ธนาวิ โชติประดิษฐ เรื่อง
กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ
ไกลบ้าน : Far From Home

“ผมใช้คำว่า ‘เดิน’ ไม่ใช่ ‘เดินทาง’ อย่างจงใจ เพราะวันนั้น ผมใช้เวลาราว 6 ชั่วโมง เดินขึ้นๆ ลงๆ บนยอดของเทือกเขาแห่งหนึ่งออกจากประเทศไทย เป็นการเดินที่เหนื่อยที่สุดในชีวิต ถึงตอนท้าย เมื่อใกล้ถึงจุดหมาย ขาผมเกือบไม่เหลือแรงจะยืนหรือเดินต่อเลย…”
“โดยเฉพาะใน 2 ปีที่ผ่านมา ที่ต้องมาอยู่ไกลบ้านขนาดนี้ มีความลำบากกว่าอยู่บ้านเยอะ และมีความเป็นไปได้ว่าชีวิตนี้อาจจะไม่ได้กลับไปอีกเลยก็ได้”
หน้าแรกในหนังสือปกหนังเรื่อง ไกลบ้าน หรือ Far From Home โดยปพนศักดิ์ ละออ เริ่มต้นด้วยข้อความของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อดีตอาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ลี้ภัยทางการเมืองหลังรัฐประหารเมื่อปี พ.ศ. 2557 ปพนศักดิ์ ศิลปินเจ้าของนิทรรศการ ไกลบ้าน (Far From Home) ที่แกลเลอรี่ชื่อ ARTIST+RUN เมื่อปี พ.ศ. 2560 เรียกข้อความดังกล่าวว่า “บันทึกผู้ลี้ภัย”
ไกลบ้าน ของปพนศักดิ์อ้างอิงถึงงานเขียนชื่อเดียวกันอีกฉบับที่รู้จักกันดีคือ บทพระราชนิพนธ์เรื่อง ไกลบ้าน ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่เป็นการรวมเล่มพระราชหัตถเลขาเมื่อครั้งพระองค์เสด็จประพาสยุโรปครั้งที่สองเมื่อปี พ.ศ. 2450 ศิลปินเปรียบเทียบภาวะการอยู่ ‘ไกลบ้าน’ ของสองยุคสมัยเข้าด้วย ไกลบ้าน ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเล่าเรื่องการเดินทาง เกร็ดความรู้เรื่องราวต่างๆ และพระราชวินิจฉัยส่วนพระองค์ต่อเหตุการณ์ที่ได้ทรงประสบพบเจอในต่างประเทศ เป็นการเดินทางที่แม้จะยาวนานถึง 225 วัน แต่ก็รู้วันสิ้นสุด มีวันที่ได้ ‘กลับบ้าน’ ส่วน ไกลบ้าน ของปพนศักดิ์เสนอเรื่องเล่าเกี่ยวกับการเดินทางอีกแบบหนึ่ง เป็นการเดินทางของสามัญชนที่ไม่รู้วันกลับบ้าน การเดินทางที่แม้ไม่พึงปรารถนา แต่ก็ต้องไป การเดินทางของผู้ลี้ภัยทางการเมือง
นอกจากข้อเขียนของสมศักดิ์และตัวศิลปิน ในหนังสือเล่มดังกล่าวยังตีพิมพ์ภาพทิวทัศน์ในต่างประเทศ เช่นเดียวกับในบทพระราชนิพนธ์ ไกลบ้าน ที่ภายในเล่มตีพิมพ์ภาพโปสการ์ดวิวทิวทัศน์ แต่ภาพทิวทัศน์ในหนังสือของปพนศักดิ์มาจากผลงานจิตรกรรมของเขาเอง


