านเล่น แต่ดังสนั่นหวั่นไหวยาวนานติดกันหลายนาที ควันโขมงปกคลุมท้องฟ้าเป็นหย่อมเล็ก หากไม่เข้าใจจะนึกว่ามีงานตรุษจีน เมื่อจอดรถและเดินเข้าไปดูใกล้ๆ จึงพบว่านี่คือการจุดประทัดแก้บน
“ผมมาจุดให้ มีคนสั่งประทัดแก้บนทางออนไลน์มา 3 ล้านนัด” ชายเจ้าของร้านขายประทัดเล่า หลังจากเสียงประทัดเพิ่งจบลง หูยังไม่กลับมาทำการปกติ
คำว่า ‘แก้บนทางออนไลน์’ ของเขาหมายถึงรับออเดอร์ลูกค้าจากทางเพจหรือเว็บไซต์ร้าน สั่งซื้อเป็นแพ็กเกจ บนไว้เท่าไหร่ สั่งไปเท่านั้น ในประทัด 1 กล่องบรรจุ 10,000 นัด สนนราคาอยู่ที่กล่องละ 800 บาท ดังนั้นเสียงประทัดที่ดังเมื่อครู่ คนออเดอร์จ่ายไป 240,000 บาท ยังไม่นับรวมค่าจุดให้อยู่ที่ 50 บาทต่อครั้งต่อกล่อง
หากคนไม่ศรัทธา ไม่เชื่อถือ การโอนเงินหลักแสนให้คนแปลกหน้ามาจุดประทัดให้คงเป็นเรื่องยากจะทำความเข้าใจ แต่ในหมู่คนศรัทธา วัตรปฏิบัติเหล่านี้เป็นเรื่องปกติ
“มีบ้างไหมที่คนโอนเงินมาแล้วเราไม่จุดให้ ในเมื่อเขาไม่มีทางรู้อยู่แล้ว” เราโยนคำถามหน้ากองเศษซากประทัด
“ไม่จุดไม่ได้ ไม่มีใครกล้าเล่นกับไอ้ไข่ รับปากแล้วก็ต้องทำ จะมาตุกติกไม่ได้เด็ดขาด” ชายเจ้าของร้านตอบเสียงหนักแน่น พลางโยนเศษกล่องประทัดเปล่าขึ้นท้ายรถกระบะ
วันหนึ่งเขาต้องรันออเดอร์ประทัดกว่าสิบรอบ ขับรถจากร้านมาที่วัด นับจำนวนประทัดที่ต้องจุด รอคิวจุดตามเวลาที่วัดกำหนดรอบ ถึงเวลาโยนประทัดลงไป จุด และรอเก็บกล่อง ไม่ใช่แค่ที่ร้านของเขาเท่านั้นที่มีออเดอร์ออนไลน์ แต่มีผู้ประกอบการธุรกิจขายประทัดหลายคนที่ทำแบบเดียวกันจนมีรายได้เป็นล่ำเป็นสัน เจ้าของร้านหลายคนยืนยันว่า ทำแบบนี้ไม่ใช่หวังรวยอย่างเดียว แต่ทำเพราะมีความศรัทธาต่อไอ้ไข่ด้วย
การแก้บนด้วยประทัด ไม่จำเป็นต้องจุดจำนวนมหาศาลในระดับล้านนัดทุกครั้งไป ออเดอร์เล็กๆ ทีละร้อยนัดก็ได้ ตามแต่ใจปรารถนา ทางร้านมีการจัดแพ็กเกจไว้อย่างเป็นมาตรฐาน ยกตัวอย่างเช่นข้อความโฆษณาในหน้าเพจร้านขายประทัดแห่งหนึ่งว่า
รับฝากแก้บน จุดประทัดขอพร ไอ้ไข่วัดเจดีย์
“จากเสียงร่ำลือถึงความศักดิ์สิทธิ์ โดยมีคำพูดประโยคนึงว่า ขอได้ไหว้รับ ขออะไรมักได้สิ่งนั้น รูปปั้นไอ้ไข่ เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มักจะให้โชคลาภแก่ผู้ที่ศรัทธามากราบไหว้ “
1,000 นัด | 100.- บาท
2,000 นัด | 200.- บาท
3,000 นัด | 300.- บาท
5,000 นัด | 500.- บาท
