fbpx

เรียนรู้ ‘ภาวะผู้นำ’ จากอาจารย์อารี วัลยะเสวี

อาจารย์สุทธิลักษณ์ สมิตะสิริ กัลยาณมิตร และอดีตกรรมการมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ ส่งบทความที่ผมเขียนในหนังสือ ‘ผู้นำ’ ที่สถาบันวิจัยโภชนาการจัดทำให้อาจารย์อารี วัลยะเสวีในวาระครบรอบ 72 ปี เมื่อปี 2540 มาให้

อาจารย์สุทธิลักษณ์เคยทำงานกับท่านอาจารย์อารี เมื่อครั้งอาจารย์อารีเริ่มต้นตั้งสถาบันวิจัยโภชนาการ หลังจากหมดวาระการเป็นคณบดีที่รามาฯ สถาบันวิจัยโภชนาการเป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ

ผมเองมักบอกว่าตัวเองโชคดีที่มีโอกาสพบ ทำงาน และได้เรียนรู้จากอาจารย์อาวุโสหลายท่าน และสำหรับท่านอาจารย์อารี ถือว่าเป็นอาจารย์อาวุโสคนแรกที่สอนผมหลายอย่าง ทั้งเรื่องวิชาการและวัตรปฏิบัติที่ได้รับรู้ในฐานะนักศึกษาแพทย์ ด้วยความที่ผมไปเล่นบทเป็นนายกสโมสรนักศึกษารามาธิบดีในช่วงปี 2518-2519 อันเป็นช่วงที่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยมีเรื่องต้องคุยกับนักศึกษาเยอะมาก และอาจารย์อารียังเป็นคณบดีคณะแพทย์ศาสตร์ รามาธิบดี ซึ่งคุณหมอประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ในฐานะนักศึกษาแพทย์ศิริราช พูดถึงนักศึกษาแพทย์รามาฯ ไว้ในบทความของคุณหมอว่า ‘หัวก้าวหน้า’

คุณหมอเทพ เพื่อนร่วมรุ่นรามาฯ รุ่น 7 รำลึกถึงอาจารย์อารีว่า “ผมยังจำท่าที่อาจารย์เดินตามหลังนักศึกษา 5 ย. แล้วร้องเรียกว่า ‘เดี๋ยวก่อนหมอ มาคุยกันก่อน’ แต่พวกเหมาเจ๋อตุงตอนนั้นไม่สน สุดท้ายทุกอย่างก็สลายไปตามกาลเวลา เหลือแต่ผลงานไว้ให้คนอื่นเชยชม”

คำว่า ‘เดินตาม เดี๋ยวก่อน คุยกันก่อน’ ที่ศิษย์รุ่น 7 ท่านนี้ใช้ สะท้อนภาพจำว่าด้วยท่าทีและความพยายาม ของท่านอาจารย์ที่เป็นผู้ใหญ่แต่ตั้งใจฟังลูกศิษย์และชอบใช้การพูดคุยเพื่อทำความเข้าใจ ถึงขนาดเดินตามลูกศิษย์เพื่อขอให้มาคุยกัน สอดคล้องกับประสบการณ์ตรงของผมเองที่ได้รู้จักผู้นำอย่างท่านอาจารย์

ในปี 2519 ที่ความขัดแย้งขึ้นสูง อาจารย์มักเรียกพวกเราไปคุยที่สำนักงานคณบดี ไม่ใช่เพื่อซักไซ้ไล่เลียง หรือขู่ให้กลัวว่าอย่าทำอะไรที่ไม่ดีนะ แต่ชวนไปถามว่ากำลังคิดอะไร จะทำอะไร และแสดงความเป็นห่วง ในขณะเดียวกันอาจารย์ก็ต้องเป็นคนกลางเล่าแทนนักศึกษาให้อาจารย์ที่กังวลกับท่าทีและวิธีคิดของนักศึกษาให้เข้าใจนักศึกษามากขึ้น ผมเชื่อว่าท่านอาจารย์ในฐานะผู้บริหารสูงสุดของคณะคงเครียดไม่น้อย