ผนังห้องนิทรรศการที่ ARTIST+RUN เรียงรายไปด้วยจิตรกรรมสีน้ำมันภาพทิวทัศน์ภูเขาในประเทศกัมพูชา ลาว สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส ฟินแลนด์ นิวซีแลนด์ สเปน ออสเตรเลีย อังกฤษ แคนาดา สวีเดน และเดนมาร์ก แม้จะดูไม่ต่างจากจิตรกรรมภาพทิวทัศน์ทั่วไป หากทั้งหมดคือภาพทิวทัศน์ภูเขาในประเทศที่ผู้ลี้ภัยชาวไทยหลบหนีไปอยู่หลังรัฐประหาร
ศิลปินเขียนภาพเหล่านี้เหมือนภาพทิวทัศน์ในโปสการ์ดตามแหล่งท่องเที่ยวที่นักเดินทางมักซื้อเขียนส่งถึงผู้คนอันเป็นที่รัก แสดงถึงการเดินทางที่มีความสุขและสายสัมพันธ์ระหว่างผู้คน บ่งชี้ตำแหน่งของผู้ส่งว่าอยู่ ณ แห่งหนตำบลใดในโลก หากนัยความหมายดังกล่าวถูกละทิ้งในภาพเหล่านี้เพื่อเสนอสิ่งอื่น ภาพทิวทัศน์ธรรมชาติที่ราวกับโปสการ์ดของเขาแท้จริงแล้วเป็นภาพทิวทัศน์การเมือง กอปรด้วยความหมายแฝงเร้นถึงประเทศปลายทางที่ผู้ลี้ภัยหลบหนีไปอาศัยอยู่ อาจสวยงาม แต่ปราศจากเรื่องเล่าบันเทิงใจ สถานที่ที่ไปแล้วอาจไม่มีวันหวนกลับ ทิวทัศน์ของ ‘บ้านใหม่’
ท่ามกลางภาพทิวทัศน์ภูเขาที่มีชื่อประเทศกำกับ มีภาพหนึ่งที่ไม่ระบุว่าเป็นประเทศใด จัดแสดงพร้อมกองผ้าใบสีขาวว่างเปล่าบนพื้น ชื่อภาพ Somewhere สื่อถึงผู้ลี้ภัยบางส่วนที่ยังไม่ได้ลงหลักปักฐานอยู่ที่ใดที่หนึ่ง ยังคงพเนจรร่อนเร่ไปในประเทศเพื่อนบ้านเพื่อรอวันเดินทางต่อไปยังประเทศที่สาม
อีกภาพหนึ่งเป็นภาพใบหน้าบุคคล Far From Home (Them) ซึ่งไม่ได้แสดงภาพเหมือนของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นภาพใบหน้าที่เกิดจากการซ้อนภาพใบหน้าผู้ลี้ภัย 29 คนจนเป็นใบหน้าเดียว ใบหน้าของปัจเจกบุคคลที่หลอมรวมเป็นหนึ่งนี้หันหน้าตรงเข้าหาผู้ชม พื้นหลังเป็นสีขาวตัดด้วยเส้นแนวนอนสีดำ ประหนึ่งภาพถ่ายทางการของผู้กระทำผิด เพราะในสายตาของรัฐ ผู้ลี้ภัยคืออาชญากร ขณะเดียวกัน นั่นคือสาเหตุที่ทำให้ใครสักคนกลายเป็นผู้ลี้ภัย พวกเขาจำต้องเลือกละทิ้งบ้านเกิดเมืองนอนเพื่อไปแสวงหาดินแดนใหม่ที่ปลอดภัยกว่าบ้านตัวเอง


เรื่องเล่าว่าด้วยภาวะการอยู่ ‘ไกลบ้าน’ ของปพนศักดิ์สะท้อนวิกฤตการเมืองร่วมสมัยที่ดำเนินอยู่ในสังคมไทยช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา แม้นามจะพ้อง แต่เนื้อหาไม่ได้สอดคล้องกับ ไกลบ้าน ฉบับเก่าแก่ ทั้งยังให้ความหมายที่ตรงกันข้าม… ไกลบ้านที่ไม่ได้ไปเพราะใจสมัคร
