fbpx

An Imperial Sake Cup and I ถ้วยสาเกจักรพรรดิกับเรื่องเล่าสามัญของชาญวิทย์ เกษตรศิริ

ในห้องเรียนประวัติศาสตร์ เราคุ้นชินกับการนั่งฟังภาพใหญ่ของประวัติศาสตร์ ตอบคำถามต่อเนื้อหาที่ดูเหมือนจะห่างไกลตัวเรา คนไทยเกิดที่เทือกเขาอัลไตหรือเปล่า ความเจริญรุ่งเรืองในสมัยอยุธยาเป็นอย่างไร คนในยุคนั้นรับอิทธิพลทางวัฒนธรรมมาจากใครบ้าง  

แต่สำหรับ An Imperial Sake Cup and I งานแสดงครั้งแรกของศาสตราจารย์พิเศษด้านประวัติศาสตร์ไทยและอุษาคเนย์วัย 82 อย่างชาญวิทย์ เกษตรศิริ เขาเลือกเล่าเรื่องส่วนตัวตัวเองเชื่อมโยงถึงประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ประวัติศาสตร์ไทย และประวัติศาสตร์โลก โดยเล่าผ่านของสะสมที่ทำให้เห็นความสัมพันธ์ของเขากับญี่ปุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘ถ้วยสาเกสีแดงชาด’ ที่เขาได้รับจากจักรพรรดิอากิฮิโตะเมื่อ 60 ปีที่แล้ว

งานแสดงนี้อยู่ในรูปแบบ lecture performance โดยมีนนทวัฒน์ นำเบญจพล ผู้กำกับภาพยนตร์ และธีระวัฒน์ มุลวิไล ศิลปินเจ้าของรางวัลศิลปาธร สาขาการแสดงจาก B-floor เข้ามากำกับการแสดง 

แต่นี่ไม่ใช่การเล่าเรื่องบุคคลสำคัญในวงการประวัติศาสตร์เท่านั้น เพราะการแสดงระหว่างถ้วยสาเกจักรพรรดิและชีวิตของชาญวิทย์ ได้ทำให้ประวัติศาสตร์ระดับโลกและความทรงจำของเขามาบรรจบกัน โดยมีมุมมองต่างจากกระดาษของประวัติศาสตร์ทางการ ปราศจากมุมมองของคนเขียนประวัติศาสตร์ผู้ชนะ ไร้ซึ่งฮีโร่กอบกู้โลก แต่เป็นประวัติศาสตร์ที่มาจากเรื่องเล่าคนทั่วไปที่ส่งเสียงสะท้อนถึงภาพใหญ่ของสังคม ประวัติศาตร์ที่มีเนื้อมีหนังของมนุษย์ มีลมหายใจของอดีตที่ยังคงทำงานร่วมกับปัจจุบัน 

แม้เรื่องราวทั้งหมดในนี้ จะเป็นการเล่าย้อนอดีตบนความสัมพันธ์กับประเทศญี่ปุ่น แต่ไม่มากก็น้อย การเรียนรู้อดีตจากชาญวิทย์จะพาให้เรามองอนาคตและ ‘อยาก’ จินตนาการสังคมข้างหน้าไปได้ไกล – และนั่นคือสิ่งที่เขาอยากฝากเอาไว้

YouTube video

Lecture Performance การเดบิวต์ในฐานะนักแสดงของชาญวิทย์ในวัย 80 ปี

“ต้องบอกว่า lecture performance เป็นสิ่งแปลกประหลาดสำหรับผม” ชาญวิทย์พูดขึ้น หลังจากจบการแสดงสี่รอบครั้งล่าสุดที่หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร แม้ว่าก่อนหน้านี้เขาจะเคยผ่านการแสดงมาแล้วสองงาน ครั้งแรกในปี 2020 ที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยใหม่เอี่ยม เชียงใหม่ ในโครงการ The Breathing of Maps และครั้งที่สอง ในงาน Tokyo Festival ที่ประเทศญี่ปุ่น ในปี 2022

