fbpx

“วงการศิลปะร่วมสมัยไทยเหมือนดอกต้นกระบองเพชร ไม่รู้ว่าโตขึ้นมาได้ยังไงในทะเลทรายที่แห้งแล้งที่สุดในโลก” กฤติยา กาวีวงศ์

ตั้งแต่มีความเคลื่อนไหวทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ก็เกิดการตั้งคำถามกับขนบเก่าในหลายแวดวงของสังคมไทย คนรุ่นใหม่ท้าทายความคิดด้วยวิธีการที่แตกต่างออกไป เกิดการช่วงชิงพื้นที่มุมมองและเรื่องเล่าหลายครั้ง 

หนึ่งในวงการที่เกิดปรากฏการณ์ระดับสั่นสะเทือนคือ ศิลปะร่วมสมัยไทย ที่เราได้เห็นข่าวร้อนแรงและเข้มข้นตลอดปีที่แล้ว ไม่ว่าจะการดำเนินคดี 112 กับงานศิลปะของนักศึกษา การฟ้องคดีการวิจารณ์งานศิลปะ หรือการที่ศิลปินรุ่นใหม่ต่างเลือกหยิบประเด็นการเมืองมาทำงานศิลปะอย่างกว้างขวาง

ในสายตาของ กฤติยา กาวีวงศ์ ผู้อำนวยการประจำ Jim Thompson Art Center ผู้คลุกคลีอยู่ในงานศิลปะร่วมสมัยกว่า 3 ทศวรรษ ไม่ได้มองเห็นแค่ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในช่วง 2 ปีมานี้ แต่เธอเห็นว่างานศิลปะได้กระจายออกไปสู่การรับรู้ของคนมากขึ้น ไม่ได้กระจุกตัวอยู่กับคนในวงการเพียงอย่างเดียวแล้ว โดยเฉพาะในช่วง 10 ปีมานี้ที่ปริมาณแกลเลอรีและพื้นที่งานศิลปะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และยิ่งคนตื่นตัวเรื่องการเมืองมากเท่าไหร่ งานนิทรรศการศิลปะก็มีผู้เข้าชมมากขึ้น โดยเฉพาะในงานที่พูดเรื่องสังคมการเมือง 

นี่จึงเป็นที่มาของบทบาทใหม่ของ Jim Thompson Art Center ซึ่งต้องการวางทิศทางของพื้นที่ศิลปะให้เปิดกว้างต่อศิลปิน เปิดให้มีประเด็นทำงานหลากหลาย กระจายเรื่องเล่าออกไปให้ไกลกว่าประเทศไทย และเข้าถึงคนมากขึ้น รวมทั้งคาดหวังว่าพื้นที่ของอาร์ตเซ็นเตอร์จะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยสนับสนุนให้วงการศิลปะร่วมสมัยก้าวไปข้างหน้าได้

101 ชวน กฤติยา กาวีวงศ์ พูดคุยถึงการเติบโตและพัฒนาการของวงการ บทบาทของ Jim Thompson Art Center ที่ปรับเปลี่ยนใหม่เพื่อให้ตอบโจทย์กับผู้คนที่เข้ามาชมงานศิลปะมากขึ้น รวมถึงความต้องการของคนในวงการศิลปะร่วมสมัย ที่แม้ว่าตลอด 30 ปีที่ผ่านมาจะมีพัฒนาเติบโตอยู่เสมอ แต่ระบบนิเวศน์ (ecosystem) ของวงการยังคงต้องการแรงสนับสนุนเพื่อพัฒนาไปข้างหน้าอยู่


คุณเป็นคิวเรเตอร์มา 3 ทศวรรษ เล่าได้ไหมว่าความเป็นไปของวงการศิลปะร่วมสมัยไทยในสายตาของคุณเป็นอย่างไรบ้าง

มี 2-3 ช่วงที่เรามองว่าเป็นจุดพีก ช่วงแรกคือ ยุคก่อนที่เราไปเรียนต่อด้าน Art Administration ที่อเมริกา ประมาณต้นปี 1990 เชียงใหม่สนุกมาก เพราะกระแสงานศิลปะร่วมสมัยไปอยู่ที่โน่นหมดเลย เช่น มีงานเชียงใหม่จัดวางสังคม (Chiangmai Social Installation – เทศกาลงานศิลปะที่แหวกขนบเดิมของการทำงานศิลปะ ด้วยการให้ศิลปินนำผลงานมาแสดงในพื้นที่ต่างๆ เช่น ตลาด ถนน วัด สุสาน ฯลฯ และยังเชิญชวนคนที่ไม่ใช่ศิลปินมาทำงานศิลปะด้วย)  ตอนนั้นกรุงเทพฯ แทบไม่มีกิจกรรมของศิลปะเชิงทดลองเลย 

แล้วบ้านเราช่วงนั้นเป็นยุคเศรษฐกิจรุ่งเรือง งานศิลปะคอมเมอร์เชียลขายดีมาก หลายคนรวยจากหุ้น คนรุ่นใหม่ทำงานได้ตังค์เยอะ เขาเรียกว่ากลุ่ม Yuppie  เพราะหลังจากชาติชาย (พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ) มีนโยบายเปลี่ยนสนามรบให้เป็นสนามการค้า มันมีความหวัง ประเทศไทยจะเป็นเสือตัวที่ 5 ของเอเชียเลย