บางครั้งที่พบกัน ท่านบอกเป็นนัยให้รู้ว่าท่านต้องใช้ความพยายามอย่างมากที่จะทำให้เกิดความเข้าใจในทางบวก ผมไม่แปลกใจที่เห็นอาจารย์เป็นห่วงนักศึกษา เพราะที่ผ่านมาอาจารย์เป็นคน ‘หัวก้าวหน้า’ ในหมู่อาจารย์รามาฯ จนทำให้นักศึกษารู้สึกว่าการเป็นหัวก้าวหน้าไม่ใช่เรื่องผิด แน่นอนว่าอาจารย์คงอยากบอกแต่พวกเราอาจไม่ทันได้ฟังว่า “แต่ต้องระวังให้ดีนะ”

คุณหมอประเสริฐเล่าว่าช่วงที่อาจารย์อารีนอนรักษาตัวที่โรงพยาบาลรามาฯ พยาบาลที่โรงพยาบาลถามว่าคนนี้เป็นใคร คุณหมอประเสริฐเลยตั้งคำถามไปถึงนักศึกษาแพทย์รามาฯ ในปัจจุบันว่าจะมีใครไหมที่รู้ว่าอาจารย์อารีเป็นใคร ทำอะไรบ้าง ผมเลยนึกถึงบทความที่ท่านอาจารย์สุทธิลักษณ์ส่งมาเตือนความจำ เพื่อชวนกันระลึกถึงอาจารย์อารีในวาระที่ท่านจากเราไปจริงๆ แล้ว ผมเลยขออนุญาตอาจารย์ปกป้อง จันวิทย์ นำบทความดังกล่าวมาลงที่ The101.world อีกครั้ง ที่ว่าไปแล้วก็เป็นบทความกึ่งวิชาการที่พูดถึง ‘ภาวะผู้นำ’ จากการสะท้อนความคิดของตัวเองผ่านบทเรียนที่ได้รู้จักอาจารย์อารีตั้งแต่ตอนผมเป็นนักศึกษาจนถึงช่วงที่อาจารย์อายุ 72 ปีเมื่อปี 2540

ณ ปี 2540 อาจารย์อารีผ่านงานในระบบการศึกษาแพทย์และการพัฒนาระบบสุขภาพมากมาย ทั้งในประเทศและต่างประเทศ มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ที่ท่านอาจารย์เป็นประธานเพิ่งตั้งได้ 3 ปี สานต่อตามปณิธานของอาจารย์หมอสฤษดิ์วงศ์และคุณหญิงสดศรี วงศ์ถ้วยทอง โดยมีอาจารย์อุทัย ดุลยเกษม เป็นเลขาธิการคนแรก

ผมหวังว่าบทความนี้จะเป็นส่วนเล็กๆ ที่อาจทำให้คนที่เป็นนักศึกษาแพทย์ (โดยเฉพาะรามาฯ) แพทย์ ผู้บริหารองค์กร หรือผู้รับผิดชอบการทำงานเพื่อส่วนรวมในสถานะต่างๆ ได้รู้จักและเรียนรู้จากสิ่งที่ท่านอาจารย์อารีกระทำหรือแสดงออกในวาระต่างๆ

เรื่องราวถัดจากนี้คือเรื่อง ‘ภาวะผู้นำ’ ที่ผมได้เรียนรู้จากท่านอาจารย์อารี วัลยะเสวี ครูคนแรกที่ทำให้ผมรู้ว่าแพทย์ต้องรู้จักเชื่อมต่อกับสังคม และการทำให้ส่วนต่างๆ ในสังคมทำงานร่วมกันเพื่อประโยชน์ส่วนใหญ่นั้นเป็นภารกิจอันยิ่งใหญ่ที่ทำไม่ได้ง่ายๆ แต่ทำได้ เพียงแต่ต้องจริงใจและจริงจัง

ครบ 6 รอบ ศ.นพ.อารี วัลยะเสวี เมื่อ 20 ตุลาคม 2540
คุณหมอรางวัลแมกไซไซ (2530) สาขาผู้นำชุมชน
ผู้ได้รับยกย่องจากผลงานด้านการปรับปรุงโภชนาการ และส่งเสริมพัฒนางานด้านสุขภาพพลานามัยที่สมบูรณ์แก่เด็กไทย