“ตอนไปแสดงที่ญี่ปุ่น เขาประทับตราวีซ่าผมเป็น ‘entertainer’ ทั้งๆ ที่เมื่อก่อนเขาบอกว่าผมเป็น ‘scholar’ มันแปลกดีสำหรับผมเหมือนกัน” เขาเล่าแล้วหัวเราะให้กับอาชีพใหม่ของตัวเอง

แต่หากย้อนไปตั้งแต่เริ่มแรก ชาญวิทย์ไม่ได้ตั้งใจทำ lecture performance หรือการบรรยายไปพร้อมกับการแสดง เขามีไอเดียเพียงแค่อยากนำของสะสมส่วนตัวที่ได้บริจาคให้กับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เก็บรักษาเอาไว้ นำออกมาจัดแสดงนิทรรศ ทั้งถ้วยสาเก มีดพับของทหารญี่ปุ่น ไปจนถึงโถ ถ้วยชาที่เขาปั้นเองกับมือ 

“แต่คุณกฤติยา กาวีวงศ์จากมูลนิธิจิม ทอมป์สันบอกว่า ‘อาจารย์.. มันเชย ไปทำ lecture performance สิ’ ผมก็ไม่รู้นะว่ามันคืออะไร” แม้ไม่รู้ความหมายและวิธีการของศาสตร์นี้ แต่เขาตกลงทำ โดยมีทีมละครจาก B-floor นำโดยจารุนันท์ พันธชาติเขียนบทร่วมกับชาญวิทย์ และธีระวัฒน์ มุลวิไล กำกับร่วมกับนนทวัฒน์ นำเบญจพล ผู้กำกับภาพยนตร์ 

“เรามาคนละสาย อย่างอาจารย์ชาญวิทย์เป็นนักวิชาการ ผมเป็นคนทำหนัง พี่คาเงะเป็นคนละคร มีความชำนาญต่างกัน แต่ด้วยพลังงาน เคมี เอเนอร์จีที่ตรงกัน ทำให้เราสามารถที่จะใช้ความสามารถ ความรู้ของตัวเองผสมกันและกันอย่างให้เกียรติกัน และได้ผลลัพธ์ที่ง่ายแล้วดี” นนทวัฒน์พูดถึงขั้นตอนการทำงาน ซึ่งนอกจากการกำกับแล้ว เขายังเข้ามามีบทบาทหลักในการจัดทำวิดีโอสารคดีและภาพนำเสนอในขณะแสดงด้วย

“ทุกคนทำหน้าที่สนับสนุนเรื่องเล่าของอาจารย์ เพราะเรามีอาจารย์เป็นแกนกลาง เราออกแบบและกำกับการแสดงโดยใช้ตัวตนของอาจารย์เป็นฐาน ถ้าเราไปผลักดันมากเกินไป มันจะกลายเป็น actor ที่ต้องรับบทบาท ซึ่งในเรื่องนี้ เราไม่ต้องใส่บทบาทใคร เพราะความแข็งแรงคือ คาแร็กเตอร์ของอาจารย์เอง จังหวะการออกเสียง ท่วงทำนองต่างๆ ให้อาจารย์เป็นธรรมชาติที่สุด” ธีระวัฒน์ช่วยเสริม

แม้จะไม่ต้องปรับบทบาทมาก และได้เป็นตัวเองด้วยการบรรยายและเดินตามเส้นเรื่องการแสดง แต่สำหรับนักวิชาการที่ทำงานมาร่วม 50 ปี การแสดงนี้ก็ไม่ได้เหมือนการบรรยายในชั้นเรียนอย่างที่เคยทำมา