10,000 นัด | 800.- บาท
100,000 เสียง | 1,200.- บาท
มากกว่าแสนนัดราคาส่งถูกสุดๆ
ทุกรายการค่าจุด ต่อครั้ง/กล่อง 50.-
นอกจากนี้ใครใคร่มาที่วัดเอง ก็มีบูธขายประทัดวางขายตรงหน้าที่จุดไว้คอยบริการ เสร็จแล้วก็เดินไปซื้อลอตเตอรีที่แผงข้างๆ บูธได้เลย โชคสองต่อไม่ต้องรอราคาตลาดหุ้น
วันที่เราไป บังเอิญเป็นฤกษ์งามยามดีตรงกับวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2022 คนที่รักในการหาตัวเลข จะรู้กันทันทีเพียงแค่ปรายตามองปฏิทินว่านี่คือเลข 22-2-22 นี่เองเป็นสาเหตุที่ใกล้ๆ กับที่จุดประทัดมีคนห้อมล้อมรถกระบะที่มีส้มโอเต็มคันรถ เจ้าของสวนส้มโอเอาส้มโอมาแจกจำนวน 2,222 ลูก หลังจากส่งออกส้มโอได้ตามจำนวนที่หวัง – แน่นอน เขาเชื่อว่านี่คือผลลัพธ์ของการขอพรจากไอ้ไข่
“เรามาที่นี่เพราะมีความศรัทธา คราวที่แล้วขอไปก็ได้อย่างหวัง คราวนี้เรามาก็อยากให้ธุรกิจเจริญรุ่งเรือง ทำยอดขายได้ตามเป้า” หญิงวัยกลางคน เจ้าของกิจการขายวัสดุก่อสร้างบอกกับเรา เธอเดินทางมาจากกรุงเทพฯ เพื่อมาไหว้ไอ้ไข่ และนี่ไม่ใช่ครั้งแรก
อีกฝั่งของลานจอดรถ เป็นที่ตั้งของศาลาไม้ซึ่งเป็นศูนย์กลางของวัด รูปปั้นไอ้ไข่วางไว้ใต้ร่มผ้าใบที่กางไว้ให้คนมากราบไหว้บูชา ที่น่าสนใจคือมีรูปปั้นไอ้ไข่อยู่หลายจุด สวมชุดแตกต่างกันไป บ้างสวมชุดทหารลายพราง บ้างสวมชุดนักเรียน ที่เหมือนกันคือสวมแว่นตาดำและมีผ้าสีพันคอ บริเวณใกล้ๆ รูปปั้นไอ้ไข่มีไก่และตัวการ์ตูนจากค่ายมาร์เวลตั้งอยู่อย่างใหญ่สะดุดตา กลิ่นธูปและเสียงสวดมนต์อบอวลอยู่ทั่วบริเวณ ผู้คนหลากหลายมีทั้งลูกเด็กเล็กแดง และเหล่าคุณลุงคุณป้าที่มาพร้อมทัวร์รถตู้
“ช่วงที่พีกที่สุด คนมาวันหนึ่งเกือบแสน ลานจอดรถไม่ว่างเลย ถนนติดทุกสาย” พระครูพุทธเจติยาภิมณฑ์ หรือ อาจารย์แว่น เจ้าอาวาสวัดเจดีย์ไอ้ไข่ เล่าให้ฟังถึงช่วงรุ่งเรืองของวัดไอ้ไข่
แม้กระแสความนิยมวัดไอ้ไข่จะลดลงมาบ้าง อาจด้วยเพราะการระบาดของโควิด-19 และกระแสที่เปลี่ยนไปตามเวลา แต่ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา (2565) ก็ยังมีคนมาที่วัดไอ้ไข่กว่าวันละ 3 หมื่นคน วันที่คนนิยมมามากที่สุดคือวันเสาร์ เพราะถือเป็นวันสำหรับไหว้และแก้บน เป็นความเชื่อมาตั้งแต่โบราณ
ด้วยเงินและคนที่หมุนเวียนระดับนี้ มองด้วยตาเปล่าก็รู้ว่าวัดเจดีย์ไอ้ไข่ร่ำรวย แน่นอนว่าย่อมหนีไม่พ้นเสียงวิจารณ์ที่ว่าวัดแห่งนี้กลายเป็นพุทธพาณิชย์ที่ใช้ประโยชน์จากความศรัทธาของคน