ปรากฏว่าพอเข้าสู่ช่วง ปี 1995-1996 เศรษฐกิจเริ่มถดถอย งานศิลปะแบบคอมเมอร์เชียล งานกระแสหลักก็เริ่มกระแสลดน้อยลง เรากลับมาไทยปี 1996 คนที่ไปเรียนต่อรุ่นเดียวกันอยากทำ alternative space กันหมด ทุกคนอยากได้พื้นที่คูลๆ ไม่ใช่แกลเลอรีสวยๆ เก๋ๆ แบบที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ 

เรากับเจ้ย (อภิชาติพงษ์ วีระเศรษฐกุล), ไมเคิล (ไมเคิล เชาวนาศัย), พี่มณเฑียร (มณเฑียร บุญมา), อาจารย์กมล (ศาสตราจารย์กมล เผ่าสวัสดิ์), และชาติชาย (ชาติชาย ปุยเปีย) ก็มาทำ Project 304 ด้วยกัน โดยใช้อพาร์ตเมนต์ห้อง 304 ให้พื้นที่ศิลปินได้จัดแสดงงานศิลปะตามที่อยากทำ เช่น งานแบบ multi-disciplinary

นอกจากกลุ่มเราก็จะมี About Studio and Cafe อยู่แถววงเวียน 22 ของเหมียว (เกล้ามาศ ยิปอินซอย) กับ พี่โก๋ (นพดล ขาวสำอาง) และธนาวิ (ธนาวิ โชติประดิษฐ) ก็ไปทำงานที่นั่น แล้วก็จะมี Tadu Contemporary Art ภาพรวมจะประมาณนี้ ตอนนั้นยังไม่มี BACC แต่จะมีหอศิลป์ของมหาวิทยาลัยศิลปากรและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป (หอศิลปเจ้าฟ้า) ซึ่งพวกเราก็จัดงานศิลปะไม่เหมือนพวกเขาเลย ต่อมาเลยกลายเป็นกระแสที่เราคิดว่าสำคัญ เพราะ alternative space เกิดขึ้นในยุคที่กลุ่มของอริญชย์ รุ่งแจ้งและปรัชญา พินทอง ยังอยู่ปี 1 เขามีโอกาสได้มาดูงานพวกเราแล้วตื่นเต้นมาก เพราะไม่เคยเห็นงานศิลปะและพื้นที่แบบนี้ตอนเรียนในมหาวิทยาลัยมาก่อน

ช่วงที่พีกมากที่สุดคือปลายปี 90s และเข้าสู่ช่วงต้น 20s เป็นยุครุ่งเรืองของศิลปินร่วมสมัยไทยเลยก็ว่าได้ พวกเราไม่ได้ทำงานกันแค่เมืองไทย แต่เริ่มทยอยออกไปแสดงงานต่างประเทศกัน ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น ต้องย้อนกลับไปยุค 1989 ที่มีการทุบกำแพงเบอร์ลิน โลกเริ่มขยับสู่ช่วง globalization การติดต่อสื่อสาร การทำงานในสเกลระดับโลกก็เกิดง่ายขึ้นและดำเนินมาเรื่อยๆ 

ทีนี้ในฝั่งวงการศิลปะแถบเอเชียแปซิฟิกจะมี 2 ประเทศที่จัดงานสเกลใหญ่มาก คือ ญี่ปุ่น จัดงาน Fukuoka Asian Art Triennale ซึ่งมีทุกๆ 3 ปี และออสเตรเลียจัดงาน Asia Pacific Triennial (APT) เป็นครั้งแรกที่เราได้ไปเจอศิลปินและคิวเรเตอร์ต่างประเทศ เพราะที่ผ่านมา ถ้าจะมีงานแสดงศิลปะต่างประเทศก็จะมีจัดในแถบอาเซียน คนที่ไปแสดงงานคือ อาจารย์มหาวิทยาลัยระดับอาวุโส ศิลปินรุ่นใหม่ไม่ค่อยได้มีโอกาสเท่าไหร่

แต่งานในญี่ปุ่นกับออสเตรเลียมีศิลปินที่เรารู้จักได้ไปแสดงงาน แล้วคิวเรเตอร์จากต่างประเทศก็สลับมาดูงานที่ไทย เช่น Yuko Hasegawa เป็นคิวเรเตอร์ในงาน Istanbul Biennale เขามาไทย เราก็แนะนำให้เอางานอภิชาติพงศ์ไปแสดงเลย ตอนนั้นเจ้ยยังไม่ได้รางวัลนะ แต่เราบอกว่าคนนี้น่าสนใจนะ เจ้ยเลยได้ทำ Haunted House หนังความยาวประมาณ 40 กว่านาที จะเรียกว่าหนังสั้นก็ไม่ใช่ หนังยาวก็ไม่ใช่ ฉายที่ไหนก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้นในเบียนนาเล่หรืออาร์ตสเปซจึงกลายเป็นพื้นที่ที่ทำอะไรก็ได้ 

อีกนิทรรศการหนึ่งที่น่าสนใจและสำคัญมาก จัดขึ้นในปี 1999 ชื่อว่า Cities on the move คิวเรตโดย Hans Ulrich Obrist และ Hou Hanru นิทรรศการนี้เชิญศิลปินกว่า 100 คนมาแสดงงานเพื่อฉลองครบรอบ 100 ปี ของ Secession Museum เป็น alternative space ที่เวียนนา ก่อตั้งโดย Gustav Klimt 