“พอเป็นการบรรยายที่ต้องมีผู้กำกับ มันก็แปลกไปอีกอย่าง สนุก ได้ทำงานเป็นทีม เพราะนักวิชาการและอาจารย์ทำงานตัวคนเดียว เราจะสอนยังไงก็แล้วแต่เรา นักศึกษาจะฟังหรือไม่ฟัง เราก็ไม่สนใจเท่าไหร่ แต่พอมาตรงนี้ ต้องประสานกับทีมในรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ทั้งข้าวของจะวางตรงไหน ประโยคนี้จะใช้ได้ไหม มันยากกว่าการสอนธรรมดา” ชาญวิทย์เล่าถึงประสบการณ์

สำหรับสองผู้กำกับที่ร่วมพัฒนาการแสดงนี้ร่วมกับนักวิชาการประวัติศาสตร์วัย 80 ปี มองว่าการแสดงของชาญวิทย์มีพัฒนาการมากขึ้นเรื่อยๆ ความประหม่าลดลง และ ‘เจน’ เวทีมากขึ้น

“ถ้าเทียบตั้งแต่วันแรกที่ซ้อมจนช่วงหลังๆ นี้ จะเห็นว่าจากนักวิชาการทั่วไปผันตัวเองมาเป็น entertainer ผมคิดว่าอาจารย์มีพรสวรรค์อยู่” นนทวัฒน์ชื่นชมนักแสดงที่เขากำกับ ธีระวัฒน์เห็นด้วยกับเรื่องนี้ เขาช่วยเสริมว่า “เมื่ออาจารย์เล่นแล้วคุ้นชิน อาจารย์รีแลกซ์มากขึ้น อาจารย์จะแสดงออกมาเอง ยิ่งเล่นยิ่งดีขึ้น”

เรื่องเล่าสามัญในสายธารประวัติศาสตร์ 8 ทศวรรษของนักประวัติศาสตร์วัย 80 ปี

การแสดง lecture performance ของชาญวิทย์เริ่มต้นเรียบง่ายด้วยการบรรยายถึงอุปนิสัยส่วนตัวของเขา ในฐานะ ‘นักสะสม’ สิ่งละอันพันละน้อยที่มีประวัติศาสตร์ซุกซ่อนอยู่ในนั้น ก่อนจะค่อยๆ เชื่อมโยงของสะสมเหล่านั้นไปถึงเรื่องราวส่วนตัวที่มีความเชื่อมโยงระหว่างพ่อแม่ บ้านเกิด ญี่ปุ่น สงครามโลกครั้งที่สอง 

“เราทำเรื่องให้คนไทยเข้าใจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์อันยาวนานในช่วงชีวิตของผม 80 ปี แม้เป็นเรื่องส่วนตัว แต่ขณะเดียวกันก็เป็นเรื่องประวัติศาสตร์ท้องถิ่น เช่น ฉากในอำเภอบ้านโป่ง ซึ่งผมได้เรื่องเล่าเหล่านี้มาตอนทำหนังสืองานศพแม่” นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์เล่าว่า เขาลงไปคุยกับชาวบ้านที่รู้จักกับพ่อแม่จนได้ข้อมูลที่เชื่อมโยงเรื่องครอบครัวกับสงครามโลกครั้งที่สอง โดยเฉพาะเหตุการณ์ ‘วิกฤตการณ์บ้านโป่ง’ ซึ่งสะท้อนให้เห็นมุมมองคนไทยต่อการสู้รบของญี่ปุ่นและอเมริกาในขณะนั้น “มันเหมือนเป็นงานวิจัยโดยบังเอิญไปเลย” ชาญวิทย์บอก

นอกจากนี้ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ยังเล่าประสบการณ์การเป็นอาจารย์ในช่วงเวลาที่นักศึกษากำลังลุกขึ้นมาส่งเสียงถึงการเมืองในฝันช่วงปี 2516-2519 มาจนถึงช่วงเวลาที่เขาได้นำถ้วยสาเกสีแดงชาดไปรับเสด็จจักรพรรดิอากิฮิโตะครั้งสุดท้ายก่อนทรงสละราชสมบัติ