“เรื่องนี้อาตมาไม่โทษคนพูด แต่อาจจะติติงนิดหนึ่งว่า บางทีการพูดก็ไม่ต้องลงแรง อย่าเพิ่งตัดสินกันว่าเป็นพุทธพาณิชย์ทันที ต้องมาดูก่อน” เจ้าอาวาสวัดไอ้ไข่พูดถึงประเด็นที่คนมองว่าวัดเป็นพุทธพาณิชย์
“เราไม่เคยโฆษณาประชาสัมพันธ์ให้โยมหลงใหลเรื่องการใช้ทรัพย์บริจาค เราไม่มีโฆษณาให้สะเดาะเคราะห์อย่างนั้น ให้เช่าวัตถุมงคลอย่างนี้ โยมเข้ามาแล้วให้โยมตัดสินใจว่าจะทำอะไร
“เราไม่ได้คิดเรื่องพุทธพาณิชย์ แต่เราคิดว่าพุทธของเราจะอยู่กับชุมชนอย่างไร ในเมื่อคนที่มาจังหวัดนครฯ มีจุดประสงค์เพื่อมาวัดเจดีย์ ถามว่าเราจะไม่เอากิจกรรมนี้ไว้เลยหรือ แล้วชาวบ้านที่อยู่รอบวัดจะอยู่กันอย่างไร เขาทำร้านอาหาร ขายของ ให้เช่าวัตถุมงคล เปิดที่พัก ก็ได้ทำธุรกิจ สร้างรายได้ ส่วนเราบริหารเรื่องวัด ยังมีการกิจวัตรของพระปกติ ทำบุญวันสำคัญทางศาสนา เข้าพรรษาถวายเทียน สงเคราะห์งานศพ รับบวช เราทำปกติเหมือนทุกวัด แม้แต่สอนนักธรรมเราก็ยังทำเป็นปกติ” พระอาจารย์แว่นว่า
เมื่อคลื่นความศรัทธาเข้ามาเนืองแน่น การปฏิเสธไม่รับการบริจาคกลายเป็นเรื่องเป็นไปไม่ได้ แม้เจ้าอาวาสจะบอกว่าวัดไม่ได้เรียกร้อง แต่เงินจากกระเป๋าของผู้ศรัทธาก็หลั่งไหลเข้าสู่วัดมหาศาล กลายเป็นกระเบื้อง เสาศาลา หรือห้องน้ำในวัด แลกกับการได้ใบอนุโมทนาและความอิ่มเอมใจว่ากลับไปจะมีชีวิตที่ดีขึ้น ยังไม่นับว่าในโอกาสพิเศษ ยังมีการจัดสั่งจองวัตถุมงคลแบบจำนวนจำกัด ทั้งเหรียญหล่อ ล็อกเก็ตหัวใจไอ้ไข่ องค์บูชาไอ้ไข่ หรือองค์พระบูชาเพื่อสมทบทุนสร้างอุโบสถและพัฒนาวัดเจดีย์ การบริจาคเงินเพื่อแสดงความศรัทธาจึงกลายเป็นเรื่องเดียวกันอย่างยากปฏิเสธ
“สมัยก่อนคนเราก็นับถือต้นไม้ ภูเขา ก้อนหินใหญ่ ศิลาหนาทึบ เราไหว้มาก่อนแล้ว พอระบบสังคมเปลี่ยนไป คนก็มานับถือศาสนา นี่คือความเชื่อและความพอใจส่วนตัว จะไปบอกให้เขาเลิกไหว้ก็ไม่ได้ แต่เราก็ต้องแทรกว่าไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์แล้วก็ต้องพึ่งตนเองด้วย ถึงจะเห็นผล ความเชื่อต้องบวกเรื่องปัญญา” เจ้าอาวาสวัดไอ้ไข่ย้ำ
ถ้าจะมีอะไรสักอย่างที่อบอวลในวัดไอ้ไข่นอกจากกลิ่นธูปและเสียงสวดมนต์ สิ่งนั้นก็คือความหวัง บางคนอาจไม่ได้ยากจน แต่กดเครื่องคิดเลขแล้ว ก็กลัวว่าบัญชีจะกลายเป็นสีแดงในอีกไม่กี่ปี บางคนกำลังเริ่มต้นทำธุรกิจ และคาดหวังว่าความสำเร็จจะมาถึง หลายคนกำลังลุ้นให้ลูกสอบเข้ามหาวิทยาลัย และการได้เข้าคณะดีๆ ย่อมหมายถึงอนาคตที่มั่นคง ในประเทศที่ความมั่นคงหาได้ยากเช่นนี้