คิวเรเตอร์ 2 คนที่จัดงานเขาอยากชวนศิลปินเอเชียมาร่วมด้วย แล้วจะทัวร์งานไปทั่วโลก พอแวะมาประเทศไทย ไม่มีพื้นที่ศิลปะหลักๆ รองรับ เขาเลยใช้พื้นที่ของ Project 304, About Studio and Cafe, หอศิลป์ ศิลปากร, จุฬาฯ, สยามสมาคม, หอศิลปเจ้าฟ้า, Tadu Contemporary Art Gallery และถนน ไม่ว่าคุณจะเดินไปที่ไหน ก็จะเห็นงานบนโปสเตอร์ บิลบอร์ด ขนส่งสาธารณะหมดเลย ตอนนั้นเกิดการเคลื่อนไหวที่สนุกสนานกันมาก เปิดโลกมาก ทำให้เรารู้ว่าศิลปะร่วมสมัยไม่ได้มีแค่งานศิลปกรรมแห่งชาติและงานในสถาบันการศึกษาเท่านั้น 


ดูเหมือนพื้นที่ทางเลือกก็เป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาวงการไม่น้อย ทำไมถึงไม่มี Project 304 ในปัจจุบัน

พอทำงานกันมาได้ 7 ปี พวกเราหลายคนถูกเชิญไปร่วมงานต่างประเทศเยอะมาก ไม่มีใครอยู่เมืองไทยเลย แล้วค่าเช่าห้องก็แพง หาตังค์เท่าไหร่ก็เอาไปให้เจ้าของบ้านหมด ไม่ไหวแล้ว เหนื่อยมาก เลยตัดสินใจปิด Project 304 พอเราปิด ที่ต่างๆ ก็เริ่มปิดไปด้วย 

ประกอบกับปี 2006 หอศิลป์ กรุงเทพฯ ก็เริ่มเปิดแล้ว ภาพแกลเลอรีในเมืองไทยก็ชัดขึ้นเรื่อยๆ เราจะเห็นการเกิดขึ้นของสถาบันทางศิลปะเพิ่มมากขึ้น ทั้งมิวเซียมและแกลเลอรีผุดขึ้นมาเยอะ งั้นเราก็แยกย้ายไปทำงานอื่นๆ กันดีกว่า เราก็ได้ทุนไปทำงานวิจัย ทำโปรเจกต์ในต่างประเทศ แล้วถึงกลับมาทำประจำที่ Jim Thompson Art Center 


เมื่อมีพื้นที่ศิลปะที่มีความเป็นสถาบันแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องมี alternative space หรือ

มีสิ ต้องมี ในการทำงานศิลปะ ต้องมีหลายๆ กลุ่ม เราต้องมีพื้นที่ที่ทุกคนสามารถทำงานแมสหรือนิชได้ เพราะบางทีเจอความเป็นองค์กรหนักๆ ก็มีข้อจำกัดในการทำงาน ยังไงก็ต้องมี alternative space ให้ได้หายใจ แม้กลุ่มคนที่ทำพื้นที่ทางเลือกบางคนจะคิดว่าเขาก็ยังทำอะไรไม่ได้ทั้งหมด แต่เขาก็ทำได้เยอะกว่าความเป็นสถาบัน

จากคิวเรเตอร์ที่ทำงานใน alternative space พอคุณเข้ามารับตำแหน่งผู้อำนวยการที่ Jim Thompson Art Center มีวิธีการทำงานที่แตกต่างกันไหม 

ตอนทำ Project 304 คนดูคือคนในวงการ แล้วคนมีน้อยมาก สิ่งที่พวกเราทำมันเป็นซับเซ็ตของซับเซ็ต เพราะเป็นงานทดลอง งาน multi-disciplinary ไม่ใช่ทุกคนที่จะเข้าถึงสิ่งที่เราสนใจหรือสิ่งที่เราทำ ส่วนใหญ่เราจะตามใจศิลปินด้วย เพราะคิดว่ามันเป็นพื้นที่ที่เปิดให้ศิลปินได้ทำงานแบบที่อยากทดลองทำ

พอมาอยู่ที่อาร์ตเซ็นเตอร์จะเป็นอีกแบบ ต้องเล่าถึงบริบทของที่นี่ก่อน มูลนิธิจิม ทอมป์สัน เปิดอาร์ตเซ็นเตอร์ เมื่อปี 2003 ตั้งอยู่ชั้นสองของบ้านทรงไทย บริเวณเดียวกันกับพิพิธภัณฑ์บ้านจิม ทอมป์สัน แต่เราไม่ได้อยู่ในส่วนของบริษัทนะ อาร์ตเซ็นเตอร์อยู่ภายใต้การดูแลของมูลนิธิซึ่งเป็นหน่วยงานแยกกัน 

คนไทยจะมองว่าจิม ทอมป์สันคือบ้านฝรั่งหรือร้านขายผ้าไหม ส่วนใหญ่คนที่เข้ามาที่นี่คือนักท่องเที่ยวต่างชาติ พอมาเจออาร์ตเซ็นเตอร์ ทุกคนคาดหวังว่าจะได้เจอนิทรรศการผ้า นิทรรศการแฟชั่น เจอความเป็นไทย ซึ่งช่วงแรกมูลนิธิก็ตั้งใจให้เป็นศูนย์ศิลปะและผ้าด้วย

ตอนเราเข้ามาทำงานก็คุยกับบอร์ดบริหารว่า เราต้องนึกถึงพื้นที่ศิลปะและพื้นที่อื่นๆ ด้วย เช่น ห้องสมุด หรือการเป็นแหล่งเรียนรู้ทางการศึกษาได้ ดังนั้น เราจะไม่ได้มีแค่นิทรรศการผ้าหรือพูดถึงความเป็นไทยอย่างเดียว เรานำเสนอเรื่องอื่นๆ ด้วย 