“ในการเล่าเรื่องส่วนตัว ขณะเดียวกัน เนื้อเรื่องก็มีนัยสากลของโลก เมื่อพูดถึงเรื่องระบอบการปกครองที่ทั้งไทยและญี่ปุ่นมีระบบสถาบันกษัตริย์และจักรพรรดิ ผมเชื่อว่าคนดูส่วนใหญ่เข้าใจความหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันที่การเมืองกำลังเกิดความซับซ้อนสับสน เรากำลังจะไปทางไหนกัน”

“นัยของผมในการมองกลับไปในอดีตจนกระทั่งถึงปัจจุบัน คือเมืองไทยเกิดความเปลี่ยนแปลงแล้วละ และมันกำลังมุ่งไปสู่อนาคต ซึ่งไม่น่าจะเหมือนเดิมอีกแล้ว”

 

นี่อาจไม่ใช่เรื่องแปลกนัก หากนักประวัติศาสตร์คนสำคัญของไทยจะมาเล่าเรื่องส่วนตัวที่มีฉากหลังเป็นสังคมการเมืองไทยและโลกให้เราฟัง แต่เมื่อดูเนื้อหาทั้งหมดที่ชาญวิทย์และทีมงานตั้งใจจะสื่อสารแล้ว จะพบว่าเขาไม่ได้เพียงต้องการถ่ายทอดประสบการณ์ในฐานะสักขีพยานเหตุการณ์สำคัญตลอด 80 ปีที่ผ่านมา แต่เพื่อแสดงให้เห็นว่าประวัติศาสตร์ของคนธรรมดาสะท้อนให้เห็นอะไรในสังคมบ้าง 

“ส่วนใหญ่ประวัติศาสตร์เป็นเรื่องของมนุษย์ เพราะฉะนั้นในภาพใหญ่เป็นเรื่องของระดับชาติ ถ้าเอาประวัติศาสตร์ของชาติมามองในแง่ประวัติศาสตร์ตัวเรา โคตรเหง้าเหล่ากอเรา เราจะเห็นตัวเองในภาพใหญ่มาก ซึ่งมันจะดีมากๆ เลย” ชาญวิทย์ให้คำอธิบาย

“ตอนสอนหนังสือ ผมบอกนักศึกษาบ่อยๆ ว่า ลองไปสืบสาแหรกตัวเองสิว่ามาจากไหน เรื่องพวกนี้เป็นเรื่องพื้นฐานในการรับรู้ประวัติศาสตร์ตัวเองเลยนะ”  

“อย่างเช่น ถ้าเราจะเข้าใจทุนนิยมไทย ถ้าเราเข้าไปสู่ตัวบุคคลจะทำให้เห็นภาพใหญ่ได้ดีมากๆ ถ้าคุณเข้าใจว่าตระกูล ณ ระนองมาจากไหน ทำมาค้าขายอะไรถึงขึ้นมาเป็นระดับเจ้าเมือง แล้วตระกูล ณ สงขลามาจากไหนถึงขั้นมีบทบาทมากในสังคมไทย จะทำให้เราเข้าใจภาพรวมใหญ่ของประเทศได้ดีมากๆ” 

ธีระวัฒน์ ในฐานะผู้กำกับการแสดงครั้งนี้ เห็นด้วยว่าการเล่าประวัติศาสตร์ของบุคคลเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะในสังคมที่มักมองประวัติศาสตร์ยิ่งใหญ่ และยกให้ประวัติศาสตร์เพียงมุมเดียวเป็นกระแสหลักในสังคม จึงต้องเปิดให้เรื่องเล่าของบุคคลมีมากขึ้น