ภาพความหวังจากผู้คนที่หลากหลาย คงไม่มีอะไรเป็นตัวชี้วัดเท่ากับไก่ที่วางเรียงรายเป็นหมื่นเป็นแสนตัวทั่ววัด – นี่นับเฉพาะไก่ที่ยังไม่ปลดระวาง เพราะยังมีรูปปั้นไก่อีกหลายล้านตัว จากผู้คนเรือนแสนต่อวันตลอดช่วงสิบปีที่ผ่านมาที่ถูกปล่อยทิ้งแตกสลายไปแล้ว
ห่างจากวัดไม่ไกล บริเวณริมภูเขามีพื้นที่ว่างประมาณ 40 ไร่ เอาไว้สำหรับวางไก่ที่หมดหน้าที่ ไก่ตัวเล็กกลายเป็นเศษซากปูนสีขาวละเอียดกองพะเนินเทินทึก ส่วนไก่ที่ตัวใหญ่ระดับ 1-2 เมตร ก็วางเรียงตั้งตระหง่านเป็นหน้ากระดานกลายเป็นสุสานรูปปั้นไก่ที่เงียบเหงา ทั้งที่ก่อนหน้านี้ ไก่ตัวใหญ่เหล่านี้เคยมีราคากว่าหลักหมื่นไปจนถึงแสนหากประดับประดาด้วยกระจกแก้วสีสวย
เราขับรถตามรถบรรทุกไก่คันหนึ่งอย่างไม่รู้เป้าหมาย จนกระทั่งมาถึงที่ทิ้งรูปปั้นไก่ที่ว่านี้ รถบรรทุกเลี้ยวเข้าไป และมีคนขนถ่ายไก่ลงไปวาง วัตรปฏิบัตินี้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าริมภูเขาที่มีรูปปั้นพญานาคบนไหล่ผา ฝนตั้งเค้ารอจะตกลงมาได้ทุกเมื่อ
3
เรามักเคยได้ยินคำว่า “ความเชื่อเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์เป็นของคู่คนไทย” แต่คำพูดนี้อาจไม่จริงทั้งหมด เพราะความเชื่ออาจเป็นเรื่องสามัญของมนุษย์ – ความเชื่อเป็นเรื่องของเราทุกคน
“เวลาเราอยู่ในวิกฤตหรืออยู่ท่ามกลางความไม่แน่นอน เราต้องหาเครื่องมือพิเศษ โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจที่เป็นเรื่องลี้ลับ ไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เราเลยต้องใช้วิชาที่น่าจะเข้าถึงสิ่งลี้ลับนั้นเพื่อใช้เป็นเครื่องราง” เอโดอาร์โด้ ซีอานี นักมานุษยวิทยาชาวอิตาลี ที่สนใจศึกษาเรื่องโหราศาสตร์และอำนาจการเมืองไทยเปิดประเด็นเรื่องความเชื่อเรื่องเครื่องรางของขลังและการบนบานสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของคนไทย ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องเพิ่งเกิดวันนี้เมื่อวาน แต่มีอยู่คู่กับสังคมไทยมานานแล้ว
มากไปกว่านั้นเอโดมองว่ามากไปกว่าสังคมไทย มนุษย์ทุกคนก็ต้องการที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ
“มนุษย์ต้องการที่ยึดเหนี่ยว ต้องการสิ่งเหนือธรรมชาติ ถ้าเรามองศาสนาพุทธเป็นประสบการณ์หนึ่ง เช่น การนั่งสมาธิ การรับรู้ประสบการณ์อื่นก็เป็นเรื่องคล้ายกัน แม้แต่คนที่ไม่นับถือศาสนา เช่น เมื่อเราไปคอนเสิร์ต เรามองนักร้อง ฟังเพลงในฮอลล์ เรากำลังมองเทพอยู่ เมื่อเราไปดูหนังในโรง เราขนลุก เพราะความรู้สึกวิเศษที่เกิดขึ้น ผมคิดว่านี่คือประสบการณ์ที่เราอธิบายไม่ได้ ทุกคนเคยเจอมาเหมือนกันหมด
“พิธีของรัฐก็เปรียบเทียบกับศาสนาได้ ที่ต้องการทำให้คนอึ้ง เกิดศรัทธาและความรักต่อประเทศชาติ ศาสนามีอยู่ในชีวิตของพวกเราทุกคน บางคนก็หันไปทางศาสนาแบบที่เราเรียกว่าศาสนา บางคนก็ไม่ แต่ผมว่านี่เป็นประสบการณ์ของความเป็นมนุษย์ทุกคน เป็นเครื่องมือของมนุษย์ เราทุกคนมี ทุกคนใช้” เอโดอธิบาย
ในประเด็นเรื่องการบูชาวัตถุมงคล เอโดมองว่าแนวคิดเรื่องสิ่งของศักดิ์สิทธิ์ไปกันได้ดีกับระบบทุนนิยม และเราไม่ได้ปลุกเสกแค่พระเครื่อง
“โลกสมัยใหม่ทำให้วัตถุมีเวทมนตร์ได้ เวลาไปซื้อโทรศัพท์ เขาทำให้เทคโนโลยีกลายเป็นเวทมนตร์ เราไม่ได้ซื้อวัตถุ แต่เราซื้อความคิด ซื้อยี่ห้อ นี่คือเมจิกสมัยใหม่ ซึ่งเทียบกับเมจิกสมัยก่อนได้ สิ่งศักดิ์สิทธิ์นี้ไปคู่กับแนวคิดของระบบทุนนิยมได้อย่างง่ายเลย เพราะระบบทุนนิยมใส่เวทมนตร์เข้าไปในสิ่งของ เอาของธรรมดาไปติดยี่ห้อ ทำให้คนยอมจ่ายเงินเป็นหมื่นเพื่อให้ได้มา นี่คือเมจิกล้วนๆ ไม่ใช่ว่าเรายิ่งทันสมัย ใช้เทคโนโลยีล้ำหน้าแล้วสิ่งเหล่านี้จะหายไป แต่มันจะไปคู่กันเพราะเป็นสิ่งเดียวกัน” เอโดสรุป
4
หลังจากเดินดูไก่ในลานทิ้งจนรอบ เราก็เดินขึ้นไปบนไหล่เขาที่มีรูปปั้นพญานาคยื่นออกมา มีชานปูนที่รกเรื้อไปด้วยเถาวัลย์ให้พอขึ้นไปยืนได้ ไก่บนลานค่อยๆ ตัวเล็กลงตามความสูงที่เพิ่มขึ้น เจดีย์ขนาดใหญ่ของวัดไอ้ไข่ก็ค่อยๆ ย่อขนาดลง จากมองเห็นต้นไม้แค่ไม่กี่ต้นก็กลายเป็นไร่ปาล์มขนาดใหญ่ กินพื้นที่สีเขียวไปจนสุดลูกหูลูกตา – แม้ไม่ใช่พระเจ้า แต่ด้วยความสูงระดับนี้ ก็ทำให้เราพอเข้าใจสายตาของนก และยิ่งเข้าใกล้ท้องฟ้า ยิ่งรู้ว่าเมฆจะคลายตัวเป็นน้ำเร็วๆ นี้
ฝนแปดแดดสี่ ไม่เคยทำให้ผิดหวัง การหาร่มอาจเป็นทางออกที่ที่สุดในเวลานั้น หรือไม่ก็ยอมเปียกปอนไปทั้งตัว
ที่วัดไอ้ไข่ ผู้คนยังทยอยมากราบไหว้ไม่ขาดสาย ไก่ตัวเล็กเพิ่มจำนวนขึ้นอยู่ที่ไหนสักแห่งในแถวริมกำแพง – เหมือนความฝันความหวังของมนุษย์ที่เพิ่มขึ้นทุกวันในจำนวนที่เราไม่มีวันนับได้