ตอนหลังเราก็เริ่มทำงานกับอาจารย์มหาวิทยาลัย มีเสวนาจากหลายๆ วงวิชาการ ทั้งศิลปศาสตร์ รัฐศาสตร์ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา ซึ่งตรงนี้ทำให้เราได้ขยายฐานคนเข้ามาในอาร์ตเซ็นเตอร์ ไม่ได้มีแค่นักท่องเที่ยว ไม่ได้มีแค่เด็กเรียนศิลปะ เราคิดถึงคนกลุ่มอื่นๆ ด้วย

ยิ่งช่วงหลังมานี้ เราเห็นว่าคนรุ่นใหม่ดูงานศิลปะเยอะมาก ไม่ได้มีแค่คนในวงการเหมือนแต่ก่อนแล้ว โดยเฉพาะถ้าเราเข้าไปดูพื้นที่ศิลปะใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นมาไม่นาน เช่น VER Gallery, Nova หรือ 100 ต้นสน นั่นหมายความว่างานได้กระจายความรับรู้ออกไป แม้ว่าจะยังไม่ถึงขั้นแมสเท่ากับงานที่ BACC

ดังนั้น การทำงานในอาร์ตเซ็นเตอร์จะมีผู้ชมกว้างมาก ตั้งแต่ผู้ใหญ่ที่มาเดินในบ้านทรงไทยจนถึงคนรุ่นใหม่ที่ดูงานศิลปะ ฉะนั้น เวลาเราทำนิทรรศการต้องประนีประนอมในประเด็นและวิธีเล่าประมาณหนึ่ง ต้องขยายการรับรู้ของคนให้กว้างขึ้น แล้วต้องคิดถึงคนดูให้มากขึ้น จากตอนแรกที่เราตามใจศิลปินมาก อยากทำอะไรทำเลย แต่ตอนนี้เราต้องทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมระหว่างงานศิลปะกับคนดู


หมายความว่าที่ Jim Thompson Art Center มีคนรุ่นใหม่เข้ามาเยอะมากขึ้นเรื่อยๆ

หลังจากเราเปิดตึกใหม่ มีเข้ามาเยอะมาก วันเปิดงานนิทรรศการ FUTURE TENSE คนหน้าใหม่ๆ ที่เป็นคนรุ่นใหม่เยอะ ดีใจมาก เพราะเราอยากเชื่อมต่อกับพวกเขามานานแล้ว

ที่ผ่านมาตอนที่เรายังอยู่ในบ้านไทย มีแต่คนในวงการศิลปะกับนักท่องเที่ยวเข้ามาดูงาน อีกอย่างคือ งานนิทรรศการส่วนใหญ่ของเราก็จัดแบบ invitation only ทีนี้คนไม่ค่อยรู้ว่ามีอาร์ตเซ็นเตอร์ที่นี่ หรือบางคนพอได้ยินชื่อก็จะคิดว่าเราคงดูแลแต่เรื่องผ้าหรือพูดเรื่องความเป็นไทย เพราะเราอยู่ในบ้านทรงไทย ซึ่งมันไม่ใช่ทั้งหมดที่เราทำ

จนเมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว บอร์ดมูลนิธิฯ คุยกันว่าทำไมเราไม่สร้างพื้นที่อาร์ตเซ็นเตอร์ขึ้นมาใหม่ แล้วทำให้มีห้องมัลติฟังก์ชัน มีห้องสมุดที่ใหญ่กว่าเดิม แล้วมีร้านค้า ร้านกาแฟ ทำให้ตึกมีความเป็นงานศิลปะร่วมสมัย ซึ่งทำให้หลุดออกมาจากความเป็นบ้านทรงไทย เราเลยเริ่มสร้างตึกใหม่เมื่อ 3 ปีที่แล้ว และเพิ่งได้เปิดตัวเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน เพราะติดช่วงโควิด-19 ด้วย


ทำไมถึงต้องทำให้พื้นที่ศิลปะร่วมสมัยหลุดออกจากความเป็นไทย

ต้องบอกก่อนว่าเราไม่ได้ว่าบ้านทรงไทยผิดนะ แต่ตรงนั้นมันจะติดอยู่กับอดีตและรูปทรงที่มีความเป็นไทย แล้วมันออกไม่ได้ แม้ว่าข้างในจะเป็นอาร์ตสเปซที่ทันสมัยก็ตาม แต่พอตัวสถาปัตย์ทำให้คนเกิดภาพจำบางอย่าง คนเลยเข้าใจว่าเราจะต้องทำแค่งานที่มีความเป็นไทย ทั้งๆ ที่เราทำงานหลากหลายมาก เช่น เทคโนโลยี ศิลปะ ประเด็นสังคม เราโชว์งานของศิลปินนานาชาติ ศิลปินจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออย่างหมอลำ เราก็ทำ

การสร้างพื้นที่ใหม่เกี่ยวข้องกับการแสดงออกทางอุดมการณ์หรือทิศทางองค์กรด้วย มันสื่อถึงความร่วมสมัยและยึดโยงกับคนรุ่นใหม่ คนเข้ามาแล้วรู้สึกว่ามันเป็นสเปซที่เป็นตัวตนเขา เรามีพื้นที่แกลเลอรี ห้องสมุด ร้านกาแฟ ซึ่งเป็นสิ่งที่คนรุ่นใหม่ในยุคนี้ต้องการ ยิ่งในกรุงเทพฯ ไม่ค่อยมีสถานที่ที่มีพื้นที่ทั้งอินดอร์-เอาท์ดอร์ เขาก็อยากได้พื้นที่ใหม่ๆ บ้าง 