“สังคมเรามีจักรวาลวิทยาที่สนใจ grand narrative อีกแบบ การที่เราได้รับรู้เรื่องราวคนจริงๆ จะทำให้เห็นคุณค่าความเป็นคนเท่ากัน เห็นหลักการประชาธิปไตย หรืออะไรที่ถูกสร้างให้กลายเป็นแนวระนาบมากขึ้น”

เขาเห็นว่าสังคมไม่ควรสนใจหรือรับรู้เรื่องบุคคลเฉพาะในตอนสุดท้ายที่อ่านภายในหนังสืองานศพเท่านั้น “ทำไมเราไม่รับรู้เขาตั้งแต่ตอนที่เขาอยู่ เราต้องสนับสนุนให้คนธรรม คนที่เป็นมนุษย์อย่างเราๆ ออกมาเล่าถึงประวัติศาสตร์ตัวเอง ซึ่งจะสร้างผลกระทบอะไรให้สังคมมากขึ้นไป” 

ในความเห็นของนนทวัฒน์ต่อประเด็นประวัติศาสตร์ส่วนบุคคล เขาเชื่อว่าการรับฟังเรื่องเหล่านี้ทำให้เห็นภาพของประวัติศาสตร์ใหญ่ และยังทำให้คนรู้สึกร่วมไปกับเรื่องราวต่างๆ ได้มากกว่าประวัติศาสตร์ภาพใหญ่

“ผมคิดว่าเรื่องส่วนตัวที่คนรีเลต เมื่อไปแตะประวัติศาสตร์ไทย ประวัติศาสตร์เปรียบเทียบไทย-ญี่ปุ่น ทำให้มีมวลอารมณ์ที่สัมผัสได้ มีความเป็นมนุษย์ เข้าใจได้มากกว่าการเรียนประวัติศาสตร์ทั่วไป ยิ่งการได้มาดูงานที่เหมือนสารคดีที่มีการเพอร์ฟอร์ม สัมผัสได้ถึงลมหายใจ รูป รส กลิ่น เสียง ผมคิดว่างานชิ้นนี้ต่างและพิเศษที่งานในทีวีให้ไม่ได้” 

“ญี่ปุ่นเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตผม”

หลายคนที่สนใจการแสดงครั้งนี้ อาจจะสงสัยว่าญี่ปุ่นสำคัญกับชีวิตนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์อย่างชาญวิทย์อย่างไร อะไรคือเหตุผลที่เขาผูกพันและอยากให้แดนอาทิตย์อุทัยอยู่ในพื้นที่เรื่องเล่าครั้งนี้

“ผมจะตอบยังไงล่ะ ถ้าฝรั่งคงใช้คำว่า destiny” ชาญวิทย์ให้คำตอบ หลังจากนิ่งคิดต่อคำถามนี้นาน “เรื่องของญี่ปุ่นเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตผมไปโดยไม่รู้ตัว โดยไม่ได้ตั้งใจ อย่างอันนี้เก็บไว้ตั้งแต่เด็ก เพราะเป็นของพ่อ” เขาหยิบมีดพับสั้นที่พ่อของเขาได้รับมาจากทหารญี่ปุ่นสมัยสงครามโลกครั้งที่สองขึ้นมา สนิมเกาะรอบใบมีดช่วยยืนยันอายุของมัน 

“ส่วนอันนี้ได้มาเพราะว่าเราบังเอิญไปทำงานในทีมรับเสด็จ [พระจักรพรรดิอากิฮิโตะ]” ชาญวิทย์หยิบถ้วยสาเกสีแดงชาดขึ้นมา ตรงกลางถ้วยมีดอกเบญจมาศสีทองปรากฏอยู่ “ผมว่าตอนนั้นถ้วยสาเกคงเยอะมาก ทีมที่ทำงานหลายสิบคน [ได้ถ้วยสาเก] แต่ไม่รู้เขาได้เก็บกันเอาไว้ไหม” 