ประเด็นผู้ลี้ภัยได้ขยายขอบเขตกว้างขึ้นเป็นระดับภูมิภาคใน Far From Home (Meeting Place) ซึ่งกำลังจัดแสดงในเทศกาลศิลปะ สิงคโปร์ เบียนนาเล่ที่ประเทศสิงคโปร์ (22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562-22 มีนาคม พ.ศ. 2563) ผลงานชุดใหม่นี้แยกออกเป็นสามส่วน จัดแสดงในสามพื้นที่คือ หอศิลป์แห่งชาติสิงคโปร์ (National Gallery Singapore) กิลแมน บาร์แร็กส์ (Gillman Barracks) พื้นที่สำหรับศิลปะร่วมสมัยที่ปรับปรุงจากอดีตค่ายทหารอังกฤษสมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง และหอสมุดแห่งชาติ (National Library)

ผลงานที่หอศิลป์แห่งชาติสิงคโปร์ประกอบด้วยจิตรกรรมภาพทิวทัศน์ภูเขาจำนวน 121 ชิ้น สื่อถึงผู้ลี้ภัยทางการเมืองจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 121 คน มีขนาดและรูปลักษณ์แบบเดียวกันกับใน ไกลบ้าน (Far From Home) ที่ ARTIST+RUN เมื่อปี พ.ศ. 2560
การติดตั้งผลงานชุดนี้ที่หอศิลป์แห่งชาติสิงคโปร์ก่อภาวะชวนฉงนให้กับสถานะของผู้ลี้ภัย เพราะภาพแทนของอาชญากรในสายตาของรัฐกลับได้รับการจัดแสดงในสถาบันทางศิลปะของรัฐ โดยเป็นส่วนหนึ่งของเทศกาลศิลปะที่รัฐเป็นผู้สนับสนุน งานศิลปะพาตัวตนเสี้ยวหนึ่งของพวกเขาข้ามพรมแดนระหว่างประเทศ และสำหรับผู้ลี้ภัยชาวสิงคโปร์เอง ภาพเหล่านี้เป็นอุปมาของการได้ ‘กลับบ้าน’
ผู้ลี้ภัยทั้ง 121 คนกลายร่างเป็นบุคคลคนเดียวในผลงานอีกชิ้นที่ติดตั้งอยู่กิลแมน บาร์แร็กส์ ปพนศักดิ์ใช้กลวิธีเดียวกันกับผลงานเก่าคือ Far From Home (Them) แต่ปรับให้เป็นภาพยืนเห็นเต็มตัว และเปลี่ยนฉากหลังไปเป็นทิวทัศน์สิงคโปร์ที่มองจากฝั่งมาเลเซีย ภาพดังกล่าวล้อกับฉากในภาพยนตร์ To Singapore, with Love (Tan Pin Pin, 2556) ที่เล่าเรื่องอดีตนักการเมืองและนักกิจกรรมชาวสิงคโปร์ผู้ลี้ภัยออกนอกประเทศไปในช่วงทศวรรษ 1960


ถึงแม้ว่าพวกเขาจะไปตั้งรกรากใหม่ในมาเลเซีย ไทยและอังกฤษได้หลายสิบปีแล้ว แต่ความโหยหาถึงบ้านเกิดและความรู้สึกว่าตัวเองเป็น ‘คนสิงคโปร์’ ยังคงอยู่ ผลงานชิ้นนี้ของปพนศักดิ์จึงเป็นการเสนอความรู้สึกร่วมของเหล่าผู้ลี้ภัยที่มีต่อมาตุภูมิของตน ทั้งความรัก ความผูกพัน ความโหยหา และแรงปรารถนาที่อาจไม่มีวันเป็นจริง กระนั้น ภาพดังกล่าวก็ไม่ได้เปิดเผยตัวต่อผู้ชมอย่างชัดแจ้ง เพราะมีเถาไม้เลื้อยทำจากสีที่เหลือจากการวาดภาพทิวทัศน์ภูเขาทั้ง 121 ภาพ ณ หอศิลป์แห่งชาติสิงคโปร์ปกคลุมอยู่ทั่วทั้งผืนภาพ บดบังภาพร่างของผู้ลี้ภัยให้เห็นเพียงรำไร
สำหรับปพนศักดิ์ เถาไม้เลื้อยเปรียบเสมือนผู้ลี้ภัยที่ไม่ว่าจะโยกย้ายไปอยู่ไหน ก็ไม่ละความพยายามในการดำเนินชีวิต เถาไม้เลื้อยคือสัญชาตญาณแห่งการดิ้นรนเอาชีวิตรอด