แต่ถึงอย่างนั้น ในการออกแบบตึกอาร์ตเซ็นเตอร์ก็ยังคงมีส่วนเชื่อมกับอดีตอยู่ ถ้าเดินไปหน้าห้องสมุดแล้วมองลงไปข้างล่างจะเห็นบ้านไทย สถาปนิกที่ออกแบบเขาอยากให้เรารู้สึกว่าเรายึดโยงกับอดีต แต่มีช่องเว้นระยะห่างของเรากับอดีตอยู่ ซึ่งการมองบ้านทรงไทยในระยะแบบนี้ ทำให้มองเห็นภาพกว้างหลายอย่าง ไม่ได้อยู่ใกล้กันมากไปแล้วเห็นแต่รายละเอียดจนลืมมองภาพรวมทั้งหมด 

ดังนั้น สถาปัตย์จึงเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งที่ทำให้รู้ว่าเราอยู่ตรงไหน พื้นที่อาร์ตเซ็นเตอร์คือปัจจุบันและกำลังจะไปข้างหน้า ในขณะเดียวกันการได้มองอดีตเพื่อเห็นภาพรวมก็สำคัญ โจทย์ของเราคือทำยังไงให้คนกลับไปดูบ้านไทย และให้คนที่ไปดูบ้านไทย มาดูงานศิลปะที่ตึกใหม่

การพาคนกลับไปดูบ้านทรงไทยต้องทำอย่างไร 

เปิดเวทีให้ศิลปินมาแสดงในพิพิธภัณฑ์ ให้เขาดูคอลเลกชันที่เรามีและตีความออกมา สำหรับเรามันคือการที่เราได้มีโอกาสทบทวน สำรวจ และตั้งคำถามกับความเป็นไทยของตัวบ้าน และคอลเลกชันที่เรามี อย่างงานล่าสุดที่เราเอาวิดีโออาร์ตวิพากษ์อุตสาหกรรมฟาสต์แฟชั่นของกวิตา (กวิตา วัฒนะชยังกูร) มาแสดง 

รูปแบบอาร์ตเซ็นเตอร์ไม่ได้มีแค่งานศิลปะร่วมสมัย แต่มีงานนิทรรศการที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์  ดนตรี ชาติพันธุ์วิทยา (ethnography) หรือแม้กระทั่งงานนิทรรศการผ้าแนวทดลอง รวมถึงงานจาก archive ต่างๆ เพื่อเชื่อมโยงกลับไปถึงเป้าหมายของมูลนิธิได้ ซึ่งพอเราได้ทำหลายๆ เรื่องก็ได้ขยายการรับรู้ของคนมากขึ้น ความสนุกคือกลุ่มคนทำงานศิลปะชอบมาก เขามาบอกให้ทำอีกเรื่อยๆ เพราะได้คอนเทนต์ที่แตกต่างออกไปจากโลกศิลปะ 


แล้วคุณมีแนวทางในการจัดงานนิทรรศการในตึกใหม่ของ Jim Thompson Art Center อย่างไรบ้าง

ทำให้มีความ inclusive และคนเข้าถึงได้มากขึ้น รวมถึงประเด็นของงานและพื้นที่การทำงานจะขยายออกไปมากขึ้น โดยเฉพาะการทำงานร่วมกับศิลปินฝั่ง global south, ยุโรปตะวันออก และยูเรเชีย และทำกิจกรรมให้หลากหลายขึ้น

เราไม่อยากนำเสนอแค่งานของศิลปินไทยหรือเรื่องราวในไทย เราอยากออกไปให้กว้าง โดยไม่ยึดความเป็นอเมริกันหรือยุโรปเป็นศูนย์กลาง แต่ต้องการเชื่อมโยงประเด็นทางศิลปะกับบริบทสังคมที่เกิดขึ้นในโลกนี้ โดยที่เชื่อมโยงไปยังพื้นที่อื่นๆ ด้วย นี่คือเหตุผลที่เราเปิดให้คนจากทั่วโลกสามารถส่งงานมาแสดงได้

งานแรกคือนิทรรศการ FUTURE TENSE พูดเรื่องมรดกจากสงครามเย็นที่ยังคงอยู่ในปัจจุบัน และชวนคนมองไปถึงอนาคต เราเลือกเรื่องนี้เพราะเชื่อมโยงกับจิม ทอมป์สันที่เขาเข้ามาไทยและหายตัวไปในช่วงสงครามเย็น และที่สำคัญ ช่วงเวลานี้เป็นตัวไทม์ไลน์เชื่อมโยงและเปลี่ยนผ่านศตวรรษที่ 20 ได้ค่อนข้างรุนแรงมาก เพราะมันทำให้เกิดการแบ่งโลกเป็นสองฝั่ง คือ ประชาธิปไตยกับคอมมิวนิสต์ ผลจากสงครามเย็นยังทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายคน เกิดผู้ลี้ภัย และมีเศษซากมรดกหลงเหลืออยู่ในการเมือง เศรษฐกิจ สังคมปัจจุบัน ซึ่งเราอยากรู้ว่า พวกเราจะจัดการกับประวัติศาสตร์ในอดีตที่ยังอยู่ในปัจจุบันยังไง แล้วจะมองอนาคตกันยังไง 


อยากให้คุณช่วยยกตัวอย่างมรดกสงครามเย็นที่เรายังอยู่ร่วมกับมัน โดยเฉพาะที่เกิดขึ้นในสังคมไทย

เช่น ถนนมิตรภาพ มหาวิทยาลัยขอนแก่น อินเทอร์เน็ต ซึ่งเป็นเทคโนโลยีทางการทหาร และยังมีการสร้างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งช่วงที่ประเทศเราให้อเมริกาตั้งฐานทัพทหารในอีสานมีการเขียนแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติขึ้นมา 