นอกจากวัตถุ ชาญวิทย์แจกแจงความสัมพันธ์ระหว่างตัวเองกับญี่ปุ่นว่า “พอมีเรื่องที่เป็นเหตุร้ายที่เกิดขึ้นในสังคมไทยที่เราอยู่เมืองไทยไม่ได้ เราต้องไปอยู่ญี่ปุ่น มันมีคนจำนวนเยอะเลยที่เขาไปอยู่ต่างประเทศหรือไปๆ มาๆ” เขาหมายถึงช่วงเหตุการณ์เดือนตุลาฯ เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่มหาวิทยาลัยในญี่ปุ่นตอบรับให้ทุนเขาทำงานวิจัยที่นั่น ซึ่งทำให้เขาได้มีโอกาส ‘ลี้ภัยทางการเมือง’ ระยะหนึ่ง โดยเคยมีความคิดที่จะไม่กลับมาแผ่นดินบ้านเกิดอีกแล้ว แต่สุดท้ายเขาก็กลับมา และตลอดระยะหลายปีที่ผ่านมา เขาก็เดินทางไป-มาญี่ปุ่นอยู่บ่อยครั้ง ทั้งยังเคยนำเอาถ้วยสาเกสีแดงชาดที่เคยได้รับเมื่ออายุ 23 ปีกลับไปเข้าเฝ้าพระจักรพรรดิอากิฮิโตะก่อนทรงสละราชสมบัติเมื่อปี 2019 ด้วย

“นั่นแหละ เรื่องญี่ปุ่นก็เลยกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตผมไป” 

การเก็บรักษาถ้วยสาเกจากสถาบันกษัตริย์ญี่ปุ่น ทำให้ชาญวิทย์สนใจสะสมถ้วยสาเก เขาบอกว่าเมื่อไปญี่ปุ่นจะต้องแวะตลาดมือสองที่วางขายถ้วยสาเกรูปแบบต่างๆ และได้เรียนรู้ว่าลวดลายที่อยู่บนถ้วยต่างมีความหมายและเรื่องเล่าที่ ‘สามัญ’ ไม่ได้ผูกติดอยู่กับ ‘ชนชั้นสูง’ เท่านั้น    

“อย่างอันนี้ เป็นกุ้งตัวงอ เราเพิ่งรู้ว่ามีความหมายแปลว่าถ้าดื่มแล้วอายุยืน คือเป็นสัญลักษณ์ว่าคุณอยู่จนหลังคุณโก่ง” เขาหยิบถ้วยสาเกสีแดง ลายกุ้งสีทองขึ้นมาอธิบายเรื่องเล่า ตามด้วยถ้วยสาเกสีแดงที่มีธงชาติสองอันปรากฏด้วยสีทองเช่นกัน “อันนี้ ผมว่าน่าจะเป็นธงชาติญี่ปุ่นกับธงราชนาวีของญี่ปุ่น เพราะกองทัพที่สำคัญของญี่ปุ่นคือกองทัพเรือ ไม่ใช่กองทัพบก” 

“ส่วนอันนี้” เขาวางถ้วยที่เพิ่งอธิบายลง แล้วหยิบถ้วยสีขาวที่มีลายโดดเด่นกว่าอันอื่นๆ ขึ้นมา “เอาเข้าจริงมันเป็นอันที่แปลกกว่าอันอื่นๆ ภาษาญี่ปุ่นใช้คำว่า ชุงกะ คือเป็นถ้วยสาเกที่เล่าเรื่องเพศสัมพันธ์ มีราคาสูง รูปแบบนี้หาไม่ง่ายในตลาดของเก่า” 