เถาไม้เลื้อยเกาะเกี่ยวอยู่บนกำแพงอาคารหอสมุดแห่งชาติเป็นพื้นที่จัดแสดงแห่งสุดท้าย แม้ความเชื่อมโยงถึง ไกลบ้าน ฉบับพระราชนิพนธ์ใน Far From Home (Meeting Place) จะเลือนรางลงไปเพราะการขับเน้นความเป็นสากลของปัญหาผู้ลี้ภัยทางการเมือง แต่หอสมุดแห่งชาตินั้นก็เต็มไปด้วยหนังสือนานาชนิดรวมทั้ง ไกลบ้าน ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวด้วย ถือเป็นสายใยบางเบาที่ผู้ชมจะเห็นหรือไม่เห็นก็ได้ หากเห็น มิติการรับรู้ก็จะทวีขึ้นมาอีกชั้นหนึ่ง เป็นชั้นของการเดินทางจากบ้านของผู้คนต่างชนชั้น ที่ดำรงอยู่อย่างเร้นลับควบคู่ไปกับเรื่องผู้ลี้ภัยอันเป็นประเด็นข้ามชาติ
ในที่นี้ ความเชื่อมโยงเกิดขึ้นจากความคิดและการรับรู้ข้อมูลมากกว่าการมองเห็น บทสนทนาระหว่างผลงานศิลปะกับพื้นที่จัดแสดง และวัตถุที่มีอยู่ก่อนหน้าในพื้นที่จัดแสดงช่วยร้อยรัด ไกลบ้าน ทุกฉบับเข้าด้วยกัน แต่ก็ไม่รัดรึงจนปิดโอกาสการแตกแขนงไปสู่เรื่องราวอื่น ท้ายที่สุด การลี้ภัยด้วยเหตุผลทางการเมืองเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ทั่วโลก จากอดีตถึงปัจจุบัน ผู้คนล้วนแสวงหาพื้นที่ปลอดภัยเพื่อรักษาอิสรภาพในการคิด ในการแสดงออก ในการธำรงไว้ซึ่งอุดมการณ์ความเชื่อ
ไกลบ้าน : Away

“ผมตั้งใจไว้แล้วว่า มึงรัฐประหารเมื่อไหร่ กูก็โดดหนีเมื่อนั้น ผมจะไม่อยู่ให้เขาจับเข้าคุก”
“เป็นเสรีชนน่ะ ก็แค่นั้นแหละ ขอให้ผมได้เป็นเสรีชน ซึ่งเราก็เป็นได้ ถึงจะไม่ได้อยู่ในแบบปกติ เราก็ยังเป็นได้ เป็นเสรีชนได้”
“ฉลองให้กับเสรีภาพ มันอยู่กับตัวเรา ไม่มีใครปล้นไปได้”
วัฒน์ วรรลยางกูร นักเขียนและผู้ลี้ภัยทางการเมืองหลังรัฐประหารเมื่อปี พ.ศ. 2557 กล่าวประโยคข้างต้นไว้ในภาพยนตร์สารคดีเรื่อง ไกลบ้าน (Away) ความยาว 36 นาทีที่กำกับโดยธีรพันธ์ เงาจีนานันต์ สารคดีเรื่องนี้ถ่ายทอดเรื่องราวของวัฒน์ในฐานะผู้ลี้ภัยที่อาศัยอยู่ในประเทศลาว (ปัจจุบันเขาพำนักอยู่ในประเทศฝรั่งเศส) ไกลบ้าน ของธีรพันธ์แตกต่างจาก ไกลบ้าน ของปพนศักดิ์ด้วยการพาผู้ชมเข้าไปพบกับผู้ลี้ภัยในระยะประชิด ชีวิตหลังลี้ภัยของวัฒน์ถูกบอกเล่าจากปากคำของเขาเอง