ในวงการศิลปะก็มีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด เพราะศิลปินหลายคนได้รับทุนไปเรียนต่อที่อเมริกา และกลับมาสอนที่เมืองไทย แม้กระทั่งหอศิลป์ยุคแรกของไทยก็เกิดช่วงนี้ 


ถือว่าเป็นข้อดีหรือเปล่า

ใช่และไม่ใช่ สำหรับเมืองไทย ณ ตอนนั้นถือว่าเป็นข้อดี เพราะว่าเราเลือกอยู่ข้างอเมริกา มันทำให้เกิดสิ่งที่อาจารย์เบน แอนเดอร์สัน (Ben Anderson) เรียกว่า American Era ประเทศไทยให้เขามาตั้งฐานทัพ แล้วเขาก็เอาระเบิดไปถล่มเวียดนาม เขมร ลาว เพื่อนบ้านเราจึงมีชีวิตทุกข์ระทม แพ้สงครามและกลายเป็นผู้ลี้ภัย พวกเราหลายคนไม่ค่อยรู้สึกถึงปัญหา เพราะมีกลุ่มคนที่ได้รับผลประโยชน์ 


นอกจากไทย คุณเห็นมรดกสงครามเย็นจากผลงานศิลปินต่างประเทศเรื่องอะไรบ้าง

เยอะมาก เช่น มีงานของคนเกาหลีใต้ทำรีเสิร์ชแล้วเห็นว่าที่แอฟริกามีอนุสาวรีย์ที่ทำโดยศิลปินเกาหลีเหนือเยอะ  คำถามคือมันเกิดขึ้นได้ยังไง เขาก็ไปเจอว่ามีครั้งหนึ่งเกาหลีเหนือไปพูดในที่ประชุมนานาชาติว่า อยากจะไปถล่มเกาหลีใต้ ประเทศที่สนับสนุนคือแอฟริกา เกาหลีเหนือบอกว่าขอบคุณมากที่สนับสนุนฉัน แล้วส่งอนุสาวรีย์ที่ทำโดยศิลปินจากเกาหลีเหนือไปให้ ซึ่งไม่เกี่ยวอะไรกันกับแอฟริกาเลยนะ 

อีกงานที่น่าสนใจเป็นของศิลปินจากฟิลิปปินส์ เขาทำงานจาก archive ของปู่ ซึ่งเป็นศิลปินเพอร์ฟอร์มานซ์ เคยร่วมก่อสร้าง Culture Center of Philippines (CCP) ศูนย์ศิลปะขนาดใหญ่ในฟิลิปปินส์ เรื่องมีอยู่ว่าศูนย์นี้เกิดจากความคิดของอิเมลดา มาร์กอส (Imelda Marcos) ภริยาของเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส (Ferdinand Marcos) ผู้นำฟิลิปปินส์ในช่วงสงครามเย็นแล้วคอร์รัปชันเยอะมาก ตอนนั้นอิเมลดาเรืองอำนาจ อยากสร้างหอศิลป์ที่ใหญ่ที่สุดที่สามารถบรรจุโรงโอเปร่าได้ อิเมลดาก็บอกสามีว่าอยากได้เวิ้งของอ่างมะนิลาทำศูนย์ศิลปะ จึงมีการถมดินและสร้าง CCP ขึ้นมา 

ความน่าสนใจคือ ในตอนนั้นศิลปวัฒนธรรมทั้งเก่าและใหม่ของฟิลิปปินส์รุ่งเรืองมาก ชนิดที่ว่ามีการตั้ง กรม experimental art  พอเขาตกจากอำนาจ ก็ไม่มีใครสนใจ CCP เลย เพราะมันเป็นมรดกของมาร์กอส 

งานนิทรรศการนี้ดูเป็นการทบทวนประเด็นในอดีตที่ส่งผลมาถึงปัจจุบัน แล้วจะชวนคนมองไปข้างหน้าอย่างไร

จากผลงานหลายๆ ชิ้นที่นำมาแสดง ทำให้เราเห็นว่าถ้าเราไม่กลับไปทบทวนอดีต ขุดลึกไปถึงรากเหง้าก็คงไม่เจอปัญหาประวัติศาสตร์ในยุคนั้นหรือยุคก่อนหน้านั้นได้ ซึ่งมันกลายมาเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างในปัจจุบัน และเชื่อมโยงกันทั่วโลก 

เราอยากสรุปประเด็นทั้งหมดนี้ด้วยงานของ ฮีแมน ชอง (Heman Chong) ศิลปินมาเลเซียที่อยู่สิงคโปร์ งานเขาเป็นโปสเตอร์ที่เป็นหลุมดำเขียนว่า ‘I want to believe’ สื่อให้เห็นถึงอิทธิพลของสื่อ เพราะศิลปินสร้างงานขึ้นจากบทสัมภาษณ์ของผู้กำกับซีรีส์เรื่อง X-Files ที่บอกว่าอยากทำโปสเตอร์เป็นรูปจานบิน แล้วเขียนว่า ‘อยากจะเชื่อนะ’ 

ฮีแมน ชองเอาทั้งหมดนี้มาทำเป็นโปสเตอร์งานตัวเอง แต่เปลี่ยนจากจานบินมาเป็นวงกลมสีดำแทน โดยใช้ตัวหนังสือของ Ed Rucha ศิลปินอเมริกัน คำว่า ‘I want to believe’ สามารถปรับใช้ได้หลายบริบท และท้าทายกับสิ่งที่เราเคยเชื่อในอดีตและปัจจุบัน 