เรียนรู้จากผู้นำ

อวัยวะต่างๆ ในร่างกายของคนเราทำงานประสานกันได้ ส่วนหนึ่งก็เพราะเครือข่ายการติดต่อภายในร่างกายที่เชื่อมโยงเข้าด้วยกัน แต่ส่วนหนึ่งที่ทำให้มนุษย์แตกต่างจากสัตว์คือการมีสมอง โดยเฉพาะสมองส่วนหน้าที่ช่วยกลั่นกรองและรวบรวมข้อมูลจากส่วนต่างๆ ทำให้มนุษย์มีพฤติกรรมในทางที่สร้างสรรค์ต่างๆ ได้ และในบางครั้งก็ยังไปช่วยห้ามปรามไม่ให้ทำพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมอันเกิดจาก Spinal cord reflex

ถ้าส่วนต่างๆ ในองค์กรหรือสังคมจะทำงานประสานไปในทางสร้างสรรค์ ก็คงต้องอาศัยการมีสมองส่วนหน้าที่ดี สมองส่วนหน้าทำงานด้วยการรวบรวมเชื่อมโยงข้อมูลจากส่วนต่างๆ ของร่างกาย สมองส่วนหน้าขององค์กรก็น่าจะทำงานในลักษณะเดียวกัน และบ่อยครั้งที่เราเห็นองค์กรมีผู้นำซึ่งควรจะทำหน้าที่เป็นสมองส่วนหน้าที่ดี แต่กลับไม่เป็นอย่างที่ควรเป็น แต่ความจริงก็ไม่น่าแปลกใจ เพราะการที่เรามีสมองส่วนหน้าก็ไม่ได้เป็นหลักประกันว่าเราจะมีสมองส่วนหน้าที่ดี การเป็นผู้นำก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องมีความเป็นผู้นำที่ดีเช่นเดียวกัน

เข้าใจว่าน้อยคนนักที่จะตั้งคำถามว่าท่านมหาตมะ คานธี เป็นผู้นำชาวอินเดียและเป็นผู้นำที่เป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับชาวโลกหรือไม่ เพราะทุกคนที่ได้รับรู้เรื่องราวของท่านคงยอมรับเรื่องความเป็นผู้นำเช่นเดียวกัน แม้ว่าท่านจะไม่มีตำแหน่งทางการเมืองในระดับผู้นำ ไม่ว่าจะเป็นนายกรัฐมนตรีหรือประธานาธิบดีก็ตาม ในทางตรงกันข้าม เราได้เห็นตัวอย่างเป็นระยะๆ ของผู้ที่ดำรงตำแหน่งในฐานะผู้นำ (leader) ที่ไม่มีความเป็นผู้นำ (leadership) ดังนั้นหากจะเรียนรู้เกี่ยวกับ ‘ความเป็นผู้นำ’ โดยดูจากตำแหน่ง ‘ผู้นำ’ เท่านั้น ก็คงเรียนรู้ได้จำกัดอย่างไม่ต้องสงสัย

ท่านมหาตมะ คานธี เกิดในตระกูลที่มีฐานะดี แต่เมื่อได้รู้จักความมอยุติธรรมในสังคม ได้เห็นการดูหมิ่นเหยียดหยามเพื่อนร่วมโลกอย่างไม่เป็นธรรมในต่างแดน แทนที่จะเกิดความหวาดกลัวแล้วกลับไปดำรงชีวิตในฐานะชนชั้นอภิสิทธิ์ในประเทศของตนเอง ซึ่งท่านสามารถทำได้ไม่ยาก แต่กลับเกิดความมุ่งมั่นที่จะเรียนรู้ชีวิตคนระดับล่าง และหาหนทางช่วยเหลือปัดเป่าความทุกข์ของคนเหล่านั้น ตามประวัติที่ท่านเขียนไว้เมื่อเดินทางไปตามที่ต่างๆ ในอินเดีย ท่านนิยมโดยสารในรถไฟชั้นที่ 3 เพื่อจะได้เห็นชีวิตของคนยากจนที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ

การมีความกล้าหาญและความมุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนแปลงสิ่งที่ไม่ดีให้เป็นสิ่งที่ดีขึ้นแม้จะยากลำบากเพียงใด

การสนใจที่จะเรียนรู้สิ่งที่เป็นจริงในสังคมมากกว่าการมีชีวิตสุขกายไปวันๆ หนึ่ง แม้ว่าตนเองจะมีโอกาสที่จะทำเช่นนั้นได้

การอดทนกับสิ่งที่ยากลำบากแม้ว่าจะไม่ใช่ความเคยชินเดิมๆ ของตน

เหล่านี้คือคุณสมบัติสำคัญในตัวของผู้นำที่ยิ่งใหญ่อย่างท่านมหาตมะ คานธีที่ผมได้เรียนรู้จากการอ่านประวัติในช่วงการเปลี่ยนแปลงช่วงแรกของชีวิตท่าน และเมื่อคิดถึงอาจารย์ที่ผมรู้จักและเคารพท่านหนึ่ง – อาจารย์อารี วัลยะเสวี ดูเหมือนลักษณะทั้งสามประการนี้จะมีอยู่อย่างสมบูรณ์ในตัวท่าน แม้จะอยู่ในบริบทที่ต่างกัน เพราะท่านอาจารย์อารีมิได้เผชิญกับสภาพการเหยียดหยามดูหมิ่นเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเองอย่างที่ท่านมหาตมะ คานธีได้ประสบ แต่อาจารย์เห็นความทุกข์ทรมานด้วยโรคภัยไข้เจ็บของประชาชนในชนบท ซึ่งในสมัยก่อนยังขาดแคลนโอกาสในการพบหมอหรือมีผู้มาดูแลสุขภาพให้อย่างใกล้ชิด ผิดกับคนในเมืองซึ่งเป็นสถานที่ที่อาจารย์ดำรงชีวิตอยู่

สถานะทางครอบครัวของอาจารย์เป็นลูกพระยา มีฐานะอย่างสูงในสังคมหากจะเลือกทำงานแค่ในฐานะแพทย์ในเมืองใหญ่ ซึ่งสมัยนั้นมีคนต้องการอยู่มาก แต่ปัญหาที่คนชนบทในภาคอีสานประสบอยู่อย่างซ้ำซากและยังไม่มีใครรู้ว่าจะแก้ไขให้หมดไปได้อย่างไร ดูเหมือนจะท้าทายความรู้ความสามารถและดึงดูดความสนใจจากอาจารย์อารีได้มากกว่า แม้ว่าจะต้องทำงานในชนบทที่ห่างไกลเป็นระยะๆ ตัดโอกาสที่จะเปิดคลินิกส่วนตัวหรือใช้ช่วงเวลาส่วนใหญ่ขบคิดปัญหาที่แม้แต่นักวิจัยในต่างประเทศสมัยนั้นก็ยังไม่มีคำอธิบายที่ดีพอ ไปทำหน้าที่ซึ่งไม่ได้ให้ผลตอบแทนทางด้านทรัพย์สินหรือสถานะส่วนตัวเหมือนการทำงานกับผู้มีฐานะในเมืองหลวง

เมื่อท่านมหาตมะ คานธี ตัดสินใจเป็นส่วนหนึ่งในการเรียกร้องเอกราชจากอังกฤษ ท่านมีบทบาทอย่างสูงในการเจรจากับผู้นำทางฝ่ายอังกฤษ ทั้งนี้ด้วยฐานะและความรู้ของท่านเอง แต่ในขณะเดียวกันท่านก็ต้องติดต่อประสานและทำความเข้าใจกับคนอินเดียซึ่งมีมากกลุ่ม มากความคิด และมีความแตกต่างระหว่างกลุ่มอยู่ไม่น้อย อย่างน้อยก็ในประเด็นที่ว่าจะใช้ความรุนแรงหรือสันติวิธี ในขณะที่เป็นตัวเชื่อมที่ต้องรับฟังทุกฝ่ายและพยายามผลักดันให้ประเทศอินเดียได้รับเอกราช ท่านมหาตมะ คานธีได้แสดงลักษณะที่สำคัญของผู้นำที่สำคัญอีกหลายประการ ท่านสามารถรับฟังและทำความเข้าใจกับกลุ่มต่างๆ ที่มีความเห็นและความชอบที่แตกต่างกันในหมู่ชาวอินเดียและรวมพลังจากความแตกต่างเหล่านั้นได้ในระดับที่สามารถจะต่อรองกับฝ่ายอังกฤษอย่างได้ผล