”เพราะฉะนั้น ถ้วยสาเกเล่าเรื่องได้ทุกแบบ และถูกใช้ดื่มทุกช่วงเวลา ทั้งเกิด แก่ เจ็บ ตาย ใช้ดื่มแสดงความยินดีกับการเกิด ใช้ดื่มเมื่อเจ็บ ตายก็ต้องมีพิธี เพราะฉะนั้น สาเกเข้ามาในชีวิตของคน มันเป็นเรื่องของมนุษย์ เรื่องของคนทั่วๆ ไป ไม่ว่าจะสูงหรือต่ำ มันธรรมดามากๆ ซึ่งเราเอามาเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นญี่ปุ่น [ในการแสดงนี้]” 

ประวัติศาสตร์กับความทรงจำ – พื้นที่การเล่าเรื่องส่วนตัวที่คนดูได้รู้สึกร่วมกัน

แม้การแสดงครั้งนี้จะมีเนื้อหาหลักอยู่ที่ชีวิตส่วนตัวและความนึกคิดของชาญวิทย์ต่อเหตุการณ์ต่างๆ ในประวัติศาสตร์ แต่ทุกฉากชีวิตที่เขาหยิบมาเล่าล้วนทำให้คนรู้สึกร่วมได้ไม่ยาก เพราะส่วนผสมระหว่างประวัติศาสตร์ภาพใหญ่และความทรงจำส่วนบุคคลที่ชาญวิทย์บอกถึงความรู้สึกตัวเองอย่างตรงไปตรงมาต่อเหตุการณ์สำคัญของไทย ได้กลายเป็นพื้นที่ที่ให้ผู้ชมได้เอาประสบการณ์ส่วนตัวใส่เข้าไป

“ผมว่าคนดูแล้วถามตัวเอง มันเป็นเรื่องของอาจารย์ชาญวิทย์ก็จริงนะ แต่ตัวเราอยู่ตรงไหนของเรื่อง หรือตัวเราเกี่ยวกับเรื่องนี้ไหม” ชาญวิทย์บอกว่าเขารับรู้ความคิดเห็นเหล่านี้จากคอมเมนต์ในโซเชียลมีเดียที่เข้ามาหลังการแสดงจบลง โดยจารุนันท์ ผู้เขียนบทร่วมในการแสดงนี้เล่าว่าอาจารย์ด้านประวัติศาสตร์นั่งอ่านคอมเมนต์หลังแสดงจบในวันแรกจนถึงช่วงตีสาม 

“ผมคิดว่าความสำคัญของ lecture performance อาจจะส่งเมสเซจให้กับคนได้ดีกว่าการบรรยายปกติในมหาวิทยาลัย ผมเดาว่าคนที่อายุน้อยกว่าผมเยอะๆ คงไปคิดต่อได้ เขาอาจจะคิดต่อว่าจะไปทำอะไรกับเรื่องของเขา” ชาญวิทย์มองการสอนของตัวเองที่ผ่านมากับการแสดงครั้งล่าสุด

ในฐานะผู้ชม การแสดง An Imperial Sake Cup and I ไม่ได้เป็นเพียงการเล่าเรื่องจากนักประวัติศาสตร์คนสำคัญ ไม่ใช่แค่การนั่งฟังประวัติศาสตร์ส่วนบุคคลที่ต้องการบอกความนึกคิดร่วมสมัย แต่ยังได้เข้าอกเข้าใจนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ในฐานะมนุษย์คนหนึ่งที่พบเจอกับความผิดหวัง เศร้า เสียใจ และถูกผลักไสให้เป็นคนเห็นต่างจากรัฐ 

ในขณะเดียวกัน เขาเหมือนผู้มาก่อนกาลที่เดินมาตบบ่า บอกมิตรสหายรุ่นเยาว์ผู้ฝันถึงสังคมที่ดีกว่าให้เดินหน้าต่อไป จงผิดหวังและมีหวังกับสังคมนี้ แต่เราจะไม่เดินถอยหลังไปกับกาลเวลา เพราะสักวันหนึ่งความเปลี่ยนแปลงจะเดินทางมาถึงอย่างแน่นอน 

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save