ในกรณีการเมือง การทำให้เสรีภาพเป็นสิ่งที่ “อยู่กับตัวเรา ไม่มีใครปล้นไปได้” บ่อยครั้งต้องแลกด้วยการหนีออกจากนอกประเทศไปเป็นผู้ลี้ภัย ถ้อยแถลงว่าด้วยการหนีกับเสรีภาพของวัฒน์จึงประมวลความหมายของการลี้ภัยทางการเมืองเอาไว้อย่างครบถ้วน กล่าวคือ เสรีภาพของผู้ลี้ภัยมีข้อจำกัด เพราะมันหมายความว่าเสรีภาพในการแสดงออกของใครคนหนึ่งเป็นไปได้หลังใครคนนั้นสูญเสียเสรีภาพอย่างอื่นไป – – ผู้ลี้ภัยไม่สามารถอยู่ในประเทศของตัวเองได้ เดินทางออกมาแล้วไม่สามารถกลับบ้านได้ พวกเขาสูญเสียเสรีภาพในการดำรงวิถีชีวิตเดิมในมาตุภูมิ – – เสรีภาพ “อยู่กับตัวเรา” ได้เพราะตัวเราย้ายไปที่อื่น ผู้ลี้ภัยต้องอยู่ ‘ที่อื่น’ ที่ไม่ใช่ ‘บ้าน’ เพราะในบ้านไม่มีทั้งเสรีภาพและความปลอดภัยในชีวิต
วสุ วรรลยางกูร ลูกชายคนกลางของวัฒน์กล่าวถึงการลี้ภัยของพ่อเอาไว้ว่า “คำนึงที่คิดขึ้นมาในหัวก็คือ เออ ดีแล้วล่ะ เขาจะได้ปลอดภัย เพราะเราก็รู้ว่าเขามีโอกาสตกเป็นเป้าได้” สำหรับผู้ลี้ภัย เสรีภาพจึงได้มาจากการแลกกับทุกอย่างที่เคยมี

สารคดี ไกลบ้าน เปิดเรื่องด้วยภาพผืนน้ำกว้างใหญ่ ถัดไปเป็นแนวไม้รกทึบ วัฒน์ปรากฏตัวในจอโดยยืนอยู่บนเรือ เขาชี้มือไปข้างหน้า บอกจุดหมายปลายทางให้เรือเทียบท่าขึ้นฝั่ง สารคดีไม่เพียงเล่าเรื่องการลี้ภัยของวัฒน์ แต่ยังครอบคลุมไปถึงผลกระทบที่มีต่อครอบครัวคือลูกทั้งสาม และที่สำคัญคือ ‘บ้าน’ อันมีความหมายมากกว่าอาคารที่อยู่อาศัย บ้านหมายถึงความปลอดภัย ความอุ่นใจ บ้านเป็นสัญลักษณ์ของครอบครัว ไกลบ้าน แสดงให้เห็นว่าการจากบ้านของผู้ลี้ภัย คือการพลัดพรากจากทั้งบ้านและผู้เป็นที่รักไปพร้อมกัน

ครึ่งแรกของสารคดีแสดงชีวิตของวัฒน์ในกระท่อมไม้ไผ่หลังเล็กๆ ที่สร้างขึ้นอย่างง่ายๆ ในลาว เขาปลูกผัก เลี้ยงเป็ดไก่ จับปลา นอนกางมุ้งเพราะในท้องทุ่งนั้นเต็มไปด้วยแมลง วัฒน์ซื้อที่ดินริมบึงไว้ผืนหนึ่งเพื่อสร้างบ้านสำหรับพักพิงในระยะยาว แต่สุดท้ายไม่ทันได้อยู่เพราะสถานการณ์ความไม่ปลอดภัยที่เกิดขึ้นต่อผู้ลี้ภัยในลาว ทำให้เขาตัดสินใจยื่นเรื่องขอลี้ภัยไปฝรั่งเศส ปัจจุบัน บ้านริมบึงสร้างเสร็จพร้อมอยู่อาศัย แต่เจ้าของต้องละทิ้งมันไปเพื่อแสวงหาที่อยู่ใหม่ที่ปลอดภัยกว่าอีกครั้งหนึ่ง
บ้านอีกหลังหนึ่งที่ปรากฏในครึ่งหลังของสารคดีคือบ้านที่กาญจนบุรี ซึ่งเป็นบ้านที่วัฒน์สร้างขึ้นด้วยน้ำพักน้ำแรงจากงานเขียน บ้านที่เขาบอกว่า “คิดถึง” ในส่วนนี้ ผู้เล่าเรื่องเปลี่ยนเป็นวสุ กล้องพาผู้ชมสำรวจรอบบ้านที่รกร้างเพราะไม่มีคนอยู่ สลับกับภาพของวสุนั่งเล่าเรื่องสายสัมพันธ์ในครอบครัวและความทรงจำถึงอดีตที่เคยอยู่ร่วมกัน