ในขณะเดียวกัน ท่านสามารถเจรจาแสดงเหตุผลและพูดจาโน้มน้าวทั้งฝ่ายอังกฤษและฝ่ายอินเดียให้ร่วมกันหาทางออกที่ดีที่สุดสำหรับทั้งสองฝ่าย แม้ว่าจะต้องผ่านเหตุการณ์ความรุนแรงที่ไม่พึงประสงค์และอยู่นอกเหนือการควบคุมอยู่บ้าง

ที่สำคัญคือท่านอยู่ร่วมกับชาวอินเดียโดยตลอด ไม่ว่าจะเกิดเหตุการณ์อย่างไร ถูกจับกุมคุมขังก็ไม่หลบหนีไปแต่อย่างใด

ความสามารถในการรับฟังและเข้าใจผู้อื่น ความสามารถในการพูดเพื่อสื่อความเข้าใจกับผู้อื่น และความพร้อมที่จะเผชิญกับผลแห่งการกระทำโดยไม่หวั่นไหวเป็นคุณสมบัติที่สำคัญอีกชุดหนึ่งของการเป็นผู้นำที่ดี

ในช่วงที่เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในประเทศไทยช่วงปี 2516-2519 ผมได้เห็นคุณสมบัติอย่างเดียวกันนี้ในอาจารย์ของผม ซึ่งแสดงออกในอีกสถานการณ์หนึ่งนอกเหนือจากการเป็นนักวิชาการหรือแพทย์ที่จะมุ่งมั่นแก้ไขปัญหาสุขภาพอนามัยของคนยากจนในชนบท

ในฐานะคณบดีของคณะแพทย์แห่งหนึ่ง ขณะนั้นนักศึกษามีความตื่นตัวทางการเมืองสูงจนเกินพอดีในสายตาของอาจารย์ส่วนใหญ่ สถานการณ์ในขณะนั้นเป็นสภาพความขัดแย้งทางความคิดในระหว่างกลุ่มนักศึกษาด้วยกันเอง ระหว่างนักศึกษากับอาจารย์ และที่สำคัญคือระหว่างกลุ่มต่างๆ ในสังคม ซึ่งย่อมกระทบถึงคณะแพทย์เล็กๆ แห่งหนึ่งในสังคมไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การเผชิญหน้าระหว่างอาจารย์และนักศึกษาเป็นปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นสม่ำเสมอ และซับซ้อนเกินกว่าจะแก้ปัญหาด้วยการออกคำสั่ง ผู้นำองค์กรในสภาพเช่นนี้ต้องอาศัยความเป็นผู้นำอย่างแท้จริง เพื่อพาองค์กรผ่านพ้นวิกฤตไปได้

ผมได้เห็นคณบดีที่เป็นผู้ใหญ่เปิดโอกาสให้นักศึกษาเข้าพูดคุยชี้แจงถึงเหตุผลและความต้องการ ได้เห็นความอดทนกับคำพูดที่อาจไม่ไพเราะ ได้เห็นความพยายามที่จะฟังและเข้าใจถึงเหตุผลเบื้องหลังและหาทางออกที่ดีที่สุดร่วมกัน ในขณะเดียวกันก็รับฟังจากฝ่ายอาจารย์และถ่ายทอดความคิดเห็นของนักศึกษาผ่านไปถึงอาจารย์ด้วยหวังสร้างความเข้าใจที่ดีต่อกัน บางครั้งเมื่อมีการพูดคุยพร้อมกันทั้งสองฝ่าย เกิดความตึงเครียดและการโต้เถียง ก็ต้องใช้ความสามารถในการยุติไม่ให้ลุกลามต่อไป