ในขณะเดียวกัน งานนี้ยังสามารถตีความคิดถึงอนาคตที่ไม่สามารถคาดเดาได้ อนาคตเป็นสิ่งที่ไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ถ้าเราไม่สามารถที่จะจัดการกับอดีตที่ส่งผลมาถึงปัจจุบัน เราก็จะไม่มีทางจินตนาการอนาคตได้เลย


ที่คุณบอกว่าคนรุ่นใหม่เข้ามาใช้พื้นที่ในแกลเลอรีมากขึ้น แล้วจำเป็นไหมที่ Jim Thompson Art Center จะต้องจัดนิทรรศการเกี่ยวกับการเมือง เพราะคนรุ่นใหม่สนใจเรื่องนี้มากขึ้นเรื่อยๆ

ยังไงก็คงหนีไม่พ้นประเด็นนี้ แต่ก็มีข้อจำกัดของการทำงานอยู่ เพราะเราเป็นมูลนิธิ ซึ่งเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร หรือ NPO แต่ไทยจะเรียกว่า NGO แล้วในกฎหมายที่เขียนไว้ตั้งแต่ปี 1970 ระบุว่าห้ามยุ่งเกี่ยวกับการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไม่นานนี้มีกฎหมายคุมเข้ม NGO และกฎหมายนี้ครอบคุมทุกองค์กรที่เป็น NPO ด้วย

เราเป็นองค์กรที่มีชื่ออยู่มานานขนาดนี้ เวลาจะทำอะไรอาจจะต้องคิดเยอะขึ้นมาก สิ่งที่ทำจะผลักไปได้ไกลขนาดไหน ตัวขอบเขตของการเป็นมูลนิธิ พันธกิจคืออะไร มันต้องถูกทบทวนและแก้ไขหรือไม่ แล้วเราจะทำอย่างไร หน้าที่ของงานศิลปะหรือหน้าที่ของคนที่ทำนิทรรศการ ทำงานกับศิลปินก็ต้องตั้งคำถาม วิพากษ์สิ่งที่ทำ และพยายามผลักขอบเขตไปให้ไกลที่สุดเท่าที่จะไกลได้

ซึ่งยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งอยู่ในสถานการณ์แบบนี้จะต้องมีการต่อรองตลอดเวลา ไม่ว่ากับตัวเรา ศิลปิน หรือองค์กร ยากในการเซ็นเซอร์ตัวเอง บางอย่างทำไม่ได้ เรายอมรับว่าเสียดาย 

แต่ในขณะเดียวกัน โดยส่วนตัวเองก็ไม่ได้ชอบการพูดแบบตรงไปตรงมาขนาดนั้น เราชอบที่ต้องมีการอ่านระหว่างบรรทัด และคิดว่าเป็นการฝึกที่ดีของศิลปิน ไม่ได้พูดตรงๆ แล้วเข้าใจเลย ทำให้งานมีหลายๆ เลเยอร์ อย่างงานของเจ้ย รู้ว่าพูดเรื่องอะไร แต่ไม่ได้พูดตรงๆ ผ่านไป 10 ปีกลับมาดูแล้วก็ยังน่าสนใจ


แต่หลายคนตั้งข้อสังเกตว่าการซ่อนข้อความบางอย่างไว้ในสัญลักษณ์ หรือวางซ้อนทับงานหลายๆ ชั้นเป็นการสื่อสารว่าศิลปินไม่ได้มีเสรีภาพมากพอจะทำงานหรือเปล่า

ถูก สถานการณ์บังคับให้เราต้องทำอย่างนั้นทั้งสิ้น เคยมีคนถามเราว่า ทำไมวงการศิลปะไทยเต็มไปด้วยสัญลักษณ์จัง ก็เพราะมันพูดไม่ได้ไง เราจึงรู้สึกนับถือเด็กๆ ที่เขาสู้ในแบบไม่มีอะไรจะเสียแล้ว  ในขณะที่ตัวเราเองมีข้อจำกัดหลายอย่างที่เรารู้สึกว่ายังไม่พร้อมที่จะแลก   

แต่ในทางประวัติศาสตร์ สิ่งเหล่านี้ก็บันทึกความเป็นไปของยุคสมัยได้ดีนะ ทำไมยุคนี้พูดตรงๆ ได้ แต่ทำไมอีกยุคถึงใช้สัญลักษณ์แทน เรามองเห็นจากมันได้


คุณคาดหวังให้บทบาท Jim Thompson Art Center ช่วยสนับสนุนวงการศิลปะร่วมสมัยอย่างไรบ้าง

เราคิดว่าที่นี่น่าจะสามารถทำงานกับคนหลายๆ กลุ่มได้ ศิลปินหรือคิวเรเตอร์ใครอยากจัดงานไหนก็มาคุยได้ แม้กระทั่งกิจกรรมต่างๆ นานา หนังสือ เพอร์ฟอร์มานซ์ หรือฉายหนัง พอมีพื้นที่เยอะเราก็ทำอะไรได้เยอะขึ้น ไม่ใช่แค่ดูงานศิลปะหรือมีพื้นที่ให้คนทำงานศิลปะ แต่ให้คนทั่วไปได้มาใช้พื้นที่ เดินเล่น พักผ่อน ดื่มกาแฟ เพราะเรามีร้านกาแฟ หรือจะอ่านหนังสือในห้องสมุดก็ได้ เราก็หวังว่าสิ่งเหล่านี้จะช่วยสนับสนุนวงการศิลปะร่วมสมัยได้