เรื่องเล่าในครึ่งหลังนี้ยังกล่าวถึงบ้านอีกสองหลัง หลังแรกคือกรุ๊ปไลน์ชื่อ “Home in the sky” ที่เกิดขึ้นหลังจากที่พ่อลี้ภัยและลูกทั้งสามแยกย้ายกันไปใช้ชีวิต ทำงานกันคนละที่ (อัศนา วรรลยางกูร ภรรยาของวัฒน์เสียชีวิตเมื่อปี พ.ศ.2552) บ้านหลังนี้ไม่มีตัวตนในโลกกายภาพ แต่เป็นบ้านในอากาศที่สมาชิกในครอบครัวสามารถพูดคุยกันได้ทุกเมื่อไม่ว่าใครอยู่ที่ไหน เทคโนโลยีการสื่อสารจึงช่วยกระชับความสัมพันธ์ข้ามขอบเขตประเทศ
ส่วนบ้านอีกหลังคือเกวียน เป็นบ้านในความคิดเปรียบเปรย วสุเล่าว่าครั้งหนึ่ง พี่ชายเขียนสเตตัสในเฟซบุ๊กว่า บ้านของพวกเขาเหมือนกับเกวียนที่กระเด้งกระดอนไปตามเส้นทางขรุขระ วัวเทียมเกวียนก็ลากไปอย่างเชื่องช้า ในเกวียนมีรูปแม่ มีทุกคนในครอบครัวนั่งอยู่ด้วยกัน สัมภาระบางชิ้นหล่นหายไปตามทาง ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่ที่เกวียนหลังนี้จะไปถึงปลายทางที่บ้านสักหลังหนึ่ง
“บ้านตอนนี้มันยังไม่มีอยู่จริง แต่ความใฝ่ฝันถึงบ้านที่ทุกคนจะกลับมาอยู่ด้วยกันยังมีอยู่เสมอ”
สำหรับผู้ลี้ภัยและผู้คนใกล้ชิดที่เคยแวดล้อม การ ‘กลับบ้าน’ เป็นความฝันอันสูงสุด
ใน ไกลบ้าน วัฒน์ไม่ได้เป็นเพียงผู้ลี้ภัยการเมือง แต่ยังเป็นพ่อของลูกสามคน เรื่องเล่าของพ่อ-ลูก-พี่น้องจึงซ้อนกันอยู่ในเรื่องเล่าของผู้ลี้ภัย สารคดีพาผู้ชมไปสู่การพิจารณาว่า หนึ่งในความสูญเสียที่เป็นผลกระทบจากการต้องลี้ภัย คือภาวะบ้านแตกสาแหรกขาด
ในช่วงหนึ่งของสารคดี วสุเล่าเรื่องเรียงความสมัยมัธยมของน้องสาวคนเล็กที่เปรียบเทียบว่าพ่อเป็นเหมือนดวงอาทิตย์ แม่เป็นเหมือนดวงจันทร์ ส่วนลูกๆ ก็เป็นโลกใบนี้ที่ต้องมีทั้งดวงอาทิตย์และดวงจันทร์โคจรควบคู่กันเพื่อสร้างความสมดุล ถ้าขาดทั้งสองสิ่ง โลกก็จะลำบาก… ในขณะที่เราติดตามชีวิตของผู้ลี้ภัยไปนอกประเทศ เราก็ได้เห็นผู้ที่ถูกทิ้งไว้อยู่ข้างหลัง เรื่องเล่าตัดสลับไปมาระหว่างอดีต ประสบการณ์และความทรงจำของครอบครัว กับภาวะในปัจจุบัน บางครั้งภาพกับเสียงเล่าไม่สอดคล้องกัน แต่มีภาพของบ้านทั้งสองหลัง คือบ้านในลาวกับบ้านที่กาญจนบุรีทำหน้าที่เป็นแกนเชื่อมโยงเรื่องราวจากสองยุคสมัย