เหตุการณ์ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นพร้อมๆ กับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสังคมของประเทศโดยรวม จนแตกหักเป็นเหตุการณ์ความรุนแรงในปี 2519 อย่างที่หลายคนคงทราบกันดีอยู่ นักศึกษาหลายคนถูกจับคุมขัง และเมื่อได้ทราบข่าว อาจารย์เป็นคณบดีเพียงท่านเดียวในขณะนั้นที่ไม่สนใจว่าจะถูกเพ่งเล็งหรือลงโทษ แต่กลับไปเยี่ยมนักศึกษาในที่ควบคุมที่โรงเรียนตำรวจที่บางเขนด้วยตัวของท่านเอง การไปปรากฏตัวและคำพูดของอาจารย์เป็นเครื่องพิสูจน์ถึงความกล้าหาญ ความรัก และความเข้าใจในเพื่อนมนุษย์ รวมถึงการพร้อมที่จะรับฟังและเรียนรู้จากผู้อื่นอย่างเต็มเปี่ยม

“พวกเขาอาจจะคิดไม่เหมือนคนอื่น ผมรู้แต่เพียงว่าพวกเขาไม่ใช่อาชญากรและเป็นลูกศิษย์ของผม ผมรู้จักพวกเขาและเจตนาที่ดีของพวกเขา” นี่คือคำพูดที่ไม่ต้องมีคำอธิบายอื่นใดอีก

หากเรามีผู้นำที่มีความเป็นผู้นำเหมือนที่อาจารย์มี และใช้ความพยายามที่จะสร้างความเข้าใจให้เกิดขึ้นทั้งสองฝ่าย และหาทางออกที่ดีร่วมกัน แทนที่จะปล่อยให้ต่างฝ่ายต่างเผชิญหน้ากันไปตามกำลังและความเชื่อของตนเอง ไม่แน่ว่าเราอาจจะไม่ต้องผ่านความบอบช้ำอย่างที่เกิดขึ้นมาแล้ว

หลังจากได้รับเอกราชจากอังกฤษ ท่านมหาตมะ คานธีต้องต่อสู้กับความขัดแย้งของคนในชาติ พร้อมๆ กันนั้นท่านก็ยังยึดมั่นและเผยแพร่แนวทางอหิงสาของท่านอยู่ตลอด และเข้าไปมีบทบาทในการยุติความขัดแย้งและความรุนแรงเท่าที่มีความสามารถ แม้ในบางครั้งต้องเอาชีวิตเข้าเป็นเดิมพันด้วยการอดอาหารเรียกร้องให้ทุกฝ่ายยุติความขัดแย้ง

ผมได้เรียนรู้วิธีมองโลกมองชีวิตจากการดำเนินชีวิตของท่านมหาตมะ คานธี ในขณะเดียวกันผมก็ได้เรียนรู้วิธีมองโลกมองชีวิต โดยเฉพาะในแง่การทำงานและการแก้ปัญหาอย่างมากมายจากอาจารย์อารี

การมีบารมีของผู้นำนั้น ไม่ใช่เกิดขึ้นมาลอยๆ ไม่ได้เป็นผลมาจากชาติกำเนิด แต่เกิดจากการสั่งสมผ่านการดำเนินชีวิตที่อยู่ในทำนองคลองธรรม มีความมั่นคงเด็ดเดี่ยวในการทำงาน มีความเป็นมิตรและเอื้ออาทรผู้อื่นที่เราพบปะและทำงานด้วยและอื่นๆ อีกมากมาย