ในขณะเดียวกัน เนื่องจากเราไม่ใช่องค์กรของรัฐ เราก็จำเป็นที่จะต้องให้คนที่เข้ามาช่วยสนับสนุนเราด้วย การเข้าชมนิทรรศการเราอาจจะต้องเก็บค่าเข้าชมประมาณ 50 บาท พยายามไม่ให้มากเกินไป เพื่อให้คนเข้าถึง แต่ก็ยังคงต้องเก็บ เพราะที่ผ่านมาเราไม่เคยได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐ อย่างช่วงโควิด-19 ที่เรายังเปิดไม่ได้ เราก็ลำบาก เพราะส่วนบ้านไทยและมูลนิธิจิม ทอมป์สันมีรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นส่วนใหญ่


แล้วก่อนจะเกิดโรคระบาด วงการศิลปะร่วมสมัยได้รับการสนับสนุนจากรัฐบ้างไหม

พูดจริงๆ นะ มันไม่ค่อยตกถึงท้องเราเลย เขาก็สนับสนุนตามจินตนาการเขา ไม่ได้ถามว่าเราต้องการอะไร ฉันมีอันนี้ให้เธอ จะเอาหรือไม่เอาก็แล้วแต่ ซึ่งไม่เคยถามว่าเราต้องการหรือเปล่า อันที่เราต้องการจริงๆ เขาก็ไม่ให้ 

เราเลยมักเปรียบว่าวงการศิลปะร่วมสมัยของไทยเหมือนดอกกระบองเพชรที่เติบโตในทะเลทราย ไม่รู้ว่ามันโตมาได้ยังไงในทะเลทรายที่แห้งแล้งที่สุดในโลก จะมีน้ำมาหล่อเลี้ยงทีก็มาจากเมืองนอกและเอกชนเป็นส่วนใหญ่ 


ถ้าอย่างนั้นคุณคิดว่าเราจะต้องดูแลดอกต้นกระบองเพชรอย่างไรให้เติบโตได้มากขึ้นอีก

เราคิดว่าต้องช่วยกันทั้งฝั่งรัฐบาลและเอกชน ต้องสร้างให้ระบบนิเวศ (ecosystem) ของวงการแข็งแรง อย่างตอนนี้สิ่งที่เราเจอคือ พอแกลเลอรีเกิดขึ้นเยอะ เราผลิตคิวเรเตอร์ออกมาไม่ทัน เลยต้องกลับไปที่การศึกษา เรากำลังจะเปิดหลักสูตรนานาชาติของคิวเรเตอร์ โดยมีการเรียนประวัติศาสตร์ศิลป์, ประวัติศาสตร์นิทรรศการ, วิธีการคิวเรต และเราชวนคิวเรเตอร์จากทั่วโลกมาสอน ไม่งั้นเด็กต้องไปเรียนเมืองนอกหมด ผ่านมา 30 ปีตั้งแต่เราไปเรียนที่อเมริกาแล้วยังต้องให้เด็กไปเรียนอีก เราเลยเปิดโปรแกรมสอนร่วมกับทางคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาฯ เป็นการสอนระดับปริญญาโทผ่านทางออนไลน์ 

รวมถึงพื้นที่ศิลปะใหม่ๆ ด้วย เพราะแม้เราจะบอกว่าตอนนี้มีเยอะ แต่ก็ยังมีไม่พอ อาจจะต้องกระจายแกลเลอรีไปต่างจังหวัดมากขึ้น ไม่ต้องมากระจุกตัวที่กรุงเทพฯ 

รัฐบาลต้องสนับสนุนได้มากกว่านี้ เราต้องมี art council ที่มองการณ์ไกล ปั๊มนโยบายให้เงินสนับสนุนศิลปิน ถ้าเขาจะเดินทางไปเมืองนอกต้องมีทุนให้ ถ้าเขาจะผลิตงานใหม่ก็ต้องมีเงินให้ ศิลปินถึงจะอยู่ได้ ไม่งั้นเด็กๆ คนเรียนจบใหม่ๆ ทำงานเก่งให้ตายแค่ไหนก็อยู่ในวงการนี้ไม่ได้ เขาก็ไม่อยู่ หันไปทำอย่างอื่น เช่น ขายของ หรือทำงานโฆษณา 

ในขณะเดียวกันเอกชนก็ต้องการให้รัฐบาลปลดล็อกบางสิ่งบางอย่างที่จะทำให้บริษัทห้างร้าน เอกชน เข้ามาช่วยวงการศิลปะ เช่น ถ้าบริจาคให้มิวเซียมหรือแกลเลอรีจะสามารถลดหย่อนภาษีได้นะ แต่ตรงนี้เรายังไม่มี คิดว่าสเต็ปต่อไปพวกเรากำลังจะผลักดันเรื่องนี้

อีกเรื่องที่สำคัญ คือมุมมองเกี่ยวกับซอฟต์พาวเวอร์ ที่ผ่านมามีการสนทนากันหลายครั้ง ถ้าอยากเป็นแบบเกาหลีก็ต้องลืมสิ่งที่เคยทำ แล้วลองทำแบบที่เกาหลีทำจริงๆ คือ หนึ่ง-ให้เงินศิลปิน สอง-ให้อิสรภาพในการแสดงออก ไม่ไปยุ่งเรื่องคอนเทนต์หรือเซ็นเซอร์เนื้อหาศิลปิน ที่สำคัญมากคือเราต้องมีประชาธิปไตยแบบเขาด้วย เพราะมันเป็นโครงสร้างที่ทำให้คุณพร้อมไปข้างหน้า ไม่ใช่ว่าฉันอยากจะเอาความเป็นไทยไปขายอย่างเดียว ไม่งั้นเราจะก้าวไม่พ้นเขตแดนของสนามบินสุวรรณภูมิเลย 

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save