ไกลบ้าน ของธีรพันธ์เต็มไปด้วยเสียงพูดที่ดำเนินไปพร้อมกับภาพเคลื่อนไหวเรียบเรื่อย สารคดีเล่าเรื่องแบบตรงไปตรงมา ไม่ซับซ้อน ไม่มีดนตรีประกอบนอกจากเสียงสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติของแต่ละฉาก บางครั้งเป็นเสียงเรือ บางครั้งเป็นสิ่งหริ่งหรีดเรไร แต่เสียงที่ดังที่สุดและดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง คือเสียงของวัฒน์และวสุที่เป็นผู้เล่าเรื่องหลัก พวกเขาพูดเหมือนกับตอบคำถามในการสัมภาษณ์ เพียงแต่ผู้ชมไม่ได้ยินคำถาม (ยกเว้นบางคำถามที่หลุดรอดมาเป็นเสียงเบาๆ) บ่อยครั้งที่พวกเขาหันหน้า เข้าหากล้องราวกับเพื่อพูดกับผู้ชมโดยตรง

การถ่ายทำกำกับของธีรพันธ์ไม่มีอะไรหวือหวา ทว่าสอดคล้องกันดีกับการเป็นสารคดีว่าด้วยเรื่องผู้ที่ต้องลี้ภัยเพื่อแสวงหาเสรีภาพในการพูด ไกลบ้าน ทำให้คนที่ถูกห้ามไม่ให้พูด ส่งเสียงพูดมาถึงคนในประเทศที่เขาไม่สามารถพูดด้วยต่อหน้า เพราะผู้ลี้ภัยมีตัวตน มีความรู้สึกนึกคิด พวกเขาอยากจะพูด พวกเขาจึงพูด พูดเพื่อเล่าเรื่องด้วยเสียงของตัวเอง
ในขณะที่ ไกลบ้าน ของธีรพันธ์เสนอเรื่องราวของผู้ลี้ภัยที่เป็นปัจเจกบุคคลคนหนึ่งอย่างใกล้ชิด เห็นใบหน้าและน้ำเสียง ไกลบ้าน ของปพนศักดิ์รักษาระยะห่างด้วยการให้ภาพถิ่นฐานใหม่ของผู้ลี้ภัย และสร้างภาพรวมของผู้ลี้ภัยที่เป็นสากล ผลงานทั้งสองชิ้นวางตำแหน่งของศิลปินผู้สร้างไว้ในจุดที่แตกต่างกัน แต่ไม่ว่าจะอย่างไร ความรู้สึกถึง ‘บ้าน’ ที่จากไกลก็ยังคงเป็นความโหยหา ผู้ลี้ภัยทางการเมืองคือคนที่ต้องจากบ้านเพราะเลือกเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อสิ่งที่ตนเองเชื่อ ในสังคมที่ความไม่ปกติดำรงอยู่อย่างยาวนานจนแทบเป็นเรื่องสามัญ ใครก็ตามที่ไม่ขยับ ย่อมไม่รู้สึกถึงโซ่ตรวน
หมายเหตุ
– อนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย พ.ศ. 2494 ให้คำนิยาม และความหมายของสถานภาพผู้ลี้ภัยว่า ผู้ลี้ภัย หมายถึง บุคคลที่จำเป็นต้องทิ้งประเทศบ้านเกิดของตนเอง เนื่องจากความหวาดกลัวการถูกประหัตประหาร หรือได้รับการคุกคามต่อชีวิตเนื่องจากสาเหตุข้อหนึ่งข้อใด เช่น เชื้อชาติ ศาสนา สัญชาติสมาชิกภาพในกลุ่มทางสังคม สมาชิกภาพในกลุ่มความคิดทางการเมือง
– ภาพยนตร์สารคดีเรื่อง ไกลบ้าน ได้รับรางวัลดุ๊ก (ภาพยนตร์สารคดียอดเยี่ยม) ในเทศกาลภาพยนตร์สั้นครั้งที่ 23 เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม ปี พ.ศ. 2562 ที่หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน)
* ขอบคุณอาจารย์ ดร. วิภาช ภูริชานนท์ ทีมภัณฑารักษ์ สิงคโปร์ เบียนนาเล่ และอาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร และคุณธีรพันธ์ เงาจีนานันต์