การรู้จักมองโลกในแง่ดี การมีอารมณ์ขัน เป็นคุณสมบัติสำคัญที่จะช่วยให้เห็นหนทางในการแก้ปัญหาดีกว่ามานั่งหดหู่หาทางแก้ปัญหาไม่เจอ เพราะเคยชินกับการมองโลกในแง่ร้าย เห็นแต่ข้อเสียเต็มไปหมดจนไม่เห็นทางออก ยิ่งกว่านั้นอารมณ์ขันของผู้นำช่วยสลายความตึงเครียดและการเผชิญหน้าทำให้ทุกฝ่ายคลายความขัดแย้ง และเริ่มต้นมองปัญหาด้วยกันในมุมมองใหม่ บ่อยครั้งที่ผมได้เห็นอาจารย์ช่วยให้ที่ประชุมที่กำลังถกเถียงเรื่องยากๆ คุยต่อไปได้อย่างสร้างสรรค์ เพราะการเผชิญหน้าถูกคั่นด้วยอารมณ์ขันที่แทรกเข้าไปอย่างมีจังหวะ

การรู้จักใช้คนเกิดจากการผสมผสานและความเชื่อที่ว่าคนทุกคนล้วนเป็นผู้มีศักยภาพ เข้ากับการหมั่นประเมินบุคคลตามความเป็นจริงโดยการหาข้อมูลและปรับมุมมองที่มีต่อแต่ละคนตามข้อมูลที่ได้รับ ไม่ยึดมั่นตายตัวกับความประทับใจแรกรับแต่เพียงอย่างเดียว และเมื่อมั่นใจว่าเขามีศักยภาพเหมาะสมก็ให้โอกาสและส่งเสริมสนับสนุนทุกวิถีทางเท่าที่จะเป็นไปได้

อาจารย์อารีบอกว่าที่อาจารย์มีทุกวันนี้ก็เพราะได้อาจารย์ที่เมืองนอก (หมายถึง Prof. Scrimshaw) ให้โอกาสและสนับสนุน ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ที่อาจารย์จะสร้างโอกาสให้กับคนอื่นให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ในขณะเดียวกันก็ให้โอกาสแม้กับคนที่อาจจะยังไม่มั่นใจ แต่เขาแสดงความตั้งใจที่จะพัฒนาตนเองให้มีศักยภาพสูงขึ้น ได้มีโอกาสที่จะทำตามความตั้งใจและเฝ้าติดตาม ช่วยเหลือ เมื่อไม่ไหวก็แนะนำให้หาโอกาสอื่นที่อาจจะเหมาะสมกับตนเองมากยิ่งขึ้น

การเปิดใจเรียนรู้ตลอดเวลา โดยเฉพาะการพร้อมจะเรียนรู้จากทุกคน โดยไม่คิดว่าตนเองรู้ดีที่สุด ทำให้สมองทำงานตลอดเวลา ทำให้ไม่รู้สึกเบื่อหน่ายกับการทำงาน เพราะได้พบเห็นแง่มุมที่แปลกใหม่เสมอ และที่สำคัญคือทำให้ทำงานกับทุกคนได้อย่างสนุกสนาน และมีความสุขทุกฝ่าย แม้จะเป็นผู้มีความรู้ความสามารถอย่างสูง ก็ไม่แสดงโอ้อวด คนจึงไม่ค่อยทราบว่าอาจารย์เป็นประธานของ International Union of Nutritional Sciences ซึ่งเป็นองค์กรทางวิชาการด้านโภชนาการที่รวบรวมสุดยอดผู้เชี่ยวชาญของทั้งโลกมาอยู่รวมกัน และอาจารย์ยังเป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับเชิญจาก National Academy of Sciences แห่งสหรัฐอเมริกาให้เป็นสมาชิกตัวแทนจากเอเชีย เมื่อนักวิทยาศาสตร์ในเมืองไทยร่วมกันก่อตั้ง บัณฑิตสภาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย อาจารย์ก็ได้รับเลือกให้เป็นประธานคนแรก ทั้งหมดนี้แม้ผู้ที่ได้มีโอกาสใกล้ชิดกับอาจารย์ก็จะได้รับรู้ผ่านข่าวคราวต่างๆ หรือไม่ก็เพราะบังเอิญทราบว่าอาจารย์มาประชุมด้วยไม่ได้ เพราะติดประชุมอื่นและซักถามไปมาจึงทราบว่าติดภารกิจเพราะเหตุที่อาจารย์ได้รับยกย่องเป็นผู้มีความรู้จากเพื่อนนักวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญทั่วโลก

ผู้ที่รู้จริงไม่จำเป็นต้องโอ้อวดว่าเป็นผู้รู้ และจะยิ่งเสริมส่งความเป็นผู้นำที่แท้จริง การกลัวว่าคนอื่นจะหาว่าตนเองไม่รู้และจะทำให้สูญเสียความเป็นผู้นำ เลยต้องทำตัวรู้ว่ารู้ในทุกเรื่อง กลับจะเป็นผลเสีย ทำให้ขาดภาวะการเป็นผู้นำ เพราะคงไม่มีใครจะอยากได้ผู้นำที่ไม่รู้จักฟังคนอื่น เพราะคิดว่าตัวเองรู้แล้วในทุกๆ เรื่อง

ในสมัยเด็กๆ เมื่ออ่านประวัติบุคคลสำคัญ เราใฝ่ฝันจะได้รู้จักคนดีๆ เช่นนั้น เมื่อเรียนหนังสือรู้จักทฤษฎีว่าด้วยผู้นำที่ดี เราก็อยากจะเห็นบุคคลที่มีชีวิตมีตัวตนมากกว่าเพียงตัวอักษรที่อธิบายไว้ในหนังสือ การได้รู้จัก มีโอกาสใกล้ชิด ทำงานร่วมกัน และเรียนรู้จากอาจารย์ ทำให้ผมรู้ว่าในหนังสือที่ผมอ่าน ยังมีเรื่องอีกมากที่ต้องเขียนเพิ่มเติมว่าด้วยความเป็นผู้นำ ถ้าคนเหล่านั้นได้รู้จักอาจารย์ของผม อาจารย์อารี วัลยะเสวี

ทั้งหมดนี้คือความคิด ความรู้สึก ที่ผมพูดถึงท่านอาจารย์อารี เมื่อ 25 ปีที่แล้ว ถ้ามาเชื่อมกับที่คุณหมอประเสริฐ พูดถึงอาจารย์สั้นๆ ว่าไม่เคยมาลงรายละเอียด แต่จะคอยถามไถ่และทักทายไม่ให้หลงทิศ สิ่งที่ท่านทำ ท่านคิด น่าจะสรุปได้ว่าอาจารย์เป็นผู้นำที่ล้ำยุค มีภาวะผู้นำที่ปัจจุบันมีคำศัพท์เรียกเพราะๆ ว่า authentic leadership บ้าง participative leadership บ้าง หรือ pinnacle leadership บ้าง ในปีที่เขียนถึงอาจารย์ ผมเองยังไม่รู้จักหรือได้ยินคำเหล่านี้ แต่สิ่งที่ผมเห็นท่านปฏิบัตินั้นตอกย้ำคุณลักษณะที่นักวิชาการเรียกกันรวมๆ ว่า ‘ภาวะผู้นำแห่งอนาคต’ (leadership for the future)

อาจารย์ไม่ได้เป็นแค่ผู้นำเพราะมีฐานะ ตำแหน่ง หรืออำนาจที่เรียกกันว่า positional leader อันเป็นความเชื่อดั้งเดิมว่าด้วยภาวะผู้นำ (ถึงขนาดเคยมีวาทกรรม ‘เชื่อผู้นำชาติพ้นภัย’) อาจารย์ทำและชักชวนผู้คนหลากหลายให้ทำเรื่องดีๆ ด้วยความเชื่อใน ‘คุณค่า’ ทั้งในเรื่องที่ทำและในตัวคนที่อาจารย์ทำงานด้วย และ อาจารย์ยังให้ความสำคัญกับการสนับสนุนให้ผู้คนมากมายในสังคมมีภาวะผู้นำ อาจารย์รู้มากแต่ไม่อวดรู้ เป็นตัวของตัวเอง แต่พร้อมทิ้งวิธีคิดเดิม เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ร่วมกับคนอื่นโดยเฉพาะคนรุ่นหลัง และไม่เคยกลัวที่จะทำความเข้าใจความคิดที่แตกต่าง ไม่ว่าจะมาจากอายุ เพศ เศรษฐฐานะ แม้กระทั่งความรู้หรือการรับรู้ที่แตกต่างกัน

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save